Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Posts Tagged ‘chulalongkorn university’

recommendare

บทความเรื่อง  ”บทสนทนาระหว่างโสกราตีส และสกินเนอร์: ความจริง ความรู้ และธรรมชาติ”

โดย

ศศิน ดิศวนนท์

นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความมีดังนี้

ประวัติย่อของโสกราตีส

โสกราตีส (Socrates/ 470 BC-399 BC) ถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดสาขาของปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับตัวมนุษย์โดยตรง เนื่องจากเป็นผู้เริ่มตั้งคำถามประเภทอะไรคือความดี? อะไรคือความกล้าหาญ? อะไรคือความยุติธรรม? ขึ้น ซึ่งทำให้มนุษย์ต้องถามคำถามเกี่ยวกับชีวิต ศีลธรรม สิ่งที่ดี และสิ่งที่ชั่ว โสกราตีสเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีผลงานการเขียนอะไรคงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน (*) อย่างไรก็ตาม ตัวตนและความคิดของเขายังคงอยู่ถึงปัจจุบันผ่านงานเขียนของบุคคลอย่าง เพลโต (Plato) อริสโตเติล (Aristotle) อริสโตฟานเนส (Aristophanes) หรือ ซีโนฟอน (Xenophon) นอกจากนั้นยังมีทั้งนักเขียน นักคิด และนักปราชญ์อื่นๆ ที่เก็บเรื่องราวของโสกราตีส ซึ่งเราไม่สามารถรู้ว่าข้อมูลเรื่องเล่าถึงชีวิตของโสกราตีสนั้นจริงหรือเท็จได้อย่างแน่นอน

(*) สมบัติ จันทรวงศ์, ปรัชญาการเมืองเบื้องต้น: บทวิเคราะห์โสเกรตีส, กรุงเทพ : ส.น.พ.คบไฟ, 2546, หน้า 5

ตามธรรมเนียมโบราณ โสกราตีสนั้นเป็นลูกของโสโฟรนิกัส (Sophronicus) ผู้เป็นพ่อ และ แฟนาเรต (Phaenarete) ผู้เป็นแม่ โสกราตีสได้แต่งงานกับซานทิปป์ (Xanthippe) และมีลูกชายถึง 3 คน เมื่อเทียบกับสังคมสมัยนั้นซานทิปป์ถึงได้ว่าเป็นผู้หญิงอารมณ์ร้าย และโสกราตีสเองได้กล่าวว่า เพราะเขาสามารถใช้ชีวิตกับซานทิปป์ได้ เขาใช้ชีวิตกับมนุษย์คนใดก็ได้ เหมือนกับผู้ฝึกม้าที่สามารถทนกับม้าป่าได้ โสกราตีสได้เห็นและร่วมรบในสมรภูมิ และ ตามสิ่งที่เพลโตได้กล่าวว่า โสกราตีสได้รับเหรียญเกียรติยศสำหรับความกล้าหาญในสมรภูมิ

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์มิได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าโสกราตีสประกอบอาชีพใด ในเรื่อง”ซิมโพเซียม” (Symposium) ซีโนฟอนกล่าวว่า โสกราตีสใช้ชีวิตกับการสนทนาปรัชญา โสกราตีสไม่น่าที่จะมีเงินมรดกจากครอบครัว เพราะบิดาของโสกราตีสเป็นเพียงศิลปิน และตามการบรรยายของเพลโต โสกราตีสไม่ได้รับเงินจากลูกศิษย์ อย่างไรก็ตาม ซีโนฟอนกล่าวใน “ซิมโพเซียม” ว่า โสกราตีสรับเงินจากลูกศิษย์ของเขา และอาริสโตฟานเนสก็เล่าว่าโสกราตีสได้เปิดโรงเรียนของตนเอง ข้อสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ โสกราตีสเลี้ยงชีพผ่านเพื่อนที่ร่ำรวยของเขา เช่นเอลซีไบเดส (Alcibiades) (*)

(*) ข้อมูลจาก http://www.1911encyclopedia.org/Socrates_%28philosopher%29

และ http://en.wikipedia.org/wiki/Socrates สืบค้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2552

ในการศึกษาแนวคิดของโสกราตีส ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ เราจะศึกษาโสกราตีสของใคร? และศึกษาอย่างไร? ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า เรารู้จักโสกราตีสจากกงานเขียนของเพลโต เซโนฟอน และอริสโตเติล แต่เราก็ยังไม่อาจตกลงกันได้ว่า โสกราตีสตัวจริงมีลักษณะเหมือนกับโสกราตีสที่ปรากฏในงานของใคร ทั้งนี้เนื่องจากว่าแม้เราจะรู้ว่าเคยมีโสกราตีสจริงๆ อยู่ แต่เขาก็ไม่เคยเขียนอะไรไว้เลย ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างโสกราตีสอย่างที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ขึ้นมา สำหรับในที่นี้จะใช้งานของเพลโตในบทสนทนาเรื่อง “ยูไทโฟร” เป็นหลัก เพราะเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าโสกราตีสของเพลโตมีกำเนิดจากโสกราตีสตัวจริง

ประวัติย่อของเควนติน สกินเนอร์ (*)

(*) สรุปและเรียบเรียงจาก http://www.jyu.fi/yhtfil/redescriptions/Yearbook%202002/Skinner_Interview_2002.pdf และ http://en.wikipedia.org/wiki/Quentin_Skinner สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2552

เควนติน สกินเนอร์ (Quentin Robert Duthie Skinner) เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ.1940 ได้รับตำแหน่ง Regius Professors of History ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เมื่อปี 1996 ปัจจุบัน (ปี 2008) เป็นศาสตราจารย์ทางด้านมนุษยศาสตร์ (humanities) ณ Queen Mary, University of London

ในด้านชีวประวัติ เควนติน สกินเนอร์เป็นบุตรคนที่สองของ Alexander Skinner กับ Winifred Rose Margaret, nee Duthie แต่งงานกับ Susan James ในปี 1979 สกินเนอร์ได้รับการศึกษาที่ Bedford School และ Gonville and Caius College, Cambridge ในปี 1982 เขาได้รับตำแหน่งที่สำคัญในการเป็นนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ คือ “double-starred first in History” และเริ่มสอนใน Christ’s College, Cambridge ต่อมาในปี 1978 เขาได้เป็นศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

งานเขียนทางด้านประวัติศาสตร์ของสกินเนอร์ มาจากความสนใจที่จะฟื้นฟูแนวคิดในช่วงแรกๆ ของนักเขียนทางด้านรัฐศาสตร์ในยุคสมัยใหม่ และหมู่นักเขียนที่เรียกว่า Renaissance republican authors เช่น Machiavelli, John Milton, James Harrington, and Algernon Sidney. สกินเนอร์ถือเป็นหนึ่งในสองบุคคล ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (‘Cambridge School’ of the study of the history of political thought) โดยอีกคนหนึ่งคือ J.G.A. Pocock ซึ่งที่ Cambridge School นี้เป็นที่ทราบกันดีว่าให้ความสำคัญกับเรื่อง “ภาษา” ในการศึกษาความคิดทางการเมือง

สำหรับสกินเนอร์ เขามีบทบาทในการเรียกร้องให้มีการสร้างทฤษฎีการตีความ (theory of interpretation) ซึ่งเน้นไปที่การกลับไปดู (recovering) ความตั้งใจของนักเขียนงานคลาสสิกที่เกี่ยวกับความคิดทางการเมือง (โดยเฉพาะ Machiavelli, Thomas More, และ Thomas Hobbes) ในทฤษฎีดังกล่าว เน้นความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษานักเขียนที่ไม่มีชื่อเสียง โดยมองว่าจะเป็นวิธีการที่จะนำไปสู่การรู้จักนักเขียนที่คลาสสิก ผลประการหนึ่งที่ตามมาก็คือ ทฤษฎีดังกล่าวได้โจมตีฐานคติที่มองว่างานคลาสสิกทางด้านการเมืองนั้นมั่นคงและลอยตัว (monolithic and free-standing) เช่นแนวคิดของ Leo Strauss

การที่สกินเนอร์คำนึงถึงถ้อยคำต่างๆ ของงานเขียนทางการเมืองได้นำไปสู่การเริ่มต้นบทบาทของงานประเภท neo-classical rhetoric ในทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ (ช่วงทศวรรษที่ 1990s) ซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษางานเรื่อง Reason and Rhetoric in the Philosophy of Hobbes ของเขา ซึ่งเขียนขึ้นในปี 1996 โดยจุดสำคัญของพัฒนาการดังกล่าวก็คืองานที่ชื่อ history of ideas ที่ได้วิพากษ์วิจารณ์งานต่างๆ ว่า นำมาใช้ผิดกาลเทศะ (anachronism) ซึ่งสกินเนอร์ได้พัฒนามุมมองดังกล่าวมาเป็นเป้าหมายหนึ่งในการศึกษาประวัติความคิดทางการเมือง เพื่อที่จะดึง (excavate) เอาแนวคิดในอดีตมาใช้ในการยืนยันความสำคัญของการถกเถียงทางการเมืองในปัจจุบัน โดยสกินเนอร์ได้กล่าวว่า “เราต้องทำมากกว่าที่จะคิดเกี่ยวกับตัวเราเอง” (do more thinking on our own.) ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนจะขอยึดงานเขียนของสกินเนอร์เรื่อง Meaning and Understanding in the History of Ideas เป็นหลักในการสร้างตัวตนของเขา

นำเรื่อง

คืนหนึ่งขณะที่เควนติน สกินเนอร์ นักวิชาการผู้ซึ่งยึดมั่นในแนวทางการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ กำลังครุ่นคริดถึงคำถามของนักศึกษาปริญญาเอกที่เขาสอน ณ Queen Mary, University of London ซึ่งได้ซักถามเมื่อตอนบ่ายในประเด็นเกี่ยวกับความจริง ความรู้ และธรรมชาติ แต่ไม่นานนัก เนื่องด้วยภารกิจอันหนักหน่วงกับ Susan James ภรรยาของเขา ก็ทำให้เขาก็ผล็อยหลับไปโดยไม่รู้ตัว แต่เนื่องด้วยคำถามที่ค้างคาใจอยู่ทำให้ โสกราตีส ฟิลโลโซเฟอร์ในสมัยกรีกโบราณได้เข้ามาสนทนากับเขาในความฝัน โดยที่ในความฝันนั้น สกินเนอร์กำลังถูกโสกราตีสซักไซ้ไล่เรียงในรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

ตอนที่ ๑ ภาพรวมแนวคิดของสกินเนอร์

โสกราตีส: ข้าทราบมาว่าในช่วงเวลาของท่าน เหล่าผู้ที่เชื่อในความสำคัญของการศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์ของงานคลาสสิกเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง มักจะอ่านและยึดมั่นในแนวคิดและงานเขียนของคุณเป็นหลัก

สกินเนอร์: คงเป็นเช่นนั้น

โสกราตีส: นอกจากนี้ข้ายังได้ยินมาว่า ผู้คนเหล่านั้นกล่าวขวัญว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญที่วิพากษ์วิจารณ์แนวทางการศึกษาเฉพาะตัวบท (textual approach) ของงานคลาสสิก โดยมองว่าการศึกษาบริบทเชิงประวัติศาสตร์ (historical context) จำเป็นในการช่วยให้เกิดความเข้าใจตัวบทที่ชัดเจนและแม่นยำมากกว่าการศึกษาเฉพาะตัวบทของมันเอง

สกินเนอร์: ถูกแล้วครับ

โสกราตีส: ถ้าเช่นนั้นบริบทต่างๆ ก็จะเป็นสิ่งที่มากำหนดความรู้และเนื้อหาที่เราพบในงานเขียนเช่นนั้นหรือ

สกินเนอร์: ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ ผมเพียงเห็นว่าผู้ที่ยึดมั่นในตัวบท (textualist) ที่มองว่าเฉพาะตัวบทก็เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วในการค้นคว้าและทำความเข้าใจนั้น เป็นการศึกษาที่ยึดติดว่าตัวบทเป็นความรู้ที่เป็นเรื่องข้ามเวลา (timeless) และสากล ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะความจริงแล้วเราต้องมีความรู้เกี่ยวกับบริบททางสังคม เพื่อใช้ในการหาความตั้งใจ (intentions) ที่แท้จริงของผู้เขียน หรือเรียกว่าการศึกษาประวัติของความคิด (history of idea) ของนักเขียนต่างๆ นั่นเอง เพราะผู้ที่เขียนงานต่างๆ ย่อมต้องการให้งานเขียนนั้นออกมาเป็นอย่างที่ตัวเองตั้งใจไว้ จึงคิดว่าไม่มีนักคิดคนใดสามารถที่จะถูกกล่าวได้ว่ามีความหมายหรือทำอะไรก็ตามที่เขาไม่ได้ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องของที่ที่เขาหมายความหรือได้กระทำลงไป (*)

(*)… no agent can eventually be said to have meant or done something which he could never be brought to accept as a correct description of what he had meant done. (Skinner, 1988, p 48)

โสกราตีส: ถ้าข้าจะอนุมานที่ท่านว่า ไม่เพียงแต่ตัวบทที่เราไม่สามารถนำมาใช้ในการตั้งและตอบคำถามได้เท่านั้น แต่มันยังไม่มีปัญหาเรื่องใดที่ดำรงอยู่ตลอดไปในทางปรัชญาตามแนวทางของท่าน มันมีเพียงคำตอบส่วนบุคคลสำหรับคำถามเฉพาะบุคคล และแต่ละคำถามที่แตกต่างกันก็ขึ้นอยู่กับผู้ถามที่แตกต่างกัน ถ้อยคำ (statement) ต่างๆ ในงานคลาสสิกนั้นจึงหนีไม่พ้นที่จะเป็นสิ่งที่รวมเอาความตั้งใจเฉพาะในโอกาสหนึ่งๆ และใช้ในการหาทางออกให้กับเรื่องเฉพาะหนึ่งๆ เท่านั้น ความพยายามที่จะทำให้มันเป็นเรื่องที่ข้ามกาลเวลา (transcend) จึงเป็นเรื่องที่ไร้เดียงสา

สกินเนอร์: ถูกต้อง ผมเห็นเป็นอย่างที่คุณว่ามา หรือคุณว่าสิ่งที่ผมคิดนั้นไม่เป็นจริง

โสกราตีส: อาจจะจริง หรือไม่จริงก็เป็นได้

สกินเนอร์: ผมไม่ค่อยเข้าใจ ลองขยายความหน่อยครับ

โสกราตีส: ถ้าเช่นนั้น ข้ามีคำถามจะถามท่าน หากท่านตอบคำถามข้าได้จนสิ้นข้อสงสัย ข้าก็จะเชื่อว่าเป็นจริง แต่หากข้ายังมิอาจคลายข้อสงสัยความจริงของท่าน ข้าก็ยังมิอาจเชื่อได้อย่างสนิทใจ

