Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Posts Tagged ‘แจกเงิน’

เลือกตั้งไทย : ปัญหา และ ทิศทาง

recommendare

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของนักวิชาการคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย  คือ  ท่านอาจารย์อัมมาร  สยามวาลา  ซึ่งเขียนไว้นานมากกว่า  15  ปีมาแล้ว  หรือเมื่อปี  พ.ศ. 2537  แต่เนื้อหาใจความที่ได้พบนั้นไม่ได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  ยังคงสามารถใช้อธิบายปัญหาการเลือกตั้งของสังคมไทยได้ดีในระดับหนึ่ง  หรือในทางกลับกันอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยไม่สามารถหาทางออกหลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ  ถึงแม้ว่าจะพยายามอย่างมากก็ตามในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง  กลไกของระบบ  อาทิ  สถาบัน  องค์กรต่าง   และการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ  อาทิ  รูปแบบ  เงื่อนไขต่างๆ  ของการเลือกตั้ง  เป็นต้น  ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

 

บันทึก

จากบทความหัวข้อ  “เลือกตั้งไทย : ปัญหา และ ทิศทาง”

 

เขียนโดย

 

อัมมาร สยามวาลา
ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ขณะนั้น)
ปิยนุช เพียรชอบ
ผู้ช่วยนักวิจัย ประจำฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสถาบัน (ขณะนั้น)

 

ความมีดังนี้

 

ในสังคมประชาธิปไตย การไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญในการแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย โดยหลักการแล้ว การเลือกตั้งคือ การสื่อสารจากประชาชนไปยังผู้บริหารประเทศและเป็นกลไกเชื่อมโยงความต้องการของประชาชนเข้ากับนโยบายสาธารณะ ดังนั้นการเลือกตั้งต้องเป็นกระบวนการตัดสินใจที่อิสระ ไม่ได้รับการชักจูง จ้างวาน หรือเห็นแก่สินจ้างรางวัลใด ๆ การเลือกตั้งจึงจะบรรลุตามวัตถุประสงค์ ผลของการเลือกตั้งจะแสดงออกถึง ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ในการส่งตัวแทนของตนเข้าไปบริหารประเทศ ด้วยเหตุนี้กระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง และส่งผลกระทบต่อ ผลของการเลือกตั้ง จึงมีความสำคัญเท่าเทียมกับผลที่ได้รับจากการเลือกตั้ง

 

ในประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มามีการซื้อขายเสียงกันอยู่ทั่วไป ผู้สมัครใช้กลยุทธต่าง ๆ ชักจูงประชาชนให้มาเลือกตน ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพียงหวังผลต้องการเอาชนะการเลือกตั้ง ได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อมีอำนาจในการบริหารประเทศ กำหนดนโยบายและออกกฎหมายต่าง ๆ

 

ปรากฏว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งยอมเสียเงินทองมากมายในการหาเสียง บางรายยอมเสียเงินนับสิบล้านบาทเพื่อจะได้เข้ามารับใช้ประชาชน เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน ในการบริหารประเทศ และรับเงินเดือนเพียงไม่กี่หมื่นบาท เมื่อเงินมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งเช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจที่นักธุรกิจเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเปรียบเทียบผลการเลือกตั้งระหว่างปี 2529 กับผลการเลือกตั้งปี 2535 (ครั้งแรก) จะพบว่าสัดส่วนของนักธุรกิจที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเพิ่มจากร้อยละ 39 เป็นร้อยละ 46

 

สมุดปกขาวฉบับนี้จะเสนอให้เห็นถึงสาเหตุที่มาของระบบการซื้อขายเสียงและสาเหตุที่การซื้อขายเสียงยังคงอยู่ แม้จะมีการรณรงค์กันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ ประชาชนไม่ขายเสียงขายสิทธิของตนเอง นอกจากนี้จะเสนอให้เห็นถึงจุดอ่อนของกฎหมาย รวมทั้งอุปสรรคที่ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถขจัดการซื้อขายเสียงได้

 

หัวคะแนนและระบบการซื้อขายเสียง

 

ผู้สมัครจะต้องทุ่มเทเวลาและทรัพยากรเพื่อการหาเสียงมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการด้วยกัน แต่ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดก็คือ ขนาดของเขตเลือกตั้ง

 

