Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Posts Tagged ‘elites’

recommendare

สรุป

จากหนังสือเรื่อง  “Theory of Hegemony and Ideology”

 

เขียน  โดย

Dr.Chad Raphael
Santa Clara University

 

แปลและเรียบเรียงโดย
มัทนา เจริญวงศ์
สาขาสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ความมีดังนี้

 

ทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่ Hegemony

แก่นของทฤษฎีการครองครองความเป็นใหญ่/ การครอบครองความเป็นเจ้า (Hegemony) ก็คือ ทฤษฎีนี้พยายามจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความมีเสถียรภาพของอำนาจทางการเมือง และการควบคุมทางสังคมในสังคมทุนนิยมประชาธิปไตย ซึ่งในปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ของโลกล้วนเป็นสังคมลักษณะนี้ทั้งสิ้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา, ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันตก ตลอดจนพยายามอธิบายการเกิดขึ้นของภาวะวิกฤติต่างๆ การเกิดสงครามโลก หรือแม้แต่สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

 

นักคิดต้นตำรับทฤษฎีนี้ คือ อันโตนิโอ แกรมชี่ ในปี ค.ศ. 1971 แกรมชี่ได้แสดงความเห็นว่า พลังอำนาจทางการเมืองในประเทศเสรีประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ได้ถูกแสดงผ่านรูปแบบที่รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น ในลักษณะของการจองจำนักโทษการเมืองในคุก, การสังหารผู้ประท้วงคัดค้าน

 

แต่พลังอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงได้ถูกใช้ผ่าน “อุดมการณ์” (ideology) หรือ ทัศนคติ/มุมมองที่สำคัญในการมองโลก ซึ่งความคิดและสัญลักษณ์ต่างๆที่ประกอบขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ โดยทั่วไปจะถูกกำหนดขึ้นมาโดยผู้ปกครอง ด้วยอำนาจที่ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและ “อุดมการณ์”นี้เองที่เป็นตัวช่วยให้ผู้ปกครองสามารถปกครองพลเมืองของตนได้อย่างราบรื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นที่ยอมรับของพลเมือง (เป็นการยอมรับด้วยใจไม่ใช่ด้วยการบังคับ/ใช้กำลัง)

 

ในยุคเศรษฐกิจแบบศักดินา(ยุคกลางของยุโรป-ทาส คือ แรงงานที่จะต้องอุทิศแรงกายให้แก่เจ้าของที่ดินและมีชีวิตอยู่ภายใต้การกดขี่ของเจ้าของที่ดิน) ทาสจะถูกปกครองโดยชนชั้นศักดินา ขณะเดียวกันชนชั้นศักดินาก็จะถูกปกครองโดยกษัตริย์ ซึ่งในลักษณะสังคมแบบนี้ โครงสร้างทางการเมืองทั้งหมดและชุดความคิด(set of ideas) จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองทาสอย่างชอบธรรมตามกฎหมาย และเพื่อควบคุมดูแลทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งของชนชั้นสูงและกษัตริย์

 

ชุดของความคิดหรืออุดมการณ์ในสังคมแบบนี้ ได้แก่ ความคิดที่ว่า “กษัตริย์ คือ ผู้ได้รับพรจากพระเจ้า ” ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมความถูกต้องที่กษัตริย์จะเป็นผู้ปกครอง แนวคิดนี้ในสมัยปัจจุบันอาจจะ “โบราณ” แต่ก็เป็นความคิดที่ช่วยให้คนสมัยก่อนปกครองสังคมได้ยาวนานนับศตวรรษ

 

แม้ว่าแกรมชี่จะได้รับแรงบันดาลใจหลักๆมาจากคาร์ล มาร์กซ์ แต่ทฤษฎีของแกรมชี่แตกต่างจากทฤษฎีมารก์ซิสต์แบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง

 

ทฤษฎีมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมมีความเชื่อว่า สังคมแต่ละสังคมจะเป็นเช่นไรขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสังคม เศรษฐกิจ คือ ฐานของสังคม และเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อโครงสร้างส่วนบน(superstructure) ซึ่งประกอบด้วย สถาบันทางการเมือง, สถาบันที่เกี่ยวข้องกับพลเมือง, วัฒนธรรมและความเชื่อ (1)

 

ตามแนวคิดของมาร์กซ์ เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ความคิดทางการเมืองและพื้นที่ทางวัฒนธรรมของประชาชนในสังคม ซึ่งเมื่อนำแนวคิดของมาร์กซ์ไปอธิบายสังคมศักดินา จะอธิบายได้ว่าความคิดทางการเมืองของพลเมืองที่เชื่อว่า กษัตริย์ คือ ผู้ได้รับพรจากพระเจ้า กษัตริย์จึงมีความชอบธรรมในการปกครองนั้นเป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจแบบศักดินาที่กษัตริย์และชนชั้นสูง คือ เจ้าของที่ดิน ที่ดิน คือ ทรัพย์สิน เป็นสถานที่ที่ทาสต้องมาเพาะปลูก มาทำให้ที่ดินงอกเงย มีค่าขึ้นมา ทว่าทาสไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของหรือเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากแรงงานของตน

 

ในขณะที่แกรมชี่เห็นว่า “ชุดของความคิด” และสัญลักษณ์ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ที่ใช้ในการปกครองเป็นปัจจัยที่มีพลัง และเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของแต่ละสังคมเท่าๆกับปัจจัยเศรษฐกิจ แต่เรย์มอนด์ วิลเลี่ยม นักคิดชาวอังกฤษเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างส่วนบนและส่วนล่างเป็นความสัมพันธ์ที่ยากจะระบุให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นตัวกำหนดอะไร คือ ต้องพิจารณาด้วยเหตุผล เพราะทั้งสองต่างส่งผลกระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงซึ่งกันและกัน ดังนั้นทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่ จึงแตกต่างจากทฤษฎีมาร์ซิสต์แบบดั้งเดิม โดยเชื่อว่าสถาบันทางวัฒนธรรมและความคิด เป็นปัจจัยที่มีพลังในการขัดเกลามนุษย์ และเป็นตัวบอกว่ามนุษย์จะมีชีวิตอย่างไรต่อไป

 

จะเห็นได้ว่าในทัศนะของแกรมชี่ กลไกหรือพลังที่ใช้ในการควบคุมปกครองสังคมนั้นมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่มาร์กซ์คิด มาร์กซ์สนใจผู้ปกครองโดยนำชนชั้นปกครองไปผูกอยู่กับการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น ใคร คือ เจ้าของโรงงาน, ที่ดิน, เครื่องจักร หรืออะไรก็ตามที่ใช้ผลิตผลผลิตได้

 

สำหรับมาร์กซ์ รัฐบาลและสถาบันทางสังคมต่างๆในสังคมทุนนิยมมีความเป็นอิสระจากเจ้าของปัจจัยการผลิตน้อยมาก รัฐบาลในมุมมองของมาร์กซ์ ก็คือ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่จัดการแบ่งสรรผลประโยชน์ทั้งหมดให้ชนชั้นนำอย่างลงตัว

 

แต่แกรมชี่ไม่ได้มองว่าพลังในการปกครองสังคมจะผูกติดอยู่กับชนชั้นนำ (เจ้าของปัจจัยการผลิต) หรือชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่มองว่าสังคมจะถูกปกครองโดยคนกลุ่มหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งๆ พอช่วงเวลาผ่านไปก็เป็นไปได้ที่กลุ่มอื่นจะขึ้นมามีอำนาจแทน ดังนั้นในมุมมองของแกรมชี่ กลุ่มที่ทำหน้าที่ปกครองสังคม จะเรียกว่า “historical bloc” หรือกลุ่มประวัติศาสตร์

 

ลักษณะของ” historical bloc” คือ กลุ่มคนที่มาจากกลุ่มต่างๆไม่จำเป็นต้องเป็นชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง แต่มีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีการแบ่งสรรอำนาจทางการเมืองกันได้ลงตัวในห้วงเวลาหนึ่ง (คือ เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ตกลงกันได้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ) เช่น กรณีการเกิดขึ้นของกลุ่มขวาใหม่ในสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยให้รีพับลิกันได้รับชัยชนะทั้งในทำเนียบขาวและในวุฒิสภาในปี 1980 กลุ่มขวาใหม่เกิดจากการรวมตัวกันของคนหลายกลุ่ม(coalition of multinational corporations) อาทิ ชาวเมืองที่ต้องการให้ลดการเก็บภาษีลง กลุ่มคริสเตียนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม, แรงงานผิวขาวที่ไม่ชอบนโยบายของเดโมแครต อย่างไรก็ตามในปี 1992 บิล คลินตันก็สามารถสลายการรวมตัวกันของกลุ่มขวาใหม่นี้ได้ และทำให้เดโมแครตได้รับชัยชนะไปในที่สุด

 

แกรมชี่ให้คำจำกัดความของ “การครอบครองความเป็นใหญ่” ว่าเป็นกระบวนการที่ชนชั้นซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในสังคมหรือชนชั้นที่เป็นคนจำนวนไม่มาก ใช้สถาบันทางสังคมบางสถาบัน เช่น สถาบันสื่อมวลชน(โดยอาศัยอภิสิทธิ์บางอย่างที่ทำให้เข้าถึงสถาบันเหล่านี้ได้) เป็นเครื่องมือในการธำรงไว้ซึ่งพลังทางการเมืองและเศรษฐกิจของกลุ่มตน โดยผ่าน “อุดมการณ์หลัก” ของสังคมนั่นเอง

 