สกินเนอร์: เชิญคุณถามมาได้เลยครับ

โสกราตีส: ท่านเห็นว่าความหมายที่แท้จริงนั้นจะได้มาจากการศึกษาบริบทเชิงประวัติศาสตร์เท่านั้นใช่หรือไม่

สกินเนอร์: ไม่เชิงอย่างที่คุณกล่าวมาเท่าไหร่นัก ความจริงแล้วผมมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงเพียงแค่ต้องการหาวิธีการที่เหมาะสมในการที่จะทำความเข้าใจกับงานเขียนต่างๆ ซึ่งในสมัยของผม วิธีการหลักๆ จะมีอยู่สองแนวทาง

– แนวทางแรก เป็นฝ่ายที่ยึดมั่นในความเป็นเอกเทศของ “ตัวบท” (autonomy of the text itself) ว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะรู้ความหมายในตัวของมันเอง และจะไม่สนใจหรือพยายามที่จะสร้างหรือหาบริบทในภาพรวม (total context)

– อีกแนวทาง ซึ่งตรงข้ามกับที่ว่ามา คือจะยืนยันว่า “บริบท” ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้าน ศาสนา การเมือง หรือเศรษฐกิจต่างก็เป็นตัวกำหนด (determine) ความหมายของตัวบทที่นำมาศึกษา และบริบทจะให้กรอบคิด (ultimate framework) ในการทำความเข้าใจมัน ซึ่งในความคิดของผมเมื่อพิจารณาแล้ว การใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งเพียงแนวทางเดียวนั้นไม่เพียงพอ แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเพียงพอ เพราะวิธีการทั้งสองต่างสามารถที่จะให้ข้อสรุปที่ผิดพลาด ดังนั้นจึงนำมาสู่การศึกษาในแนวทางที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ความคิด (history of ideas) ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาแบบใหม่

โสกราตีส: แล้วที่มาของแนวคิดของท่านล่ะ เป็นอย่างไร

สกินเนอร์: แนวทางของผมเริ่มมาจากความมุ่งมั่นที่จะหาความจริงในอดีตอย่างถูกต้อง โดยมีรากฐานการพัฒนาจากทฤษฎีหรือการตีความที่เรียกว่า hermeneutics คือเชื่อว่า อดีตมีปัญหาและเหตุการณ์ในตัวของมันเองที่เกิดขึ้นและจบลงในแต่ละยุค การที่จะเข้าใจอดีตหรือเขียนเรื่องราวในอดีตได้อย่างถูกต้องนั้น จะต้องมองปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้นจากสายตาของคนยุคนั้นเอง โดยต้องไม่ใส่ค่านิยมของผู้ศึกษาลงไป และพยายามนึกคิดเหมือนคนในอดีตด้วย ปัญหาของคนในปัจจุบันก็เป็นปัญหาที่เกิดและขึ้นและถูกตอบโดยคนปัจจุบัน แม้ดูเผินๆ เราจะมองว่าเป็นปัญหาเดียวกัน แต่ในเนื้อแท้นั้นจะเป็นคนละปัญหากัน

โสกราตีส: ขอท่านยกตัวอย่างให้ข้าเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งทีเถิด

สกินเนอร์: ยกตัวอย่างหรือ เอาเป็นว่าหากพูดคำว่า “ประชาธิปไตย” ในสมัยของคุณกับในสมัยของผมก็แตกต่างกันแล้ว รูปแบบประชาธิปไตยในสมัยของคุณจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ต่างจากประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านตัวแทน ในสมัยของท่านหรือสมัยโบราณประชาธิปไตยมีนัยความหมายในแง่ลบ คือเป็นรูปแบบการปกครองที่ใช้อำนาจของความเป็นคนส่วนใหญ่และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เอง ในขณะที่ประชาธิปไตยสมัยของผมหรือสมัยใหม่นั้น เริ่มจากขบวนการทางการเมืองที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม นอกจากนี้ระบบตัวแทนนี้ไม่ได้หวังให้อำนาจการปกครองอยู่ในมือของประชาชนแต่มุ่งหมายเพื่อใช้ในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจการปกครองเป็นสำคัญ

จะเห็นได้ว่าการตั้งคำถามต่างๆ อย่างเช่น “รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดคืออะไร” ก็มาจากเงื่อนไขทางสังคมการเมืองที่แตกต่างกัน ดังนั้นการตอบคำถามก็ย่อมแตกต่างกัน และสามารถเป็นประโยชน์ได้ในแต่ละสังคมยุคนั้นๆ ดังนั้น ผมจึงพยายามที่จะเข้าใจอดีตอย่างที่คนในอดีตเข้าใจ

โสกราตีส: ถ้าเช่นนั้น ความรู้ที่ท่านได้มาจากการคิดแบบคนในอดีตก็ไม่สามารถนำมาใช้ปัจจุบันได้น่ะสิ แล้วจะมีประโยชน์อันใดเล่า

สกินเนอร์: ผมยอมรับ คุณโสกราตีส ประโยชน์จากความเข้าใจในอดีตจะไม่มีผลต่อปัจจุบันหรือสัมพันธ์กับอนาคตเท่าใดนัก นอกจากประวัติศาสตร์จะรู้อดีตเพื่อสนองความอยากรู้เท่านั้น (for the sake of historical knowledge) ความรู้ดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้กับปัจจุบันได้เท่าไรนัก การศึกษาตามแนวทางของผมจะเน้นให้คุณค่ากับความสำคัญของตัวอดีตในแต่ละยุคสมัยเอง

โสกราตีส: เอาเถอะสกินเนอร์ คราวนี้ข้าอยากรู้ว่าท่านมีวิธีการหาความรู้อย่างไร

สกินเนอร์: ผมมีกฎเกี่ยวกับการหาความตั้งใจมีสองประการ ประการแรกเราควรที่จะเน้นการพิจารณาที่ไม่เพียงแค่การตีความจากตัวบท แต่ต้องพิจารณาระเบียบแบบแผนที่ครอบคลุมประเด็นหรือใจความที่ตัวบทนั้นคำนึงถึง ประการที่สองเราควรที่จะพิจารณาโลกของผู้เขียนหรือโลกแห่งความเป็นจริงของเขา (*)

(*) First, we should “focus not just on text to be interpreted but on the prevailing conventions governing the treatment of issues or themes with the text is concerned.” Second, we should “focus on the writer’s mental world, the world of his empirical beliefs.” (Skinner, 1988, p. 77)

จากกฎสองประการนี้ ได้นำไปสู่การกำหนดระเบียบวิธีในการศึกษาคือ การวาดภาพ (delineate) ภาพรวมของการสื่อสารที่สามารถดำเนินการได้บนโอกาสที่มี โดยการแสดงออก (utterance) ที่สามารถแสดงออกได้ และการสืบค้นความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงออกที่บริบททางภาษาที่กว้างขึ้นเหมือนเป็นวิธีในการถอดรหัส (decoding) ความตั้งใจที่แท้จริงของผู้ที่เขียนงาน (*)

(*)… the appropriate methodology for the history of ideas must…delineate the whole range of communication which could have been conventionally performed on the occasion by the utterance of the given utterance, and next…trace relations between the given utterance and this wider linguistic context as a mean of decoding the actual intention of the given writer. (Skinner, 1988, p 63-64)

ผลจากระเบียบวิธีดังกล่าว ทำให้วิธีการของผมมีพื้นฐานความคิดว่า ความรู้ของความตั้งใจผู้เขียนในงานเขียน ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ตรง (relevant) กับความรู้เท่านั้น แต่ยังเทียบเท่า (equivalent) กับความรู้ที่ผู้เขียนได้เขียนอีกด้วย (*) ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้ว อัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์เฉพาะของตัวบทนั้น จะบ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะของความตั้งใจของผู้เขียนในการเขียนงานเขียน

(*)… a knowledge of the author’s intensions in writing…is not merely relevant to, but is actually equivalent to, a knowledge of the [meaning] of what he write. (Skinner, 1988, p 75)

ตอนที่ ๒ ภาพรวมแนวคิดของโสกราตีสจากงานเรื่องยูไทโฟร

สกินเนอร์: เอาละโสกราตีส ผมเคยอ่านบทสนทนาที่คุณพูดคุยกับยูไทโฟร คุณได้ถาม ยูไทโฟรว่า “สุทธิธรรมย่อมคงสภาพอย่างไม่แปรเปลี่ยนตลอดไป ไม่ว่าในการกระทำใดๆ และอสุทธิธรรมก็คือธรรมอันตรงข้ามกับสุทธิธรรมเสมอไป มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวอันบ่งให้เห็นชัดถึงสภาวะของอสุทธิธรรม ใช่หรือไม่ ?” ซึ่งผมมองว่าตรงนี้เป็นการพูดถึงทฤษฎีเรื่องรูปแบบ (theory of forms) ด้วยการกล่าวถึงสิ่งที่เป็นสาระของสุทธิธรรมซึ่งคงที่ตลอดไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

โสกราตีส: อาจสรุปดังที่ท่านว่าก็ได้ แต่ยูไทโฟรมิได้ให้คำตอบอันเป็นที่พอใจแก่ข้า เขาตอบว่าการปฏิบัติสุทธิธรรมคือการกระทำแบบที่เขากำลังทำอยู่ (การฟ้องร้องบิดาของตนเอง) นั่นคือเขาไม่ได้บอกว่าอะไรคือสุทธิธรรม แต่กลับพูดถึงการกระทำที่เป็นสุทธิธรรม ยูไทโฟรไม่เข้าใจคำถามว่าข้าพเจ้ากำลังแสวงหาคุณสมบัติของสุทธิธรรม ซึ่งจะต้องมีอยู่ในการกระทำทุกอย่างที่เป็นสุทธิธรรม ดังนั้นสิ่งที่เขาตอบข้าเป็นเพียงการกระทำเฉพาะกรณีของเขา ซึ่งจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องไม่ได้ มิเช่นนั้นแล้ว ยูไทโฟรจะต้องคอยชี้การกระทำเฉพาะรายทุกๆ กรณีไปว่าเป็นสุทธิธรรมหรือไม่

สกินเนอร์: แล้วที่เขาตอบว่า “อะไรที่เทพชอบคือ”สุทธิธรรม” และอะไรที่เทพไม่ชอบ คือ”อสุทธิธรรม” ละครับ

โสกราตีส: เนื่องจากศาสนาในชุมชนของข้านั้นเชื่อว่ามีเทพเจ้าหลายองค์ และเทพเจ้านั้นก็มักจะทะเลาะเบาะแล้วกันเอง ทำให้การยอมรับเทพเจ้าเป็นมาตรฐานกำหนดการกระทำของมนุษย์นั้นไม่ได้ผล

สกินเนอร์: นั่นหมายความว่า ถ้าหากศาสนาในชุมชนของท่านมีการนับถือเทพเจ้าที่มีลักษณะสากล หรือที่เรียกว่าเอกเทวนิยม (monotheism) ก็จะทำให้คำตอบของยูไทโฟรใช้ได้ผล ซึ่งแสดงว่าคุณก็ยังเชื่อในเรื่องบริบททางสังคมเหมือนผมอยู่ เพราะมาตรฐานคำตอบที่ทำให้คุณพึงพอใจก็แปรเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

โสกราตีส: ไม่หรอกสกินเนอร์ ถ้าหากยูไทโฟรยังยืนยันและยึดมาตรฐานตามที่เขาอ้างตั้งแต่แรกว่า “ซุสเป็นเทพเจ้าที่ดีที่สุด และยุติธรรมที่สุด” และเขาเลือกที่จะเชื่อเพียงเทพเจ้าที่ตนคิดว่ามีอำนาจสูงสุด ก็จะทำให้คำตอบของเขามีน้ำหนักและสมเหตุผล

สกินเนอร์: เช่นนั้นผมคิดว่าคุณเพียงต้องการแค่การยุติความเห็นต่างๆ ที่ไม่ตรงกันด้วยการวัด ดังที่คุณกล่าวไว้ว่า “ถ้าเราเห็นไม่ตรงกันในเรื่องขนาดของสิ่งต่างๆ เราก็ควรยุติการเห็นไม่ตรงกันนั้นเสียด้วยการวัด” ใช่หรือไม่

โสกราตีส: ก็ไม่ผิด เพียงแต่ข้าพเจ้าขอแบ่งประเภทของข้อขัดแย้งต่างๆ ทั้งหลายออกเป็นสองประเภทด้วยกัน

– ประเภทแรกเป็นข้อขัดแย้งที่สามารถมีมาตรฐานซึ่งคู่กรณีสามารถยอมรับเป็นเครื่องตัดสินได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือข้อขัดแย้งที่มีศาสตร์หรือศิลป์ที่ทุกคนยอมรับได้ว่าเป็นศาสตร์หรือศิลป์ของเรื่องนั้นๆ

– ส่วนข้อขัดแย้งประเภทที่สองนั้น เป็นข้อขัดแย้งที่ยังไม่มีศาสตร์หรือศิลป์ที่ให้คำตอบซึ่งทุกคนยอมรับได้ ส่วนมากข้อขัดแย้งประเภทนี้ได้แก่ข้อขัดแย้งเรื่องถูก ผิด ดี เลว ซึ่งข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทประเภทนี้จะมีความสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์มากกว่าเนื้อหาของข้อพิพาทประเภทแรก แต่มักจะได้รับความสนใจน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ หรือไม่เช่นนั้นก็มักจะมีการยอมรับเอาคำตอบต่อคำถามประเภทนี้ที่ตกทอดกันมาในรูปศาสนาประเพณีว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องอยู่แล้ว

สกินเนอร์: โสกราตีส คุณได้ใช้วิธีที่สมัยผมเรียกกันว่าวิภาษวิธี (dialectic) หรือการสนทนาแบบปุจฉา วิปัสสนา หรือการสนทนาที่โต้แย้งกันด้วยเหตุผลเพื่อหาข้อยุติหรือข้อสรุป โดยที่คุณจะเริ่มต้นด้วยการสอบถามบุคคลที่เชื่อถือได้เพื่อให้เขาเสนอแนวคิด (หรือทฤษฎี) เกี่ยวกับเรื่องรูปแบบของสภาวะนั้นๆ ด้วยการถามว่าอะไรคือ…? (*) เมื่อบุคคลดังกล่าวเสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องรูปแบบของสภาวะนั้นๆ แล้ว คุณก็จะใช้ “การตั้งคำถาม” ตามหลักเหตุผลในการหักล้าง (refutation/elenchus) หรือตรวจสอบว่า ข้อสมมุติฐานเบื้องต้นที่บุคคลนั้นนำเสนอเป็นการแสดงถึงสภาวะที่เป็นหนึ่งเดียว ใช้ได้เป็นการทั่วไปและไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลาจริงหรือไม่

