Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Posts Tagged ‘admin’

 

recommendare

 

บทความเรื่อง  งบประมาณเพิ่มเติมปี 2552 ใครว่าไม่น่าห่วง?

 

โดย

ศาสตราจารย์ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ 

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตีพิมพ์  25  กุมภาพันธ์  2552

 

ความมีดังนี้

 

งบประมาณเพิ่มเติม หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า งบประมาณกลางปี เสนอโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว (เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552) ขั้นตอนที่เหลือคือ การประกาศเป็นกฎหมายและการเบิกจ่ายงบประมาณออกจากคลังแผ่นดิน

 

กว่าเม็ดเงินจะผ่านส่วนราชการลงไปในระบบเศรษฐกิจก็คงหลังเดือนเมษายนเป็นต้นไป 

 

สื่อมวลชนและคนทั่วไปอาจจะมองว่า “ผ่านไปแล้ว” จึงติดใจและไม่เป็นข้อพิจารณาต่อไป

 

บทความนี้ขอมองต่างมุม ความจริงเรื่องนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะการเบิกจ่ายและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นยังเป็นหัวข้อน่าติดตามและศึกษาวิจัย (อย่างเอาจริงเอาจัง) ว่า มาตรการการใช้จ่ายภาครัฐในครั้งนี้ จะบรรลุเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงใด? และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเป็นอย่างไร 

 

บทความนี้โปรยหัว ใครว่าไม่น่าห่วง ก็เพื่อจะสื่อความห่วงใยบางประการดังจะอภิปรายต่อไปนี้

 

ข้อห่วงใยหนึ่ง ความเสี่ยงต่อการขาดวินัยทางการคลัง คงจะต้องไม่ลืมว่า การจัดงบครั้งนี้เป็นการเพิ่มเติมจากงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2552 ซึ่งขาดดุลอยู่ก่อนหน้าแล้วในรัฐบาลสมัคร ประมาณ 250,000 ล้านบาท (จากวงเงินรายจ่าย 1.835 ล้านล้านบาท และรายรับตามประมาณการเท่ากับ 1.585 ล้านล้านบาท) เมื่อบวกกับรายจ่ายเพิ่มเติม 0.116 ล้านล้านบาท โดยไม่มีรายได้เพิ่ม ดังนั้น การขาดดุลในปีงบประมาณ 2552 จึงต้องเกินกว่า 350,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะป็นวงเงินขาดดุลสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

 

ยิ่งถ้าหากคิดกันว่า รายได้ที่จะจัดเก็บจริงต่ำกว่าเป้าหมาย ยอดการขาดดุลอาจจะเกินกว่าร้อยละ 20 ของงบฯรายจ่ายฯ ซึ่งจะเป็นการละเมิดวินัยทางการคลังที่สู้อุตส่าห์รักษากันมาเป็นเวลายาวนานห้าสิบปี (ตั้งแต่มี พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และการจัดตั้งสำนักงบประมาณโดยแยกออกมาจากกระทรวงการคลัง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนแรก หรือโอกาสนี้จะเป็นการขาดวินัยการคลังฉลอง 50 ปี สำนักงบประมาณ?)

 

อันที่จริงการทำงบประมาณกลางปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายรัฐบาลในอดีตก็เคยจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น การจัดทำงบประมาณกลางปีในปี 2545 นั้นเนื่องการจัดเก็บรายได้สูงกว่าที่ประมาณการเอาไว้ ดังนั้น การเพิ่มรายจ่ายก็มีเหตุผลสมควร ไม่เพิ่มการขาดดุล และรัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นต้องหาไฟแนนซ์เพิ่มเติม 

 

สถานการณ์ในปี 2552 นั้นแตกต่างไปจากปี 2545 เหตุผลประการสำคัญคือ รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นต้องใช้กระตุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการตกงาน และการว่างงาน (ของเยาวชนที่ถึงวัยแรงงาน) ซึ่งคาดกันว่ารวมกันอาจจะเป็นหลักล้านคน เช่นเดียวกับหลายๆประเทศทั่วโลก ซึ่งก็รับฟังได้ 

 

แต่นั่นมิได้หมายความว่า งบประมาณกลางปีกว่าหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นล้านบาท เหมาะสมแล้ว

 

เราอาจจะต้องช่วยกันพิจารณาว่ามีเหตุผลสมจริงปานใด เส้นแบ่งระหว่างเหตุผล “กระตุ้นเศรษฐกิจ” กับเหตุผล “นโยบายประชานิยม” ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก 

 

ในทรรศนะของผู้เขียน ความรู้สึกห่วงใยจะลดลงไปอย่างมาก ถ้าหากงบฯรายจ่ายกลางปีจะอยู่ในวงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท (พร้อมกับสนับสนุนอย่างจริงใจ) โดยนำรายจ่ายส่วนใหญ่นำใช้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการจ้างงาน ด้วยโปรแกรม workfare ทำให้เม็ดเงินลงถึงมือของคนตกงานและคนยากจนทั้งในเขตเมืองและชนบท

 

เอกสารงบประมาณเพิ่มเติม ระบุการใช้จ่ายเงินออกไปตามส่วนราชการต่างๆ ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าเป็นรายจ่ายเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน จึงเป็นที่น่ากังขาว่า มีรายจ่าย (spending) จริง แต่ว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ (stimulus) หรือไม่ยังเป็นข้อสงสัย

 

รายจ่าย 2,000 พันบาทต่อหัวที่รัฐบาลจะ “แจก” ให้กับผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย (ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) เป็นข้ออภิปรายที่หลายฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วย 

 

ข้ออ้างคือจะทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนหลายล้านคนมีรายได้เพิ่มขึ้น และนำไปใช้จ่ายบริโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ…

 

แต่ข้อเท็จจริงนั้น จะเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบอย่างแน่นอนจนกว่าจะทดสอบเชิงประจักษ์

 

เช่นภายใน 3 เดือนให้หลังจากเม็ดเงินออกจากคลังไปแล้ว ในภาษาเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็น windfall income, transitory income ทำนองว่าเป็น “เงินที่ตกมาจากฟากฟ้า” เหมือนกับว่า เราเดินไปตามถนนแล้วโชคดีเห็นแบงก์พันบาท 2 ใบตกอยู่ตรงหน้า โดยไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ จึงเก็บใส่กระเป๋าแล้ววางแผนว่าจะทำอย่างไรดี? บุคคลนี้จะรีบใช้จ่ายบริโภคออกไปทั้งหมด? หรือว่าเก็บออมไว้ก่อน? บางคนอาจจะชวนเพื่อนออกไปดื่มฉลอง (สุราเมรัย “จงอย่าทำ เพราะว่า สสส. เตือนว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ”) 

 

ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ มิลตัน ฟรีดแมน เคยศึกษาพฤติกรรมของรายได้และการบริโภค ที่เรียกว่า transitory income และ transitory consumption เอาไว้ พร้อมกับความเห็นว่า ไม่แน่ไม่นอน ไม่มีสหสัมพันธ์ที่คาดหวังได้

 

ผู้เขียนออกจะเห็นคล้อยตามทฤษฎีของฟรีดแมน ยิ่งถ้านำใช้ทฤษฎีการคาดคะเนอย่างสมเหตุสมผล (rational expectation theory) ก็ต้องเอาว่า ผู้ใช้แรงงานยิ่งจะต้องตระหนักว่า “อาจจะถูกปลดออกจากงาน” ในวันใดวันหนึ่ง ดังนั้น จะต้องยิ่งเก็บเงินไว้รองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่ไม่นอน ประยุกต์มโนทัศน์ของอีกทฤษฎีหนึ่งที่อ้างว่า การตัดสินใจของคนเรานั้นอิงความเคยชินหรืออิงพฤติกรรมของเพื่อนๆ หรือคนใกล้ชิด (norm-based behavior)… ก็ในเมื่อคนอื่นๆ ต่างพากันระวังตัวรัดเข็มขัดกันทั้งนั้น ก็น่าจะเชื่อได้ว่าเงินที่ได้มาแบบลาภลอย 2,000 บาท จะไม่ถูกนำมาใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่

 

ตีเสียว่าถ้าแรงงานใช้จ่ายออกไปเพียง 10%-20% มาตรการของรัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในครั้งนี้ มีความเสี่ยงที่จะ “แป๊ก” สูงทีเดียว 

 

แต่ว่าเรื่องนี้เถียงกันไปก็ไลฟ์บอย?.

 

ทางที่ดีกว่า คือสมควรให้มีการวิจัยเชิงประจักษ์ แต่ถ้าจะทำจริงๆขอให้เลือกสถาบันวิจัยที่เป็นกลางดำเนินการ (เชื่อใจใน สกว.) ไหนๆรัฐบาลก็จ่ายออกไปตั้งแสนล้านแล้ว จะไปเสียดมเสียดายสตางค์อะไรกับเงินวิจัยประเมินที่มีคุณภาพดี (งบประมาณที่จะจ้างนักศึกษาออกไปสำรวจความคิดเห็นก็เป็นหนึ่งในของการใช้จ่ายที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ยังมีค่าใช้จ่ายค่าโดยสารและค่าเบี้ยเลี้ยงประจำวัน ซึ่งดูอย่างไงเป็นมาตรการ stimulus)ข้อห่วงใยที่สอง ความเสี่ยงต่อการใช้จ่ายที่ด้อยประสิทธิภาพของส่วนราชการ ต้องยอมรับว่าการจัดทำงบประมาณกลางปีมักจะดำเนินการอย่างเร่งรีบ ทันทีที่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะจ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนราชการต่างเร่งกันทำข้อเสนอโครงการเพื่อจะได้รับงบกลางปี

 

ข้อเสนอโครงการสมมติว่ามีจำนวน 100 โครงการ มีส่วนหนึ่งที่เข้าท่า/ตรงประเด็น แต่อีกจำนวนหนึ่ง “ไม่ได้ความ” ในตำราเศรษฐศาสตร์การคลังมีคำสอนหนึ่งที่เรียกว่า flypaper effect อธิบายการให้เงินอุดหนุนของรัฐ ซึ่งสรุปความได้ว่า (เงิน) เป็นเสมือนกระดาษล่อแมลงวัน มองว่า รัฐบาลเป็นนาย (principal) ส่วนหน่วยราชการนั้นเป็นบ่าว (agents) ทฤษฎีการบริหารจัดการยุคใหม่สอนให้เข้าใจว่า นายเป็น “นาย” ก็จริงอยู่ แต่ว่าบ่าวอาจจะ “หลอกนาย” ได้ โดยอาศัยว่ารัฐบาลไม่รู้ข้อมูลสนเทศมากเท่ากับหน่วยราชการ นำเสนอข้อมูลเฉพาะส่วนที่ดี ส่วนที่ด้อยประสิทธิภาพนั้น ส่วนราชการปิดบังเอาไว้หรือไม่นำเสนอ 

 

มาตรการใช้จ่ายของภาครัฐนั้น การจะหวังผลลัพธ์ประสิทธิภาพทั้ง 100% คงเป็นเรื่องยาก 

 

แต่เราคงจะยอมรับไม่ได้ ถ้าหากว่าความด้อยประสิทธิภาพสูงเกินไป (เกินกว่าระดับหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่เห็นร่วมกัน)

 

ทางที่ดี รัฐบาล และ สภานิติบัญญัติจะต้องหา “ตัวช่วย” กล่าวคือสถาบันเป็นกลางและมีหลักวิชาการ บวกกับการระดมคนที่มีความรู้ใน “ภาคประชาสังคม” ที่สนใจเฝ้าติดตามรายจ่ายและการทำงานของภาครัฐ จึงเสนอให้ “เอาจริงเอาจังว่ากับการประเมิน”

 

ถ้าหากเราติดตามได้ว่ารายจ่ายงบประมาณกลางปี 2552 ดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ก็จะหน้าตาของประเทศ และเป็นการพัฒนาเชิงสถาบันที่น่าชื่นชม และประชาสัมพันธ์ปากต่อปาก

 

ข้อห่วงใยที่สาม สถานการณ์ของเงินคลังและการกู้ยืม สถานการณ์คลังในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นี้ พบว่า เงินคงคลังประมาณ 5 หมื่นล้านในขณะนี้ ลดลงจากสถานการณ์ตามปกติ (1-2 แสนล้าน) 

 

และข่าวในสื่อมวลชนระบุว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังได้ออกไปเจรจากับต่างประเทศ (เช่น ญี่ปุ่น) เพื่อขอกู้ยืมเงินมาเสริมสภาพคล่อง พร้อมกับเชิญชวนให้นักลงทุนต่างประเทศ “เชื่อมั่นประเทศไทย”… ส่งอีกสัญญาณหนึ่งที่น่าเป็นห่วง

 

ถ้าหากสถานการณ์การคลังไม่มีปัญหารุนแรง คงไม่มีความจำเป็นต้องเร่หาแหล่งเงินกู้ และน่าจะตรวจสอบกับอดีต (เงินกู้มิยาซาวาที่ดำเนินการโดยรัฐบาลขณะนั้น ได้ผลเพียงใด?) และอาจจะเกิดการทำงานแบบขัดแย้งกัน กล่าวคือ ในทางหนึ่งรัฐบาลบอกให้จ่ายเงินออกไป

 

แต่งานการคลังในภาคปฏิบัติอาจจะทำตรงกันข้าม คือ “ดึง” ให้เงินอยู่ในคงคลัง ไม่ให้น้อยกว่าระดับที่เชื่อมั่น

 

สรุปว่าเรื่องนี้ต้องดูละเอียด เพราะปากพูดอย่างการกระทำอีกอย่างหนึ่ง การส่งสัญญาณที่ไม่สมจริงหรือฟังดูขัดแย้งกันก็อาจจะไม่ได้ผลหรือว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์ 

 

ในทรรศนะของผู้เขียน ถ้าหากว่ารัฐบาลไทยมีความจำเป็นต้องกู้ยืมมาเสริมเงินคงคลัง การออกพันธบัตรภายในประเทศน่าจะเป็นหนทางเลือกที่ดีกว่า เพราะว่าไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่องในสถาบันการเงินของไทย และคนที่มีกำลังซื้อพันธบัตรก็มีอยู่จำนวนมาก

 

ดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่ายสำหรับผู้ถือพันธบัตรคนไทยก็ยังเป็นรายได้ของคนไทยและหมุนเวียนในประเทศ (ต่างกับการกู้ยืมจากต่างประเทศ ดอกเบี้ยจะกลายเป็นเงินโอนออกนอกประเทศ)

 

ยกเว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องเพิ่มสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งจากข่าวคราวและข้อมูลก็ไม่น่าจะใช่อย่างนั้น 

 

งบประมาณกลางปี 2552 ผ่านการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองไปแล้วก็จริงอยู่ แต่ว่าเรื่องราวยังไม่จบสิ้น ความจริงยังเป็นแค่เริ่มต้นเท่านั้น ในไม่ช้าก็จะถึงเวลาของภาคปฏิบัติ

 

กล่าวคือเงินผ่านมือกรมบัญชีกลางลงไปยังส่วนราชการและส่งต่อไปยังประชาชน

 

เรื่องนี้ต้องย้ำว่าการกำกับและติดตามให้รายจ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพและสมประสงค์ตามเป้าหมายนั้น อาจจะสำคัญยิ่งไปกว่าขั้นตอนอนุมัติวงเงิน

 

งบประมาณกลางปี 2552 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง

 

เดิมพันครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

 

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ก็อดวิเคราะห์และแสดงความห่วงใยไม่ได้ พร้อมกับลุ้นให้สภานิติบัญญัติ/สถาบันวิชาการต่างๆและภาคประชาชนร่วมกันประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการอย่างเอาจริงเอาจัง…

 

ขอเพียงให้เป็นหน่วยงานกลางและไม่สังกัดราชการทำหน้าที่ประเมิน หลายหน่วยงานทำการประเมินก็ได้ ยิ่งดี

 

Read Full Post »

ปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย

recommendare

 

แม้แต่”ความรักลูก”ก็เป็นอาวุธได้ และ “ความรักลูก” คือพฤติกรรม ; ดังนั้น พฤติกรรมของคนทางสังคมวิทยา ก็ถูกใช้เป็นอาวุธได้ 

ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์

 

ถอดความ

จากปาฐกถาพิเศษเรื่อง  ปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย

 

โดย

ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
ประธานกรรมการกฤษฎีกา

 

ความมีดังนี้

 

ท่านองคมนตรี ท่านประธานศาลปกครองสูงสุด ท่านตุลาการศาลปกครองสูงสุด ท่านตุลาการ ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณที่ทางศาลปกครองได้ให้เกียรติผมมาพูดในวันนี้ โดยในวันที่ ๙ มีนาคม ก็จะเป็นวันที่ครบรอบ ๗ ปีของศาลปกครอง ผมเชื่อว่า ศาลปกครองจะอยู่คู่กับประเทศไทยนานแสนนาน และคงจะเป็นสถาบันที่พัฒนาหลักฎหมายและแก้ “ปัญหา”ให้ประเทศต่อไปข้างหน้า

 

เป็นที่ทราบดีว่า กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายยุคใหม่ เมื่อทางศาลปกครองเชิญผมมาพูด ผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดในเรื่องอะไร ท่านทั้งหลายก็มีความรู้มากมาย ผมก็มาคิดว่า ขณะนี้เรามีวิกฤติอยู่และทุกเช้าเราได้ฟังวิกฤติของกฎหมายมหาชนอยู่ตลอดเวลา แม้เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราก็มีปัญหาเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม มี “การเมือง”แทรกแซงหรือไม่ และข้างหน้าก็คงจะมีปัญหาตามมาอีกมาก ผมก็เลยมานั่งนึกว่าจะเอาเรื่องอะไรมาพูดในวันนี้ ; ขณะนี้ผมกำลังเขียนบทความอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นบทความที่ค่อนข้างยาว และผมคิดว่าบทความนี้จะเป็นบทความชุดสุดท้ายของผม ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าผมจะเขียนจบหรือไม่จบ ; บทความบทนี้เป็นบทความที่เป็นความเห็นของผมเกี่ยวกับ “ทางออก”ของประเทศไทยในภาวะการเมืองปัจจุบัน คือ ถ้าเราหาทางออกได้ เราก็คงจะหลุดพ้นจากวงจร vicious circle ไปได้ แต่ถ้าเราหลุดพ้นจากวงจรไม่ได้ ผมก็คิดว่าข้างหน้าเราคงจะมีเหตุการณ์อีกมากมาย ที่อาจกระทบกระเทือนถึงประวัติศาสตร์ของเราในอนาคตด้วย ; ในบทความดังกล่าว ผมพยายามจะเขียนให้เห็นทุกแง่ทุกมุมของปัญหาสังคมของเรา ขณะนี้ก็เริ่มเขียนมาหลายตอนแล้ว และในบางตอนเมื่อย้อนกลับไปอ่านแล้วก็ยังรู้สึกว่าภาษาค่อนข้างเข้าใจยาก

 

ดังนั้น “เรื่อง”ที่ผมจะพูดในวันนี้ เป็น”ส่วนหนึ่ง”ที่ตัดตอนมาจากบทความขนาดยาวดังกล่าว บางส่วนก็เขียนเป็นบทความและลงเว็บไปแล้ว บางส่วนก็คิดไว้ในใจและตั้งใจจะเขียนเป็นบทความตอนต่อ ๆ ไป ; ผมขอให้”ชื่อ”ของหัวข้อเรื่องที่ผมจะพูดในวันนี้อย่างสั้น ๆ แต่อยากให้เป็น “ชื่อ”ที่มีความหมายค่อนข้างกว้างพอที่จะครอบคลุมปัญหาการเมืองของไทยในขณะนี้ได้ คือ ผมจะพูดเรื่อง “ปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย” ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือ ปัญหาของสังคม ที่มีสาเหตุมาจาก “ชนชั้นนำ”ของเราเอง

 

