Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Posts Tagged ‘ปัญหา’

ปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย

recommendare

 

แม้แต่”ความรักลูก”ก็เป็นอาวุธได้ และ “ความรักลูก” คือพฤติกรรม ; ดังนั้น พฤติกรรมของคนทางสังคมวิทยา ก็ถูกใช้เป็นอาวุธได้ 

ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์

 

ถอดความ

จากปาฐกถาพิเศษเรื่อง  ปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย

 

โดย

ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
ประธานกรรมการกฤษฎีกา

 

ความมีดังนี้

 

ท่านองคมนตรี ท่านประธานศาลปกครองสูงสุด ท่านตุลาการศาลปกครองสูงสุด ท่านตุลาการ ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณที่ทางศาลปกครองได้ให้เกียรติผมมาพูดในวันนี้ โดยในวันที่ ๙ มีนาคม ก็จะเป็นวันที่ครบรอบ ๗ ปีของศาลปกครอง ผมเชื่อว่า ศาลปกครองจะอยู่คู่กับประเทศไทยนานแสนนาน และคงจะเป็นสถาบันที่พัฒนาหลักฎหมายและแก้ “ปัญหา”ให้ประเทศต่อไปข้างหน้า

 

เป็นที่ทราบดีว่า กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายยุคใหม่ เมื่อทางศาลปกครองเชิญผมมาพูด ผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดในเรื่องอะไร ท่านทั้งหลายก็มีความรู้มากมาย ผมก็มาคิดว่า ขณะนี้เรามีวิกฤติอยู่และทุกเช้าเราได้ฟังวิกฤติของกฎหมายมหาชนอยู่ตลอดเวลา แม้เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราก็มีปัญหาเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม มี “การเมือง”แทรกแซงหรือไม่ และข้างหน้าก็คงจะมีปัญหาตามมาอีกมาก ผมก็เลยมานั่งนึกว่าจะเอาเรื่องอะไรมาพูดในวันนี้ ; ขณะนี้ผมกำลังเขียนบทความอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นบทความที่ค่อนข้างยาว และผมคิดว่าบทความนี้จะเป็นบทความชุดสุดท้ายของผม ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าผมจะเขียนจบหรือไม่จบ ; บทความบทนี้เป็นบทความที่เป็นความเห็นของผมเกี่ยวกับ “ทางออก”ของประเทศไทยในภาวะการเมืองปัจจุบัน คือ ถ้าเราหาทางออกได้ เราก็คงจะหลุดพ้นจากวงจร vicious circle ไปได้ แต่ถ้าเราหลุดพ้นจากวงจรไม่ได้ ผมก็คิดว่าข้างหน้าเราคงจะมีเหตุการณ์อีกมากมาย ที่อาจกระทบกระเทือนถึงประวัติศาสตร์ของเราในอนาคตด้วย ; ในบทความดังกล่าว ผมพยายามจะเขียนให้เห็นทุกแง่ทุกมุมของปัญหาสังคมของเรา ขณะนี้ก็เริ่มเขียนมาหลายตอนแล้ว และในบางตอนเมื่อย้อนกลับไปอ่านแล้วก็ยังรู้สึกว่าภาษาค่อนข้างเข้าใจยาก

 

ดังนั้น “เรื่อง”ที่ผมจะพูดในวันนี้ เป็น”ส่วนหนึ่ง”ที่ตัดตอนมาจากบทความขนาดยาวดังกล่าว บางส่วนก็เขียนเป็นบทความและลงเว็บไปแล้ว บางส่วนก็คิดไว้ในใจและตั้งใจจะเขียนเป็นบทความตอนต่อ ๆ ไป ; ผมขอให้”ชื่อ”ของหัวข้อเรื่องที่ผมจะพูดในวันนี้อย่างสั้น ๆ แต่อยากให้เป็น “ชื่อ”ที่มีความหมายค่อนข้างกว้างพอที่จะครอบคลุมปัญหาการเมืองของไทยในขณะนี้ได้ คือ ผมจะพูดเรื่อง “ปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย” ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือ ปัญหาของสังคม ที่มีสาเหตุมาจาก “ชนชั้นนำ”ของเราเอง

 

นักประวัติศาสตร์ เวลาเขามองย้อนว่าประเทศเราจะเจริญหรือเสื่อม เขาจะดูที่บทบาทของ “ชนชั้นนำ” หรือ Elite ; ถ้าเราอยากจะรู้ว่า ข้างหน้า อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องวิเคราะห์บทบาทของ Elite ในปัจจุบัน ; ในบทความที่ผมเขียนและลง Web ไว้ ผมได้นำข้อวิจารณ์ของนักประวัติศาสตร์ต่างประเทศ ที่เขาวิจารณ์และให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ของประเทศฝรั่งเศสในยุคปลายศตวรรษที่ ๑๘ คือ ในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ เกิดขึ้นเพราะอะไร ซึ่งผมเชื่อว่า ทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในประเทศผรั่งเศสในระยะนั้น โดยผมไม่ต้องกล่าวซ้ำอีก

 

ในการพูดในวันนี้ ผมก็จะขอใช้แนวทางวิเคราะห์ในแนวทางเดียวกันกับนักประวัติศาสตร์ของต่างประเทศ คือ วิเคราะห์ปัญหาของประเทศไทย บนพื้นฐานของ “บทบาทของ Elite”ในปัจจุบัน โดยถือว่า เป็นการเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ท่านที่มีความรอบรู้ช่วยนำไปคิด 

 

โดยในส่วนแรก จะเป็นความนำหรือ”บทนำ” ซึ่งผมจะขอเรียนให้ท่านทราบอย่างสั้น ๆ ว่า ทำไมผมถึงเลือก “หัวข้อ”เกี่ยวกับปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย มาพูด และจากนั้น จะเป็นส่วนที่เป็น”สาระ”ที่ผมตั้งใจจะพูด โดยจะขอแบ่งออกเป็น ๓ ตอน 

 

ตอนที่ ๑ คือ ทำไมเมื่อปีที่แล้ว คือ นับแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่เรามีการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน จนถึงพ.ศ.๒๕๕๐ รวมเวลา ๑ ปี ๓ เดือน เราจึงล้มเหลวใน”การปฏิรูปการเมือง” ซึ่งส่วนนี้ผมได้เขียนไว้ในบทความที่ได้กล่าวถึงแล้ว ซึ่งยังเขียนเข้าใจยาก แต่วันนี้ ผมจะสรุปให้ง่ายขึ้น เพื่อมาดูอย่างรวบรัดว่า เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว เราล้มเหลวเพราะอะไร ชนชั้นนำ หรือ Elite กลุ่มใหนที่รับผิดชอบ

 

ตอนที่ ๒ เราจะมาดูว่า ถ้าเราอยากจะรู้ “อนาคต”ของเราว่าเป็นอย่างไร เราก็ต้องดู Eliteของเรา ณ “ปัจจุบัน” โดยเราจะพิจารณาว่า เราจะต้องสนใจ Elite ของเราประเภทหรือจำพวกใดบ้าง ดังนั้นในตอนที่สองนี้ ผมจะพูดถึง Elite ของเรา ๓ ประเภท ประเภทที่หนึ่ง ก็คือ “นักกฎหมาย” ประเภทที่สอง คือ นักการเมือง ซึ่งแก่ “นายทุนธุรกิจ”ที่มาเล่นการเมืองอยู่ในขณะนี้ และประเภทที่สาม คือ “นักวิชาการประเภท philosophers” ที่มักจะสร้างปัญหาแต่ไม่ได้ช่วยคิดเพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศ ;เราจะลองมาคาดคะเนดูว่า Elite ของเรา ๓ ประเภทหรือ ๓ จำพวกนี้ จะพาเราคนไทยไปถึงไหน ในเวลาข้างหน้า 

 

ตอนที่ ๓ จะเป็นตอนสุดท้าย เราจะดูว่า อนาคตของเราจะมืดมน อย่างไร โดยผมจะย่ออย่างสั้น ๆ โดยแยกเป็น ๒ ประเด็น คือ ในประเด็นแรก ผมจะพูดถึง “คุณภาพ”ของ Elite ของเราในอดีตสมัยรัชการที่ ๕ เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นในระยะเดียวกันว่า เป็นอย่างไร และดูว่าในขณะนี้ “คุณภาพ”ของ Elite ในปัจจุบันของเรา ก้าวไปข้างหน้าหรือถอยงหลั และในประเด็นที่สอง ผมจะพูดถึง คือ “กระบวนการยุติธรรม” ของเรา ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาว่า จะพาเราไปรอดหรือไม่ 

ทั้งหมดนั้น เป็นแนวทางที่ผมกำหนดจะพูด ในวันนี้ นะครับ

 

บทนำ

 

ในส่วนต้นหรือ “บทนำ”ว่า ทำไมผมถึงเลือกเรื่องนี้ คือ “ปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย”มาพูดในวันนี้ ; ผมขอเรียนว่า นักประวัติศาสตร์เขาเคยวิเคราะห์ว่า เหตุที่เกิดความวุ่นวายและมิคสัญญีนองเลือดในประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ เกิดจาก Elite ๒ กลุ่ม 

 

ผมเชื่อว่า ท่านตุลาการศาลปกครองที่จบจากฝรั่งเศสหลายท่าน คงทราบอยู่แล้วว่า Elite กลุ่มแรก ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดของประเทศฝรั่งเศส ก็มาจากพวกตุลาการนี่แหละครับ ในสมัยนั้นศาลยุติธรรมของฝรั่งเศส เรียกว่า le Parlement และพวกตุลาการเรียกว่า Parlementaires ; พวก Parlementaires นี่แหละครับ คือ กลุ่มแรกที่สร้างปัญหาและทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ ไม่ว่าจะมีนายกรัฐมนตรีที่เก่งอย่างไร ก็แก้ไม่ได้ ; และกลุ่มที่สอง คือ พวก philosophers ที่นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส เรียกว่า the Philosophes คือ นักวิชาการที่พูดถึงสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่คิดถึงวิธีที่จะแก้ปัญหา 

 

ในรายละเอียดที่ผมเขียนไว้ในบทความในส่วนที่เกี่ยวกับศาล le Parlement นี้ ผมได้กล่าวไว้อย่างสั้น ๆ ว่า ในระยะนั้นตุลาการของฝรั่งเศสมีอำนาจมาก คือ ถ้ารัฐบาลออก”กฎหมาย”อะไรมา ตุลาการมีสิทธิที่จะจดหรือไม่จดทะเบียนกฎหมายสำหรับให้ศาลทั่วประเทศใช้บังคับ ; ถ้าไม่จดทะเบียน ก็หมายความว่าใช้ฟ้องศาลไม่ได้ เพราะศาลไม่บังคับให้ ดังนั้น ในระยะนั้น แม้ว่ารัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จะมีนายกรัฐมนตรีมีชื่อเสียงและเก่งกาจอย่างไรก็ตาม แต่ถ้ากฎหมายที่ตราออกมาเพื่อแก้ปัญหาประเทศ มีผลกระทบกระเทือนสิทธิและประโยชน์ของตุลาการหรือเป็นการปฏิรูประบบศาล ศาลก็จะไม่รับ register และบังคับใช้ไม่ได้ และด้วยเหตุนี้เอง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จึงแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ จนกระทั่งนโปเลียนทำการปฏิวัติ และเข้ามาแก้ปัญหาและปฏิรูประบบศาล จนได้มีศาลปกครองขึ้นมา

 

ดังนั้น เราจะเห็นว่า ในการบริหารประเทศ ศาลซึ่งเป็นองค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย จะมีอิทธิพลอยู่มาก ; ปัญหาของเราในขณะนี้ ก็คือ กระบวนการยุติธรรมของเรามี “ปัญหา”หรือเปล่า “นักกฎหมาย”ของเรามีปัญหาหรือเปล่า ทำไมเราจึงต้องมีตุลาการภิวัฒน์ ขอให้ท่านย้อนไปพิจารณาเหตุการณ์ดู ; ขณะนี้ เราคงเห็นอยู่แล้วว่า คตส. ขัดแย้งกับอัยการ กกต. ก็มีทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย เจ้าหน้าที่เดิม ๆ ของ DSI หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ถูกโยกย้ายไปหมดแล้ว และ DSI ก็กำลังกล่าวหาว่า กกต.ทำผิดกฎหมาย ฯลฯ ; ถ้าสภาพเป็นอย่างนี้แล้ว สังคมของเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครถูกใครผิด ; และในเวลาต่อไปข้างหน้า ก็คงจะมีปัญหาอีกมากนะครับ 

 

ผมเห็นว่า ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่น ๆ เขาแก้ปัญหากันไปหมดแล้ว แต่ของเรายังไม่ได้แก้ นี่คือเหตุผลข้อแรก ที่ผมเลือกหัวข้อว่าด้วย “ปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย” มาพูดในวันนี้

 

ปัญหาในเรื่องนักวิชาการประเภท “The Philosophes” ก็เช่นเดียวกัน เราจะเห็นว่า ขณะนี้มีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาต่อต้านเผด็จการกัน แต่ดูเหมือนว่า นักวิชาการเหล่านี้จะพูดถึงและต่อต้านเฉพาะ “เผด็จการทหาร” แต่ไม่พูดถึง “เผด็จการโดยนายทุนธุรกิจ” ; เราจะพูดถึงแต่สิทธิเสรีภาพของเอกชนและของตัวเอง แต่ไม่ได้บอกว่า ประเทศเรา จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ; ดังนั้น The Philosophes ก็ยังเป็นปัญหาของเมืองไทย และนี่ก็คือ เหตุผลอีกข้อหนึ่ง ที่ผมเลือกหัวข้อว่าด้วย “ชนชั้นนำที่เป็นปัญหาของสังคมไทย” มาพูด

 

ต่อไปนี้ ผมจะพูดถึงเรื่องใน “สาระ”ที่ผมตั้งใจจะพูด โดยเริ่มต้นจากตอนแรก คือ เมื่อหนึ่งปีสามเดือนที่ล่วงมาแล้ว หลังการรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ทำไมเราถึงแก้ปัญหาไม่ได้ โดยจะมองจาก Elite ของเรา 

 

Eliteของเรา ในขณะนั้น คือ “นักการเมืองจำเป็น”ที่กระโดดเข้ามาทำการปฏิวัติ ทั้ง ๆที่ไม่รู้ว่า เมื่อปฏิวัติสำเร็จแล้ว จะต้องทำอะไร พูดง่าย ๆ ก็ คือบริหารประเทศไม่เป็น ; ตรงนี้ ผมเขียนไว้ในบทความแล้ว ผมจะพยายามสรุปให้สั้นที่สุด และต่อจากนั้น ผมจะพูดถึงบทบาทของ Elite ๓ จำพวกหรือ ๓ประเภทของเรา คือ “นักกฎหมาย” ซึ่ง รวมทั้งผู้พิพากษา ตุลาการ และ อาจารย์ คือ รวมนักกฎหมายทั้งหมด ; ส่วน Elite ประเภทที่สอง ซึ่งได้แก่ “นักการเมืองนายทุนธุรกิจ” ที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองอยู่ในขณะนี้ Eliteประเภทนี้ประเทศฝรั่งเศสในยุคปี ๑๗๘๙ ยังไม่มี แต่ของเรามีอยู่ในปัจจุบัน ; ส่วน Elite ประเภทที่สาม คือพวก The Philosophers ซึ่งประเทศฝรั่งเศสก็มี และประเทศไทยของเราก็มี โดยเราจะลองมาวิเคราะห์ดูว่า Elite ทั้ง ๓ ประเภทซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมเราในปัจจุบัน มีบทบาทอย่างไร ทำเพื่อส่วนตัวหรือทำเพื่อส่วนรวม 

 

นักการเมืองจำเป็น

 

ผมขอเริ่มต้นด้วย “นักการเมืองจำเป็น” คือ Elite ที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐด้วยการรัฐประหาร ปัญหาของเรามีว่า เมื่อปฏิวัติมาแล้ว มีอำนาจเต็มที่ แต่ทำไมแก้ปัญหา ประเทศไม่ได้

 

ผมเห็นว่า การที่เราทำไม่สำเร็จ ก็เพราะผู้ที่ทำการปฏิวัติเข้ามา ไม่รู้ว่า”ภารกิจ”ของตัวเองคืออะไร ผมคิดว่า ก่อนที่จะทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ผู้ที่ทำการรัฐประหาร ควรจะต้องกำหนด “ภารกิจ”ของตนเองเสียก่อน 

 

ในบทความที่ผมเขียนไว้ ผมแยกภารกิจสำคัญของการทำรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาของประเทศไว้ ๒ ประการ ซึ่งจะต้องแยกให้ชัดเจน และอย่าปนกัน ;

 

ภารกิจประการแรก ก็คือ “รปฏิรูปการเมือง” ผู้ที่ทำการรัฐประหารเข้ามา จะต้องหา “รัฐธรรมนูญใหม่“ที่ดีกว่าเก่า และภารกิจประการที่สอง คือ การบริหารประเทศในช่วงระหว่างการปฏิวัติ ซึ่งผู้ที่ทำการรัฐประหารจะต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องรีบทำเพราะมีระยะเวลาอันจำกัดสั้น แต่ปรากฏว่า นักการเมืองจำเป็น หรือ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ผ่านมาแล้ว ไม่ได้ทำ คือไม่ได้กำหนดภารกิจของตนเอง 

 

นอกจากจะต้องกำหนด “ภารกิจ”ของตนเองแล้ว ผู้ที่ทำรัฐประหารจะต้องรู้ด้วยว่า ภารกิจทั้ง ๒ ประการนั้น มี “ลักษณะ”อย่างไร และจะต้องทำอย่างไร “ภารกิจ”จึงจะสำเร็จได้ 

 

การที่จะทำให้ “ภารกิจ”ทั้ง ๒ ประการสำเร็จ จำเป็นจะต้องสร้าง “องค์กร”ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจ และเครื่องมือในการสร้างองค์กรนี้ ก็คือ “รัฐธรรมนูญชั่วคราว ” ; ผู้ที่ทำรัฐประหารจะต้องรู้ว่า “รัฐธรรมนูญชั่วคราว” จะมีสาระแตกต่างจาก”รัฐธรรมนูญถาวร” ; องค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นตาม รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีความมุ่งหมายอยู่ ๒ ประการ คือ ประการแรก เพื่อสร้าง “องค์กรที่จะสร้างรัฐธรรมนูญถาวร” และประการที่สอง เพื่อสร้าง “องค์กรสำหรับการบริหารประเทศเป็นการชั่วคราวในระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญถาวร ซึ่งได้แก่ รัฐบาลชั่วคราวและสภานิติบัญญัติชั่วคราว 

 

ถ้าหาก “องค์กร”ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ดี ผลที่ตามมาก็คือ “รัฐธรรมนูญถาวร”ก็จะออกมาดีไม่ได้ และการบริหารราชการแผ่นดินชั่วคราว ก็จะดีไม่ได้เช่นกัน เพราะ “รุปแบบ” ขององค์กรที่จะปฏิบัติภารกิจผิด มาตั้งแต่ต้น

 

ดังนั้น เราลองมาดูว่าใน “ภารกิจแรก” คือ การปฏิรูปการเมืองหรือการจัดหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้คนไทย นักการเมืองจำเป็นหรือคณะรัฐประหารของเรา สร้าง “องค์กร”อะไรขึ้นมาให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือรัฐธรรมนูญถาวร 

 

ท่านทั้งหลายทราบดีอยู่แล้วว่า “องค์กร”ที่มาเขียนหรือออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็คือ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”

 

เราลองมาดูโครงสร้างของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ หรือของนักการเมืองจำเป็น ว่ามีอย่างไร และท่านทั้งหลายก็ทราบดีอยู่แล้วเช่นกันว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญของเรา เป็นรูปแบบ”สภานานาอาชีพ” คือเป็นสภาที่มีสมาชิกที่คัดสรรมาจากระบบสมัชชาแห่งชาติ โดยมีแนวความคิดว่า การร่างรัฐธรรมนูญควรมีส่วนร่วมจากประชาชนหลากหลายอาชีพ เพื่อ “ความเป็นประชาธิปไตย” ; ตรงนี้ ผมขอให้ท่านหยุดคิดสักนิดและลองถามตัวท่านเองว่า สภาที่มีสมาชิกจากนานาอาชีพจะสามารถร่างรัฐธรรมนูญ ได้ดีหรือไม่ หรือว่า รัฐธรรมนูญที่ดีนั้นต้องการความเชี่ยวชาญของนักวิชาการที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในรูปแบบและการร่างรัฐธรรมนูญ ; ทั้งนี้ โดยเราจะยังไม่พิจารณาไปถึงว่า ทำอย่างไร จึงจะออกแบบ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นไปหลักการของระบอบประชาธิปไตยและในขณะเดียวกันก็อยู่บนพื้นฐานของความเชี่ยวชาญด้วย เพราะถ้าพูดถึงข้อนี้ ก็คงจะต้องพูดไปอีกยาว

 

ในที่นี้ เราคงพูดเพียงว่า ถ้าเรากำหนดรูปแบบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ผิด รัฐธรรมนูญที่เป็น “ผลงาน”ขององค์การยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะออกมาผิด ๆด้วย เหมือนกับที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน คือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เราได้มา เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาการเมืองของเราไม่ได้ และทำให้เราต้องกลับมาสู่ที่เดิม ก่อนมีการรัฐประหาร

 

ความจริง ผมได้เคยเตือนเรื่องนี้ไว้แล้ว คือ ก่อนมีการรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ประมาณ ๔เดือน ผมได้ไปปาฐกถาในวันปรีดีพนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดูเหมือนว่าจะเป็นเดือนพฤษภาคม ผมได้ยก”นิทาน” ขึ้นมาเรื่องหนึ่ง สมมุติว่า มีประเทศหนึ่งใช้ชื่อว่าสารขันธ์ ซึ่งผมยืมชื่อมาจากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ประเทศนี้อยากจะออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ดังนั้น สภานิติบัญญัติของประเทศสารขันธ์ ก็เลยออกกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง จัดตั้ง”สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ”ขึ้นมา ให้มีสมาชิกสภาเป็นแบบสภานา ๆ อาชีพหลายประเภท โดยกำหนดให้มีสมัชชาการเลือกกันเองขึ้นมาตามประเภทของอาชีพที่เกี่ยวข้อง ประเภทละ ๕ คน คือ จะมีตั้งแต่กลุ่มคนที่มีหน้าที่ต่างๆในบ้าน คือ คนครัว แม่บ้าน คนทำสวน ประเภทละ ๕ คน กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน คือ หญิง ๕ คน ชาย ๕ คน เยาวชน ๕ คน แล้วก็มีกลุ่มนักเทคนิคที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านและออกแบบบ้าน คือ วิศวกร และ สถาปนิก ประเภทละ ๑๐ คน รวมทั้งหมดทุกประเภท ก็จะมีสมาชิกของ “สภาออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ” ประมาณ ๕๐ – ๖๐ คน

 

แล้วให้ “สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ” นี้มาช่วยกันออกแบบบ้าน ด้วยการให้สมาชิกออกเสียงโหวตกันด้วยเสียงข้างมาก “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ว่า จะเอาบ้านรูปแบบใด หลังคาจะเอาอย่างไร ประตูจะเอาแบบไหน หน้าต่างจะเป็นอย่างไร ฯลฯ

 

ถามว่า ในผลสุดท้ายเมื่อเอามารวมกันแล้ว “บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ”ของประเทศสารขันธ์ จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าทุกท่านคงจะตอบได้ว่า บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลังนี้คงมีผสมผเส คือ อาจมี “หลังคา”เป็นแบบสเปน “ประตู”เป็นแบบจีน “หน้าต่าง”อาจจะออกมาคล้าย ๆ อังกฤษ ฯลฯ เพราะสภาหรือองค์กรในลักษณะนานาอาชีพนี้ ต่างคนต่างมีความเห็น ต่างคนต่างออกเสียง ; เสียงข้างมากของสภาในแต่ละประเด็นจะออกมาอย่างไร คงไม่มีผู้ใดคาดคะเนล่วงหน้าได้ ; แต่บอกได้อย่างเดียวว่า เมื่อสภาออกแบบบ้าน ฯ ประกอบด้วยสมาชิกนานาอาชีพ ผลก็คือ รูปร่างหน้าตาของบ้าน ฯ ก็คงจะเป็นสัพเพเหระ อย่างละนิด อย่างละหน่อย

 

ผมยกตัวอย่างเรื่องสภาออกแบบบ้าน ฯ นี้ก่อนการรัฐประหาร ๔ เดือน แต่หลังเมื่อมีการรัฐประหารแล้ว เราก็ยังอุตสาห์มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จัดตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญนานาอาชีพ”มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาอีก ; และผมก็คิดว่า “ผลงาน” คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจาก “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญนานาอาชีพ” ก็คงออกมาอย่างสัพเพเหระ และไม่ดีไปกว่า “บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ”ของประเทศสารขันธ์ 

 

ผมถามว่าใครเป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ความจริงผู้ที่ยกร่างก็เป็นนักกฎหมายของเรานี่แหละครับ แต่ใครจะยกร่างก็ไม่สำคัญ เพราะคนที่จะรับผิดชอบนั้นไม่ใช่นักกฎหมาย ; คนที่จะรับผิดชอบ คือ “ผู้ที่ทำการรัฐประหาร” เพราะผู้ที่ทำการรัฐประหาร เป็นผู้ที่นำเอาร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่นักกฎหมายเป็นผู้ร่างนั้น มาประกาศใช้บังคับ 

 

ผู้ที่ทำการรัฐประหารของเรา ขาดความรู้และขาดความสนใจ ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญนั้นจะใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ดังนั้น ภารกิจประการแรกของการรัฐประหาร จึงล้มเหลว

 

จริง ๆ แล้ว ในการร่างกฎหมายในยุคปัจจุบัน ประเทศที่พัฒนาแล้วเขามีระบบบังคับ ให้ผู้ที่ยกร่างกฎหมายจะต้องจัดทำเอกสารประกอบร่างกฎหมาย หรือ Exposé ซึ่งผู้ยกร่างกฎหมายจะต้องอธิบายให้ได้ว่า กฎหมาย มีเป้าหมายอย่างไร และ รูปแบบของกฎหมายที่ตนเองเขียนขึ้นมานั้น จะสามารถทำให้เป้าหมายหรือภารกิจสำเร็จได้อย่างไร ; แต่บังเอิญ ผู้ที่ทำการรัฐประหารของเราในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ไม่สนใจในเรื่องนี้ การยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงไม่ได้มีการตรวจสอบ

 

แต่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งได้แก่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ของเรา สภาร่างรัฐธรรมนูญนานาอาชีพของเราก็อุตส่าห์เขียน Exposé ให้เราเหมือนกัน คือทำเป็น “คำชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่” มีอยู่ประมาณ ๑๐ หน้า ; ถ้าท่านมีโอกาสและมีเวลา ก็โปรดไปอ่านดูได้ ; ผมอ่านดูแล้ว แต่ผมไม่คิดว่า คำชี้แจงสาระสำคัญนี้ จะอยู่ในมาตรฐานที่เป็นคำชี้แจงของผู้เชี่ยวชาญในระดับที่จะมายกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหานี้ ผมได้วิเคราะห์ไว้ในบทความของผมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว 

 

ผมจำได้ว่า ในคำชี้แจงดังกล่าว ขึ้นต้นว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีความมุ่งหมายใน ๔ แนวทาง และแนวทางแรก ที่ปรากฏในคำชี้แจง ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสิทธิเสรีภาพให้มากที่สุด ฯลฯ ซึ่งผมคิดว่า การให้มีเสรีภาพมากที่สุด ไม่ใช่ “เป้าหมาย” ของการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ; การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ จะต้องเริ่มต้นด้วยการทำ”ความเข้าใจ”และวิเคราะห์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับเดิมก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองได้อย่างไร และอะไร คือข้อผิดพลาดของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ฯลฯ ; ผมเห็นว่า ถ้าสภาร่างรัฐธรรมนูญของเราแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และเขียน Exposé อธิบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกมาในระดับนี้ ผมคิดว่า ถ้าแปลออกมาเป็นภาษาต่างประเทศ แล้วเอาไปให้นักกฎหมายของต่างประเทศดู ก็อาจจะเสียชื่อกันไปหมดทั้งประเทศ 

 

ความล้มเหลวอันนี้แหละครับ ที่ทำให้สภาพการเมืองของเรา กลับไปเหมือนเดิมก่อนการรัฐประหาร

 

ตรงนี้ ผมขอขยายความให้ยาวสักเล็กน้อย เพราะถ้าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอีกครั้งหนึ่งข้างหน้า ไม่ว่าจะมีการรัฐประหารหรือไม่ก็ตาม เราจะได้แก้รัฐธรรมนูญได้ดีกว่าครั้งนี้

 

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจะต้องพิจารณาแยกสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ออกเป็นส่วน ๆ และมีประมาณ ๔ – ๕ ส่วน เช่น ส่วนที่หนึ่งเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ส่วนที่สองเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชน ส่วนที่สามว่าด้วยนโยบายของรัฐ และต่อ ๆ ไป 

 

ส่วนที่สำคัญที่สุด หรือส่วนที่เป็น key ของรัฐธรรมนูญ ก็จะได้แก่ “ระบบสถาบันการเมือง” ที่ว่าด้วย สภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติ กับรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี นี่แหละครับ และส่วนสำคัญต่อไป ก็จะเป็นบทบัญญัติว่าด้วยศาล และองค์กรอิสระต่าง ๆ

 

“ระบบสถาบันการเมือง” ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ เรียกว่า Form of Government ซึ่งมีระบบหลัก ๆ อยู่ ๓ -๔ รูปแบบ เช่น ระบบรัฐสภา ซึ่งจะมีทั้งระบบรัฐสภาสมัยใหม่และสมัยเก่า หรือระบบประธานาธิบดี หรือระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์ ; ในการเขียนหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ จะต้องพิจารณาเป็นข้อแรกก่อนสิ่งอื่นใด ก็คือ Form of Government เพราะ Form of Government เป็น รูปแบบของการจัดองค์กรของรัฐ ที่จะใช้ “อำนาจสูงสุด”ในทางการเมือง ; นักกฎหมายรัฐธรรมนูญจะต้องวิเคราะห์หลักการข้อนี้ก่อนว่า จะใช้รูปแบบใหน และจะปรับเปลี่ยนด้วยเหตุผล ที่เรียกว่า rationalization อย่างไร ; ไม่ใช่แก้ไปอย่างสัพเพเหระตามใจชอบด้วยเสียงข้างมากเพื่อความเป็นประชาธิปไตย ตามที่เราทำมาแล้วในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ 

 

ผมขอให้ข้อสังเกตไว้ว่า ตลอดระยะเวลาที่เราทำการร่างรัฐธรรมนูญกันมาเป็นเวลา ๑๒ เดือนตลอดปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา นักกฎหมายทั้งประเทศไทยรวมทั้งผู้ที่มิได้มีส่วนร่วมอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย ไม่เคยพิจารณาและไม่เคยใช้คำว่า Form of Government แม้แต่คนเดียว ; สิ่งเหล่านี้บอก “อะไร” แก่เรา 

 

ผมขอเรียนว่า สิ่งเหล่านี้บอกว่าการสอนกฎหมายมหาชนในมหาวิทยาลัยของเราล้าหลัง และเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลา ๗๐ กว่าปี การสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญของเราล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง 

 

ถ้าเราพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ จากหลักเกณฑ์ของ “Form of Government ” แล้ว เราก็จะทราบได้ทันทีว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ล้มเหลวเพราะเหตุใด และทำไม การเมืองของเราในปัจจุบันของเรา จึงกลับไปสู่ที่เดิมก่อนมีการรัฐประหาร โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาบทบัญญัติอื่น ๆ ของรัฐธรรมนูญในรายละเอียด 