(*) Leo Strauss ชี้ว่า การที่โสกราตีสตั้งคำถามในลักษณะนี้เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ธรรมชาติของชนิดของสิ่งที่เป็นประเด็น นั่นคือ รูปแบบ (form) หรือคุณลักษณะของสิ่งนั้นๆ เด่นชัดขึ้น

โสกราตีส: เป็นจริงดังท่านว่า ข้าใช้วิธีการตั้งคำถามกับบรรดาผู้(อวด)รู้ทั้งหลาย (หรือที่เรียกว่าโสฟิสต์) เพื่อต้องการพิสูจน์ว่าพวกเขารู้เรื่องนั้นๆ จริงอย่างที่เขาประกาศหรือไม่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ข้าต้องการทำความกระจ่างว่า เวลาที่ใครก็ตามบอกว่าตนเองรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นอย่างดีนั้น จริงๆ แล้วสิ่งที่เขารู้มันคืออะไรกันแน่ เช่น ความดีคืออะไร ความงามคืออะไร ความบริสุทธิ์คืออะไร ความรักคืออะไร ความยุติธรรมคืออะไร? ฯลฯ วิธีการของข้าคือการซักไซ้ไล่เลียง โต้แย้งหักล้างเพื่อหาความชัดเจน ซึ่งเรียกกันอย่างที่ท่านว่ามา คือวิธีการแบบ “วิภาษวิธี” (dialectic) อันมีกระบวนการสามประการด้วยกัน ประการแรกคือข้อเสนอ หรือการเปิดประเด็น (thesis) ประการที่สองคือการโต้แย้ง (anti-thesis) และประการสุดท้ายคือการสรุปสังเคราะห์เพื่อนำไปสู่การเกิดข้อเสนอใหม่ และด้วยวิธีการเช่นนี้ แนวคิดหรือความรู้ใดถูกโต้แย้งหักล้างได้ด้วยเหตุผลก็จะคงอยู่ไม่ได้ ส่วนแนวคิดหรือความรู้ใดที่ทนต่อการพิสูจน์โต้งแย้งก็จะยังคงอยู่และได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นๆ

สกินเนอร์: คุณใช้วิธีการเช่นนั้นเพื่ออะไร ทำไมคุณไม่ไปค้นคว้าเอกสารหรือใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบธรรมดาๆ ล่ะ เพราะส่วนมากคนที่ถูกคุณซักไซ้ไล่เลียงมักจะจนมุม เสียหน้า อับอายประชาชีเสียมากกว่า ทำให้คุณถูกกล่าวหาและลงโทษในที่สุด

โสกราตีส: ข้ามีความเชื่อว่า โดยทั่วไปแล้วมนุษย์มีแนวโน้มที่จะยอมรับว่าสิ่งที่ดีคือสิ่งที่สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมที่ได้ปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน และสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันมานานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตนเองและเป็นของที่ดี และย่อมเป็นที่แน่นอนว่าในชุมชนที่ยึดมั่นกับขนบธรรมเนียมเช่นว่านี้ ปรัชญาอันเป็นแนวคิดที่แปลกและใหม่ ที่พยายามแยกแยะระหว่างสิ่งที่ดีกับสิ่งซึ่งเป็นของดั้งเดิมย่อมถูกมองว่าเป็นของที่เลวร้าย

การค้นพบธรรมชาติ (nature) ที่แท้จริง จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าหากว่าอำนาจหรือวิถีชีวิตที่เคยเป็นอยู่ในชุมชนนั้นไม่ถูกตั้งข้อสงสัยเอาเสียก่อน แต่การตั้งข้อสงสัยเอากับขนบธรรมเนียมประเพณีโดยปรัชญานั้น แท้จริงแล้วก็คือความพยายามที่จะแทนที่สิ่งเก่าด้วยสิ่งที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ดีโดยธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่เก่าแก่ยิ่งกว่าขนบประเพณีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะธรรมชาติย่อมมีมาก่อนขนบประเพณีใดๆ ทั้งปวง และเพราะธรรมชาติย่อมอยู่เหนือข้อจำกัดหรือขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์ สังคม ศีลธรรม และศาสนา

พวกโสฟิสต์ในสมัยข้ามักจะอ้างว่า ความรู้ของพวกเขานั้นเป็นความรู้ที่สามารถนำไปสู่ชีวิตอันประเสริฐได้ ข้าจึงต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่าพวกโสฟิสต์นั้นไม่รู้ว่าความรู้ที่ตนมีอยู่นั้น หาใช่ความรู้ไม่ ความจริงแล้วพวกเขาไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ตัวข้ามุ่งหาความจริงหรือกฎที่อยู่เหนือแค่กฎที่มนุษย์สร้างขึ้น ข้าต้องการเข้าถึงความจริงแท้ของสรรพสิ่งโดยเฉพาะประเด็นความรู้ที่แท้จริง และความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับคุณค่าต่างๆ เช่นความดี ความยุติธรรม เป็นต้น

สกินเนอร์: โสกราตีส ตำตอบของคุณทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งในสมัยของผม

โสกราตีส: เรื่องใดหรือท่าน

สกินเนอร์: เรื่อง เดอะ เมทริกซ์ (The Matrix)

โสกราตีส: เพราะเหตุใด

สกินเนอร์: ตามเนื้อเรื่องในภาพยนตร์จะมีโลกสองโลก (*) คือ โลกเมตริกซ์ และ ไซออน เมตริกซ์คือโลกที่ถูกสร้างจากหุ่นยนต์ (AI) แต่มนุษย์คิดว่านั่นคือโลกจริง มนุษย์ดำเนินชีวิตไปตามปกติเหมือนคนเราทุกวันนี้ ทำงาน กิน ดื่ม เซ็กซ์ ทุกอย่างที่มนุษย์สัมผัสด้วยรูป รส กลิ่น เสียง และสิ่งที่ AI สร้างให้มนุษย์ได้รับอย่างนั้น เพราะความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เป็นอย่างนั้น ในหนังจะใช้จุดนี้สร้างให้ AI ใช้ความยึดติดใน”กายหยาบ”ของมนุษย์ (อัตตา) เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ให้ยังคงหลงอยู่ในโลกเมตริกซ์ (**)

(*) การแบ่งออกเป็นสองโลกนี้ คล้ายกับหลักปรัชญาของเพลโต ใน The Republic ที่เชื่อว่า โลกแบ่งออกเป็นสองส่วน (divided line) ซึ่งก็คือ Visible Realm ซึ่งก็คือโลกที่วัตถุสามารถมองเห็นได้เสมือนโลกแห่งความจริงในภาพยนตร์ และ Intelligible Realm คือโลกที่ต้องใช้ความรู้และเหตุผลในการรับรู้สิ่งต่างๆ เสมือนโลกเมตริกซ์ในภาพยนตร์ (อ่านเพิ่มเติมใน http://summaphilosophiae.wordpress.com/2007/01/10/platos-divided-line/)

(**) ตัวละครในเรื่องมักจะกล่าวว่า I think, therefore I am (ซึ่งเป็นแนวคิดของ Rene Descartes) อีกอย่างในภาพยนตร์ที่อาจตีความได้ว่า ตัวละครทุกตัวล้วนไม่มีใครรู้ว่าตนเองมีตัวตนอยู่เพื่ออะไร คำตอบเดียวที่ทุกคนพูดก็คือ “เราอยู่เพื่อทำในสิ่งที่เราต้องทำเท่านั้น” อย่างที่ตัวละครในเรื่อง เช่น Oracle, Keymaker, Merovingian และแม้แต่ Agent Smith ต่างก็พูดถึงนัยยะในนี้ทั้งสิ้น

แต่มีกลุ่มคนที่พบว่าโลกเมตริกซ์ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงสิ่งลวงตาที่ AI สร้างให้จิตมีมโนภาพขึ้นมาในตัวมนุษย์ นั่น คือ สิ่งที่มนุษย์ยึดติดในความไม่มีอยู่จริง จุดนี้ AI เป็นเหมือนจิตของมนุษย์ เป็นเพราะจิตทำให้เกิดทุกอย่าง อันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ เพราะมนุษย์ยังยึดติดอยู่ที่จิต การวนเวียนอยู่ในวัฎสงสาร ก็คือการที่ AI เลี้ยงมนุษย์มาใช้เป็นพลังงาน ซึ่ง AI ต้อง ทำแบบนั้น เพราะ AI ขาดพลังงานไม่ได้ มนุษย์เป็นบ่อเกิดพลังงานอย่างดี แต่จะทำอย่างไรให้มนุษย์ไม่กบฏ นั่นก็คือการสร้างโลกให้มนุษย์รู้สึกว่าตัวเองเป็นอยู่อย่างนั้น ทุกอย่าง AI ควบคุมได้ ซึ่งก็เป็นจิต ที่สร้างอัตตาให้มนุษย์ยึดติดนั่นเอง และผมกำลังจะบอกว่าตัวคุณเปรียบเหมือนนีโอ (*) พระเอกในเรื่อง ซึ่งเป็นผู้ที่ตื่นขึ้นจากเมตริกซ์และจะมาปลดปล่อยมนุษย์ และกล่าวว่าไม่มีใครที่จะทำให้คนอื่นเห็นความจริงได้ แต่ต้องเป็นคนคนนั้นเองที่จะค้นว่าเมตริกซ์คืออะไร คนอื่นเพียงแค่สามารถชี้ทางให้ได้เท่านั้น

(*) ได้มีการตีความว่า Neo / Thomas Anderson – นีโอ หรือชื่อเดิม โทมัส แอนเดอร์สัน กับคำว่า ‘Neo’ มีลักษณะเป็นอนาแกรมของคำว่า ‘eon’ และ ‘One’ จากคำว่า The One หรือ (พระผู้เป็นเจ้า)ผู้ปลดปล่อย (อนาแกรมคือการสลับที่ตัวอักษรในคำแล้วกลายเป็นคำอื่นได้) Neo เป็นภาษากรีกซึ่งแปลว่า “ใหม่” ‘new’ ซึ่งอาจเป็น (มีต่อ) ความหมายแฝง เกี่ยวกับความเป็นพระผู้ไถ่ในฐานะที่ Neo มาปฏิบัติภารกิจในโลกของ เดอะ เมตริกซ์ ส่วนชื่อ “Thomas Anderson” ดูเหมือนจะใกล้เคียงกับบทสวด Gospel of Thomas และคำภาษากรีก “man”, andras, ซึ่งในภาษากรีกโบราณคือ andros (เป็นคำแสดงความเป็นเจ้าของ เหมือนภาษาอังกฤษในรูปเติม ‘s) จากคำแผลงนี้ “andros-son” อาจจะแปลได้ว่า Son of Man (บุตรของมนุษย์) ซึ่งเป็นคำหนึ่งที่เคยถูกใช้เรียกพระเยซูคริสต์ Thomas อาจจะสื่อถึง Doubting Thomas ซึ่งเป็นชื่อของสาวกคนหนึ่งของพระเยซูที่เคยสงสัยในการเกิดใหม่ (ฟื้นจากตาย) ของพระเยซูคริสต์ในทีแรก

นอกจากนี้การตั้งชื่อต่างๆ ในภาพยนตร์ก็ได้มีการตีความไว้ เช่น เรือที่ชื่อ Logos (บัญชาการโดย Captain Niobe) ซึ่งในแนวปรัชญายุคกรีกคำว่า Logos (การคิด, ถ้อยคำ, การคำนวณ, ตรรกะ) เป็นแก่นสำคัญที่ครอบคลุมจักรวาลทั้งระบบ รวมทั้งการใช้เหตุผลของมนุษย์เกี่ยวกับจักรวาล ในศาสนายูดาย (Judaism) คือโลกของพระเจ้า และในศาสนาคริสต์ คือโลกแห่งการสรรค์สร้างของพระผู้เป็นเจ้า

(ที่มา: http://whatisthematrix.warnerbros.com/rl_cmp/new_phil_partridge.html)

โสกราตีส: อาจเป็นเช่นนั้นสกินเนอร์

สกินเนอร์: ผมสงสัยว่าทำไมคุณถึงพยายามที่จะเข้าถึงความจริงแท้นักเล่า

โสกราตีส: สกินเนอร์เอ๋ย เจ้าลองคิดดูสิว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็ปรารถนาสิ่งที่ดีด้วยกันทั้งสิ้น โดยมีเงื่อนไขว่า สิ่งที่ดีนั้นทำให้เขามีความสุข ดังที่อริสโตเติลศิษย์ของศิษย์ข้าได้กล่าวไว้ว่า “…all actions of all mankind are done with a view to what they think to be good.” แต่มิได้หมายความว่า สิ่งที่แต่ละคนทำหรือมุ่งหวังนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีจริงๆ สำหรับตัวเขา เพราะถ้ามนุษย์ทุกคนรู้และเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ดีจริงๆ ที่จะนำความสุขที่แท้จริงมาให้เขา ปัญหาย่อมจะไม่เกิดขึ้นเพราะความสุขความดีที่แท้ ย่อมนำมาซึ่งความสุขความดีในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ และถ้าเห็นพ้องต้องกันแล้ว ความขัดแย้งก็คงไม่เกิดขึ้น และปรัชญาการเมืองก็คงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่

สกินเนอร์: แต่ผมกลับคิดว่า วิธีวิเคราะห์เชิงบริบท (contextual analysis) ที่ผมนิยมใช้ นั้นก็มองว่า ความคิดความรู้ต่างๆ นั้นต่างก็ถูกกำหนดโดย “บริบท” และเรื่องบริบททางสังคมนี้ไม่ยอมรับว่า มีสิ่งที่เป็นเรื่องข้ามเวลาและสากล ดังนั้นจึงสรุปว่า มนุษย์เราไม่ต้องไปหวังที่จะค้นหาประวัติของความคิดของนักเขียนต่างๆ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การตอบคำถามที่ข้ามกาลเวลา ปรัชญาการเมืองที่ท่านว่ามาก็เป็นองค์ความรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากอิทธิพลของบริบทเช่นเดียวกัน คือ บริบทเงื่อนไขหลักที่ว่า “ธรรมชาติมนุษย์นั้นปรารถนาสิ่งที่ดี” โดยมีเงื่อนไขว่าสิ่งที่ดีนั้นทำให้เขามีความสุข

โสกราตีส: อาจเป็นเช่นที่ท่านว่า

สกินเนอร์: ถ้าเช่นนั้นคุณก็น่าจะยอมรับว่า การศึกษาโดยยึดแนวความคิดเรื่องบริบทเป็นสำคัญตามแนวทางของผมก็ได้ทำลายความเป็นอมตะ (philosophia perennis) หรือลักษณะ สัจธรรมของปรัชญาความคิดของท่านและลูกศิษย์ เพราะปรัชญาความคิด การมองปัญหา และการแก้ไขปัญหาตามแนวทางของท่าน ถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ภายใต้กาลเวลาและสถานที่หรือบริบททางสังคมของท่านเอง