นักประวัติศาสตร์ เวลาเขามองย้อนว่าประเทศเราจะเจริญหรือเสื่อม เขาจะดูที่บทบาทของ “ชนชั้นนำ” หรือ Elite ; ถ้าเราอยากจะรู้ว่า ข้างหน้า อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องวิเคราะห์บทบาทของ Elite ในปัจจุบัน ; ในบทความที่ผมเขียนและลง Web ไว้ ผมได้นำข้อวิจารณ์ของนักประวัติศาสตร์ต่างประเทศ ที่เขาวิจารณ์และให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ของประเทศฝรั่งเศสในยุคปลายศตวรรษที่ ๑๘ คือ ในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ เกิดขึ้นเพราะอะไร ซึ่งผมเชื่อว่า ทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในประเทศผรั่งเศสในระยะนั้น โดยผมไม่ต้องกล่าวซ้ำอีก

 

ในการพูดในวันนี้ ผมก็จะขอใช้แนวทางวิเคราะห์ในแนวทางเดียวกันกับนักประวัติศาสตร์ของต่างประเทศ คือ วิเคราะห์ปัญหาของประเทศไทย บนพื้นฐานของ “บทบาทของ Elite”ในปัจจุบัน โดยถือว่า เป็นการเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ท่านที่มีความรอบรู้ช่วยนำไปคิด 

 

โดยในส่วนแรก จะเป็นความนำหรือ”บทนำ” ซึ่งผมจะขอเรียนให้ท่านทราบอย่างสั้น ๆ ว่า ทำไมผมถึงเลือก “หัวข้อ”เกี่ยวกับปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย มาพูด และจากนั้น จะเป็นส่วนที่เป็น”สาระ”ที่ผมตั้งใจจะพูด โดยจะขอแบ่งออกเป็น ๓ ตอน 

 

ตอนที่ ๑ คือ ทำไมเมื่อปีที่แล้ว คือ นับแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่เรามีการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน จนถึงพ.ศ.๒๕๕๐ รวมเวลา ๑ ปี ๓ เดือน เราจึงล้มเหลวใน”การปฏิรูปการเมือง” ซึ่งส่วนนี้ผมได้เขียนไว้ในบทความที่ได้กล่าวถึงแล้ว ซึ่งยังเขียนเข้าใจยาก แต่วันนี้ ผมจะสรุปให้ง่ายขึ้น เพื่อมาดูอย่างรวบรัดว่า เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว เราล้มเหลวเพราะอะไร ชนชั้นนำ หรือ Elite กลุ่มใหนที่รับผิดชอบ

 

ตอนที่ ๒ เราจะมาดูว่า ถ้าเราอยากจะรู้ “อนาคต”ของเราว่าเป็นอย่างไร เราก็ต้องดู Eliteของเรา ณ “ปัจจุบัน” โดยเราจะพิจารณาว่า เราจะต้องสนใจ Elite ของเราประเภทหรือจำพวกใดบ้าง ดังนั้นในตอนที่สองนี้ ผมจะพูดถึง Elite ของเรา ๓ ประเภท ประเภทที่หนึ่ง ก็คือ “นักกฎหมาย” ประเภทที่สอง คือ นักการเมือง ซึ่งแก่ “นายทุนธุรกิจ”ที่มาเล่นการเมืองอยู่ในขณะนี้ และประเภทที่สาม คือ “นักวิชาการประเภท philosophers” ที่มักจะสร้างปัญหาแต่ไม่ได้ช่วยคิดเพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศ ;เราจะลองมาคาดคะเนดูว่า Elite ของเรา ๓ ประเภทหรือ ๓ จำพวกนี้ จะพาเราคนไทยไปถึงไหน ในเวลาข้างหน้า 

 

ตอนที่ ๓ จะเป็นตอนสุดท้าย เราจะดูว่า อนาคตของเราจะมืดมน อย่างไร โดยผมจะย่ออย่างสั้น ๆ โดยแยกเป็น ๒ ประเด็น คือ ในประเด็นแรก ผมจะพูดถึง “คุณภาพ”ของ Elite ของเราในอดีตสมัยรัชการที่ ๕ เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นในระยะเดียวกันว่า เป็นอย่างไร และดูว่าในขณะนี้ “คุณภาพ”ของ Elite ในปัจจุบันของเรา ก้าวไปข้างหน้าหรือถอยงหลั และในประเด็นที่สอง ผมจะพูดถึง คือ “กระบวนการยุติธรรม” ของเรา ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาว่า จะพาเราไปรอดหรือไม่ 

ทั้งหมดนั้น เป็นแนวทางที่ผมกำหนดจะพูด ในวันนี้ นะครับ

 

บทนำ

 

ในส่วนต้นหรือ “บทนำ”ว่า ทำไมผมถึงเลือกเรื่องนี้ คือ “ปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย”มาพูดในวันนี้ ; ผมขอเรียนว่า นักประวัติศาสตร์เขาเคยวิเคราะห์ว่า เหตุที่เกิดความวุ่นวายและมิคสัญญีนองเลือดในประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ เกิดจาก Elite ๒ กลุ่ม 

 

ผมเชื่อว่า ท่านตุลาการศาลปกครองที่จบจากฝรั่งเศสหลายท่าน คงทราบอยู่แล้วว่า Elite กลุ่มแรก ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดของประเทศฝรั่งเศส ก็มาจากพวกตุลาการนี่แหละครับ ในสมัยนั้นศาลยุติธรรมของฝรั่งเศส เรียกว่า le Parlement และพวกตุลาการเรียกว่า Parlementaires ; พวก Parlementaires นี่แหละครับ คือ กลุ่มแรกที่สร้างปัญหาและทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ ไม่ว่าจะมีนายกรัฐมนตรีที่เก่งอย่างไร ก็แก้ไม่ได้ ; และกลุ่มที่สอง คือ พวก philosophers ที่นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส เรียกว่า the Philosophes คือ นักวิชาการที่พูดถึงสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่คิดถึงวิธีที่จะแก้ปัญหา 

 

ในรายละเอียดที่ผมเขียนไว้ในบทความในส่วนที่เกี่ยวกับศาล le Parlement นี้ ผมได้กล่าวไว้อย่างสั้น ๆ ว่า ในระยะนั้นตุลาการของฝรั่งเศสมีอำนาจมาก คือ ถ้ารัฐบาลออก”กฎหมาย”อะไรมา ตุลาการมีสิทธิที่จะจดหรือไม่จดทะเบียนกฎหมายสำหรับให้ศาลทั่วประเทศใช้บังคับ ; ถ้าไม่จดทะเบียน ก็หมายความว่าใช้ฟ้องศาลไม่ได้ เพราะศาลไม่บังคับให้ ดังนั้น ในระยะนั้น แม้ว่ารัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จะมีนายกรัฐมนตรีมีชื่อเสียงและเก่งกาจอย่างไรก็ตาม แต่ถ้ากฎหมายที่ตราออกมาเพื่อแก้ปัญหาประเทศ มีผลกระทบกระเทือนสิทธิและประโยชน์ของตุลาการหรือเป็นการปฏิรูประบบศาล ศาลก็จะไม่รับ register และบังคับใช้ไม่ได้ และด้วยเหตุนี้เอง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จึงแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ จนกระทั่งนโปเลียนทำการปฏิวัติ และเข้ามาแก้ปัญหาและปฏิรูประบบศาล จนได้มีศาลปกครองขึ้นมา

 

ดังนั้น เราจะเห็นว่า ในการบริหารประเทศ ศาลซึ่งเป็นองค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย จะมีอิทธิพลอยู่มาก ; ปัญหาของเราในขณะนี้ ก็คือ กระบวนการยุติธรรมของเรามี “ปัญหา”หรือเปล่า “นักกฎหมาย”ของเรามีปัญหาหรือเปล่า ทำไมเราจึงต้องมีตุลาการภิวัฒน์ ขอให้ท่านย้อนไปพิจารณาเหตุการณ์ดู ; ขณะนี้ เราคงเห็นอยู่แล้วว่า คตส. ขัดแย้งกับอัยการ กกต. ก็มีทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย เจ้าหน้าที่เดิม ๆ ของ DSI หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ถูกโยกย้ายไปหมดแล้ว และ DSI ก็กำลังกล่าวหาว่า กกต.ทำผิดกฎหมาย ฯลฯ ; ถ้าสภาพเป็นอย่างนี้แล้ว สังคมของเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครถูกใครผิด ; และในเวลาต่อไปข้างหน้า ก็คงจะมีปัญหาอีกมากนะครับ 

 

ผมเห็นว่า ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่น ๆ เขาแก้ปัญหากันไปหมดแล้ว แต่ของเรายังไม่ได้แก้ นี่คือเหตุผลข้อแรก ที่ผมเลือกหัวข้อว่าด้วย “ปัญหาชนชั้นนำของสังคมไทย” มาพูดในวันนี้

 

ปัญหาในเรื่องนักวิชาการประเภท “The Philosophes” ก็เช่นเดียวกัน เราจะเห็นว่า ขณะนี้มีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาต่อต้านเผด็จการกัน แต่ดูเหมือนว่า นักวิชาการเหล่านี้จะพูดถึงและต่อต้านเฉพาะ “เผด็จการทหาร” แต่ไม่พูดถึง “เผด็จการโดยนายทุนธุรกิจ” ; เราจะพูดถึงแต่สิทธิเสรีภาพของเอกชนและของตัวเอง แต่ไม่ได้บอกว่า ประเทศเรา จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ; ดังนั้น The Philosophes ก็ยังเป็นปัญหาของเมืองไทย และนี่ก็คือ เหตุผลอีกข้อหนึ่ง ที่ผมเลือกหัวข้อว่าด้วย “ชนชั้นนำที่เป็นปัญหาของสังคมไทย” มาพูด

 

ต่อไปนี้ ผมจะพูดถึงเรื่องใน “สาระ”ที่ผมตั้งใจจะพูด โดยเริ่มต้นจากตอนแรก คือ เมื่อหนึ่งปีสามเดือนที่ล่วงมาแล้ว หลังการรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ทำไมเราถึงแก้ปัญหาไม่ได้ โดยจะมองจาก Elite ของเรา 

 

Eliteของเรา ในขณะนั้น คือ “นักการเมืองจำเป็น”ที่กระโดดเข้ามาทำการปฏิวัติ ทั้ง ๆที่ไม่รู้ว่า เมื่อปฏิวัติสำเร็จแล้ว จะต้องทำอะไร พูดง่าย ๆ ก็ คือบริหารประเทศไม่เป็น ; ตรงนี้ ผมเขียนไว้ในบทความแล้ว ผมจะพยายามสรุปให้สั้นที่สุด และต่อจากนั้น ผมจะพูดถึงบทบาทของ Elite ๓ จำพวกหรือ ๓ประเภทของเรา คือ “นักกฎหมาย” ซึ่ง รวมทั้งผู้พิพากษา ตุลาการ และ อาจารย์ คือ รวมนักกฎหมายทั้งหมด ; ส่วน Elite ประเภทที่สอง ซึ่งได้แก่ “นักการเมืองนายทุนธุรกิจ” ที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองอยู่ในขณะนี้ Eliteประเภทนี้ประเทศฝรั่งเศสในยุคปี ๑๗๘๙ ยังไม่มี แต่ของเรามีอยู่ในปัจจุบัน ; ส่วน Elite ประเภทที่สาม คือพวก The Philosophers ซึ่งประเทศฝรั่งเศสก็มี และประเทศไทยของเราก็มี โดยเราจะลองมาวิเคราะห์ดูว่า Elite ทั้ง ๓ ประเภทซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมเราในปัจจุบัน มีบทบาทอย่างไร ทำเพื่อส่วนตัวหรือทำเพื่อส่วนรวม 

 

นักการเมืองจำเป็น

 

ผมขอเริ่มต้นด้วย “นักการเมืองจำเป็น” คือ Elite ที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐด้วยการรัฐประหาร ปัญหาของเรามีว่า เมื่อปฏิวัติมาแล้ว มีอำนาจเต็มที่ แต่ทำไมแก้ปัญหา ประเทศไม่ได้

 

ผมเห็นว่า การที่เราทำไม่สำเร็จ ก็เพราะผู้ที่ทำการปฏิวัติเข้ามา ไม่รู้ว่า”ภารกิจ”ของตัวเองคืออะไร ผมคิดว่า ก่อนที่จะทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ผู้ที่ทำการรัฐประหาร ควรจะต้องกำหนด “ภารกิจ”ของตนเองเสียก่อน 

 

ในบทความที่ผมเขียนไว้ ผมแยกภารกิจสำคัญของการทำรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาของประเทศไว้ ๒ ประการ ซึ่งจะต้องแยกให้ชัดเจน และอย่าปนกัน ;

 

ภารกิจประการแรก ก็คือ “รปฏิรูปการเมือง” ผู้ที่ทำการรัฐประหารเข้ามา จะต้องหา “รัฐธรรมนูญใหม่“ที่ดีกว่าเก่า และภารกิจประการที่สอง คือ การบริหารประเทศในช่วงระหว่างการปฏิวัติ ซึ่งผู้ที่ทำการรัฐประหารจะต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องรีบทำเพราะมีระยะเวลาอันจำกัดสั้น แต่ปรากฏว่า นักการเมืองจำเป็น หรือ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ผ่านมาแล้ว ไม่ได้ทำ คือไม่ได้กำหนดภารกิจของตนเอง 

 

นอกจากจะต้องกำหนด “ภารกิจ”ของตนเองแล้ว ผู้ที่ทำรัฐประหารจะต้องรู้ด้วยว่า ภารกิจทั้ง ๒ ประการนั้น มี “ลักษณะ”อย่างไร และจะต้องทำอย่างไร “ภารกิจ”จึงจะสำเร็จได้ 

 

การที่จะทำให้ “ภารกิจ”ทั้ง ๒ ประการสำเร็จ จำเป็นจะต้องสร้าง “องค์กร”ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจ และเครื่องมือในการสร้างองค์กรนี้ ก็คือ “รัฐธรรมนูญชั่วคราว ” ; ผู้ที่ทำรัฐประหารจะต้องรู้ว่า “รัฐธรรมนูญชั่วคราว” จะมีสาระแตกต่างจาก”รัฐธรรมนูญถาวร” ; องค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นตาม รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีความมุ่งหมายอยู่ ๒ ประการ คือ ประการแรก เพื่อสร้าง “องค์กรที่จะสร้างรัฐธรรมนูญถาวร” และประการที่สอง เพื่อสร้าง “องค์กรสำหรับการบริหารประเทศเป็นการชั่วคราวในระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญถาวร ซึ่งได้แก่ รัฐบาลชั่วคราวและสภานิติบัญญัติชั่วคราว 

 

ถ้าหาก “องค์กร”ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ดี ผลที่ตามมาก็คือ “รัฐธรรมนูญถาวร”ก็จะออกมาดีไม่ได้ และการบริหารราชการแผ่นดินชั่วคราว ก็จะดีไม่ได้เช่นกัน เพราะ “รุปแบบ” ขององค์กรที่จะปฏิบัติภารกิจผิด มาตั้งแต่ต้น

 

ดังนั้น เราลองมาดูว่าใน “ภารกิจแรก” คือ การปฏิรูปการเมืองหรือการจัดหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้คนไทย นักการเมืองจำเป็นหรือคณะรัฐประหารของเรา สร้าง “องค์กร”อะไรขึ้นมาให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือรัฐธรรมนูญถาวร 

 

ท่านทั้งหลายทราบดีอยู่แล้วว่า “องค์กร”ที่มาเขียนหรือออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็คือ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”

 

เราลองมาดูโครงสร้างของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ หรือของนักการเมืองจำเป็น ว่ามีอย่างไร และท่านทั้งหลายก็ทราบดีอยู่แล้วเช่นกันว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญของเรา เป็นรูปแบบ”สภานานาอาชีพ” คือเป็นสภาที่มีสมาชิกที่คัดสรรมาจากระบบสมัชชาแห่งชาติ โดยมีแนวความคิดว่า การร่างรัฐธรรมนูญควรมีส่วนร่วมจากประชาชนหลากหลายอาชีพ เพื่อ “ความเป็นประชาธิปไตย” ; ตรงนี้ ผมขอให้ท่านหยุดคิดสักนิดและลองถามตัวท่านเองว่า สภาที่มีสมาชิกจากนานาอาชีพจะสามารถร่างรัฐธรรมนูญ ได้ดีหรือไม่ หรือว่า รัฐธรรมนูญที่ดีนั้นต้องการความเชี่ยวชาญของนักวิชาการที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในรูปแบบและการร่างรัฐธรรมนูญ ; ทั้งนี้ โดยเราจะยังไม่พิจารณาไปถึงว่า ทำอย่างไร จึงจะออกแบบ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นไปหลักการของระบอบประชาธิปไตยและในขณะเดียวกันก็อยู่บนพื้นฐานของความเชี่ยวชาญด้วย เพราะถ้าพูดถึงข้อนี้ ก็คงจะต้องพูดไปอีกยาว

 

ในที่นี้ เราคงพูดเพียงว่า ถ้าเรากำหนดรูปแบบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ผิด รัฐธรรมนูญที่เป็น “ผลงาน”ขององค์การยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะออกมาผิด ๆด้วย เหมือนกับที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน คือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เราได้มา เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาการเมืองของเราไม่ได้ และทำให้เราต้องกลับมาสู่ที่เดิม ก่อนมีการรัฐประหาร

 

ความจริง ผมได้เคยเตือนเรื่องนี้ไว้แล้ว คือ ก่อนมีการรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ประมาณ ๔เดือน ผมได้ไปปาฐกถาในวันปรีดีพนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดูเหมือนว่าจะเป็นเดือนพฤษภาคม ผมได้ยก”นิทาน” ขึ้นมาเรื่องหนึ่ง สมมุติว่า มีประเทศหนึ่งใช้ชื่อว่าสารขันธ์ ซึ่งผมยืมชื่อมาจากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ประเทศนี้อยากจะออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ดังนั้น สภานิติบัญญัติของประเทศสารขันธ์ ก็เลยออกกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง จัดตั้ง”สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ”ขึ้นมา ให้มีสมาชิกสภาเป็นแบบสภานา ๆ อาชีพหลายประเภท โดยกำหนดให้มีสมัชชาการเลือกกันเองขึ้นมาตามประเภทของอาชีพที่เกี่ยวข้อง ประเภทละ ๕ คน คือ จะมีตั้งแต่กลุ่มคนที่มีหน้าที่ต่างๆในบ้าน คือ คนครัว แม่บ้าน คนทำสวน ประเภทละ ๕ คน กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน คือ หญิง ๕ คน ชาย ๕ คน เยาวชน ๕ คน แล้วก็มีกลุ่มนักเทคนิคที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านและออกแบบบ้าน คือ วิศวกร และ สถาปนิก ประเภทละ ๑๐ คน รวมทั้งหมดทุกประเภท ก็จะมีสมาชิกของ “สภาออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ” ประมาณ ๕๐ – ๖๐ คน

 

แล้วให้ “สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ” นี้มาช่วยกันออกแบบบ้าน ด้วยการให้สมาชิกออกเสียงโหวตกันด้วยเสียงข้างมาก “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ว่า จะเอาบ้านรูปแบบใด หลังคาจะเอาอย่างไร ประตูจะเอาแบบไหน หน้าต่างจะเป็นอย่างไร ฯลฯ

 

ถามว่า ในผลสุดท้ายเมื่อเอามารวมกันแล้ว “บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ”ของประเทศสารขันธ์ จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าทุกท่านคงจะตอบได้ว่า บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลังนี้คงมีผสมผเส คือ อาจมี “หลังคา”เป็นแบบสเปน “ประตู”เป็นแบบจีน “หน้าต่าง”อาจจะออกมาคล้าย ๆ อังกฤษ ฯลฯ เพราะสภาหรือองค์กรในลักษณะนานาอาชีพนี้ ต่างคนต่างมีความเห็น ต่างคนต่างออกเสียง ; เสียงข้างมากของสภาในแต่ละประเด็นจะออกมาอย่างไร คงไม่มีผู้ใดคาดคะเนล่วงหน้าได้ ; แต่บอกได้อย่างเดียวว่า เมื่อสภาออกแบบบ้าน ฯ ประกอบด้วยสมาชิกนานาอาชีพ ผลก็คือ รูปร่างหน้าตาของบ้าน ฯ ก็คงจะเป็นสัพเพเหระ อย่างละนิด อย่างละหน่อย