 

Form of Government ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ของเรา เหมือนกับ Form of Government ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ ใช้ “ระบบผูกขาดอำนาจในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” เหมือนกัน และข้อนี้ คือ สาเหตุที่ทำให้การเมืองของเราในปัจจุบันของเรา กลับไปสู่ที่เดิมก่อนมีการรัฐประหาร

 

ทำไมผมจึงเรียก ระบบสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญของเราว่า เป็นการ “การผูกขาดอำนาจในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” ; ผมขออธิบายง่าย ๆ ว่า ใน “ระบบรัฐสภา” หรือ Form of Government นี้ จะมีกลไกหรือหลักการที่เป็น key ของระบบ ที่แตกต่างกับ “ระบบประธานาธิบดี” หรือ “ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวของประเทศสังคมนิยม”

 

ระบบรัฐสภา มีทั้งระบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นระบบ conventional system และ ระบบที่มีการปรับเปลี่ยนแล้ว ที่เรียกว่า rationalized system ซึ่งจะแตกต่างกัน แต่ในที่นี้คงไม่มีเวลาพอที่จะกล่าวถึง ; พูดโดยหลักการแล้ว ใน “ระบบรัฐสภา” จะมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน คือ ถือว่า ใครคุมเสียงข้างมากในสภา คนนั้นเป็นรัฐบาลด้วย ; แต่ข้อที่รัฐธรรมนูญของไทยเรา แตกต่างกับรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นทั่วโลก ก็คือ ใน “ระบบรัฐสภา”ของประเทศอื่นทั่วโลกนั้น เขาไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัด และไม่ให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติของพรรคการเมือง เหมือนกับรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ; เพราะฉะนั้น ตรงนี้แหละครับ ที่เป็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญของประเทศไทย และทำให้ปัญหาการเมืองของประเทศไทยกลับสู่ที่เดิม 

 

ใน “ระบบพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศสังคมนิยม” ซึ่งเป็นระบบผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง เหมือนกับประเทศไทย ; แต่แล้ว เราต้องถามว่า ทำไมผลของการใช้บังคับรัฐธรรมนูญของเขาจึงไม่เหมือนประเทศไทย ; ข้อแตกต่างอยู่ตรงนี้ครับ พรรคการเมืองของเขานั้น “นายทุนนักธุรกิจ”เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ ผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของเขานั้น จะต้องเป็นผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร และนักวิชาการ คือ มีเพียง ๓ อาชีพนี้เท่านั้น ; นอกจากนั้น แม้จะเป็นบุคคลใน ๓ อาชีพนี้ ก็มิใช่ว่าทุกคนจะสามารถจะเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ตามใจชอบนะครับ ผู้ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค จะต้องถูกสกรีนหรือกลั่นกรองโดยระบบพรรคก่อน ; ผู้ที่จะได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกพรรคจะต้องเป็นผู้ที่เสียสละและพิสูจน์ “พฤติกรรม”มาแล้วว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามอุดมการณ์ของพรรค และกว่าที่จะเลื่อนลำดับตำแหน่งภายในพรรค ขึ้นไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคการเมือง ก็จะมีการสกรีนกันหลายชั้น ; และเมื่อได้เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคการเมืองแล้ว จึงจะมีสิทธิเป็นผู้บริหารประเทศระดับสูงตามรัฐธรรมนูญ คือ เป็นประธานาธิบดี หรือเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นประธานสภานิติบัญญัติ ฯลฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญได้

 

ถ้าท่านอ่านหนังสือพิมพ์เมื่อ ๒ – ๓ วันมานี้ ท่านก็จะพบว่า “สภาผู้แทนประชาชน”ตามรัฐธรรมนูญของประเทศจีน เพิ่งเปิดการประชุมเมื่อวันที่ ๓ มีนาคมมานี้เอง และท่านก็จะรู้ว่า หูจินเทา เป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รุ่นที่ ๔ และขณะนี้เป็นประธานาธิบดีของประเทศจีน และประเทศจีนกำลังจะเตรียมเลือกผู้นำพรรค รุ่นที่ ๕ ; และตาม” ชื่อ”ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ บุคคลที่มีโอกาสจะขึ้นไปเป็น “ผู้นำพรรค รุ่นที่ ๕” คนหนึ่ง ก็คือ สีจิ้นผิง ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำจังหวัดเจ๋อเจียง และต่อมาย้ายมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นจังหวัดหรือมณฑลสำคัญของประเทศจีน ; และแม้ว่าจะได้เลื่อนตำแหน่งในคราวนี้ คือ ต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือ ค.ศ. ๒๐๐๘ ก็มิใช่ว่า สีจิ้นผิง จะได้เป็นผู้นำพรรค รุ่นที่ ๕ อย่างแน่นอนนะครับ สีจิ้นผิงยังจะต้องพิสูจน์พฤติกรรมและการกระทำตามอุดมการณ์ของพรรคไปอีก ๕ ปีข้างหน้า คือ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ อันเป็นปีที่หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีจะก้าวลงจากอำนาจ พรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงจะได้พิจารณากันอีกครั้งหนึ่งว่า สีจิ้นผิงจะได้เลื่อนขึ้นเป็นเลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์ และเข้ามาเป็นประธานาธิบดีจีนตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ 

 

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในการปกครองในประเทศสังคมนิยม พรรคการเมืองที่เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ คือพรรคคอมมิวนิสต์ของเขา ; และพรรคของเขาจะเป็นองค์กรที่ “เลือก”ตัวบุคคลที่จะเข้ามาดำรง “ตำแหน่งบริหาร”ตามรัฐธรรมนูญและใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ ; พรรคการเมืองของเขาสกรีนแล้วสกรีนอีกและใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์พฤติกรรมของคน แต่ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองของเราตามรัฐธรรมนูญ ก็คือ ใครมี ” เงิน”ออกทุนในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองได้มาก และทำให้พรรคการเมืองมีจำนวน ส.ส.มากกว่าพรรคอื่น คนนั้นก็เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ คือ เป็นทั้งรัฐบาลและคุม ส.ส.เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ 

 

พูดอย่างง่าย ๆ ก็คือ “ระบบรัฐสภา”ตามรัฐธรรมนูญของเราที่มีการบังคับให้ ส.ส. ของเราต้องสังกัดพรรคการเมือง ฯลฯ เป็นการเอา “อำนาจรัฐ”ทั้งหมดไปขึ้นอยู่กับ จำนวน ส.ส.ของพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ ; “ผู้ใด” มีเงินมากพอจะออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ให้แก่ผู้ที่สมัครใจมาเป็นพรรคพวก รวมทั้งนักวิชาการที่อยากเล่นการเมืองโดยไม่ต้องลงทุน “ผู้นั้น” ก็เอาอำนาจรัฐไป

 

“ระบบรัฐสภา” ผิดกับ ” ระบบประธานาธิบดี” เพราะในระบบประธานาธิบดี จะมีการแบ่งแยกอำนาจจากผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ออกเป็น ๒ ขั้ว หรือ ๒ สาย คือ ขั้วแรก เป็น “อำนาจบริหาร” ที่ประธานาธิบดีเป็นผู้ใช้ โดยประธานาธิบดีจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ซึ่งแยกจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภานิติบัญญัติ และขั้วที่สอง เป็น “อำนาจนิติบัญญัติ” ที่สภานิติบัญญัติเป็นผู้ใช้ โดยสมาชิกของสภานิติบัญญัติต่างคนต่างสมัครรับเลือกตั้งของตนเอง จะสมัครโดยสังกัดพรรคการเมืองก็ได้หรือไม่สังกัดก็ได้ ; ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในระบบประธานาธิบดีนั้น จะไม่สามารถเกิด ” ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง” หริอ “ระบบเผด็จการโดยประธานาธิบดี” ได้เลย และประธานาธิบดีของเขาไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลไปบังคับให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติความต้องการของประธานาธิบดี และพรรคการเมืองของเขาก็ไม่มีอำนาจไปบังคับให้ ส.ส.ต้องปฎิบัติตามมติของพรรค 

 

ผมขอเรียนถามท่านว่า ตามข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ขณะนี้ คือ เมื่อรัฐธรรมนูญของเรา ทั้งรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และฉบับ ปีพ.ศ. ๒๕๕๐ ให้อำนาจแก่ “พรรคการเมือง”ในการบังคับ ส.ส.ที่อยูในสังกัดพรรค ต้องปฏิบัติตามมติพรรค ประการหนึ่ง ; และใน “ระบบรัฐสภา”ที่เราใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญของเรา กำหนดว่า พรรคการเมืองใดมี ส.ส.จำนวนมากที่สุด พรรคนั้นจะได้เป็นรัฐบาล ประการหนึ่ง ; ประกอบกับ สภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอและอ่อนไหวต่อการใช้เงินและอิทธิพลทางสังคม อีกประการหนึ่ง ; รวมกันทั้ง ๓ ประการนี้ ขอถามว่า เมื่อรัฐธรรมนูญวางระบบนี้ลงไป คนมีเงินจะทำ “อะไร” 

 

ผมเห็นว่า คำตอบนั้นง่ายเหลือเกิน เพราะเป็นไปตามพฤติกรรมตามธรรมชาติของคน คือ เมื่อรัฐธรรมนูญวางระบบนี้ลงไป คนมีเงินก็ย่อมรวมทุนกันตั้งพรรคการเมือง เพราะว่าประโยชน์ตอบแทนที่จะกลับคืนมานั้นมหาศาล เนื่องจากเป็นการลงทุนเพื่อเข้ามาครอบครองทรัพยากรของชาติทั้งหมด จะเอาตำแหน่งใดก็ได้ จะออกกฎหมายใด ๆ ก็ได้ จะตั้งใครก็ได้ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะพรรคการเมืองของเรา เป็นทั้งสภาและเป็นทั้งรัฐบาล

 

นี่คือ ความล้มเหลวของ “ภารกิจที่หนึ่ง” ของคณะปฏิรูปการปกครอง หรือนักการเมืองจำเป็น ใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา 

 

ภารกิจที่สอง คือ “การบริหารราชการแผ่นดิน”ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก็จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ในระหว่างที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราลองมาดูว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มอบหมาย ภารกิจนี้ ให้องค์กรใด

 

ผมขอพูดสั้น ๆ ว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ในการบริหารราชการแผ่นดิน เราก็มีอยู่ ๒ องค์กร คือ เรามี “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” และเรามี “รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี” ; สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็เลือกสรรกันมาอย่างหลากหลาย และมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และสำหรับรัฐบาล ก็มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็มาเลือกบุคคลแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีอีกทอดหนึ่ง 

 

ข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ก็คือ สมาชิกสภานิติบัญญัติ ฯ ต่างคนต่างทำงานตามใจชอบของตนเอง และรัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ใครคิดอะไรได้ก็ต่างคนต่างทำ ; แสภานิติบัญญัติฯ กับรัฐบาล ไม่มี “เป้าหมาย”ร่วมกัน และก็ไม่มีใครมากำหนดหรือพูดถึง “ภารกิจเร่งด่วน” ในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่จะต้องทำให้สำเร็จในช่วงเวลาของการรัฐประหาร ที่มีอยู่ไม่นานนัก

 

ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาล ต่างก็บริหารกันไปโดยปราศจาก “เป้าหมาย””ตามที่เห็น ๆ กันอยู่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนใดนึกจะเสนอร่างกฎหมายอะไร ก็ไปรวบรวมเพื่อนฝูงมาร่วมกันลงชื่อเสนอเป็นร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา ฯลฯ ถ้าท่านมีเวลา ท่านอาจลองไปขอดู”บัญชีรายชื่อ” กฎหมายและร่างกฎหมายที่บรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอต่อสภาฯ มาพิจารณาดูก็ได้นะครับ ; ทางฝ่ายบริหาร รัฐมนตรีต่างคนต่างเสนอร่างกฎหมายที่ตนเองชอบ คณะรัฐมนตรีก็เห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง ; ผมเห็นว่า การบริหารประเทศอย่างนี้ ไม่น่าจะเป็นการบริหารประเทศในช่วงที่ประเทศมีปัญหาและมีการรัฐประหาร ด้วยเหตุนี้ ผลงานรัฐบาลในช่วง ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงไม่มีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน 

 

เมื่อผมอ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งจะต้องเป็น”เครื่องมือ” ในการทำภารกิจของผู้ที่ทำการรัฐประหาร ที่ได้ประกาศใช้บังคับ ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ผมจึงสามารถบอกได้ตั้งแต่ต้น คือ หลังจากการรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ได้เพียง ๑๑ วัน ว่า “การรัฐประหาร”ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ จะล้มเหลวอย่างแน่นอน เพราะเห็นได้ชัดว่า รูปแบบของ “องค์กร” ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าว ไม่สามารถทำให้ “ภารกิจ” ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯหรือคณะรัฐประหารควรจะต้องทำได้ ให้สำเร็จลงได้

 

ผมอยากจะเรียนว่า “การบริหารประเทศ”ในช่วงของการปฏิวัติหรือรัฐประหารนั้น มากกว่าและยากกว่าการบริหารประเทศในภาวะปกติ เพราะว่า ประการแรก รัฐบาลและสภานิติบัญญัติ ที่จัดตั้งขึ้นมานั้น มีระยะเวลาทำงานจำกัด และประการที่สอง การที่ประเทศมีปัญหามากมายอยู่ในปัจจุบัน จนถึงกับต้องมี”การปฏิวัติหรือการรัฐประหาร”นั้น ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า กฎหมายซึ่งเป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศจำนวนมากนั้นไม่ดี ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองฯที่รัฐประหารเข้ามา มี “ภาระ”ที่จะต้องแก้กฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ นอกเหนือไปจาก ที่จะต้องบริหารประเทศที่เป็นภาระประจำวันและเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ที่จะต้องทำให้ดีที่สุดและเร็วที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้ 

 

เมื่อ “การบริหารประเทศ”ในช่วงของการรัฐประหารหรือการปฏิวัติ ทั้งยากกว่า มากกว่า และมีเวลาอันจำกัด ดังนั้น ในการเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อจัดองค์กรเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาล คณะปฏิรูปการปกครองฯ จำเป็นจะต้องคิดถึง “ภารกิจ”นี้ไว้ในใจ และออกแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้เหมาะสมกับภารกิจ ; และในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ดี การเลือกตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือแม้แต่เป็นรัฐมนตรีก็ดี การวางระบบการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับรัฐบาลก็ดี คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องกำหนดขึ้น โดยมี “ความมุ่งหมาย”ที่จะทำให้ภารกิจบรรลุผลสำเร็จ และจะต้องอธิบายให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงความตั้งใจดีของคณะปฏิรูปการปกครองฯ 

 

แต่สิ่งเหล่านี้ ปรากฎว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯไม่ได้ทำแต่ประการใด และดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองฯ จึงประสบความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงระยะเวลาของการรัฐประหาร ใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๐

 

สรุปได้ว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ได้ประสบความล้มเหลวในภารกิจทั้ง ๒ ประการ คือ (๑)ไม่สามารถหา”รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯได้รัฐประหารและยกเลิกไปได้ และ (๒)ไม่สามารถแก้ไขหรือวางแนวทางไว้สำหรับการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับ “ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ”หลังจากการรัฐประหารได้ และการล้มเหลวนี้ เป็นการล้มเหลวที่เรียกได้ว่า สมบูรณ์แบบที่สุด

 

ในบทความที่ผมได้เขียนไว้ ผมได้เขียนไว้ว่า เหตุที่ “สภาพการเมือง”เราเป็นเช่นนี้ ก็เพราะเราคิดเพียงว่า “ประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง” และเราคิดได้เพียงเท่านี้ ; ผมมีความเห็นว่า เราคนไทย”คิด”ไม่เป็น และคนไทยไม่ค่อยสนใจวิชา”นิติปรัชญา” ซึ่งเป็นวิชาที่สอนวิธีคิดให้แก่เรา ; และแม้แต่ในการทำรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ซึ่งเป็น Elite กลุ่มสำคัญในระดับสูงของสังคมไทย ก็ยังไม่คิดที่จะกำหนด”เป้าหมาย” ที่เป็นภารกิจที่ควรจะต้องทำให้สำเร็จ

 

มาถึง ตรงนี้ ผมคงต้องขออนุญาตพูดขยายความในตอนนี้ให้ยาวไปอีกเล็กน้อยอีกสักครั้งหนึ่งนะครับ โดยผมจะพูดถึงวิธีคิดและนิติปรัชญาของคนไทย 

 

อะไร คือ “จุดหมาย” ของระบอบประชาธิปไตย เรามักจะคิดกันว่า ถ้ามี “การเลือกตั้ง”แล้ว เราก็เป็นประชาธิปไตย และนักการเมืองที่มาเลือกตั้งของเราก็ย้ำบอกให้เราเชื่ออยู่ทุก ๆ วันตลอดเวลาว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้ว จึงจะเป็นประชาธิปไตย เราคิดของเราอย่างนี้ และผมก็เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านก็ยังคิดอย่างนี้ 

 

ในบทความที่ผมเขียนไว้ ผมอธิบายไว้ว่า “จุดหมาย”ของระบอบประชาธิปไตย คือ การทำให้ “ระบบสถาบันการเมือง” ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และประสานประโยชน์ของปัจเจกชนหรือของเอกชน ให้สอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวม ; นี่ คือ จุดหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และ “จุดหมาย”นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่า “รูปแบบ”ของระบบสถาบันการเมือง หรือ form of government จะเป็นอย่างไร

 

แล้วดังนั้น “การเลือกตั้ง” คืออะไร ; ทำไมนักการเมืองของเราจึงพยายามทำให้เราและคนทั่วไปเข้าใจว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือการเลือกตั้ง ; นักการเมืองของเรา ทำอย่างนี้ เพื่อประโยชน์อะไร

 

การเลือกตั้ง ไม่ใช่ “จุดหมาย”ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ; การเลือกตั้งเป็น “วิธีการ”อันจำเป็น ที่จะต้องมีในการปกครองระบอบประชาธิไตย เพราะ เราต้องเลือกผู้แทนเพื่อให้เข้ามาบริหารประเทศแทนคนจำนวนมาก ที่ไม่สามารถมาใช้อำนาจในการบริหารประเทศพร้อมกันด้วยตนเอง แต่ใน “การบริหารประเทศ”ของผู้แทน ผู้แทนจะต้องบริหารให้เป็นไปตาม “จุดหมาย”ของ การปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ ประโยชน์ส่วนรวมของสังคม 

 

“การเลือกตั้ง” จึงไม่ใช่ “จุดหมาย” ของระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นวิธีการอันจำเป็นที่จะต้องมีในการปกครองระบอบประชาธิปไตย 

 

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า “จุดหมาย”ของระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่วิธีการเลือกตั้งและการที่จะกำหนดให้ผู้ได้รับเลือกตั้งมีอำนาจมากน้อยเพียงใด สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปตาม “จุดหมาย”ของระบอบประชาธิปไตย เช่น ในระบบประธานาธิบดี เราจะแยกอำนาจของประธานาธิบดีและอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรออกจากกัน เพื่อให้เป็นระบบที่การควบคุมและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ก็สามารถทำได้

 

ในการกำหนด form of government หรือ รูปแบบของระบบสถาบันการเมือง จึงเป็นศิลปะของกฎหมายมหาชน ที่จะต้องทำให้กลไกหรือระบบสถาบันการเมืองที่จำต้องมีการเลือกตั้งนั้น ทำ”หน้าที่”ไปสู่จุดหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และมีการประสานประโยชน์ปัจเจกชนให้สอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวม 

 

“จุดหมาย”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก้บ “การเลือกตั้ง”ในการปกครองในระบอบประชาธิไตย ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ; นักการเมืองนายทุนธุรกิจของเรา ไม่ต้องการให้เรามี “ความรู้”ในเรื่องนี้ เพราะเขารู้ว่า ถ้าเรามีความรู้เรื่องนี้แล้ว เราคนไทยก็อาจจะแก้ไข รัฐธรรมนูญ ไม่ให้มี “ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐ โดยพรรคการเมือง ที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจเจ้าของเงินทุน”

 

สิ่งที่เราจะต้องทำ คือ ทำความเข้าใจให้ดีว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ “จุดหมาย”ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เราจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนมาบริหารประเทศ แต่เราต้องมี “ความรู้”พอที่จะปรับวิธีการเลือกตั้งและขอบเขต “อำนาจ”ของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมานั้น เพื่อให้เขาทำหน้าที่ที่ทำให้ “จุดหมาย”ของการปกครองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั้น เป็นผลสำเร็จ ; ซึ่งแน่นอนว่า “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” ย่อมไม่สามารถทำให้จุดหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยบรรลุผลได้ เพราะการขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ตามพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์

 

ปัญหาอยู่ที่ว่า เรามี “ความรู้”พอที่จะปรับเปลี่ยน ที่เรียกว่า rationalization ระบบสถาบันการเมือง เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายได้ หรือไม่ และนี่ คือปัญหาของเรา

 

ดังนั้น ถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ หรือคณะรัฐประหารประสงค์จะทำให้ประเทศไทยออกนอกวงจรแห่งความเสื่อม vicious circle คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ จำเป็นจะต้องรู้ในสิ่งเหล่านี้และต้องมีความสามารถพอที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการปรับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง ให้มีอำนาจหน้าที่คานกันและสมดุลกันให้ได้ ไม่ใช่เอา “อำนาจรัฐ”นั้น ไปขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในสภาที่มาจาก “การเลือกตั้ง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งของประเทศไทย ที่สภาพสังคมของเรามีความอ่อนแอ ที่คนส่วนใหญ่ยังยากจนและตกอยู่ภายไต้อิทธิพลของการใช้เงินที่สามารถซื้อเสียงได้ ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่แตกต่างกับสภาพสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ประชาชนของเขามีประสบการณ์ทางการเมืองจากวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ; ถ้าตราบใดที่เรายังมีระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจอยู่อย่างนี้ เราก็คงออกนอกวงจรแห่งความเสื่อมเดิม ๆ ไปไม่ได้ 

 

ผมเปรียบเทียบไว้ว่า การเขียนรัฐธรรมนูญของเราที่สร้างระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลก เปรียบเหมือนกับเป็นการเอา “ปลาย่าง”ไปวางไว้ให้แมว แล้วไปสร้างกลไกและองค์กรอิสระให้มาคอยไล่จับแมวที่มากินปลาย่าง แทนที่จะไปคิดและเขียนรัฐธรรมนูญทำให้ปลาย่างไม่ให้เป็นปลาย่าง เหมือน ๆ กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ; ดังนั้น เราจะเห็นว่าเมื่อเราวาง “ปลาย่าง”ไว้อย่างนี้ ผลก็เป็นอย่างนี้ ; ปัจจุบันนี้เราพยายามไล่จับแมวกันยกใหญ่ แต่ไม่เคยมีใครไปมองว่าความผิดพลาดอยู่ที่ “เป้าหมาย”ของแมวที่จะมากิน คือ ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ; อย่างนี้ ผมเห็นว่า เราไม่มีทางที่จะไปจับแมวได้หมด และในที่สุด กลไกและองค์กรอิสระที่จะจับแมวเหล่านี้ ก็จะถูกแมวกัดตายหมด ; ผมคิดว่า เท่าที่พูดมานี้ ท่านคงจะพอเข้าใจปัญหาการเมืองของประเทศไทย ในขณะนี้ได้

 

ปัญหาการเมืองของประเทศไทยข้างหน้านี้ เป็นปัญหาใหญ่ ; ผมมองว่า คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ มีโอกาสแล้ว แต่ไม่มีความรู้และไม่มีความเสียสละพอ ซึ่งเป็นเหตุให้เราต้องกลับมาสู่ที่เดิมอีกครั้ง ใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ คือ ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ ; และผมก็ไม่ทราบว่า ข้างหน้าเราจะมีโอกาสออกจากวงจรนี้ได้หรือไม่ เพราะคนที่มีอำนาจแล้วจะไม่สละอำนาจของตนเอง 

 

ถ้าหากเราไม่รู้และยังไม่สนใจที่จะแสวงหาความรู้และศึกษาแนวทางที่จะออกจากวงจร ผมเองก็ไม่ทราบว่า จะทำอย่างไร ขณะนี้ ผมคิดว่าเราถูกหลอกตลอดเวลา ; ท่านลองอ่านหนังสือพิมพ์ทุก ๆ วัน แล้วดูว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง มีข่าวว่า จะตั้ง “สหภาพข้าราชการ”เพื่อป้องกันการเมืองแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการประจำที่สุจริตที่ไม่ยอมรับใช้นักการเมือง มีการพยายามที่จะไปเซ็นชื่อขับไล่รัฐมนตรี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่”สาเหตุ”ของปัญหา ; สาเหตุจริง ๆของปัญหา อยู่ที่การผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจในระบบรัฐสภา ; เราไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ ด้วยการไล่ตามแก้สิ่งที่เป็น “ผล”ของระบบการผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมือง เพราะแก้อย่างไรก็ไม่หมด ปัญหาข้างหน้ายังจะตามมาอีกมากมาย 

 

การที่จะปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ ผมคิดว่า ประการแรก คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ หรือใครก็ตามที่จะเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ จะต้องมี “ความรู้” คือ รู้ว่า ความเสื่อมของการบริหารประเทศเกิดจากอะไร อะไรเป็นสาเหตุ และนอกจากนั้น ยังจะต้องรู้ถึงวิธีการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยว่า จะแก้ได้อย่างไร ; และเมื่อรู้แล้ว ในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดยมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติชั่วคราวและรัฐบาลชั่วคราว คณะรัฐประหารหรือใครก็ตามที่จะมาแก้ปัญหาประเทศ จะต้องกำหนดเป้าหมายและทำให้เกิดการประสานงานระหว่างสภาชั่วคราวกับรัฐบาลชั่วคราวเพื่อให้องค์กรทั้งสอง ทำงานไปสู่เป้าหมาย ไม่ใช่ให้ต่างคนต่างทำ 

 

จริงๆ แล้ว คณะปฏิรูปการปกครอง ฯจะต้องเป็นแกนกลางและกำหนดเป้าหมายไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ชัดเจนว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร และให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ด้วยว่า เป้าหมายของการบริหารประเทศชั่วคราวนั้น คือ อะไร และคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ต้องการจะทำอะไรและทำอย่างไร เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผล 

 

และในขณะเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ จะต้องมีความเสียสละ และแสดงความเสียสละให้ปรากฏให้ประชาชนได้เห็น ; ความเสียสละ คืออย่างไร ผมก็เขียนไว้ในบทความที่กล่าวถึงแล้ว ; ความเสียสละมีอยู่ ๒ อย่าง ; ข้อที่หนึ่ง ก็คือ คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ จะต้องบอกว่า คณะปฏิรูปการปกครอง จะไม่สืบทอดอำนาจ คือ เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองทำสำเร็จตามภารกิจที่กำหนดไว้แล้ว จะต้องวางกลไกไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะดำเนินการแก้ปัญหาของประเทศต่อไปไปได้โดยอัตโนมัติ ; ข้อที่สอง ก็คือ ในระหว่างที่คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ใช้อำนาจบริหารประเทศเป็นการชี่วคราวในระหว่างการรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองจะต้องบริหารประเทศด้วยความโปร่งใส (Transparency) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายมหาชนยุคใหม่ที่จะต้องมีการกำหนด “วิธีการใช้อำนาจ” ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส โดยคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ จะต้องไม่หาประโยชน์ให้แก่ตนเอง 

 

เมื่อใดที่ คณะปฏิรูปการปกครองมีความเสียสละทั้ง ๒ ประการนี้ คณะปฏิรูปการปกครอง ก็จะปฏิรูปการเมืองให้คนไทยได้สำเร็จ ; แต่ถ้าคณะปฏิรูปการปกครอง ฯหรือใครก็ตามที่รับอาสามาแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่แสดงความเสียสละสองอย่างนี้ให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไป ประชาชนทั่วไปก็จะไม่เชื่อถือ และนอกจากนั้น ก็ยังจะถูกฝ่ายตรงกันข้ามที่เสียประโยชน์ พยายามจะทำลายคณะปฏิรูปการปกครองหรือใครก็ตามที่เข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ ด้วยการไปแสวงหาเรื่องราวที่ดิสเครดิตคณะปฏิรูปการปกครอง ฯลฯ ไม่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ และไม่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นเรื่องใหญ่ หรือเรื่องเล็กน้อย เช่น การมีภริยาสองคนของผู้ที่ศาสนามุสลิม เป็นต้น

 

เท่าที่กล่าวมานี้ เป็นอันจบสาระของตอนแรก ที่ผมตั้งใจจะพูด คือ เรื่องความล้มเหลวของการบริหารประเทศในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เมื่อ ๑ ปี ๓ เดือนที่ล่วงมาแล้ว ; และผู้ที่ต้องรับผิดชอบในความล้มเหลวครั้งสำคัญนี้ ก็คือ โดย Elite ที่เข้ามาบริหารประเทศด้วยการรัฐประหาร ที่ผมเรียกว่า เป็น “นักการเมืองจำเป็น” ที่อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศ แต่ขาดความรู้และความเสียสละ ; และอันที่จริง สาระในส่วนนี้ ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด จะเป็นส่วนที่ผมได้เขียนไว้ในบทความและลงเว็บไว้แล้ว ผมเพียงแต่เอามาสรุปย่อ ๆ เป็นตอน ๆ ให้ท่านฟัง ; ส่วนสาระที่ผมจะพูดต่อไป จะเป็นส่วนที่ผมกำลังจะเขียนเป็นบทความในตอนต่อๆ ไป แต่ยังไม่ได้เขียน ก็ขอเอามาเล่าเป็นการล่วงหน้าก่อน

 

Elite กลุ่มต่าง ๆ ของสังคมไทย ที่มีบทบาทในทางการเมืองของไทยอยู่ในปัจจุบัน

 

ต่อไปนี้ จะเป็น “สาระ”ในตอนที่สอง ว่าด้วย Elite กลุ่มต่าง ๆ ของสังคมไทย ที่มีบทบาทในทางการเมืองของไทยอยู่ในปัจจุบัน คือ นับตั้งแต่ปีนี้ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นไป ; และตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ถ้าอยากทราบอนาคตของประเทศ ก็จะรู้ได้จากการศึกษา “พฤติกรรม” ของ Elite ในปัจจุบัน

 

ในประเทศฝรั่งเศส หลังจากเกิดมิคสัญญีเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน นักประวัติศาสตร์ของเขาวิเคราะห์ไว้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดมาจาก Elite ๒ จำพวก คือ กลุ่มแรกได้แก่ พวก “นักกฎหมาย”ที่เป็นผู้พิพากษา ที่เรียกว่า parlementaires และกลุ่มที่สองได้แก่ กลุ่ม “นักวิชาการประเภท The Philosophes” ที่สนใจสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน แต่ไม่สนใจการแก้ปัญหาของสังคม ; สำหรับของไทยเราในปัจจุบัน Eliteที่เป็นพื้นฐานสังคมมีอยู่ ๓ จำพวก ซึ่งได้แก่ (๑)นักกฎหมาย (๒) นายทุนธุรกิจที่เป็นนักการเมือง และ (๓)นักวิชาการประเภท The Philosophes ; ซึ่งจะเห็นได้ว่า Elite ที่มีบทบาททางการเมืองของเรามีมากกว่าประเทศฝรั่งเศสหนึ่งจำพวก การที่ประเทศไทยมีมากกว่าฝรั่งเศส ก็เพราะการเมืองของไทยในปัจจุบัน เรามี “นายทุนธุรกิจ” เจ้าของพรรคการเมือง ที่เข้าผูกขาดอำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเทศฝรั่งเศสไม่มี