การเลือกตั้งในประเทศไทย นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่ 10 (พ.ศ. 2518) จนถึงครั้งที่ 16 (พ.ศ. 2535 ครั้งที่ 2) ใช้รูปแบบการแบ่งเขตแบบ “ผสม” คือ แต่ละเขตจะมีผู้แทนมากกว่า 1 คนแต่ไม่เกิน 3 คน ยกเว้นเขตเล็กที่มีผู้แทนได้เพียง 1 คน

 

เขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนมากกว่า 1 คน จะครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง บางเขตมีอาณาบริเวณห่างกันกว่า 60-70 กม. และมีหน่วยเลือกตั้งนับร้อยหน่วย ตามกฎหมายแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะเริ่มรณรงค์หาเสียงได้ หลังจากที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีเวลาเพียงประมาณ 45 วันเท่านั้น ดังนั้น ในทางปฎิบัติ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้สมัครจะสามารถตะเวนหาเสียงได้ทั่วทั้งพื้นที่เขตของตนโดยลำพัง ผู้สมัครจึงต้องหาผู้ช่วยในการหาเสียง ในพื้นที่ต่างจังหวัดคนที่จะช่วยเหลือ ผู้สมัครได้ดีก็คือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่มีความผูกพันกับชาวบ้าน เคยให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน หรือเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต ของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ชาวบ้านบางพื้นที่อาจจะไม่เคยเห็นหน้าตาผู้สมัครเลย ไม่เคยทราบว่าผู้สมัครมีนโยบายในการบริหารประเทศอย่างไร แต่พร้อมที่จะ ไปเลือกตามคำแนะนำของผู้มีอิทธิพลในท้องที่ ผู้มีอิทธิพลเหล่านี้มีได้หลายระดับ นับตั้งแต่ระดับจังหวัด ซึ่งอาจจะเป็นพ่อค้า คหบดี เจ้าของโรงแรม เจ้ามือหวยเถื่อน ไปจนถึงระดับตำบล หมู่บ้าน ผู้สมัครที่จะมีโอกาสได้รับการเลือกตั้ง จำเป็นจะต้องสร้างเครือข่ายเอาไว้

 

เมื่อการแข่งขันมีมากขึ้น ลำพังคำบอกเล่าชักจูงจากผู้มีอิทธิพลอาจจะไม่เพียงพอ ก็ต้องเริ่มมีหัวคะแนนช่วยในการหาเสียง โดยการแจกเงิน แจกของใช้ต่าง ๆ ซึ่ง เป็นวิธีที่ง่ายแก่การประเมินคะแนนเสียง และช่วยในการวางแผนการหาเสียง

 

หัวคะแนนมักจะเป็นผู้มีอิทธิพลในระดับที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับชาวบ้าน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หัวหน้ากลุ่มต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีสายสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อไปยัง ผู้มีอิทธิพลในระดับอำเภอหรือจังหวัด ดังนั้นในการแจกเงินซื้อเสียงนั้น ผู้สมัครจะฝากความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นทอด ๆ ไปจากผู้มีอิทธิพลในระดับอำเภอหรือจังหวัด ผ่านหัวคะแนนในระดับหมู่บ้านไปยังชาวบ้านที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งในที่สุด

 

สาเหตุสำคัญที่ต้องมีหัวคะแนนช่วยหาเสียงจนพัฒนาขึ้นมาเป็นการซื้อขายเสียงนั้น เนื่องจากเขตเลือกตั้งกว้างขวาง เกินกำลังการหาเสียงของผู้สมัคร แม้ผู้สมัครจะเป็นคนดี แต่ก็จะเป็นที่รู้จักของคนเฉพาะในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่เท่านั้น ไม่สามารถจะครอบคลุมความเชื่อถือของชาวบ้านในเขตอื่น ๆ ได้ ดังนั้นเมื่อผู้สมัครคนอื่นใช้กำลังเงิน ที่เหนือกว่าเข้ามาช่วยในการหาเสียง ผู้สมัครที่เป็นคนดีก็มีโอกาสเป็น ส.ส. สอบตกได้มาก

 

ในระยะยาว ผู้สมัครที่ใช้เงินซื้อเสียงเข้าไปได้ จะพยายามรักษาฐานเสียงของตนเอาไว้ โดยการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น สร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โรงเรียน ให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ หรือแม้แต่จัดเลี้ยงชาวบ้านในท้องที่นั้น ๆ เป็นการขอบคุณที่ได้รับเลือกตั้ง เพื่อสร้างความประทับใจ