 

ผมยกตัวอย่างเรื่องสภาออกแบบบ้าน ฯ นี้ก่อนการรัฐประหาร ๔ เดือน แต่หลังเมื่อมีการรัฐประหารแล้ว เราก็ยังอุตสาห์มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จัดตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญนานาอาชีพ”มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาอีก ; และผมก็คิดว่า “ผลงาน” คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจาก “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญนานาอาชีพ” ก็คงออกมาอย่างสัพเพเหระ และไม่ดีไปกว่า “บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ”ของประเทศสารขันธ์ 

 

ผมถามว่าใครเป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ความจริงผู้ที่ยกร่างก็เป็นนักกฎหมายของเรานี่แหละครับ แต่ใครจะยกร่างก็ไม่สำคัญ เพราะคนที่จะรับผิดชอบนั้นไม่ใช่นักกฎหมาย ; คนที่จะรับผิดชอบ คือ “ผู้ที่ทำการรัฐประหาร” เพราะผู้ที่ทำการรัฐประหาร เป็นผู้ที่นำเอาร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่นักกฎหมายเป็นผู้ร่างนั้น มาประกาศใช้บังคับ 

 

ผู้ที่ทำการรัฐประหารของเรา ขาดความรู้และขาดความสนใจ ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญนั้นจะใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ดังนั้น ภารกิจประการแรกของการรัฐประหาร จึงล้มเหลว

 

จริง ๆ แล้ว ในการร่างกฎหมายในยุคปัจจุบัน ประเทศที่พัฒนาแล้วเขามีระบบบังคับ ให้ผู้ที่ยกร่างกฎหมายจะต้องจัดทำเอกสารประกอบร่างกฎหมาย หรือ Exposé ซึ่งผู้ยกร่างกฎหมายจะต้องอธิบายให้ได้ว่า กฎหมาย มีเป้าหมายอย่างไร และ รูปแบบของกฎหมายที่ตนเองเขียนขึ้นมานั้น จะสามารถทำให้เป้าหมายหรือภารกิจสำเร็จได้อย่างไร ; แต่บังเอิญ ผู้ที่ทำการรัฐประหารของเราในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ไม่สนใจในเรื่องนี้ การยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงไม่ได้มีการตรวจสอบ

 

แต่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งได้แก่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ของเรา สภาร่างรัฐธรรมนูญนานาอาชีพของเราก็อุตส่าห์เขียน Exposé ให้เราเหมือนกัน คือทำเป็น “คำชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่” มีอยู่ประมาณ ๑๐ หน้า ; ถ้าท่านมีโอกาสและมีเวลา ก็โปรดไปอ่านดูได้ ; ผมอ่านดูแล้ว แต่ผมไม่คิดว่า คำชี้แจงสาระสำคัญนี้ จะอยู่ในมาตรฐานที่เป็นคำชี้แจงของผู้เชี่ยวชาญในระดับที่จะมายกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหานี้ ผมได้วิเคราะห์ไว้ในบทความของผมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว 

 

ผมจำได้ว่า ในคำชี้แจงดังกล่าว ขึ้นต้นว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีความมุ่งหมายใน ๔ แนวทาง และแนวทางแรก ที่ปรากฏในคำชี้แจง ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสิทธิเสรีภาพให้มากที่สุด ฯลฯ ซึ่งผมคิดว่า การให้มีเสรีภาพมากที่สุด ไม่ใช่ “เป้าหมาย” ของการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ; การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ จะต้องเริ่มต้นด้วยการทำ”ความเข้าใจ”และวิเคราะห์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับเดิมก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองได้อย่างไร และอะไร คือข้อผิดพลาดของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ฯลฯ ; ผมเห็นว่า ถ้าสภาร่างรัฐธรรมนูญของเราแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และเขียน Exposé อธิบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกมาในระดับนี้ ผมคิดว่า ถ้าแปลออกมาเป็นภาษาต่างประเทศ แล้วเอาไปให้นักกฎหมายของต่างประเทศดู ก็อาจจะเสียชื่อกันไปหมดทั้งประเทศ 

 

ความล้มเหลวอันนี้แหละครับ ที่ทำให้สภาพการเมืองของเรา กลับไปเหมือนเดิมก่อนการรัฐประหาร

 

ตรงนี้ ผมขอขยายความให้ยาวสักเล็กน้อย เพราะถ้าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอีกครั้งหนึ่งข้างหน้า ไม่ว่าจะมีการรัฐประหารหรือไม่ก็ตาม เราจะได้แก้รัฐธรรมนูญได้ดีกว่าครั้งนี้

 

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจะต้องพิจารณาแยกสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ออกเป็นส่วน ๆ และมีประมาณ ๔ – ๕ ส่วน เช่น ส่วนที่หนึ่งเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ส่วนที่สองเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชน ส่วนที่สามว่าด้วยนโยบายของรัฐ และต่อ ๆ ไป 

 

ส่วนที่สำคัญที่สุด หรือส่วนที่เป็น key ของรัฐธรรมนูญ ก็จะได้แก่ “ระบบสถาบันการเมือง” ที่ว่าด้วย สภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติ กับรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี นี่แหละครับ และส่วนสำคัญต่อไป ก็จะเป็นบทบัญญัติว่าด้วยศาล และองค์กรอิสระต่าง ๆ

 

“ระบบสถาบันการเมือง” ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ เรียกว่า Form of Government ซึ่งมีระบบหลัก ๆ อยู่ ๓ -๔ รูปแบบ เช่น ระบบรัฐสภา ซึ่งจะมีทั้งระบบรัฐสภาสมัยใหม่และสมัยเก่า หรือระบบประธานาธิบดี หรือระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์ ; ในการเขียนหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ จะต้องพิจารณาเป็นข้อแรกก่อนสิ่งอื่นใด ก็คือ Form of Government เพราะ Form of Government เป็น รูปแบบของการจัดองค์กรของรัฐ ที่จะใช้ “อำนาจสูงสุด”ในทางการเมือง ; นักกฎหมายรัฐธรรมนูญจะต้องวิเคราะห์หลักการข้อนี้ก่อนว่า จะใช้รูปแบบใหน และจะปรับเปลี่ยนด้วยเหตุผล ที่เรียกว่า rationalization อย่างไร ; ไม่ใช่แก้ไปอย่างสัพเพเหระตามใจชอบด้วยเสียงข้างมากเพื่อความเป็นประชาธิปไตย ตามที่เราทำมาแล้วในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ 

 

ผมขอให้ข้อสังเกตไว้ว่า ตลอดระยะเวลาที่เราทำการร่างรัฐธรรมนูญกันมาเป็นเวลา ๑๒ เดือนตลอดปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา นักกฎหมายทั้งประเทศไทยรวมทั้งผู้ที่มิได้มีส่วนร่วมอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย ไม่เคยพิจารณาและไม่เคยใช้คำว่า Form of Government แม้แต่คนเดียว ; สิ่งเหล่านี้บอก “อะไร” แก่เรา 

 

ผมขอเรียนว่า สิ่งเหล่านี้บอกว่าการสอนกฎหมายมหาชนในมหาวิทยาลัยของเราล้าหลัง และเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลา ๗๐ กว่าปี การสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญของเราล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง 

 

ถ้าเราพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ จากหลักเกณฑ์ของ “Form of Government ” แล้ว เราก็จะทราบได้ทันทีว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ล้มเหลวเพราะเหตุใด และทำไม การเมืองของเราในปัจจุบันของเรา จึงกลับไปสู่ที่เดิมก่อนมีการรัฐประหาร โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาบทบัญญัติอื่น ๆ ของรัฐธรรมนูญในรายละเอียด 

 

Form of Government ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ของเรา เหมือนกับ Form of Government ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ ใช้ “ระบบผูกขาดอำนาจในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” เหมือนกัน และข้อนี้ คือ สาเหตุที่ทำให้การเมืองของเราในปัจจุบันของเรา กลับไปสู่ที่เดิมก่อนมีการรัฐประหาร

 

ทำไมผมจึงเรียก ระบบสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญของเราว่า เป็นการ “การผูกขาดอำนาจในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” ; ผมขออธิบายง่าย ๆ ว่า ใน “ระบบรัฐสภา” หรือ Form of Government นี้ จะมีกลไกหรือหลักการที่เป็น key ของระบบ ที่แตกต่างกับ “ระบบประธานาธิบดี” หรือ “ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวของประเทศสังคมนิยม”

 

ระบบรัฐสภา มีทั้งระบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นระบบ conventional system และ ระบบที่มีการปรับเปลี่ยนแล้ว ที่เรียกว่า rationalized system ซึ่งจะแตกต่างกัน แต่ในที่นี้คงไม่มีเวลาพอที่จะกล่าวถึง ; พูดโดยหลักการแล้ว ใน “ระบบรัฐสภา” จะมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน คือ ถือว่า ใครคุมเสียงข้างมากในสภา คนนั้นเป็นรัฐบาลด้วย ; แต่ข้อที่รัฐธรรมนูญของไทยเรา แตกต่างกับรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นทั่วโลก ก็คือ ใน “ระบบรัฐสภา”ของประเทศอื่นทั่วโลกนั้น เขาไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัด และไม่ให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติของพรรคการเมือง เหมือนกับรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ; เพราะฉะนั้น ตรงนี้แหละครับ ที่เป็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญของประเทศไทย และทำให้ปัญหาการเมืองของประเทศไทยกลับสู่ที่เดิม 

 

ใน “ระบบพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศสังคมนิยม” ซึ่งเป็นระบบผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง เหมือนกับประเทศไทย ; แต่แล้ว เราต้องถามว่า ทำไมผลของการใช้บังคับรัฐธรรมนูญของเขาจึงไม่เหมือนประเทศไทย ; ข้อแตกต่างอยู่ตรงนี้ครับ พรรคการเมืองของเขานั้น “นายทุนนักธุรกิจ”เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ ผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของเขานั้น จะต้องเป็นผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร และนักวิชาการ คือ มีเพียง ๓ อาชีพนี้เท่านั้น ; นอกจากนั้น แม้จะเป็นบุคคลใน ๓ อาชีพนี้ ก็มิใช่ว่าทุกคนจะสามารถจะเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ตามใจชอบนะครับ ผู้ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค จะต้องถูกสกรีนหรือกลั่นกรองโดยระบบพรรคก่อน ; ผู้ที่จะได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกพรรคจะต้องเป็นผู้ที่เสียสละและพิสูจน์ “พฤติกรรม”มาแล้วว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามอุดมการณ์ของพรรค และกว่าที่จะเลื่อนลำดับตำแหน่งภายในพรรค ขึ้นไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคการเมือง ก็จะมีการสกรีนกันหลายชั้น ; และเมื่อได้เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคการเมืองแล้ว จึงจะมีสิทธิเป็นผู้บริหารประเทศระดับสูงตามรัฐธรรมนูญ คือ เป็นประธานาธิบดี หรือเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นประธานสภานิติบัญญัติ ฯลฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญได้

 

ถ้าท่านอ่านหนังสือพิมพ์เมื่อ ๒ – ๓ วันมานี้ ท่านก็จะพบว่า “สภาผู้แทนประชาชน”ตามรัฐธรรมนูญของประเทศจีน เพิ่งเปิดการประชุมเมื่อวันที่ ๓ มีนาคมมานี้เอง และท่านก็จะรู้ว่า หูจินเทา เป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รุ่นที่ ๔ และขณะนี้เป็นประธานาธิบดีของประเทศจีน และประเทศจีนกำลังจะเตรียมเลือกผู้นำพรรค รุ่นที่ ๕ ; และตาม” ชื่อ”ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ บุคคลที่มีโอกาสจะขึ้นไปเป็น “ผู้นำพรรค รุ่นที่ ๕” คนหนึ่ง ก็คือ สีจิ้นผิง ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำจังหวัดเจ๋อเจียง และต่อมาย้ายมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นจังหวัดหรือมณฑลสำคัญของประเทศจีน ; และแม้ว่าจะได้เลื่อนตำแหน่งในคราวนี้ คือ ต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือ ค.ศ. ๒๐๐๘ ก็มิใช่ว่า สีจิ้นผิง จะได้เป็นผู้นำพรรค รุ่นที่ ๕ อย่างแน่นอนนะครับ สีจิ้นผิงยังจะต้องพิสูจน์พฤติกรรมและการกระทำตามอุดมการณ์ของพรรคไปอีก ๕ ปีข้างหน้า คือ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ อันเป็นปีที่หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีจะก้าวลงจากอำนาจ พรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงจะได้พิจารณากันอีกครั้งหนึ่งว่า สีจิ้นผิงจะได้เลื่อนขึ้นเป็นเลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์ และเข้ามาเป็นประธานาธิบดีจีนตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ 

 

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในการปกครองในประเทศสังคมนิยม พรรคการเมืองที่เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ คือพรรคคอมมิวนิสต์ของเขา ; และพรรคของเขาจะเป็นองค์กรที่ “เลือก”ตัวบุคคลที่จะเข้ามาดำรง “ตำแหน่งบริหาร”ตามรัฐธรรมนูญและใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ ; พรรคการเมืองของเขาสกรีนแล้วสกรีนอีกและใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์พฤติกรรมของคน แต่ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองของเราตามรัฐธรรมนูญ ก็คือ ใครมี ” เงิน”ออกทุนในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองได้มาก และทำให้พรรคการเมืองมีจำนวน ส.ส.มากกว่าพรรคอื่น คนนั้นก็เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ คือ เป็นทั้งรัฐบาลและคุม ส.ส.เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ 

 

พูดอย่างง่าย ๆ ก็คือ “ระบบรัฐสภา”ตามรัฐธรรมนูญของเราที่มีการบังคับให้ ส.ส. ของเราต้องสังกัดพรรคการเมือง ฯลฯ เป็นการเอา “อำนาจรัฐ”ทั้งหมดไปขึ้นอยู่กับ จำนวน ส.ส.ของพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ ; “ผู้ใด” มีเงินมากพอจะออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ให้แก่ผู้ที่สมัครใจมาเป็นพรรคพวก รวมทั้งนักวิชาการที่อยากเล่นการเมืองโดยไม่ต้องลงทุน “ผู้นั้น” ก็เอาอำนาจรัฐไป

 

“ระบบรัฐสภา” ผิดกับ ” ระบบประธานาธิบดี” เพราะในระบบประธานาธิบดี จะมีการแบ่งแยกอำนาจจากผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ออกเป็น ๒ ขั้ว หรือ ๒ สาย คือ ขั้วแรก เป็น “อำนาจบริหาร” ที่ประธานาธิบดีเป็นผู้ใช้ โดยประธานาธิบดีจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ซึ่งแยกจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภานิติบัญญัติ และขั้วที่สอง เป็น “อำนาจนิติบัญญัติ” ที่สภานิติบัญญัติเป็นผู้ใช้ โดยสมาชิกของสภานิติบัญญัติต่างคนต่างสมัครรับเลือกตั้งของตนเอง จะสมัครโดยสังกัดพรรคการเมืองก็ได้หรือไม่สังกัดก็ได้ ; ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในระบบประธานาธิบดีนั้น จะไม่สามารถเกิด ” ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง” หริอ “ระบบเผด็จการโดยประธานาธิบดี” ได้เลย และประธานาธิบดีของเขาไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลไปบังคับให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติความต้องการของประธานาธิบดี และพรรคการเมืองของเขาก็ไม่มีอำนาจไปบังคับให้ ส.ส.ต้องปฎิบัติตามมติของพรรค 

 

ผมขอเรียนถามท่านว่า ตามข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ขณะนี้ คือ เมื่อรัฐธรรมนูญของเรา ทั้งรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และฉบับ ปีพ.ศ. ๒๕๕๐ ให้อำนาจแก่ “พรรคการเมือง”ในการบังคับ ส.ส.ที่อยูในสังกัดพรรค ต้องปฏิบัติตามมติพรรค ประการหนึ่ง ; และใน “ระบบรัฐสภา”ที่เราใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญของเรา กำหนดว่า พรรคการเมืองใดมี ส.ส.จำนวนมากที่สุด พรรคนั้นจะได้เป็นรัฐบาล ประการหนึ่ง ; ประกอบกับ สภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอและอ่อนไหวต่อการใช้เงินและอิทธิพลทางสังคม อีกประการหนึ่ง ; รวมกันทั้ง ๓ ประการนี้ ขอถามว่า เมื่อรัฐธรรมนูญวางระบบนี้ลงไป คนมีเงินจะทำ “อะไร” 

 

ผมเห็นว่า คำตอบนั้นง่ายเหลือเกิน เพราะเป็นไปตามพฤติกรรมตามธรรมชาติของคน คือ เมื่อรัฐธรรมนูญวางระบบนี้ลงไป คนมีเงินก็ย่อมรวมทุนกันตั้งพรรคการเมือง เพราะว่าประโยชน์ตอบแทนที่จะกลับคืนมานั้นมหาศาล เนื่องจากเป็นการลงทุนเพื่อเข้ามาครอบครองทรัพยากรของชาติทั้งหมด จะเอาตำแหน่งใดก็ได้ จะออกกฎหมายใด ๆ ก็ได้ จะตั้งใครก็ได้ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะพรรคการเมืองของเรา เป็นทั้งสภาและเป็นทั้งรัฐบาล

 

นี่คือ ความล้มเหลวของ “ภารกิจที่หนึ่ง” ของคณะปฏิรูปการปกครอง หรือนักการเมืองจำเป็น ใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา 

 

ภารกิจที่สอง คือ “การบริหารราชการแผ่นดิน”ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก็จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ในระหว่างที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราลองมาดูว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มอบหมาย ภารกิจนี้ ให้องค์กรใด

 

ผมขอพูดสั้น ๆ ว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ในการบริหารราชการแผ่นดิน เราก็มีอยู่ ๒ องค์กร คือ เรามี “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” และเรามี “รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี” ; สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็เลือกสรรกันมาอย่างหลากหลาย และมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และสำหรับรัฐบาล ก็มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็มาเลือกบุคคลแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีอีกทอดหนึ่ง 

 

ข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ก็คือ สมาชิกสภานิติบัญญัติ ฯ ต่างคนต่างทำงานตามใจชอบของตนเอง และรัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ใครคิดอะไรได้ก็ต่างคนต่างทำ ; แสภานิติบัญญัติฯ กับรัฐบาล ไม่มี “เป้าหมาย”ร่วมกัน และก็ไม่มีใครมากำหนดหรือพูดถึง “ภารกิจเร่งด่วน” ในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่จะต้องทำให้สำเร็จในช่วงเวลาของการรัฐประหาร ที่มีอยู่ไม่นานนัก

 

ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาล ต่างก็บริหารกันไปโดยปราศจาก “เป้าหมาย””ตามที่เห็น ๆ กันอยู่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนใดนึกจะเสนอร่างกฎหมายอะไร ก็ไปรวบรวมเพื่อนฝูงมาร่วมกันลงชื่อเสนอเป็นร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา ฯลฯ ถ้าท่านมีเวลา ท่านอาจลองไปขอดู”บัญชีรายชื่อ” กฎหมายและร่างกฎหมายที่บรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอต่อสภาฯ มาพิจารณาดูก็ได้นะครับ ; ทางฝ่ายบริหาร รัฐมนตรีต่างคนต่างเสนอร่างกฎหมายที่ตนเองชอบ คณะรัฐมนตรีก็เห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง ; ผมเห็นว่า การบริหารประเทศอย่างนี้ ไม่น่าจะเป็นการบริหารประเทศในช่วงที่ประเทศมีปัญหาและมีการรัฐประหาร ด้วยเหตุนี้ ผลงานรัฐบาลในช่วง ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงไม่มีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน 

 

เมื่อผมอ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งจะต้องเป็น”เครื่องมือ” ในการทำภารกิจของผู้ที่ทำการรัฐประหาร ที่ได้ประกาศใช้บังคับ ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ผมจึงสามารถบอกได้ตั้งแต่ต้น คือ หลังจากการรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ได้เพียง ๑๑ วัน ว่า “การรัฐประหาร”ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ จะล้มเหลวอย่างแน่นอน เพราะเห็นได้ชัดว่า รูปแบบของ “องค์กร” ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าว ไม่สามารถทำให้ “ภารกิจ” ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯหรือคณะรัฐประหารควรจะต้องทำได้ ให้สำเร็จลงได้