 

เราลองมาประเมินดูว่า Elite ๓ จำพวกหรือ ๓ประเภทของเรา มีสภาพเป็นอย่างไร ; Elite แต่ละจำพวกหรือแต่ละประเภท จะช่วย”แก้”ปัญหา หรือจะช่วย”สร้าง”ปัญหา ให้แก่คนไทย โดยผมจะให้ความเห็นของผมอย่างรวบรัดให้สั้นที่สุด ; สำหรับรายละเอียด ผมจะไปเขียนเป็นบทความ

 

นักกฎหมาย

 

เราเริ่มต้นดูจาก Elite กลุ่มแรก คือ “นักกฎหมาย”ก่อน ผมแยกนักกฎหมายออกเป็น ๒ พวก พวกแรกได้แก่นักกฎหมายทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็น ตุลาการ ผู้พิพากษา อัยการ หรือนักกฎหมายอะไรก็ได้ และนักกฎหมายพวกที่สอง ได้แก่ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่สันนิษฐานว่า จะเป็นผู้ที่ช่วยเขียนหรือออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เรา

 

สำหรับนักกฎหมายทั่วไป ผมจะขอประเมินคุณภาพโดยพิจารณาจาก “วิธีคิด”ของนักกฎหมายของเราว่า นักกฎหมายของเราใช้กฎหมาย บนพื้นฐานของหลัก “นิติปรัชญา”ในยุคศตวรรษที่ ๒๐ หรือว่า ยังติดอยู่กับความคิดเดิม ๆ เมื่อ ๒๐๐ – ๓๐๐ ปีก่อน ; เพราะผมเห็นว่า “วิธีคิด”ของนักกฎหมาย เป็นเครื่องชี้วัด “คุณภาพ”ของนักกฎหมาย ; ผมจะวิเคราะห์พฤติกรรมของนักกฎหมายที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ ให้แก่สังคม คือ การเขียนหรือการออกแบบกฎหมาย การตีความกฎหมาย หรือการใช้กฎหมาย the application of laws ในด้านต่าง ๆ ; และศึกษาดูว่า ในการทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ นักกฎหมายของเราได้คำนึงถึง “จุดหมาย – purpose” ของกฎหมาย มากน้อยเพียงใด

 

ผมมีความเห็นว่า การที่นักกฎหมายของเรา ชอบตีความแบบศรีธนนชัยก็ดี หรือนำกฎหมายมาใช้โดยทำตัวเป็นนิติบริกรเพื่อให้บริการแก่นักการเมืองก็ดี เป็นเพราะนักกฎหมายเราใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึง purpose ของกฎหมาย ; นอกจากนั้น เพราะการที่หนังสือตำรากฎหมายของเรา ที่ยังคงอ้างถึง Montesquieu หรือ Hobbes หรือ Locke หรือ Rousseau เช่น “หลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย” หรือ “สัญญาประชาคม” ในลักษณะที่ทำให้นักศึกษากฎหมายของเรา เข้าใจว่า แนวความคิดดังกล่าว เป็นแนวความคิดในปัจจุบัน มากกว่าที่จะอธิบายให้นักศึกษากฎหมายเข้าใจว่า ความคิดของบุคคลดังกล่าวเป็นวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และด้วยเหตุนี้ เราจึงยังมีนักกฎหมายจำนวนมากที่ยังหลงติดยึดอยู่กับแนวความคิดหรือนิติปรัชญาเดิม ๆ เมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน โดยไม่รู้ว่าความคิดของตนเองล้าหลังไปแล้ว ๑๐๐ – ๒๐๐ ปี ; ท่านในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ลองพิจารณาทบทวนความจำจากเรื่องที่ท่านได้ผ่าน ๆ มาก็ได้ ว่า สิ่งที่ผมพูดนี้ มีความจริงมากน้อยเพียงใด 

 

ผมขอเรียนว่า นิติปรัชญาในยุค ๒๐๐ ปีที่ผ่านมานี้ได้เปลี่ยนไปจากแนวความคิดเดิม ๆ ไปหมดแล้ว “นิติปรัชญา”ในยุครุ่นหลังนี้ เป็นแนวความคิดกฎหมายเชิงสังคมวิทยา Sociological Approaches เช่น เมื่อนักกฎหมายพูดถึงคำว่า “ประชาชน” นักกฎหมายจะต้องนึกถึง “ประชาชน”บนพื้นฐานของสังคมวิทยา คือ ประชาชนเป็นกลุ่มชนที่มีพฤติกรรม แบ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ และแต่ละกลุ่มต่างมีผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง ; ซึ่งหมายความว่า ความหมายของคำว่า “ประชาชน”ในปัจจุบันนี้ ไม่เหมือนกับ ความหมายของ”ประชาชน”ในยุคที่มีการเรียกร้องการปกครอง “ระบอบประชาธิปไตย” ใน สมัย Montesquieu ” เมื่อ ๒๕๐ ปีก่อน คือ ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกยังปกครองกันด้วย”ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช” ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสิทธิขาด และในระยะนั้น เรากำลังคิดว่า จะจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ลงได้อย่างไร ; ดังนั้น ถ้านักกฎหมายของเรายังมี”วิธีคิด”เหมือนเก่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช หรือสมัย Montesquieu หรือนักปราชญ์ในยุคนั้น ก็แสดงว่า นักกฎหมายของเรามี “วิธีคิด” ล้าหลังอย่างน้อย ๑๕๐ ปี ; และในปัจจุบันนี้ “โจทก์”ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว โจทก์ทางการเมืองในปัจจุบัน ได้แก่ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง”ไม่บริหารประเทศให้เป็นไปตาม “จุดหมาย”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการทุจริดคอร์รัปชั่นของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 

 

Jhering (เยียริ่ง) คือ นักนิติปรัชญาที่ถือกันว่า เป็น”บิดา”ของแนวความคิดนิติปรัชญาเชิงสังคมวิทยาแห่งยุคศตวรรษที่ ๒๐ ได้บอกเราเมื่อ ๑๕๐ ปีมาแล้วว่า “กฎหมาย”มาจากพื้นฐานของสังคม – society ซึ่งก่อนหน้านั้น แนวความคิดทางนิติปรัชญามิได้คิดถึงเงื่อนไขของกฎหมายจากด้านพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ ; ผมได้เขียนไว้ในบทความแล้วว่าสังคมวิทยาเกิดขึ้นเพราะ Auguste Comte ท่านผู้นี้เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า Sociology และหลังจากนั้น แนวความคิดของนิติปรัชญาเชิงสังคมวิทยาก็ตามมา และกลายเป็น “วิธีคิด”ของนักกฎหมายยุคใหม่ 

 

การเขียนกฎหมาย และการตีความกฎหมาย ถ้าไม่คำนึงถึงพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว การใช้กฎหมายนั้นก็จะล้มเหลว ; ในระยะ ๑๕๐ ปีที่ผ่านมา นิติปรัชญาเชิงสังคมวิทยาได้ทำให้การเขียนกฎหมายกลายเป็นเทคโนโลยีของการจัดองค์กรและกลไกของรัฐในการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ เพื่อให้กฎหมายมีผลในทางปฏิบัติตาม “จุดหมาย”ของการตรากฎหมาย คือ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และทำให้การตีความกฎหมาย เป็นเครื่องมือของการอุดช่องว่างของกฎหมาย

 

บางท่านอาจจะเคยได้ยินมาแล้วว่า บทกฎหมายพัฒนาไม่ทันกับพฤติกรรมของคน บางท่านอาจจะเคยได้ยินนักนิติปรัชญาในยุคนี้บางคนกล่าวว่า ในสังคมเรามี Living Law ที่มิใช่ตัวบทกฎหมาย และนักกฎหมายมีหน้าที่ต้องเขียนกฎหมายลายลักษณ์อักษรให้ทันกับวิวัฒนาการของ living Law แต่ถ้ากฎหมายลายลักษณ์อักษรตามไม่ทัน living law แล้ว เรานักกฎหมายในยุคปัจจุบัน จะทำอย่างไร : และแน่นอน ในหลาย ๆครั้ง ตัวบทกฎหมายก็ไม่ชัดเจนด้วยเหตุหลาย ๆ เหตุ ซึ่งทำให้ต้องมีการตีความกฎหมาย ; ปัญหามีว่า “นักกฎหมาย”ที่มีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม นักกฎหมายจะทำหน้าที่นี้อย่างไร 

 

นักกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วได้สร้าง “หลักกฎหมายทั่วไป – the general principle of law ” ขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่างของบทกฎหมายไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่บอกว่าไม่มีตัวบทแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้ ; ผมคงไม่ต้องบอกว่า “การอุดช่องว่างของกฎหมาย”คืออะไร และนักกฎหมายมหาชนของประเทศที่พัฒนาแล้วได้สร้าง “หลักกฎหมายทั่วไป”ขึ้นมาได้อย่างไร เพราะท่านคงทราบดีอยู่แล้ว ; “กฎหมายมหาชน” ไม่ใช่กฎหมายอาญา ; “กฎหมายมหาชน” ได้แก่กฎหมายปกครอง – administrative law และ กฎหมายรัฐธรรมนูญ – constitutional law ; ถ้าในกฎหมายแพ่ง ศาลแพ่งมีอำนาจหน้าที่ในการอุดช่องว่างของกฎหมายแพ่งได้ ศาลปกครองก็มีอำนาจหน้าที่ในการอุดช่องว่างของกฎหมายปกครองได้เช่นกัน

 

ตามความจริง หลักกฎหมายที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมหรือหลักการที่ว่าทุกคนจะต้องใช้สิทธิโดยสุจริต เหล่านี้ คนทั่วไปได้รับรู้และถือว่ามีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้เขียนเป็นตัวบทไว้ให้ครบถ้วนในทุกกรณีเท่านั้น ; ตรงนี้แหละครับ ที่ “คุณภาพ” ของนักกฎหมายของเราแตกต่างกับนักกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว

 

ผมเชื่อว่า ใน “การใช้กฎหมาย”ของนักกฎหมายของเราส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน นักกฎหมายของเราไม่ได้คิดถึงพฤติกรรมทางสังคมวิทยาของคนหรือของชุมชน สิ่งเหล่านี้ขาดหายไปจากความคิดของนักกฎหมายของเรา ; นักกฎหมายของเราไม่เคยคิดว่า พฤติกรรมทางสังคมวิทยาของคน เป็นเงื่อนไขของกฎหมาย ; “ผล”ที่เกิดจากการที่นักกฎหมายของเราขาดคุณสมบัติในเรื่องนี้ ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือ ทำให้นักกฎหมายของเราออกแบบและเขียนกฎหมายไม่เป็น ; ผมไม่เข้าใจว่า นักกฎหมายของเราเขียนรัฐธรรมนูญ จนเกิด “ระบบผูกขาดอำนาจในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ “ขึ้นมาได้อย่างไร โดยที่เราเป็นประเทศเดียวในโลกที่เขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้ ไม่มีประเทศไหนเขาเขียนกัน และเราก็เขียนกันมาซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายฉบับ ทั้ง ๆ ที่ผลเสียของระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจก็เห็น ๆ กันอยู่ แต่เราก็ยังคิดว่า นี่คือ “ประชาธิปไตย”

 

Roscoe Pound (รอสโค พาวด์) บอกว่า งานของกฎหมายเป็นงานวิศวกรรมทางสังคม – social engineering และนักกฎหมายเป็น วิศวกรสังคม – social engineer แต่นักกฎหมายของเราโดยทั่วๆไปยังคงเป็นศรีธนญชัย ตีความกฎหมายโดยเล่นถ้อยเล่นคำ โดยไม่มี “จุดหมาย”ของกฎหมายกำกับ ; นักกฎหมายของเราเขียนกฎหมายไม่เป็นและใช้กฎหมายไม่เป็น เพราะนักกฎหมายของเราใม่สนใจนิติปรัชญา 

 

ผู้เขียนเคยเปรียบเทียบไว้ว่า การเรียนวิชา “นิติปรัชญา”เหมือนกับเราเรียนวิชาว่ายน้ำ นักศึกษากฎหมายที่เรียนนิติปรัชญาและสอบได้ร้อยคะแนนเต็ม เพราะเขียนคำตอบได้เหมือนตำรา แต่ไม่ได้หมายความว่านักศึกษากฎหมายนั้นเก่งนิติปรัชญา ; ตำราว่ายน้ำก็เหมือนกัน นักศึกษากฎหมายเขียนคำตอบข้อสอบเหมือนตำราและได้คะแนนเต็ม แต่เมื่อนักศึกษานั้นกระโดดลงน้ำแต่ว่ายน้ำไม่เป็น และนักศึกษาอาจจมน้ำตาย 

 

นิติปรัชญาไม่ได้เรียนเพื่อท่องสอบเอาคะแนน แต่นักกฎหมายเรียนนิติปรัชญาเพื่อทำให้ “วิธีคิด”ทางนิติปรัชญา ให้กลายเป็นคุณสมบัติประจำตัวของนักกฎหมายเอง ; เมื่อนักกฎหมายจะใช้กฎหมาย นักกฎหมายจะต้องดู”จุดหมาย”ของกฎหมายและตรวจดูพฤติกรรมและสภาพทางสังคมวิทยาของคนที่เกี่ยวข้อง และ เมื่อนักกฎหมายทำตัว เอง ให้มีหลักการของนิติปรัชญาแล้วหนหนึ่ง ก็เหมือนกับนักกฎหมายทำตัวเองให้ว่ายน้ำเป็น และเมื่อว่ายน้ำเป็นแล้ว นักกฎหมายก็จะว่ายน้ำเป็นตลอดไป แต่ถ้านักกฎหมายไม่มีนิติปรัชญา นักกฎหมายก็เป็นศรีธนญชัย เพราะนักกฎหมายไม่มีเป้าหมายของกฎหมายในการใช้กฎหมายและในการตีความกฎหมาย และดังนั้น ก็เลยไม่รู้ว่าจะใช้เกณฑ์อะไรมาเป็นเครื่องวัดความถูกต้องและความเป็นธรรม 

 

วิธีคิดทางนิติปรัชญา จึงเป็น “เครื่องวัด”สภาพล้าหลังของนักกฎหมาย และดูเหมือนว่า สภาพของนักกฎหมายทั่วๆไปของเราในปัจจุบัน จะยังคงติดอยู่กับนิติปรัชญาเก่า ๆในทางประวัติศาสตร์ ที่ผ่านพ้นเวลาของการใช้ประโยชน์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี ; ถ้าท่านสนใจในนิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๒๐ ท่านก็อาจไปอ่านได้จากบทความของผมที่อยู่ในเว็บ ซึ่งผมย่อไว้ให้แล้ว รวมทั้งแนวความคิดของนักนิติปรัชญายุคใหม่ ที่สำคัญ ๆ

 

สำหรับนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งนักกฎหมายที่อ้างตัวเองว่าเป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผมจะขอประเมินคุณภาพจาก “ความรู้”ของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยพิจารณาว่านักกฎหมายรัฐธรรมนูญของเรา มีความรอบรู้เกี่ยวกับการวิวัฒนาการของรูปแบบของ “ระบบสถาบันการเมือง หรือ Form of Government ” มากน้อยเพียงใด เพราะถ้านักกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่มีความรอบรู้ในเรื่องนี้แล้ว ก็เป็นอันสรุปเป็นข้อยุติได้ว่า นักกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย ไม่มีความสามารถพอที่จะเขียนหรือออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เราได้ เพราะขาดความรู้พื้นฐาน

 

ดังนั้น ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา ตลอดปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งในสภาร่างรัฐธรรมนูญและนอกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเวลาปีกว่า ผมติดตามประเด็นนี้มาโดยตลอด และ เมื่อไม่ปรากฎว่า มีนักกฎหมายและนักวิชาการคนใด พูดถึงเรื่อง Form of Government แม้แต่คนเดียว ก็เป็นข้อเท็จจริงที่บอกอยู่ในตัวว่า การสอน “กฎหมายมหาชน”ในมหาวิทยาลัยของเราล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั่วโลก ” Form of Government ” จะต้องเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณากันเป็นอันดับแรก เพราะเป็นประเด็นที่จะกำหนดว่า สถาบันการเมืองใดจะใช้อำนาจรัฐอย่างไร มีขอบเขตเพียงใด และมีระบบการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองอย่างไร จะควบคุมและกำกับ “พฤติกรรม”ของบุคคลที่มีใช้อำนาจรัฐได้อย่างไร ฯลฯ ; ถ้านักกฎหมายรัฐธรรมนูญของเราสร้างหรือออกแบบ Form of Government ไม่เป็นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปพูดถึงประเด็นอื่น

 

โดยสรุป ผมเห็นว่า ประเทศเราไม่มี “นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ”ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ เป็น professional มีแต่มือสมัครเล่น และเมื่อสรุปโดยรวมแล้ว สำหรับ Elite ประเภทแรกของเรา คือ “นักกฎหมาย “เท่าที่ประเมินมาแล้ว ผมมีความเห็น ไม่อยู่ในสภาพที่จะทำ”หน้าที่”พัฒนาสังคมให้แก่คนไทย 

 

นักการเมืองนายทุนธุรกิจ

 

Elite กลุ่มที่สอง คือ “นักการเมืองนายทุนธุรกิจ” ซึ่งผมก็จะขอพูดอย่างสั้นๆ ; ขณะนี้ เราแยกพรรคการเมืองออกเป็นสองฝ่าย คือ พรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ทั้งนี้ โดยผมจะไม่ระบุ ” ชื่อ”พรรคการเมืองแต่อย่างใด 

 

ผมขอเรียนว่า จากพฤติกรรมที่แสดงออก ทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ดูเหมือนว่า ทุกพรรคการเมืองต่างต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” ทั้งสิ้น ; ดังนั้น จะแก้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเรื่องใดก็ได้ แต่นักการเมืองของเราขออย่าแก้ “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” ก็แล้วกัน ; ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

 

วันหนึ่งเมื่อ ๓ – ๔ เดือนที่ผ่านมา ผมหยิบหนังสือพิมพ์มาอ่าน พบว่าพรรคฝ่ายค้านแถลงว่า พรรคฝ่ายค้านได้จัดตั้ง “รัฐบาลเงา”ประกบกับรัฐบาล เพื่อจะได้ติดตามการบริหารประเทศของพรรครัฐบาลอย่างใกล้ชิด และหวังว่าในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า พรรคฝ่ายค้านจะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและจะได้เป็นรัฐบาล 

 

เราลองมาพิจารณาดูว่า ทำไมนักการเมืองในพรรคการเมืองต่าง ๆ ของเรา จึงชอบระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ ผมขออธิบายอย่างง่าย ๆว่า

 

“ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” เกิดจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเรา ๓ – ๔ มาตราที่กระจัดกระจายกันอยู่ ถ้าไม่อ่านและไม่พิจารณารวมกันก็จะมองไม่เห็นระบบเผด็จการหรือระบบผูกขาดอำนาจนี้ ; ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญของประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่เขาเขียนไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า ระบอบการปกครองของเขา จะบริหารโดยชนชั้นนำจาก ๓ ประเภท คือ แรงงาน เกษตรกรและนักวิชาการ เท่านั้น ; แต่ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย บทบัญญติมาตราหนึ่ง จะบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง บทบัญญัติอีกมาตราหนึ่ง ให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ สส. ต้องทำตามมติพรรค ยกเว้นเรื่องบางเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และบทบัญญัติอีกมาตราหนึ่ง กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง คือ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น ; หมายความว่า ถ้านายทุนเอาเงินมารวมทุนกันจัดตั้ง “พรรคการเมือง” แล้วออกเงินค่าใช้จ่ายให้พรรคพวก ไปสมัครรับเลือกตั้งในขณะนี้ คือ ในขณะที่สังคมไทยมีความอ่อนแอและอ่อนไหวต่ออิทธิพลการใช้เงิน และเมื่อได้ ส.ส. จำนวนมาก นายทุนเจ้าของทุนของพรรคการเมืองเหล่านี้ก็จะได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาล เพราะเขียนรัฐธรรมนูญจำกัดไว้ให้ตัวเองแล้วว่า คนอื่นที่ไม่ใช่ ส.ส.จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ซึ่งบทบัญญัติจำกัดเช่นนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว ; นอกจากนั้น ยังไม่พอ ถ้าปรากฏว่า ส.ส.ที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากนายทุนธุรกิจเจ้าของพรรคการเมือง ไม่เชื่อฟังหรือหักหลังเจ้าของทุน และพรรคการเมืองมีมติไล่ออกไปจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองแล้ว ก็ยังเขียนรัฐธรรมนูญให้ “การออกจากสมาชิกพรรคการเมือง”นั้น มีผลทำให้ ส.ส.คนนั้นต้องพ้นจากสมาชิกภาพของการเป็น ส.ส. ไปด้วย 

 

ผมขอเรียนว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญของประเทศเสรีประชาธิปไตยใด ที่เขียนรัฐธรรมนูญเหมือนประเทศไทย และ อย่าว่าแต่รัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติทั้ง ๓ มาตรานี้รวมบัญญัติไว้ด้วยกันเลยครับ แม้แต่รัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญํติเพียงมาตราเดียว ไม่ว่าจะเป็นมาตราใดมาตราหนึ่งใน ๓ มาตราดังกล่าว ก็ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศเสรีประชาธิปไตย 

 

แต่ทำไมพรรคการเมืองของเราทุกพรรคจึงชอบระบบนี้อยู่ คำตอบก็คือ ทุกพรรคการเมืองต่างก็มี “นายทุนธุรกิจ” เป็นเจ้าของทุนของพรรค และคาดหวังว่าตนเองจะได้มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นรัฐบาลบ้าง ดีกว่าการเลิกระบบที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และเปิดโอกาสให้ “คนที่ไม่มีเงิน”มาเลือกตั้งแข่งกับพรรคการเมืองของตน

 

มี”ข้อเท็จจริง”ที่น่าศึกษาและน่าวิเคราะห์เกี่ยวกับ “พฤติกรรม”ของ Elite ประเภทนักการเมืองนายทุนธุรกิจอยู่กรณีหนึ่ง ที่นักวิเคราะห์ไม่ควรจะผ่านไป คือ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๓ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคหนึ่งที่คาดหวังว่าตนเองจะได้เป็นรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามที่มีเงินทุนมหาศาลได้เพลี่ยงพล้ำทางการเมืองเพราะถูกรัฐประหาร และดังนั้น เพื่อความแน่นอนในการที่จะได้เป็นรัฐบาล พรรคการเมืองพรรคใหญ่นี้ได้พยายามทำ “ความตกลง” กับพรรคการเมืองในระดับรอง ๆ ที่จะมี ส.ส. ประมาณ ๒๐ – ๔๐เสียง ไว้เป็นการล่วงหน้า ที่จะร่วมกันเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และมาร่วมกันตั้งรัฐบาล ; แต่ปรากฎว่า พรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคนี้ต้องผิดหวังเพราะไม่ได้เป็นรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองในระดับรองนั้น เปลี่ยนใจ และไปร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด

 

สำหรับผม ข้อที่น่าสังเกตในเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็คือ “ความไม่รอบรู้ทางการเมือง” ของนักการเมืองชั้นนำ ของพรรคการเมืองพรรคใหญ่ที่เก่าแก่พรรคนี้ ที่ขาดพื้นฐานของนิติปรัชญาเชิงสังคมวิทยา ในศตวรรษที่ ๒๐ ; “ความไม่รอบรู้ทางการเมือง”นี้ ปรากฎให้เห็นอย่างน้อย ๒ ประการ คือ ประการแรก ผมได้เคยวิเคราะห์ไว้ล่วงหน้าอย่างเปิดเผยว่า ในสภาพสังคมที่อ่อนแอเช่นประเทศไทยและในระบบสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่เป็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา”นี้ เมื่อ “นายทุนระดับชาติ”ร่วมกันลงทุนกันตั้งพรรคการเมืองและเล่นการเมืองแล้ว พรรคการเมืองของนายทุนระดับท้องถิ่นจะไม่มีโอกาสที่จะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นรัฐบาลได้อีกต่อไป และผมให้ความเห็นแนะนำไว้ว่า พรรคการเมืองของนายทุนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองพรรคใหญ่ที่เก่าแก่ ควรริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็น “ประชาธิปไตย” ที่แท้จริง และไม่ควรคาดหวังกับประโยชน์ส่วนตัวของ”นายทุนท้องถิ่น”ของพรรค ที่จะได้รับจาก”ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา” เพราะกฎเกณฑ์ของระบบเผด็จการเช่นนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ “นายทุนระดับชาติ” (ที่มีเงินทุนมากกว่า) มากกว่าตนเอง ; และ ประการที่สอง การขาดความรู้พื้นฐานทางสังคมวิทยาและพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้นักการเมืองชั้นนำของพรรคการเมืองพรรคใหญ่ดังกล่าว มองข้าม “พฤติกรรม”ของนักการเมืองที่เป็น “นายทุน” ของพรรคการเมืองในระดับรองพรรคอื่นที่มี ส.ส.ระหว่าง ๑๐ – ๔๐ คน เพราะตามความเป็นจริง – reality ผลประโยชน์ส่วนตัวทางการเมือง ย่อมมีน้ำหนักมากกว่า “สัญญาหรือความตกลงระหว่างพรรคการเมือง” ซึ่งนักการเมืองชั้นนำในพรรคการเมืองพรรคใหญ่นี้ ควรจะต้องรู้อยู่แล้ว

 

ผมคิดว่า อาจเป็นที่น่าสงสารสำหรับพรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคนี้ ที่แม้จนกระทั่งในขณะนี้ นักการเมืองชั้นนำของพรรคการเมืองพรรคนี้ ก็ยังคาดหวังว่าจะได้ร้บเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าถ้ามีการยุบสภา ซึ่งผมเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะในปัจจุบันนี้ สภาพสังคมไทยอ่อนแอและมีความอ่อนไหวต่อการใช้เงิน ประกอบกับสภาพกลไกการบริหารประเทศที่พิกลพิการ ซึ่งสภาพทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นข้อเท็จจริง – facts ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น พรรคการเมืองของใครมีเงินมาก พรรคการเมืองนั้นก็ได้ สส. มาก สิ่งนี้ เป็นความเป็นจริงทางสังคมวิทยา ; ผมเห็นว่า ความคาดหวังของพรรคการเมืองดังกล่าว คงเป็นเพียง “ความฝัน”

 

นักปรัชญา

 

Elite กลุ่มที่สาม นักวิชาการประเภท “นักปรัชญา – The Philosophes” Elite ประเภทนี้ เป็นประเภทที่หาชื่อเสียงให้ตัวเอง โดยแสดงตนว่า เป็นนักสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน แต่ไม่คิดที่จะหาวิธีแก้ปัญหาให้แก่สังคม

 

ก่อนที่จะมาปาฐกถาที่ศาลปกครองในวันนี้ ผมคิดว่าจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไรดี จึงจะพูดได้ง่าย ๆ และท่านผู้ฟังเกิดความเข้าใจ ผมก็เลยแวะไปที่ร้านหนังสือศึกษาภัณฑ์ที่ถนนราชดำเนิน และชื้อหนังสือมาเล่มหนึ่ง คือ หนังสือเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ ; อันที่จริง ผมต้องขอพูดเสียหน่อยว่า “สามัคคี”กันไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไปนะครับ ความสำคัญอยู่ที่ว่าสามัคคีไปทำอะไร ; เพราะ สามัคคีเป็นเพียง “วิธีการ” ถ้าสามัคคีกันทำความดี ก็ดี แต่ถ้าสามัคคีกันไปปล้น ก็ไม่ดี อยู่ที่ว่าสามัคคีกันไปทำอะไร ;”สมานฉันท์” ก็คงมีนัยเหมือน ๆ กัน 

 

ผมจะเอาหนังสือสามัคคีเภทคำฉันท์ มาจะอ่านเนื้อเรื่องให้ท่านฟัง ดูว่าท่านจะคิดอะไรได้บ้าง 

 

ในหนังสือเขาบอกว่า ในกาลโบราณมีกษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “พระเจ้าอชาตศัตรู”ครอบครองแคว้นมคธ มีกรุงราชคฤห์เป็นเมืองหลวง มีอำมาตย์ที่สนิทคนหนึ่งชื่อวัสสการพราหมณ์ เป็นผู้ที่ฉลาดและมีความรอบรู้ศิลปศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ; พระเจ้าอชาตศัตรูประสงค์จะไปปราบแคว้นวัชชี ซึ่งมีกษัตริย์ลิจฉวีปกครองอยู่ โดยแคว้นวัชชีเป็นสหพันธรัฐ มีกษัตริย์ผลัดเปลี่ยนกันปกครอง ๑๒ พระองค์ ทุกพระองค์ล้วนอยู่ในธรรมะที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อปริหานิยธรรม คือเป็นธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเจริญ ดังนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจึงปรึกษากับวัสสการพราหมณ์ว่า จะทำอย่างไร จึงจะทำลายความพร้อมเพรียงของกษัตริย์ลิจฉวีได้ 

 

เมื่อปรึกษากันเรียบร้อยแล้ว วันหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรูก็เสด็จออกว่าราชการ แล้วมีดำรัสเป็นเชิงหารือกับพวกอำมาตย์ว่า จะยกกองทัพไปรบกับแคว้นวัชชี และมีเพียงคนเดียวที่ค้านพระเจ้าอชาติศัตรู คือ วัสสการพราหมณ์ ที่กราบทูลทักท้วงว่า ให้ทรงยับยั้งรอไว้ก่อนเพื่อเห็นแก่มิตรภาพ และทำนายว่า ถ้ารบก็จะพ่ายแพ้ ; พระเจ้าอชาตศัตรูทรงฟังแล้วแสดงอาการพิโรธถือว่า หมิ่นพระเดชานุภาพ ให้นำตัววัสสการพราหมณ์ไปลงโทษตามคำพิพากษาตามบทพระอัยการ คือ เฆี่ยน โกนผม ประจาน และขับไล่ออกจากราชอาณาเขต

 

วัสสการพราหมณ์ ยอมทนรับราชอาญาด้วยทุกขเวทนาแสนสาหัสถึงแก่สลบ และเมื่อถูกเนรเทศจากแคว้นมคธ ก็ไปเมืองเวสาลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี แล้วก็ไปผูกมิตรไมตรีกับชาวเมือง ข่าวนี้ทราบไปถึงกษัตริย์ลิจฉวี จึงได้ตีกลองสำคัญขึ้น เชิญกษัตริย์ทั้งหลายมาชุมนุมปรึกษาราชการ กษัตริย์ลิจฉวีประชุมกันแล้วตกลงกันเห็นควรให้พราหมณ์ผู้นี้เข้ามาเพื่อจะได้เห็นท่าทางและฟังความดูก่อน ; ภายหลังที่วัสสการ พราหมณ์ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ลิจฉวีกราบทูลข้อความ ประกอบกับมีรอยฟกช้ำจากการถูกโบยให้เห็น กษัตริย์ลิจฉวีทุกพระองค์ต่างก็หมดความสงสัย และแต่งตั้งให้วัสสการ พราหมณ์ เป็นครูสอนศิลปวิทยาแก่บรรดาราชกุมาร และให้มีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาชี้ขาดอรรถคดีอีกตำแหน่งหนึ่ง 

 