โสกราตีส: ช้าก่อน สกินเนอร์ หากยึดตามแนวทางบริบทที่ท่านว่ามา ในทัศนะของข้า “บริบทเงื่อนไขหลัก” ที่ท่านว่านี้ก็คงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มาตลอด และก็จะดำรงอยู่ตลอดไป ดังนั้นเมื่อเงื่อนไขหรือสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ยังคงเป็นเช่นนี้ มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปัญหาภายใต้บริบทดังกล่าวนี้จะยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด และเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการคิดแก้ปัญหาดังกล่าว และการคิดแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือการแสวงหาหรือความรักในความรู้ในกิจกรรมหรือการกระทำในกิจกรรมส่วนรวม หรือก็คือองค์ความรู้ที่เรียกว่า “ปรัชญาการเมือง” นั่นเอง

เอาล่ะสกินเนอร์ผู้รอบรู้ หากท่านเป็นพวกที่ยึดมันในเรื่องบริบท (contextualism) นัก ข้าขอถามท่านว่า อะไรคือแนวความคิดว่าด้วยบริบท

ตอนที่ ๓ ข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องบริบท (context)

สกินเนอร์: ไม่ยากหรอกโสกราตีส แนวความคิดว่าด้วยบริบทก็คือ แนวความคิดที่เน้นลักษณะเฉพาะและความจำกัดของสิ่งหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยพิจารณาว่าเวลาและสถานที่เป็นตัวกำหนดความเฉพาะหรือความจำกัดของสิ่งหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นคุณค่าและความหมายของสิ่งหรือเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นจะสามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้องก็โดยการนำสิ่งหรือเหตุการณ์นั้นๆ วางลงในบริบทของมัน และศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งหรือเหตุการณ์นั้นๆ กับสิ่งหรือเหตุการณ์อื่นๆ ในบริบทเดียวกัน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้พยายามจินตนาการและพยายามมองอย่างรวบยอดสร้างเป็นภาพรวมขึ้นมาจากข้อความ ข้อมูล และเอกสารต่างๆ (*)

(*) The social meanings of texts or utterances are equivalent with author’s intentions in writing (“illocutionary force”) and can be fully explained by reconstructing the conversation around text’s occurrence. ตัวอย่างเช่นที่สกินเนอร์กล่าวว่า …Thus, to understand Defoe, we need to recover his intentions, what he was doing in writing (question and ridiculing intolerance).

โสกราตีส: ข้าเห็นว่าแนวทางของท่านอาจไม่สามารถอธิบายคนที่อยู่ในบริบทเดียวกันแต่คิดต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อดัม สมิทมองว่าควรใช้กลไกตลาดแบบทุนนิยมในการแก้ปัญหา แต่คาร์ล มาร์กซ์ กลับมองว่าต้องใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ทั้งๆ ที่ทั้งสองเป็นบุคคลร่วมสมัยกัน เป็นต้น

สกินเนอร์: โสกราตีส หากผมลองแบ่งบริบทออกเป็นบริบทระดับมหภาค (บริบทในภาพรวมของสังคมหนึ่งๆ) และบริบทระดับจุลภาค (บริบทของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ) ข้อจำกัดที่กล่าวถึงข้างต้นในทางหลักการถือว่าไม่ใช่ความผิดพลาด เพียงแต่เป็นข้อจำกัดในรายละเอียดปลีกย่อย หรือด้าน “เครื่องมือ” หรือด้าน “ความสามารถ” ที่ยังไม่สามารถหาบริบทในระดับจุลภาคของแต่ละคนได้เท่านั้น เพราะถ้าจะพิจารณากันจริงๆ บริบทสามารถไล่ลงไปถึงเรื่อง DNA ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันไป ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมอันส่งผลให้เกิดการก่อตัวของความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นเรื่องเกินความสามารถที่จะตรวจสอบได้

โสกราตีส: เอาล่ะสกินเนอร์ ที่ท่านบอกข้าว่าเราจะสามารถเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ก็โดยการนำสิ่งหรือเหตุการณ์นั้นๆ วางลงในบริบทของมัน ข้าอยากทราบว่าท่านจะแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นตัวบท (text) กับสิ่งที่เป็นบริบท (context) ได้อย่างไร หรือท่านจะเอาอะไรมากำหนดหรือเลือกสรรวางขอบเขตตัวบทที่เราจะศึกษาและประกอบขึ้นเป็นบริบทขึ้นมาเพื่อนำเอาเรื่องที่เราศึกษาขึ้นมาวางลงในตำแหน่งของมันในบริบทของมัน

สกินเนอร์: คุณหมายความว่าเราจะขีดเส้นตีกรอบบริบทที่เราศึกษาอย่างไรใช่หรือไม่

โสกราตีส: ถูกแล้ว

สกินเนอร์: ผมยอมรับว่าสิ่งที่คุณว่านั้น เกี่ยวข้องกับเรื่องข้อจำกัดของมนุษย์ ผมรู้ว่าคุณกำลังจะบอกว่าแนวทางการศึกษาของผมมีทางตันเนื่องมาจากปัญหาของบริบท คือเราไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าเราจะเริ่มบริบทที่ได้ที่ใด ปัญหาจะมีลักษณะเป็นวงกลมที่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน เหมือนปัญหาที่ถามว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน และโดยแท้จริงผมยอมรับว่า สิ่งที่เราจะนำมาสร้างเป็นบริบทก็ล้วนแต่เป็นเอกสารหรือหลักฐานบางอย่างเท่านั้น สิ่งต่างๆ ที่ประกอบเป็นบริบทจริงๆ ในยุคนั้นๆ ได้ถูกแปรรูปหรือถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือภายใต้บริบทของผู้ที่ผลิตงานเขียนออกมา ดังนั้นเราจะต้องศึกษาบริบทของแต่ละคนผู้บันทึกเอกสารนั้นๆ ซึ่งถ้าจะกล่าวไปแล้ว ความเป็นไปได้มีน้อยมากกับงานที่ยากเย็นและมหาศาลเช่นนั้น

โสกราตีส: แล้วไม่จริงหรือที่บริบทอันไม่สถิต ทำให้เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าสิ่งใดเป็นอิทธิพลต่อการพัฒนาความคิดของนักคิด คือ เราไม่สามารถที่จะกำหนด “ขอบเขต” ได้อย่างชัดเจนว่าบริบทในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งเป็นตัวกำหนดความคิดของนักคิดแต่ละคนอย่างมีนัยสำคัญ

สกินเนอร์: โสกราตีส ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะมีอิทธิพลหรือมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมดต่อการกำเนิดความคิดของนักเขียนงานคลาสสิก บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่มีความสำคัญหรือมีอิทธิพลมากมายอะไรก็ได้ ฉะนั้นแม้ว่าบริบททางประวัติศาสตร์จะมีขอบเขตกว้างและไม่สถิต แต่ในการศึกษารายละเอียดทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา เพียงแต่พยายามคิดถึงสิ่งสำคัญๆ ในบริบททางประวัติศาสตร์ของนักเขียนที่น่าจะมีอิทธิพลต่อเขา

โสกราตีส: แล้วท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ท่านหยิบมาศึกษานั้นมันถูกต้อง

สกินเนอร์: ในการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งในเชิงบริบท งานศึกษานั้นๆ ไม่จำเป็นจะต้องถูกต้องทั้งหมดเสมอไป การศึกษาเรื่องเดิมที่เคยมีผู้ศึกษาแล้วก็สามารถนำเอามาศึกษาใหม่ได้โดยสามารถเสริม หรือหักล้างด้วยหลักฐานหรือข้อค้นพบใหม่ๆ ที่หนักแน่นและเป็นที่ยอมรับมากกว่าได้

โสกราตีส: เอาล่ะ แม้ว่าสิ่งที่ท่านว่ามาข้างต้นจะสามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ แต่ท่านจะแก้ปัญหาข้อจำกัดทางบริบทของตัวท่านเองได้อย่างไร เพราะถ้าอดีตมันมีบริบทของมันและสรรพสิ่งทั้งหลายตกอยู่ในบริบทของมัน ตัวท่านซึ่งอยู่ในปัจจุบันก็จำต้องถูกจำกัดภายใต้บริบททางความคิดหรือประสบการณ์ของตัวท่านในปัจจุบันด้วย สิ่งทั้งหลายที่ท่านมองหรือเข้าใจต่างก็เป็นผลผลิตภายใต้บริบทปัจจุบันทั้งสิ้น การมองประวัติศาสตร์ด้วยสิ่งที่ท่านเรียกว่ากรอบของทฤษฎีปัจจุบัน เช่น ทฤษฎีโครงสร้าง ล้วนแต่เป็นการเอาบริบทปัจจุบันไปมองบริบทอดีต ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ผิดยุคผิดสมัย (anachronism) ดังนั้นการอ้างความเข้าใจหรือการเข้าถึงความรู้ในบริบทอดีต ก็เป็นเพียงการเขียนประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวของปัจจุบันเพียงเท่านั้นเอง

ขณะที่สกินเนอร์กำลังคิดทบทวนอยู่นั้น อ.ไชยันต์ ไชยพร ก็ได้เดินเข้ามาและกล่าวว่า

อ.ไชยันต์: สกินเนอร์ ท่านอย่าได้กังวลใจไปเลย แนวทางของท่านนั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะรู้เห็นเข้าใจเรื่องราวของมนุษย์ในกาลเวลา หากความพยายามของมนุษย์มีข้อจำกัดเพียงเท่านี้ แต่ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่จงใจและรู้ตัว ก็เป็นความพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติของตัวมนุษย์ หรือชี้ให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ที่แท้ว่าไม่ได้จำกัดอยู่เพียงที่เข้าใจอยู่ แต่ความพยายามนี้ไม่แน่นอนว่าจะสำเร็จหรือไม่และเมื่อไหร่ และคงต้องปล่อยกันและดูไปตามทางของใครของมันว่า มนุษย์จะเจริญก้าวหน้ากันไปถึงไหน และความเจริญนั้นจะวัดกันด้วยอะไร? แต่ถ้าเป็นการกระทำที่ลืมหวนมองถึงข้อจำกัดของตัวเองแล้ว ประวัติศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์ก็อาจจะช่วยให้หวนกลับมานึกถึงข้อจำกัดของมนุษย์ได้ ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ธรรมชาติของมนุษย์คืออะไร มนุษย์มีธรรมชาติหรือไม่ หรือมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาประวัติศาสตร์? (*)

(*) ไชยันต์ ไชยพร, “ประวัติศาสตร์ : วิถีแห่งความพยายามของมนุษย์ต่อความรู้ของเทพเจ้า,” วารสารธรรมศาสตร์, ปีที่ 19, ฉบับที่ 2, 2536, หน้า 71 – 72

โสกราตีส: อ.ไชยันต์ ท่านได้กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์และข้อจำกัด นั่นแสดงว่าท่านเชื่อมั่นในแนวทางการศึกษาตามปรัชญาการเมือง เนื่องจากแนวคิดของท่านเกี่ยวข้องกับคำถามอันไม่เปลี่ยนแปลง และมีคำตอบอันเป็นสัจธรรม ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้กาลเวลา

แต่น่าเสียดายก่อนที่จะได้ตอบคำถามของโสกราตีส อ.ไชยันต์ ไชยพร ก็ได้เดินทางไปอย่างรีบร้อนเสียก่อน

สกินเนอร์: โสกราตีส สิ่งที่ อ.ไชยันต์ได้พูดไปก็ถูก แต่ในแนวทางการศึกษาของผม ผู้ศึกษาต้องพยายามทำตัวให้ปลอดจากค่านิยม (value free) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อพยายามศึกษาทำความเข้าใจบริบทต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดความคิดของนักคิด แม้บางครั้งอาจจะเผลอเอาบริบทตนเองไปใช้ในการตีความ แต่เราก็ไม่สามารถที่จะละเลยความสำคัญของตัวบริบทไปได้ เนื่องจากบริบทเปรียบได้เหมือนภาพที่เป็นตัวอย่างในการเล่นภาพต่อ (jigsaw) ซึ่งเป็นการเอาชิ้นส่วนต่างๆ มาปะติดปะต่อกันเพื่อเติมเต็มภาพให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามรูปแบบภาพที่เป็นตัวอย่างนั้นๆ

จริงอยู่ที่ไม่มีนักคิดใดที่จะสามารถคิดได้เกินจากบริบทของตนเอง หรือเราไม่สามารถคิดอะไรได้เกินไปจากกรอบภาษาของเราเอง แต่ในแง่มุมนี้ไม่ถือว่าเป็นข้อจำกัดของการศึกษาเชิงบริบท เพราะฐานคิด (premise) ของแนวคิดนี้คือ บริบทมีความสำคัญในฐานะที่มีอิทธิพลต่อการก่อตัวสร้างความคิดของนักคิด หรือบริบทเป็นเงื่อนไขสภาวะแวดล้อมของนักคิดที่มีอิทธิพลต่อการก่อตัวของความคิดเขา ดังนั้นนักคิดจึงไม่สามารถคิดอะไรได้เกินไปจากภาษาหรือสัญลักษณ์ที่เป็นสื่อให้เขารับรู้บริบทได้

อย่างไรก็ตามในแง่มุมนี้หากปรากฏเป็นที่แน่ชัดหรือเชื่อถือได้ว่า มีนักคิดคนหนึ่งคนใดที่สามารถคิดไปเกินจากบริบทหรือกรอบภาษาของตนเอง ย่อมถือว่าการวิเคราะห์เชิงบริบทตามแนวทางของผมนั้นก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ตอนที่ ๔ ประเด็นเรื่องภาววิทยา ญาณวิทยา และวิธีวิทยา

สกินเนอร์: เอาละโสกราตีส ผมคิดว่าที่เรามาถกเถียงกันอยู่นี้ เป็นเพราะเรามีความแตกต่างกันในด้านภาววิทยา (ontology) ญาณวิทยา (epistemology) และวิธีวิทยา (methodology)

โสกราตีส: หากท่านได้โปรดขยายความสิ่งที่ท่านกล่าวมาให้ข้าได้เข้าใจ ข้าจะได้สนทนากับท่านต่อไปได้