 

ผมอยากจะเรียนว่า “การบริหารประเทศ”ในช่วงของการปฏิวัติหรือรัฐประหารนั้น มากกว่าและยากกว่าการบริหารประเทศในภาวะปกติ เพราะว่า ประการแรก รัฐบาลและสภานิติบัญญัติ ที่จัดตั้งขึ้นมานั้น มีระยะเวลาทำงานจำกัด และประการที่สอง การที่ประเทศมีปัญหามากมายอยู่ในปัจจุบัน จนถึงกับต้องมี”การปฏิวัติหรือการรัฐประหาร”นั้น ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า กฎหมายซึ่งเป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศจำนวนมากนั้นไม่ดี ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองฯที่รัฐประหารเข้ามา มี “ภาระ”ที่จะต้องแก้กฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ นอกเหนือไปจาก ที่จะต้องบริหารประเทศที่เป็นภาระประจำวันและเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ที่จะต้องทำให้ดีที่สุดและเร็วที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้ 

 

เมื่อ “การบริหารประเทศ”ในช่วงของการรัฐประหารหรือการปฏิวัติ ทั้งยากกว่า มากกว่า และมีเวลาอันจำกัด ดังนั้น ในการเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อจัดองค์กรเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาล คณะปฏิรูปการปกครองฯ จำเป็นจะต้องคิดถึง “ภารกิจ”นี้ไว้ในใจ และออกแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้เหมาะสมกับภารกิจ ; และในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ดี การเลือกตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือแม้แต่เป็นรัฐมนตรีก็ดี การวางระบบการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับรัฐบาลก็ดี คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องกำหนดขึ้น โดยมี “ความมุ่งหมาย”ที่จะทำให้ภารกิจบรรลุผลสำเร็จ และจะต้องอธิบายให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงความตั้งใจดีของคณะปฏิรูปการปกครองฯ 

 

แต่สิ่งเหล่านี้ ปรากฎว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯไม่ได้ทำแต่ประการใด และดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองฯ จึงประสบความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงระยะเวลาของการรัฐประหาร ใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๐

 

สรุปได้ว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ได้ประสบความล้มเหลวในภารกิจทั้ง ๒ ประการ คือ (๑)ไม่สามารถหา”รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯได้รัฐประหารและยกเลิกไปได้ และ (๒)ไม่สามารถแก้ไขหรือวางแนวทางไว้สำหรับการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับ “ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ”หลังจากการรัฐประหารได้ และการล้มเหลวนี้ เป็นการล้มเหลวที่เรียกได้ว่า สมบูรณ์แบบที่สุด

 

ในบทความที่ผมได้เขียนไว้ ผมได้เขียนไว้ว่า เหตุที่ “สภาพการเมือง”เราเป็นเช่นนี้ ก็เพราะเราคิดเพียงว่า “ประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง” และเราคิดได้เพียงเท่านี้ ; ผมมีความเห็นว่า เราคนไทย”คิด”ไม่เป็น และคนไทยไม่ค่อยสนใจวิชา”นิติปรัชญา” ซึ่งเป็นวิชาที่สอนวิธีคิดให้แก่เรา ; และแม้แต่ในการทำรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ซึ่งเป็น Elite กลุ่มสำคัญในระดับสูงของสังคมไทย ก็ยังไม่คิดที่จะกำหนด”เป้าหมาย” ที่เป็นภารกิจที่ควรจะต้องทำให้สำเร็จ

 

มาถึง ตรงนี้ ผมคงต้องขออนุญาตพูดขยายความในตอนนี้ให้ยาวไปอีกเล็กน้อยอีกสักครั้งหนึ่งนะครับ โดยผมจะพูดถึงวิธีคิดและนิติปรัชญาของคนไทย 

 

อะไร คือ “จุดหมาย” ของระบอบประชาธิปไตย เรามักจะคิดกันว่า ถ้ามี “การเลือกตั้ง”แล้ว เราก็เป็นประชาธิปไตย และนักการเมืองที่มาเลือกตั้งของเราก็ย้ำบอกให้เราเชื่ออยู่ทุก ๆ วันตลอดเวลาว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้ว จึงจะเป็นประชาธิปไตย เราคิดของเราอย่างนี้ และผมก็เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านก็ยังคิดอย่างนี้ 

 

ในบทความที่ผมเขียนไว้ ผมอธิบายไว้ว่า “จุดหมาย”ของระบอบประชาธิปไตย คือ การทำให้ “ระบบสถาบันการเมือง” ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และประสานประโยชน์ของปัจเจกชนหรือของเอกชน ให้สอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวม ; นี่ คือ จุดหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และ “จุดหมาย”นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่า “รูปแบบ”ของระบบสถาบันการเมือง หรือ form of government จะเป็นอย่างไร

 

แล้วดังนั้น “การเลือกตั้ง” คืออะไร ; ทำไมนักการเมืองของเราจึงพยายามทำให้เราและคนทั่วไปเข้าใจว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือการเลือกตั้ง ; นักการเมืองของเรา ทำอย่างนี้ เพื่อประโยชน์อะไร

 

การเลือกตั้ง ไม่ใช่ “จุดหมาย”ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ; การเลือกตั้งเป็น “วิธีการ”อันจำเป็น ที่จะต้องมีในการปกครองระบอบประชาธิไตย เพราะ เราต้องเลือกผู้แทนเพื่อให้เข้ามาบริหารประเทศแทนคนจำนวนมาก ที่ไม่สามารถมาใช้อำนาจในการบริหารประเทศพร้อมกันด้วยตนเอง แต่ใน “การบริหารประเทศ”ของผู้แทน ผู้แทนจะต้องบริหารให้เป็นไปตาม “จุดหมาย”ของ การปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ ประโยชน์ส่วนรวมของสังคม 

 

“การเลือกตั้ง” จึงไม่ใช่ “จุดหมาย” ของระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นวิธีการอันจำเป็นที่จะต้องมีในการปกครองระบอบประชาธิปไตย 

 

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า “จุดหมาย”ของระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่วิธีการเลือกตั้งและการที่จะกำหนดให้ผู้ได้รับเลือกตั้งมีอำนาจมากน้อยเพียงใด สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปตาม “จุดหมาย”ของระบอบประชาธิปไตย เช่น ในระบบประธานาธิบดี เราจะแยกอำนาจของประธานาธิบดีและอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรออกจากกัน เพื่อให้เป็นระบบที่การควบคุมและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ก็สามารถทำได้

 

ในการกำหนด form of government หรือ รูปแบบของระบบสถาบันการเมือง จึงเป็นศิลปะของกฎหมายมหาชน ที่จะต้องทำให้กลไกหรือระบบสถาบันการเมืองที่จำต้องมีการเลือกตั้งนั้น ทำ”หน้าที่”ไปสู่จุดหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และมีการประสานประโยชน์ปัจเจกชนให้สอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวม 

 

“จุดหมาย”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก้บ “การเลือกตั้ง”ในการปกครองในระบอบประชาธิไตย ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ; นักการเมืองนายทุนธุรกิจของเรา ไม่ต้องการให้เรามี “ความรู้”ในเรื่องนี้ เพราะเขารู้ว่า ถ้าเรามีความรู้เรื่องนี้แล้ว เราคนไทยก็อาจจะแก้ไข รัฐธรรมนูญ ไม่ให้มี “ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐ โดยพรรคการเมือง ที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจเจ้าของเงินทุน”

 

สิ่งที่เราจะต้องทำ คือ ทำความเข้าใจให้ดีว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ “จุดหมาย”ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เราจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนมาบริหารประเทศ แต่เราต้องมี “ความรู้”พอที่จะปรับวิธีการเลือกตั้งและขอบเขต “อำนาจ”ของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมานั้น เพื่อให้เขาทำหน้าที่ที่ทำให้ “จุดหมาย”ของการปกครองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั้น เป็นผลสำเร็จ ; ซึ่งแน่นอนว่า “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” ย่อมไม่สามารถทำให้จุดหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยบรรลุผลได้ เพราะการขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ตามพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์

 

ปัญหาอยู่ที่ว่า เรามี “ความรู้”พอที่จะปรับเปลี่ยน ที่เรียกว่า rationalization ระบบสถาบันการเมือง เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายได้ หรือไม่ และนี่ คือปัญหาของเรา

 

ดังนั้น ถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ หรือคณะรัฐประหารประสงค์จะทำให้ประเทศไทยออกนอกวงจรแห่งความเสื่อม vicious circle คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ จำเป็นจะต้องรู้ในสิ่งเหล่านี้และต้องมีความสามารถพอที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการปรับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง ให้มีอำนาจหน้าที่คานกันและสมดุลกันให้ได้ ไม่ใช่เอา “อำนาจรัฐ”นั้น ไปขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในสภาที่มาจาก “การเลือกตั้ง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งของประเทศไทย ที่สภาพสังคมของเรามีความอ่อนแอ ที่คนส่วนใหญ่ยังยากจนและตกอยู่ภายไต้อิทธิพลของการใช้เงินที่สามารถซื้อเสียงได้ ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่แตกต่างกับสภาพสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ประชาชนของเขามีประสบการณ์ทางการเมืองจากวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ; ถ้าตราบใดที่เรายังมีระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจอยู่อย่างนี้ เราก็คงออกนอกวงจรแห่งความเสื่อมเดิม ๆ ไปไม่ได้ 

 

ผมเปรียบเทียบไว้ว่า การเขียนรัฐธรรมนูญของเราที่สร้างระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลก เปรียบเหมือนกับเป็นการเอา “ปลาย่าง”ไปวางไว้ให้แมว แล้วไปสร้างกลไกและองค์กรอิสระให้มาคอยไล่จับแมวที่มากินปลาย่าง แทนที่จะไปคิดและเขียนรัฐธรรมนูญทำให้ปลาย่างไม่ให้เป็นปลาย่าง เหมือน ๆ กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ; ดังนั้น เราจะเห็นว่าเมื่อเราวาง “ปลาย่าง”ไว้อย่างนี้ ผลก็เป็นอย่างนี้ ; ปัจจุบันนี้เราพยายามไล่จับแมวกันยกใหญ่ แต่ไม่เคยมีใครไปมองว่าความผิดพลาดอยู่ที่ “เป้าหมาย”ของแมวที่จะมากิน คือ ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ; อย่างนี้ ผมเห็นว่า เราไม่มีทางที่จะไปจับแมวได้หมด และในที่สุด กลไกและองค์กรอิสระที่จะจับแมวเหล่านี้ ก็จะถูกแมวกัดตายหมด ; ผมคิดว่า เท่าที่พูดมานี้ ท่านคงจะพอเข้าใจปัญหาการเมืองของประเทศไทย ในขณะนี้ได้

 

ปัญหาการเมืองของประเทศไทยข้างหน้านี้ เป็นปัญหาใหญ่ ; ผมมองว่า คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ มีโอกาสแล้ว แต่ไม่มีความรู้และไม่มีความเสียสละพอ ซึ่งเป็นเหตุให้เราต้องกลับมาสู่ที่เดิมอีกครั้ง ใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ คือ ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ ; และผมก็ไม่ทราบว่า ข้างหน้าเราจะมีโอกาสออกจากวงจรนี้ได้หรือไม่ เพราะคนที่มีอำนาจแล้วจะไม่สละอำนาจของตนเอง 

 

ถ้าหากเราไม่รู้และยังไม่สนใจที่จะแสวงหาความรู้และศึกษาแนวทางที่จะออกจากวงจร ผมเองก็ไม่ทราบว่า จะทำอย่างไร ขณะนี้ ผมคิดว่าเราถูกหลอกตลอดเวลา ; ท่านลองอ่านหนังสือพิมพ์ทุก ๆ วัน แล้วดูว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง มีข่าวว่า จะตั้ง “สหภาพข้าราชการ”เพื่อป้องกันการเมืองแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการประจำที่สุจริตที่ไม่ยอมรับใช้นักการเมือง มีการพยายามที่จะไปเซ็นชื่อขับไล่รัฐมนตรี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่”สาเหตุ”ของปัญหา ; สาเหตุจริง ๆของปัญหา อยู่ที่การผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจในระบบรัฐสภา ; เราไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ ด้วยการไล่ตามแก้สิ่งที่เป็น “ผล”ของระบบการผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมือง เพราะแก้อย่างไรก็ไม่หมด ปัญหาข้างหน้ายังจะตามมาอีกมากมาย 

 

การที่จะปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ ผมคิดว่า ประการแรก คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ หรือใครก็ตามที่จะเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ จะต้องมี “ความรู้” คือ รู้ว่า ความเสื่อมของการบริหารประเทศเกิดจากอะไร อะไรเป็นสาเหตุ และนอกจากนั้น ยังจะต้องรู้ถึงวิธีการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยว่า จะแก้ได้อย่างไร ; และเมื่อรู้แล้ว ในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดยมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติชั่วคราวและรัฐบาลชั่วคราว คณะรัฐประหารหรือใครก็ตามที่จะมาแก้ปัญหาประเทศ จะต้องกำหนดเป้าหมายและทำให้เกิดการประสานงานระหว่างสภาชั่วคราวกับรัฐบาลชั่วคราวเพื่อให้องค์กรทั้งสอง ทำงานไปสู่เป้าหมาย ไม่ใช่ให้ต่างคนต่างทำ 

 

จริงๆ แล้ว คณะปฏิรูปการปกครอง ฯจะต้องเป็นแกนกลางและกำหนดเป้าหมายไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ชัดเจนว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร และให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ด้วยว่า เป้าหมายของการบริหารประเทศชั่วคราวนั้น คือ อะไร และคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ต้องการจะทำอะไรและทำอย่างไร เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผล 

 

และในขณะเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ จะต้องมีความเสียสละ และแสดงความเสียสละให้ปรากฏให้ประชาชนได้เห็น ; ความเสียสละ คืออย่างไร ผมก็เขียนไว้ในบทความที่กล่าวถึงแล้ว ; ความเสียสละมีอยู่ ๒ อย่าง ; ข้อที่หนึ่ง ก็คือ คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ จะต้องบอกว่า คณะปฏิรูปการปกครอง จะไม่สืบทอดอำนาจ คือ เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองทำสำเร็จตามภารกิจที่กำหนดไว้แล้ว จะต้องวางกลไกไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะดำเนินการแก้ปัญหาของประเทศต่อไปไปได้โดยอัตโนมัติ ; ข้อที่สอง ก็คือ ในระหว่างที่คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ใช้อำนาจบริหารประเทศเป็นการชี่วคราวในระหว่างการรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองจะต้องบริหารประเทศด้วยความโปร่งใส (Transparency) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายมหาชนยุคใหม่ที่จะต้องมีการกำหนด “วิธีการใช้อำนาจ” ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส โดยคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ จะต้องไม่หาประโยชน์ให้แก่ตนเอง 

 

เมื่อใดที่ คณะปฏิรูปการปกครองมีความเสียสละทั้ง ๒ ประการนี้ คณะปฏิรูปการปกครอง ก็จะปฏิรูปการเมืองให้คนไทยได้สำเร็จ ; แต่ถ้าคณะปฏิรูปการปกครอง ฯหรือใครก็ตามที่รับอาสามาแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่แสดงความเสียสละสองอย่างนี้ให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไป ประชาชนทั่วไปก็จะไม่เชื่อถือ และนอกจากนั้น ก็ยังจะถูกฝ่ายตรงกันข้ามที่เสียประโยชน์ พยายามจะทำลายคณะปฏิรูปการปกครองหรือใครก็ตามที่เข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ ด้วยการไปแสวงหาเรื่องราวที่ดิสเครดิตคณะปฏิรูปการปกครอง ฯลฯ ไม่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ และไม่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นเรื่องใหญ่ หรือเรื่องเล็กน้อย เช่น การมีภริยาสองคนของผู้ที่ศาสนามุสลิม เป็นต้น

 

เท่าที่กล่าวมานี้ เป็นอันจบสาระของตอนแรก ที่ผมตั้งใจจะพูด คือ เรื่องความล้มเหลวของการบริหารประเทศในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เมื่อ ๑ ปี ๓ เดือนที่ล่วงมาแล้ว ; และผู้ที่ต้องรับผิดชอบในความล้มเหลวครั้งสำคัญนี้ ก็คือ โดย Elite ที่เข้ามาบริหารประเทศด้วยการรัฐประหาร ที่ผมเรียกว่า เป็น “นักการเมืองจำเป็น” ที่อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศ แต่ขาดความรู้และความเสียสละ ; และอันที่จริง สาระในส่วนนี้ ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด จะเป็นส่วนที่ผมได้เขียนไว้ในบทความและลงเว็บไว้แล้ว ผมเพียงแต่เอามาสรุปย่อ ๆ เป็นตอน ๆ ให้ท่านฟัง ; ส่วนสาระที่ผมจะพูดต่อไป จะเป็นส่วนที่ผมกำลังจะเขียนเป็นบทความในตอนต่อๆ ไป แต่ยังไม่ได้เขียน ก็ขอเอามาเล่าเป็นการล่วงหน้าก่อน

 

Elite กลุ่มต่าง ๆ ของสังคมไทย ที่มีบทบาทในทางการเมืองของไทยอยู่ในปัจจุบัน

 

ต่อไปนี้ จะเป็น “สาระ”ในตอนที่สอง ว่าด้วย Elite กลุ่มต่าง ๆ ของสังคมไทย ที่มีบทบาทในทางการเมืองของไทยอยู่ในปัจจุบัน คือ นับตั้งแต่ปีนี้ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นไป ; และตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ถ้าอยากทราบอนาคตของประเทศ ก็จะรู้ได้จากการศึกษา “พฤติกรรม” ของ Elite ในปัจจุบัน

 

ในประเทศฝรั่งเศส หลังจากเกิดมิคสัญญีเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน นักประวัติศาสตร์ของเขาวิเคราะห์ไว้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดมาจาก Elite ๒ จำพวก คือ กลุ่มแรกได้แก่ พวก “นักกฎหมาย”ที่เป็นผู้พิพากษา ที่เรียกว่า parlementaires และกลุ่มที่สองได้แก่ กลุ่ม “นักวิชาการประเภท The Philosophes” ที่สนใจสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน แต่ไม่สนใจการแก้ปัญหาของสังคม ; สำหรับของไทยเราในปัจจุบัน Eliteที่เป็นพื้นฐานสังคมมีอยู่ ๓ จำพวก ซึ่งได้แก่ (๑)นักกฎหมาย (๒) นายทุนธุรกิจที่เป็นนักการเมือง และ (๓)นักวิชาการประเภท The Philosophes ; ซึ่งจะเห็นได้ว่า Elite ที่มีบทบาททางการเมืองของเรามีมากกว่าประเทศฝรั่งเศสหนึ่งจำพวก การที่ประเทศไทยมีมากกว่าฝรั่งเศส ก็เพราะการเมืองของไทยในปัจจุบัน เรามี “นายทุนธุรกิจ” เจ้าของพรรคการเมือง ที่เข้าผูกขาดอำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเทศฝรั่งเศสไม่มี

 

เราลองมาประเมินดูว่า Elite ๓ จำพวกหรือ ๓ประเภทของเรา มีสภาพเป็นอย่างไร ; Elite แต่ละจำพวกหรือแต่ละประเภท จะช่วย”แก้”ปัญหา หรือจะช่วย”สร้าง”ปัญหา ให้แก่คนไทย โดยผมจะให้ความเห็นของผมอย่างรวบรัดให้สั้นที่สุด ; สำหรับรายละเอียด ผมจะไปเขียนเป็นบทความ

 

นักกฎหมาย

 