วัสสการพราหมณ์ก็เอาใจใส่ราชการเป็นอย่างดี จนกษัตริย์ลิจฉวีให้ความไว้วางใจหมดความสงสัย วัสสการพราหมณ์จึงยั่วยุราชกุมารทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ให้แตกร้าวกัน และวัสสการพราหมณ์ก็คอยส่งเสริมเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทให้บังเกิดขึ้นในหมู่ราชกุมารอยู่เนืองนิตย์ จนกระทั่งที่สุดราชกุมารก็แตกความสามัคคีกัน และเมื่อทะเลาะวิวาทกันแล้วก็นำความไปทูลพระชนกคือบิดาของตน ความแตกร้าวก็ลามไปถึงบรรดากษัตริย์ที่เชื่อถ้อยคำโอรสของตนโดยปราศจากการไตร่ตรอง ; วัสสการพราหมณ์ ใช้เวลา ๓ ปี สามัคคีธรรมในระหว่างพวกกษัตริย์ลิจฉวีก็ถูกทำลายลง

 

วัสสการพรามณ์จึงให้คนลอบไปทูลพระเจ้าอชาตศัตรู และพระเจ้าอชาตศัตรูก็กรีฑาทัพเข้าเมืองเวสาลี ; ชาวเมืองเวสาลีตกใจกลัว มุขมนตรีตีกลองสำคัญขึ้นเป็นอาณัติสัญญาณให้ยกทัพมาต่อสู้ แต่กษัตริย์ลิจฉวีก็หาเข้าที่ประชุมไม่ ทุกพระองค์ต่างเพิกเฉยแม้แต่ประตูเมืองทุกทิศก็ไม่มีใครสั่งให้ปิด พระเจ้าอชาติศัตรูยึดแคว้นวัชชีได้โดยง่าย ไม่ต้องเปลืองรี้พลในการรบ

 

เรื่องนี้คืออะไร บอกอะไรแก่เรา ; ผมขอให้ท่านสังเกตเรื่องนี้ว่า แม้แต่”ความรักลูก”ก็เป็นอาวุธได้ และ”ความรักลูก” คือพฤติกรรม ; ดังนั้น พฤติกรรมของคนทางสังคมวิทยา ก็ถูกใช้เป็นอาวุธได้ 

 

ทำไมประเทศมหาอำนาจจึงบอกให้เราเลือกตั้งและให้เอกชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ แต่เขาไม่เคยบอกเราว่า ก่อนที่จะเลือกตั้ง ต้องทำ “ระบบการบริหารประเทศ”ให้ดีเสียก่อน และเขาไม่เคยบอกเราว่า การมีสิทธิเสรีถาพของเอกชน จะต้องมีเงื่อนไขอย่างไรเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และต้องทำอย่างไร ; ดังนั้น การที่ประเทศมหาอำนาจบอกว่า ให้คนของเรามีสิทธิเสรีภาพ และให้มีการเลือกตั้งเพื่อความเป็นประชาธิปไตย หมายถึงอะไร 

 

“แนวความคิด”นี้ ถูกส่งเข้ามาในประเทศที่ด้อยพัฒนาเช่นประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยเต็มไปด้วย Elite ของเราที่มีความคิดในระดับกษัตริย์ลิจฉวีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือนักวิชาการ ; ในโลกปัจจุบันนี้ “วัสสการพราหมณ์” ไม่จำเป็นต้องส่งมาเป็นตัวคน ไว้ผมยาวและแต่งตัวเป็นพราหมณ์ แต่ “วัสสการพราหมณ์”เป็นแนวความคิดที่ส่งเข้ามาในประเทศ โดยทางหนึ่งทางใดก็ได้ และในประเทศด้อยพัฒนา ย่อมจะมี Elite ที่มี “ความไม่ฉลาด” หรือมี”ความอยากมีชื่อเสียงของตนเอง” ที่เป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ อยู่ทั่วไป

 

ดังนั้น ผมเห็นว่า ถ้าประเทศใด มีนักวิชาการจำพวก the Philosophes คือ นักวิชาการประเภทที่สนใจจะหาชื่อเสียงด้วยการทำตนให้เป็นที่รุ้จักในฐานะนักสิทธิเสรีภาพ โดยไม่สนใจที่จะรู้ว่า สังคมจะแก้ปัญหาอย่างไร และจะทำอย่างไรจึงจะประสานประโยชน์ ระหว่าง “ประโยชนส่วนตัวของปัจเจกชน” กับ “ประโยชน์ของส่วนรวม”ได้ ; นักวิชาการจำพวกนี้จะทำให้ “คนส่วนใหญ่ของประเทศ” กลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัวและคิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ; ประเทศใด มี Elite ที่เป็นนักวิชาการ ประเภท the Philosophes จำนวนมาก ประเทศนั้นก็อาจจะเสียเมืองได้ เพราะใครจะไปนึกว่า “ความรักลูก”ก็เป็นอาวุธได้ ใช่ไหมครับ 

 

ท่านคิดว่า ในปัจจุบันนี้ สภาพทางสังคมวิทยาของสังคมไทยเป็นอย่างไร และในประเทศไทย เรามีนักวิชาการจำพวก the Philosophes มากหรือไม่มาก (?)

 

ผมได้ประเมิน Elite ที่เป็นพื้นฐานของสังคมไทย มาครบทั้ง ๓ ประเภทแล้วนะครับ และอนาคตของประเทศไทย ก็ขึ้นอยู่กับ Elite ทั้ง ๓ ประเภทนี่แหละครับ ; ถ้าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยข้างหน้า ก็กรุณาอย่าไปโทษพลเมืองของประเทศไทยทั้ง ๖๓ ล้านคนเศษ เพราะเขาต้องทำมาหากิน แต่ความรับผิดชอบจะอยู่ที่ Elite ของสังคม ของเรานี่เอง

 

อนาคตอันมืดมนของประเทศ

 

มาถึง ตอนที่สาม ที่เป็น “สาระ”ตอนสุดท้ายที่ผมจะพูดในวันนี้ ก็คือ อนาคตอันมืดมนของประเทศ ; ผมมีความเห็นว่า ถ้า Elite ของเรายังมีสภาพเช่นนี้ คือ “ความรู้” ก็มีไม่พอ และยังมีพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัวอีกด้วย ประเทศไทยคงเป็นประเทศที่ไม่มีอนาคต

 

ในตอนสรุปนี่ ผมจะขอยกประเด็น ๒ ประเด็นมาพูดอย่างสั้น ๆ ประเด็นที่ ๑ ก็คือ Elite ของเราในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างไร และประเด็นที่ ๒ คือ สภาพกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย

 

ในประเด็นที่ ๑ ผมมีเจตนาที่จะตรวจสอบดูว่า ชนชั้นนำในอดีตของเราในสมัยรัชกาลที่ ๕ ของเรา มีสภาพทางวิชาการอย่างไร และเมื่อผ่านมาแล้วประมาณ ๑๕๐ ปี สภาพทางวิชาการของชนชั้นนำของเราในปัจจุบัน เป็นอย่างไร โดยผมคงจะไม่เทียบ สภาพวิชาการของเราเองในระหว่างสองเวลาที่ต่างกัน เพราะเป็นที่แน่นอนว่า ถ้าเทียบอย่างนั้น นักวิชาการของเราในปัจจุบันคงจะมีความรู้มากกว่านักวิชาการในสมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างแน่นอน เนื่องจากนักวิชาการของเราในปัจจุบันไปเรียนต่างประเทศมากกว่า มีหนังสือตำราอ่านมากกว่า มีวิธีการที่จะหาความรู้ได้มากกว่า แต่ผมจะเทียบมาตรฐานวิชาการของนักวิชาการของเรากับต่างประเทศในระยะเดียวกัน เพื่อดู “ความห่าง”ระหว่างมาตรฐานความรู้ของประเทศที่พัฒนาแล้ว กับมาตรฐานความรู้ของนักวิชาการของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักกฎหมาย” ว่า ช่องห่างระหว่างมาตรฐานความรู้ดังกล่าวนี้ของนักวิชาการในสมัยรัชกาลที ๕ กับ นักวิชาการในพ.ศ. ๒๕๕๑ ที่เป็นเวลาต่างกัน ๑๕๐ ปีนี้ จะห่างกว้างมากขึ้นหรือลดลง

 

เราทราบแล้วว่า ในปลายศตวรรษที่ ๑๘ ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นมี “ปัญหา”ในยุคที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกมีนโยบายตามลัทธิขยายอาณานิคม มาคล้าย ๆ กัน และประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกที่สามารถรักษาเอกราชไว้ได้ในยุคนั้น ก็มีเพียง ๒ ประเทศเท่านั้น คือประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ; ในวันนี้ ผมจะขอนำ “ผลสำเร็จ”ของการแก้ปัญหาของประเทศญี่ปุ่นกับของประเทศไทย มาเปรียบเทียบให้ท่านดูความแตกต่างอย่างสั้น ๆ และแน่นอนครับ ความแตกต่างของผลสำเร็จนั้น เกิดจาก “ความรู้”และ”พฤติกรรม”ของ Elite ของประเทศ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “คุณภาพ”ของ Elite นั่นเอง 

 

สมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นตรงกับสมัยจักรพรรดิญี่ปุ่น พระเจ้ามัตสุฮิโต – Mutsuhito ซึ่งเวลาการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์เกือบจะตรงกัน คือ ห่างกันเพียง ๑ ปี และระยะเวลาหรือความยาวในการครองราชย์ก็ใกล้เคียงกัน คือ รัชกาลที่ ๕ ของเราครองราชย์อยู่ ๔๒ ปี พระเจ้ามัตสุฮิโตครองราชย์ ๔๔ ปี ; รัชกาลที่ ๕ ของเราขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา จักรพรรดิญี่ปุ่นขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา เกือบเหมือนกันเช่นเดียวกัน โดยรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ ของเรา จาก ค.ศ.๑๘๖๙ ถึง ๑๙๑๑ และรัชสมัยของจักรพรรดิญี่ปุ่น จาก ค.ศ. ๑๘๖๘ ถึง ๑๙๑๒ ; ต่อไปนี้ เราลองมาดูว่า “ผลงาน” ในรัชสมัยของกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่สองพระองค์ว่าเป็นอย่างไร 

 

แต่ก่อนอื่น อย่าลืมนะครับว่า ในคุณสมบัติส่วนพระองค์แล้ว จักรพรรดิของญี่ปุ่นแล้ว มีข้อเสียเปรียบอย่างมากเมื่อเทียบกับรัชกาลที่ ๕ ของเรา ; รัชกาลที่ ๕ ของเราเรียนรู้ภาษาอังกฤษและการบริหารราชการแผ่นดินมาก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ อันเนื่องมาจาก รัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นพระราชบิดาได้ทรงติดต่อกับต่างประเทศ และทรงรู้ปัญหาของประเทศไทยในระยะนั้นเป็นอย่างดี ; ตามความเห็นส่วนตัวของผม รัชกาลที่ ๔ พระองค์ท่านทรงเป็น “มหาราช” รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ของพระองค์ท่านให้แก่พระราชโอรสพระราชธิดา ฯลฯ แต่ตามประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของญี่ปุ่น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเหล่านี้ ; แต่ “อะไร”ล่ะครับ ที่ทำให้ผลงานการบริหารประเทศในช่วงรัชสมัยของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้ ต่างกันอย่างมากมาย 

 

โปรดดู “ผลงาน”ของญี่ปุ่นในรัชสมัยของพระเจ้ามัตสุฮิโต เทียบกับรัชสมัยของรัชกาล ที่ ๕ ของเรา นะครับ โดยผมจะเทียบไว้ ๓ หัวข้อ คือ การเลิกซามูไรกับการเลิกทาส การพระราชทานรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน

 

พระเจ้ามัตสุฮิโตเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ได้เรียกรัชสมัยของพระองค์ท่านว่า เป็นสมัยเมจิ – enlightened rule แปลว่า “รัชสมัยแห่งความรุ่งโรจน์” หรือ “รัชสมัยแห่งปัญญา”

 

การเลิกซามูไรของญี่ปุ่น เทียบกับการเลิกทาสของประเทศไทย กษัตริย์เมจิของญี่ปุ่นใช้เวลา ๙ ปีในการเลิกซามูไร โดยซามูไรเป็นประเพณีของญี่ปุ่นมานานประมาณ ๒๕๐ ปี แต่การเลิกทาสของประเทศไทย ใช้เวลา ๓๐ ปี 

 

ผมคิดว่า เมื่อไม่นานมานี้ หลายท่านคงจะดูภาพยนตร์เรื่อง The Last Samurai มาแล้ว ภาพยนตร์ดังกล่าว เป็นเรื่องราวหลังจากที่ซามูไรในแคว้นต่าง ๆ ร่วมกันปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นแล้ว แต่มีซามูไรในแคว้นหนึ่งที่ไม่ยอมเลิกระบบซามูไรและสิทธิพิเศษของซามูไร โดยเห็นว่า ซามูไรเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ควรรักษาไว้ แต่ถูกซามูไรกลุ่มอื่นที่เห็นว่าถ้าญี่ปุ่นจะปฏิรูปประเทศ ก็ต้องทำให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด อะไรที่เป็นอุปสรรคของการปฏิรูปประเทศ ก็ควรยกเลิกให้หมด ; ภาพยนตร์ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องราวของทหารรัฐบาลญี่ปุ่นยกกำลังไปปราบกลุ่มซามูไรที่ไม่ยอมทำตามกฎหมายที่ออกมายกเลิกระบบซามูไร ทั้งที่ซามูไรที่เป็นกบฎนั้น ยังมีความจงรักภักดีกับจักรพรรดิ แต่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายยกเลิกซามูไร 

 

การพระราชทานรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น เทียบกับของไทย ต่อมาอีก ๑๔ ปีนับตั้งแต่ครองราชย์ย์ คือ ในปี ค.ศ. ๑๘๘๑ จักรพรรดิเมจิประกาศว่า จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ as a gift เป็นของขวัญแก่ประชาชน และญี่ปุ่นใช้เวลายกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ๘ ปี ญี่ปุนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ในปี ค.ศ. ๑๘๘๙ กล่าวคือ นับเวลารวมทั้งหมด ตั้งแต่จักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. ๑๘๖๘ จนถึงเวลาที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ญี่ปุ่นใช้เวลา ๒๓ ปี 

 

สำหรับประเทศไทย รัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ ในปี ค.ศ. ๑๘๖๙ จนถึงเวลาที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ ฉบับแรกในปีพศ. ๒๔๗๕ หรือ ค.ศ.๑๙๓๒ ประเทศไทยใช้เวลา ๖๓ปี ต่างกันถึง ๔๐ ปี ; ปัญหาที่นักกฎหมายหรือนักประศาสตร์ของเรา จะต้อง “คิด”และศึกษา ก็คือ เพราะเหตุใด

 

การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของญี่ปุ่น เทียบกับของไทย ผมคงจะไม่พูดในรายละเอียดว่า ประเทศญี่ปุ่นในสมัยรัชกาลจักรพรรดิเมจิทำอะไรบ้างและทำอย่างไร และประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทำอะไรบ้างและทำอย่างไร ; ผมคิดว่าเราลองมาดู “ผลสำเร็จ”ที่เกิดขึ้นจริงจากการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นหลักฐานที่เห็นได้จริงและพิศูจน์ได้ และถ้าเราคนไทยมี “เวลา”ว่างพอที่จะย้อนกลับไปพิจารณาถึง “สาเหตุ”ของความแตกต่างกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เราคนไทยก็จะพบสิ่งที่เราควรจะรู้ แต่ไม่รู้อีกมาก 

 

ในปี ค.ศ. ๑๘๗๖ อันเป็นปีที่ ๘ หลังจากจักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. ๑๘๖๘ ญี่ปุ่นสามารถสร้างกองทัพเรือที่สามารถไปปิดเมืองท่าของประเทศเกาหลี ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของจีน ให้เปิดทำการค้ากับตน ; เหมือนกับที่นายพลเรือเพอร์รี่ของสหรัฐอเมริกาทำกับตนเอง เมื่อ ค.ศ. ๑๘๕๓ ห่างกันเพียง ๒๓ ปี

 

ในปี ค.ศ. ๑๘๙๔ อันเป็นปีที่ ๒๖ หลังจากจักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์ ญี่ปุ่นทำสงครามกับประเทศจีน เพื่อขยายดินแดนครอบคลุมเกาหลี ประเทศญี่ปุ่นชนะจีนภายในเวลา ๙ เดือน ซึ่งเป็นที่ประหลาดใจของประเทศมหาอำนาจตะวันตกเป็นอย่างมาก และจีนจำต้องสละอิทธิพลเหนือประเทศเกาหลี และยกเกาะไต้หวันให้ประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งการชดใช้เงินเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม

 

ในปี ค.ศ. ๑๘๙๙ อันเป็นปีที่ ๓๑ หลังจากจักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์ ประเทศญี่ปุ่นปลดสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขต – extraterritoriality กับประเทศมหาอำนาจทั้งหมด

 

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ -๑๙๐๕ อันเป็นปีที่ ๓๖ – ๓๗ หลังจากจักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์ ญี่ปุ่นทำสงครามกับประเทศรัสเซีย และรบชนะรัสเซีย โดยทำลายกองทัพเรือของรัสเซียทั้งกองทัพ นายพลเรือของรัสเซีย ๓คนถูกจับและทหารเรือรัสเซียถูกจับเป็นเชลยกว่า ๗๐๐๐คน และเสียชีวิตกว่า ๔๐๐๐คน และประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาต้องเข้ามาเป็นคนกลางในการเจรจาสงบศึก 

 

ในปี ค.ศ. ๑๙๑๒ อันเป็นปีที่ ๔๔ หรือปิสุดท้ายของจักรพรรดิเมจิ หรือพระเจ้ามัตสุฮิโตสิ้นพระชนม์ ประเทศญี่ปุ่นได้รับการยอมรับว่าเป็น “ประเทศมหาอำนาจ” เท่าเทียมกันสหรัฐอเมริกาและประเทศมหาอำนาจตะวันตก และอาณาเขตของประเทศญี่ปุ่นทางไต้จะลงมาถึงเกาะไต้หวัน และทางตะวันตกครอบคลุมประเทศเกาหลี

 

สำหรับประเทศไทย ผมคงไม่สรุป เพราะท่านในฐานะที่เป็นคนไทยคงทราบดีอยู่แล้วว่า ผลสำเร็จของประเทศไทยในสมัยรัชการที่ ๕ เป็นอย่างไร และในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ อันเป็นปีที่ ๔๒ หรือปีสุดท้ายของรัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยเราเป็นอย่างไร

 

ต่อไปนี้ ผมคิดว่า เราลองมาทบทวนเหตุการณ์บางเหตุการณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับวงการกฎหมาย เพื่อดู “เหตุผล”ว่า เพราะเหตุใด ประเทศไทยจึงพัฒนาได้ช้ากว่าประเทศญี่ปุ่นมาก

 

รัชกาลที่ ๕ พระองค์ท่านเสด็จสวรรคต ในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยมีพระชนมายุ ๕๗ พรรษา แต่ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคต ๓ เดือน พระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสปรารภกับราชอำมาตย์ว่า อีก ๓ ปีเมื่อพระองค์ท่านมีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา พระองค์ท่านจะสละราชสมบัติและจะให้รัชกาลที่ ๖ พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนคนไทย แต่บังเอิญพระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ก่อน คนไทยก็เลยไม่ได้รัฐธรรมนูญ และต้องรอมาจนถึงรัชกาลที่ ๗ และเรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรก ใน ปีพ.ศ. ๒๔๗๕ หรือ ค.ศ. ๑๙๓๒

 

ผมได้เรียนให้ท่านแล้วว่า คุณสมบัติส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ ๕ นั้น ทรงมีคุณสมบัติที่ได้เปรียบกว่าจักรพรรดิญี่ปุ่นอยู่หลายประการ แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ที่ประเทศญี่ปุ่นมีแต่ประเทศไทยไม่มี ก็คือ “คุณภาพและความรู้ ของ Elite” 

 

ท่านลองดูประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นดังต่อไปนี้นะครับ ในปี ค.ศ. ๑๘๕๓ ขณะที่นายพลเรือเพอร์รี่ นำกองเรือรบอเมริกันเข้ามาข่มขู่ประเทศญี่ปุ่นให้เปิดประเทศในทางการค้านั้น ญี่ปุ่นอยู่ในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิโคเมอิ พระราชบิดาของจักรพรรดิมัตสุฮิโต และในระยะนั้น ญี่ปุ่นอยู่ในระบบโชกุน ซึ่งโชกุนจะผู้ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิทั้งหมด ซึ่งผมขอแปลระบบโชกุนว่า เป็นระบบผู้สำเร็จราชการผู้มีอำนาจเต็ม plenipotentiary regent 

 

ในขณะที่นายพลเรือเพอร์รี่เข้ามา โชกุนที่ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิ์ได้แก่ โชกุน ตระกูลโตกุกาว่า และดังนั้น การทำสัญญาระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น ก็คือ การทำสัญญาระหว่างนายพลเพอรี่กับโชกุนนั้นเอง ; ตระกูลโตกุกาว่านี้ มีอำนาจครองตำแหน่งเป็นโชกุนต่อเนื่องกันมา ๒๕๐ ปีแล้ว ; ในระบบโชกุนของญี่ปุ่น ก็จะมีหัวหน้ารองลงไปในภูมิภาค เรียกว่า “ไดเมียว” โดยไดเมียวส่วนใหญ่จะอยู่ไต้อาณัติของโชกุน แต่ไดเมียวบางคนก็วางตัวเป็นอิสระ ; ไดเมียวคนสำคัญ ๔ – ๕ ไม่พอใจและไม่เห็นด้วยที่โชกุนโตกุกาว่า เจรจาทำสัญญากับสหรัฐอเมริกา และไม่แน่ใจว่าโชกุนทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของประเทศญี่ปุ่น 

 

พวกไดเมียว ๔ – ๕ นี้ จึงพร้อมใจกันปลดโชกุนโตกุกาวาและปฏิวัติยกเลิกระบบโชกุน เอาอำนาจคืนให้จักรพรรดิ ซึ่งพอดีกับจักรพรรดโคเมอิเสด็จสวรรคต พระเจ้ามัตสุฮิโตพระราชโอรส จึงเป็นจักรพรรดิแทนเมื่อมีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา

 

ความแตกต่างของ “การปฏิรูปประเทศ”ของประเทศญี่ปุ่น กับของประเทศไทยอยู่ตรงนี้ครับ ประการแรก ก็คือ การปฏิรูปประเทศของประเทศญี่ปุ่นเป็นเจตจำนงร่วมกันขององค์พระจักรพรรดิกับบรรดา Elite ของสังคม ; โดยบรรดาไดเมียวที่มองเห็น “ปัญหาของประเทศ” ในภาวะที่ต้องเผชิญกับพลังอำนาจของประเทศมหาอำนาจ และพร้อมใจกันยกฐานะและมอบอำนาจให้องค์จักรพรรดิเมจิ เป็นศูนย์รวมของการปฏิรูปประเทศ ; ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทย การปฏิรูปประเทศของประเทศไทยมาจากพระราชอัจฉริยะของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว และ Elite ของสังคมไทยไม่มีเจตจำนงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่จะปฏิรูปประเทศ 

 

ประการที่สอง ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าเหตุประการแรก ก็คือ Elite ของสังคมญี่ปุ่น มีความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กล่าวคือ หลังจากที่กลุ่มไดเมียวได้ร่วมใจกันให้จักรพรรดิเป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจแล้ว บรรดาไดเมียวทั้งหลายได้พร้อมใจตกกันลงถวายที่ดิน สิทธิ และรายชื่อทะเบียนประชาชนที่เคยเป็นของตน คืนให้จักรพรรดิ์ทั้งหมด ซึ่งได้ทำเสร็จสิ้นภายใน ๒ ปี นับแต่การสถาปนาองค์จักรพรรดิ ; นี่คือ ความแตกต่างประการสอง คือ “คุณภาพ”ของ Elite ของญี่ปุ่นนี้ ดูเหมือนว่า จะไม่มีใน Elite ของสังคมไทยในปัจจุบัน

 

และประการที่สาม Elite ของญี่ปุ่นซึ่งไม่มี “ความรู้”ในระยะนั้น ได้รู้จักตนเองว่าไม่มีความรู้ และตั้งใจจะแสวงหาความรู้และเทคโนโลยี่จากประเทศมหาอำนาจตะวันตก อย่างมีระบบและไม่ชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน ; ญี่ปุ่นส่งคณะออกไปศึกษาดูงาน และจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาทำงานในด้านต่างๆ อย่างมีแผนงาน ; จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ เขียนไว้ว่า แผนการพัฒนาประเทศเพื่อตามให้ทันประเทศมหาอำนาจในด้านต่าง ๆ รวมกันเป็นเอกสาร ถึง ๕ เล่มใหญ่

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาระบบสถาบันการเมืองและการปฎิรูประบบบริหารราชการ ปรากฎว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่ง คณะ Elite รุ่นใหม่ที่รับผิดชอบการบริหารประเทศ ออกไปศึกษารูปแบบของการจัดระบบสถาบันการเมืองและการจัดหน่วยงานการบริหารราชการของรัฐ ในประเทศมหาอำนาจอย่างละเอียด โดยเดินทางไปทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆยุโรป รวม ๑๒ ประเทศ และใช้เวลาของการเดินทางไปศึกษาในเที่ยวนั้น เกือบ ๓ ปี

 

จากเอกสารที่ผมได้อ่านๆ มา ผมเองก็รู้สึกแปลกใจว่า Elite ของญี่ปุ่นเป็นชาติที่ขวนขวายหาความรู้และมีวิธีคิดในการทำงานอย่างคาดไม่ถึง ทั้งที่เป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว ตัวอย่างเช่น Dicey ศาสตราจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีชื่อเสียงของอังกฤษที่ตำรารัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบันอ้างอิงกันอยู่ในปัจจุบัน และคนไทยรู้จัก Dicey บ้าง ไม่รู้จักบ้าง แต่ปรากฎว่า คณะทำงานที่ญึ่ปุ่นส่งไปศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญนี้ได้ไปพบตัวจริงและไปสัมภาษณ์ Dicey ด้วยตัวเอง 

 

สิ่งที่ผมแปลกใจอย่างยิ่ง ก็คือ สิ่งที่ผมนำมาเขียนไว้ในบทความของผมที่กำลังเขียนลง web อยู่ในขณะนี้ ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ และยังเขียนไม่จบ ว่า การพัฒนาประเทศของประเทศในยุโรปทั้งหมดในระยะต้นของ constitutionalismนั้น ไม่ว่าจะเป็นเยอรมันนี สวีเดน ฮอลแลนด์ ต่างก็ใช้รัฐธรรมนูญ ที่มี “รูปแบบ”ที่กำหนดให้ อำนาจบริหารเป็นของกษัตริย์และกษัตริย์ทรงใช้อำนาจนี้ด้วยพระองค์เอง และให้อำนาจนิติบัญญัติ เป็นของสภาผู้แทนที่เลือกตั้งมาโดยประชาชน และผมได้วิจารณ์ไว้ว่า รูปแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้ ไม่มีสอนอยู่ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทยแม้เต่เล่มเดียว ซึ่งทำให้นักศึกษากฎหมาย(ไทย)ในมหาวิทยาลัยของไทยไม่มีประสบการณ์และไม่มีความรู้เกี่ยวกับ “วิวัฒนาการของรูปแบบระบบสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญ” และดังนั้น นักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยของเรา จึงขาด”พื้นฐานความรู้” สำหรับการคิดปรับเปลี่ยน – rationalize รูปแบบของรัฐธรรมนูญ หรือ form of government เมื่อประเทศไทยมีปัญหา

 

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญรูปแบบนี้ มีปรากฎอยู่ในแผนปฏิรูปการเมืองของญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๘๙ แล้ว กล่าวคือ Elite ของญี่ปุ่นศึกษาและนำ “รูปแบบ”รัฐธรรมนูญของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆมาเปรียบเทียบกัน มานานกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ในขณะที่เขาทำการปฏิรูปประเทศและจะเขียนรัฐธรรมนูญ ; ซึ่งผิดกับนักกฎหมายและนักวิชาการของคนไทย เพราะในปัจจุบันนี้ ปี ค.ศ. ๒๐๐๘ นักศึกษากฎหมายของไทยยังไม่รู้เลยว่า ในโลกนี้ เคยมีรูปแบบของรัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ “อำนาจบริหาร”ได้โดยตรง เพราะ อาจารย์ของเราไม่เคยสอน และตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของเราไม่ได้กล่าวถึง 

 

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นฉบับแรก ค.ศ. ๑๘๘๙ ไม่ได้เขียนขึ้นตามแนวทางรัฐธรรมนูญของอังกฤษ ตามที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ ; ในคราวนั้น คณะทำงานของญี่ปุ่นได้เดินทางออกไปพบศาสตราจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญในหลายประเทศ รวมทั้งศาสตราจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญของเยอรมันนี ซึ่งในขณะนั้น คือประเทศปรัสเซีย และเท่าที่จำได้ ดูเหมือนว่าคณะทำงานของประเทศญี่ปุ่นได้พบกับ บิสมาร์ค ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศปรัสเซียในขณะนั้นด้วย 

 

ท่านทราบหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศญี่ปุ่นได้เขียนตามแนวทางรัฐธรรมนูญของประเทศปรัสเซีย โดยไม่ใด้ใช้ตามแนวทางรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษที่นักวิชาการไทยอ้างและสอนกันมาอย่างผิด ๆ ; รัฐธรรมนูญของปรัสเซีย ใช้ “รูปแบบ”ของรัฐธรรมนูญที่ผมกล่าวมาแล้ว คือ กษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารได้โดยตรงแม้ว่าจะต้องมีการรับสนองพระบรมราชโองการโดยรัฐมนตรีที่กษัตริย์ทรงแต่งตั้งเองก็ตาม 

 

การที่ Elite ของญี่ปุ่นในขณะนั้น เลือกใช้รัฐธรรมนูญรูปแบบดังกล่าวนี้ก็ไม่ผิดพลาด เพราะเป็นรูปแบบรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์และ Eliteของญี่ปุ่น ร่วมกันคิดร่วมกันทำงาน ภายไต้บารมีของสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปได้ และประเทศญี่ปุ่นก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ; ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทยเรา นักกฎหมายและนักวิชาการเรา รู้จักแต่รูปแบบรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษที่สอนต่อ ๆ กันมา และไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า รัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษมีวิวัฒนาการมาอย่างไร และใช้เวลาในการวิวัฒนาการมานานแค่ไหน 

 

ผมเข้าใจว่า เมื่อผมเขียนบทความเรื่อง constitutionalism เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ หรือ ค.ศ. ๑๙๙๔ คือ เมื่อ ๑๔ ปีที่แล้ว ผมได้นำ “รูปแบบ”ของรัฐธรรมนูญที่มีระบบสถาบันการเมือง หรือ form of government ต่าง ๆ มาเรียงลำดับไว้ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ และในจำนวนนั้น ผมได้นำรูปแบบของ ระบบรัฐสภา – parliamentary system ที่กษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้ “อำนาจบริหาร”โดยตรงมาเขียนไว้ด้วย ; และผมเชื่อว่า บทความของผมเป็นเอกสารฉบับแรกของประเทศไทยที่กล่าวถึงรัฐธรรมนูญรูปแบบนี้ เพราะก่อนหน้านั้น ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา จะสอนเพียงว่า อำนาจอธิปไตยแยกเป็น ๓ อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการทางศาล 

 

ขอให้ท่านลองทบทวนความจำของท่านดูก็ได้ว่า ข้อความของหนังสือตำรารัฐธรรมนูญของเราที่ผมกล่าวมาข้างต้นนี้ ยังก้องอยู่ในความคิดของท่านแม้ในขณะนี้ หรือไม่

 

Elite ของญี่ปุ่น เขารู้เรื่องรูปแบบของรัฐธรรมนูญ – form of government ต่าง ๆ ตามกฎหมายเปรียบเทียบ มาก่อน Elite ของเรากว่า ๑๐๐ ปี แล้วเขาเลือกรูปแบบระบบสถาบันการเมืองที่จะทำให้เขาพัฒนาประเทศได้โดยเร็วที่สุด ; จริงอยู่ในขณะนี้ อาจจะเป็นการช้าเกินไป ที่จะนำรูปแบบหรือระบบเดิม ๆ ของรัฐธรรมนูญมาใช้ เพราะในเวลากว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาสภาพสังคมและสภาพการเมืองระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ; แต่ที่ผมนำมาพูดในที่นี้ ก็เพื่อเป็น”ตัวอย่าง”ว่า ก่อนที่เราจะทำอะไร เราต้องหา”ความรู้”ก่อน ; และก็เป็นที่น่าเสียใจ ที่จะต้องเรียนให้ท่านทราบว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเราใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือ ค.ศ. ๒๐๐๗ ซึ่งห่างจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ. ๑๘๘๙ เป็นเวลานานถึง ๑๑๘ ปี แต่เรายังไม่มี “นักกฎหมาย”และ”นักวิชาการ”ของประเทศไทยแม้เต่คนเดียว ที่พูดเอ่ยถึง ประเด็นเรื่อง form of government ในการร่างรัฐธรรมนูญ ; และ นี่คือ “คุณภาพ” ของ Elite ประเภทนักกฎหมายและนักวิชาการ ของสังคมไทยในปัจจุบัน ค.ศ. ๒๐๐๘

 

“ความห่าง”ระหว่างมาตรฐานความรู้ของประเทศที่พัฒนาแล้วกับมาตรฐานความรู้ของ'”นักกฎหมาย” และ “นักวิชาการ” ของเราในปัจจุบัน ดูจะกว้างมากขึ้น เมื่อเทียบกับ สมัยรัชกาลที ๕ (?)