ตามปกติ”อุดมการณ์หลัก”ของสังคมแต่ละแห่ง ก็คือ ชุดของแนวความคิดพื้นฐานที่จัดว่าเป็นสามัญสำนึกของพลเมืองในสังคมนั้นๆ ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือ ร่องรอยของการจัดสรรอำนาจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย “อุดมการณ์หลัก”ของสังคม ทำให้โครงสร้างของอำนาจดูราวกับว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องปกติธรรมดา หรือ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติเช่นกันที่ “อุดมการณ์หลัก”จะถูกท้าทายเป็นระยะ (เพราะตามความเชื่อของแกรมชี่ อุดมการณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อรักษาอำนาจเดิมให้คงไว้ เมื่อถูกสร้างขึ้น ไม่ได้มีอยู่เอง จึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ต้องถูกท้าทายด้วยอุดมการณ์ใหม่ๆจากกลุ่มอื่นที่แสวงหาอำนาจเช่นกัน)

 

ตัวอย่างของอุดมการณ์หลักในสังคม เช่น

1. “ความยากจนเป็นเรื่องธรรมดา” แต่ข้อเท็จจริงในอดีตก็มีหลายสังคมที่จัดสรรผลประโยชน์ความมั่งคั่งให้เท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรม ดังนั้นคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงไม่จำเป็นต้องยากจน

2. “เราไม่มีทางไปต่อกรกับรัฐบาลหรือข้าราชการได้หรอก” แต่จำนวนที่ประชาชนลุกขึ้นมาฟ้องร้องรัฐบาลก็มีไม่น้อย

3. “คนดำฉลาดน้อยกว่า และขี้เกียจมากกว่าคนผิวขาว คนผิวขาวจึงต้องเป็นนายเพื่อคอยควบคุมการทำงาน แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ก็คือ ทาสผิวดำนั้นทำงานหนักและทำงานได้นานกว่าคนผิวขาว ซึ่งเป็นนาย มิหนำซ้ำยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่ามีเชื้อชาติใดเฉลียวฉลาดกว่าเชื้อชาติอื่น

4. “คนเอเชียอ่อนน้อมถ่อมตัว จึงไม่มีทางเป็นผู้นำที่ดีได้” แต่ข้อเท็จจริงก็คือ คนเอเชียก็ปกครองประเทศของตนเองได้ก่อนที่คนผิวขาวจะขึ้นฝั่งมาประเทศเขาเสียอีก

5. “อเมริกาเป็นแดนแห่งโอกาสที่เท่าเทียม” แต่หลายคนกลับเริ่มต้นโอกาสของตนในสลัม ขณะที่หลายคนเริ่มต้นโอกาสจากแมนชั่นสุดหรู

อย่างไรก็ตาม “อุดมการณ์”ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง จะมีหลักสากลอยู่ กล่าวคือ เป็นอุดมการณ์ที่พยายามทำให้พลเมืองเชื่อว่า “ผลประโยชน์ที่คนบางกลุ่มได้รับเป็นผลประโยชน์ของทุกคน” เช่น นโยบายที่บอกว่าจะเก็บภาษีคนรวยน้อยลง เพื่อให้คนรวยนำเงินมาลงทุนและสร้างงานให้คนว่างงานในสังคม เราจะทราบได้อย่างไรว่า คนรวยเหล่านั้นนำเงินไปสร้างงานจริง และเราจะทราบได้อย่างไรว่างานแต่ละตำแหน่งนั้นต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร

สิ่งเหล่านี้แกรมชี่เชื่อว่า เป็นผลมาจากการทำงานของ”กลไกทางอุดมการณ์” ซึ่งได้ผลกว่าการใช้”กลไกอำนาจรัฐ” เข้าบังคับโดยตรง โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจของกลุ่มตน อำนาจเหล่านี้จะมีประสิทธิผลมากที่สุดเมื่อไม่ได้ใช้ผ่านการอบรมสั่งสอนที่เปิดเผย หรือการเซ็นเซอร์อย่างเป็นทางการ แต่ใช้ผ่านกระบวนการสร้างความเชื่อ ค่านิยม และมุมมองในการมองโลกของบุคคล ดังนั้น”อุดมการณ์”ในความหมายของแกรมชี่ จึงแตกต่างไปจากอุดมการณ์ในความหมายทั่วไปๆ

 

การสร้างและการแพร่กระจายอุดมการณ์เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ในแง่นี้สถาบันวัฒนธรรมจะมีบทบาทสำคัญมาก ในฐานะที่เป็นผู้สร้างมุมมองในการมองโลกที่สำคัญแก่พลเมืองของสังคม นอกเหนือจากสถาบันครอบครัว องค์กรศาสนา และสถาบันสื่อสารมวลชน

 

บทบาทของสื่อมวลชนในมุมมองของทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่