เราเริ่มต้นดูจาก Elite กลุ่มแรก คือ “นักกฎหมาย”ก่อน ผมแยกนักกฎหมายออกเป็น ๒ พวก พวกแรกได้แก่นักกฎหมายทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็น ตุลาการ ผู้พิพากษา อัยการ หรือนักกฎหมายอะไรก็ได้ และนักกฎหมายพวกที่สอง ได้แก่ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่สันนิษฐานว่า จะเป็นผู้ที่ช่วยเขียนหรือออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เรา

 

สำหรับนักกฎหมายทั่วไป ผมจะขอประเมินคุณภาพโดยพิจารณาจาก “วิธีคิด”ของนักกฎหมายของเราว่า นักกฎหมายของเราใช้กฎหมาย บนพื้นฐานของหลัก “นิติปรัชญา”ในยุคศตวรรษที่ ๒๐ หรือว่า ยังติดอยู่กับความคิดเดิม ๆ เมื่อ ๒๐๐ – ๓๐๐ ปีก่อน ; เพราะผมเห็นว่า “วิธีคิด”ของนักกฎหมาย เป็นเครื่องชี้วัด “คุณภาพ”ของนักกฎหมาย ; ผมจะวิเคราะห์พฤติกรรมของนักกฎหมายที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ ให้แก่สังคม คือ การเขียนหรือการออกแบบกฎหมาย การตีความกฎหมาย หรือการใช้กฎหมาย the application of laws ในด้านต่าง ๆ ; และศึกษาดูว่า ในการทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ นักกฎหมายของเราได้คำนึงถึง “จุดหมาย – purpose” ของกฎหมาย มากน้อยเพียงใด

 

ผมมีความเห็นว่า การที่นักกฎหมายของเรา ชอบตีความแบบศรีธนนชัยก็ดี หรือนำกฎหมายมาใช้โดยทำตัวเป็นนิติบริกรเพื่อให้บริการแก่นักการเมืองก็ดี เป็นเพราะนักกฎหมายเราใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึง purpose ของกฎหมาย ; นอกจากนั้น เพราะการที่หนังสือตำรากฎหมายของเรา ที่ยังคงอ้างถึง Montesquieu หรือ Hobbes หรือ Locke หรือ Rousseau เช่น “หลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย” หรือ “สัญญาประชาคม” ในลักษณะที่ทำให้นักศึกษากฎหมายของเรา เข้าใจว่า แนวความคิดดังกล่าว เป็นแนวความคิดในปัจจุบัน มากกว่าที่จะอธิบายให้นักศึกษากฎหมายเข้าใจว่า ความคิดของบุคคลดังกล่าวเป็นวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และด้วยเหตุนี้ เราจึงยังมีนักกฎหมายจำนวนมากที่ยังหลงติดยึดอยู่กับแนวความคิดหรือนิติปรัชญาเดิม ๆ เมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน โดยไม่รู้ว่าความคิดของตนเองล้าหลังไปแล้ว ๑๐๐ – ๒๐๐ ปี ; ท่านในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ลองพิจารณาทบทวนความจำจากเรื่องที่ท่านได้ผ่าน ๆ มาก็ได้ ว่า สิ่งที่ผมพูดนี้ มีความจริงมากน้อยเพียงใด 

 

ผมขอเรียนว่า นิติปรัชญาในยุค ๒๐๐ ปีที่ผ่านมานี้ได้เปลี่ยนไปจากแนวความคิดเดิม ๆ ไปหมดแล้ว “นิติปรัชญา”ในยุครุ่นหลังนี้ เป็นแนวความคิดกฎหมายเชิงสังคมวิทยา Sociological Approaches เช่น เมื่อนักกฎหมายพูดถึงคำว่า “ประชาชน” นักกฎหมายจะต้องนึกถึง “ประชาชน”บนพื้นฐานของสังคมวิทยา คือ ประชาชนเป็นกลุ่มชนที่มีพฤติกรรม แบ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ และแต่ละกลุ่มต่างมีผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง ; ซึ่งหมายความว่า ความหมายของคำว่า “ประชาชน”ในปัจจุบันนี้ ไม่เหมือนกับ ความหมายของ”ประชาชน”ในยุคที่มีการเรียกร้องการปกครอง “ระบอบประชาธิปไตย” ใน สมัย Montesquieu ” เมื่อ ๒๕๐ ปีก่อน คือ ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกยังปกครองกันด้วย”ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช” ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสิทธิขาด และในระยะนั้น เรากำลังคิดว่า จะจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ลงได้อย่างไร ; ดังนั้น ถ้านักกฎหมายของเรายังมี”วิธีคิด”เหมือนเก่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช หรือสมัย Montesquieu หรือนักปราชญ์ในยุคนั้น ก็แสดงว่า นักกฎหมายของเรามี “วิธีคิด” ล้าหลังอย่างน้อย ๑๕๐ ปี ; และในปัจจุบันนี้ “โจทก์”ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว โจทก์ทางการเมืองในปัจจุบัน ได้แก่ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง”ไม่บริหารประเทศให้เป็นไปตาม “จุดหมาย”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการทุจริดคอร์รัปชั่นของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 

 

Jhering (เยียริ่ง) คือ นักนิติปรัชญาที่ถือกันว่า เป็น”บิดา”ของแนวความคิดนิติปรัชญาเชิงสังคมวิทยาแห่งยุคศตวรรษที่ ๒๐ ได้บอกเราเมื่อ ๑๕๐ ปีมาแล้วว่า “กฎหมาย”มาจากพื้นฐานของสังคม – society ซึ่งก่อนหน้านั้น แนวความคิดทางนิติปรัชญามิได้คิดถึงเงื่อนไขของกฎหมายจากด้านพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ ; ผมได้เขียนไว้ในบทความแล้วว่าสังคมวิทยาเกิดขึ้นเพราะ Auguste Comte ท่านผู้นี้เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า Sociology และหลังจากนั้น แนวความคิดของนิติปรัชญาเชิงสังคมวิทยาก็ตามมา และกลายเป็น “วิธีคิด”ของนักกฎหมายยุคใหม่ 

 

การเขียนกฎหมาย และการตีความกฎหมาย ถ้าไม่คำนึงถึงพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว การใช้กฎหมายนั้นก็จะล้มเหลว ; ในระยะ ๑๕๐ ปีที่ผ่านมา นิติปรัชญาเชิงสังคมวิทยาได้ทำให้การเขียนกฎหมายกลายเป็นเทคโนโลยีของการจัดองค์กรและกลไกของรัฐในการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ เพื่อให้กฎหมายมีผลในทางปฏิบัติตาม “จุดหมาย”ของการตรากฎหมาย คือ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และทำให้การตีความกฎหมาย เป็นเครื่องมือของการอุดช่องว่างของกฎหมาย

 

บางท่านอาจจะเคยได้ยินมาแล้วว่า บทกฎหมายพัฒนาไม่ทันกับพฤติกรรมของคน บางท่านอาจจะเคยได้ยินนักนิติปรัชญาในยุคนี้บางคนกล่าวว่า ในสังคมเรามี Living Law ที่มิใช่ตัวบทกฎหมาย และนักกฎหมายมีหน้าที่ต้องเขียนกฎหมายลายลักษณ์อักษรให้ทันกับวิวัฒนาการของ living Law แต่ถ้ากฎหมายลายลักษณ์อักษรตามไม่ทัน living law แล้ว เรานักกฎหมายในยุคปัจจุบัน จะทำอย่างไร : และแน่นอน ในหลาย ๆครั้ง ตัวบทกฎหมายก็ไม่ชัดเจนด้วยเหตุหลาย ๆ เหตุ ซึ่งทำให้ต้องมีการตีความกฎหมาย ; ปัญหามีว่า “นักกฎหมาย”ที่มีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม นักกฎหมายจะทำหน้าที่นี้อย่างไร 

 

นักกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วได้สร้าง “หลักกฎหมายทั่วไป – the general principle of law ” ขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่างของบทกฎหมายไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่บอกว่าไม่มีตัวบทแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้ ; ผมคงไม่ต้องบอกว่า “การอุดช่องว่างของกฎหมาย”คืออะไร และนักกฎหมายมหาชนของประเทศที่พัฒนาแล้วได้สร้าง “หลักกฎหมายทั่วไป”ขึ้นมาได้อย่างไร เพราะท่านคงทราบดีอยู่แล้ว ; “กฎหมายมหาชน” ไม่ใช่กฎหมายอาญา ; “กฎหมายมหาชน” ได้แก่กฎหมายปกครอง – administrative law และ กฎหมายรัฐธรรมนูญ – constitutional law ; ถ้าในกฎหมายแพ่ง ศาลแพ่งมีอำนาจหน้าที่ในการอุดช่องว่างของกฎหมายแพ่งได้ ศาลปกครองก็มีอำนาจหน้าที่ในการอุดช่องว่างของกฎหมายปกครองได้เช่นกัน

 

ตามความจริง หลักกฎหมายที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมหรือหลักการที่ว่าทุกคนจะต้องใช้สิทธิโดยสุจริต เหล่านี้ คนทั่วไปได้รับรู้และถือว่ามีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้เขียนเป็นตัวบทไว้ให้ครบถ้วนในทุกกรณีเท่านั้น ; ตรงนี้แหละครับ ที่ “คุณภาพ” ของนักกฎหมายของเราแตกต่างกับนักกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว

 

ผมเชื่อว่า ใน “การใช้กฎหมาย”ของนักกฎหมายของเราส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน นักกฎหมายของเราไม่ได้คิดถึงพฤติกรรมทางสังคมวิทยาของคนหรือของชุมชน สิ่งเหล่านี้ขาดหายไปจากความคิดของนักกฎหมายของเรา ; นักกฎหมายของเราไม่เคยคิดว่า พฤติกรรมทางสังคมวิทยาของคน เป็นเงื่อนไขของกฎหมาย ; “ผล”ที่เกิดจากการที่นักกฎหมายของเราขาดคุณสมบัติในเรื่องนี้ ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือ ทำให้นักกฎหมายของเราออกแบบและเขียนกฎหมายไม่เป็น ; ผมไม่เข้าใจว่า นักกฎหมายของเราเขียนรัฐธรรมนูญ จนเกิด “ระบบผูกขาดอำนาจในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ “ขึ้นมาได้อย่างไร โดยที่เราเป็นประเทศเดียวในโลกที่เขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้ ไม่มีประเทศไหนเขาเขียนกัน และเราก็เขียนกันมาซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายฉบับ ทั้ง ๆ ที่ผลเสียของระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจก็เห็น ๆ กันอยู่ แต่เราก็ยังคิดว่า นี่คือ “ประชาธิปไตย”

 

Roscoe Pound (รอสโค พาวด์) บอกว่า งานของกฎหมายเป็นงานวิศวกรรมทางสังคม – social engineering และนักกฎหมายเป็น วิศวกรสังคม – social engineer แต่นักกฎหมายของเราโดยทั่วๆไปยังคงเป็นศรีธนญชัย ตีความกฎหมายโดยเล่นถ้อยเล่นคำ โดยไม่มี “จุดหมาย”ของกฎหมายกำกับ ; นักกฎหมายของเราเขียนกฎหมายไม่เป็นและใช้กฎหมายไม่เป็น เพราะนักกฎหมายของเราใม่สนใจนิติปรัชญา 

 

ผู้เขียนเคยเปรียบเทียบไว้ว่า การเรียนวิชา “นิติปรัชญา”เหมือนกับเราเรียนวิชาว่ายน้ำ นักศึกษากฎหมายที่เรียนนิติปรัชญาและสอบได้ร้อยคะแนนเต็ม เพราะเขียนคำตอบได้เหมือนตำรา แต่ไม่ได้หมายความว่านักศึกษากฎหมายนั้นเก่งนิติปรัชญา ; ตำราว่ายน้ำก็เหมือนกัน นักศึกษากฎหมายเขียนคำตอบข้อสอบเหมือนตำราและได้คะแนนเต็ม แต่เมื่อนักศึกษานั้นกระโดดลงน้ำแต่ว่ายน้ำไม่เป็น และนักศึกษาอาจจมน้ำตาย 

 

นิติปรัชญาไม่ได้เรียนเพื่อท่องสอบเอาคะแนน แต่นักกฎหมายเรียนนิติปรัชญาเพื่อทำให้ “วิธีคิด”ทางนิติปรัชญา ให้กลายเป็นคุณสมบัติประจำตัวของนักกฎหมายเอง ; เมื่อนักกฎหมายจะใช้กฎหมาย นักกฎหมายจะต้องดู”จุดหมาย”ของกฎหมายและตรวจดูพฤติกรรมและสภาพทางสังคมวิทยาของคนที่เกี่ยวข้อง และ เมื่อนักกฎหมายทำตัว เอง ให้มีหลักการของนิติปรัชญาแล้วหนหนึ่ง ก็เหมือนกับนักกฎหมายทำตัวเองให้ว่ายน้ำเป็น และเมื่อว่ายน้ำเป็นแล้ว นักกฎหมายก็จะว่ายน้ำเป็นตลอดไป แต่ถ้านักกฎหมายไม่มีนิติปรัชญา นักกฎหมายก็เป็นศรีธนญชัย เพราะนักกฎหมายไม่มีเป้าหมายของกฎหมายในการใช้กฎหมายและในการตีความกฎหมาย และดังนั้น ก็เลยไม่รู้ว่าจะใช้เกณฑ์อะไรมาเป็นเครื่องวัดความถูกต้องและความเป็นธรรม 

 

วิธีคิดทางนิติปรัชญา จึงเป็น “เครื่องวัด”สภาพล้าหลังของนักกฎหมาย และดูเหมือนว่า สภาพของนักกฎหมายทั่วๆไปของเราในปัจจุบัน จะยังคงติดอยู่กับนิติปรัชญาเก่า ๆในทางประวัติศาสตร์ ที่ผ่านพ้นเวลาของการใช้ประโยชน์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี ; ถ้าท่านสนใจในนิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๒๐ ท่านก็อาจไปอ่านได้จากบทความของผมที่อยู่ในเว็บ ซึ่งผมย่อไว้ให้แล้ว รวมทั้งแนวความคิดของนักนิติปรัชญายุคใหม่ ที่สำคัญ ๆ

 

สำหรับนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งนักกฎหมายที่อ้างตัวเองว่าเป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผมจะขอประเมินคุณภาพจาก “ความรู้”ของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยพิจารณาว่านักกฎหมายรัฐธรรมนูญของเรา มีความรอบรู้เกี่ยวกับการวิวัฒนาการของรูปแบบของ “ระบบสถาบันการเมือง หรือ Form of Government ” มากน้อยเพียงใด เพราะถ้านักกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่มีความรอบรู้ในเรื่องนี้แล้ว ก็เป็นอันสรุปเป็นข้อยุติได้ว่า นักกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย ไม่มีความสามารถพอที่จะเขียนหรือออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เราได้ เพราะขาดความรู้พื้นฐาน

 

ดังนั้น ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา ตลอดปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งในสภาร่างรัฐธรรมนูญและนอกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเวลาปีกว่า ผมติดตามประเด็นนี้มาโดยตลอด และ เมื่อไม่ปรากฎว่า มีนักกฎหมายและนักวิชาการคนใด พูดถึงเรื่อง Form of Government แม้แต่คนเดียว ก็เป็นข้อเท็จจริงที่บอกอยู่ในตัวว่า การสอน “กฎหมายมหาชน”ในมหาวิทยาลัยของเราล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั่วโลก ” Form of Government ” จะต้องเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณากันเป็นอันดับแรก เพราะเป็นประเด็นที่จะกำหนดว่า สถาบันการเมืองใดจะใช้อำนาจรัฐอย่างไร มีขอบเขตเพียงใด และมีระบบการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองอย่างไร จะควบคุมและกำกับ “พฤติกรรม”ของบุคคลที่มีใช้อำนาจรัฐได้อย่างไร ฯลฯ ; ถ้านักกฎหมายรัฐธรรมนูญของเราสร้างหรือออกแบบ Form of Government ไม่เป็นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปพูดถึงประเด็นอื่น

 

โดยสรุป ผมเห็นว่า ประเทศเราไม่มี “นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ”ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ เป็น professional มีแต่มือสมัครเล่น และเมื่อสรุปโดยรวมแล้ว สำหรับ Elite ประเภทแรกของเรา คือ “นักกฎหมาย “เท่าที่ประเมินมาแล้ว ผมมีความเห็น ไม่อยู่ในสภาพที่จะทำ”หน้าที่”พัฒนาสังคมให้แก่คนไทย 

 

นักการเมืองนายทุนธุรกิจ

 

Elite กลุ่มที่สอง คือ “นักการเมืองนายทุนธุรกิจ” ซึ่งผมก็จะขอพูดอย่างสั้นๆ ; ขณะนี้ เราแยกพรรคการเมืองออกเป็นสองฝ่าย คือ พรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ทั้งนี้ โดยผมจะไม่ระบุ ” ชื่อ”พรรคการเมืองแต่อย่างใด 

 

ผมขอเรียนว่า จากพฤติกรรมที่แสดงออก ทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ดูเหมือนว่า ทุกพรรคการเมืองต่างต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” ทั้งสิ้น ; ดังนั้น จะแก้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเรื่องใดก็ได้ แต่นักการเมืองของเราขออย่าแก้ “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” ก็แล้วกัน ; ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

 

วันหนึ่งเมื่อ ๓ – ๔ เดือนที่ผ่านมา ผมหยิบหนังสือพิมพ์มาอ่าน พบว่าพรรคฝ่ายค้านแถลงว่า พรรคฝ่ายค้านได้จัดตั้ง “รัฐบาลเงา”ประกบกับรัฐบาล เพื่อจะได้ติดตามการบริหารประเทศของพรรครัฐบาลอย่างใกล้ชิด และหวังว่าในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า พรรคฝ่ายค้านจะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและจะได้เป็นรัฐบาล 

 

เราลองมาพิจารณาดูว่า ทำไมนักการเมืองในพรรคการเมืองต่าง ๆ ของเรา จึงชอบระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ ผมขออธิบายอย่างง่าย ๆว่า

 

“ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” เกิดจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเรา ๓ – ๔ มาตราที่กระจัดกระจายกันอยู่ ถ้าไม่อ่านและไม่พิจารณารวมกันก็จะมองไม่เห็นระบบเผด็จการหรือระบบผูกขาดอำนาจนี้ ; ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญของประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่เขาเขียนไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า ระบอบการปกครองของเขา จะบริหารโดยชนชั้นนำจาก ๓ ประเภท คือ แรงงาน เกษตรกรและนักวิชาการ เท่านั้น ; แต่ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย บทบัญญติมาตราหนึ่ง จะบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง บทบัญญัติอีกมาตราหนึ่ง ให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ สส. ต้องทำตามมติพรรค ยกเว้นเรื่องบางเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และบทบัญญัติอีกมาตราหนึ่ง กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง คือ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น ; หมายความว่า ถ้านายทุนเอาเงินมารวมทุนกันจัดตั้ง “พรรคการเมือง” แล้วออกเงินค่าใช้จ่ายให้พรรคพวก ไปสมัครรับเลือกตั้งในขณะนี้ คือ ในขณะที่สังคมไทยมีความอ่อนแอและอ่อนไหวต่ออิทธิพลการใช้เงิน และเมื่อได้ ส.ส. จำนวนมาก นายทุนเจ้าของทุนของพรรคการเมืองเหล่านี้ก็จะได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาล เพราะเขียนรัฐธรรมนูญจำกัดไว้ให้ตัวเองแล้วว่า คนอื่นที่ไม่ใช่ ส.ส.จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ซึ่งบทบัญญัติจำกัดเช่นนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว ; นอกจากนั้น ยังไม่พอ ถ้าปรากฏว่า ส.ส.ที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากนายทุนธุรกิจเจ้าของพรรคการเมือง ไม่เชื่อฟังหรือหักหลังเจ้าของทุน และพรรคการเมืองมีมติไล่ออกไปจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองแล้ว ก็ยังเขียนรัฐธรรมนูญให้ “การออกจากสมาชิกพรรคการเมือง”นั้น มีผลทำให้ ส.ส.คนนั้นต้องพ้นจากสมาชิกภาพของการเป็น ส.ส. ไปด้วย 

 