 

ผมขอย้อนไปใน ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ของเราสักเล็กน้อย ซึ่งผมเห็นว่า เป็นความผิดพลาดครั้งแรก ในการเขียนรัฐธรรมนูญของเรา ; ผมคิดว่า รูปแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นรูปแบบที่ผิด ; รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ นี้ ผมหมายถึง รัฐธรรมนูญฉบับที่สองของประเทศไทย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ใช้บังคับอยู่เพียง ๖ เดือนก็ถูกยกเลิกไป ; รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ฉบับที่สองนี้ เป็นรูปแบบที่คณะราษฎร์ปฏิเสธพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ไม่ใช้รูปแบบของระบบรัฐสภา -parliamentary system ในยุคแรก ๆ ของประเทศในภาคพื้นยุโรปหรือ ไม่ได้ตามอย่างรัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ.๑๘๘๙ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๒ ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่เปิด “โอกาส”ให้มีความร่วมมือระหว่างสถาบันกษัตริย์และ Elite รุ่นใหม่ และทำให้มีการใช้ทรัพยากรบุคคลของประเทศอย่างเต็มที่และเหมาะสม ;และนอกจากนั้น ถ้าจะพิจารณากันจริง ๆ แล้ว รูปแบบระบบรัฐสภาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ของเรา ก็มิใช่ว่าจะเป็นรูปแบบระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ

 

เนื่องจากการเริ่มต้นครั้งแรกที่ผิด ๆในรูปแบบของ “ระบบรัฐสภา” ที่ถูกบิดเบือน ดังนั้น ในเวลาต่อมา รูปแบบรัฐธรรมนูญที่ผิด ๆ ของเรา จึงได้ทำให้เกิดการแย่งชิง “อำนาจรัฐ” ระหว่างกลุ่มทหารกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ; “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง”ก็อ้างสิทธิอันชอบธรรมในการเข้ามาใช้อำนาจรัฐ และเมื่อได้อำนาจมาแล้ว ก็ใช้อำนาจในการแสวงหาประโยขน์ส่วนตัวและทำการทุจริดคอร์รัปชั่นจากทรัพยากรของส่วนรวม และในทางกลับกัน ก็เป็นโอกาสของ “กลุ่มทหาร” ที่จะก้าวเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศเมื่อการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไป 

 

“การแก่งแย่งอำนาจรัฐ”ในระบบรัฐสภา ระหว่างกลุ่ม Elite สองฝ่าย ได้ต่อเนื่องกันมาเป็น เวลาถึง ๖๕ ปี คือ นับจากปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ หลังพฤษภาทมิฬ ซึ่งในระหว่างนั้น ประเทศไทยไม่มี “โอกาส”ที่จะพัฒนากฎหมายที่เป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศแต่อย่างใด; “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ก็จะออกกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตนเอง ซึ่งก็คือ การเพิ่ม “โอกาส”ในการทุจริดคอร์รัปชั่นให้มากขึ้นและง่ายขึ้นโดยจะได้ไม่ต้องมี”ใบเสร็จ”ให้เห็น ; และนักกฎหมายและนักวิชาการก็เป็นฝักเป็นฝ่าย เข้าเล่นการกับ Elite กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสองกลุ่ม เพื่อแสวงหาประโยชน์ แสวงหาตำแหน่งและความก้าวหน้าให้กับตนเอง และไม่สนใจที่จะหา “ความรู้” ; ประเทศไทยเสียเวลาพัฒนาประเทศไปถึง ๖๕ ปี เพราะการเลือกรูปแบบรัฐธรรมนูญที่ผิดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕

 

ความผิดพลาดครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ หลังพฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงกว่าความผิดพลาดครั้งแรก ; ความผิดพลาดของสังคมไทยครั้งนี้ เกิดจากพฤติกรรมของ Elile ของสังคมไทย ๒ กลุ่ม คือ “ความเห็นแก่ตัว” ของ Elite ประเภทที่เป็นนายทุนธุรกิจและเป็นนักการเมือง ที่ต้องการเข้ามาผูกขาดการใช้ “อำนาจรัฐ” ด้วยการเลือกตั้งในขณะที่สภาพสังคมไทยมีความอ่อนแอ และ “ความไม่ฉลาด” และความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ของ Elite ประเภทที่เป็นนักกฎหมายและนักวิชาการของไทย

 

Elite ทั้งสองประเภทนี้ ได้ช่วยกันเขียนรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประเทศไทยมีรูปแบบของรัฐธรรมนูญ – form of government ที่ไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญประเทศใด ๆ ในโลก คือ เป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลก ที่สร้าง “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” ซึ่งหมายความว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ “การเมือง”เป็น”ธุรกิจ” กล่าวคือ ถ้านายทุนธุรกิจรวมกลุ่มกันตั้งพรรคการเมืองและร่วมทุนกันออกเงินให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งไปทำการเลือกตั้งในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ ; และถ้านายทุนธุรกิจที่รวมทุนกันนั้น สามารถทำให้ ส.ส.ในสังกัดหรือในอาณัติของตนมีจำนวนมากพอและเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดียวกันหรือหลายพรรคตกลงร่วมกัน นายทุนธุรกิจกลุ่มนั้น ก็เอา “อำนาจรัฐ”ไป ทั้งในการบริหารเป็นรัฐบาล และในการออกกฎหมายในสภานิติบัญญัติ

 

“ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” นี้ เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ หลังพฤษภาทมิฬ และระบบนี้ได้ใช้ ต่อเนื่องกันมา ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และ ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามลำดับ ; ความเลวร้าย – vice ของระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ มีอย่างไร ผมคงไม่ต้องนำมากล่าวในที่นี้ เพราะท่านอาจหาอ่านได้จากหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นประจำได้ทุกวันในขณะนี้

 

ปัญหาของคนไทย ก็คือ เราจะหลุดพ้นจากระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ได้อย่างไร เพราะพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจที่ผูกขาดอำนาจอยู่ในขณะนี้ ย่อมไม่ยอมแก้ไขระบบนี้ในรัฐธรรมนูญ และตามสภาพในปัจจุบัน สังคมไทยเองยังมีความอ่อนแอและขาดประสบการทางการเมือง คนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนต้องทำมาหากิน และมีความจำเป็นต้องมองผลประโยชน์ของตนเองระยะสั้น จนไม่มีเวลาพอที่จะคิดถึงปัญหาระยะยาวของประเทศ ; แล้ว ใครจะมาเป็นผู้แก้ปัญหาให้คนไทย (?) ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ

 

ประเด็นที่ ๒ คือ เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย ; เรื่องนี้เป็นเรื่อง”ยาก”และเป็นเรื่อง”ใหญ่” ; ที่ผมเอามาพูดในที่นี้ ก็เพื่อเปรียบเทียบกับกรณีของศาล le Parlement ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเรื่องของ “นักกฎหมาย”เหมือนกัน เพราะ ผมได้เรียนให้ท่านทราบแล้วว่า ตุลาการ parlementaires ของศาล le Parlement ของประเทศฝรั่งเศส ได้เคยเป็นสาเหตุอันสำคัญของการล้มเหลวในการแก้ “ปัญหาการเมือง”ของประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งได้กลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ ; ผมคิดว่า ในปัจจุบันสภาพกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเราในหลาย ๆ กรณี ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และความล้มเหลวในการดำเนินคดีได้เป็นสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวในการแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศไทย

 

ประเทศไทยมีคดีฟ้องร้องกลับไปกลับมาระหว่างคู่ความเป็นจำนวนมาก มีการกลับคำให้การในระหว่างการสอบสวนและในการพิจารณาคดีในศาลโดยไม่ปรากฎว่ามีการดำเนินคดีฐานให้การเท็จ มีการฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนยากที่จะแยกได้ว่าเป็นการฟ้องโดยสุจริตใจ หรือเป็นการฟ้องเพื่อข่มขู่เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการโดยสุจริต ทั้งนี้โดยไม่พูดถึงความล่าช้าในการสอบสวนและในการดำเนินคดี และความคั่งค้างของคดีจำนวนมาก ; ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึง “ความผิดปกติ”ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเรา ; และเหตุการณ์เช่นนี้ ผมไม่ค่อยพบในประเทศอื่น

 

การที่ผมใช้คำว่า “กฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ก็เพราะผมอยากให้มีความหมายอย่างกว้าง คือ ผมตั้งใจให้มีความหมายรวม ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการตำรวจ ข้าราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการ ผู้พากษา และรวมไปถึงกฎหมายสารบัญญัติในทางอาญา ที่เกี่ยวกับ “อำนาจฟ้อง”ในความผิดอันยอมความและในความผิดต่อรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา 

 

กล่าวโดยทั่ว ๆไป สาเหตุของ “ความผิดปกติ”ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเรา น่าจะมีได้หลายประการและหลากหลาย ผมเห็นว่า กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของเรา ดูจะแยกออกเป็น ๓ กระบวนการ มากกว่าที่จะเป็นหนึ่งกระบวนการยุติธรรม โดยขั้นตอนที่หนึ่งการสอบสวนเป็นของตำรวจ ขั้นตอนที่สองการสั่งคดีเป็นของอัยการ และขั้นตอนสุดท้ายการพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นของศาล โดยในแต่ละขั้นตอนมีลักษณะแยกเป็นอิสระจากกัน และไม่ประสานกัน ; และในกฎหมายว่าด้วยการระบบบริหารงานบุคคลก็เช่นเดียวกัน คือ เรามีกฎหมายว่าด้วยข้าราชการตำรวจ กฎหมายว่าข้าราชการฝ่ายอัยการ และกฎหมายว่าด้วยข้าราชการฝ่ายตุลาการ ฯลฯ ซึ่งมีสาระแยกเป็นเอกเทศและต่าง “รวมศูนย์”ในการบังคับบัญขาหรือการกำกับดูแล 

 

ในการดำเนินคดี ถ้าเรื่องยังไม่เสร็จจากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นตำรวจ พนักงานอัยการก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ; พอมาถึงขั้นตอนการสั่งคดีหรือการสั่งฟ้องของอัยการ แม้พนักงานอัยการเห็นข้อบกพร่องของสำนวนและต้องการทำสำนวนให้สมบูรณ์ พนักงานอัยการจะทำการสอบสวนเพิ่มเติมเอง ก็ทำไม่ได้ ต้องส่งกลับไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม ; นอกจากนั้น เมื่อ ๓ ปีก่อน คือ ต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เราก็มีพระราชบัญญัติว่าด้วย”ระบบการสอบสวนคดีพิเศษ” เพิ่มเติมขึ้นมาอีก โดยเรามีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการคดีพิเศษ คณะกรรมการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขึ้นในกระทรวงยุติธรรม ; ซึ่งดูเหมือนว่า เมื่อเรามี “ปัญหา”ในระบบปกติในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเรา และเรายังแก้ปัญหาไม่ได้หรือแก้ไม่เป็น ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม และเราก็เพิ่ม”ระบบพิเศษ”ขึ้นมา ซึ่งผมสงสัยว่า ในอนาคต ระบบสอบสวนคดีพิเศษนี้ อาจจะเพิ่ม “ปัญหาพิเศษ”ให้แก่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ให้มากขึ้นจากปัญหาที่เรามีอยู่เดิม

 

นอกจากนั้น ในหน้าหนังสือพิมพ์ขณะนี้ ก็ปรากฎข้อขัดแย้งในระหว่างเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม อยู่หลายกรณี เช่น กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอนี้ กำลังจะตั้งข้อกล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ว่า กระทำผิดกฎหมาย หรือ กรณีที่อัยการสูงสุดขัดแย้งกับ”คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ” หรือ คตส. ในเรื่อง “อำนาจฟ้องคดี”ในคดีสำคัญเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ซึ่งผมเห็นว่า ข้อขัดแย้งนี้เป็น “ปรากฏการณ์”ที่ค่อนข้างแปลก คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมของเราขัดแย้งกันเอง แทนที่จะร่วมมือกันทำงาน เพื่อให้”จุดหมาย”ของกฎหมายบรรลุผล 

 

และยังมี “ประเด็น”ไปถึงกับว่า อัยการอาจมีอำนาจไปว่าความให้แก่”จำเลย” ที่เป็นหรือเคยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ถูกฟ้องโดย คตส.ในคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ; ซึ่งในประเด็นนี้ มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “อัยการสูงสุด”ยังสงวนอำนาจตามกฎหมายที่จะพิจารณาว่า อัยการจะเป็นผู้ว่าคดีให้จำเลยดังกล่าวได้ ในเมื่อได้รับคำร้องขอจากจำเลย ; ซึ่งผมเห็นว่า เป็นเรื่องที่ยิ่งแปลกและยิ่งผิดปกติอย่างมาก

 

ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่า “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา”ของเรา ควรจะเป็นอย่างไร และควรแก้ไขอย่างไร แต่ผมเห็นว่า “ความผิดปกติ”ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเราเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะเราได้ปล่อยปละละเลยให้กฎหมายเรื่องนี้เป็นไปตาม “กฎหมาย” ที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย ต่างคนต่างเขียนและต่างคนต่างเสนอกฎหมายกันคนละที มานานแล้ว จนกระทั่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเราอยู่ในสภาพที่พิกลพิการ ; ผมคิดว่า การที่เราจะออกจาก “ปัญหาที่ผิดปกติ”ของ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเราได้ เราคงจะต้องมี “การวิจัย”ตามหลักวิชาการในแนวทางของนิติปรัชญายุคใหม่ คือ ต้องวิเคราะห์ในเชิงของสังคมวิทยาและกฎหมายเปรียบเทียบ ; เพราะเราจะคงต้องรู้ก่อนว่า ปัญหาของเราเกิดจากอะไร “รูปแบบ”ของระบบกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วมีกี่รูปแบบที่จะให้เราเลือก เราจะปรับเปลี่ยน “รูปแบบ”ที่เราเลือกแล้วได้อย่างไรบ้าง และเราจะวางขั้นตอนของการปรับเปลี่ยนกันอย่างไรและจะใช้เวลานานสักเท่าใด 

 

ปัญหาที่แท้จริงของเรา ก็คือ นักกฎหมายและนักวิชาการเราไม่มี”ความรู้”พอที่จะทำการวิจัย แต่เราคงจะต้องมีวิธีการที่จะหา “ความรู้” 

 

ผมคิดว่า เราไม่ควรรอให้เรื่องเหล่านี้เรื้อรังต่อเนื่อง เหมือนกับปัญหา'”นักกฎหมาย”ที่เป็นตุลาการของประเทศฝรั่งเศส ที่เรียกว่า parlementaires ของศาล le Parlement ในอดีต ; ที่ประเทศฝรั่งเศสได้ปล่อยปัญหานี้ไว้ โดยไม่ได้คิดแก้ปัญหาที่เป็น “ปัญหาพื้นฐาน”ของประเทศ จนกระทั่งสภาพทางการเมืองได้กลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงขึ้น 

 

ข้อที่ผมเป็นห่วงและกังวล ก็คือ เราคนไทยไม่รู้ว่า “ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” คือ อุปสรรคสำคัญของการแก้ “ปัญหาทางการเมือง” ผมก็เลยขอถือโอกาสในการมาพูดที่ศาลปกครองนี้ มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ท่านตุลาการของศาลปกครองในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการยุติธรรมสาขาหนึ่ง ได้รับทราบปัญหานี้และปวดหัวไปพร้อม ๆ กับผม 

 

ผมขอจบตอนสุดท้ายที่ผมจะพูดในวันนี้ คือ อนาคตอันมืดมนของประเทศไทย ที่เกิดจาก “คุณภาพ” ของ Elite ของเราเอง ; และผมขอขอบคุณ “ศาลปกครอง”ที่กรุณาเชิญผมมาพูด และขอขอบคุณท่านตุลาการศาลปกครองที่ให้เกียรติมาฟังข้อคิดเห็นของผม ขอบคุณครับ

 

Read Full Post »

เลือกตั้งไทย : ปัญหา และ ทิศทาง

recommendare

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของนักวิชาการคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย  คือ  ท่านอาจารย์อัมมาร  สยามวาลา  ซึ่งเขียนไว้นานมากกว่า  15  ปีมาแล้ว  หรือเมื่อปี  พ.ศ. 2537  แต่เนื้อหาใจความที่ได้พบนั้นไม่ได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  ยังคงสามารถใช้อธิบายปัญหาการเลือกตั้งของสังคมไทยได้ดีในระดับหนึ่ง  หรือในทางกลับกันอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยไม่สามารถหาทางออกหลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ  ถึงแม้ว่าจะพยายามอย่างมากก็ตามในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง  กลไกของระบบ  อาทิ  สถาบัน  องค์กรต่าง   และการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ  อาทิ  รูปแบบ  เงื่อนไขต่างๆ  ของการเลือกตั้ง  เป็นต้น  ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

 

บันทึก

จากบทความหัวข้อ  “เลือกตั้งไทย : ปัญหา และ ทิศทาง”

 

เขียนโดย

 

อัมมาร สยามวาลา
ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ขณะนั้น)
ปิยนุช เพียรชอบ
ผู้ช่วยนักวิจัย ประจำฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสถาบัน (ขณะนั้น)

 

ความมีดังนี้

 

ในสังคมประชาธิปไตย การไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญในการแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย โดยหลักการแล้ว การเลือกตั้งคือ การสื่อสารจากประชาชนไปยังผู้บริหารประเทศและเป็นกลไกเชื่อมโยงความต้องการของประชาชนเข้ากับนโยบายสาธารณะ ดังนั้นการเลือกตั้งต้องเป็นกระบวนการตัดสินใจที่อิสระ ไม่ได้รับการชักจูง จ้างวาน หรือเห็นแก่สินจ้างรางวัลใด ๆ การเลือกตั้งจึงจะบรรลุตามวัตถุประสงค์ ผลของการเลือกตั้งจะแสดงออกถึง ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ในการส่งตัวแทนของตนเข้าไปบริหารประเทศ ด้วยเหตุนี้กระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง และส่งผลกระทบต่อ ผลของการเลือกตั้ง จึงมีความสำคัญเท่าเทียมกับผลที่ได้รับจากการเลือกตั้ง

 

ในประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มามีการซื้อขายเสียงกันอยู่ทั่วไป ผู้สมัครใช้กลยุทธต่าง ๆ ชักจูงประชาชนให้มาเลือกตน ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพียงหวังผลต้องการเอาชนะการเลือกตั้ง ได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อมีอำนาจในการบริหารประเทศ กำหนดนโยบายและออกกฎหมายต่าง ๆ

 

ปรากฏว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งยอมเสียเงินทองมากมายในการหาเสียง บางรายยอมเสียเงินนับสิบล้านบาทเพื่อจะได้เข้ามารับใช้ประชาชน เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน ในการบริหารประเทศ และรับเงินเดือนเพียงไม่กี่หมื่นบาท เมื่อเงินมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งเช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจที่นักธุรกิจเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเปรียบเทียบผลการเลือกตั้งระหว่างปี 2529 กับผลการเลือกตั้งปี 2535 (ครั้งแรก) จะพบว่าสัดส่วนของนักธุรกิจที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเพิ่มจากร้อยละ 39 เป็นร้อยละ 46

 

สมุดปกขาวฉบับนี้จะเสนอให้เห็นถึงสาเหตุที่มาของระบบการซื้อขายเสียงและสาเหตุที่การซื้อขายเสียงยังคงอยู่ แม้จะมีการรณรงค์กันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ ประชาชนไม่ขายเสียงขายสิทธิของตนเอง นอกจากนี้จะเสนอให้เห็นถึงจุดอ่อนของกฎหมาย รวมทั้งอุปสรรคที่ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถขจัดการซื้อขายเสียงได้

 

หัวคะแนนและระบบการซื้อขายเสียง

 

ผู้สมัครจะต้องทุ่มเทเวลาและทรัพยากรเพื่อการหาเสียงมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการด้วยกัน แต่ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดก็คือ ขนาดของเขตเลือกตั้ง

 

การเลือกตั้งในประเทศไทย นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่ 10 (พ.ศ. 2518) จนถึงครั้งที่ 16 (พ.ศ. 2535 ครั้งที่ 2) ใช้รูปแบบการแบ่งเขตแบบ “ผสม” คือ แต่ละเขตจะมีผู้แทนมากกว่า 1 คนแต่ไม่เกิน 3 คน ยกเว้นเขตเล็กที่มีผู้แทนได้เพียง 1 คน

 

เขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนมากกว่า 1 คน จะครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง บางเขตมีอาณาบริเวณห่างกันกว่า 60-70 กม. และมีหน่วยเลือกตั้งนับร้อยหน่วย ตามกฎหมายแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะเริ่มรณรงค์หาเสียงได้ หลังจากที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีเวลาเพียงประมาณ 45 วันเท่านั้น ดังนั้น ในทางปฎิบัติ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้สมัครจะสามารถตะเวนหาเสียงได้ทั่วทั้งพื้นที่เขตของตนโดยลำพัง ผู้สมัครจึงต้องหาผู้ช่วยในการหาเสียง ในพื้นที่ต่างจังหวัดคนที่จะช่วยเหลือ ผู้สมัครได้ดีก็คือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่มีความผูกพันกับชาวบ้าน เคยให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน หรือเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต ของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ชาวบ้านบางพื้นที่อาจจะไม่เคยเห็นหน้าตาผู้สมัครเลย ไม่เคยทราบว่าผู้สมัครมีนโยบายในการบริหารประเทศอย่างไร แต่พร้อมที่จะ ไปเลือกตามคำแนะนำของผู้มีอิทธิพลในท้องที่ ผู้มีอิทธิพลเหล่านี้มีได้หลายระดับ นับตั้งแต่ระดับจังหวัด ซึ่งอาจจะเป็นพ่อค้า คหบดี เจ้าของโรงแรม เจ้ามือหวยเถื่อน ไปจนถึงระดับตำบล หมู่บ้าน ผู้สมัครที่จะมีโอกาสได้รับการเลือกตั้ง จำเป็นจะต้องสร้างเครือข่ายเอาไว้

 

เมื่อการแข่งขันมีมากขึ้น ลำพังคำบอกเล่าชักจูงจากผู้มีอิทธิพลอาจจะไม่เพียงพอ ก็ต้องเริ่มมีหัวคะแนนช่วยในการหาเสียง โดยการแจกเงิน แจกของใช้ต่าง ๆ ซึ่ง เป็นวิธีที่ง่ายแก่การประเมินคะแนนเสียง และช่วยในการวางแผนการหาเสียง

 

หัวคะแนนมักจะเป็นผู้มีอิทธิพลในระดับที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับชาวบ้าน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หัวหน้ากลุ่มต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีสายสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อไปยัง ผู้มีอิทธิพลในระดับอำเภอหรือจังหวัด ดังนั้นในการแจกเงินซื้อเสียงนั้น ผู้สมัครจะฝากความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นทอด ๆ ไปจากผู้มีอิทธิพลในระดับอำเภอหรือจังหวัด ผ่านหัวคะแนนในระดับหมู่บ้านไปยังชาวบ้านที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งในที่สุด

 

สาเหตุสำคัญที่ต้องมีหัวคะแนนช่วยหาเสียงจนพัฒนาขึ้นมาเป็นการซื้อขายเสียงนั้น เนื่องจากเขตเลือกตั้งกว้างขวาง เกินกำลังการหาเสียงของผู้สมัคร แม้ผู้สมัครจะเป็นคนดี แต่ก็จะเป็นที่รู้จักของคนเฉพาะในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่เท่านั้น ไม่สามารถจะครอบคลุมความเชื่อถือของชาวบ้านในเขตอื่น ๆ ได้ ดังนั้นเมื่อผู้สมัครคนอื่นใช้กำลังเงิน ที่เหนือกว่าเข้ามาช่วยในการหาเสียง ผู้สมัครที่เป็นคนดีก็มีโอกาสเป็น ส.ส. สอบตกได้มาก

 

ในระยะยาว ผู้สมัครที่ใช้เงินซื้อเสียงเข้าไปได้ จะพยายามรักษาฐานเสียงของตนเอาไว้ โดยการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น สร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โรงเรียน ให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ หรือแม้แต่จัดเลี้ยงชาวบ้านในท้องที่นั้น ๆ เป็นการขอบคุณที่ได้รับเลือกตั้ง เพื่อสร้างความประทับใจ

 

ทำไมประชาชนผู้เลือกตั้งบางคนจึงยอมขายเสียง

 

ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง สื่อมวลชนแทบทุกประเภทต่างก็ช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนเลือกคนดีเข้ามาเป็นผู้แทนของตน ไม่เลือกคนที่ใช้เงินในการซื้อเสียง แม้แต่ทางราชการในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2535 (ครั้งที่ 1) ก็ได้จัดให้มีโครงการ “สี่ทหารเสือเพื่อประชาธิปไตย” โดยส่งคนเข้าไปรณรงค์ให้ชาวบ้านเข้าใจถึง ความสำคัญของการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น และชี้ให้เห็นผลเสียของการเลือกคนที่ใช้เงินซื้อเสียง แต่ก็เป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้วว่ายังคงมีการใช้เงินในการซื้อเสียงกันอย่างมากมาย

 

สาเหตุที่การซื้อขายเสียงยังคงมีประสิทธิภาพอยู่ในระบบการเลือกตั้งของประเทศไทย ก็เพราะกลุ่มบุคคล 3 กลุ่ม ที่ประกอบอยู่ในกระบวนการเลือกตั้ง ได้แก่ ประชาชน ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และตัวแทนของทางราชการ ยังคงได้รับประโยชน์จากการซื้อขายเสียงนั่นเอง

 

ประชาชน

 

ประชาชนที่อยู่ตามชนบทหรือพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ มักจะขาดแคลนสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โรงพยาบาล โรงเรียน หรือบางแห่งขาดแคลนปัจจัย ในการดำรงชีวิตประจำวัน ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งนำสิ่งของมาแจก แจกเงิน หรือสัญญาว่า ถ้าได้รับเลือกตั้งแล้วจะสร้างสาธารณสมบัติให้แก่ท้องถิ่น จึงไม่มีเหตุผลใดที่ประชาชนหล่านี้จะไม่รับเงินและไม่เลือกบุคคลนั้นเป็นผู้แทน เพราะชาวบ้านย่อมจะไม่เลือกบุคคลที่ไม่ได้ให้อะไรแก่ตนเลย

 

นอกจากการแจกเงินในฤดูกาลเลือกตั้งแล้ว การที่ผู้แทนซึ่งได้รับการเลือกตั้งไปแล้ว ได้พยายามดึงเงินงบประมาณมาก่อสร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โรงเรียน สวนสาธารณะ ก็เป็นการผูกความสัมพันธ์กับชาวบ้านไว้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ประชาชนไม่สามารถรอคอยจากรัฐบาลได้ ดังนั้น เมื่อผู้แทนราษฎรคนใดสามารถดึงงบประมาณ มาก่อสร้างสาธารณูปโภคได้มาก และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในท้องถิ่นนั้น ๆ ก็มักจะได้รับคะแนนเสียงในระยะยาว

 

การที่ประชาชนยังคงเลือกผู้แทนที่ให้ผลตอบแทนแก่ตนและชุมชนอยู่นั้น นอกจากเรื่องผลประโยชน์ที่ได้รับแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งก็คือการที่ประชาชนไม่ทราบว่า หน้าที่ที่แท้จริงของผู้แทนราษฎรคืออะไร และมีความสำคัญต่อประเทศโดยส่วนรวมอย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าผู้แทนของตนคือผู้ที่จะนำถนน ไฟฟ้า น้ำประปา มาให้ หรือแม้แต่ไปหาได้เมื่อมีเรื่องเดือดร้อน โดยไม่ได้ตระหนักว่าผู้แทนราษฎรต้องทำงานบริหารประเทศทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะพื้นที่เท่านั้น ประชาชนจึงยังเลือกผู้แทนประเภทนี้อยู่โดยไม่ได้สนใจว่าผู้แทนนั้นจะบริหารประเทศอย่างไร ได้ผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหนจากตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับ ดังมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในหลายพื้นที่

 

ผู้สมัครรับเลือกตั้ง

 

จากการที่ตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับหลังจากการเลือกตั้ง สามารถนำผลประโยชน์มาให้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมากมายมหาศาลนั่นเอง ที่เป็นแรงจูงใจ ให้ผู้สมัครยอมลงทุนเป็นจำนวนเงินนับสิบล้านบาทเพื่อซื้อเสียง โดยหวังที่จะชนะการเลือกตั้ง ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรเข้าไปนั่งในสภา เพื่อควบคุมการกำหนดนโยบาย และกฎหมายต่าง ๆ ที่จะยังประโยชน์ให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ ของตน

 

เมื่อประชาชนยอมรับผู้สมัครที่ใช้เงินซื้อเสียง และการได้รับผลตอบแทนก็กลายเป็นประเพณีนิยมไปแล้วนั้น ผู้สมัครที่ไม่แจกเงินจึงกลายเป็นคนแล้งน้ำใจไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สมัครหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับเลือก ยังไม่มีผลงานมาก่อน ย่อมไม่สามารถที่จะเอาชนะการเลือกตั้งได้เลย ดังนั้น ถ้าผู้สมัครหน้าใหม่ต้องการจะชนะ การเลือกตั้งให้ได้ ก็คงจะต้องใช้เงินในจำนวนที่มากกว่าจึงจะสามารถแย่งเสียงมาได้ ยกเว้นแต่ในพื้นที่ที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างแท้จริงเท่านั้น ที่คนดีมีอุดมการณ์ และต้องการทำงานเพื่อประชาชนอย่างจริงใจจะสามารถชนะการเลือกตั้งได้

 

ตัวแทนของทางราชการ

 

ตัวแทนของทางราชการ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกสภาเทศบาล นักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ ที่จะให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นกลุ่มบุคคลที่มักจะได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากผู้สมัคร โดยมากแล้วหัวคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งก็มักจะเป็นคนในกลุ่มนี้ ทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนักการเมืองท้องถิ่น นอกจากจะได้เงินเป็นค่าตอบแทนแล้วยังเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เช่น ถ้าผู้ที่ตนสนับสนุนได้รับเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎร ก็มักนำงบประมาณเข้ามาพัฒนาท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกสภาเทศบาล ก็จะได้ความดีความชอบ ผู้สมัครก็จะได้สะสมคะแนนไว้ในการเลือกตั้งของตนครั้งต่อไป ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน หรือแม้กระทั่งได้รับผลประโยชน์จากการทำธุรกิจร่วมกันด้วย สำหรับข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ที่จะให้คุณให้โทษแก่นักการเมืองได้นั้น ก็จะได้รับผลตอบแทนในการให้ความร่วมมือเช่นกัน ความร่วมมือจากข้าราชการเหล่านี้มีหลายรูปแบบ นับตั้งแต่การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่รับรู้การซื้อขายเสียง หรือการทุจริตใดๆ ที่เกิดขึ้น กระทั่งให้ความร่วมมือในการกระทำผิดเอง

 

ข้าราชการที่มีหน้าที่กวดขันจับกุมการกระทำทุจริตในการเลือกตั้งนั้น ถ้ามีความตั้งใจที่จะจับกุมผู้กระทำผิดให้ได้ ก็ต้องเสี่ยงเอาว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นจะได้รับ การเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าบังเอิญผู้สมัครคนนั้นได้รับเลือก ก็คงจะต้องมีการแก้แค้นคืนกันต่อไป จึงทำให้ไม่มีข้าราชการคนใดกล้าหาญพอที่จะกวดขันอย่างแท้จริง แม้จะมีการซื้อขายเสียงกันอย่างโจ่งแจ้งเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไป

 

เพราะเหตุใดกฎหมายที่มีอยู่จึงไม่สามารถขจัดการซื้อขายเสียง และการทุจริตในการเลือกตั้งได้ ?