สกินเนอร์: จริงสินะ การใช้ถ้อยคำ (terminology) เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีในสมัยของคุณ เอาเถอะ ผมจะอธิบายให้คุณเข้าใจเอง เริ่มจากภาววิทยาคือ ทฤษฎีว่าด้วยสรรพสิ่ง (theory of being) เป็นการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับความจริงหรือสัจธรรม (reality) สิ่งที่ดำรงอยู่ (existence) และความจริงในธรรมชาติที่เหนือการมองเห็นและสัมผัสได้ทางกายภาพ (metaphysics) ทั้งนี้ในทางปรัชญา ภาววิทยาพยายามที่จะค้นหาคำอธิบายและจัดวางประเภทและความสัมพันธ์ของแก่นแท้และความจริงที่ดำรงอยู่ (*)

(*) ตามพจนานุกรมฉบับ The American Heritage? Dictionary of the English Language: 4th Edition ปี ค.ศ. 2000 ให้ความหมาย “ภาววิทยา (ontology)” ไว้ว่า “The branch of metaphysics that deals with the nature of being”

และหากมุมมองทางภาววิทยาสะท้อนทัศนะของผู้ศึกษาที่มีต่อธรรมชาติของโลก มุมมองด้านญาณวิทยาหรือปรัชญาความรู้ก็เป็นการสะท้อนทัศนะที่ผู้ศึกษามีต่อการตอบคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่รู้เกี่ยวกับโลกและเรารู้สิ่งนั้นได้อย่างไร? ญาณวิทยา จึงเป็น “ทฤษฎีว่าด้วยความรู้” (a theory of knowledge) เป็นสาขาหนึ่งของวิชาปรัชญา ศึกษาเรื่องกำเนิด ที่มาของความรู้ ความรู้วัดได้อย่างไร ความจริงกับความเท็จต่างกันอย่างไร เราใช้อะไรเป็นเครื่องตัดสิน (*) ซึ่ง Plato ศิษย์ของท่านเชื่อว่า ความรู้คือสิ่งที่มาจากความจริง (truths) ผสมกับความเชื่อ (beliefs). ญาณวิทยาเป็นคำศัพท์ที่แปลมาจากภาษาตะวันตก มีที่มาจากภาษากรีก ว่า “episteme” แปลว่า ความรู้ และ “logos” แปลว่า เหตุผล รวมความว่า “เหตุผลของความรู้”

(*) ตามพจนานุกรม The American Heritage ได้ให้ความหมายของญาณวิทยาไว้ว่า “The branch of philosophy that studies the nature of knowledge, its presuppositions and foundations, and its extent and validity”

ส่วนวิธีวิทยาหมายถึงแบบแผนในการหาความรู้ ซึ่งประกอบด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ที่จำเป็นในการตอบคำถามของปัญหาของการศึกษา (*) โดยวิธีวิทยาจะขึ้นอยู่กับความเชื่อในเรื่องภาววิทยาและญานวิทยาของตัวผู้ศึกษา

(*) The American Heritage ได้ให้ความหมายของวิธีวิทยาไว้ว่า “1 a. A body of practices, procedures, and rules used by those who work in a discipline or engage in an inquiry; a set of working methods: the methodology of genetic studies; a poll marred by faulty methodology. b. The study or theoretical analysis of such working methods. 2. The branch of logic that deals with the general principles of the formation of knowledge. 3. Usage Problem Means, technique, or procedure; method”

โสกราตีส: แล้วเราทั้งสองนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร

สกินเนอร์: คุณเชื่อว่าอะไรคือรูปแบบหรือธรรมชาติของความจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในการรับรู้อย่างไร?

โสกราตีส: ข้าเชื่อมั่นในการดำรงอยู่ของสภาวะที่เป็นนามธรรม (abstract entities) หรือลักษณะทั่วไป (universals) ทั้งหลาย ซึ่งการดำรงอยู่ของสภาวะดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความดี ความงาม หรือสิ่งอื่นๆ นั้นไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลาและสถานที่ และไม่ว่าเราจะรู้จักถึงสิ่งนั้นหรือไม่ หรือมีทัศนะต่อมันในแง่ใด สิ่งนั้นก็ยังคงมีอยู่

สกินเนอร์: นั่นไงโสกราตีส คุณกับผมมีความคิดในเรื่องภาววิทยาแตกต่างกันจริงๆ เพราะผมคิดว่าความจริงแท้ที่เป็นสากล และเป็นที่เข้าใจร่วมกันของทุกคนนั้นไม่มี มนุษย์ไม่สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ หรือทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้โดยปราศจากอคติ หรือค่านิยมที่ตนยึดถือ สิ่งที่คุณถือว่าเป็นความรู้เป็นความสำเร็จในการศึกษานั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่ผู้ศึกษาในแนวทางของผมมองว่าเป็นความรู้ที่สมบูรณ์แบบ การที่ใครคนหนึ่งไปศึกษาเรื่องอะไรแล้วได้สิ่งที่เขาเรียกว่าความรู้นั้น เป็นเพียงแค่ความรู้ในมุมมองของผู้ที่ศึกษาคนนั้น (หรืออาจจะเป็นความรู้ในสายตาของคนอื่นๆ ที่เชื่อผู้ศึกษาคนนั้น)เท่านั้น หรือสิ่งที่เป็นความรู้ของคนหนึ่ง อาจจะไม่เป็นความรู้ในสายตาของคนอื่นก็ได้

แนวคิดที่สอดคล้องกับวิธีการตามแนวทางของผม (หรือที่เรียกว่าศาสตร์แห่งการตีความ) แต่มีมุมมองที่สุดโต่งมากกว่าก็คือ แนวคิดแบบที่เรียกว่า Relativism หรือ”สัมพัทธนิยม” ซึ่งหมายถึง ความเชื่อที่ว่าเราไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าอะไรดีกว่าอะไร เพราะแต่ละสิ่งแต่ละอย่างนั้นจะมีคุณค่า หรือจะดีไม่ดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับความคิดของคนที่เข้าไปสัมผัสสิ่งนั้น โดยคนแต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน หรือถ้ามองในแง่ของความรู้ก็จะมองได้ว่า ไม่มีความรู้เรื่องใด หรือความรู้ของใครดีกว่าใคร ทุกแนวคิดมีคุณค่ามากน้อยไปตามความคิด ความเชื่อ หรือค่านิยมของผู้ตีความ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบได้ว่าความรู้ใดเป็นความรู้ที่ถูกต้อง เพราะการจะบอกว่าอันหนึ่งอันใดดีกว่า นั่นหมายความว่าต้องมีเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ โดยเกณฑ์ที่แต่ละคนยอมรับนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

โสกราตีส: แล้วถ้าหากข้าจะกล่าวสรุปว่า ตามแนวทางของข้านั้น สิ่งที่เป็นความรู้เป็นผลมาจากการนำความคิดของผู้ศึกษาเข้าไปอธิบายสิ่งที่ถูกศึกษา แต่ในทางตรงกันข้าม แนวคิดแบบเน้นการตีความของท่านมองว่า ความรู้เกิดจากการเข้าใจผู้ที่ถูกศึกษาอย่างที่เขาเป็น ไม่ใช่การนำเอาระบบคิดของผู้ศึกษาไปอธิบายพฤติกรรมของผู้ที่ถูกศึกษา จะถูกหรือไม่

สกินเนอร์: ถูกต้องครับ และสิ่งที่คุณกล่าวมาก็จะนำไปสู่ความแตกต่างในเรื่องญาณวิทยา

โสกราตีส: อย่างไรกัน

สกินเนอร์: ไหนคุณลองอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้แสวงหาความรู้” กับ “ความรู้” และการทำความเข้าใจของผู้ศึกษามาหน่อยสิครับ

โสกราตีส: ข้าเห็นว่าความรู้หรือสิ่งที่ถูกศึกษาย่อมมีความเป็นอิสระจากการรับรู้ของผู้แสวงหาความรู้หรือผู้ศึกษา (*) และสิ่งที่ศึกษานั้นมีความจริงแท้แน่นอนอยู่ในตัวของมันเอง ไม่ว่าเราจะเข้าไปศึกษามันหรือไม่ก็ตาม มันก็จะเป็นอยู่อย่างนั้นเสมอ (**) นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่ามนุษย์สามารถที่จะศึกษาสิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นกลาง ไม่มีการนำเอาค่านิยมของตนเข้าไปบิดเบือนความจริงของสิ่งที่ศึกษา หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือ หากมีสิ่งหนึ่งกำลังถูกมนุษย์หยิบยกขึ้นมาศึกษา ไม่ว่ามนุษย์คนใดมาศึกษาก็จะได้ความรู้แบบเดียวกัน หากทำการศึกษาอย่างถูกต้อง ตัวอย่างเช่น หากก้อนหินก้อนหนึ่งถูกนำไปชั่งน้ำหนักว่ามีน้ำหนักเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์คนใดนำก้อนหินก้อนนั้นไปชั่ง ก็จะได้ผลการชั่งน้ำหนักเท่ากัน

(*) หรืออาจเรียกมุมมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ศึกษากับการรับรู้ของผู้ศึกษาที่เป็นแบบนี้ได้ว่า เป็นมุมมองแบบ foundationalism

(**) ตีความจากคำกล่าวของโสกราตีสที่กล่าวกับยูไทโฟรในเรื่องสุทธิธรรมที่ว่า “… the holy is loved because it is holy, and it is not holy because it is loved …” ซึ่งเป็นจุดเริ่มที่โสกราตีสพยายามชี้ให้ยูไทโฟรเห็นว่า ความคิดของยูไทโฟรที่จะให้สิ่งซึ่งเป็นที่รักของเทพเจ้ากับสิ่งซึ่งเป็นสุทธิธรรมเป็นสิ่งเดียวกันนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ยอมรับว่าสิ่งซึ่งเป็นสุทธิรรมมาก่อน และมีความสำคัญเหนือความคิดของเทพเจ้าที่จะรักสิ่งซึ่งเป็นสุทธิธรรม หรืออีกนัยหนึ่งถ้ายูไทโฟรเชื่อว่าเหตุผลของเทพเจ้าที่รักสิ่งซึ่งเป็นสุทธิธรรมนั้นก็เนื่องจากว่าสิ่งนั้นเป็นสุทธิธรรมอยู่แล้ว สิ่งซึ่งเป็นสุทธิธรรมก็ไม่อาจนิยามว่าเป็นสิ่งที่เทพเจ้ารักได้

สกินเนอร์: โสกราตีส เรามีความเชื่อต่างกันอีกแล้ว เพราะผมจะปฏิเสธความเชื่อที่ว่ามนุษย์สามารถที่จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ หรือสิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นกลาง หรือปราศจากอคติที่จะเข้าไปเจือปน แต่กลับมองว่าแท้จริงแล้วเมื่อมนุษย์ได้รับรู้อะไรก็จะรับรู้โดยผ่านการตีความสิ่งที่ได้รับรู้ไปตามค่านิยมของตนเอง และมีการนำเอาค่านิยมเข้าไปเจือปนไม่มากก็น้อย (*)

(*) พวกที่ยึดถือแนวคิดแบบเน้นการตีความแบบสุดโต่งก็มองว่าเป็นเรื่องค่านิยมอย่างสมบูรณ์ แต่พวกที่ไม่ได้ยึดถือแนวคิดนี้แบบสุดโต่ง ก็อาจมองว่ามีค่านิยมเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ไม่ใช่ครอบงำการรับรู้โดยสมบูรณ์

เพราะฉะนั้นความจริงที่เป็นสากลในสายตาของผมนั้นเป็นเพียงความจริงที่ผ่านการตีความของคนๆ หนึ่ง หรือของระบบค่านิยมหนึ่งจนทำให้ได้รับการยอมรับจากคนหลายๆ คนเท่านั้น แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเข้าใจความจริงนั้นในแบบเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การศึกษาน้ำหนักของก้อนหินหนึ่งก้อน อาจมีทั้งคนที่มองว่าก้อนหินก้อนนั้นหนัก และคนที่มองว่าก้อนหินก้อนนั้นเบาก็ได้ แม้ว่าจะได้ชั่งนำหนักก้อนหินและบันทึกค่าออกมาเป็นตัวเลขแล้วก็ตาม (*)

(*) แนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ถูกศึกษากับผู้ศึกษาแบบนี้เรียกว่ามุมมองแบบ anti – foundationalism

โสกราตีส: สกินเนอร์ ข้าไม่เข้าใจ

สกินเนอร์: ทำไมล่ะครับ

โสกราตีส: ท่านลองคิดดูสิว่า ก่อนที่ท่านจะตีความสิ่งต่างๆ ได้นั้น ท่านจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับแบบของสิ่งต่างๆ อยู่บ้างมิใช่หรือ

สกินเนอร์: ใช่แล้ว

โสกราตีส: ถ้าเช่นนั้น ท่านยอมรับหรือไม่ว่าหากเปรียบความคิดมนุษย์เหมือนดั่งกระจกเงา หากไม่มีสิ่งที่แท้จริง ไฉนเลยจะมีภาพสะท้อนปรากฏออกมาจากกระจกเงาได้ ความคิดของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วโดยตัวของมันเอง มนุษย์จะมีความคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นออกมาได้อย่างไร

สกินเนอร์: โสกราตีส คุณเคยได้ยินคำว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” หรือไม่ เรเน่ เดส์คาร์ตส์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ในเมื่อความคิดและการรับรู้อย่างเดียวกันซึ่งเรามีในยามที่เราตื่น ก็อาจปรากฏได้ในยามที่เราหลับ โดยในขณะที่มันปรากฏนั้นก็มิได้เป็นจริงแต่อย่างใด ข้าพเจ้าจึงจำต้องถือเช่นกันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาสู่จิตใจของข้าพเจ้า ก็ไม่ได้จริงไปกว่ามายาภาพของความฝันของข้าพเจ้า แต่ทันทีทันใดหลังจากที่คิดเช่นนั้น ข้าพเจ้าสังเกตว่า ในขณะที่ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะคิดว่า สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่จริงนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ “ตัวฉัน” จะต้องมีอยู่ และเมื่อได้พบว่าความจริงประการนี้ที่ว่า “ฉันคิด เพราะฉะนั้น ฉันจึงมีอยู่”(I Think Therefore I am) เป็นความจริงที่แน่นอน และมั่นใจอย่างยิ่งว่า ข้อสมมติฐานมากมายมหาศาลของนักตั้งแง่สงสัยทั้งหลาย ก็ไม่อาจสั่นคลอนความจริงข้อนี้ได้ ข้าพเจ้าจึงมาถึงข้อสรุปที่ว่า ข้าพเจ้าสามารถยอมรับมันโดยปราศจากเงื่อนไข ในฐานะหลักการอันเป็นปฐมของปรัชญาที่ข้าพเจ้ากำลังแสวงหาอยู่” (*)

(*) Rene Descartes อ้างใน วีระ สมบูรณ์, แบบแผนและความหมายแห่งองค์รวม, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2550, หน้า 37.