ผมขอเรียนว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญของประเทศเสรีประชาธิปไตยใด ที่เขียนรัฐธรรมนูญเหมือนประเทศไทย และ อย่าว่าแต่รัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติทั้ง ๓ มาตรานี้รวมบัญญัติไว้ด้วยกันเลยครับ แม้แต่รัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญํติเพียงมาตราเดียว ไม่ว่าจะเป็นมาตราใดมาตราหนึ่งใน ๓ มาตราดังกล่าว ก็ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศเสรีประชาธิปไตย 

 

แต่ทำไมพรรคการเมืองของเราทุกพรรคจึงชอบระบบนี้อยู่ คำตอบก็คือ ทุกพรรคการเมืองต่างก็มี “นายทุนธุรกิจ” เป็นเจ้าของทุนของพรรค และคาดหวังว่าตนเองจะได้มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นรัฐบาลบ้าง ดีกว่าการเลิกระบบที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และเปิดโอกาสให้ “คนที่ไม่มีเงิน”มาเลือกตั้งแข่งกับพรรคการเมืองของตน

 

มี”ข้อเท็จจริง”ที่น่าศึกษาและน่าวิเคราะห์เกี่ยวกับ “พฤติกรรม”ของ Elite ประเภทนักการเมืองนายทุนธุรกิจอยู่กรณีหนึ่ง ที่นักวิเคราะห์ไม่ควรจะผ่านไป คือ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๓ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคหนึ่งที่คาดหวังว่าตนเองจะได้เป็นรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามที่มีเงินทุนมหาศาลได้เพลี่ยงพล้ำทางการเมืองเพราะถูกรัฐประหาร และดังนั้น เพื่อความแน่นอนในการที่จะได้เป็นรัฐบาล พรรคการเมืองพรรคใหญ่นี้ได้พยายามทำ “ความตกลง” กับพรรคการเมืองในระดับรอง ๆ ที่จะมี ส.ส. ประมาณ ๒๐ – ๔๐เสียง ไว้เป็นการล่วงหน้า ที่จะร่วมกันเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และมาร่วมกันตั้งรัฐบาล ; แต่ปรากฎว่า พรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคนี้ต้องผิดหวังเพราะไม่ได้เป็นรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองในระดับรองนั้น เปลี่ยนใจ และไปร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด

 

สำหรับผม ข้อที่น่าสังเกตในเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็คือ “ความไม่รอบรู้ทางการเมือง” ของนักการเมืองชั้นนำ ของพรรคการเมืองพรรคใหญ่ที่เก่าแก่พรรคนี้ ที่ขาดพื้นฐานของนิติปรัชญาเชิงสังคมวิทยา ในศตวรรษที่ ๒๐ ; “ความไม่รอบรู้ทางการเมือง”นี้ ปรากฎให้เห็นอย่างน้อย ๒ ประการ คือ ประการแรก ผมได้เคยวิเคราะห์ไว้ล่วงหน้าอย่างเปิดเผยว่า ในสภาพสังคมที่อ่อนแอเช่นประเทศไทยและในระบบสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่เป็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา”นี้ เมื่อ “นายทุนระดับชาติ”ร่วมกันลงทุนกันตั้งพรรคการเมืองและเล่นการเมืองแล้ว พรรคการเมืองของนายทุนระดับท้องถิ่นจะไม่มีโอกาสที่จะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นรัฐบาลได้อีกต่อไป และผมให้ความเห็นแนะนำไว้ว่า พรรคการเมืองของนายทุนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองพรรคใหญ่ที่เก่าแก่ ควรริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็น “ประชาธิปไตย” ที่แท้จริง และไม่ควรคาดหวังกับประโยชน์ส่วนตัวของ”นายทุนท้องถิ่น”ของพรรค ที่จะได้รับจาก”ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา” เพราะกฎเกณฑ์ของระบบเผด็จการเช่นนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ “นายทุนระดับชาติ” (ที่มีเงินทุนมากกว่า) มากกว่าตนเอง ; และ ประการที่สอง การขาดความรู้พื้นฐานทางสังคมวิทยาและพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้นักการเมืองชั้นนำของพรรคการเมืองพรรคใหญ่ดังกล่าว มองข้าม “พฤติกรรม”ของนักการเมืองที่เป็น “นายทุน” ของพรรคการเมืองในระดับรองพรรคอื่นที่มี ส.ส.ระหว่าง ๑๐ – ๔๐ คน เพราะตามความเป็นจริง – reality ผลประโยชน์ส่วนตัวทางการเมือง ย่อมมีน้ำหนักมากกว่า “สัญญาหรือความตกลงระหว่างพรรคการเมือง” ซึ่งนักการเมืองชั้นนำในพรรคการเมืองพรรคใหญ่นี้ ควรจะต้องรู้อยู่แล้ว

 

ผมคิดว่า อาจเป็นที่น่าสงสารสำหรับพรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคนี้ ที่แม้จนกระทั่งในขณะนี้ นักการเมืองชั้นนำของพรรคการเมืองพรรคนี้ ก็ยังคาดหวังว่าจะได้ร้บเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าถ้ามีการยุบสภา ซึ่งผมเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะในปัจจุบันนี้ สภาพสังคมไทยอ่อนแอและมีความอ่อนไหวต่อการใช้เงิน ประกอบกับสภาพกลไกการบริหารประเทศที่พิกลพิการ ซึ่งสภาพทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นข้อเท็จจริง – facts ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น พรรคการเมืองของใครมีเงินมาก พรรคการเมืองนั้นก็ได้ สส. มาก สิ่งนี้ เป็นความเป็นจริงทางสังคมวิทยา ; ผมเห็นว่า ความคาดหวังของพรรคการเมืองดังกล่าว คงเป็นเพียง “ความฝัน”

 

นักปรัชญา

 

Elite กลุ่มที่สาม นักวิชาการประเภท “นักปรัชญา – The Philosophes” Elite ประเภทนี้ เป็นประเภทที่หาชื่อเสียงให้ตัวเอง โดยแสดงตนว่า เป็นนักสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน แต่ไม่คิดที่จะหาวิธีแก้ปัญหาให้แก่สังคม

 

ก่อนที่จะมาปาฐกถาที่ศาลปกครองในวันนี้ ผมคิดว่าจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไรดี จึงจะพูดได้ง่าย ๆ และท่านผู้ฟังเกิดความเข้าใจ ผมก็เลยแวะไปที่ร้านหนังสือศึกษาภัณฑ์ที่ถนนราชดำเนิน และชื้อหนังสือมาเล่มหนึ่ง คือ หนังสือเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ ; อันที่จริง ผมต้องขอพูดเสียหน่อยว่า “สามัคคี”กันไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไปนะครับ ความสำคัญอยู่ที่ว่าสามัคคีไปทำอะไร ; เพราะ สามัคคีเป็นเพียง “วิธีการ” ถ้าสามัคคีกันทำความดี ก็ดี แต่ถ้าสามัคคีกันไปปล้น ก็ไม่ดี อยู่ที่ว่าสามัคคีกันไปทำอะไร ;”สมานฉันท์” ก็คงมีนัยเหมือน ๆ กัน 

 

ผมจะเอาหนังสือสามัคคีเภทคำฉันท์ มาจะอ่านเนื้อเรื่องให้ท่านฟัง ดูว่าท่านจะคิดอะไรได้บ้าง 

 

ในหนังสือเขาบอกว่า ในกาลโบราณมีกษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “พระเจ้าอชาตศัตรู”ครอบครองแคว้นมคธ มีกรุงราชคฤห์เป็นเมืองหลวง มีอำมาตย์ที่สนิทคนหนึ่งชื่อวัสสการพราหมณ์ เป็นผู้ที่ฉลาดและมีความรอบรู้ศิลปศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ; พระเจ้าอชาตศัตรูประสงค์จะไปปราบแคว้นวัชชี ซึ่งมีกษัตริย์ลิจฉวีปกครองอยู่ โดยแคว้นวัชชีเป็นสหพันธรัฐ มีกษัตริย์ผลัดเปลี่ยนกันปกครอง ๑๒ พระองค์ ทุกพระองค์ล้วนอยู่ในธรรมะที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อปริหานิยธรรม คือเป็นธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเจริญ ดังนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจึงปรึกษากับวัสสการพราหมณ์ว่า จะทำอย่างไร จึงจะทำลายความพร้อมเพรียงของกษัตริย์ลิจฉวีได้ 

 

เมื่อปรึกษากันเรียบร้อยแล้ว วันหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรูก็เสด็จออกว่าราชการ แล้วมีดำรัสเป็นเชิงหารือกับพวกอำมาตย์ว่า จะยกกองทัพไปรบกับแคว้นวัชชี และมีเพียงคนเดียวที่ค้านพระเจ้าอชาติศัตรู คือ วัสสการพราหมณ์ ที่กราบทูลทักท้วงว่า ให้ทรงยับยั้งรอไว้ก่อนเพื่อเห็นแก่มิตรภาพ และทำนายว่า ถ้ารบก็จะพ่ายแพ้ ; พระเจ้าอชาตศัตรูทรงฟังแล้วแสดงอาการพิโรธถือว่า หมิ่นพระเดชานุภาพ ให้นำตัววัสสการพราหมณ์ไปลงโทษตามคำพิพากษาตามบทพระอัยการ คือ เฆี่ยน โกนผม ประจาน และขับไล่ออกจากราชอาณาเขต

 

วัสสการพราหมณ์ ยอมทนรับราชอาญาด้วยทุกขเวทนาแสนสาหัสถึงแก่สลบ และเมื่อถูกเนรเทศจากแคว้นมคธ ก็ไปเมืองเวสาลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี แล้วก็ไปผูกมิตรไมตรีกับชาวเมือง ข่าวนี้ทราบไปถึงกษัตริย์ลิจฉวี จึงได้ตีกลองสำคัญขึ้น เชิญกษัตริย์ทั้งหลายมาชุมนุมปรึกษาราชการ กษัตริย์ลิจฉวีประชุมกันแล้วตกลงกันเห็นควรให้พราหมณ์ผู้นี้เข้ามาเพื่อจะได้เห็นท่าทางและฟังความดูก่อน ; ภายหลังที่วัสสการ พราหมณ์ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ลิจฉวีกราบทูลข้อความ ประกอบกับมีรอยฟกช้ำจากการถูกโบยให้เห็น กษัตริย์ลิจฉวีทุกพระองค์ต่างก็หมดความสงสัย และแต่งตั้งให้วัสสการ พราหมณ์ เป็นครูสอนศิลปวิทยาแก่บรรดาราชกุมาร และให้มีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาชี้ขาดอรรถคดีอีกตำแหน่งหนึ่ง 

 

วัสสการพราหมณ์ก็เอาใจใส่ราชการเป็นอย่างดี จนกษัตริย์ลิจฉวีให้ความไว้วางใจหมดความสงสัย วัสสการพราหมณ์จึงยั่วยุราชกุมารทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ให้แตกร้าวกัน และวัสสการพราหมณ์ก็คอยส่งเสริมเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทให้บังเกิดขึ้นในหมู่ราชกุมารอยู่เนืองนิตย์ จนกระทั่งที่สุดราชกุมารก็แตกความสามัคคีกัน และเมื่อทะเลาะวิวาทกันแล้วก็นำความไปทูลพระชนกคือบิดาของตน ความแตกร้าวก็ลามไปถึงบรรดากษัตริย์ที่เชื่อถ้อยคำโอรสของตนโดยปราศจากการไตร่ตรอง ; วัสสการพราหมณ์ ใช้เวลา ๓ ปี สามัคคีธรรมในระหว่างพวกกษัตริย์ลิจฉวีก็ถูกทำลายลง

 

วัสสการพรามณ์จึงให้คนลอบไปทูลพระเจ้าอชาตศัตรู และพระเจ้าอชาตศัตรูก็กรีฑาทัพเข้าเมืองเวสาลี ; ชาวเมืองเวสาลีตกใจกลัว มุขมนตรีตีกลองสำคัญขึ้นเป็นอาณัติสัญญาณให้ยกทัพมาต่อสู้ แต่กษัตริย์ลิจฉวีก็หาเข้าที่ประชุมไม่ ทุกพระองค์ต่างเพิกเฉยแม้แต่ประตูเมืองทุกทิศก็ไม่มีใครสั่งให้ปิด พระเจ้าอชาติศัตรูยึดแคว้นวัชชีได้โดยง่าย ไม่ต้องเปลืองรี้พลในการรบ

 

เรื่องนี้คืออะไร บอกอะไรแก่เรา ; ผมขอให้ท่านสังเกตเรื่องนี้ว่า แม้แต่”ความรักลูก”ก็เป็นอาวุธได้ และ”ความรักลูก” คือพฤติกรรม ; ดังนั้น พฤติกรรมของคนทางสังคมวิทยา ก็ถูกใช้เป็นอาวุธได้ 

 

ทำไมประเทศมหาอำนาจจึงบอกให้เราเลือกตั้งและให้เอกชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ แต่เขาไม่เคยบอกเราว่า ก่อนที่จะเลือกตั้ง ต้องทำ “ระบบการบริหารประเทศ”ให้ดีเสียก่อน และเขาไม่เคยบอกเราว่า การมีสิทธิเสรีถาพของเอกชน จะต้องมีเงื่อนไขอย่างไรเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และต้องทำอย่างไร ; ดังนั้น การที่ประเทศมหาอำนาจบอกว่า ให้คนของเรามีสิทธิเสรีภาพ และให้มีการเลือกตั้งเพื่อความเป็นประชาธิปไตย หมายถึงอะไร 

 

“แนวความคิด”นี้ ถูกส่งเข้ามาในประเทศที่ด้อยพัฒนาเช่นประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยเต็มไปด้วย Elite ของเราที่มีความคิดในระดับกษัตริย์ลิจฉวีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือนักวิชาการ ; ในโลกปัจจุบันนี้ “วัสสการพราหมณ์” ไม่จำเป็นต้องส่งมาเป็นตัวคน ไว้ผมยาวและแต่งตัวเป็นพราหมณ์ แต่ “วัสสการพราหมณ์”เป็นแนวความคิดที่ส่งเข้ามาในประเทศ โดยทางหนึ่งทางใดก็ได้ และในประเทศด้อยพัฒนา ย่อมจะมี Elite ที่มี “ความไม่ฉลาด” หรือมี”ความอยากมีชื่อเสียงของตนเอง” ที่เป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ อยู่ทั่วไป

 

ดังนั้น ผมเห็นว่า ถ้าประเทศใด มีนักวิชาการจำพวก the Philosophes คือ นักวิชาการประเภทที่สนใจจะหาชื่อเสียงด้วยการทำตนให้เป็นที่รุ้จักในฐานะนักสิทธิเสรีภาพ โดยไม่สนใจที่จะรู้ว่า สังคมจะแก้ปัญหาอย่างไร และจะทำอย่างไรจึงจะประสานประโยชน์ ระหว่าง “ประโยชนส่วนตัวของปัจเจกชน” กับ “ประโยชน์ของส่วนรวม”ได้ ; นักวิชาการจำพวกนี้จะทำให้ “คนส่วนใหญ่ของประเทศ” กลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัวและคิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ; ประเทศใด มี Elite ที่เป็นนักวิชาการ ประเภท the Philosophes จำนวนมาก ประเทศนั้นก็อาจจะเสียเมืองได้ เพราะใครจะไปนึกว่า “ความรักลูก”ก็เป็นอาวุธได้ ใช่ไหมครับ 

 

ท่านคิดว่า ในปัจจุบันนี้ สภาพทางสังคมวิทยาของสังคมไทยเป็นอย่างไร และในประเทศไทย เรามีนักวิชาการจำพวก the Philosophes มากหรือไม่มาก (?)

 

ผมได้ประเมิน Elite ที่เป็นพื้นฐานของสังคมไทย มาครบทั้ง ๓ ประเภทแล้วนะครับ และอนาคตของประเทศไทย ก็ขึ้นอยู่กับ Elite ทั้ง ๓ ประเภทนี่แหละครับ ; ถ้าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยข้างหน้า ก็กรุณาอย่าไปโทษพลเมืองของประเทศไทยทั้ง ๖๓ ล้านคนเศษ เพราะเขาต้องทำมาหากิน แต่ความรับผิดชอบจะอยู่ที่ Elite ของสังคม ของเรานี่เอง

 

อนาคตอันมืดมนของประเทศ

 

มาถึง ตอนที่สาม ที่เป็น “สาระ”ตอนสุดท้ายที่ผมจะพูดในวันนี้ ก็คือ อนาคตอันมืดมนของประเทศ ; ผมมีความเห็นว่า ถ้า Elite ของเรายังมีสภาพเช่นนี้ คือ “ความรู้” ก็มีไม่พอ และยังมีพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัวอีกด้วย ประเทศไทยคงเป็นประเทศที่ไม่มีอนาคต

 

ในตอนสรุปนี่ ผมจะขอยกประเด็น ๒ ประเด็นมาพูดอย่างสั้น ๆ ประเด็นที่ ๑ ก็คือ Elite ของเราในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างไร และประเด็นที่ ๒ คือ สภาพกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย

 

ในประเด็นที่ ๑ ผมมีเจตนาที่จะตรวจสอบดูว่า ชนชั้นนำในอดีตของเราในสมัยรัชกาลที่ ๕ ของเรา มีสภาพทางวิชาการอย่างไร และเมื่อผ่านมาแล้วประมาณ ๑๕๐ ปี สภาพทางวิชาการของชนชั้นนำของเราในปัจจุบัน เป็นอย่างไร โดยผมคงจะไม่เทียบ สภาพวิชาการของเราเองในระหว่างสองเวลาที่ต่างกัน เพราะเป็นที่แน่นอนว่า ถ้าเทียบอย่างนั้น นักวิชาการของเราในปัจจุบันคงจะมีความรู้มากกว่านักวิชาการในสมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างแน่นอน เนื่องจากนักวิชาการของเราในปัจจุบันไปเรียนต่างประเทศมากกว่า มีหนังสือตำราอ่านมากกว่า มีวิธีการที่จะหาความรู้ได้มากกว่า แต่ผมจะเทียบมาตรฐานวิชาการของนักวิชาการของเรากับต่างประเทศในระยะเดียวกัน เพื่อดู “ความห่าง”ระหว่างมาตรฐานความรู้ของประเทศที่พัฒนาแล้ว กับมาตรฐานความรู้ของนักวิชาการของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักกฎหมาย” ว่า ช่องห่างระหว่างมาตรฐานความรู้ดังกล่าวนี้ของนักวิชาการในสมัยรัชกาลที ๕ กับ นักวิชาการในพ.ศ. ๒๕๕๑ ที่เป็นเวลาต่างกัน ๑๕๐ ปีนี้ จะห่างกว้างมากขึ้นหรือลดลง

 

เราทราบแล้วว่า ในปลายศตวรรษที่ ๑๘ ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นมี “ปัญหา”ในยุคที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกมีนโยบายตามลัทธิขยายอาณานิคม มาคล้าย ๆ กัน และประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกที่สามารถรักษาเอกราชไว้ได้ในยุคนั้น ก็มีเพียง ๒ ประเทศเท่านั้น คือประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ; ในวันนี้ ผมจะขอนำ “ผลสำเร็จ”ของการแก้ปัญหาของประเทศญี่ปุ่นกับของประเทศไทย มาเปรียบเทียบให้ท่านดูความแตกต่างอย่างสั้น ๆ และแน่นอนครับ ความแตกต่างของผลสำเร็จนั้น เกิดจาก “ความรู้”และ”พฤติกรรม”ของ Elite ของประเทศ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “คุณภาพ”ของ Elite นั่นเอง 

 

สมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นตรงกับสมัยจักรพรรดิญี่ปุ่น พระเจ้ามัตสุฮิโต – Mutsuhito ซึ่งเวลาการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์เกือบจะตรงกัน คือ ห่างกันเพียง ๑ ปี และระยะเวลาหรือความยาวในการครองราชย์ก็ใกล้เคียงกัน คือ รัชกาลที่ ๕ ของเราครองราชย์อยู่ ๔๒ ปี พระเจ้ามัตสุฮิโตครองราชย์ ๔๔ ปี ; รัชกาลที่ ๕ ของเราขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา จักรพรรดิญี่ปุ่นขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา เกือบเหมือนกันเช่นเดียวกัน โดยรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ ของเรา จาก ค.ศ.๑๘๖๙ ถึง ๑๙๑๑ และรัชสมัยของจักรพรรดิญี่ปุ่น จาก ค.ศ. ๑๘๖๘ ถึง ๑๙๑๒ ; ต่อไปนี้ เราลองมาดูว่า “ผลงาน” ในรัชสมัยของกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่สองพระองค์ว่าเป็นอย่างไร 