 

ในการเลือกตั้งหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการใช้จ่ายเงินในการซื้อเสียง และมีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งกันมากมาย โดยแต่ละพรรคการเมืองต่างก็กล่าวโทษกันว่า พรรคคู่แข่งมีการแจกเงินซื้อเสียง แต่ก็ไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ เกิดขึ้นเลย ถึงจะมีกฎหมายที่ระบุความผิดและบทลงโทษไว้อย่างชัดเจนก็ตาม

 

อะไรคือปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้กฎหมายไม่สามารถขจัดการทุจริตในการเลือกตั้งได้ ในที่นี้จะขอพิจารณา 2 ประเด็นคือ ปัญหาและอุปสรรคในการตรวจจับเอาความผิด กับผู้กระทำ และปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

 

ปัญหาและอุปสรรคในการตรวจจับเอาความผิดกับผู้กระทำความผิด

 

ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 (รวมแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) มีข้อกำหนดหลายข้อที่กำหนดขึ้น เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการหาเสียง ไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ร่ำรวยได้เปรียบผู้สมัครที่ยากจนกว่า โดยการใช้เงินซื้อเสียง ให้ประชาชนทุกคน มีเสรีภาพในการเลือกใครก็ได้โดยไม่ถูกชักจูง และให้ผลการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด แต่ในการดำเนินการตามข้อกำหนดต่าง ๆ นั้นยังมีอุปสรรค อีกมากที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้

 

ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ ได้ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเกิน 1 ล้านบาท โดยต้องแจ้งค่าใช้จ่ายทั้งหมดภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งในความเป็นจริงมีผู้สมัครไม่กี่คนเท่านั้นที่แจ้งยอดค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริง และในทางปฏิบัติการตรวจสอบเป็นไปได้ยากมาก เพราะการที่จะตรวจสอบได้ ต้องติดตามประเมินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครผู้นั้นไปตลอดระยะเวลาการหาเสียง การตรวจสอบที่กรมการปกครองใช้อยู่นั้น อาศัยการยื่นใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของผู้สมัคร กระบวนการดังกล่าวนี้ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าถ้าผู้สมัครใช้จ่ายเกิน 1 ล้านบาท ก็จะไม่ยื่นใบเสร็จรับเงินส่วนที่เกินให้แก่เจ้าหน้าที่ และทางราชการก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้สมัครใช้เงินไปมากกว่านี้

 

นอกจากนี้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่มีผู้สมัครรายใดที่เพิ่งจะเริ่มหาเสียงภายหลังประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง แทบทุกคนจะต้องเริ่มหาเสียงก่อนหน้านั้นแล้ว และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งก็อยู่ภายนอกการควบคุม

 

สำหรับการซื้อขายเสียงนั้น จะมีการวางแผนกันอย่างเป็นระบบ และไม่เหลือหลักฐานอะไรไว้ให้เลย จะมีผู้รู้ก็เพียงผู้รับและผู้จ่ายเท่านั้น ดังนั้นการเอาผิดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าจะทราบว่ามีการรับเงินกันก็ตาม มิหนำซ้ำกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวย ให้ผู้ขายเสียงมาแจ้งความเอาผิดกับผู้สมัครเพราะตามกฎหมายผู้ขายเสียงก็มีความผิดเช่นกัน

 

ยังมีการทุจริตในแบบอื่น ๆ ในการเลือกตั้ง เช่น “พลร่ม” ซึ่งหมายถึงการไปลงคะแนนเสียงโดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ สามารถทำได้โดยซื้อบัตรประจำตัว ประชาชนของผู้อื่นและมาทำการปลอมแปลง แล้วนำไปเลือกตั้ง วิธี “ไพ่ไฟ” หมายถึง การใช้บัตรที่ปลอมแปลงขึ้นมาไปทำการเลือกตั้ง และวิธีการอื่น ๆ กล่าวคือ การลงคะแนนเสียงมากกว่าหนึ่งแห่ง การแก้ไขจำนวนบัตรเลือกตั้งและจำนวนผู้มาใช้สิทธิ การนำบัตรเลือกตั้งออกจากคูหาเลือกตั้ง การใช้บัตรที่กรรมการมิได้มอบให้ การที่คะแนนของผู้สมัครเพิ่มอย่างผิดสังเกตภายหลังไฟดับในระหว่างการนับคะแนน เป็นต้น การทุจริตประเภทนี้จะไม่สามารถทำได้ถ้าเจ้าหน้าที่ประจำ หน่วยเลือกตั้งไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นการจะจับผู้กระทำผิดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในบางหน่วยเลือกตั้งที่มีการซื้อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยหมดทั้งหน่วย

 

ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

 

1. ปัญหาเกี่ยวกับผู้มีอำนาจฟ้องร้องคดี

ความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งเป็นความผิดคดีอาญา ผู้ที่มีอำนาจในการฟ้องร้องมี 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้เสียหายและพนักงานอัยการ

 

ผู้เสียหาย  ในที่นี้ก็คือ พรรคการเมืองหรือผู้สมัครคู่แข่งที่ลงสมัครในเขตที่มีความผิดเกิดขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่ค่อยมีการฟ้องร้องกันเอง เพราะส่วนมากต่างก็กระทำ ความผิดด้วยกันทั้งสิ้น หรือสำหรับผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด จะฟ้องร้องได้ก็ต้องมีหลักฐานที่แน่นหนาเพียงพอ ทั้งในเวลาที่เกิดความผิดขึ้นก็จะเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง ผู้สมัครทุกคนต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดในการหาเสียง จึงไม่มีเวลาหรือบุคลากรที่เพียงพอที่จะหาหลักฐานได้ นอกจากนี้ในกรณีที่เคยมีการฟ้องร้องกัน ศาลยังเคยตัดสินว่า จะประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ก็ต่อเมื่อโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ว่า จำนวนรายที่มีการทุจริตนั้นมากพอ ที่จะทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างอื่นไปได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าผลต่างระหว่างโจทก์กับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเป็นคนสุดท้าย คือ 5,000 เสียง โจทก์จะต้องพิสูจน์การทุจริตเป็นกรณี ๆ ไป จนกระทั่งครบ 5,000 กรณี และการทุจริตนี้ทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไป ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะพิสูจน์กันได้ง่าย ๆ

 

ในส่วนของ  พนักงานอัยการ การจะฟ้องร้องได้ต้องมีสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน และมีพยานหลักฐานที่แน่นหนาจึงจะส่งฟ้องศาลได้ ปัญหาที่สำคัญก็คือ ทางราชการมีบุคลากรไม่เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการรวบรวมหลักฐาน แต่ปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ไม่มีใครต้องการเอาตัวเองเข้าไปพัวพันกับการฟ้องร้องดังกล่าว เพราะถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นได้รับเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองนั้นได้มีโอกาสเข้ามาควบคุมการทำงานของหน่วยงานของผู้ที่ดำเนินการฟ้องร้อง ก็ย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ที่พยายามจะฟ้องร้องและจะต้องถูกกลั่นแกล้งอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงไม่มีใครต้องการเอาตัวเองเข้ามาเสี่ยง จึงไม่เคยมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นเลย

 

2. ปัญหาเกี่ยวกับพยานหลักฐาน


การทุจริตในการเลือกตั้งจะดำเนินการกันอย่างเป็นระบบ บางวิธีจะไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ เลย

 

ในการซื้อขายเสียงนั้นกฎหมายระบุว่าทั้งผู้ให้และผู้รับต่างก็มีความผิด แต่ในขณะที่การให้และการรับเงินจะมีก็แต่เพียงผู้ให้และผู้รับเท่านั้นที่รู้เห็นกัน ไม่มีหลักฐานอะไร จะมีก็แต่ผู้รับเท่านั้นที่จะเป็นพยานได้ว่าได้รับจริง แต่ในเมื่อผู้รับเองก็มีความผิด ดังนั้น การจะให้ผู้รับออกมายืนยันว่ารับเงินจริงก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

 

ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในการเลือกตั้ง

 

รัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อกำจัดการซื้อขายเสียงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ห้ามเลี้ยงโต๊ะจีน ห้ามจัดงานเลี้ยงในช่วงก่อนการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถกำจัดการซื้อขายเสียงได้ เพราะผู้สมัครที่จะซื้อเสียงก็หาวิธีให้ผลตอบแทนรูปแบบใหม่ ๆ เช่น จัดทัศนาจรก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง การจัดงานเลี้ยงขอบคุณแก่ประชาชนในท้องถิ่น ภายหลังการเลือกตั้ง และพัฒนารูปแบบการแจกเงินให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจนยากแก่การพบเห็น

 

ในการเลือกตั้งครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งรับผิดชอบดำเนินการเลือกตั้ง ได้ตระหนักถึงปัญหาการซื้อขายเสียงที่มีอยู่ทั่วไป จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่รู้จักกันในนามของ “องค์กรกลาง” เพื่อเป็นหน่วยงานอิสระไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ กับการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง และตรวจสอบการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด

 

เนื่องจากองค์กรกลางเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ มีเวลาเตรียมตัวไม่มากนัก และยังไม่มีประสบการณ์ การทำงานจึงเป็นลักษณะทำไปคิดไป การประสานงานยังไม่ดีนัก และอุปกรณ์ก็ยังไม่พร้อม จึงทำให้การทำงานยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าใด

 

จากการทำงานขององค์กรกลางเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (22 มีนาคม 2535) มีการแจ้งเหตุกล่าวหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการเลือกตั้งดังในตารางที่ 1

chart 1

จากตารางที่ 1 พบว่า ฝ่ายบริหารส่วนท้องถิ่นระดับตำบล หมู่บ้าน ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทุจริตในการเลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 23.75 ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเพราะบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิก หรือหัวคะแนนให้แก่พรรคการเมืองอยู่แล้ว

 

จำนวนข้าราชการประจำก็ถูกกล่าวหาในสัดส่วนที่สูงเช่นกันคือ ร้อยละ 13.26 ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด นอกจากนี้ฝ่ายบริหารส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดก็ถูกกล่าวหาด้วย แม้จะมีสัดส่วนไม่สูงนัก อาสาสมัครขององค์กรกลางยืนยันว่าข้าราชการระดับสูงของจังหวัดบางจังหวัดใช้อำนาจหน้าที่ให้คุณให้โทษแก่นักการเมืองบางคน แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันความผิดจนถึงขั้นส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยหรือนายกรัฐมนตรีพิจารณาได้ ในจำนวนนี้ฝ่ายที่รับแจ้งเหตุได้รับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัด 10 ราย รองผู้ว่าราชการจังหวัด 4 ราย นายอำเภอ 58 ราย และตำรวจ 100 ราย มีการใช้อำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษแก่นักการเมืองบางคน ในบางจังหวัด ข้าราชการระดับสูงไม่ให้ความร่วมมือแก่องค์กรกลางในการทำงาน และบางจังหวัดมีการข่มขู่อาสาสมัครขององค์กรกลางด้วย

 

นอกจากนี้การพิจารณาเรื่องของการทุจริตที่ส่งเพื่อพิจารณา ในบางจังหวัดก็ดำเนินการล่าช้า โดยองค์กรกลางได้ส่งเรื่องการทุจริตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาทั้งสิ้น 195 เรื่อง แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจนถึงขั้นฟ้องร้องแม้แต่เรื่องเดียว โดยให้เหตุผลว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอ บางจังหวัดมีการส่งหนังสือตอบแก่องค์กรกลาง ล่าช้าทำให้ไม่สามารถส่งเรื่องฟ้องร้องได้ทันเวลา

 

การดำเนินการขององค์กรกลางไม่สามารถกำจัดการทุจริตในการเลือกตั้งได้ จะมีผลก็คือทำให้รูปแบบในการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น เช่น เมื่อกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านไม่สะดวกที่จะเป็นหัวคะแนนได้อย่างออกนอกหน้าเหมือนเดิม ก็เปลี่ยนให้ภรรยามาทำหน้าที่แทน โดยหาเสียงผ่านทางกลุ่มแม่บ้าน หรือกลุ่มชุมชนต่าง ๆ นอกจากนี้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือ หัวคะแนนจะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นเพราะมีความเสี่ยงต่อการถูกจับมากขึ้น และรูปแบบการแจกเงินก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

 

สรุป

 

การซื้อขายเสียงได้กลายเป็นประเพณีนิยมสำหรับประชาชนชาวไทยไปแล้ว เมื่อสิ่งที่ประชาชนต้องการจากรัฐบาล รัฐบาลไม่สามารถให้ได้ แต่ประชาชนสามารถได้รับ จากผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือจากผู้แทนที่ตนได้เลือกไปแล้ว ดังนั้น ในระยะยาวผู้สมัครคนนั้นก็จะยังได้รับการเลือกตั้งอยู่ แม้ว่าในหน้าที่การบริหารประเทศ จะไม่ได้ทำเพื่อประชาชนส่วนรวมเลย

 

ความพยายามของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้งนั้น ไม่สามารถทำให้บรรลุผลได้ เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างก็ได้รับประโยชน์ จากการซื้อขายเสียงนั้น แม้ว่าจะมีการจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาเป็นองค์กรอิสระ แต่เมื่อไม่มีอำนาจในการตัดสินอะไรได้ องค์กรกลางก็ไม่สามารถที่จะกำจัดการซื้อขายเสียงได้ เพียงแต่มีผลให้การซื้อขายเสียงเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเท่านั้น

 

แต่กำเนิดขององค์กรกลางในการเลือกตั้งในปี 2535 ทั้งสองครั้งนั้นชี้แนวว่า ตราบใดข้าราชการที่บริหารการเลือกตั้ง ยังต้องอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้งเช่นกันนั้น ข้าราชการที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องการเลือกตั้งจะไม่สามารถขจัดการทุจริตในการเลือกตั้งลงได้เลย

 

Read Full Post »

รัสเซีย กับ โลกาภิวัฒน์

triamboy

RUSSIA vs Globalisation

 

เมื่อครั้งศึกษาชั้นปีที่  3  ของการเรียนในมหาวิทยาลัย  ผู้เขียนได้มีโอกาสสร้างสรรค์รายงานการศึกษาเรื่อง  “รัสเซีย  กับ  โลกาภิวัฒน์; ผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ต่อเศรษฐกิจ  สังคมรัสเซีย  และการตั้งรับโลกาภิวัฒน์”  ขึ้น  ด้วยความสนใจของผู้เขียน  และเพื่อนร่วมงาน  ภายใต้การศึกษารายวิชา  การวิเคราะห์ตลาดโลก  Global Market Analysis   ซึ่งสอนโดยอาจารย์ รศ. ดร.สมภพ  มานะรังสรรค์  ผู้เชียวชาญในการสังเกต  ติดตาม  วิเคราะห์สถาณการณ์โลกคนหนึ่ง

 

ผู้เขียนเข้าใจว่างานเขียนที่เกี่ยวข้องกับประเทศรัสเซียที่เป็นภาษาไทยนั้น ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย  และยากต่อการค้นหา  ศึกษา  ท่ามกลางความน่าสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องของรัสเซียในพัฒนาการด้านต่างๆ  ดังนั้นการนำมาเผยแพร่  ณ  ที่นี้  ผู้เขียนจึงมีความคาดหวังว่า  ผู้อ่าน  รวมถึงผู้ที่สนใจจะได้รับความรู้  ข้อมูล  อันที่จะนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อไปแก่ตนเอง  และสังคม

 

 

ความสำคัญและวัตถุประสงค์

 

ความท้าทายสำหรับรัสเซียในการนำประเทศสู่ความทันสมัย  ทัดเทียมอารายะประเทศ  คือ  การบูรณาการโครงสร้างของประเทศเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโลก  ทั้งการปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจ  การเมือง  และการปรับตัวให้เข้ากับ  บรรทัดฐานสำคัญ  กฎเกณฑ์  ระเบียบ  สถาบันต่างๆของโลก  ต้องใช้เวลานานพอควร  และอย่าคาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่ผลลัพธ์ภายในระยะเวลารวมเร็ว  การกำหนดบทบาท  สถานะของรัสเซียเองบนเวทีโลกจะเป็นในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป  และมีลักษณะ การปรับตัวที่ค่อนข้างขัดแย้งกับ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสิ่งแวดล้อมภายนอก  การเปลี่ยนแปลงนี้ มาจากผลของสิ่งที่เรากำลังวิภาควิจารณ์  ถกเถียงกันอย่างมาก  นั่นคือ  โลกาภิวัฒน์  ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าคือ  กระบวนการสร้างความเป็นสากล ณ ระดับที่สูงขึ้น  สำหรับรัสเซียแล้ว  กระบวนการนี้  ส่าสุดมีลักษณะอย่างคร่าว  ดังนี้

 

–               การขยายความสัมพันธ์เป็นอย่างมาก  ระหว่าง  การเพิ่มขึ้นของตัวแปรระหว่างประเทศ  และระดับการพึ่งพากันระหว่างประเทศ

–               การบูรณาการของ  เศรษฐกิจ  การเงิน  สังคม  การเมือง  และการจัดการทรัพยากร

–               ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

–               การเปิดเสรีภาพทางการค้า  และพาณิชย์

–               การเปลี่ยนแปลงบทบาทของรัฐบาล  และ  เอ็นจีโอ  ในกระบวนการตัดสินใจ

 

อย่างไรก็ตาม  จุดประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้  คือ  การแสดงพัฒนาการของโลกาภิวัฒน์ในรัสเซีย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่แปลกของรัสเซีย  หรือแตกต่างจากประเทศตะวันตก  การศึกษานี้จะกล่าวถึง กระบวนการปรับตัวต่อโลกาภิวัฒน์  และผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ต่อเศรษฐกิจ  และสังคมของรัสเซีย  ภายใต้บริทบภายในประเทศ  โดยการวิเคราะห์ตัวแปรภายใน  และตัวแปรภายนอก  ภายในรายงาน ฉบับนี้จะกล่าวถึง

 

–               ดินแดนย่อยต่างๆ ในรัสเซีย เริ่มมีบทบาทเป็นผู้เล่นในเวทีโลก

 

–               โลกาภิวัฒน์ภายในประเทศรัสเซีย  เป็นไปในลักษณะที่ส่งผลไม่เท่าเทียมกันในแต่ละ เขตการปกครอง  รวมทั้้งเป็นลักษณะที่มีการแข่งขันกันระหว่างดินแดนต่างๆ

 

–               จากความไม่เท่าเทียมกัน  และภาวะการแข่งขันกันนี้  นำมาซึ่ง  โอกาสใหม่ๆ  และความท้าทายต่างๆ  สำหรับรัสเซีย

 

จากผลของโลกาภิวัฒน์  ณ  ปัจจุบันนี้  จำเป็นอย่างยิ่งที่เราไม่ควรคาดการณ์ผลที่เกิดขึ้นเกินจริง  จะเห็นได้้จาก  พัฒนาการของระบบสหพันธรัฐของรัสเซีย  โดยพื้นฐานแล้วเป็นผลมาจากการพัฒนาภาย ในประเทศ  เช่น  การขยายอำนาจในลักษณะแนวดิ่งมากขึ้น  การประกาศใช้กฎ  ข้้้อบังคับ  บังคับใช้กับรัฐบาลของรัฐ  รายงานฉบับนี้ผู้ศึกษาได้ให้ความเห็นไว้ว่า  โลกาภิวัฒน์ในรัสเซียยังด้อยพัฒนา  เนื่องมาจากปัญหาหลักของรัสเซีย  ที่ว่า  ถ้ารัสเซียไม่สามารถบูรณาการกระบวนการต่างๆเข้ากับโลกได้  พร้อมกันนั้นกระแสของโลกาภิวัฒน์ ยังคงหมุนต่อไป  ผลที่จะเกิดขึ้น  คือ  รัสเซียจะแยกตัวออกมาจากโลกาภิวฒน์  และจะด้อยพัฒนา  ในไม่กี่ทศวรรษอันใกล้นี้

 

ความสำคัญในการศึกษาในครั้งนี้  สามารถแสดงได้ดังนี้ 

 

๑.)  แม้นว่าประเทศรัสเซียจะด้อยพัฒนา ในด้านโลกาภิวัฒน์  แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาคมโลก  หรือแต่ละประเทศ  นั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อ การพัฒนาภายในประเทศของรัสเซีย  ในบางบริบท  ผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน  หรือไม่สามารถจับต้องได้  แต่เราไม่ควรเพิกเฉยกับผลกระทบที่เกิดจากโลกาภิวัฒน์  เห็นได้ชัดเจนจากกรณี  การปฏิรูปสหพันธรัฐของประธานาธิปดีปูติน  เมื่อ  พฤษภาคม  ค.ศ.  ๒๐๐๐  อันเนื่อง มาจากการพัฒนาของประชาคมโลก  นักลงทุนต่างประเทศมีการสับสนระหว่างกฎของสหพันธรัฐ  และกฎของรัฐ  การปฏิรูปครั้งนี้จึงเกิดจากปัจจัยภายนอก  รวมทั้งจะได้เป็นการกำจัดการปกครองแบบ เขตการปกครองตนเอง  

 

๒.)  ผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น  คือ การแยกตัวออกห่างมากขึ้น จากประเทศตะวันตก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย  และสหภาพยุโรป  ในกรณีของแคว้นคาลินินกราด  แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีความวิตกกังวลกับเส้นแบ่งแยกระหว่างประเทศ ที่มีความเป็นสากล  และรัสเซีย  ในสหภาพยุโรป   

 

๓.)   โลกาภิวัฒน์นำมาสู่การขาดความมีเสถียรภาพ ของรัสเซียทั้งทางเศรษฐกิจ  สังคม  เนื่องจากไม่ทุกประเทศที่สามารถกระทำตามสมมติฐานของ การแบ่งงานกันทำได้ในประชาคมโลก  รัสเซียเอง ก็เป็นเช่นนั้น  รัฐต่างๆ  ยังมีความวิตกกังวลในมุมมอง ที่รัสเซียจะกลายเป็นที่ทิ้งกากปฏิกรนิวเคลียร์ ของประเทศต่างๆ  รวมทั้งจะกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบราคาถูก¹ ที่ดีแห่งหนึ่ง  ในขณะเดียวกัน บางแคว้นได้แยกตัวเองออกห่างจากสหพันธรัฐมากขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ  และสังคม  ด้วยแนวคิดที่ว่า  ดินแดนขนาดเล็กจะมีโอกาสมากว่าที่จะได้รับผลประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์  ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนี้  กระตุ้นให้มีการปฏิกิริยาตอบโต้กับโลกาภิวัฒน์จากผู้มีอำนาจในการปกครอง   

 

๔.)   โลกาภิวัฒน์ได้เปลี่ยนแปลง ความเข้าใจในความมั่นคงของสหพันธรัฐเปลี่ยนไปจากเดิมที่ว่า  ความมั่นคง มีความสัมพันอย่างมากกับ  กองทัพ  อาวุธ  ยุทโธปกรณ์อย่างเดียว  แต่  ณ วันนี้  ความมั่นคงมีความสัมพันธ์ อย่างมากกับ  ขนาดของการบูรณาการประเทศเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ กระบวนการโลกาภิวัฒน์  และสถาบันระหว่างประเทศ  สิ่งเหล่านี้สร้างความท้าทายอย่างมากกับสหพันธรัฐ  และผู้มีอำนาจปกครอง ดินแดนต่างๆ

 


 

ขอบเขตการศึกษา

 

เอกสารฉบับนี้ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ต่อประเทศรัสเซีย  ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  และสังคม  โดยจะทำการศึกษาสภาพเศรษฐกิจ  และสังคม  ของสหพันธรัฐรัสเซียโดยทำการศึกษาหลังปี  ค.ศ.  ๑๙๙๐  โดยจะเน้นการศึกษาในช่วงเวลานี้  เนื่องจากช่วงเวลานี้  เป็นช่วงที่รัสเซียมีการเปิดประเทศ  อันเป็นผลมาจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต  เปลี่ยนการปกครองจากการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์  เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย  อันมีประธานาธิบดีเป็นประมุข  และปฏิรูปเศรษฐกิจ เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ จากแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาด  หรือทุนนิยม  ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ที่มีพลวัตสูง ณ  ปัจจุบันนี้

 


 

 

บทที่  ๑:  สภาพทางเศรษฐกิจ  และสังคม

 

แนวคิดเกี่ยวกับช่องว่าง:  ลัทธิดินแดนนิยมในรัสเซีย  และประเทศตะวันตก

 

ปัญหาลัทธิดินแดนนิยมในรัสเซียตกเป็นที่สนใจต่อประชาคมโลกอีกครั้ง  อันเนื่องมาจากเจ้า ของความคิด ลัทธินิยมในประเทศตะวันตกต่างๆ  ต่างประหลาดใจที่ทฤษฎีลัทธิดินแดนนิยมทางตะวันตก  ตรงกับลักษณะ ของสหพันธรัฐรัสเซีย  แต่ทฤษฎีนี้ไม่สามารถใช้อธิบายได้ทุกดินแดน  ทุกแคว้น  ทุกเขตการปกครองของรัสเซียได้  จากการศึกษาจำนวนมาก  เกี่ยวกับนโยบายของดินแดนภาย ใต้การปกครองของรัสเซียในการสร้างความเป็นสากล  สามารถตั้งข้อสมมติได้ดังนี้

 

               ขอบเขตที่กำลังกว้างขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตทางการเมือง  สังคม  เศรษฐกิจนี้  ในไม่ช้าจะไม่สามารถจะบริการ  จัดการได้โดยรัฐบาลกลาง


               ความแตกต่างทางการเมืองชั้นสูง  และการเมืองขั้นต่ำที่เป็นมาแต่อดีต  กำลังจะลดลง  และกำลังรวมทั้งสองรูปแบบเข้าด้วยกัน


                 สถานะของรัฐบาลแต่ละดินแดน  ควรตระหนักถึงความจำเป็นของคนท้องถิ่น  คนพื้นเมือง  ในพื้นที่ซึ่งมีหน้าที่โดยเฉพาะ  คนเหล่านั้นไม่สามารถพอใจได้  ถ้ารัฐบาลของดินแดนนั้น ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบระหว่างประเทศให้มากขึ้น


               นโยบายการสร้างท้องถิ่นในบริบทของการต่างประเทศนั้นแท้จริง  คือ  การสร้างรูปแบบ พฤติกรรมทางอ้อม  โดยรัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายที่กำหนดสภาพแวดล้อมทางสังคม  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้  จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบความขัดแย้ง  และ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลาง  และรัฐบาลดินแดนนั้นๆ

 

ท่ามกลางการจับตามองของประชาคมโลก  รัสเซียกำลังหาจุดที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่าง โลกาภิวัฒน์  และการสร้างดินแดน  เขตการปกครอง  หรืออธิบายได้ในอีกทางหนึ่ง   คือ  การให้พันธสัญญา กับภายในประเทศ  และภายนอกประเทศ  โดยการสร้างดินแดน  หรือเขตการปกครองที่พิเศษ  ในรัสเซียมีลักษณะที่ไม่เหมือนใคร  ไม่เหมือนกันประเทศตะวันตก  สามารถอธิบายได้ดังนี้

 

               พลังขับเคลื่อนระว่างประเทศของดินแดนต่างๆ ในรัสเซีย  มีลักษณะคล้ายกับกลยุทธ์ การต่อสู่กับ วิกฤตการมากกว่า  กลยุทธิ์รูปแบบการรวมตัวของรัฐบาลดินแดนต่างๆ  ด้วยเหตุนี้ทำให้ กิจการต่างประเทศของดินแดนนั้นถูกกำหนดโดย  ผู้มีอำนาจทางการเมือง  หรือผู้อำนาจทาง การบริหาร  ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะสนันสนุนโครงการ  ความคิด  ข้อเสนอ  ที่ส่งเสริม ฐานทางการเมืองโดยตรง  เช่น  บอริส  เนมทอฟ  แห่งแค้วนนิจนีนอฟโกรอด,  เยฟจีนี  นาซดราเทนโค  แห่งดินแดนปรีมอร์สกี  และมิคาอิล  นิโคเลฟ  แห่งสาธารณรัฐยาคูตียา  ในความเป็นจริงแล้วกิจการต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่ง  ของการเมืองอุปถัมภ์  ซึ่งใช้โดยแพร่หลาย ในแคว้นต่างๆ


               ในยุโรปตะวันตกนั้น  ความชื่อมั่นในการปกครองตนเองของประเทศต่างๆถูกเติมเต็ม โดยสหภาพยุโรป  ในทางกลับกัน  ผลกระทบโดยตรงจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต  ทำให้การสร้างดินแดน  หรือเขตการปกครองตนเองในรัสเซีย  ถูกพัฒนาภายใต้สถาณการณ์ ที่กระบวนการต่างๆไม่ประสานกัน  ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน  กอปรกับการกระจายอำนาจ จากรัฐบาลกลางไปยังรัฐบาลของดินแดน  เขตการปกครองต่างๆ   เห็นได้ว่ารัสเซีย ไม่เหมือนกับประเทศตะวันตกตรงที่ขาด  แรงขับเคลื่อนของการรวมตัวกันที่แข็งแรง    ที่น่าสนใจคือ  ทัศนคติการต่อต้านการประสานกัน  เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะ ในกลุ่มผู้นำดินแดนต่างๆ  เช่น  คนแรกที่สนับสนุนทัศนคตินี้  คือ  บอริส  เนมทอฟ  แห่งแค้วนนิจนีนอฟโกรอด  คนถัดมาคือ  เมนติเมอร์  ไฮมีฟ  แห่งสาธารณรัฐตาตาร์สถาน  และ  รัสเลน  อูเชฟ  แห่งสาธารณรัฐอินกูเชเตีย  เห็นได้ว่าความไม่แน่นอนในความสามารถ ของรัสเซียที่จะกลายเป็นผู้นำในภูมิภาค  เสมือนเป็นตัวชี้วัดแสดงความอ่อนแอ ในจุดยืนของรัสเซีย


