Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Posts Tagged ‘equality’

recommendare

บทความเรื่อง  ””รายได้ภรรยาถือเป็นรายได้ของสามี” นัยดูแคลนสตรี ที่ยังมีในกฎหมายไทย”

โดย

บรรยง วิทยวีรศักดิ์

นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิต

ความมีดังนี้

1 สิงหาคมนี้ เป็นวันสตรีไทย การหยิบยกประเด็นนี้มาพูด จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้อง เพราะนับวันหญิงไทยได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า ในปัจจุบันแทบไม่มีข้อแตกต่างระหว่างหญิงกับชายแล้ว

ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ว่า “รายได้ของภรรยาให้ถือเป็นรายได้ของสามี” ถ้าเป็นยุคแม่พลอยในหนังสี่แผ่นดิน คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่มายุคนี้ ถ้าใครยังคิดว่ารายได้ของภรรยาล้วนมาจากบารมีและความสามารถของสามีแล้ว ก็ดูจะหลงยุค หลงสมัยไปหน่อย

ที่มาของกฎหมายมาตรานี้

สมัยก่อน ในยุคเจ้าขุนมูลนาย ชายไทยเป็นผู้หารายได้หลักเข้าครอบครัว ผู้หญิงแทบทั้งหมดล้วนเป็นแม่บ้าน อยู่ดูแลครอบครัว รายได้ต่างๆที่เกิดขึ้นในชื่อของภรรยา มักจะถูกมองว่าเป็นวิธีเลี่ยงภาษีของสามี โดยการนำรายได้ของตนไปแบ่งใส่ในชื่อของภรรยา ทำให้กรมสรรพากรในยุคนั้น ได้ข้อสรุปว่า รายได้ในชื่อภรรยาเป็นการเลี่ยงภาษี ต้องนำมารวมคิดเป็นรายได้ของสามีเสมอ

ประเด็นปัญหา ในปัจจุบัน ในยุคปากกัดเท้าถีบ ผู้หญิงส่วนใหญ่ได้ออกมาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายแล้ว แต่กฎหมายยังกำหนดให้รายได้ของภรรยาถือเป็นรายได้ของสามีอยู่ ในขณะที่ระบบภาษีของไทยเป็นระบบภาษีก้าวหน้าในอัตราตั้งแต่ 5-37% ดังนั้นเมื่อนำรายได้ของภรรยามารวมคำนวณภาษีกับสามี ฐานเงินได้ที่ใช้ในการคำนวณภาษีย่อมสูงขึ้น ทำให้มีภาระภาษีในอัตราก้าวหน้าสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น เดิม ก่อนแต่งงาน ทั้งคู่เคยเสียภาษีในฐาน 20% แต่เมื่อสมรสแล้วต้องนำรายได้มารวมคำนวณ ทำให้ฐานภาษีอาจจะขยับมาที่ฐาน 30% ทำให้มีภาระภาษีสูงขึ้นมาก

กลายเป็นว่า ใครแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกัน จะต้องคำสาปให้เสียภาษีสูงขึ้น เพื่อแลกกับการได้ชื่อว่า “สมรสแล้ว”

ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน จริงอยู่ ถึงแม้กฎหมายจะกำหนดให้มีข้อยกเว้น ไม่ต้องนำรายได้ของภรรยาที่เป็นเงินเดือน (มาตรา 40(1)) มารวมคำนวณเป็นรายได้ของสามี ด้วยเชื่อว่าการได้รับเงินเดือน แสดงว่าฝ่ายหญิงต้องไปนั่งทำงานจริงๆ

แต่ข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันทั่วไปคือ ทุกวันนี้ หญิงไทยมีความสามารถทำงานได้แทบทุกอย่าง เก่งพอๆกับชาย ไม่ว่า อาชีพอิสระ (ม.40(6)) อย่างแพทย์, ทนายความ, สถาปนิก, นักบัญชี หรืออาชีพตัวแทนนายหน้า (ม.40(2)) อย่างการเป็นตัวแทนขายประกันชีวิต หรือนายหน้าขายบ้านและที่ดิน ทั้งยังมีผู้หญิงอีกมากมายที่มีความสามารถในการทำธุรกิจส่วนตัว (ม.40(8)) อย่างเปิดร้านค้า เปิดโรงงานทำขนม หรือแม้แต่เปิดร้านเสริมสวย ต่างถูกกฎหมายบังคับให้ต้องนำรายได้มารวมคำนวณเป็นรายได้ของสามีทั้งสิ้น