 

ทำไมประชาชนผู้เลือกตั้งบางคนจึงยอมขายเสียง

 

ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง สื่อมวลชนแทบทุกประเภทต่างก็ช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนเลือกคนดีเข้ามาเป็นผู้แทนของตน ไม่เลือกคนที่ใช้เงินในการซื้อเสียง แม้แต่ทางราชการในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2535 (ครั้งที่ 1) ก็ได้จัดให้มีโครงการ “สี่ทหารเสือเพื่อประชาธิปไตย” โดยส่งคนเข้าไปรณรงค์ให้ชาวบ้านเข้าใจถึง ความสำคัญของการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น และชี้ให้เห็นผลเสียของการเลือกคนที่ใช้เงินซื้อเสียง แต่ก็เป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้วว่ายังคงมีการใช้เงินในการซื้อเสียงกันอย่างมากมาย

 

สาเหตุที่การซื้อขายเสียงยังคงมีประสิทธิภาพอยู่ในระบบการเลือกตั้งของประเทศไทย ก็เพราะกลุ่มบุคคล 3 กลุ่ม ที่ประกอบอยู่ในกระบวนการเลือกตั้ง ได้แก่ ประชาชน ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และตัวแทนของทางราชการ ยังคงได้รับประโยชน์จากการซื้อขายเสียงนั่นเอง

 

ประชาชน

 

ประชาชนที่อยู่ตามชนบทหรือพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ มักจะขาดแคลนสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โรงพยาบาล โรงเรียน หรือบางแห่งขาดแคลนปัจจัย ในการดำรงชีวิตประจำวัน ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งนำสิ่งของมาแจก แจกเงิน หรือสัญญาว่า ถ้าได้รับเลือกตั้งแล้วจะสร้างสาธารณสมบัติให้แก่ท้องถิ่น จึงไม่มีเหตุผลใดที่ประชาชนหล่านี้จะไม่รับเงินและไม่เลือกบุคคลนั้นเป็นผู้แทน เพราะชาวบ้านย่อมจะไม่เลือกบุคคลที่ไม่ได้ให้อะไรแก่ตนเลย

 

นอกจากการแจกเงินในฤดูกาลเลือกตั้งแล้ว การที่ผู้แทนซึ่งได้รับการเลือกตั้งไปแล้ว ได้พยายามดึงเงินงบประมาณมาก่อสร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โรงเรียน สวนสาธารณะ ก็เป็นการผูกความสัมพันธ์กับชาวบ้านไว้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ประชาชนไม่สามารถรอคอยจากรัฐบาลได้ ดังนั้น เมื่อผู้แทนราษฎรคนใดสามารถดึงงบประมาณ มาก่อสร้างสาธารณูปโภคได้มาก และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในท้องถิ่นนั้น ๆ ก็มักจะได้รับคะแนนเสียงในระยะยาว

 

การที่ประชาชนยังคงเลือกผู้แทนที่ให้ผลตอบแทนแก่ตนและชุมชนอยู่นั้น นอกจากเรื่องผลประโยชน์ที่ได้รับแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งก็คือการที่ประชาชนไม่ทราบว่า หน้าที่ที่แท้จริงของผู้แทนราษฎรคืออะไร และมีความสำคัญต่อประเทศโดยส่วนรวมอย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าผู้แทนของตนคือผู้ที่จะนำถนน ไฟฟ้า น้ำประปา มาให้ หรือแม้แต่ไปหาได้เมื่อมีเรื่องเดือดร้อน โดยไม่ได้ตระหนักว่าผู้แทนราษฎรต้องทำงานบริหารประเทศทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะพื้นที่เท่านั้น ประชาชนจึงยังเลือกผู้แทนประเภทนี้อยู่โดยไม่ได้สนใจว่าผู้แทนนั้นจะบริหารประเทศอย่างไร ได้ผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหนจากตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับ ดังมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในหลายพื้นที่

 

ผู้สมัครรับเลือกตั้ง

 

จากการที่ตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับหลังจากการเลือกตั้ง สามารถนำผลประโยชน์มาให้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมากมายมหาศาลนั่นเอง ที่เป็นแรงจูงใจ ให้ผู้สมัครยอมลงทุนเป็นจำนวนเงินนับสิบล้านบาทเพื่อซื้อเสียง โดยหวังที่จะชนะการเลือกตั้ง ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรเข้าไปนั่งในสภา เพื่อควบคุมการกำหนดนโยบาย และกฎหมายต่าง ๆ ที่จะยังประโยชน์ให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ ของตน