นักทฤษฎีสำนักนี้มักจะมองว่า บทบาทหลักของสื่อมวลชนไม่ได้ทำตัวเป็น”สุนัขเฝ้าบ้าน” เฝ้าติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่มักจะค้ำจุนรัฐบาลทุนนิยมด้วยการพยายามขจัดมุมมองที่ว่า เรามีความแตกต่างทางชนชั้น ข่าวสารในสื่อมักจะถูกขัดเกลาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากอุดมการณ์ของผู้ปกครองในสังคมทุนนิยมประชาธิปไตย เช่น การนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับนักการเมืองระดับสูง ความร่วมมือระหว่างผู้นำภาคธุรกิจ และความเป็นมิตร สมานฉันท์ระหว่างกลุ่มทางสังคมและชนชั้นต่างๆ

 

Daniel Hallin ศึกษาการใช้อุดมการณ์ระหว่างสงครามเย็น เพื่อหาคำตอบว่าทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่สามารถนำมาปรับใช้กับสื่อมวลชนได้อย่างไร และพบว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาใช้กลไกอุดมการณ์ทำงานโดยแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า นาทีนี้โลกกำลังเป็นสนามสู้รบระหว่าง”โลกเสรี” และลัทธิอันตรายอย่าง “คอมมิวนิสต์”ที่กำลังแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกภายใต้การนำของโซเวียต

 

มุมมองเช่นนี้ช่วยทำให้คำว่า “สันติภาพ” หรือ “ความสงบสุข” ซึ่งมักจะถูกสหรัฐอเมริกาใช้อ้างอิงการกระทำของตน เมื่อเข้าไปรุกล้ำ/แทรกแซงอธิปไตยของชาติอื่น เป็นเรื่องสมเหตุสมผล

 

นับแต่ปี 1945 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาพาประเทศต่างๆ (แน่นอนว่ามากที่สุดเท่าที่จะชักจูง หรือบังคับทางอ้อมได้)เข้าสู่ระบบทุนนิยมเสรีโลกที่สหรัฐเป็นผู้นำทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ “สงครามเย็น” ยังทำให้ชาวอเมริกันตระหนักและเชื่อมั่นในภาวะความเป็นผู้นำโลกของประเทศตน ความเชื่อเช่นนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว และช่วยให้ชาวอเมริกันยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลได้อย่างง่ายดาย อาทิ

 

การเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเพื่อใช้เป็นค่าประกันชีวิตทหารอเมริกันที่ถูกส่งไปรบที่เกาหลี, เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ภาพภยันอันตรายจากคอมมิวนิสต์ที่คุกคามใกล้เข้ามาอย่างเกินจริง ยังทำให้รัฐบาลสามารถปกปิดนโยบายต่างประเทศ, นโยบายทางการทหารจำนวนมาก ให้เป็นความลับจากสื่อมวลชนและประชาชนได้อย่างชอบธรรม ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศ

 

นอกจากนี้ Hallin ยังศึกษาเนื้อหาข่าวสงครามเวียดนามที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ระหว่างปี1960-1979 รวมทั้งข่าวสหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงทางการเมือง และทางการทหารบรรดาประเทศในอเมริกากลาง อาทิ เอลซัลวาดอร์ นิคารากัว ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี1980-1989 แล้วพบว่า หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง พลังอำนาจของอุดมการณ์ว่าด้วย “สงครามเย็น” ก็อ่อนแรงลงด้วย เนื่องจากชนชั้นนำเริ่มตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของสภาคองเกรสอย่างเผ็ดร้อน แต่รัฐบาลก็ยังคงใช้อุดมการณ์ดังกล่าวต่อไป

 

ในปี 1980-1989 นักข่าวต่างพากันรายงานว่า รัฐบาลนายเรแกนเรียกร้องให้กองกำลังสหรัฐเข้าแทรกแซงประเทศในกลุ่มอเมริกากลาง ข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกนำเสนอในลักษณะที่ชอบธรรม เมื่อยกเหตุผลว่าขณะนั้นคิวบาซึ่งปกครองประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และสหภาพโซเวียตกำลังมีอิทธิพลเหนือดินแดนดังกล่าว มาประกอบการรายงานข่าว

 

ทัศนะคติในการรายงานข่าวดังกล่าวเป็นมุมมองเดียวกันกับสภาคองเกรส แต่นักข่าวยังตอกย้ำทัศนคตินี้ให้ชัดเจนขึ้นด้วยการรายงานข่าว โดยใช้แหล่งข่าวรัฐบาลและชนชั้นนำทางการเมืองมาเป็นผู้แสดงความคิดเห็น อภิปรายโต้เถียงกันในประเด็นการแทรกแซงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะวิธีการจัดการและรักษาอำนาจในต่างประเทศของสหรัฐให้มีประสิทธิผลมากที่สุด อาทิ การนำเสนอว่าจะนำการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ได้อย่างไร และการแสวงหาพันธมิตรทางการทหาร ขณะที่ตีพิมพ์เนื้อหาข่าวเกี่ยวกับความเห็น ท่าทีของพลเมืองอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวน้อยมาก

 

