Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Archive for สิงหาคม 15th, 2008

triamboy

CU TU Ball

เมื่อพูดถึงงานบอล นิสิตจุฬาฯ และนักศึกษาธรรมศาสตร์น้อยคนนักที่ไม่รู้จักงานบอล

เมื่อพูดถึงกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยที่ทุกคนตั้งตาคอยทุกปีก็ต้องเป็นงานบอล

เมื่อพูดถึงช่วงเวลาที่มีความสุข สนุก ผ่านร้อนหนาวมาด้วยกันอันยาวนาน ก่อนที่จะจบแต่ละปีก็ไม่พ้นงานบอล

เคยคิดบ้างไหม ทำไมงานบอลถึงมีความสำคัญในมิติต่างๆ ตามการรับรู้ของแต่ละคน

เคยคิดบ้างไหม ทำไมงานบอลที่จัดต่างกรรมต่างวาระ สามารถจัดอย่างต่อเนื่องยาวนานมาถึงครั้งที่ 64

หรืองานบอลเป็นเพียงงานที่ต้องเข้าร่วม …

 

งานบอลถือกำเนิดเมื่อปี 2477 โดยศิษย์เก่าสวนกุหลาบที่เข้ามาเรียนต่อยังจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญของการเชื่อมความสัมพันธ์ และเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบันอย่างต่อเนื่อง ทำให้งานบอลที่รู้จักกันทุกวันนี้ หรือการแข่งขันฟุตบอลระหว่างจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ถือกำเนิดขึ้น ณ ทุ่งพระสุเมรุ ท้องสนามหลวง โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมืองในสมัยนั้นรับเป็นเจ้าภาพ และถือปฏิบัติสืบมาจนทุกวันนี้ว่าทั้งสองสถาบันจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ

 

งานบอลครั้งแล้วครั้งเล่า จากครั้งที่หนึ่งจนถึงครั้งที่ 64 โดยนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบันผ่านความคิด การแสดงออกที่ต่างกรรมต่างวาระ ทำให้มีการเติบโต พัฒนาทั้งแก่นของงานที่มีการเพิ่มเติมจุดประสงค์ และส่วนของรูปแบบที่มีการพัฒนา ปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมไปจากเดิมมากเพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ ท่ามกลางการแนะนำ สนับสนุนจากศิษย์เก่าที่เคยผ่านงานนี้มาก่อน และศิษย์ปัจจุบันที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบความเสี่ยงทั้งหลายจากงานบอล และอำนวยทรัพยากรต่างๆที่จำเป็นต่อการจัดงาน

 

จากงานบอลครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความสามัคคีระหว่างนิสิต นักศึกษาสองสถาบัน โดยมีกิจกรรมแค่เพียงการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสองสถาบัน เมื่อเวลาผ่านไปผลจากการสร้างความสัมพันธ์ของนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบันค่อยเพิ่มขึ้น ความสามารถในการสร้างสรรค์มากขึ้น ความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น และผลจากโลกที่สามารถเคลื่อนย้ายทุกอย่างได้เสรี หรือโลกาภิวัฒน์ ทำให้จุดประสงค์ค่อยเพิ่มมากขึ้น กรอบกิจกรรมต่างๆ ขยายเติบโตไปในทางที่ดี อาทิ การเชียร์ เพื่อให้กำลังใจแก่นักบอลทั้งสองสถาบัน และสร้างความฮึกเหิมแก่กองเชียร์เองได้ก่อให้เกิด สแตนด์เชียร์ซึ่งทำหน้าที่โดยนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบันเพื่อเติมเต็มสแตนด์เชียร์ทั้งสองฝั่ง รวมทั้งการเชียร์ผ่านเพลงเชียร์ อาทิการบูมมหาวิทยาลัย เพลงประจำมหาวิทยาลัย และการเล่นอุปกรณ์เชียร์ต่างๆ จากชมรมเชียร์ ซึ่งมีความหลากหลาย และแปลกใหม่ขึ้นทุกวัน โดยมีประธานเชียร์ และเชียร์ลีดเดอร์ เป็นผู้นำในการเชียร์ และในอีกทางหนึ่งก็ให้ความสนุกสนานแก่สแตนด์เชียร์ ทั้งนี้มีฝ่ายประสานสแตนด์ผู้อยู่เบื้องหลังในการควบคุม ประสานงานกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสแตนด์เชียร์ รวมทั้งสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญอย่างมาก คือการทำให้สแตนด์เต็มก่อนอีกฝั่ง โดยมีกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ที่รวมกลุ่มกันมาเองเป็นประจำทุกปี อาทิเชียร์ีศาจ และ CU Angels คอยตระเวนไปในที่ใกล้เคียงบริเวณงาน เพื่อเร่งระดมพลนิสิตเข้ามาเชียร์บอลอย่างไม่รีรอ และสร้างสีสันไปโดยรอบมหาวิทยาลัย และที่สำคัญไม่น้อยคือ ขนวนถนนนี้สีชมพู ซึ่งเป็นการนัดรวมพลชาวสีชมพูจำนวนมหาศาลพร้อมใจกันเดินไปตามถนนพญาไทที่เป็นสีชมพูเฉพาะวันนี้เท่านั้น สู่สนามศุภชลาศัยเพื่อไปขึ้นสแตนด์เชียร์อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นการแสดงออกถึงความรักกลมเกลียวของชาวจุฬาฯ โดยแต่เดิมนั้นก่อนการแข่งขันฟุตบอลในช่วงบ่าย นิสิตจุฬาฯ และนักศึกษาธรรมศาสตร์จะออกจากบ้านแต่เช้าด้วยเสื้อเชียร์มหาวิทยาลัยจำนวนมากได้เดิน และขับรถเล่นไปตามท้องถนนในกรุงเทพ ทำในวันนั้นกรุงเทพจะเต็มไปด้วยสีชมพู และเหลืองแดง ทำให้เกิดความฮึกเหิม และสามัคคีอย่างมาก หลังจากนั้นก็จะไปบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมก่อนที่จะเข้าสู่สนาม อาทิ การทำบุญที่วัด การปลูกต้นไม้ การทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงจุดประสงค์ข้อนี้ไว้เหมือนเดิมเช่นกัน โดยมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ภายในมหาวิทยาลัย และนอกมหาวิทยาลัย อาทิ เลือดไม่แบ่งสี สมุดเพื่อน้อง สอนน้องตาบอด ทำกิจกรรมบ้านเด็กอ่่อน เป็นต้น โดยมีฝ่ายบำเพ็ญประโยชน์ และตัวแทนนิสิตเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรม นอกจากนี้ภายในสนามยังมีการเพิ่มความสนุกสนานจากวงดนตรีที่ได้รับความนิยม รวมทั้งปอมปอมเชียร์จากกลุ่มนิสิตจุฬาฯ อีกด้วย

 