แน่นอนว่า การคิดจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากปราศจากสิ่งกระทบหรือการรับรู้ที่ต้องอาศัยร่างกาย ซึ่งเรเน่ เดส์คาร์ตส์ เองก็ยอมรับว่า จิตต้องอาศัยสภาพและองค์ประกอบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายอย่างสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองส่วนจะเป็นสิ่งเดียวกัน แท้ที่จริงจิตกับสสาร หรือจิตกับกายนั้นมีธรรมชาติของการดำรงอยู่เป็นเอกเทศจากกัน (*) จิตคือสิ่งที่คิด ในขณะที่ร่างกายและวัตถุทั้งหลาย รวมทั้งสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ปราศจากคุณสมบัตินี้ มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ดำรงอยู่ในฐานะของสิ่งที่คิด (res cogitans) สิ่งอื่นๆ ล้วนเป็นวัตถุหรือสสารที่ดำรงอยู่ในฐานะสิ่งที่กินเนื้อ (res extensa) ซึ่งวัตถุหรือสสารย่อมมีวันเสื่อมสลาย ร่างกายย่อมมีวันตาย ในขณะที่จิตมีเจตจำนงที่เลือกได้ในหลายสิ่งหลายอย่าง (**)

(*) เรียกว่าเป็นการแบ่งแยกเด็ดขาดแบบคาร์ทีเชียน หรือ Cartesian Dualism

(**) Rene Descartes อ้างใน วีระ สมบูรณ์, แบบแผนและความหมายแห่งองค์รวม, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2550, หน้า 38 – 39.

โสกราตีส: สกินเนอร์ ความจริงแล้วข้าก็ตระหนักอยู่ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว “ธรรมชาติ” ก็คือ “รูปแบบ” หรือ “มโนภาพ” นั่นเอง ข้ามิได้มุ่งศึกษาธรรมชาติที่เป็นวัตถุ หากแต่ศึกษาธรรมชาติของจิต (soul) ของมนุษย์ ข้าเองมองว่าธรรมชาติของมนุษย์มีความสำคัญยิ่งกว่าธรรมชาติของดวงอาทิตย์ (*) ซึ่งเราไม่อาจจะเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติของสังคมมนุษย์ แต่สิ่งที่แตกต่างกันกับท่าน (หรือเดส์คาร์ตส์) ก็คือท่านยึดมั่นในความมีอยู่จริงของ “กระบวนการ” ก่อตัวของมัน แต่ข้าพยายามที่จะแยกลักษณะอันเป็น “สารัตถะ” ของมัน

(*) ลีโอ สเตร๊าส์ เขียน สมบัติ จันทรวงศ์ แปล, ประวัติปรัชญาการเมือง เล่มที่ 1, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คบไฟ, 2550, หน้า 7.

เอาเถอะ แม้ว่ามนุษย์อาจจะคิดเองได้อย่างที่ท่านว่ามา แต่ข้าเห็นว่าสิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นธรรมชาติของสิ่งโน้นสิ่งนี้ (ก่อนที่จะได้ล่วงรู้ธรรมชาติของสิ่งนั้นจริงๆ) นั้นเป็นแต่เพียงความเห็น (opinion) ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ นั่นก็คือความเห็นของมนุษย์เกี่ยวกับธรรมชาตินี้อาจเป็นความรู้ (knowledge) หรือไม่เป็นก็ได้ เพราะฉะนั้นความพยายามของข้าหรือปรัชญาก็คือ ความพยายามที่จะทดแทนความเห็นด้วยความรู้ หรือความจริงอันเกี่ยวกับธรรมชาตินั่นเอง สกินเนอร์ ถ้าเช่นนั้น “ท่านจะเรียกสิ่งใดว่าความรู้เล่า หรือท่านจะบอกกับข้าว่าทุกสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพียงความคิดเห็นของมนุษย์เท่านั้น”

สกินเนอร์: โสกราตีส การที่ใครสักคนอ้างว่าได้พบความจริงหรือความรู้ ความจริงหรือความรู้นั้นๆ จะไม่ใช่ตัวความจริงหรือความรู้ที่แท้ แต่เป็นเพียง “ภาพสร้าง” ของความจริง/ความรู้ หรือที่คุณเรียกมันว่า “ความเห็น” เท่านั้น เพราะความจริง/ความรู้ที่แท้นั้นถึงจะมีอยู่ก็ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์จะสามารถเข้าถึงได้อย่างสมบูรณ์ ประเด็นของผมก็คือว่า ปรากฏการณ์ทางสังคมมีความซับซ้อนมากและไม่สามารถหาความหมายที่แท้จริงได้จากวิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือวิธีการใดๆ และหากต้องการจะเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของมนุษย์จะต้องรู้ถึงเจตนาของผู้กระทำ ซึ่งการเข้าใจเจตนาของผู้กระทำจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เพียงการศึกษาพฤติกรรมที่บุคคลนั้นแสดงออกมาให้เห็นได้จากประสาทสัมผัสของมนุษย์ แต่จะต้องพยายามทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (verstehen) กับเหตุผลที่หลากหลายของการสร้างความจริงนั้น หรือบริบท (context) รอบๆ ตัวผู้ที่แสดงพฤติกรรมในช่วงเวลานั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือจะต้องเอาตัวเองเข้าไปนั่งในหัวใจความรู้สึกของบุคคลนั้นในช่วงเวลาและสภาพแวดล้อมเดียวกัน เพื่อจะได้เข้าใจว่าทำไมบุคลนั้นจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์นั้นขึ้นมา โดยถือว่าความเป็นจริงยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะได้มีการรับรู้ความเป็นจริง

ดังนั้นแนวทางของผมจะให้ความสนใจกับกระบวนการในการสร้างความหมาย หรือการทำความเข้าใจโลกรอบตัวมนุษย์ ผ่านการเข้าใจการทำงานของจิตสำนึกของมนุษย์ โดยการศึกษาแบบตีความจะมุ่งความสนใจไปที่จิตสำนึก ไม่ว่าจะเป็นจิตสำนึกของผู้ศึกษาหรือสิ่งที่ศึกษาว่าเขามีความตระหนักรู้ หรือระลึกรู้โลกรอบตัวได้อย่างไร

อย่างไรก็ดีอาจจะมีความคิดเห็นใดความคิดเห็นหนึ่งที่ได้รับ “การยอมรับ” ในระดับที่มากกว่าความคิดเห็นอื่นๆ อันเนื่องมาจากเหตุผลบางประการ เช่น ความคิดเห็นดังกล่าวเป็นของผู้อาวุโส ของครูอาจารย์ หรือของกษัตริย์ ซึ่งตัวตนในสังคมได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก ดังนั้นความคิดเห็นอย่างเดียวกัน แต่คนที่พูดเป็นคนละคนก็อาจมีระดับการยอมรับต่างกัน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ผมเรียกว่า “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” และมนุษย์อาจจะเชื่อมั่นว่านั่นเป็นความรู้ที่แท้จริงทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันเป็นเพียงสิ่งที่จะท้อนความคิดเห็นของผู้มีอำนาจในสังคมเท่านั้น

โสกราตีส: สกินเนอร์ ข้าไม่เห็นจะคล้อยตามท่าน

สกินเนอร์: โสกราตีส คุณอาจจะยังไม่เข้าใจ เอาเป็นว่าวิธีการของผมนั้นมุ่งเน้นที่จะทำความเข้าใจ (understanding / verstehen) กับสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องการให้ความหมายและการตีความ แรงจูงใจ ความตั้งใจที่บุคคลใช้ในชีวิตประจำวัน และกำกับวิถีชีวิตของพวกเขา นอกจากนี้มุมมองที่มีต่อลักษณะของความเป็นจริงที่สังคมยังมองว่าเป็นผลมาจาก social construct ของตัวแสดงทางสังคม และเมื่อผู้ศึกษาได้ทำความเข้าใจแนวคิด ความหมาย และเหตุผลของผู้ที่ถูกศึกษาจากชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ระดับหนึ่งแล้ว ผู้ศึกษาก็จะสร้างแบบในอุดมคติ (ideal type) ของสิ่งที่ศึกษาขึ้นมา เพื่ออธิบายประเด็นที่ศึกษาอย่างเป็นนามธรรมในภาพรวม

ในขณะที่วิธีการของคุณนั้นมุ่งเน้นที่จะอธิบาย (explanation) ความจริงโดยการหาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลอย่างรอบด้าน นั่นคือเป็นการอธิบายที่ไม่พียงจะให้คำตอบว่าทำไมปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นว่ามีอะไรเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องและสาเหตุเหล่านั้นนำไปสู่ผลได้อย่างไร ซึ่งจากการศึกษาวิธีการของที่คุณพูดคุยกับยูไทโฟร ผมพบว่ามีวิธีการหลักๆ ที่คุณใช้อยู่ห้าประการ

ประการแรก คุณจะทำตัวเป็นไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการรู้ คือทำเป็นสงสัยไปทุกสิ่ง (skeptical method) อันเป็นวิธีการขั้นต้นที่จะใช้ในการแสวงหาความรู้ ต่อมา

ประการที่สอง คุณจะใช้วิธีการสนทนา ซึ่งไม่เป็นเพียงการโต้ตอบหรือโต้แย้งคู่สนทนาเท่านั้น แต่ยังเป็นวีที่ใช้แสวงหาความจริงได้เป็นอย่างดี เพราะการสนทนาก็คือการวิพากษ์นั่นเอง และการวิพากษ์ก็จะทำให้เกิดความคิดที่แจ่มแจ้งขึ้นกว่าเดิม

ประการที่สาม คุณจะนำเอาสิ่งที่เป็นข้อเสนอมาทดสอบหรือพิสูจน์กับกรณีเฉพาะ (particular) ประยุกต์เข้ากับสิ่งที่เห็นในเชิงประจักษ์ เหมือนกับการนำเอาทฤษฎีไปทดสอบกับกรณีศึกษา (*) ซึ่งในสมัยของผมเรียกวิธีนี้ว่าวิธีอุปนัย (empirical หรือ inductive method)

(*) เช่น การที่โสกราตีสทดสอบข้อเสนอ (หรือทฤษฎี) เกี่ยวกับรูปแบบสุทธิธรรมของยูไทโฟรที่ว่า “อะไรที่เป็นที่รักของเทพเจ้าย่อมเป็นสุทธิธรรม และอะไรที่ไม่ใช่ที่รักของเทพเจ้าเป็นสิ่งที่ขัดกับสุทธิธรรม” โดยการนำกรณีที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นถ้าหากเทพเจ้าคิดเห็นไม่เหมือนกันในเรื่อง ถูก-ผิด ดี-ชั่ว ก็จะทำให้สิ่งนั้นเป็นได้ทั้งสุทธิธรรมและอสุทธิธรรม ซึ่งทำให้ทฤษฎีของยูไทโฟรใช้การไม่ได้

ประการที่สี่ คุณจะต้องมีการตรวจสอบว่าข้อสรุปใดเป็นเหตุหรือตัวแปรต้น และสิ่งใดเป็นผลหรือตัวแปรตาม เพื่อนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าข้อสรุปทั่วไป (general statement) โดยการพิจารณาว่าสามารถแยกย่อยไปสู่ตัวแปรหลักๆ อะไรได้อีกบ้าง เพื่อหาว่าตัวแปรต้นจริงๆ ที่สุดแล้วคือข้อสรุปใด (*) ซึ่งในสมัยของผมเรียกวิธีนี้ว่าวิธีนิรนัย (deductive method)

(*) เช่น การที่โสเกรตีสถามยูไทโฟรว่า สิ่งนั้นเป็นสุทธิธรรมเพราะเทพเจ้ารัก หรือเพราะสิ่งนั้นเป็นสุทธิธรรมอยู่แล้วจึงทำให้เทพเจ้ามารัก (อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล) ซึ่งโสเกรตีสคิดว่า สุทธิธรรมน่าจะเป็นสุทธิธรรมอยู่แล้ว ทำให้เทพเจ้ามารัก (อย่างหลัง) หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือสุทธิธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นกับการกำหนดของเทพเจ้า

ประการที่สุดท้าย คุณจะใช้วิธีนิยาม (conceptual or definition method) โดยมีเป้าหมายของความรู้คือ การให้ได้มาซึ่งคำนิยามหรือความคิดรวบยอดที่ถูกต้องในเรื่องที่คุณต้องการรู้ เช่น นิยามของคำว่าสุทธิธรรม ความยุติธรรม เป็นต้น ซึ่งวิธีการต่างๆ ที่แตกต่างกันนี้ก็อันเนื่องมาจากความแตกต่างในเรื่องภาววิทยา และญาณวิทยาดังที่เราได้พูดคุยกันมานี่เอง

และก่อนโสกราตีสจะได้กล่าวสิ่งใดออกมา ภาพของเขาก็ค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมๆ กับที่สกินเนอร์ได้ยินเสียงเรียกของ Susan ภรรยาของเขาให้ตื่นขึ้นมาเพื่อเตรียมทำอาหารเช้า และอาบน้ำ แต่งตัว เตรียมไป ถกปัญหากับลูกศิษย์ต่อไป

Read Full Post »

แนวทางการทำงานบอล

triamboy

 

หลังจากที่ข้าพเจ้าได้นำเสนอเรื่องราวงานบอลที่เกิดขึ้น  ผ่านการเรียบเรียงงานเขียนในอดีตของข้าพเจ้าเองในบทความเรื่อง  “ครั้ง 1 ของคน 1 คน กับอีกงาน 1 : ย้อยมอง “คุณค่า” ผ่านงานบอล”  เมื่อวันที่  19  มกราคมไปแล้วนั้น  ข้าพเจ้าได้พยายามทบทวนสิ่งอื่นที่เกิดขึ้นหลังจากเวลานั้น  แล้วได้พบว่า  หลังจากนั้นเป็นเวลา  2  เดือน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเขียนงานขึ้นมาอีกงานหนึ่งเพื่อส่งมองให้กับน้องๆ  ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในรุ่นถัดมา  และใช้ประกอบการสัมมนาถ่ายทอดงานขององค์การบริหารสโทสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชุดใหม่อีกด้วย

 

บทความชิ้นนี้นำเสนอข้อสรุปเบื้องหลังของการวางแผนการทำงานบอลตามการรับรู้ของข้าพเจ้า  (ผู้เขียน)  เองในฐานะเป็นบุคคลคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของงานบอลร่วมกับอีกหลายชีวิต  

 

ความมีดังนี้

 

 


  

 

แนวทางการทำงานบอล

 