 

แต่ก่อนอื่น อย่าลืมนะครับว่า ในคุณสมบัติส่วนพระองค์แล้ว จักรพรรดิของญี่ปุ่นแล้ว มีข้อเสียเปรียบอย่างมากเมื่อเทียบกับรัชกาลที่ ๕ ของเรา ; รัชกาลที่ ๕ ของเราเรียนรู้ภาษาอังกฤษและการบริหารราชการแผ่นดินมาก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ อันเนื่องมาจาก รัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นพระราชบิดาได้ทรงติดต่อกับต่างประเทศ และทรงรู้ปัญหาของประเทศไทยในระยะนั้นเป็นอย่างดี ; ตามความเห็นส่วนตัวของผม รัชกาลที่ ๔ พระองค์ท่านทรงเป็น “มหาราช” รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ของพระองค์ท่านให้แก่พระราชโอรสพระราชธิดา ฯลฯ แต่ตามประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของญี่ปุ่น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเหล่านี้ ; แต่ “อะไร”ล่ะครับ ที่ทำให้ผลงานการบริหารประเทศในช่วงรัชสมัยของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้ ต่างกันอย่างมากมาย 

 

โปรดดู “ผลงาน”ของญี่ปุ่นในรัชสมัยของพระเจ้ามัตสุฮิโต เทียบกับรัชสมัยของรัชกาล ที่ ๕ ของเรา นะครับ โดยผมจะเทียบไว้ ๓ หัวข้อ คือ การเลิกซามูไรกับการเลิกทาส การพระราชทานรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน

 

พระเจ้ามัตสุฮิโตเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ได้เรียกรัชสมัยของพระองค์ท่านว่า เป็นสมัยเมจิ – enlightened rule แปลว่า “รัชสมัยแห่งความรุ่งโรจน์” หรือ “รัชสมัยแห่งปัญญา”

 

การเลิกซามูไรของญี่ปุ่น เทียบกับการเลิกทาสของประเทศไทย กษัตริย์เมจิของญี่ปุ่นใช้เวลา ๙ ปีในการเลิกซามูไร โดยซามูไรเป็นประเพณีของญี่ปุ่นมานานประมาณ ๒๕๐ ปี แต่การเลิกทาสของประเทศไทย ใช้เวลา ๓๐ ปี 

 

ผมคิดว่า เมื่อไม่นานมานี้ หลายท่านคงจะดูภาพยนตร์เรื่อง The Last Samurai มาแล้ว ภาพยนตร์ดังกล่าว เป็นเรื่องราวหลังจากที่ซามูไรในแคว้นต่าง ๆ ร่วมกันปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นแล้ว แต่มีซามูไรในแคว้นหนึ่งที่ไม่ยอมเลิกระบบซามูไรและสิทธิพิเศษของซามูไร โดยเห็นว่า ซามูไรเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ควรรักษาไว้ แต่ถูกซามูไรกลุ่มอื่นที่เห็นว่าถ้าญี่ปุ่นจะปฏิรูปประเทศ ก็ต้องทำให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด อะไรที่เป็นอุปสรรคของการปฏิรูปประเทศ ก็ควรยกเลิกให้หมด ; ภาพยนตร์ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องราวของทหารรัฐบาลญี่ปุ่นยกกำลังไปปราบกลุ่มซามูไรที่ไม่ยอมทำตามกฎหมายที่ออกมายกเลิกระบบซามูไร ทั้งที่ซามูไรที่เป็นกบฎนั้น ยังมีความจงรักภักดีกับจักรพรรดิ แต่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายยกเลิกซามูไร 

 

การพระราชทานรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น เทียบกับของไทย ต่อมาอีก ๑๔ ปีนับตั้งแต่ครองราชย์ย์ คือ ในปี ค.ศ. ๑๘๘๑ จักรพรรดิเมจิประกาศว่า จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ as a gift เป็นของขวัญแก่ประชาชน และญี่ปุ่นใช้เวลายกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ๘ ปี ญี่ปุนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ในปี ค.ศ. ๑๘๘๙ กล่าวคือ นับเวลารวมทั้งหมด ตั้งแต่จักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. ๑๘๖๘ จนถึงเวลาที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ญี่ปุ่นใช้เวลา ๒๓ ปี 

 

สำหรับประเทศไทย รัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ ในปี ค.ศ. ๑๘๖๙ จนถึงเวลาที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ ฉบับแรกในปีพศ. ๒๔๗๕ หรือ ค.ศ.๑๙๓๒ ประเทศไทยใช้เวลา ๖๓ปี ต่างกันถึง ๔๐ ปี ; ปัญหาที่นักกฎหมายหรือนักประศาสตร์ของเรา จะต้อง “คิด”และศึกษา ก็คือ เพราะเหตุใด

 

การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของญี่ปุ่น เทียบกับของไทย ผมคงจะไม่พูดในรายละเอียดว่า ประเทศญี่ปุ่นในสมัยรัชกาลจักรพรรดิเมจิทำอะไรบ้างและทำอย่างไร และประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทำอะไรบ้างและทำอย่างไร ; ผมคิดว่าเราลองมาดู “ผลสำเร็จ”ที่เกิดขึ้นจริงจากการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นหลักฐานที่เห็นได้จริงและพิศูจน์ได้ และถ้าเราคนไทยมี “เวลา”ว่างพอที่จะย้อนกลับไปพิจารณาถึง “สาเหตุ”ของความแตกต่างกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เราคนไทยก็จะพบสิ่งที่เราควรจะรู้ แต่ไม่รู้อีกมาก 

 

ในปี ค.ศ. ๑๘๗๖ อันเป็นปีที่ ๘ หลังจากจักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. ๑๘๖๘ ญี่ปุ่นสามารถสร้างกองทัพเรือที่สามารถไปปิดเมืองท่าของประเทศเกาหลี ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของจีน ให้เปิดทำการค้ากับตน ; เหมือนกับที่นายพลเรือเพอร์รี่ของสหรัฐอเมริกาทำกับตนเอง เมื่อ ค.ศ. ๑๘๕๓ ห่างกันเพียง ๒๓ ปี

 

ในปี ค.ศ. ๑๘๙๔ อันเป็นปีที่ ๒๖ หลังจากจักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์ ญี่ปุ่นทำสงครามกับประเทศจีน เพื่อขยายดินแดนครอบคลุมเกาหลี ประเทศญี่ปุ่นชนะจีนภายในเวลา ๙ เดือน ซึ่งเป็นที่ประหลาดใจของประเทศมหาอำนาจตะวันตกเป็นอย่างมาก และจีนจำต้องสละอิทธิพลเหนือประเทศเกาหลี และยกเกาะไต้หวันให้ประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งการชดใช้เงินเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม

 

ในปี ค.ศ. ๑๘๙๙ อันเป็นปีที่ ๓๑ หลังจากจักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์ ประเทศญี่ปุ่นปลดสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขต – extraterritoriality กับประเทศมหาอำนาจทั้งหมด

 

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ -๑๙๐๕ อันเป็นปีที่ ๓๖ – ๓๗ หลังจากจักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์ ญี่ปุ่นทำสงครามกับประเทศรัสเซีย และรบชนะรัสเซีย โดยทำลายกองทัพเรือของรัสเซียทั้งกองทัพ นายพลเรือของรัสเซีย ๓คนถูกจับและทหารเรือรัสเซียถูกจับเป็นเชลยกว่า ๗๐๐๐คน และเสียชีวิตกว่า ๔๐๐๐คน และประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาต้องเข้ามาเป็นคนกลางในการเจรจาสงบศึก 

 

ในปี ค.ศ. ๑๙๑๒ อันเป็นปีที่ ๔๔ หรือปิสุดท้ายของจักรพรรดิเมจิ หรือพระเจ้ามัตสุฮิโตสิ้นพระชนม์ ประเทศญี่ปุ่นได้รับการยอมรับว่าเป็น “ประเทศมหาอำนาจ” เท่าเทียมกันสหรัฐอเมริกาและประเทศมหาอำนาจตะวันตก และอาณาเขตของประเทศญี่ปุ่นทางไต้จะลงมาถึงเกาะไต้หวัน และทางตะวันตกครอบคลุมประเทศเกาหลี

 

สำหรับประเทศไทย ผมคงไม่สรุป เพราะท่านในฐานะที่เป็นคนไทยคงทราบดีอยู่แล้วว่า ผลสำเร็จของประเทศไทยในสมัยรัชการที่ ๕ เป็นอย่างไร และในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ อันเป็นปีที่ ๔๒ หรือปีสุดท้ายของรัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยเราเป็นอย่างไร

 

ต่อไปนี้ ผมคิดว่า เราลองมาทบทวนเหตุการณ์บางเหตุการณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับวงการกฎหมาย เพื่อดู “เหตุผล”ว่า เพราะเหตุใด ประเทศไทยจึงพัฒนาได้ช้ากว่าประเทศญี่ปุ่นมาก

 

รัชกาลที่ ๕ พระองค์ท่านเสด็จสวรรคต ในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยมีพระชนมายุ ๕๗ พรรษา แต่ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคต ๓ เดือน พระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสปรารภกับราชอำมาตย์ว่า อีก ๓ ปีเมื่อพระองค์ท่านมีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา พระองค์ท่านจะสละราชสมบัติและจะให้รัชกาลที่ ๖ พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนคนไทย แต่บังเอิญพระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ก่อน คนไทยก็เลยไม่ได้รัฐธรรมนูญ และต้องรอมาจนถึงรัชกาลที่ ๗ และเรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรก ใน ปีพ.ศ. ๒๔๗๕ หรือ ค.ศ. ๑๙๓๒

 

ผมได้เรียนให้ท่านแล้วว่า คุณสมบัติส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ ๕ นั้น ทรงมีคุณสมบัติที่ได้เปรียบกว่าจักรพรรดิญี่ปุ่นอยู่หลายประการ แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ที่ประเทศญี่ปุ่นมีแต่ประเทศไทยไม่มี ก็คือ “คุณภาพและความรู้ ของ Elite” 

 

ท่านลองดูประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นดังต่อไปนี้นะครับ ในปี ค.ศ. ๑๘๕๓ ขณะที่นายพลเรือเพอร์รี่ นำกองเรือรบอเมริกันเข้ามาข่มขู่ประเทศญี่ปุ่นให้เปิดประเทศในทางการค้านั้น ญี่ปุ่นอยู่ในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิโคเมอิ พระราชบิดาของจักรพรรดิมัตสุฮิโต และในระยะนั้น ญี่ปุ่นอยู่ในระบบโชกุน ซึ่งโชกุนจะผู้ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิทั้งหมด ซึ่งผมขอแปลระบบโชกุนว่า เป็นระบบผู้สำเร็จราชการผู้มีอำนาจเต็ม plenipotentiary regent 

 

ในขณะที่นายพลเรือเพอร์รี่เข้ามา โชกุนที่ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิ์ได้แก่ โชกุน ตระกูลโตกุกาว่า และดังนั้น การทำสัญญาระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น ก็คือ การทำสัญญาระหว่างนายพลเพอรี่กับโชกุนนั้นเอง ; ตระกูลโตกุกาว่านี้ มีอำนาจครองตำแหน่งเป็นโชกุนต่อเนื่องกันมา ๒๕๐ ปีแล้ว ; ในระบบโชกุนของญี่ปุ่น ก็จะมีหัวหน้ารองลงไปในภูมิภาค เรียกว่า “ไดเมียว” โดยไดเมียวส่วนใหญ่จะอยู่ไต้อาณัติของโชกุน แต่ไดเมียวบางคนก็วางตัวเป็นอิสระ ; ไดเมียวคนสำคัญ ๔ – ๕ ไม่พอใจและไม่เห็นด้วยที่โชกุนโตกุกาว่า เจรจาทำสัญญากับสหรัฐอเมริกา และไม่แน่ใจว่าโชกุนทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของประเทศญี่ปุ่น 

 

พวกไดเมียว ๔ – ๕ นี้ จึงพร้อมใจกันปลดโชกุนโตกุกาวาและปฏิวัติยกเลิกระบบโชกุน เอาอำนาจคืนให้จักรพรรดิ ซึ่งพอดีกับจักรพรรดโคเมอิเสด็จสวรรคต พระเจ้ามัตสุฮิโตพระราชโอรส จึงเป็นจักรพรรดิแทนเมื่อมีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา

 

ความแตกต่างของ “การปฏิรูปประเทศ”ของประเทศญี่ปุ่น กับของประเทศไทยอยู่ตรงนี้ครับ ประการแรก ก็คือ การปฏิรูปประเทศของประเทศญี่ปุ่นเป็นเจตจำนงร่วมกันขององค์พระจักรพรรดิกับบรรดา Elite ของสังคม ; โดยบรรดาไดเมียวที่มองเห็น “ปัญหาของประเทศ” ในภาวะที่ต้องเผชิญกับพลังอำนาจของประเทศมหาอำนาจ และพร้อมใจกันยกฐานะและมอบอำนาจให้องค์จักรพรรดิเมจิ เป็นศูนย์รวมของการปฏิรูปประเทศ ; ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทย การปฏิรูปประเทศของประเทศไทยมาจากพระราชอัจฉริยะของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว และ Elite ของสังคมไทยไม่มีเจตจำนงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่จะปฏิรูปประเทศ 

 

ประการที่สอง ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าเหตุประการแรก ก็คือ Elite ของสังคมญี่ปุ่น มีความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กล่าวคือ หลังจากที่กลุ่มไดเมียวได้ร่วมใจกันให้จักรพรรดิเป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจแล้ว บรรดาไดเมียวทั้งหลายได้พร้อมใจตกกันลงถวายที่ดิน สิทธิ และรายชื่อทะเบียนประชาชนที่เคยเป็นของตน คืนให้จักรพรรดิ์ทั้งหมด ซึ่งได้ทำเสร็จสิ้นภายใน ๒ ปี นับแต่การสถาปนาองค์จักรพรรดิ ; นี่คือ ความแตกต่างประการสอง คือ “คุณภาพ”ของ Elite ของญี่ปุ่นนี้ ดูเหมือนว่า จะไม่มีใน Elite ของสังคมไทยในปัจจุบัน

 

และประการที่สาม Elite ของญี่ปุ่นซึ่งไม่มี “ความรู้”ในระยะนั้น ได้รู้จักตนเองว่าไม่มีความรู้ และตั้งใจจะแสวงหาความรู้และเทคโนโลยี่จากประเทศมหาอำนาจตะวันตก อย่างมีระบบและไม่ชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน ; ญี่ปุ่นส่งคณะออกไปศึกษาดูงาน และจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาทำงานในด้านต่างๆ อย่างมีแผนงาน ; จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ เขียนไว้ว่า แผนการพัฒนาประเทศเพื่อตามให้ทันประเทศมหาอำนาจในด้านต่าง ๆ รวมกันเป็นเอกสาร ถึง ๕ เล่มใหญ่

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาระบบสถาบันการเมืองและการปฎิรูประบบบริหารราชการ ปรากฎว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่ง คณะ Elite รุ่นใหม่ที่รับผิดชอบการบริหารประเทศ ออกไปศึกษารูปแบบของการจัดระบบสถาบันการเมืองและการจัดหน่วยงานการบริหารราชการของรัฐ ในประเทศมหาอำนาจอย่างละเอียด โดยเดินทางไปทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆยุโรป รวม ๑๒ ประเทศ และใช้เวลาของการเดินทางไปศึกษาในเที่ยวนั้น เกือบ ๓ ปี

 

จากเอกสารที่ผมได้อ่านๆ มา ผมเองก็รู้สึกแปลกใจว่า Elite ของญี่ปุ่นเป็นชาติที่ขวนขวายหาความรู้และมีวิธีคิดในการทำงานอย่างคาดไม่ถึง ทั้งที่เป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว ตัวอย่างเช่น Dicey ศาสตราจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีชื่อเสียงของอังกฤษที่ตำรารัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบันอ้างอิงกันอยู่ในปัจจุบัน และคนไทยรู้จัก Dicey บ้าง ไม่รู้จักบ้าง แต่ปรากฎว่า คณะทำงานที่ญึ่ปุ่นส่งไปศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญนี้ได้ไปพบตัวจริงและไปสัมภาษณ์ Dicey ด้วยตัวเอง 

 

สิ่งที่ผมแปลกใจอย่างยิ่ง ก็คือ สิ่งที่ผมนำมาเขียนไว้ในบทความของผมที่กำลังเขียนลง web อยู่ในขณะนี้ ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ และยังเขียนไม่จบ ว่า การพัฒนาประเทศของประเทศในยุโรปทั้งหมดในระยะต้นของ constitutionalismนั้น ไม่ว่าจะเป็นเยอรมันนี สวีเดน ฮอลแลนด์ ต่างก็ใช้รัฐธรรมนูญ ที่มี “รูปแบบ”ที่กำหนดให้ อำนาจบริหารเป็นของกษัตริย์และกษัตริย์ทรงใช้อำนาจนี้ด้วยพระองค์เอง และให้อำนาจนิติบัญญัติ เป็นของสภาผู้แทนที่เลือกตั้งมาโดยประชาชน และผมได้วิจารณ์ไว้ว่า รูปแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้ ไม่มีสอนอยู่ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทยแม้เต่เล่มเดียว ซึ่งทำให้นักศึกษากฎหมาย(ไทย)ในมหาวิทยาลัยของไทยไม่มีประสบการณ์และไม่มีความรู้เกี่ยวกับ “วิวัฒนาการของรูปแบบระบบสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญ” และดังนั้น นักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยของเรา จึงขาด”พื้นฐานความรู้” สำหรับการคิดปรับเปลี่ยน – rationalize รูปแบบของรัฐธรรมนูญ หรือ form of government เมื่อประเทศไทยมีปัญหา

 

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญรูปแบบนี้ มีปรากฎอยู่ในแผนปฏิรูปการเมืองของญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๘๙ แล้ว กล่าวคือ Elite ของญี่ปุ่นศึกษาและนำ “รูปแบบ”รัฐธรรมนูญของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆมาเปรียบเทียบกัน มานานกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ในขณะที่เขาทำการปฏิรูปประเทศและจะเขียนรัฐธรรมนูญ ; ซึ่งผิดกับนักกฎหมายและนักวิชาการของคนไทย เพราะในปัจจุบันนี้ ปี ค.ศ. ๒๐๐๘ นักศึกษากฎหมายของไทยยังไม่รู้เลยว่า ในโลกนี้ เคยมีรูปแบบของรัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ “อำนาจบริหาร”ได้โดยตรง เพราะ อาจารย์ของเราไม่เคยสอน และตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของเราไม่ได้กล่าวถึง 

 

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นฉบับแรก ค.ศ. ๑๘๘๙ ไม่ได้เขียนขึ้นตามแนวทางรัฐธรรมนูญของอังกฤษ ตามที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ ; ในคราวนั้น คณะทำงานของญี่ปุ่นได้เดินทางออกไปพบศาสตราจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญในหลายประเทศ รวมทั้งศาสตราจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญของเยอรมันนี ซึ่งในขณะนั้น คือประเทศปรัสเซีย และเท่าที่จำได้ ดูเหมือนว่าคณะทำงานของประเทศญี่ปุ่นได้พบกับ บิสมาร์ค ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศปรัสเซียในขณะนั้นด้วย 

 