Hallin แสดงความเห็นว่า เหตุการณ์ที่อเมริกากลางแสดงถึงกรอบความคิดที่สหรัฐอเมริกา และโซเวียตมีต่อประเทศโลกที่สามผ่านกลไกอุดมการณ์ว่าด้วยสงครามเย็น กล่าวคือ ประเทศโลกที่สาม ไม่ต่างอะไรกับเวทีต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เป็นสนามที่ผู้นำโลกใช้เพื่อสำแดงพลังอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง

 

ดังนั้นเนื้อหาข่าวในมุมท้องถิ่น อาทิ รัฐบาลใหม่ที่สหรัฐเข้าไปแทรกแซงนี้ จะจัดการปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่เป็นสาเหตุหลักของการต่อสู้ดิ้นรนอย่างไร ความปรารถนาของชาวท้องถิ่นที่อยากปลดแอกประเทศตน จากการครอบครองของกองทัพสหรัฐ ภายหลังจากตกอยู่ภายใต้จักรวรรดินิยมสหรัฐในเวลาไม่กี่ปี ฯลฯ จึงแทบจะไม่มีปรากฏให้เห็น

 

เช่นเดียวกับการรายงานข่าวของประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก ข่าวเกี่ยวกับกลุ่มประเทศอเมริกากลาง มีแนวโน้มจะถูกนำเสนอในลักษณะที่ดินแดนแห่งนี้ปราศจากประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่ที่เกิดความขัดแย้งซึ่งเต็มไปด้วยความซับซ้อนยากยิ่งจะเข้าใจ และละเลยการกล่าวถึงชนพื้นเมือง เจ้าของประเทศที่แท้จริง

 

กรอบความคิดลักษณะนี้ย่อมปฏิเสธประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ประวัติศาสตร์ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนให้ตระกูลเพียงหยิบมือ ทว่ามีฐานะร่ำรวยขึ้นปกครองเอลซัลวาดอร์และนิคารากัว ความละโมบของคนกลุ่มนี้เป็นชนวนปะทุให้เกิดการกบฏในเวลาต่อมา แนวคิดเกี่ยวกับสงครามเย็นจึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้มหาอำนาจทั้งสองประเทศใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ภายใต้ข้ออ้างว่าเข้าไปแทรกแซงการเมือง เศรษฐกิจในประเทศด้อยพัฒนา ป่าเถื่อน เพื่อนำความศิวิไลซ์ไปมอบให้

 

Tod Gitlin นำทฤษฎีการครอบครองความใหญ่มาปรับใช้กับการศึกษาเนื้อหาข่าวภายในประเทศ โดยศึกษาเนื้อหาข่าวโทรทัศน์ของ CBS ในปีค.ศ. 1980 และในหนังสือพิมพ์ News York Times ซึ่งรายงานข่าวเกี่ยวกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมของนักศึกษาในสหรัฐที่เรียกตนเองว่า Students for a Democratic Society (SDS) (2) ในระยะแรกองค์กร SDS ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายประเด็นด้วยกัน อาทิ เรื่องสิทธิพลเมืองของชาวอเมริกัน-อัฟริกัน แต่หลังจากนั้นเยาวชนกลุ่มนี้ก็หันไปทุ่มเท อุทิศตนให้กับการชุมนุมประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม

 

ในปี 1968 กลุ่ม SDS เดินขบวนประท้วงรัฐบาลสหรัฐที่ยังคงดื้อแพ่งส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนามที่ถนนกลางนครชิคาโก การประท้วงครั้งนี้จบลงด้วยรัฐบาลสั่งให้กำลังตำรวจเข้ากวาดล้างและทำร้ายผู้เดินขบวน ด้วยไม้กระบองและแก๊สน้ำตา ภาพดังกล่าวแพร่ออกไปทั่วประเทศผ่านจอโทรทัศน์

 

Gitlin เห็นว่า ขบวนการทางสังคมที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการต่อต้านประท้วงนโยบายรัฐและขัดต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำ (elites) เช่น กลุ่ม SDS นั้น ถูกสื่อมวลชนลดคุณค่าเป้าหมายที่แท้จริงลงไป ด้วยการลดความสำคัญหรือแก่นแท้ที่อยู่ในสาร(message) ซึ่งกลุ่ม SDS สื่อสารออกมา ตลอดจนบั่นทอนความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจจากสาธารณะชนในฐานะที่เป็นนักต่อต้านที่กล้าท้าทายอำนาจรัฐ

 

Gitlin เชื่อมั่นว่า มีวิธีการต่างๆมากมายที่นักข่าวใช้ในการรายงานข่าวการเดินขบวนประท้วง การชุมนุมต่อต้าน จะโดยตั้งใจหรือไม่รู้ตัว ดังนี้

1. การทำให้ภาษา (ทั้งวัจนะภาษาและอวัจนภาษา) และเป้าหมายของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่มีความสำคัญ