 

เมื่อประชาชนยอมรับผู้สมัครที่ใช้เงินซื้อเสียง และการได้รับผลตอบแทนก็กลายเป็นประเพณีนิยมไปแล้วนั้น ผู้สมัครที่ไม่แจกเงินจึงกลายเป็นคนแล้งน้ำใจไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สมัครหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับเลือก ยังไม่มีผลงานมาก่อน ย่อมไม่สามารถที่จะเอาชนะการเลือกตั้งได้เลย ดังนั้น ถ้าผู้สมัครหน้าใหม่ต้องการจะชนะ การเลือกตั้งให้ได้ ก็คงจะต้องใช้เงินในจำนวนที่มากกว่าจึงจะสามารถแย่งเสียงมาได้ ยกเว้นแต่ในพื้นที่ที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างแท้จริงเท่านั้น ที่คนดีมีอุดมการณ์ และต้องการทำงานเพื่อประชาชนอย่างจริงใจจะสามารถชนะการเลือกตั้งได้

 

ตัวแทนของทางราชการ

 

ตัวแทนของทางราชการ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกสภาเทศบาล นักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ ที่จะให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นกลุ่มบุคคลที่มักจะได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากผู้สมัคร โดยมากแล้วหัวคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งก็มักจะเป็นคนในกลุ่มนี้ ทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนักการเมืองท้องถิ่น นอกจากจะได้เงินเป็นค่าตอบแทนแล้วยังเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เช่น ถ้าผู้ที่ตนสนับสนุนได้รับเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎร ก็มักนำงบประมาณเข้ามาพัฒนาท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกสภาเทศบาล ก็จะได้ความดีความชอบ ผู้สมัครก็จะได้สะสมคะแนนไว้ในการเลือกตั้งของตนครั้งต่อไป ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน หรือแม้กระทั่งได้รับผลประโยชน์จากการทำธุรกิจร่วมกันด้วย สำหรับข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ที่จะให้คุณให้โทษแก่นักการเมืองได้นั้น ก็จะได้รับผลตอบแทนในการให้ความร่วมมือเช่นกัน ความร่วมมือจากข้าราชการเหล่านี้มีหลายรูปแบบ นับตั้งแต่การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่รับรู้การซื้อขายเสียง หรือการทุจริตใดๆ ที่เกิดขึ้น กระทั่งให้ความร่วมมือในการกระทำผิดเอง

 

ข้าราชการที่มีหน้าที่กวดขันจับกุมการกระทำทุจริตในการเลือกตั้งนั้น ถ้ามีความตั้งใจที่จะจับกุมผู้กระทำผิดให้ได้ ก็ต้องเสี่ยงเอาว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นจะได้รับ การเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าบังเอิญผู้สมัครคนนั้นได้รับเลือก ก็คงจะต้องมีการแก้แค้นคืนกันต่อไป จึงทำให้ไม่มีข้าราชการคนใดกล้าหาญพอที่จะกวดขันอย่างแท้จริง แม้จะมีการซื้อขายเสียงกันอย่างโจ่งแจ้งเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไป

 

เพราะเหตุใดกฎหมายที่มีอยู่จึงไม่สามารถขจัดการซื้อขายเสียง และการทุจริตในการเลือกตั้งได้ ?

 

ในการเลือกตั้งหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการใช้จ่ายเงินในการซื้อเสียง และมีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งกันมากมาย โดยแต่ละพรรคการเมืองต่างก็กล่าวโทษกันว่า พรรคคู่แข่งมีการแจกเงินซื้อเสียง แต่ก็ไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ เกิดขึ้นเลย ถึงจะมีกฎหมายที่ระบุความผิดและบทลงโทษไว้อย่างชัดเจนก็ตาม

 

อะไรคือปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้กฎหมายไม่สามารถขจัดการทุจริตในการเลือกตั้งได้ ในที่นี้จะขอพิจารณา 2 ประเด็นคือ ปัญหาและอุปสรรคในการตรวจจับเอาความผิด กับผู้กระทำ และปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

 

ปัญหาและอุปสรรคในการตรวจจับเอาความผิดกับผู้กระทำความผิด

 

ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 (รวมแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) มีข้อกำหนดหลายข้อที่กำหนดขึ้น เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการหาเสียง ไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ร่ำรวยได้เปรียบผู้สมัครที่ยากจนกว่า โดยการใช้เงินซื้อเสียง ให้ประชาชนทุกคน มีเสรีภาพในการเลือกใครก็ได้โดยไม่ถูกชักจูง และให้ผลการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด แต่ในการดำเนินการตามข้อกำหนดต่าง ๆ นั้นยังมีอุปสรรค อีกมากที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้

 

ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ ได้ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเกิน 1 ล้านบาท โดยต้องแจ้งค่าใช้จ่ายทั้งหมดภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งในความเป็นจริงมีผู้สมัครไม่กี่คนเท่านั้นที่แจ้งยอดค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริง และในทางปฏิบัติการตรวจสอบเป็นไปได้ยากมาก เพราะการที่จะตรวจสอบได้ ต้องติดตามประเมินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครผู้นั้นไปตลอดระยะเวลาการหาเสียง การตรวจสอบที่กรมการปกครองใช้อยู่นั้น อาศัยการยื่นใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของผู้สมัคร กระบวนการดังกล่าวนี้ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าถ้าผู้สมัครใช้จ่ายเกิน 1 ล้านบาท ก็จะไม่ยื่นใบเสร็จรับเงินส่วนที่เกินให้แก่เจ้าหน้าที่ และทางราชการก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้สมัครใช้เงินไปมากกว่านี้

 

นอกจากนี้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่มีผู้สมัครรายใดที่เพิ่งจะเริ่มหาเสียงภายหลังประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง แทบทุกคนจะต้องเริ่มหาเสียงก่อนหน้านั้นแล้ว และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งก็อยู่ภายนอกการควบคุม

 

สำหรับการซื้อขายเสียงนั้น จะมีการวางแผนกันอย่างเป็นระบบ และไม่เหลือหลักฐานอะไรไว้ให้เลย จะมีผู้รู้ก็เพียงผู้รับและผู้จ่ายเท่านั้น ดังนั้นการเอาผิดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าจะทราบว่ามีการรับเงินกันก็ตาม มิหนำซ้ำกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวย ให้ผู้ขายเสียงมาแจ้งความเอาผิดกับผู้สมัครเพราะตามกฎหมายผู้ขายเสียงก็มีความผิดเช่นกัน

 

ยังมีการทุจริตในแบบอื่น ๆ ในการเลือกตั้ง เช่น “พลร่ม” ซึ่งหมายถึงการไปลงคะแนนเสียงโดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ สามารถทำได้โดยซื้อบัตรประจำตัว ประชาชนของผู้อื่นและมาทำการปลอมแปลง แล้วนำไปเลือกตั้ง วิธี “ไพ่ไฟ” หมายถึง การใช้บัตรที่ปลอมแปลงขึ้นมาไปทำการเลือกตั้ง และวิธีการอื่น ๆ กล่าวคือ การลงคะแนนเสียงมากกว่าหนึ่งแห่ง การแก้ไขจำนวนบัตรเลือกตั้งและจำนวนผู้มาใช้สิทธิ การนำบัตรเลือกตั้งออกจากคูหาเลือกตั้ง การใช้บัตรที่กรรมการมิได้มอบให้ การที่คะแนนของผู้สมัครเพิ่มอย่างผิดสังเกตภายหลังไฟดับในระหว่างการนับคะแนน เป็นต้น การทุจริตประเภทนี้จะไม่สามารถทำได้ถ้าเจ้าหน้าที่ประจำ หน่วยเลือกตั้งไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นการจะจับผู้กระทำผิดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในบางหน่วยเลือกตั้งที่มีการซื้อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยหมดทั้งหน่วย

 

ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

 

1. ปัญหาเกี่ยวกับผู้มีอำนาจฟ้องร้องคดี

ความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งเป็นความผิดคดีอาญา ผู้ที่มีอำนาจในการฟ้องร้องมี 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้เสียหายและพนักงานอัยการ

 