ทำให้มีคู่สามีภรรยาบางคู่ ตัดสินใจไปจดทะเบียนหย่า เพื่อหวังหลีกเลี่ยงภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น นี่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ โดยพวกเขาถือคติว่า ใบทะเบียนสมรสไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ความรักที่แท้จริง แต่เงินทองต่างหาก ที่เป็นสิ่งเจือจุนครอบครัวให้อยู่รอดได้ กลายเป็นว่าการจดทะเบียนสมรสเป็นตราบาปอย่างหนึ่งของครอบครัวไทย

ผลที่เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมไทยได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมดังนี้

1.มีนัยให้เห็นว่า สังคมไทยยังไม่ยอมรับบทบาทของสตรี ยังดูแคลนความสามารถของสตรี ผู้ซึ่งก้าวขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษแล้ว

2.รัฐธรรมนูญกำหนดให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่อาจยกเอาข้ออ้างเรื่องเพศหรือศาสนามาเลือกปฏิบัติได้ การที่ประมวลรัษฎากรระบุว่ารายได้ของภรรยาถือเป็นรายได้ของสามี จึงมีนัยดูแคลนเพศหญิงอยู่ น่าจะผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายสูงสุด

3.ตามหลักการ กฎหมายควรมีส่วนช่วยจรรโลงสถาบันครอบครัว มิใช่สนับสนุนหรือเป็นเหตุจูงใจให้มีการหย่าร้าง ซึ่งถือเป็นการทำลายสถาบันครอบครัว

4.การคิดภาษีที่ไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวเมื่อต้องยื่นเสียภาษี ทำให้บั่นทอนกำลังใจในการทำงาน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ตัวอย่างที่ได้สัมผัสมา

ในฐานะนายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิต ขอเรียนว่าได้รับการร้องเรียน ถึงความไม่เป็นธรรมของกฎหมายเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เพราะข้อเท็จจริงของธุรกิจประกันชีวิตทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศคือ กว่า 60%ของผลผลิตในอุตสาหกรรมนี้มาจากการขายของผู้หญิง

และสถิติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคือ 100 อันดับแรกของผู้ขายประกันชีวิตได้สูงสุด มาจากผู้หญิง 60-65%เสมอ

ในอุตสาหกรรมประกันชีวิต มีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่า ตัวแทนหญิงเป็นกำลังหลักในการขาย เนื่องจากมีความมุ่งมั่น มีน้ำอดน้ำทน และมีการพูดการจาดี เข้าถึงลูกค้าได้ดีกว่าผู้ชาย

ขณะที่ในแวดวงการศึกษา ก็ได้ข่าวว่าบางคณะวิชาเช่นคณะเภสัชศาสตร์หรือคณะทันตแพทยศาสตร์ ที่สมัยก่อนมีสัดส่วนผู้เรียนเป็นชายครึ่งหนึ่ง เป็นหญิงครึ่งหนึ่ง แต่ปัจจุบัน เป็นหญิงเสีย 70-80% ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เดิมนักศึกษาแทบเป็นชายทั้งหมด เดี๋ยวนี้ก็มีนักศึกษาหญิงเข้าเรียนมากขึ้นอย่างชัดเจน

แล้วเรายังคิดว่า รายได้ของครอบครัวยังมาจากผู้ชายฝ่ายเดียวอีกหรือ

อนาคตในมือกรมสรรพากร

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กรมสรรพากรได้มีความคิดริเริ่มที่จะแก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้ โดยได้มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ไปศึกษาวิจัยว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ล้าสมัย ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่า การนำรายได้ของภรรยามารวมเป็นรายได้ของสามี ไม่เป็นธรรมและเป็นปัญหาค่อนข้างมาก

ในวาระที่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ เป็นวันสตรีไทย การหยิบยกประเด็นนี้มาพูด จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้อง เพราะนับวันหญิงไทยได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า ในปัจจุบันแทบไม่มีข้อแตกต่างระหว่างหญิงกับชายแล้ว

ดังนั้น จึงหวังว่า กรมสรรพากรจะเดินหน้าสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นต่อไป และถือเป็นการมอบของขวัญให้ประชาชนในยุคข้าวยากหมากแพงนี้ด้วย

ส่วนการแก้กฎหมายก็เป็นการแสดงนัยว่า วันนี้ นักกฎหมายไทยได้ให้การยอมรับและเห็นคุณค่าของหญิงไทยแล้วว่า เธอคือผู้ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายอย่างแท้จริง

Read Full Post »