2. การแบ่งแยกอย่างชัดเจน ด้วยการเสนอว่าสมาชิก SDS ทุกคนเป็นพวกนิยมความรุนแรงอย่างสุดขอบ

3. รายงานโดยเน้นไปที่รอยร้าวภายในขบวนการ

4. เพ่งความสนใจไปที่จุดเล็กๆ เรื่องเล็กน้อย เช่น แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้เดินขบวนประท้วง เป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม , ผู้มาชุมนุมประท้วงไม่ได้อยู่ในฐานะตัวแทนของสาธารณะชน หรือเสนอวาทะ กิริยาท่าทางของผู้เดินขบวน ในทางที่ยั่วยุให้สาธารณะชนโกรธเคือง

5. บิดเบือนจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงให้น้อยลง เพื่อสะท้อนนัยะว่าไม่มีความสำคัญ ไม่มีความหมาย ไม่ใช่เรื่องของคนส่วนใหญ่

6. บิดเบือนผลของการเคลื่อนไหวต่อต้านว่าไร้ค่า ไม่มีผลใดๆทั้งสิ้น

7. เน้นการนำเสนอภาพลักษณ์ผู้ประท้วงในลักษณะที่ผูกติดอยู่กับความรุนแรงเท่าที่จะเป็นไปได้

8. ทำให้ข้อเรียกร้องและป้ายข้อความต่อต้าน กลายเป็นเรื่องที่ขัดต่อ หรือไม่ได้รับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การเรียกผู้ประท้วงขณะเดินขบวนว่า “กลุ่มที่เรียกขานกันว่าขบวนมาร์ชเพื่อสันติภาพ” หรือแสดงให้เห็นว่า บทบาทของผู้ประท้วงนั้น เป็นบทบาทที่แต่งตั้งสถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นผู้นำชุมชน เป็นต้น

Gitlin พบว่าบ่อยครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวเกี่ยวกับขบวนการ SDS ในลักษณะเดียวกับการรายงานข่าวอาชญากรรม แม้ว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐในขณะนั้นจะรับรองสิทธิพื้นฐานของพลเมือง พลเมืองสามารถยื่นอุทธรณ์ให้รัฐบาลแก้ไขปรับปรุงนโยบาย ที่รู้สึกว่าตนถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมได้ รวมทั้งให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี

 

นอกจากนี้ เนื้อหาด้านลบส่วนใหญ่ยังเป็นผลมาจากสื่อมวลชน มีแนวโน้มในการนำเสนอข่าวโดยเน้นไปที่ตัวเหตุการณ์ มากกว่าให้ความสำคัญกับสถานการณ์ บริบทแวดล้อม, เน้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากกว่าข้อตกลง, รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยอิงความคืบหน้าของเหตุการณ์ มากกว่าจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอ้างอิงพึ่งพาแหล่งข่าวจากฝ่ายรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่

 

Gitlin ยังแสดงให้เห็นว่า เนื้อหาข่าวในสื่อมวลชนเข้าไปเปลี่ยนแปลงขบวนการทางสังคม (social movement) โดยใช้ประสบการณ์ในฐานะที่เป็นผู้นำนักศึกษาในขบวนการ SDS มาแสดงให้เห็นภาพการขับเคลื่อนของขบวนการทางสังคม ที่อิงแอบอยู่กับเนื้อหาข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสรรหาสมาชิกใหม่ การกระตุ้นให้สาธารณชนสนใจมุมมองความคิดของพวกเขา ตลอดจนการกระทำของกลุ่มและการทำให้ผู้กำหนดนโยบายหันมารับฟัง

 

เขาพบว่าเนื้อหาในข่าว มีอิทธิพลต่อการเลือกสมาชิกของกลุ่มมาทำหน้าที่ในฐานะโฆษกกลุ่ม และทำให้ผู้นำทางการเมืองกลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แทนที่จะสนใจว่าขบวนการทางสังคมนี้มีเหตุผลอย่างไร ความสนใจก็เปลี่ยนไปอยู่ที่ในบรรดาผู้นำขบวนการ ใครจะพูดจาดุเด็ดเผ็ดมันกว่ากัน การได้ไปปรากฏอยู่ในเนื้อหาสื่อมวลชนบ่อยๆเหมือนจะทำให้ได้รับอภิสิทธิ์อื่นๆตามไปด้วย แม้ว่าการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในทางปฏิบัติ จะได้ประสิทธิผลที่น้อยกว่าการออกไปจัดกิจกรรมภายนอกที่ไม่มีสื่อมวลชนมาทำข่าว เช่น การออกไปเคาะประตูให้ข่าวสารณรงค์ตามบ้านเรือนทีละหลังๆ ก็ตามที

 