มากกว่านั้น เมื่อยามประเทศตกอยู่ในสถานการณ์คับขันไม่ว่าทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมก็ตาม บรรดานิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบันเป็นผู้นำในการร่วมต่อสู้ทางอุดมการณ์ และเรียกร้องความยุติธรรมเพื่อสังคม ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากวลีที่ยังอบอวลในบรรยากาศของทั้งสองสถาบัน คือ เกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน และ ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ทำให้กิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากประชาชนกิจกรรมหนึ่ง คือ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ หรืองานบอลนั้นเอง เป็นกิจกรรมที่นอกจากกระชับความสัมพันธ์แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ให้โอกาสในการแสดงออกทางความคิดของเหล่านิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบัน เพื่อชี้นำสังคม และเชิดชูสถาบันของประเทศ โดยเสนอผลงาน สะท้อนปัญหาต่างๆ และทางออก ผ่านขบวนพาเหรด จึงนับเป็นจุเริ่มต้นของขบวนพาเหรดในงานฟุตบอล ซึ่งมีขบวนที่ได้รับความสนใจ และกระแทกสังคมเป็นอย่างมาก คือ ขบวนล้อการเมือง โดยแต่เดิมนั้นขบวนพาเหรดที่จะได้เข้าไปเดินในงานบอลนั้นต้องผ่านการคัดเลือกจากขบวนพาเหรดของกีฬาเฟรชชีในตอนต้นปี ซึ่งเป็นตัวแทนทางความคิด และการแสดงออกของนิสิตจุฬาฯ แต่ละคณะ แต่ต่อมาภายหลังกิจกรรมต่างๆ ต่างจัดขึ้นเพื่อตอบจุดประสงค์ของกิจกรรมที่ชัดเจนขึ้น ทำให้เปลี่ยนจากที่มาที่หลากหลาย มาเป็นการแสดงออกที่มีที่มาที่แคบขึ้นโดยผ่านตัวแทนแต่ละคณะมาอภิปรายร่วมกัน หลังจากที่ได้ข้อสรุปแล้วส่วนที่รับผิดชอบนำไปสร้างงานต่อ แต่อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ของขบวนพาเหรดก็ยังคงเดิม แต่อาจปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมแล้วแต่โอกาส สภาพการณ์บ้านเมืองจะอำนวย

 

ท่ามกลางการพัฒนาของประเทศจากเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานมาจากการเกษตรกรรม เป็นประเทศอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีการอพยพจากชนบทสู่เมือง ความเจริญทางด้านต่างๆ กระจุกตัวที่เมืองหลวง ความต้องการทุนทางด้านต่างๆมากขึ้น กระทั่งด้านการศึกษาก็ไม่พ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดรับนิสิตเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี รวมทั้งเปิดสาขาวิชาให้มีความหลากหลายมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งผ่านได้ง่ายขึ้นผ่านการประชาสัมพันธ์ ด้วยปัจจัยกำหนด และบริบทที่เปลี่ยนไปทำให้รูปแบบงานบอลมีการเติบโตเป็นอย่างมาก มีการประชาสัมพันธ์ รวมถึงกิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อให้มีการสื่อสารระหว่างนิสิตกันเองได้อย่างทั่วถึงท่ามกลางจำนวนนิสิตที่มากขึ้น รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตได้เข้ามามีส่วนในการคิด แสดงออก เสมอเหมือน เจ้าของงานบอล อาทิ การประชาสัมพันธ์ภายในมหาวิทยาลัย ผ่านสื่อตีพิมพ์ เช่น โปสเตอร์ ธงราว ธงญี่ปุ่น เป็นต้น และกิจกรรมสนับสนุน เช่น เปิดเทศกาลงานบอล เชียร์เวียน เชียร์รวม สัปดาห์งานบอล CU CUP หรือการแข่วขันฟุตบอลระหว่าง 18 คณะ ถนนนี้สีชมพู และรถป็อป เป็นต้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ภายนอก เช่น งานแถลงข่าว การเยี่ยมสื่อ การออกรายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น กิจกรรมทั้งหมดนี้นอกจากมุ่งประชาสัมพันธ์งานบอล สร้างอารมณ์ บรรยากาศ สีสันแก่ผู้ได้พบเห็น ได้เข้าใจถึงจุดประสงค์ของงาน และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการปฏิบัติงาน เข้าร่วม หรือสนับสนุนงานบอลในทางใดทางหนึ่งแล้วยังเป็นการสร้าง และส่งผ่านวัฒนธรรมของจุฬาฯ เราเองผ่านรุ่นน้องรุ่นใหม่ที่เข้ามา ได้เรียนรู้ และซึมซับสิ่งดีงาม แล้วรักษาและหวงแหนเพื่อรุ่นน้องของเรา และจุฬาฯต่อไปในอนาคต