ผู้เสียหาย  ในที่นี้ก็คือ พรรคการเมืองหรือผู้สมัครคู่แข่งที่ลงสมัครในเขตที่มีความผิดเกิดขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่ค่อยมีการฟ้องร้องกันเอง เพราะส่วนมากต่างก็กระทำ ความผิดด้วยกันทั้งสิ้น หรือสำหรับผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด จะฟ้องร้องได้ก็ต้องมีหลักฐานที่แน่นหนาเพียงพอ ทั้งในเวลาที่เกิดความผิดขึ้นก็จะเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง ผู้สมัครทุกคนต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดในการหาเสียง จึงไม่มีเวลาหรือบุคลากรที่เพียงพอที่จะหาหลักฐานได้ นอกจากนี้ในกรณีที่เคยมีการฟ้องร้องกัน ศาลยังเคยตัดสินว่า จะประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ก็ต่อเมื่อโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ว่า จำนวนรายที่มีการทุจริตนั้นมากพอ ที่จะทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างอื่นไปได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าผลต่างระหว่างโจทก์กับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเป็นคนสุดท้าย คือ 5,000 เสียง โจทก์จะต้องพิสูจน์การทุจริตเป็นกรณี ๆ ไป จนกระทั่งครบ 5,000 กรณี และการทุจริตนี้ทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไป ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะพิสูจน์กันได้ง่าย ๆ

 

ในส่วนของ  พนักงานอัยการ การจะฟ้องร้องได้ต้องมีสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน และมีพยานหลักฐานที่แน่นหนาจึงจะส่งฟ้องศาลได้ ปัญหาที่สำคัญก็คือ ทางราชการมีบุคลากรไม่เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการรวบรวมหลักฐาน แต่ปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ไม่มีใครต้องการเอาตัวเองเข้าไปพัวพันกับการฟ้องร้องดังกล่าว เพราะถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นได้รับเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองนั้นได้มีโอกาสเข้ามาควบคุมการทำงานของหน่วยงานของผู้ที่ดำเนินการฟ้องร้อง ก็ย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ที่พยายามจะฟ้องร้องและจะต้องถูกกลั่นแกล้งอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงไม่มีใครต้องการเอาตัวเองเข้ามาเสี่ยง จึงไม่เคยมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นเลย

 

2. ปัญหาเกี่ยวกับพยานหลักฐาน


การทุจริตในการเลือกตั้งจะดำเนินการกันอย่างเป็นระบบ บางวิธีจะไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ เลย

 

ในการซื้อขายเสียงนั้นกฎหมายระบุว่าทั้งผู้ให้และผู้รับต่างก็มีความผิด แต่ในขณะที่การให้และการรับเงินจะมีก็แต่เพียงผู้ให้และผู้รับเท่านั้นที่รู้เห็นกัน ไม่มีหลักฐานอะไร จะมีก็แต่ผู้รับเท่านั้นที่จะเป็นพยานได้ว่าได้รับจริง แต่ในเมื่อผู้รับเองก็มีความผิด ดังนั้น การจะให้ผู้รับออกมายืนยันว่ารับเงินจริงก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

 

ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในการเลือกตั้ง

 

รัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อกำจัดการซื้อขายเสียงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ห้ามเลี้ยงโต๊ะจีน ห้ามจัดงานเลี้ยงในช่วงก่อนการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถกำจัดการซื้อขายเสียงได้ เพราะผู้สมัครที่จะซื้อเสียงก็หาวิธีให้ผลตอบแทนรูปแบบใหม่ ๆ เช่น จัดทัศนาจรก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง การจัดงานเลี้ยงขอบคุณแก่ประชาชนในท้องถิ่น ภายหลังการเลือกตั้ง และพัฒนารูปแบบการแจกเงินให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจนยากแก่การพบเห็น

 

ในการเลือกตั้งครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งรับผิดชอบดำเนินการเลือกตั้ง ได้ตระหนักถึงปัญหาการซื้อขายเสียงที่มีอยู่ทั่วไป จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่รู้จักกันในนามของ “องค์กรกลาง” เพื่อเป็นหน่วยงานอิสระไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ กับการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง และตรวจสอบการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด

 

เนื่องจากองค์กรกลางเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ มีเวลาเตรียมตัวไม่มากนัก และยังไม่มีประสบการณ์ การทำงานจึงเป็นลักษณะทำไปคิดไป การประสานงานยังไม่ดีนัก และอุปกรณ์ก็ยังไม่พร้อม จึงทำให้การทำงานยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าใด

 

จากการทำงานขององค์กรกลางเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (22 มีนาคม 2535) มีการแจ้งเหตุกล่าวหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการเลือกตั้งดังในตารางที่ 1

chart 1

จากตารางที่ 1 พบว่า ฝ่ายบริหารส่วนท้องถิ่นระดับตำบล หมู่บ้าน ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทุจริตในการเลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 23.75 ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเพราะบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิก หรือหัวคะแนนให้แก่พรรคการเมืองอยู่แล้ว