               ความแตกต่างในการรับรู้  เข้าใจ  และการตีความ  “รัฐฐาธิปัตย์”  และหน้าที่ของรัฐ  ในบริบทของโลกปัจจุบันนี้  ยังคงเป็นที่ถกเถียงอย่างมากของผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ของรัสเซีย  ว่า  เหมาะสมหรือไม่ที่จะยอมรับรัฐฐาธิปัตย์ที่ใช้อยู่ในดินแดนต่างๆ  สำหรับ คนส่วนใหญ่ในรัสเซียที่ยังยึดติดกับแนวคิดที่ว่า  รัฐฐาธิปัตย์แห่งรัฐ  หรือของดินแดนนั้น  ไม่สามารถแบ่งแยกออกเป็นส่วนได้ จะปฏิเสธที่ยอมรับรัฐฐาธิปัตย์ที่มาจากสหพันธรัฐเข้ามา ในรัฐฐาธิปัตย์แห่งรัฐ  ในเนื้อหาของกฎหมายระหว่างประเทศ  เห็นได้ว่า  รัสเซียยังคงต้องเรียนรู้อีกนานว่า  รัฐฐาธิปัตย์  ไม่ได้ถูกใช้แทนสถานะ  หรือระดับของ ความเป็นอิสระทางการเมือง

 


ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างดินแดน

 

ในปี ค.ศ. ๑๙๙๐ มีการกระจายอำนาจจากรัฐบาลกลางไปยังรัฐบาลดินแดนต่างๆ  ซึ่งเป็นปัจจัยหลักใน การพัฒนาการเมืองของรัสเซีย  แต่อย่างไรก็ตาม  ดินแดนต่างๆมีบทบาทไม่เท่าเทียมในเวทีระหว่างประเทศ  ไม่ทุกดินแดนที่จะมีบทบาทสำคัญ  และแต่ละดินแดนมีบทบาทต่างกัน  ความแตกต่างระหว่าง ดินแดนที่พัฒนามากที่สุด  และน้อยที่สุด  โดยใช้ตัวชี้วัดทางสังคม  และเศรษฐกิจแล้วจะพบว่า มีสัดส่วนต่างกันมากถึง  ๕๐ : ๑


  กลุ่มใหญ่เป็นสมาชิกของรัฐสภาแห่งสหพันธรัฐ  มีนัยสำคัญว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเวที ประชาคมโลก  เห็นได้้ว่าถ้าดินแดน  แคว้น  หรือเขตปกครองตนเอง  ที่เป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสามกลุ่ม  (ยกเว้นสาธารณรัฐตาตาร์สถาน  เป็นของสองกลุ่มพร้อมกัน)  น่าจะ   ๑.)    มีทรัพยากรที่เพียงพอ ที่จะต่อรองในการมีส่วนกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหพันธรัฐ  และสามารถสร้างแนวทางกลยุทธ์ ในเวทีโลกระยะยาวได้    ๒.)  ต้องการอำนาจมากขึ้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ  เห็นได้ชัดว่ากลยุทธ์ ของชาวรัสเซียต่างจากชาวตะวันตก  คือ  แสวงหาการปกป้องจากรัฐบาลกลาง  และต้องการการแทรกแซงจากรัฐ  ในการควบคุม  จัดการกับการส่งออก  และนำเข้า  ต่อไปจะอธิบายในรายละเอียดของกลุ่มดังนี้

 


ดินแดนผู้ส่งออกทางตะวันออก

 

กลุ่มแรกนี้ประกอบไปด้วยดดินแดนที่มีศักยภาพมากในการส่งออก (ดินแดนอุตสาหกรรม  หรือดินแดนที่มีทรัพยากรแร่เหลือเฟือ)  สามารถแบ่งออกเป็น    กลุ่ม  ดังนี้    ๑.)  ดินแดนที่มีอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว  (แร่มีค่า,  ทรัพยากรพลังงาน, อื่นๆ)     ๒.)  ดินแดนการค้าทางตะวันออก    ๓.)  ดินแดนอุตสาหกรรมทางการทหาร  อาวุธยุธโทปกรณ์  การบริหารขึ้นอยู่กับความร่วมมือ กับพันธมิตรต่างชาติ  โดยพันธมิตรต่างชาตินี้เล็งเห็นว่าเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างกำไรสูงสุด  และสามารถ คืนทุนได้  จากการวิจัยของสถาบันมอสโกสำหรับการศึกษาของชาวอเมริกัน  และชาวแคนาดา  พบว่า    ดินแดนที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญในกลุ่มนี้  เรียงตามลำดับ  ได้แก่  แค้วนเคเมโรโว,  ดินแดนเปียร์ม,  แค้วนสามารา,  แคว้นเชเลียบินสค์,  และดินแดนครัสโนยาสค์  และยังมีอีก    ดินแดน เรียงตามลำดับ  ดังนี้  สาธารณรัฐบัชคอร์โตสถาน,  แคว้นมอสโก,  แค้วนอีร์คุตสค์,  แค้วนมูร์มันสค์,  แค้วนนิจนีนอฟโกรอด,  แค้วนโอเรนบูร์ก,  แค้วนสเวียร์คลอฟสค์,  แคว้นตูย์เมน,  และดินแดนคาบารอฟสค์

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มดินแดนผู้ส่งออกทางตะวันออก  มีดังนี้


๑.)  แรงจูงใจทางเศรษฐกิจของกลุ่มนี้มีความแตกต่างอย่างมากจากดินแดนอื่น  เนื่องด้วยความสนใจ  ของคนภายในประเทศรัสเซียส่วนใหญ่  คือ  การทำให้มีค่าน้อยที่สุดของ  ราคา  อาชญากรรม  ระบบบริหารที่มีความยุ่งยาก  เป็นต้น  ด้วยเหตนี้เองทำให้ดินแดนผู้ส่งออกทางตะวันออกนี้มีลักษณะ  คือ  กระตือรือร้นต่อการเปิดประเทศ  และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ


ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลสหพันธรัฐจะเพิกเฉยต่อบทบาทระหว่างประเทศของกลุ่มดินแดนผู้ส่งออกทางตะวันออกนี้  แต่ในเชิงประจักษ์แล้วจะพบว่าเป็นการยากที่จะสร้างความสมดุลกันระหว่าง     ปรเด็นที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้  คือ  การผลักดันการเปิดประเทศสู่ประชาคมโลก  และการรักษาตลาดของดินแดนต่างๆ  เพื่อผู้ผลิตภายในประเทศ


๒.)  มุมมองที่ต่างกันของรัสเซีย  และประเทศตะวันตกที่มีต่อดินแดนผู้ส่งออกทางตะวันออกนี้  ในมุมมองของรัสเซียเอง  มีความสนใจในการใช้ศักยภาพของดินแดนนี้เพื่อสร้าง  “ระเบียงการลงทุน”  (เหมือนในกรณีของนครสหพันธ์มอสโก  และนครสหพันธ์เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก)  เพื่อสนับสนุนให้มี การพัฒนาของเทคโนโลยีขั้นสูง,  ความรู้,  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง  ในทางตรงกันข้าม  มุมมองของประเทศตะวันตกที่มีความสนใจในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม  และการพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติ

 

 

สาธารณรัฐแห่งความเชื่อร่วมกัน

 

กลุ่มที่สองนี้ประกอบไปด้วยสาธารณรัฐที่มีความเชื่อร่วมกัน  และไม่ใช่ชาวรัสเซีย  สาธารณรัฐเหล่านี้  เป็นตัวแปรที่มีอำนาจมาก  อันที่จะผลักดันสาธารณรัฐสู่ระบบที่กว้างขึ้นในการร่วมมือกันระหว่างประเทศ  และการร่วมมือกันระหว่างดินแดน  ในการศึกษาถึงเอกลักษณ์ทางความเชื่อร่วมกัน ในฐานะ  ตัวแปรที่มีบทบาทในการสร้างสังคมระหว่างประเทศของสาธารณรัฐ  ดังต่อไปนี้  สาธารณรัฐตาตาร์สถาน,  สาธารณรัฐบัชคอร์โตสถาน,  สาธารณรัฐดาเกสถาน,  สาธารณรัฐตูวา,  สาธารณรัฐบูเรียตียา,  สาธารณรัฐโคมิ,  และสาธารณรัฐคาเรลียา  จากการศึกษาพบข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับบทบาทระหว่างประเทศของสาธารณรัฐ  ดังนี้  เอกลักษณ์ระหว่างดินแดน  โดยมีจุดร่วมของมรดกทางวัฒนธรรม,  ศาสนา,  และภาษา  สามารถสร้างเครือข่ายของประชากรในดินแดนนั้น  หรือเครือข่ายกลุ่มหนึ่งของประชากรในดินแดน  ตัวอย่าง  กลุ่มประเทศอิสลาม (เช่น  ซาอุดิอารเบีย,  ตุรกี)  ให้ความช่วยเหลือแก่สาธารณรัฐดาเกสถาน  และสาธารณรัฐอื่นๆ  ในด้านกิจกรรมทางศาสนา  และการศึกษา  ในขณะเดียวกันเป็นที่ทราบกันดี ว่ายังให้การช่วยเหลือ ทางด้านการเมืองอีกด้วย การสร้างช่องทางความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคน ในประเทศและนอกประเทศ ที่มีความเชื่อเป็นจุดร่วมกันนั้น  เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดกิจกรรม ต่างประเทศของสาธารณรัฐเหล่านี้


นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าสาธารณรัฐเหล่านี้  กล้าที่จะแสดงออกถึงจุดยืนของตนเองในเวที ระหว่างประเทศ  โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มเพื่อที่จะสร้างบรรทัดฐาน   กฎระหว่างประเทศอันมีเนื้อหา ที่จะปกป้องความเชื่อของกลุ่มตนเอง  ขณะเดียวกันกลุ่มสาธารณรัฐนี้จะได้รับการช่วยเหลือระหว่างประเทศ ในกรณีที่ถูกกระทำในทางที่  เป็นการกระทบต่ออำนาจการปกครองของตนเองจากรับบาลสหพันฐรัฐ  โดยได้รับการช่วยเหลือทั้งใน ด้านนามธรรม  และรูปธรรม  จากกลุ่ม  องค์กร  ประเทศที่มีจุดร่วมความเชื่อเหมือนกัน

 

สาธารณรัฐแห่งความเชื่อร่วมกันนี้สามารถแบ่งได้เป็น    กลุ่มตามรูปแบบการพัฒนา  ดังนี้

 

๑.)  สาธารณรัฐที่มีรูปแบบการพัฒนา  โดยถูกกระตุ้นให้มีการปกป้อง  รักษาความเชื่อของกลุ่ม  และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม  ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย  อันที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางศาสนา  และความรุนแรง  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน  คือ  สาธารณรัฐเชชเนีย


กลุ่มทางสังคมที่มีความเชื่อร่วมกันนี้จะมีลักษณะเฉพาะ  คือ  เป็นสังคมที่ค่อนข้างปิด,  ปกกันการรุกรานจากภายนอก,  ให้ความใส่ใจอย่างมากเกี่ยวกับการรักษาวัฒนธรรม  ศาสนา  และภาษาที่มีมาแต่ด้ังเดิม  มากกว่าการให้ความสนใจในการบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก  การแยกตัวออกจากภายนอกของสาธารณรัฐความเชื่อร่วมกัน  และความรักหวงแหนในดินแดน  เกิดจากการสั่งสม  การยอมรับการมีอยู่จริงของดินแดน  สาธารณรัฐนี้มาเป็นระยะเวลานาน  พร้อมทั้งการปิดกั้น  ไม่ยอมรับ  ข้อมูลข่าวสาร  วัฒนธรรม  และอื่นๆ  จากภายนอก  รูปแบบการจัดการ  การบริหารด้วยตนเองของกลุ่มนี้ค่อนข้างที่จะเป็นลักษณะอนุรักษ์นิยม  ประพฤติตามประวัติศาสตร์แต่เดิมมา  รวมทั้งการต่อต้านการสร้างความทันสมัย  ด้วยความที่ต้องการรักษาภาวะการแยกตัวออกมา  เป็นตัวของตัวเอง  ความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง  ไม่เหมือนใคร  รวมทั้งแฟร์ชั่นดั้งเดิม   ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามหลายครั้ง  ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระบวนการทางการเมือง ของกลุ่มสังคมนี้ให้เป็นไปตามหลักแห่ง  “สากล,”  “อารยะ,”  และ  “มาตรฐานเดียว”  ประสบกับ ความล้มเหลวทุกครั้ง  ตัวอย่าง  กรณี  องค์กรเพื่อความร่วมมือ  และความมั่นคงแห่ง สหภาพยุโรปเข้าไปช่วยเหลือในการจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสาธารณรัฐเชชเนีย  ใน  ปี  ค.ศ.  ๑๙๙๗  แต่กระนั้น  เมื่อกระบวนการการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นลง  และอลัน  มาสคาดอฟ  ได้่รับการเลือกตั้ง  ไม่มีการส่งสัญญาณที่เกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยในเชชเนียอีกเลย  เห็นได้ว่า  การแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ของกลุ่มมุสลิมจำนวนมากในรัสเซีย  ที่ไม่สามารถยอมรับรูปแบบโลกาภิวัฒน์ของ ประเทศตะวันตกได้


เห็นได้ชัดเจนว่าการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศของกลุ่มที่มีความเชื่อร่วมกันนำมาสู่ความไม่มี เสถียรภาพต่อความมั่นคงของรัสเซีย  ตัวอย่างที่ดีที่สุดเห็นได้จาก  กรณี  การให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน  เทคโนโลยีแก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเชเชน  (เชชเนีย)  จากองค์กรการก่อการร้ายจากประเทศมุสลิม  และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยังเกี่ยวข้องกับดินแดนต่างๆอีกด้วย  ยกตัวอย่าง  กรณีที่สภาความมัั่นคง แห่งสหพันธรัฐ แสดงถึงความวิตกกังวลต่อความร่วมมือระหว่างผู้นำของสาธารณรัฐอะดีเกยา  กับองค์การอิสลามแห่งโลก  และยังรวมถึงรัฐบาลประเทศลิเบียอีกด้วย


๒.)  สาธารณรัฐที่มีรูปแบบการพัฒนา  โดยมีการประยุกต์  ปรับเอาประสบการณ์ทางเศรษฐกิจ ในประชาคมโลกที่เกิดขึ้นมาใช้  ในบริบทพื้นเพของความเชื่อดั้งเดิม  ผู้มีอำนาจแห่งสาธารณรัฐเหล่านี้ พยายามที่จะส่งผ่านเอกลักษณ์ของความเชื่อดั้งเดิม  ผ่านการอธิบายโดยเหตุผล  และตรรกะทางเศรษฐศาสตร์  เพื่อที่จะให้สาธารณรัฐแห่งความเชื่อเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการขอการสนับสนุน การปกครองตนเอง จากรัฐบาลกลาง  และจัดให้มีการสร้างสังคมที่แข็งแรง  ตัวอย่างกรณีนี้  คือ  สาธารณรัฐตาตาร์สถาน

 

 

ดินแดนชายแดน

 

กลุ่มดินแดนที่สามนี้ประกอบไปด้วยดินแดนต่างๆถึง  ๔๕  ดินแดน  ประเทศรัสเซีย มีชายแดนที่ยาวที่สุด ในโลกคิดเป็น  ๖๐,๙๓๓  กิโลเมตร  ติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึง  ๑๖  ประเทศ  ๓๒.๖  ของประชากรทั้งหมดอาศัยอยู่ในดินแดนชายแดนนี้  สำหรับการพิจารณาดินแดนนี้จะพิจารณาในมุมมองของ โอกาส  และความท้าทาย

 

โอกาส

 

               ดินแดนชายแดนเหล่านี้มักได้รับการดูแล  ได้รับความพึงพอใจอยู่เสมอจากประเทศเพื่อนบ้าน  โดยเฉพาะประเทศจีน   ที่พยายามอย่างยิ่งที่จะมีอิทธิพลเหนือดินแดนปรีมอร์สกี  ขณะที่ประเทศ ฟินแลนด์เองให้ความสนใจเป็นพิเศษในการให้ความช่วยเหลือแก่สาธารณรัฐ คาเรลียา


               พื้นที่ขอบเขต  และดินแดนทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้าน  สามารถเพิ่มโอกาส ในการต่อรองกับรัฐบาลกลาง,  เรียกร้องการนับสนุนทางการเงินเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยในส่วน งบประมาณในการดูแลเขตแดน  รวมทั้งต้องการอำนาจโดยตรงในการเข้าไป จัดการรายได้ที่มาจาก  ภาษีศุลกากร  และพยายามข่มขู่รัฐบาลกลางที่จะประกาศเอกราช


               ดินแดนชายแดนนีี้เป็นดินแดนส่วนน้อยของรัสเซียที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษโดยสหพันธรัฐ ในการกระทำสัญญาระหว่างประเทศ  การกระทำข้อตกลงทวิภาคี  กฎหมายนี้ยังรวมถึง การบันทึกความร่วมมือระหว่างดินแดนที่มีเขตแดนติดกัน  เช่น  ประเทศฟินแลนด์  (มกราคม  ๑๙๙๒),  ประเทศโปแลนด์  (พฤษภาคม  ๑๙๙๒),  ประเทศคาซัคสถาน  (มกราคม  ๑๙๙๕),  ประเทศยูเครน  (มกราคม  ๑๙๙๕),  ประเทศมองโกเลีย  (มกราคม  ๑๙๙๓),  และประเทศจีน  (พฤษภาคม  ๑๙๙๔)  รวมทั้งยังมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วย ความร่วมมือระหว่างเขตแดน  ระหว่างประเทศรัสเซีย  ประเทศเบลารุส  ประเทศคาซัคสถาน  และประเทศเคอร์จีเซีย  เมื่อมกราคม  ๑๙๙๙  นอกจากนั้น  เมื่อมิถุนายน  ๑๙๙๘  สภาท่ีปรึกษาแห่งสหพันธรัฐ  ทางด้านการต่างประเทศเสนอให้มีข้อตกลง ความร่วมมือระหว่าง ประเทศกับประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกัน


               ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกันส่งเสริมให้การค้าและการลงทุน  ขยายตัว  หรือเรียกพื้นที่นี้ว่า  “ระเบียงการลงทุน”   โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีผลประโยชน์ ร่วมกัน  ทั้งสองฝ่าย  จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เขตการค้าเสรี    ที่แรกที่เกิดขึ้น  อยูในพื้นที่ชายแดน  คือ  ยันตรา  ในแคว้นคาลินิินกราด  และ  นาคอดก้า  ในดินแดนปรีมอร์สกี และที่สำคัญอย่างยิ่งดินแดนชายแดนนี้จะเจริญเติบโตมากกว่านี้ ถ้าหากมีธุรกิจที่ให้การบริการ  ขนส่่งระหว่างประเทศ  (ผู้เชี่ยวชาญของประธานาธิบด วลาดิเมียร์  ปูติน  ได้คำนวณไว้ว่าการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง  จะสามารถเพิ่มรายได้มากกว่า  ๘ เท่า  ของรายได้ในขณะนี้


               ดินแดนชายแดนส่วนใหญ่มีการป้องกันโดยการทหารในระดับสูง  ดังนั้นความร่วมมือทางการ ทหารร่วมกันระหว่างดินแดนจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย  นอกจากนั้น  การทำบันทึก  ข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่างผู้บังคับบัญชาทางทหารที่ประจำการ ในภูมิภาค  และผู้มีอำนาจ  ทางการเมืองในดินแดนนัั้น  เป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหาสังคม ที่เกิดขึ้น  และยังเป็นการขยาย บทบาทของสถาบันทางการเมืองในการดูแลความปลอดภัย  และความมั่นคงในภูมิภาค  หากพิจารณาลงในรายละเอียดที่เกี่ยวกับความร่วมมือกัน ระหว่างดินแดน  จะพบข้อสังเกต เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเอกลักษณ์ของภูมิภาค  เนื่องจากกระบวนการในการสร้าง ความร่วมมือระหว่างดินแดนมีมูลเหตุมาจาก ภาวะการแบ่งแยกเป็น ​๒  ขั้วในอดีต  เป็นตัวกระตุ้น  ให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างดินแดน  เช่น  โครงการระหว่างประเทศบาเรนห์  และยุโรปอาร์กติก,  สภาแห่งประเทศทะเลบอลติก,  การประชุมเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ  ระหว่างกลุ่มประเทศทะเลดำ  เป็นต้น  ดังนั้นในการสร้างดินแดน  จึงหมายถึงกระบวนการในการ  ขยายอำนาจภายในดินแดน  ภายใต้รูปแบบความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน  แต่การสร้างดินแดนนี้  ยังไม่มีความมั่นคงเพียงพอ    ระดับการเมืองขณะนี้  แต่อย่างไรก็ตามยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ  อีกด้วย  เช่น  จะเป็นการง่ายยิ่งขึ้นถ้าดินแดนนั้น  มีความสามัคคี  เป็นหนึ่งเดียวกันในสังคม,  มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติตามเขตภูมิศาสตร์  หรือรู้สึกภูมิใจ  รักและหวงแหนเอกลักษณ์ทาง วัฒนธรรม  เมื่อเรามองภาพรวมจะพบกับ ความยุ่งยากมากขึ้นในการนำเอาส่วนเล็กๆ  หรือดินแดนต่างมาประกอบเป็นภาพใหญ  การรวบรวมเป็นดินแดนอยู่ภายใต้แนวคิดหลัก    ประการ  คือ  ๑.)  ประสบความสำเร็จในการรวบรวม  บูรณาการเข้าด้วยกัน  ๒.)  การพึ่งพาระหว่างกัน  ๓.)  ความเป็นหนึ่งเดียวกันภายในดินแดน  ในกรณีนี้ย่อมเกิดระบบ ที่มีความซับซ้อน  มีขั้นตอนมากมาย  การเหลื่อมล้ำระหว่างเอกลักษณ์ภายในดินแดน  มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น

 

ความท้าทาย

 

การร่วมมือระหว่างดินแดนต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นแบบทวิภาคี  หรือพหุภาคี  เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น กระจายไปทั่ว รัสเซีย  ภาวะที่เกิดขึ้นนี้มีพื้นฐานมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน

 

               ปกติแล้วดินแดนชายแดนตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกับ พื้นที่ท่ีมีอารยะธรรม  ทันสมัย  ดังนั้น  กลุ่มประเทศทะเลบอลติก  จึงพิจารณาตนเอง  พบว่ากลุ่มของตนมีความแตกต่าง ทางวัฒนธรรม  แนวคิดนี้เองจึงกระตุ้นให้พยายามแยกตัวออกจากรัสเซีย  นอกจากนั้นดินแดนชายแดนรัสเซีย ทางด้านประเทศฟินแลนด์   ยังต้องเผชิญกับภาวะ การต่อสู้ทางวัฒนธรรมทางตะวันออก  และตะวันตก  และสภาพแวดล้อมทางการเมือง  และเศรษฐกิจแบบยุโรปตอนเหนือที่มีอิทธิพล  ต่อดินแดนเหล่านี้  รวมทั้งกลุ่มเศรษฐกิจ รอบทะเลดำซึ่งมีช่องว่างทางความเชื่อ  ศาสนา  และวัฒนธรรม  สุดท้ายดินแดนทางตะวันออกของรัสเซียเอง  ผู้คนพยายามต่อต้านการ อพยพเข้ามา ของชาวจีน  และได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ยอมรับชาวจีน


               ดินแดนชายแดนเหล่านี้ต้องประสบกับปัญหาการอพยพเข้าเมืองของชาวต่างชาติ  เช่น  ดินแดนทางตะวันออกต้องประสบกับปัญหาแรงงานอพยพชาวจีน,  ปัญหาผู้อพยพลี้ภัยใน ดินแดนสตัฟโรปอล,  แค้วนรอสตอฟ  และดินแดนครัสโนดาร์  ได้มีการคาดการณ์ว่า มีผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย  ประมาณ  ๑ –  ๑.๕  ล้านคน  ต่อปี  เข้ามาในรัสเซีย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านดินแดนชายแดนเหล่านี้  และยังได้สร้างความเสียหายต่อ  โครงสร้าง พื้นฐานของรัสเซียคิดเป็นมูลค่า        หมื่นล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาต่อปี  ที่สำคัญกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมายนี้มีแนวโน้ม  ในการสร้างดินแดน ของประชากร  ที่มีความเชื่อร่วมกันภายในพื้นที่ของประเทศรัสเซีย  เช่น  ฉนวนกาซ่าห์  และชนเผ่าอาร์เมเนีย  พร้อมทั้งผู้นำของดินแดนเหล่านี้สร้างปัญหาที่ล่อแหลมต่อการปกครอง  โดยสถาปนาตัวเอง  และให้อำนาจในการปกครองเขตปกครองตนเอง   นอกจากนั้นดินแดน ที่ติดกับประเทศเชสเนียร์  ได้แก่  ดินแดนสตาฟโรปอล  และสาธารณรัฐดาเกสถาน  ต้องนำมาตรการการควบคุม หนังสือเดินทางมาใช้  พร้อมกันนี้ยังได้มีการสร้างเครือข่าย ข้อมูลระหว่างดินแดนชายแดน  ๒๓  ดินแดนเข้าด้วยกัน  เพื่อที่จะตรวจสอบ  สังเกตชาวต่างประเทศที่เข้ามาอาศัยในประเทศ  และห้าม  การเข้าประเทศของ กลุ่มผู้นำศาสนา  อาชญากร  เป็นต้น  ในเดือนมีนาคม  ค.ศ.  ๒๐๐๐  รัฐบาลของสาธารณรัฐคาเรลียา  ได้ออกมาตรการค่าธรรมเนียมในการควบคุม  การอพยพเข้า ของแรงงานต่างประเทศ  เข้าสู่สาธารณรัฐ   มาตรการที่ใกล้เคียงกันได้รับการนำมาใช้โดย แค้วนเบลโกรอด  รูปแบบมาตรการ  การจัดการกับบุคคลภายนอกสาธารณรัฐโดยตรงนี้ สร้างความล่อแหลมที่อาจนำไปสู่ปัญหาเอกลักษณ์ทางการเมืองภายในดินแดนนั้น  เห็นได้ อย่างชัดเจนว่าดินแดนชายแดนจำนวนมาก  สาธารณะชนส่วนใหญ่ มีลักษณะความคิด ที่อนุรักษ์นิยม  ชาตินิยม  และมีการดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุก


               หน่วยงาน  องค์กรต่างๆ  ของดินแดนชายแดน  ต้องเผชิญกับด้านมืด ของการสร้างความเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็น  อาชญากรรม  การทำประมงอย่างผิดกฎหมาย  การล่าสัตว์   การหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย  การลักลอบขนของหนีภาษีและของเถื่อน  เช่น  สิ่งเสพย์ติด  ปืน  อาวุธ  การฟอกเงิน  เป็นต้น  เห็นได้จากตัวอย่างที่ชัดเจน ในดินแดนทาง  ตะวันออก  มีคดีฆาตกรรมผู้ประกอบการชาวจีนจำนวนมาก  ซึ่งส่วนใหญ่โดนฆาตกรรมโดยแก็ง  ชาวจีนด้วยกันเอง  นอกจากนั้นกรณีของดินแดน ปรีมอร์สกี  ตามรายงานของ สำนักงานสรรพากร  พบว่า  การประกอบกิจการจำนวน  ๒๖๓  กิจการ จาก  ๔๗๕  กิจการ  เป็นของผู้ประกอบการ ชาวจีน  ไม่ได้จดทะเบียนการค้ากับสำนักงานสรรพากร  และอีก  ๓๘  กิจกรรมกำลังจะถูกปิดลง  เนื่องจากกระทำการผิดกฎหมาย  ดังนั้น  การให้บริการความปลอดภัย  และความมั่นคง ในดินแดน  ชายแดนนี้ต้องกระทำในลักษณะการป้องกัน  ปกป้องดินแดน จากเหตุการณ์เสี่ยงต่างๆ  เช่นกรณีของ  แค้วนสาคาลิน  มีการจัดตั้งกองพันทหารพิเศษ  ในเดือนมีนาคม  ค.ศ.  ๒๐๐๐  เพื่อป้องกันการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย  ตามรายงานของ สำนักงานศุลกากร  พบว่า  มากกว่าร้อยละ  ๗๕  ของผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ที่ผลิตได้ถูกส่งออกไปยังญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมาย


               ดินแดนชายแดนพบว่าตัวเองได้รับอิทธิพลอย่างมากจากประเทศเพื่อนบ้านที่แข็งแกร่ง  มี ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่า  แทนที่ดินแดนชายแดนนี้  (ดินแดนทางตะวันออก  และดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือ)  จะมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ  กลับกลายเป็นผู้เล่น บทบาทตั้งรับต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศเพื่อนบ้าน ที่แข็งแกร่ง  ไม่ว่าจะเป็น  จีน  สหภาพยุโรป  และในระยะยาวแล้วจะพบว่า มีโอกาสที่จะถูกคุกคามทางเศรษฐกิจ


               ดินแดนชายแดนได้รับภาวะกดดันจากภายนอกอันเนื่องมาจากการเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับ  การเชื่อมต่อทรัพยากร  เทคโนโลยี  ดังเช่นกรณี  ประเทศยูเครนได้เคยระงับการ ส่งไฟฟ้ามายังหมู่บ้าน  ในแค้วนเบรนค์  และยืนยันที่จะรับค่าไฟฟ้าในสกุลเงิน ตรายูเครนเท่านั้น  นอกจากกรณีของแค้วนเบรนค์แล้ว  สาธารณรัฐดาเกสถานยังต้องพึ่งพา การใช้น้ำเพื่อใช้ ในการเกษตรกรรม  โดยนำเข้าน้ำจากประเทศอาเซอร์ไบจาน  ซึ่งมีอำนาจการควบคุมการ ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำซามัวร  จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้  พบว่ามีนัยที่ดินแดนชายแดนนี้้ต้อง  ประสบกับผลกระทบเชิงลบจากประเทศเพื่อนบ้าน  และควรใช้ทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิด ขึ้นจากต่างประเทศ


               หนึ่งในประเด็น  ที่เป็นที่สนใจและสร้างเป็นหาให้แก่ดินแดนชายแดนเป็นอย่างมากคือ  ช่องว่าง  หรือความแตกต่างของคุณภาพชีวิตของประชากรในดินแดนชายแดนนั้น  และประเทศ ที่พัฒนาแล้วรอบๆ  เห็นได้จากความพยายาม  ความทะเยอทะยานที่จะสร้าง ความร่วมมือร่วมกัน  ระหว่างดินแดน  มีนัย  คือ  คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประเทศตะวันตก สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้  กับดินแดนต่างๆของรัสเซีย  จากกรณีคำประกาศของรัฐสภา สหภาพยุโรป ในเดือนพฤษภาคม  ๒๐๐๐  ที่ว่า  ในอนาคตอันใกล้นี้  แคว้นนคาลินินกราด  จะเข้าร่วมข้อตกลงพื้นฐานของสหภาพ ยุโรปว่าด้วยการค้าภายในประเทศ  และระหว่างประเทศ   นอกจากนั้นประเทศลิธัวเนียเอง ยังได้แถลงว่า  การใช้นโยบายยกเลิก การหนังสือเดินทางในยุโรปจะไม่ยั่งยืน  ถ้าแค้วนคาลินินกราด  ยังไม่แสดงถึงการเจริยเติบโต ทางเศรษฐกิจ  และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร  และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศ เอสโตเนียได้ชี้แจงว่าอุปสรรคสำคัญในการสร้างความร่วมมือกัน  ระหว่างดินแดนชายแดน  และประเทศเพื่อนบ้านรอบทะเลบอลติก  เนื่องมาจาก  กลุ่มประเทศเหล่านี้ไม่สามารถ หลอมรวมรูปแบบวัฒนธรรม  และการเมืองเข้าด้วยกันได้  ดังนั้นการร่วมเป็นหุ้นส่วน อย่างลงตัวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างดินแดนต่างๆ  ทางด้าน ความเห็นจากผุ้เชี่ยวชาญ ประเทศฟินแลนด์  พบว่า  บนพื้นฐานทัศนคติของชาวยุโรป  ความจำเป็นลำดับแรกของ การร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างดินแดนชายแดนของประเทศฟินแลนด์  และรัสเซีย  ควรตระหนักว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่ได้สะท้อนอนาคตที่สดใส  และก้าวหน้าเท่าที่ควร