 

กิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่่งจากคนเบื้้องหลังในการอำนวยความสะดวก อาทิ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งทำหน้าที่โดยอำนวยการ 2 ได้แก่ สถานที่ จราจร แสงเสียง รักษาความปลอดภัย ยานพาหนะ พยาบาล ปฏิคม วิทยุ พัสดุ และส่วนงานสนับสนุนกิจกรรมเสร็จสิ้นก่อนวันงาน ทำหน้าที่โดยอำนวยการ 1 ได้แก่ เสื้อ บัตร หาทุน สาราณียกร ตกแต่งสถานที่ แลนด์มาร์ค นอกจากนี้ยังมีงานควบคุม วางแผน ประสานงาน การเงิน และธุรการ รับสมััครทีมงาน เป็นต้น ทำหน้าที่โดยประสานงานกลาง ได้แก่ ประธารจัดงาน รองประธานจัดงาน เลขานุการ เหรัญญิก ทรัพยากรบุคคล ประธานฝ่ายต่างๆ เลขานุการฝ่าย และเหรัญญิกฝ่าย

 

จะเห็นได้ว่างานบอลนั้น ไม่ได้หมายถึงเพียงกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง แต่หมายถึงกิจกรรมทุกกิจกรรมซึ่งมีความสำคัญเสมอกัน และเกี่ยวข้องกัน โดยต่างส่งเสริม และสนับสนุนกัน โดยมีคณะ ชุมนุม กลุ่มคน ทีมงาน และบุคคล เป็นคนโดยจิตวิญญาณจุฬาฯ ทำกิจกรรมตามหน้าที่ของตน และมากกว่าในบางครั้ง เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดเดียวกันของงานบอล คือ เจ้าของงานบอลทุกคนมีความสุข โดยทุกคนเป็นเจ้าของงานบอล ด้วยเหตุนี้เองงานบอลจึงเป็นที่รู้จักของทุกคน งานบอลจึงมีความสำคัญในมิติต่างๆ ตามการรับรู้ของแต่ละคน ในทุกปีทุกคนตั้งตาคอยเพื่อร่วมเป็นเจ้าของงานบอล และงานบอลยังคงอยู่ต่อไปคู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่างานบอล และรวมถึงกิจกรรมต่างๆ สำหรับบุคคลที่มีอำนาจโดยชอบ เป็นผู้จัดการโอกาส และเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ จะสามารถกระจายให้โอกาสอย่างเสมอกัน และทั่วถึง โดยความแตกต่างของรูปแบบกิจกรรม เป็นเพียงหน้าที่แตกต่างกัน โดยจัดให้ตรงกับคนที่เหมาะสม หากไม่แล้ว ท่านกำลังจะสร้างความสูญสิ้นทางอุดมการณ์แก่สังคม และจะเป็นการลำบากต่อการทำกิจกรรมของรุ่นหลัง สังเกตได้จากตัวอย่างที่เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ในสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง และสำหรับคนที่มีจิตวิญญาณจุฬาฯ แต่ไม่มีโอกาส ผู้เขียนเชื่อว่า หากท่านคงมั่นในจิตวิญญาณ มานะทำกิจกรรมอย่างเต็มความสามารถ และเจตนารมย์ วันหนึ่งผลแห่งการกระทำของท่านเอง จะนำมาซึ่งโอกาสนั้นเอง จากบทเรียนชีวิตของผู้เขียน เชื่อว่าในชีวิตของคนมีสิ่งสำคัญเพียงสองอย่าง อย่างแรก คือ ทำตัวเองให้พร้อม อย่างหลัง คือ โอกาส ทั้งโอกาสที่เข้ามา และโอกาสที่เข้าหา ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว การก้าวไปสู่อีกจุดหนึ่งคงเป็นไปได้น้อยมาก

ขอบคุณที่ให้โอกาสแก่ผู้เขียน มา ณ ที่นี้

Read Full Post »