นายทุนผู้ให้การสนับสนุนและคนอื่นๆ ก็ยังชอบใช้ความสนใจจากสื่อมวลชนมาเป็นวิธีหนึ่งในการวัดผลกระทบ หรือความสำเร็จของขบวนการทางสังคม ดังนั้นเนื้อหาในสื่อมวลชนจึงสามารถขัดเกลาอัตลักษณ์(identity)ของกลุ่มที่เกิดขึ้นได้ในท้ายที่สุด เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มค่อยๆเปลี่ยนตัวเองให้มีสีสันเพื่อดึงความสนใจ ให้ได้มาซึ่งชื่อเสียง การยอมรับจากสื่อมวลชน ซึ่งส่งผลต่อการดึงสมาชิกใหม่ๆมาเข้าร่วมขบวนการอีกทอดหนึ่งด้วย

 

นอกจากนี้ Gitlin ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภาวะการพึ่งพิงเนื้อหาในสื่อมวลชนว่า ขบวนการทางสังคมบางกลุ่มที่มีจำนวนสมาชิกไม่มาก มักจะพึ่งพาเนื้อหาในสื่อมวลชนสูง เพื่อเผยแพร่มุมมองทัศนะของตน เพราะไม่สามารถระดมประชาชนจำนวนมากให้มาเดินขบวนต่อต้านหรือวิ่งเต้นล็อบบี้รัฐบาลได้ ขบวนการทางสังคมเหล่านี้มักจะออกแบบเครื่องแต่งกาย ริ้วขบวนให้”ขึ้นกล้อง”และ”น่าดึงดูด” เพื่อเอาเรียกความสนใจจากสื่อมวลชน

 

ขณะเดียวกันขบวนการทางสังคมที่มีสมาชิกสนใจเข้าร่วมมาก มีเป้าหมายทางสังคมที่กว้างขวาง มักจะใช้สื่อมวลชนเป็นช่องทางหาสมาชิกใหม่ๆมาเข้าร่วมขบวนการ และเอาชนะใจประชาชนจากโปรแกรมกิจกรรมการเคลื่อนไหวของตน ตัวอย่างที่ดีและร่วมสมัยในกรณีหลังนี้ ก็คือ กลุ่มเคลื่อนไหวที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และรณรงค์จัดการปัญหาอย่างหลากหลายตั้งแต่ระดับโลกจนถึงพื้นที่บางพื้นที่ อาทิ ปัญหาโลกร้อน การเกิดฝนกรด ไปจนถึงภัยอันตรายต่างๆที่คุกคามสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งต้องการความร่วมมือจากประชาคมโลกทั้งหมด เป็นต้น

 

ส่วนขบวนการทางสังคมที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคม ในเชิงปฏิรูปมากกว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิวัติ มักจะดูราวกับสามารถเข้าไปควบคุมเนื้อหาในสื่อมวลชน และได้รับความยุติธรรมจากสื่อมวลชนมากกว่า กล่าวโดยสรุปก็คือ สื่อมวลชนจะรายงานข่าวขบวนการทางสังคม ที่แสดงออกว่ามีจุดมุ่งหมายกระตุ้นให้ประชาชน หันมาสนใจปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง มากกว่ารายงานข่าวขบวนการทางสังคมที่มีจุดมุ่งหมายในการท้าทายหรือทวนกระแสทุนนิยม

 

ข้อจำกัดของทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่

ข้อวิพากษ์ทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่ประการหนึ่งก็คือ การถกเถียงในประเด็นที่นักวิชาการสาย Hegemony เชื่อว่า พลังของขบวนการทางสังคมมีรากฐานมาจากการเมือง และการเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาข่าวในสื่อมวลชน เนื่องจากนักวิชาการบางคนเห็นว่าทฤษฎี Hegemony มักจะมองพลเมืองในลักษณะที่เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้น เพื่อทำกิจกรรมในลักษณะท้าทายอำนาจรัฐ(ขบวนการทางสังคม) และมีพลังที่ประกอบขึ้นจากองค์ประกอบหลายส่วน โดยที่สื่อมวลชนเข้ามามีอิทธิพลต่อการเข้าเป็นสมาชิก และลดคุณค่าความสำคัญของขบวนการลง ทั้งๆที่หลายครั้งขบวนการทางสังคมมักจะเรียนรู้วิธีการที่จะปรับวิธีการต่อสู้ตัวเอง เข้าหาพลังอำนาจของเศรษฐกิจระบบทุนนิยมและรัฐบาล หรือปิดกั้นไม่ให้สาธารณะชนเข้ามามีส่วนร่วมในวาทกรรม(discourse)ที่เกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นถกเถียงเรื่องแนวคิดที่นักทฤษฎี Hegemony แบ่งแยก”การปฏิรูป” ออกจาก “การปฏิวัติ”อย่างชัดเจน ทั้งๆที่ขบวนการทางสังคมที่มีเป้าหมาย ไม่ว่าจะปฏิรูปหรือปฏิวัติ ต่างมีความสัมพันธ์กันอยู่และเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องพิจารณาด้วยเหตุผลเป็นกรณีๆไป รวมทั้งการศึกษาเนื้อหาข่าวในสื่อมวลชนโดยปราศจากการยืดหยุ่น ขาดการพิจารณาว่า ในหลายกรณีนักเคลื่อนไหวทางสังคมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ส่งสาร ได้เรียนรู้ธรรมชาติของข่าว วิธีการรายงานข่าว และรู้จักใช้กลยุทธ์เฉพาะตัวในการส่งสาร เพื่อกระตุ้นให้นักข่าวสนใจเนื้อหาสารของตนโดยไม่ได้สูญเสียอัตลักษณ์และเป้าหมายแรกเริ่มของตนเองแต่อย่างใด เช่น