               หนึ่งในความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในดินแดนชายแดนนี้มีรากฐานมาจากการอ้างอิงในนโยบายศุลกากร  ของสหพันฐรัฐเป็นอย่างมาก  ดังนั้นการประกาศใช้อัตราภาษีศุลกากรใหม่ จากรัฐบาลกลาง  ใน  เดือนเมษายน  ค.ศ.  ๒๐๐๐  ได้ทำลาย  และส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็ก  และขนาดกลาง  ในแคว้นอามูร์  และแคว้นอื่นๆ  ที่มีมูลค่าการค้าจำนวนมากกับประเทศจีน  รวมทั้งหน่วยงานของ แคว้นวอลโกกราด  ได้ออกมาวิจารณ์อย่างหนัก  ในการตัดสินใจ ของรัฐบาลกลาง  โดยเก็บภาษีศุลกากรในอัตราร้อยละ  ๒๕  กับ  น้ำตาลทราย ที่นำเข้าจากประเทศยูเครน  แต่ไม่เก็บภาษีศุลกากรจากการนำเข้าสิ่งทอจาก ประเทศยูเครน  จากนโยบายนี้จะส่งผลให้เป็น การทำลายอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศ  และดินแดนต่างๆ

 

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด  จะพบว่า  ดินแดนชายแดนประสบความล้มเหลวในการได้รับ ผลประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่  การลงทุนจากต่างประเทศในดินแดนชายแดนนี้ยังติดลบอยู่   ดินแดนหลายดินแดน ต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจที่แยกตัวออกไปจากส่วนกลาง  และต่างประเทศ  จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีใคร สามารถยืนยันว่าหน่วยงานต่างๆ  ในดินแดนชายแดนควรจะเพิ่มความเข้มงวด ในการควบคุมการอพยพเข้า  หรือเปิดตลาดในดินแดนต่างๆ  ให้กว้างมากขึ้น  สำหรับนักลงทุนต่างประเทศ  รวมทั้งการขจัด อุปสรรคในการจดทะเบียนการค้าในเมืองใหญ่  และการอำนวยความสะดวกในการเปิดกิจการ  ธุรกิจขนาดเล็ก  ด้วยข้อจำกัด  และความต้องการต่างๆ  ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว  ผู้นำของดินแดน บางคนเห็นด้วย  กับการที่รัฐบาลกลางจะให้สถานะพิเศษถูกต้องตามกฎหมายแก่ดินแดนเหล่านี้

 


 

บทที่    โลกาภิวัฒน์ กับ ๔  ตัวแปรภายใน

 

กระบวนการปรับตัวของรัสเซียเองในการเข้าสู่บทบาทบนเวทีโลก  ค่อนข้างสลับซับซ้อนอยู่พอตัว  อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางความคิด  แนวทางในการปรับตัว  ท่ามกลางปัจจัยภายในต่างๆ   และต่อจากนี้จะได้อธิบายในรายละเอียด

 

๑.  รัฐบาลกลาง

 

ไม่ว่าทั้งบอริส  เยลท์ซิน  และวลาดีเมียร์  ปูติน  ไม่เป็นมิตรต่อการผลักดันประเทศในการตกลงความร่วมมือ ระหว่างประเทศ  และผลักดันประเทศให้เป็นส่วนหนึ่งของโลก  แต่กระนั้น  สงครามโคโซโว  และการขยายอำนาจนาโต้มายังประเทศตะวันออก  ได้ขยายความรู้สึกท่ามกลางผู้นำของรัฐบาลกลางรัสเซีย  ที่ว่า  โลกาภิวัฒน์  คือ  รูปแบบที่มีสหรับอเมริกาเป็นผู้นำในการนำประเทศที่ยังไม่ได้รับเอาโลกาภิวัฒน์ อย่างรัสเซีย  เข้าสู่เวทีโลก  และต่อมามีความพยายามอย่างมากในรัสเซีย  เพื่อที่จะตีความ  โลกาภิวัฒน์  โดยโลกาภิวัฒน์ในทาง  ประเทศตะวันตกแล้่ว  หมายถึง  การเสริมสร้างอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ  และการเมืองแก่ชนชั้นนำ  ภายใต้การจำกัดภายในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นสูง  และความแข็งแกร่ง ทางทหาร  แต่เนื่องจากรัสเซีย  ยังอยู่ในกระบวนการการสร้างชาติ  ดังนั้นแนวความคิดในการกระจายอำนาจ อาจจะขัดแย้งกับความกลัวที่เกิดขึ้น  อันเนื่องมาจากความพยายามออกห่างจากรัฐบาลกลางของดินแดนต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดนสัดส่วนการมี ส่วนร่วมทางการเมืองในระดับสูง

 

รัฐบาลสหพันธรัฐเล็งเห็นว่าบทบาทของรัสเซียในเวทีโลกยังเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องพิจารณาขณะนี้  อันเนื่องมาจากเหตุผล    ประการ  คือ 

 

๑.)  ภูมิหลังภายในประเทศ  สำหรับแนวคิดหลักของโลกาภวัฒน์  มีรากฐานที่ฝังแน่นมาจากประเทศตะวันตก  โดยนิยามโลกาภิวัฒน์  คือ  กำแพงที่พังทลาย,  โลกที่ไร้กำแพง,  รัฐฐาธิปัตย์ที่แตกสลาย  หรือความหมายอื่นๆ  ซึ่งไม่เป็นที่พอใจนักสำหรับนัการเมืองทั้งหลายของรัสเซีย  ในรัสเซียแล้ว  บ่อยครั้ง  โลกาภิวัฒน์ถูกตีความว่าเป็นตัวการที่ทำลาย  ขัดขวางการรวมตัวกันของดินแดนต่างๆในประเทศ   รัฐบาลกลางเองได้ตอบโต้โลกาภิวัฒน์โดยการยอมรับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่ ไม่ใช่องค์กรของรัฐ ในระดับสูง  เช่น  เอ็นจีโอ  สำนักงานของดินแดนต่างๆ  เทศบาลเมือง  เป็นต้น  ในการเข้ามาทำหน้าที่ร่วมกับรัฐ  แต่มีผู้คนส่วนน้อยในเครมลิน  สงสัยเกี่ยวกับข้อสมมติของรัฐฐาธิปัตย์  คือ  แนวทางพื้นฐานในการเข้าใจการจัดการชีวิตทางสังคมสมัยใหม่  และให้บริการสินค้าสาธารณะ  เนื่องจากโลกาภิวัฒน์ได้ทำให้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายของประเทศได้อ่อนแอลง ดังนั้นรัฐบาล สหพันฐรัฐพบการคุกคามจากโลกาภิวัฒน์ในบางเวลา

 

การรับรู้  “โลกาภิวัฒน์”  ของชาวรัสเซีย  ได้เผยให้เห็นช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซีย  และประเทศ ทางตะวันตก  ช่องว่างที่ว่านี้สามารถอธิบายไ้ด้วยความจริงที่ว่า  ในบริบทของประเทศตะวันตกแล้ว  ส่วนสำคัญ ที่สุดของ  โลกาภิวัฒน์  คือ  ผู้เล่น  และตัวแทนทางสังคม  มากกว่าที่จะเป็น  “รัฐ”  เช่น  กลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ  กลุ่มพันธมิตรผู้ผลิต  บริษัทเอกชน  เป็นต้น  ในความเป็นจริงแล้ว  พบว่า  โลกาภิวัฒน์  เป็นบทประยุกต์ของ  ทฤษฎีการค้าเสรี  สู่  การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  ดังนั้น  จึงพึ่งพากับบทบาทการแลกเปลี่ยนทาง เศรษฐกิจของภาคเอกชน  จะเห็นได้ว่านี่ไม่ใช่เพียงกรณีรัสเซียเท่านั้น  ที่ภาคเอกชนยังไม่ได้รับการพัฒนา  แต่สิ่งเหล่านี้กำลังก่อตัวไปทั่วโลก

 

๒.)  สาเหตุนี้พบได้จากการพัฒนาในพื้นที่  หรือประเทศอื่นๆ  รอบโลก  อันเนื่องมาจากการปรากฏขึ้นของ สังคม  การเมือง  และเศรษฐกิจรูปแบบใหม่  ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นกลางกับเขตทางภูมิศาสตร์  จะพบว่า  เอกลักษณ์ของดินแดนนั้นยังคงเป็นบทบาทสำคัญในการก้าวสู่เวทีสากล  ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน ในกรณีนี้  คือ  การเกิดขึ้นของรัฐใหม่,  การขัดแย้งของแนวเส้นเขตแดน,  ความวิตกกังวลกับการอพยพ เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย  เป็นต้น  ท่ามกลางภาวะที่ช่องว่างทางสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง  ที่กว้างขึ้น  และกว้างขึ้นทุกวันนี้  ระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศตะวันตก (จีน,  อิรัก,  อิหร่าน,  ลิเบีย,  อินเดีย,  เป็นต้น)  และประเทศตะวันตก  กลายเป็นสิ่งที่ท้าทาย  และคำถามสำหรับรัสเซียในการรับเอาโลกาภิวัฒน์

 

 

๒.)  ดินแดนต่างๆ

 

เป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง ที่ผู้มีอำนาจในการบริหารเหนือดินแดนจำนวนมาก  สามารถพัฒนา ไปยังจุดที่เสรีมากขึ้น  โดยเปรียบเทียบกับรัฐบาลกลาง  ในการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ   พบได้ชัดเจนในกรณี  เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก,  แคว้นนิจนีนอฟโกรอด,  แคว้นสามารา,  แค้วนนอฟโกรอด  และสาธารณรัฐตาตาร์สถาน  ดินแดนเหล่านี้เป็นผู้บุกเบิกในการนำเสนอ  กฎหมายในการจูงใจการลงทุนจาก นักลงทุนชาวต่างประเทศ  ตามที่ผู้ว่าการเมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์กสคนก่อนหน้า  นายอนาโตลี  ซอบชัค ซึ่งเป็นที่โด่งดังในเรื่องความคิดเสรีภาพ  รัฐบาลของซอบชัค  เมื่อ  ค.ศ.  ๑๙๙๓  ได้เซ็นต์บันทึกข้อตกลงร่วมมือ ทางเศรษฐกิจกับ ประเทศคอมมิวนิสต์เก่ามากมาย  รวมทั้งประเทศลิธัวเนีย  และประเทศบัลแกเรีย  ขณะที่รัฐบาล กลางยังเริ่มได้เล็กน้อย  คณะผู้บริหารของแค้วนนอฟโกรอด  ละเลยกับข้อบังคับของรัฐบาลกลาง  โดยบังคับใช้  กฎหมายใหม่ในการถือครองที่ดิน  ซึ่งอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเช่าที่ดินได้เป็นเวลา  ๔๙  ปีต่อครั้ง  ด้วยเหตุผลที่ชัดเจน  คือ  ดินแดนต่างๆ  ไม่สามารถรับได้กับกฎหมายที่อำนวยความสะดวกกับบางดินแดน  ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับนักการเมือง  ขณะที่ดินแดนเหล่านี้ได้ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน  คือ  การเติบโตทางเศรษฐกิจ  และพยายามกระตุ้น ให้เศรษฐกิจผูกกับเศรษฐกิจของต่างประเทศ

 

ตัวอย่างอันชัดเจน  เช่น  ดินแดนที่ไม่พอใจกับการเรียบเก็บอัตราภาษีศุลกากรในระดับสูง  โดยรัฐบาลกลาง  และความพยายามกีดกันไม่ให้มีการเซ็นข้อตกลงความร่วมมือกันในระดับดินแดน  บ่อยครั้งที่ประกอบการในดินแดนเหล่านี้ต้องประสบกับภาวะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  จากเครื่องมือที่นำเข้ามาจากหุ้นส่วนทางตะวันตก  เนื่องมาจาก  ระดับอัตราภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บกับ เครื่องมือเหล่านี้อยู่    ระดับสูงถึง  ร้อยละ  ๓๐  ของมูลค่าเครื่องมือ  ผู้บริหารดินแดนเหล่านี้จึงวิจารณ์รัฐบาลกลางอย่างหนักหน่วง ที่ให้ความสนใจในการสร้าง ฐานะทางการคลังที่แข็งแกร่ง  แต่ไม่ใส่ใจต่อความต้องการทาง เศรษฐกิจของดินแดนนั้น

 

นอกจากนั้นดินแดนต่างๆ  พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลกลางให้ความสนใจกับประเด็นนิเวศวิทยา    สามารถสะท้อนได้จากตัวอย่างดังนี้  คือ  ผู้บริหารของแคว้นคีรอฟ  ได้แต่งตั้งคณะกรรมการในการควบคุม การนำเข้าสารเคมีเพื่อการผลิตอาวุธเข้ามาในแคว้นคีรอฟ  นอกจากนั้นประเด็นของการรักษาความปลอดภัย ให้แก่ประชากรในสังคม  และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม  กลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งลำดับแรก  ในการบริหารของรัฐบาลดินแดนต่างๆ  เหมือนกันนั้น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐโคมิ  ได้ตั้งโปรแกรมการวิจัยทางนิเวศวิทยาในศึกษาผลกระทบอันเนื่องมาจาก  การทดลองขีปนาวุธรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

 

ความแตกต่างระหว่างกลยุทธ์ภูมิศาสตร์การเมืองของรัฐบาลกลาง  และกลยุทธ์ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ของรัฐบาลดินแดนต่างๆ  ถูกเรียกว่า  “หนีรถถัง  ปะตลาด,”  หรือ  “นักรบ  ปะทะ  พ่อค้า”  ความแตกต่างระหว่าง ทั้งสองกลยุทธ์เห็นได้ชัดเจนในดินแดนชายแดน  ความเห็นนี้เป็นที่แพร่หลาย ท่ามกลางผู้เชียวชาญ  ที่ว่า  ความ พยายามส่งเสริมหน้าที่เป็นช่องทางติดต่อของดินแดนชายแดน  จะกลายเป็นแนวโน้มสำคัญที่เห็นได้ชัดเจน  เช่นกรณีชายแดนทางด้านตะวันตก  โดยเฉพาะส่วนที่ติดต่อกับ ประเทศนอร์เวย์  และประเทศฟินแลนด์  รวมทั้ง  ชายแดนทางด้านตะวันออก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ติดต่อกับประเทศจีน

 

ขณะเดียวกันนั้น  จะพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้แคว้นคาลินินกราดต้องประสบกับภาวะถดถอย ทางเศรษฐกิจมากกว่ารัสเซียเอง  เมื่อ  ค.ศ.  ๑๙๙๑  เนื่องมาจากความสนใจของกรุงมอสโก ในการใช้วิธีการเจรจา ทางการทหาร  รวมทั้งคำตอบในประเด็นความปลอดภัยระหว่างรัสเซีย  และประเทศรอบทะเลบอลติก  ด้วยเหตุนี้เอง  ได้ชะงักความสนใจของชาวยุโรปที่จะเข้ามาลงทุน  รวมทั้งมีการยับยั้งการเจรจาที่เริ่มอยู่ก่อนแล้ว เช่น  การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเสรี  นอกจากนั้นนโยบาย ทางเศรษฐกิจเองไม่ได้เอื้อประโชยน์ต่อชาวรัสเซียเอง  ความสนใจของคนชนบท  รัฐบาลกลางได้เรียกเก็บ ภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงกับสินค้าที่มาจากประเทศเอสธัวเนีย  เข้าสู่แคว้นปสคอฟ  เพื่อเป็นการลงโทษ แคว้นปสคอฟในการพยายามสร้างบทบาทเป็นประตูสู่ยุโรปเหนือ


รัฐบาลกลางให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ  เห็นได้จากความขัดแย้งในความสนใจ  ในกรณีนี้  การสร้างดินแดนขึ้นใหม่  จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจน  และท้าทายต่ออำนาจรัฐ  แต่อย่างไรก็ตามยังมีการโต้เถียง ในประเด็นของระดับอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง  และดินแดน  ที่ฝังลึกอยู่ในโครงสร้างทางสังคมของรัสเซียมา ช้านาน  และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  จึงเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลกลางจะคิด  และกระทำในลักษณะรูปแบบ  “ความสนใจที่สำคัญของประชาชน”,  “ความเคารพ  ให้เกียรติชนในชาติ”  ขณะเดียวกันรัฐบาลของดินแดนต่างให้ความสนใจ กับกลยุทธ์การอยู่รอดทางเศรษฐกิจ  ใบบริบทที่กว้างขึ้น  คือ  บริบทระหว่างประเทศ  รวมทั้งยังนำแนวคิดความปลอดภัย  และมั่นคงของเมืองมาใช้ด้วย 

 

นอกจากนั้นควรทำความเข้าใจเบื้องต้น  เกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงที่สำคัญในขณะนี้  คือ  ๑.)  กลยุทธ์ภูมิศาสตร์  เศรษฐกิจของดินแดน  เป็นช่วงที่เพิ่งตั้งไข่  นั่นคือ  เพิ่งเริ่มต้น  เพิ่งสร้างแนวโน้มที่ชัดเจน  การร่วมมือระหว่างกัน  และการเหลื่อมทับกันไม่ว่าจะเป็นประเด็น  ระบบนิเวศ  ภูมิศาสตร์การเงิน  หรือ  ภูมิศาสตร์เกษตรกรรม  ๒.)  แนวคิดเกี่ยวกับภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ  ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชนชั้นนำของดินแดนต่างๆ  ในรัสเซีย  แนวทาง ในการดำเนินการภูมิศาสตร์เศรษฐกิจยังมีอุปสรรคขัดขวางอยู่หลายประการ  คือ  ก.)  แนวคิดของภาระกิจของดินแดนยังไม่ชัดเจน  อ่อนแอ  ไม่มีวิสัยทัศน์   ยึดติดกับรูปแบบเดิม  ข.)  ความร่วมมือเชิงลบระหว่างกลุ่มผู้บริหารรัฐบาลดินแดน  เช่น  การป้องกันอุตสาหกรรม ภายในดินแดนจากภาวะ การแข่งขันจากภายนอก  เห็นได้ชัดว่า  ตัวกำหนดโลกาภิวัฒน์  ยังไม่มีความแข็งแกร่งพอที่จะชี้นำการตัดสินใจ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศ  ๓.)  ไม่ควรคาดหวังว่า  การดำเนินกลยุทธ์ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ  ของดินแดนจะปราศจากความรุนแรง   ความขัดแย้ง  ในการนำภูมิศาสตร์เศรษฐกิจมาใช้เป็นกลยุทธ์  ดินแดนต่างๆ  ควรที่จะเรียนรู้มันให้ดี  และเตรียมตัวที่จะรับมือกับ  “สงครามภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ”,  “อาวุธภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ”  และ  “การขยายลัทธิภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ”  เป็นต้น

 

การดำเนินนโยบายทางการทูตของดินแดนต่างๆ  ได้สร้างภาวะยุ่งยากแก่รัฐบาลกลาง  อันเนื่องมาจาก เหตุผล  ดังนี้ 

 

๑.)  บทบาทของผู้นำดินแดนต่างๆ  ในเวทีระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ซึ่งอาจ ต่อต้านแนวทางภูมิศาสตร์การเมืองของรัฐบาลกลาง  รวมทั้งกฎระเบียบระหว่างประเทศ  ดังนั้นสาธารณรัฐ บัชคอร์โตสถาน  และสาธารณรัฐฮาคาซียา  โดยมีกฎหมายระหว่างประเทศที่ บางส่วนมาจากของรัฐจอร์เจีย  สหรัฐอเมริกา  

 

๒.)  เกิดความหวาดกลัวขึ้นท่ามกล่างปัญญาชน  และนักการเมือง  ที่ว่า  การดำเนินนโยบาย ต่างประเทศของดินแดน  โดยไม่สามารถควบคุมได้  ในระยะยาวแล้วอาจก่อให้เกิดการแยกตัวออกจากสหพันฐรัฐ  เห็นตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนคือ  ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลาง  และชนชั้นนำของดินแดน  ในประเด็นการ ปฏิเสธหลายครั้ง ของสภาสูงแห่งสหพันฐรัฐในการผ่านกฎหมายว่าด้วย  ความพยายามรักษา  ส่งเสริม  สนับสนุน การรวมเป็นหนึ่งเดียวของดินแดนต่างๆของรัสเซีย  ซึ่งได้ให้อำนาจแก่หน่วยงานของรัฐบาลกลาง ในการประกาศ  ดินแดนนั้น   ให้เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถควบคุมได้เป็นการชั่วคราว  และยังใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายใน ดินแดนนั้น  เพื่อนำมาสู่ภาวะปกติ  

 

๓.)  รัฐบาลกลางแห่งสหพันรัฐได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงในกรณี  บทบาทบนเวทีโลกของการเมือง ในดินแดนต่างๆ  ทำให้กระบวนการการดำเนินนโยบายต้องประสบกับ ความยุ่งยาก  และสร้างอุปสรรคต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลกลาง    จุดนี้เป็นการยากที่จะ ชัดจูง  เนื่องจาก  ประชาธิปไตย  คือ  การแข่งขันของสถาบัน  ที่ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่นทางการเมือง  ดังนั้น  จากการวิพากษ์วิจารณ์ของรัฐบาลกลาง  สามารถกล่าวได้ว่า  การดำเนินนโยบายต่างประเทศควร ได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนอย่างกว้างขวาง  และส่งเสริมให้นำมาปฏิบัติ  ส่งผลเป็นรูปธรรม  อย่างน้อยก็ในช่วงเวลา ที่ประกาศใช้  ในความเป็นจริงแล้ว  การดำเนินกลยุทธ์ระยะยาว สำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของ รัสเซียต้องได้รับการขัดเกลา  และประเด็นที่สำคัญ ลำดับแรกก็ถูกสับเปลี่ยนไปเรื่อย  ขณะที่ความเป็นไปได้ของ ภาวะต่างๆเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก  ไม่ว่า  การตกลงความร่วมมือกันเพื่อความปลอดภัยกับประเทศจีน  การเข้าร่วมองค์กรของประเทศเซอร์เบีย  การเผชิญหน้ากับนาโต  เป็นต้น

 


๓.  ดินแดนขนาดใหญ่

 

โครงการการสร้างดินแดนขนาดใหญ่  เป็นส่วนหนึ่งของวาระทางการเมืองของรัสเซียในทศวรรษที่  ๑๙๙๐  แนวความคิดนี้ถูกพฒนาขึ้นโดย  พรรคยาโบลโก  เพื่อผลักดัน  ส่งเสริม  การให้ความสำคัญกับ  จุดรวมของการพัฒนาดินแดน  ให้กลายเป็นศูนย์กลางของดินแดนขนาดใหญ่ทั่วรัสเซียในอนาคต  หนึ่งในข้อสนับสนุนที่สำคัญ  คือ  ส่วนใหญ่ของดินแดนขนาดเล็กมีสถานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ  ดังนั้นไม่ สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้  สร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งได้  รวมทั้งไม่สามารถค้นหาจุดเด่นของตัวเองใน ตลาดโลกได้  ซึ่งต่อมานายปรีมาคอฟ  นายกรัฐมนตรีของรัสเซียเองยังมีความเห็นสอดคล้องกับความคิดนี้


ความพยายามเริ่มต้นในการที่จะนำเอาแนวคิดองค์กรระหว่างดินแดน  กลับไปยังต้นทศวรรษ  ๑๙๙๐  เมื่อผู้นำของสหพันธรัฐ  พยายามสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ  ตัวอย่างเช่น  ข้อตกลงไซบีเรียน   ข้อตกลงวอลก้า  เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตาม  องค์กรเหล่านี้ประสบความล้มเหลว ในการเป็นทำหน้าที่บทบาททางการเมือง  และกำลังขาดการร่วมมือมากขึ้นเรื่อยๆ  เนื่องด้วยความไม่ชัดเจน ในประเด็นกฎหมาย  และความขัดแย้งหลาย ประการระหว่างดินแดน

 

ในเดือนพฤษภาคม  ค.ศ.​​  ๒๐๐๐  นายปูตินก้าวสู่การดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนใหม่ทำให้แนวคิดเก่า  ในการเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมดของดินแดนต่างๆของรัสเซีย ถูกนำมาใช้อีกครั้ง  ตามคำประกาศของ ประธานาธิบดี  ลงวันที่  วันที่  ๑๓  พฤษภาคม  ค.ศ.  ๒๐๐๐  ได้กำหนด    เขตการปกครองตามสหพันธรัฐ  แต่ละเขตการปกครองจะควบคุมโดยตัวแทนประธานาธิบดี  เขตการปกครองดินแดนที่เกิดขึ้นใหม่นี้เกิดขึ้น พร้อมกับเขตการปกครองทางทหาร  และ    คน  จาก    คนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทน   ดำรงตำแหน่งนายพล   จากที่กล่าวมาข้างต้น  นำไปสู่สมมติฐานที่ว่า  ประเด็นความมั่นคง  และความปลอดภัย  เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้  ขณะที่ปูตินเองเรียกการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า  การปฏิรูปการบริหารแห่งรัฐ  ภายใต้การปกครอง ระบอบประธานาธิบดี    และเป็นที่ชัดเจนว่าผลลัพธ์จากการ กระทำครั้งนี้จะส่งผลกระทบหลักต่อ รัฐแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย  การปกครองโดยตัวแทนประธานาธิบดีจะใช้ ทรัพยากรที่มีอยู่ในการควบคุม เขตการปกครอง  และตัวแทนเหล่านี้อาจเพิ่มบทบาททางการเมืองมากขึ้น  และกลายเป็นผู้เฃ่นสำคัญ มากกว่ารัฐแห่งสหพันธรัฐทั่งเวทีในประเทศ  และนอกประเทศ

 

 

๔.  เมืองใหญ่

 

ถ้าให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางและดินแดนต่างๆ  ถูกพิจารณาในรูปแบบของภูมิศาสตร์การเมือง  และภูมิศาสตร์เศรษฐกิจแล้ว  ข้อถกเถียงระหว่างดินแดนและหน่วยงานของเมืองต่างๆ  คงอยู่บนพื้นฐาน ของประเด็นกระบวนการการกระจายอำนาจ  และการจัดสรรทรัพยากรที่ยังไม่เรียบร้อย  โดยตามสถาบัน ทางการ เมืองแล้ว  การปกครองตนเองของท้องถิ่น  ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบอำนาจแห่งรัฐ  ด้วยเหตุนี้และเชิงประจักษ์ในการแข่งขันการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุด  เป็นการเปิดทางเข้ามามี บทบาททางการเมือง  และสนับสนุนการท้าทายอำนาจของผู้ว่าการของเมือง

 

ตั้งแต่ปี  ค.ศ.  ๑๙๙๘  รัสเซียเข้าร่วมปฏิณญาแห่งสหภาพยุโรปว่าด้วยการปกครองตนเองของท้องถิ่น  ทำให้เมืองได้รับกรอบกฎหมายสำคัญในการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ  ตั้งแต่การเข้าเป็นสมาชิก สภาสหภาพยุโรป  ปี ค.ศ.  ๑๙๙๖  รัสเซียได้ให้ปฏิณญาในการปฏิบัติตามกฎว่าด้วยเมืองที่ประกาศใช้ในปี  ค.ศ.  ๑๙๙๒  โดยทำให้การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับรากหญ้า  เป็นประเด็นการพิจารณา ระหว่างประเทศ

 

การปกครองตนเองของท้องถิ่น  อันแสดงถึงการก่อตั้ง  และการปรากฏของระบอบประชาธิปไตย อย่างแท้ จริง  ได้รับทั้งความสนใจ  และการช่วยเหลือทางการเงิน  จากกลุ่มเอ็นจีโอต่างประเทศ  เช่น  กองทุนโซรอส  ได้จัดตั้งโครงการ  “เมืองเล็กในรัสเซีย”  โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในระดับรากหญ้า  ในการบริหารจัดการตัวเอง  และช่วยเหลือเมืองที่ไม่ได้ ปกครองในรูปแบบศูนย์กลางเข้ามามีส่วนร่วม  ในสังคมอินเตอร์เน็ตระดับโลก  นอกจากนั้่นกองทุนอเมริกัน  ยูเรเชีย  โดยสำนักงาน     กรุงมอสโก  มีการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการพิเศษ  สำหรับการปกครองตนเองของท้องถิ่น  และสถาบันวิจัยไตรเองเกล  ทำงานภายใต้องค์กรยูเซด  ได้ร่วมมือกับสถาบันเมืองแห่งรัสเซีย  ในการดำเนินโครงการจำนวนมากมาย  เพื่อที่จะ  รายงานความคืบหน้า  สถานะทางการเงินของเมือง  และทำประชาพิจารณ์ในประเด็นงบประมาณ

 

เมืองหลักๆ  ของรัสเซียมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน  ความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ในการก้าวสู่ บทบาทเวทีโลก  เมืองเหล่านี้มีทั้งระบบการคมนาคมขนส่ง  และเครือข่ายการติดต่อสื่อสาร  การบริการ  การธนาคาร  และอุตสาหกรรม  เป็นต้น  ร้อยละ  ๖๐ – ๙๐  ของบริษัท  หรือกิจการที่เป็นของต่างชาติตั้งอยู่ในเมืองใหญ่  โดยเฉพาะสองเมืองใหญ่ของรัสเซีย  คือ  มอสโก  และเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก  และบ่อยครั้งถูกหมายถึงประตูสู่โลกาภิวัฒน์ที่มีพลวัตสูง  ดังนั้นจึงไม่เป็นที่แปลกใจที่  นายลูซคอฟ  กลายเป็นบุคคลที่มีประวัติทางการเมืองสูง  และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

 

บทบาทของเมืองที่ผูกเศรษฐกิจไว้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของต่างชาติมีความสำคัญอย่างยิ่ง  เช่น  ผู้บริหารของดินแดนครัสโนดาร์  และแคว้นยารอสลัฟล์  เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภายในเขตเมือง 

 

เมืองยังมีบทบาทสำคัญในการนำประเทศสู่ความเป็นสากล  อารยะประเทศ  ทัดเทียมนานาประเทศ  เนื่องมาจากที่ว่าปัจจุบันนี้  นายกเทศมนตรีเมืองหลายเมืองเป็นคนวัยหนุ่ม  อายุน้อย  มีความคิดที่เปิดเสรีภาพ มากขึ้น  มากกว่าผู้ว่าการ  และยังมีความเฉลียวฉลาดมากกว่า  รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก  กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก  และขนาดกลาง  บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่ก่อร่างสร้างตัวมาด้วยตัวเอง  เป็นกลุ่มประชาธิปไตย  ที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิคอมมิวนิสต์

 

ขอขอบใจผู้สนใจทุกท่าน

 


Read Full Post »