 

จำนวนข้าราชการประจำก็ถูกกล่าวหาในสัดส่วนที่สูงเช่นกันคือ ร้อยละ 13.26 ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด นอกจากนี้ฝ่ายบริหารส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดก็ถูกกล่าวหาด้วย แม้จะมีสัดส่วนไม่สูงนัก อาสาสมัครขององค์กรกลางยืนยันว่าข้าราชการระดับสูงของจังหวัดบางจังหวัดใช้อำนาจหน้าที่ให้คุณให้โทษแก่นักการเมืองบางคน แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันความผิดจนถึงขั้นส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยหรือนายกรัฐมนตรีพิจารณาได้ ในจำนวนนี้ฝ่ายที่รับแจ้งเหตุได้รับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัด 10 ราย รองผู้ว่าราชการจังหวัด 4 ราย นายอำเภอ 58 ราย และตำรวจ 100 ราย มีการใช้อำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษแก่นักการเมืองบางคน ในบางจังหวัด ข้าราชการระดับสูงไม่ให้ความร่วมมือแก่องค์กรกลางในการทำงาน และบางจังหวัดมีการข่มขู่อาสาสมัครขององค์กรกลางด้วย

 

นอกจากนี้การพิจารณาเรื่องของการทุจริตที่ส่งเพื่อพิจารณา ในบางจังหวัดก็ดำเนินการล่าช้า โดยองค์กรกลางได้ส่งเรื่องการทุจริตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาทั้งสิ้น 195 เรื่อง แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจนถึงขั้นฟ้องร้องแม้แต่เรื่องเดียว โดยให้เหตุผลว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอ บางจังหวัดมีการส่งหนังสือตอบแก่องค์กรกลาง ล่าช้าทำให้ไม่สามารถส่งเรื่องฟ้องร้องได้ทันเวลา

 

การดำเนินการขององค์กรกลางไม่สามารถกำจัดการทุจริตในการเลือกตั้งได้ จะมีผลก็คือทำให้รูปแบบในการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น เช่น เมื่อกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านไม่สะดวกที่จะเป็นหัวคะแนนได้อย่างออกนอกหน้าเหมือนเดิม ก็เปลี่ยนให้ภรรยามาทำหน้าที่แทน โดยหาเสียงผ่านทางกลุ่มแม่บ้าน หรือกลุ่มชุมชนต่าง ๆ นอกจากนี้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือ หัวคะแนนจะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นเพราะมีความเสี่ยงต่อการถูกจับมากขึ้น และรูปแบบการแจกเงินก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

 

สรุป

 

การซื้อขายเสียงได้กลายเป็นประเพณีนิยมสำหรับประชาชนชาวไทยไปแล้ว เมื่อสิ่งที่ประชาชนต้องการจากรัฐบาล รัฐบาลไม่สามารถให้ได้ แต่ประชาชนสามารถได้รับ จากผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือจากผู้แทนที่ตนได้เลือกไปแล้ว ดังนั้น ในระยะยาวผู้สมัครคนนั้นก็จะยังได้รับการเลือกตั้งอยู่ แม้ว่าในหน้าที่การบริหารประเทศ จะไม่ได้ทำเพื่อประชาชนส่วนรวมเลย

 

ความพยายามของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้งนั้น ไม่สามารถทำให้บรรลุผลได้ เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างก็ได้รับประโยชน์ จากการซื้อขายเสียงนั้น แม้ว่าจะมีการจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาเป็นองค์กรอิสระ แต่เมื่อไม่มีอำนาจในการตัดสินอะไรได้ องค์กรกลางก็ไม่สามารถที่จะกำจัดการซื้อขายเสียงได้ เพียงแต่มีผลให้การซื้อขายเสียงเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเท่านั้น

 

แต่กำเนิดขององค์กรกลางในการเลือกตั้งในปี 2535 ทั้งสองครั้งนั้นชี้แนวว่า ตราบใดข้าราชการที่บริหารการเลือกตั้ง ยังต้องอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้งเช่นกันนั้น ข้าราชการที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องการเลือกตั้งจะไม่สามารถขจัดการทุจริตในการเลือกตั้งลงได้เลย

 

Read Full Post »