 

กลุ่มกรีนพีซที่ใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิผล ทำให้สื่อมวลชนหันมาสนใจกิจกรรมรณรงค์ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เรื่องการล่าปลาวาฬที่ผิดกฎหมาย การตัดต้นไม้เก่าแก่ในป่าแคลิฟอร์เนียเหนือ การตั้งเตาเผาขยะและกลบฝังขยะมีสารพิษในชุมชนคนผิวสีซึ่งมีรายได้ต่ำ เป็นต้น

 

ส่วนจุดบอดอื่นๆในการนำทฤษฎี Hegemony มาปรับใช้กับการศึกษาสื่อมวลชน ได้แก่ กรณีที่ผู้ศึกษามักมองความสัมพันธ์ระหว่าง ระบบเศรษฐกิจและสถาบันสื่อมวลชนไปในทางลบ โดยที่ในบางกรณีอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นจึงต้องพึงระลึกไว้ว่า เราใช้ทฤษฎีเป็นเครื่องมือที่พยายามอธิบายบทบาทที่แท้จริง และบทบาทที่ควรจะเป็นของสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่อธิบายหน้าที่ของข่าว โดยไม่ได้ให้ข้อเสนอแนะหรือวิสัยทัศน์ในการเสนอข่าวที่ควรเป็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

 

อ้างอิง

 

(1) โครงสร้างส่วนบนของสังคมมาจากแนวคิดที่เชื่อว่า สังคมและการจัดรูปองค์กรต่างๆพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นระบบ แต่นักคิดแต่ละคนก็มีความคิดพื้นฐานที่ต่างกันออกไป ตามแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ โครงสร้างส่วนบนของสังคม คือ สถาบันทางกฎหมาย, สถาบันทางสังคม วัฒนธรรมและการเมือง โดยที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจทำหน้าที่เป็นโครงสร้างส่วนล่างหรือฐานให้กับสังคมนั้นๆ (โครงสร้างส่วนล่างในแนวคิดของมาร์กซ์ สำคัญกว่าโครงสร้างส่วนบน เพราะเป็นตัวกำหนด ( determining )ว่าสังคมจะเป็นไปในรูปแบบใด

(2) SDS เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดจากการรวมตัวของเหล่านิสิตนักศึกษาและหนุ่มสาวอเมริกันในระหว่างปี ค.ศ. 1960-1969 มีบทบาทโดดเด่นอย่างมากในการต่อต้านสงครามเวียดนาม

หมายเหตุ : คำว่า Hegemony ซึ่งคุณมัทนา เจริญวงศ์ แปลว่า การคอบครองความเป็นใหญ่ หรือ ครอบครองความเป็นเจ้า นั้น อาจจะไม่เหมาะสม เพราะให้ความรู้สึกในเชิงบังคับควบคุมมากไป (“เป็นใหญ่” “เป็นเจ้า”)

 

กรัมชี่ใช้ศัพท์ภาษาอิตาลี 2 คำ สับเปลี่ยนกัน สำหรับ hegemony คือ egemonia กับ direzione สลับกัน (เป็นส่วนใหญ่ แน่นอนไม่ใช่ทั้งหมด เพระเขาเองมีความไม่แน่นอน ในการให้ความหมาย egemonia เหมือนกัน) ซึ่ง direzione หมายถึง lead, direct “นำ” ซึ่งเข้ากับไอเดียเรื่อง hegemony (เวลาแปลงานของเลนินที่ใช้คำว่า rukuvodstvo ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า hegemony (อย่าลืมว่ากรัมชี่ ยืม-ดัดแปลงไอเดียเรื่อง hegemony มาจากการวิวาทะของชาวพรรครัสเซีย) จะแปลเป็นอิตาลีว่า direzione คือ lead, direct (ดูการอธิบายเรื่องเหล่านี้ของ Quintin Hoare ผู้แปล Prison Notebooks ในฉบับพิมพ์ของ International Publishers หน้า55)

 

เคยเห็นคนแปลในภาษาไทยว่า “อำนาจนำ” ซึ่งอาจจะใกล้กว่า “ความเป็นใหญ่/เป็นเจ้า” แต่โดยส่วนตัวก็ยังไม่ถึงกับแน่ใจเต็มที่นัก (ชอบที่มีคำว่า “นำ” ไม่แน่ใจคำว่า “อำนาจ”)

Read Full Post »