การจัดโครงสร้างงานบอล


การจัดโครงสร้างการดำเนินงาน  และการจัดการประสานงานภายใน  ได้แก่ทีมงาน  มหา -วิทยาลัย  และสมาคมนิสิตเก่าฯ  รวมทั้งการจัดการประสานงานภายนอก  ได้แก่  ทีมงานธรรมศาสตร์  และสมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์  โดยทั่วไปแล้วเป็นการกำหนดหน้าที่  ภาระงาน  และขอบเขตความ รับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคนภายในงานบอล  เพื่อให้สมาชิกแต่ละคนสามารถปฏิบัติงานได้ตรงตาม หน้่าที่ที่ได้รับมอบหมาย  การจัดโครงสร้างงานบอลที่เหมาะสมทำให้การดำเนินงานของงานบอลเป็น ไปตามแผนงานที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ  และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในที่สุด

 

ปัจจัยที่นำมาพิจารณาในการจัดโครงสร้างงานบอล

 

การจัดโครงสร้างงานบอลในแนวตั้ง

 

๑.)  เอกภาพของหัวหน้างาน (การบังคับบัญชา)  นั่นหมายถึง  หลักการที่กำหนดให้ผู้ใต้บังคับ บัญชามีผู้บังคับบัญชาในระดับเหนือตนเองขึ้นไปเพียงคนเดียว  (ในกรณีประธานคู่ก็เช่นกัน  ประธานคู่ มีคำสั่งงานเดียวกันเป็นข้อสรุป)  ที่จะมีอำนาจ  ในการสั่งงาน


๒.)  บทบาท  (หน้าที่)  อำนาจ  และความรับผิดชอบ  ทีมงานหลัก  (ผู้บริหาร)  จะเป็นผู้กำหนด ขอบเขตอำนาจ  หน้าที่  และความรับผิดชอบให้กับคนช่วยงาน  (ผู้ใต้บังคับบัญชา)


๓.)  ช่วงของการควบคุม  โดยกำหนดจำนวนทีมงานช่วยงาน  (ผู้ใต้บังคับบัญชา)  ที่หัวหน้า งาน  (ผู้จัดการ)  จะสามารถอำนวยการ  สั่งงาน  และดูแลควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ


๔.)  อำนาจการตัดสินใจที่ศูนย์กลาง  และการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ทีมงาน  (ผู้ใต้ บังคับบัญชา  รวมทั้งพนักงานระดับล่าง)  การดึงอำนาจการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลางนั้น  หัวหน้างาน  หรือทีมหัวหน้างาน  (ผู้บริหาร)  จะมีอำนาจในการตัดสินใจปัญหาของงานบอล   รวมทั้งข้อสรุปสำคัญ  โดยไม่มอบอำนาจการตัดสินใจให้กับทีมช่วยงาน  (ผู้ใต้บังคับบัญชา)  ส่วนการกระจายอำนาจการ ตัดสินใจไปสู่ทีมงาน  (ผู้ใต้บังคับบัญชา  รวมทั้งพนักงานระดับล่าง)  นั้นเป็นการมอบอำนาจในการ ตัดสินใจปัญหาของงานบอลในบางเรื่องให้กับทีมงานสามารถตัดสินใจเองได้  การจัดโครงสร้าง งานบอลที่เหมาะสม  หัวหน้างาน  หรือทีมหัวหน้างาน  (ผู้บริหาร)  ต้องพิจารณาการดึงอำนาจ  และการกระจายอำนาจในการตัดสินใจไปสู่ระดับล่างอย่างเหมาะสม

 

การจัดโครงสร้างงานบอลในแนวนอน


๑.)  การแบ่งงานกันทำ  แบ่งความรับผิดชอบให้กับทีมงานในหน่วยงาน  ฝ่ายเดียวกัน อย่างเหมาะสม


๒.)  การจัดแผนกงาน  เป็นกระบวนการจัดกลุ่มงานที่ต้องทำร่วมกันเข้าไว้ในฝ่าย  หรือแผนก เดียวกัน  เพื่อให้งานบอลทำงานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้อย่างดีที่สุด  โดยมีปัจจัยที่นำมาพิจารณาในการ จัดแผนกงาน  ดังนี้


              การแบ่งโดยพิจารณาหน้าที่ในงานบอล  อาทิ  ประสานงานกับสมาคม

              การแบ่งโดยพิจารณากิจกรรมของงานบอล  อาทิ  การแสดง  พาเหรด

              การแบ่งโดยพิจารณาที่ตั้งของคณะ  หน่วยงานในมหาวิทยาลัย

              การแบ่งโดยพิจารณาหน่วยงานที่ต้องประสานงาน  ติดต่อ

 

ขั้นตอนการจัดโครงสร้างงานบอล


ขั้นที่  ๑.)  การวิเคราะงานต่างๆ  ที่ต้องกระทำ  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของงานบอล  ซึ่งจะนำมาใช้ในการกำหนดหน้าที่  ภาระงาน  และความรับผิดชอบ


ขั้นที่  ๒.)  การพิจารณาว่าใครจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าว  ซึ่งจะนำมากำหนดตำแหน่งงาน


ขั้นที่  ๓.)  การจัดรวมงานเป็นกลุ่ม  เพื่อจะนำมากำหนดเป็นฝ่าย  แผนก


ขั้นที่  ๔.)  กำหนดวิธีการรายงานผลการปฏิบัติงาน  และการสั่งงาน  อาทิ  การจัดสายการสั่งงาน  (การบังคับบัญชา)  ภายในโครงสร้างงานบอล    การประชุมทีม  การประชุมใหญ่

 

การอำนวยการ

 

การอำนวยการนั้นเป็นกระบวนการที่ผู้นำ  หรือทีมของหัวหน้างาน  (ผู้จัดการ)  ใช้หน้าที่ที่ได้ รับอำนาจ  มอบหมาย  กอปรกับความสามารถของตนในการชักจูงให้ทีมงานปฏิบัติตามแนวทางการ ทำงานตามที่ได้วางแผนไว้  ให้ดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสม  และบรรลุเป้าหมายของงานบอล ในสุดท้าย  ผู้นำที่ประสบผลสำเร็จไม่ใช่มีความสามารถแค่เป็นคนจัดการที่ดี   แต่มากกว่านั้นต้องมี ความสามารถในการนำผู้ช่วยงาน  ผู้ร่วมทีม  (ผู้ใต้บังคับบัญชา)  ให้ปฏิบัติงานตามที่ตนต้องการ  และเป้าหมายของงานบอลได้ด้วย  โดยปกติแล้วการนำเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของกาสรจัดการ  คือ  การอำนวยการ  และการประสานความร่วมมือกับบุคคลต่างๆ  ที่เป็นสมาชิกของงานบอล  ซึ่งรวมถึงหน้าที่ต่างๆ  อาทิ  การจูงใจผู้ช่วยงาน  ทีมงาน  (ผู้ใต้บังคับบัญชา)  การออกคำสั่ง ปฏิบัติงานด้านต่างๆ  ให้บรรลุป้าหมาย  การกำหนดวิธีการติดต่อสื่อสารภายในงานบอลให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสุด  รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ  ที่เกิดขึ้นกับสมาชิกงานบอล  รวมทั้งงานบอลโดยรวม

 

การควบคุม

 

การควบคุมนั้นเป็นการติดตามผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้น  การเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงาน ที่เกิดขึ้นจริง  หรือที่ทำไป  กับเป้าหมายที่วางไว้  วิเคราะห์ความแตกต่างที่เกิดขึ้น  ถ้ามีปัญหาต้อง ค้นหาสาเหตุ  และหาวิธีการแก้ไขสำหรับการปฏิบัติงานต่อไป

 

ขั้นตอนการควบคุม  ทำได้ดังนี้


ขั้นที่  ๑.)  การวัดผลงานที่เกิดขึ้น

ขั้นที่  ๒.)  การเปรียบเทียบผลงานที่เกิดขึ้นกับเป้าหมาย  หรือมาตรฐานที่วางไว้

ขั้นที่  ๓.)  การหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  ในกรณีผลงานที่ได้ต่ำกว่ามาตรฐาน  หรือเป้าหมายที่วางไว้

 

ที่บอกมาทั้งหมดนี้  โดยรวมแล้ว  ถึงแม้ว่างานบอลจะมีความพร้อมในด้านทุนทางการเงิน  ทุนทรัพยากรมนุษย์  ทุนวัฒนธรรมแล้ว  ถ้าหากการจัดการที่เหมาะสม  ผลที่ตามมาอาจทำให้การ ดำเนินงานประสบอุปสรรค  หรือความล้มเหลวได้  อันเนื่องมาจากผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถเข้าใจ ระบบงาน  หรือไม่สามารถมองภาพรวมของการปฏิบัติงานได้  ทำให้การปฏิบัติงานไม่เป็นไปในทิศทาง เดียวกัน  เกิดความซ้ำซ้อน  หรือกระทั่งความขัดแย้งกัน  ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน  และนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด  การจัดการที่ดีจึงเป็นเครื่องมือของผู้นำที่จะสร้างความสอดคล้อง  สมดุล  และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของงานบอลเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดที่ทุกคน ได้ร่วมกันวางไว้

 

เต้  นิติพัฒน์   ศิริพงศ์

12.49  นาฬิกา

10  มีนาคม  2551


 


 

ทักษะที่สำคัญ

 

บางคนอาจเคยมีประสบการณ์ ในการทำงานร่วมกับหัวหน้างานที่มีความสามารถ  หรือการทำงาน ร่วมกับหัวหน้างานที่ไม่สามารถจัดการให้การทำงานเป็นไปในทิศทางที่ต้องการได้  ความแตกต่างของ หัวหน้างานทั้งสองประเภทนี้อยู่ที่  ความสามารถ  และทักษะทางการจัดการของหัวหน้างานแต่ละคน  หัวหน้างานที่สามารถจัดการงานให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  จำเป็นต้องอาศัยทักษะการจัดการที่สำคัญ  อาทิ

 

ทักษะด้านเทคนิคการปฏิบัติงาน


เป็นทักษะที่ต้องใช้ความรู้  ความสามารถเฉพาะทางในการปฏิบัติงาน  โดยทักษะนี้เกิดจาก การเรียนรู้จากสถาบันการศึกษา  การฝึกอบรมวิธีการปฏิบััติงานจนเกิดความชำนาญ  การทำกิจกรรม  หัวหน้างานระดับต้นต้องมีทักษะด้านเทคนิควิธีปฏิบัติงาน  เพื่อที่จะสามารถให้คำแนะนำ  หรือหาวิธีแก้ไข ปัญหาในระดับปฏิบัติการได้  สามารถสอนงาน  พัฒนาทักษะด้านการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กับผู้ช่วยงาน  หรือทีมงานได้

 

ทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์


เป็นความสามารถของหัวหน้างานที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งจะส่งผล โดยตรงต่อการติดต่อประสานงาน  สร้างความรู้สึกผูกพัน  และความร่วมมือระหว่างสมาชิกภายใน   และภายนอกงานบอล  หัวหน้างานทุกระดับจำเป็นต้องมีทักษะด้านนี้  เพราะงานด้านการจัดการจะต้อง เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารทั้งภายใน  และภายนอกงานบอลอยู่ตลอดเวลา

 

ทักษะด้านความคิดอ่าน


เป็นความสามารถในการวิเคราะห์  วินิจฉัยสถานการณ์  และคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตได้  รวมทั้งความสามารถในการคิดใหม่  หัวหน้างานต้องมีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างมีระบบ  นำมา ประมวลผลเพื่อวิเคราะห์ปัญหา  หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน  และอนาคต  ทำให้สามารถ ตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว  ทันต่อเหตุการณ์  สามารถคาดคะเนผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้  มองเห็น โอกาสใหม่ๆในการดำเนินงาน  มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  และชัดเจน  ซึ่งทักษะด้านนี้เป็นสิ่งจำเป็นของ หัวหน้างานทุกระดับ  โดยเฉพาะหัวหน้างานระดับสูง  งานบอลที่มีหัวหน้างานที่มีทักษะด้านการสร้าง ความคิดสูงจะสามารถนำงานบอลฝันฝ่าปัญหา  และอุปสรรคต่างๆให้ผ่านพ้นไปได้ดี

 

ทักษะด้่านการตัดสินใจ


เป็นความสามารถในการเข้าใจถึงสภาพ  และข้อจำกัดของปัญหา  สามารถกำหนดทางเลือก  และเลือกวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา  ความสามารถในการตัดสินใจเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งของ หัวหน้างาน  โดยทั่วไปแล้วการตัดสินใจประกอบด้วยขั้นตอน  ดังนี้

         การตระหนักถึงปัญหา  หรือโอกาสของงานบอล

         รวบรวมข้อมูลที่ต้องใช้ประกอบการตัดสินใจ

         กำหนดทางเลือกต่างๆในการแก้ไขปัญหา

         ประเมินผลลัพธ์ของทางเลือกแต่ละทาง

         ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด

         นำผลการตัดสินใจไปปฏิบัติ

         ติดตาม  ประเมินผลที่เกิดขึ้น  และนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจครั้งต่อไป

 

ทักษะการบริหารเวลา


โดยเฉพาะการทำงานในงานบอล  ที่ต้องติดต่อประสานงานกับคนจำนวนมาก  การบริหารเวลาที่ ผิดพลาดจะทำให้เกิดต้นทุน  และการสูญเสีย  โดยเฉพาะการเสียเวลา  หัวหน้างานจึงต้องให้ความสำคัญ ต่อการบริหารเวลา  การบริหารเวลาที่มีประสิทธิภาพสามารถทำได้โดยวิธีเหล่านี้  อาทิ

         ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน  และงานเอกสารให้น้อยลง           หลีกเลี่ยงกาสรทำงานที่ซำ้ซ้อนกันให้มากที่สุด

         ลดการใช้โทรศัพท์  และการเดินทางที่ไม่จำเป็น

         วางแผน  และเตรียมการประชุมโดยใช้เวลาน้อยที่สุด  แต่ให้ข้อสรุป  และผลลัพธ์เดิม

         กระจาย  หรือมอบหมายงานให้ทีมงาน  ผู้ช่วยอย่างเหมาะสม

 

ที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงทักษะบางส่วน  ที่สำคัญ  สำหรับบางส่วนงาน  หรือทั้งหมดอาจจำเป็นต้องเพิ่ม ทักษะอื่น  ทั้งนี้แล้วแต่บริบทที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

 

เต้

7.48  นาฬิกา

15  มีนาคม  2551


 


  

 

Read Full Post »

triamboy

CU TU Ball

เมื่อพูดถึงงานบอล นิสิตจุฬาฯ และนักศึกษาธรรมศาสตร์น้อยคนนักที่ไม่รู้จักงานบอล

เมื่อพูดถึงกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยที่ทุกคนตั้งตาคอยทุกปีก็ต้องเป็นงานบอล

เมื่อพูดถึงช่วงเวลาที่มีความสุข สนุก ผ่านร้อนหนาวมาด้วยกันอันยาวนาน ก่อนที่จะจบแต่ละปีก็ไม่พ้นงานบอล