ท่านทราบหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศญี่ปุ่นได้เขียนตามแนวทางรัฐธรรมนูญของประเทศปรัสเซีย โดยไม่ใด้ใช้ตามแนวทางรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษที่นักวิชาการไทยอ้างและสอนกันมาอย่างผิด ๆ ; รัฐธรรมนูญของปรัสเซีย ใช้ “รูปแบบ”ของรัฐธรรมนูญที่ผมกล่าวมาแล้ว คือ กษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารได้โดยตรงแม้ว่าจะต้องมีการรับสนองพระบรมราชโองการโดยรัฐมนตรีที่กษัตริย์ทรงแต่งตั้งเองก็ตาม 

 

การที่ Elite ของญี่ปุ่นในขณะนั้น เลือกใช้รัฐธรรมนูญรูปแบบดังกล่าวนี้ก็ไม่ผิดพลาด เพราะเป็นรูปแบบรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์และ Eliteของญี่ปุ่น ร่วมกันคิดร่วมกันทำงาน ภายไต้บารมีของสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปได้ และประเทศญี่ปุ่นก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ; ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทยเรา นักกฎหมายและนักวิชาการเรา รู้จักแต่รูปแบบรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษที่สอนต่อ ๆ กันมา และไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า รัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษมีวิวัฒนาการมาอย่างไร และใช้เวลาในการวิวัฒนาการมานานแค่ไหน 

 

ผมเข้าใจว่า เมื่อผมเขียนบทความเรื่อง constitutionalism เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ หรือ ค.ศ. ๑๙๙๔ คือ เมื่อ ๑๔ ปีที่แล้ว ผมได้นำ “รูปแบบ”ของรัฐธรรมนูญที่มีระบบสถาบันการเมือง หรือ form of government ต่าง ๆ มาเรียงลำดับไว้ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ และในจำนวนนั้น ผมได้นำรูปแบบของ ระบบรัฐสภา – parliamentary system ที่กษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้ “อำนาจบริหาร”โดยตรงมาเขียนไว้ด้วย ; และผมเชื่อว่า บทความของผมเป็นเอกสารฉบับแรกของประเทศไทยที่กล่าวถึงรัฐธรรมนูญรูปแบบนี้ เพราะก่อนหน้านั้น ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา จะสอนเพียงว่า อำนาจอธิปไตยแยกเป็น ๓ อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการทางศาล 

 

ขอให้ท่านลองทบทวนความจำของท่านดูก็ได้ว่า ข้อความของหนังสือตำรารัฐธรรมนูญของเราที่ผมกล่าวมาข้างต้นนี้ ยังก้องอยู่ในความคิดของท่านแม้ในขณะนี้ หรือไม่

 

Elite ของญี่ปุ่น เขารู้เรื่องรูปแบบของรัฐธรรมนูญ – form of government ต่าง ๆ ตามกฎหมายเปรียบเทียบ มาก่อน Elite ของเรากว่า ๑๐๐ ปี แล้วเขาเลือกรูปแบบระบบสถาบันการเมืองที่จะทำให้เขาพัฒนาประเทศได้โดยเร็วที่สุด ; จริงอยู่ในขณะนี้ อาจจะเป็นการช้าเกินไป ที่จะนำรูปแบบหรือระบบเดิม ๆ ของรัฐธรรมนูญมาใช้ เพราะในเวลากว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาสภาพสังคมและสภาพการเมืองระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ; แต่ที่ผมนำมาพูดในที่นี้ ก็เพื่อเป็น”ตัวอย่าง”ว่า ก่อนที่เราจะทำอะไร เราต้องหา”ความรู้”ก่อน ; และก็เป็นที่น่าเสียใจ ที่จะต้องเรียนให้ท่านทราบว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเราใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือ ค.ศ. ๒๐๐๗ ซึ่งห่างจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ. ๑๘๘๙ เป็นเวลานานถึง ๑๑๘ ปี แต่เรายังไม่มี “นักกฎหมาย”และ”นักวิชาการ”ของประเทศไทยแม้เต่คนเดียว ที่พูดเอ่ยถึง ประเด็นเรื่อง form of government ในการร่างรัฐธรรมนูญ ; และ นี่คือ “คุณภาพ” ของ Elite ประเภทนักกฎหมายและนักวิชาการ ของสังคมไทยในปัจจุบัน ค.ศ. ๒๐๐๘

 

“ความห่าง”ระหว่างมาตรฐานความรู้ของประเทศที่พัฒนาแล้วกับมาตรฐานความรู้ของ'”นักกฎหมาย” และ “นักวิชาการ” ของเราในปัจจุบัน ดูจะกว้างมากขึ้น เมื่อเทียบกับ สมัยรัชกาลที ๕ (?)

 

ผมขอย้อนไปใน ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ของเราสักเล็กน้อย ซึ่งผมเห็นว่า เป็นความผิดพลาดครั้งแรก ในการเขียนรัฐธรรมนูญของเรา ; ผมคิดว่า รูปแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นรูปแบบที่ผิด ; รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ นี้ ผมหมายถึง รัฐธรรมนูญฉบับที่สองของประเทศไทย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ใช้บังคับอยู่เพียง ๖ เดือนก็ถูกยกเลิกไป ; รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ฉบับที่สองนี้ เป็นรูปแบบที่คณะราษฎร์ปฏิเสธพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ไม่ใช้รูปแบบของระบบรัฐสภา -parliamentary system ในยุคแรก ๆ ของประเทศในภาคพื้นยุโรปหรือ ไม่ได้ตามอย่างรัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ.๑๘๘๙ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๒ ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่เปิด “โอกาส”ให้มีความร่วมมือระหว่างสถาบันกษัตริย์และ Elite รุ่นใหม่ และทำให้มีการใช้ทรัพยากรบุคคลของประเทศอย่างเต็มที่และเหมาะสม ;และนอกจากนั้น ถ้าจะพิจารณากันจริง ๆ แล้ว รูปแบบระบบรัฐสภาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ของเรา ก็มิใช่ว่าจะเป็นรูปแบบระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ

 

เนื่องจากการเริ่มต้นครั้งแรกที่ผิด ๆในรูปแบบของ “ระบบรัฐสภา” ที่ถูกบิดเบือน ดังนั้น ในเวลาต่อมา รูปแบบรัฐธรรมนูญที่ผิด ๆ ของเรา จึงได้ทำให้เกิดการแย่งชิง “อำนาจรัฐ” ระหว่างกลุ่มทหารกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ; “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง”ก็อ้างสิทธิอันชอบธรรมในการเข้ามาใช้อำนาจรัฐ และเมื่อได้อำนาจมาแล้ว ก็ใช้อำนาจในการแสวงหาประโยขน์ส่วนตัวและทำการทุจริดคอร์รัปชั่นจากทรัพยากรของส่วนรวม และในทางกลับกัน ก็เป็นโอกาสของ “กลุ่มทหาร” ที่จะก้าวเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศเมื่อการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไป 

 

“การแก่งแย่งอำนาจรัฐ”ในระบบรัฐสภา ระหว่างกลุ่ม Elite สองฝ่าย ได้ต่อเนื่องกันมาเป็น เวลาถึง ๖๕ ปี คือ นับจากปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ หลังพฤษภาทมิฬ ซึ่งในระหว่างนั้น ประเทศไทยไม่มี “โอกาส”ที่จะพัฒนากฎหมายที่เป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศแต่อย่างใด; “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ก็จะออกกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตนเอง ซึ่งก็คือ การเพิ่ม “โอกาส”ในการทุจริดคอร์รัปชั่นให้มากขึ้นและง่ายขึ้นโดยจะได้ไม่ต้องมี”ใบเสร็จ”ให้เห็น ; และนักกฎหมายและนักวิชาการก็เป็นฝักเป็นฝ่าย เข้าเล่นการกับ Elite กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสองกลุ่ม เพื่อแสวงหาประโยชน์ แสวงหาตำแหน่งและความก้าวหน้าให้กับตนเอง และไม่สนใจที่จะหา “ความรู้” ; ประเทศไทยเสียเวลาพัฒนาประเทศไปถึง ๖๕ ปี เพราะการเลือกรูปแบบรัฐธรรมนูญที่ผิดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕

 

ความผิดพลาดครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ หลังพฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงกว่าความผิดพลาดครั้งแรก ; ความผิดพลาดของสังคมไทยครั้งนี้ เกิดจากพฤติกรรมของ Elile ของสังคมไทย ๒ กลุ่ม คือ “ความเห็นแก่ตัว” ของ Elite ประเภทที่เป็นนายทุนธุรกิจและเป็นนักการเมือง ที่ต้องการเข้ามาผูกขาดการใช้ “อำนาจรัฐ” ด้วยการเลือกตั้งในขณะที่สภาพสังคมไทยมีความอ่อนแอ และ “ความไม่ฉลาด” และความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ของ Elite ประเภทที่เป็นนักกฎหมายและนักวิชาการของไทย

 

Elite ทั้งสองประเภทนี้ ได้ช่วยกันเขียนรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประเทศไทยมีรูปแบบของรัฐธรรมนูญ – form of government ที่ไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญประเทศใด ๆ ในโลก คือ เป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลก ที่สร้าง “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” ซึ่งหมายความว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ “การเมือง”เป็น”ธุรกิจ” กล่าวคือ ถ้านายทุนธุรกิจรวมกลุ่มกันตั้งพรรคการเมืองและร่วมทุนกันออกเงินให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งไปทำการเลือกตั้งในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ ; และถ้านายทุนธุรกิจที่รวมทุนกันนั้น สามารถทำให้ ส.ส.ในสังกัดหรือในอาณัติของตนมีจำนวนมากพอและเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดียวกันหรือหลายพรรคตกลงร่วมกัน นายทุนธุรกิจกลุ่มนั้น ก็เอา “อำนาจรัฐ”ไป ทั้งในการบริหารเป็นรัฐบาล และในการออกกฎหมายในสภานิติบัญญัติ

 

“ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” นี้ เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ หลังพฤษภาทมิฬ และระบบนี้ได้ใช้ ต่อเนื่องกันมา ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และ ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามลำดับ ; ความเลวร้าย – vice ของระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ มีอย่างไร ผมคงไม่ต้องนำมากล่าวในที่นี้ เพราะท่านอาจหาอ่านได้จากหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นประจำได้ทุกวันในขณะนี้

 

ปัญหาของคนไทย ก็คือ เราจะหลุดพ้นจากระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ได้อย่างไร เพราะพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจที่ผูกขาดอำนาจอยู่ในขณะนี้ ย่อมไม่ยอมแก้ไขระบบนี้ในรัฐธรรมนูญ และตามสภาพในปัจจุบัน สังคมไทยเองยังมีความอ่อนแอและขาดประสบการทางการเมือง คนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนต้องทำมาหากิน และมีความจำเป็นต้องมองผลประโยชน์ของตนเองระยะสั้น จนไม่มีเวลาพอที่จะคิดถึงปัญหาระยะยาวของประเทศ ; แล้ว ใครจะมาเป็นผู้แก้ปัญหาให้คนไทย (?) ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ

 

ประเด็นที่ ๒ คือ เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย ; เรื่องนี้เป็นเรื่อง”ยาก”และเป็นเรื่อง”ใหญ่” ; ที่ผมเอามาพูดในที่นี้ ก็เพื่อเปรียบเทียบกับกรณีของศาล le Parlement ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเรื่องของ “นักกฎหมาย”เหมือนกัน เพราะ ผมได้เรียนให้ท่านทราบแล้วว่า ตุลาการ parlementaires ของศาล le Parlement ของประเทศฝรั่งเศส ได้เคยเป็นสาเหตุอันสำคัญของการล้มเหลวในการแก้ “ปัญหาการเมือง”ของประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งได้กลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ ; ผมคิดว่า ในปัจจุบันสภาพกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเราในหลาย ๆ กรณี ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และความล้มเหลวในการดำเนินคดีได้เป็นสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวในการแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศไทย

 

ประเทศไทยมีคดีฟ้องร้องกลับไปกลับมาระหว่างคู่ความเป็นจำนวนมาก มีการกลับคำให้การในระหว่างการสอบสวนและในการพิจารณาคดีในศาลโดยไม่ปรากฎว่ามีการดำเนินคดีฐานให้การเท็จ มีการฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนยากที่จะแยกได้ว่าเป็นการฟ้องโดยสุจริตใจ หรือเป็นการฟ้องเพื่อข่มขู่เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการโดยสุจริต ทั้งนี้โดยไม่พูดถึงความล่าช้าในการสอบสวนและในการดำเนินคดี และความคั่งค้างของคดีจำนวนมาก ; ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึง “ความผิดปกติ”ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเรา ; และเหตุการณ์เช่นนี้ ผมไม่ค่อยพบในประเทศอื่น

 

การที่ผมใช้คำว่า “กฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ก็เพราะผมอยากให้มีความหมายอย่างกว้าง คือ ผมตั้งใจให้มีความหมายรวม ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการตำรวจ ข้าราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการ ผู้พากษา และรวมไปถึงกฎหมายสารบัญญัติในทางอาญา ที่เกี่ยวกับ “อำนาจฟ้อง”ในความผิดอันยอมความและในความผิดต่อรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา 

 

กล่าวโดยทั่ว ๆไป สาเหตุของ “ความผิดปกติ”ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเรา น่าจะมีได้หลายประการและหลากหลาย ผมเห็นว่า กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของเรา ดูจะแยกออกเป็น ๓ กระบวนการ มากกว่าที่จะเป็นหนึ่งกระบวนการยุติธรรม โดยขั้นตอนที่หนึ่งการสอบสวนเป็นของตำรวจ ขั้นตอนที่สองการสั่งคดีเป็นของอัยการ และขั้นตอนสุดท้ายการพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นของศาล โดยในแต่ละขั้นตอนมีลักษณะแยกเป็นอิสระจากกัน และไม่ประสานกัน ; และในกฎหมายว่าด้วยการระบบบริหารงานบุคคลก็เช่นเดียวกัน คือ เรามีกฎหมายว่าด้วยข้าราชการตำรวจ กฎหมายว่าข้าราชการฝ่ายอัยการ และกฎหมายว่าด้วยข้าราชการฝ่ายตุลาการ ฯลฯ ซึ่งมีสาระแยกเป็นเอกเทศและต่าง “รวมศูนย์”ในการบังคับบัญขาหรือการกำกับดูแล 

 

ในการดำเนินคดี ถ้าเรื่องยังไม่เสร็จจากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นตำรวจ พนักงานอัยการก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ; พอมาถึงขั้นตอนการสั่งคดีหรือการสั่งฟ้องของอัยการ แม้พนักงานอัยการเห็นข้อบกพร่องของสำนวนและต้องการทำสำนวนให้สมบูรณ์ พนักงานอัยการจะทำการสอบสวนเพิ่มเติมเอง ก็ทำไม่ได้ ต้องส่งกลับไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม ; นอกจากนั้น เมื่อ ๓ ปีก่อน คือ ต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เราก็มีพระราชบัญญัติว่าด้วย”ระบบการสอบสวนคดีพิเศษ” เพิ่มเติมขึ้นมาอีก โดยเรามีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการคดีพิเศษ คณะกรรมการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขึ้นในกระทรวงยุติธรรม ; ซึ่งดูเหมือนว่า เมื่อเรามี “ปัญหา”ในระบบปกติในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเรา และเรายังแก้ปัญหาไม่ได้หรือแก้ไม่เป็น ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม และเราก็เพิ่ม”ระบบพิเศษ”ขึ้นมา ซึ่งผมสงสัยว่า ในอนาคต ระบบสอบสวนคดีพิเศษนี้ อาจจะเพิ่ม “ปัญหาพิเศษ”ให้แก่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ให้มากขึ้นจากปัญหาที่เรามีอยู่เดิม

 

นอกจากนั้น ในหน้าหนังสือพิมพ์ขณะนี้ ก็ปรากฎข้อขัดแย้งในระหว่างเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม อยู่หลายกรณี เช่น กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอนี้ กำลังจะตั้งข้อกล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ว่า กระทำผิดกฎหมาย หรือ กรณีที่อัยการสูงสุดขัดแย้งกับ”คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ” หรือ คตส. ในเรื่อง “อำนาจฟ้องคดี”ในคดีสำคัญเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ซึ่งผมเห็นว่า ข้อขัดแย้งนี้เป็น “ปรากฏการณ์”ที่ค่อนข้างแปลก คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมของเราขัดแย้งกันเอง แทนที่จะร่วมมือกันทำงาน เพื่อให้”จุดหมาย”ของกฎหมายบรรลุผล 

 

และยังมี “ประเด็น”ไปถึงกับว่า อัยการอาจมีอำนาจไปว่าความให้แก่”จำเลย” ที่เป็นหรือเคยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ถูกฟ้องโดย คตส.ในคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ; ซึ่งในประเด็นนี้ มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “อัยการสูงสุด”ยังสงวนอำนาจตามกฎหมายที่จะพิจารณาว่า อัยการจะเป็นผู้ว่าคดีให้จำเลยดังกล่าวได้ ในเมื่อได้รับคำร้องขอจากจำเลย ; ซึ่งผมเห็นว่า เป็นเรื่องที่ยิ่งแปลกและยิ่งผิดปกติอย่างมาก

 

ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่า “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา”ของเรา ควรจะเป็นอย่างไร และควรแก้ไขอย่างไร แต่ผมเห็นว่า “ความผิดปกติ”ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเราเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะเราได้ปล่อยปละละเลยให้กฎหมายเรื่องนี้เป็นไปตาม “กฎหมาย” ที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย ต่างคนต่างเขียนและต่างคนต่างเสนอกฎหมายกันคนละที มานานแล้ว จนกระทั่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเราอยู่ในสภาพที่พิกลพิการ ; ผมคิดว่า การที่เราจะออกจาก “ปัญหาที่ผิดปกติ”ของ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเราได้ เราคงจะต้องมี “การวิจัย”ตามหลักวิชาการในแนวทางของนิติปรัชญายุคใหม่ คือ ต้องวิเคราะห์ในเชิงของสังคมวิทยาและกฎหมายเปรียบเทียบ ; เพราะเราจะคงต้องรู้ก่อนว่า ปัญหาของเราเกิดจากอะไร “รูปแบบ”ของระบบกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วมีกี่รูปแบบที่จะให้เราเลือก เราจะปรับเปลี่ยน “รูปแบบ”ที่เราเลือกแล้วได้อย่างไรบ้าง และเราจะวางขั้นตอนของการปรับเปลี่ยนกันอย่างไรและจะใช้เวลานานสักเท่าใด 

 

ปัญหาที่แท้จริงของเรา ก็คือ นักกฎหมายและนักวิชาการเราไม่มี”ความรู้”พอที่จะทำการวิจัย แต่เราคงจะต้องมีวิธีการที่จะหา “ความรู้” 

 

ผมคิดว่า เราไม่ควรรอให้เรื่องเหล่านี้เรื้อรังต่อเนื่อง เหมือนกับปัญหา'”นักกฎหมาย”ที่เป็นตุลาการของประเทศฝรั่งเศส ที่เรียกว่า parlementaires ของศาล le Parlement ในอดีต ; ที่ประเทศฝรั่งเศสได้ปล่อยปัญหานี้ไว้ โดยไม่ได้คิดแก้ปัญหาที่เป็น “ปัญหาพื้นฐาน”ของประเทศ จนกระทั่งสภาพทางการเมืองได้กลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงขึ้น 

 

ข้อที่ผมเป็นห่วงและกังวล ก็คือ เราคนไทยไม่รู้ว่า “ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” คือ อุปสรรคสำคัญของการแก้ “ปัญหาทางการเมือง” ผมก็เลยขอถือโอกาสในการมาพูดที่ศาลปกครองนี้ มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ท่านตุลาการของศาลปกครองในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการยุติธรรมสาขาหนึ่ง ได้รับทราบปัญหานี้และปวดหัวไปพร้อม ๆ กับผม 

 

ผมขอจบตอนสุดท้ายที่ผมจะพูดในวันนี้ คือ อนาคตอันมืดมนของประเทศไทย ที่เกิดจาก “คุณภาพ” ของ Elite ของเราเอง ; และผมขอขอบคุณ “ศาลปกครอง”ที่กรุณาเชิญผมมาพูด และขอขอบคุณท่านตุลาการศาลปกครองที่ให้เกียรติมาฟังข้อคิดเห็นของผม ขอบคุณครับ

 

Read Full Post »