เคยคิดบ้างไหม ทำไมงานบอลถึงมีความสำคัญในมิติต่างๆ ตามการรับรู้ของแต่ละคน

เคยคิดบ้างไหม ทำไมงานบอลที่จัดต่างกรรมต่างวาระ สามารถจัดอย่างต่อเนื่องยาวนานมาถึงครั้งที่ 64

หรืองานบอลเป็นเพียงงานที่ต้องเข้าร่วม …

 

งานบอลถือกำเนิดเมื่อปี 2477 โดยศิษย์เก่าสวนกุหลาบที่เข้ามาเรียนต่อยังจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญของการเชื่อมความสัมพันธ์ และเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบันอย่างต่อเนื่อง ทำให้งานบอลที่รู้จักกันทุกวันนี้ หรือการแข่งขันฟุตบอลระหว่างจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ถือกำเนิดขึ้น ณ ทุ่งพระสุเมรุ ท้องสนามหลวง โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมืองในสมัยนั้นรับเป็นเจ้าภาพ และถือปฏิบัติสืบมาจนทุกวันนี้ว่าทั้งสองสถาบันจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ

 

งานบอลครั้งแล้วครั้งเล่า จากครั้งที่หนึ่งจนถึงครั้งที่ 64 โดยนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบันผ่านความคิด การแสดงออกที่ต่างกรรมต่างวาระ ทำให้มีการเติบโต พัฒนาทั้งแก่นของงานที่มีการเพิ่มเติมจุดประสงค์ และส่วนของรูปแบบที่มีการพัฒนา ปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมไปจากเดิมมากเพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ ท่ามกลางการแนะนำ สนับสนุนจากศิษย์เก่าที่เคยผ่านงานนี้มาก่อน และศิษย์ปัจจุบันที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบความเสี่ยงทั้งหลายจากงานบอล และอำนวยทรัพยากรต่างๆที่จำเป็นต่อการจัดงาน

 

จากงานบอลครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความสามัคคีระหว่างนิสิต นักศึกษาสองสถาบัน โดยมีกิจกรรมแค่เพียงการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสองสถาบัน เมื่อเวลาผ่านไปผลจากการสร้างความสัมพันธ์ของนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบันค่อยเพิ่มขึ้น ความสามารถในการสร้างสรรค์มากขึ้น ความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น และผลจากโลกที่สามารถเคลื่อนย้ายทุกอย่างได้เสรี หรือโลกาภิวัฒน์ ทำให้จุดประสงค์ค่อยเพิ่มมากขึ้น กรอบกิจกรรมต่างๆ ขยายเติบโตไปในทางที่ดี อาทิ การเชียร์ เพื่อให้กำลังใจแก่นักบอลทั้งสองสถาบัน และสร้างความฮึกเหิมแก่กองเชียร์เองได้ก่อให้เกิด สแตนด์เชียร์ซึ่งทำหน้าที่โดยนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบันเพื่อเติมเต็มสแตนด์เชียร์ทั้งสองฝั่ง รวมทั้งการเชียร์ผ่านเพลงเชียร์ อาทิการบูมมหาวิทยาลัย เพลงประจำมหาวิทยาลัย และการเล่นอุปกรณ์เชียร์ต่างๆ จากชมรมเชียร์ ซึ่งมีความหลากหลาย และแปลกใหม่ขึ้นทุกวัน โดยมีประธานเชียร์ และเชียร์ลีดเดอร์ เป็นผู้นำในการเชียร์ และในอีกทางหนึ่งก็ให้ความสนุกสนานแก่สแตนด์เชียร์ ทั้งนี้มีฝ่ายประสานสแตนด์ผู้อยู่เบื้องหลังในการควบคุม ประสานงานกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสแตนด์เชียร์ รวมทั้งสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญอย่างมาก คือการทำให้สแตนด์เต็มก่อนอีกฝั่ง โดยมีกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ที่รวมกลุ่มกันมาเองเป็นประจำทุกปี อาทิเชียร์ีศาจ และ CU Angels คอยตระเวนไปในที่ใกล้เคียงบริเวณงาน เพื่อเร่งระดมพลนิสิตเข้ามาเชียร์บอลอย่างไม่รีรอ และสร้างสีสันไปโดยรอบมหาวิทยาลัย และที่สำคัญไม่น้อยคือ ขนวนถนนนี้สีชมพู ซึ่งเป็นการนัดรวมพลชาวสีชมพูจำนวนมหาศาลพร้อมใจกันเดินไปตามถนนพญาไทที่เป็นสีชมพูเฉพาะวันนี้เท่านั้น สู่สนามศุภชลาศัยเพื่อไปขึ้นสแตนด์เชียร์อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นการแสดงออกถึงความรักกลมเกลียวของชาวจุฬาฯ โดยแต่เดิมนั้นก่อนการแข่งขันฟุตบอลในช่วงบ่าย นิสิตจุฬาฯ และนักศึกษาธรรมศาสตร์จะออกจากบ้านแต่เช้าด้วยเสื้อเชียร์มหาวิทยาลัยจำนวนมากได้เดิน และขับรถเล่นไปตามท้องถนนในกรุงเทพ ทำในวันนั้นกรุงเทพจะเต็มไปด้วยสีชมพู และเหลืองแดง ทำให้เกิดความฮึกเหิม และสามัคคีอย่างมาก หลังจากนั้นก็จะไปบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมก่อนที่จะเข้าสู่สนาม อาทิ การทำบุญที่วัด การปลูกต้นไม้ การทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงจุดประสงค์ข้อนี้ไว้เหมือนเดิมเช่นกัน โดยมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ภายในมหาวิทยาลัย และนอกมหาวิทยาลัย อาทิ เลือดไม่แบ่งสี สมุดเพื่อน้อง สอนน้องตาบอด ทำกิจกรรมบ้านเด็กอ่่อน เป็นต้น โดยมีฝ่ายบำเพ็ญประโยชน์ และตัวแทนนิสิตเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรม นอกจากนี้ภายในสนามยังมีการเพิ่มความสนุกสนานจากวงดนตรีที่ได้รับความนิยม รวมทั้งปอมปอมเชียร์จากกลุ่มนิสิตจุฬาฯ อีกด้วย

 

มากกว่านั้น เมื่อยามประเทศตกอยู่ในสถานการณ์คับขันไม่ว่าทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมก็ตาม บรรดานิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบันเป็นผู้นำในการร่วมต่อสู้ทางอุดมการณ์ และเรียกร้องความยุติธรรมเพื่อสังคม ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากวลีที่ยังอบอวลในบรรยากาศของทั้งสองสถาบัน คือ เกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน และ ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ทำให้กิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากประชาชนกิจกรรมหนึ่ง คือ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ หรืองานบอลนั้นเอง เป็นกิจกรรมที่นอกจากกระชับความสัมพันธ์แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ให้โอกาสในการแสดงออกทางความคิดของเหล่านิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบัน เพื่อชี้นำสังคม และเชิดชูสถาบันของประเทศ โดยเสนอผลงาน สะท้อนปัญหาต่างๆ และทางออก ผ่านขบวนพาเหรด จึงนับเป็นจุเริ่มต้นของขบวนพาเหรดในงานฟุตบอล ซึ่งมีขบวนที่ได้รับความสนใจ และกระแทกสังคมเป็นอย่างมาก คือ ขบวนล้อการเมือง โดยแต่เดิมนั้นขบวนพาเหรดที่จะได้เข้าไปเดินในงานบอลนั้นต้องผ่านการคัดเลือกจากขบวนพาเหรดของกีฬาเฟรชชีในตอนต้นปี ซึ่งเป็นตัวแทนทางความคิด และการแสดงออกของนิสิตจุฬาฯ แต่ละคณะ แต่ต่อมาภายหลังกิจกรรมต่างๆ ต่างจัดขึ้นเพื่อตอบจุดประสงค์ของกิจกรรมที่ชัดเจนขึ้น ทำให้เปลี่ยนจากที่มาที่หลากหลาย มาเป็นการแสดงออกที่มีที่มาที่แคบขึ้นโดยผ่านตัวแทนแต่ละคณะมาอภิปรายร่วมกัน หลังจากที่ได้ข้อสรุปแล้วส่วนที่รับผิดชอบนำไปสร้างงานต่อ แต่อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ของขบวนพาเหรดก็ยังคงเดิม แต่อาจปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมแล้วแต่โอกาส สภาพการณ์บ้านเมืองจะอำนวย

 

ท่ามกลางการพัฒนาของประเทศจากเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานมาจากการเกษตรกรรม เป็นประเทศอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีการอพยพจากชนบทสู่เมือง ความเจริญทางด้านต่างๆ กระจุกตัวที่เมืองหลวง ความต้องการทุนทางด้านต่างๆมากขึ้น กระทั่งด้านการศึกษาก็ไม่พ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดรับนิสิตเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี รวมทั้งเปิดสาขาวิชาให้มีความหลากหลายมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งผ่านได้ง่ายขึ้นผ่านการประชาสัมพันธ์ ด้วยปัจจัยกำหนด และบริบทที่เปลี่ยนไปทำให้รูปแบบงานบอลมีการเติบโตเป็นอย่างมาก มีการประชาสัมพันธ์ รวมถึงกิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อให้มีการสื่อสารระหว่างนิสิตกันเองได้อย่างทั่วถึงท่ามกลางจำนวนนิสิตที่มากขึ้น รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตได้เข้ามามีส่วนในการคิด แสดงออก เสมอเหมือน เจ้าของงานบอล อาทิ การประชาสัมพันธ์ภายในมหาวิทยาลัย ผ่านสื่อตีพิมพ์ เช่น โปสเตอร์ ธงราว ธงญี่ปุ่น เป็นต้น และกิจกรรมสนับสนุน เช่น เปิดเทศกาลงานบอล เชียร์เวียน เชียร์รวม สัปดาห์งานบอล CU CUP หรือการแข่วขันฟุตบอลระหว่าง 18 คณะ ถนนนี้สีชมพู และรถป็อป เป็นต้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ภายนอก เช่น งานแถลงข่าว การเยี่ยมสื่อ การออกรายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น กิจกรรมทั้งหมดนี้นอกจากมุ่งประชาสัมพันธ์งานบอล สร้างอารมณ์ บรรยากาศ สีสันแก่ผู้ได้พบเห็น ได้เข้าใจถึงจุดประสงค์ของงาน และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการปฏิบัติงาน เข้าร่วม หรือสนับสนุนงานบอลในทางใดทางหนึ่งแล้วยังเป็นการสร้าง และส่งผ่านวัฒนธรรมของจุฬาฯ เราเองผ่านรุ่นน้องรุ่นใหม่ที่เข้ามา ได้เรียนรู้ และซึมซับสิ่งดีงาม แล้วรักษาและหวงแหนเพื่อรุ่นน้องของเรา และจุฬาฯต่อไปในอนาคต

 

กิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่่งจากคนเบื้้องหลังในการอำนวยความสะดวก อาทิ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งทำหน้าที่โดยอำนวยการ 2 ได้แก่ สถานที่ จราจร แสงเสียง รักษาความปลอดภัย ยานพาหนะ พยาบาล ปฏิคม วิทยุ พัสดุ และส่วนงานสนับสนุนกิจกรรมเสร็จสิ้นก่อนวันงาน ทำหน้าที่โดยอำนวยการ 1 ได้แก่ เสื้อ บัตร หาทุน สาราณียกร ตกแต่งสถานที่ แลนด์มาร์ค นอกจากนี้ยังมีงานควบคุม วางแผน ประสานงาน การเงิน และธุรการ รับสมััครทีมงาน เป็นต้น ทำหน้าที่โดยประสานงานกลาง ได้แก่ ประธารจัดงาน รองประธานจัดงาน เลขานุการ เหรัญญิก ทรัพยากรบุคคล ประธานฝ่ายต่างๆ เลขานุการฝ่าย และเหรัญญิกฝ่าย

 

จะเห็นได้ว่างานบอลนั้น ไม่ได้หมายถึงเพียงกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง แต่หมายถึงกิจกรรมทุกกิจกรรมซึ่งมีความสำคัญเสมอกัน และเกี่ยวข้องกัน โดยต่างส่งเสริม และสนับสนุนกัน โดยมีคณะ ชุมนุม กลุ่มคน ทีมงาน และบุคคล เป็นคนโดยจิตวิญญาณจุฬาฯ ทำกิจกรรมตามหน้าที่ของตน และมากกว่าในบางครั้ง เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดเดียวกันของงานบอล คือ เจ้าของงานบอลทุกคนมีความสุข โดยทุกคนเป็นเจ้าของงานบอล ด้วยเหตุนี้เองงานบอลจึงเป็นที่รู้จักของทุกคน งานบอลจึงมีความสำคัญในมิติต่างๆ ตามการรับรู้ของแต่ละคน ในทุกปีทุกคนตั้งตาคอยเพื่อร่วมเป็นเจ้าของงานบอล และงานบอลยังคงอยู่ต่อไปคู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่างานบอล และรวมถึงกิจกรรมต่างๆ สำหรับบุคคลที่มีอำนาจโดยชอบ เป็นผู้จัดการโอกาส และเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ จะสามารถกระจายให้โอกาสอย่างเสมอกัน และทั่วถึง โดยความแตกต่างของรูปแบบกิจกรรม เป็นเพียงหน้าที่แตกต่างกัน โดยจัดให้ตรงกับคนที่เหมาะสม หากไม่แล้ว ท่านกำลังจะสร้างความสูญสิ้นทางอุดมการณ์แก่สังคม และจะเป็นการลำบากต่อการทำกิจกรรมของรุ่นหลัง สังเกตได้จากตัวอย่างที่เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ในสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง และสำหรับคนที่มีจิตวิญญาณจุฬาฯ แต่ไม่มีโอกาส ผู้เขียนเชื่อว่า หากท่านคงมั่นในจิตวิญญาณ มานะทำกิจกรรมอย่างเต็มความสามารถ และเจตนารมย์ วันหนึ่งผลแห่งการกระทำของท่านเอง จะนำมาซึ่งโอกาสนั้นเอง จากบทเรียนชีวิตของผู้เขียน เชื่อว่าในชีวิตของคนมีสิ่งสำคัญเพียงสองอย่าง อย่างแรก คือ ทำตัวเองให้พร้อม อย่างหลัง คือ โอกาส ทั้งโอกาสที่เข้ามา และโอกาสที่เข้าหา ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว การก้าวไปสู่อีกจุดหนึ่งคงเป็นไปได้น้อยมาก

ขอบคุณที่ให้โอกาสแก่ผู้เขียน มา ณ ที่นี้

Read Full Post »