Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Posts Tagged ‘media process’

แนวคิดพื้นฐานของ สื่อสารมวลชน

recommendare

 

จากบทความเรื่อง  แนวคิดพื้นฐานของ สื่อสารมวลชน

 

เขียน  โดย

ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล
อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

 

ความมีดังนี้

สื่อสารมวลชนมีหน้าที่ทางสังคมอย่างไร มีกระบวนการทำงานอย่างไร มีลักษณะอย่างไร หลายครั้งที่คนข้างนอกไม่เข้าใจก็มักจะประณามสื่ออย่างเดียว เช่น กรณีเหตุการณ์รุนแรงที่เด็กเป็นผู้กระทำ ปรากฏว่า สื่อกำลังเป็นเป้าหมายใหญ่ของการถูกประณาม จนกระทั่งมีคนถามว่า สื่อเป็นแพะหรือเปล่า คำตอบคือไม่ เพราะสื่อมีส่วนอย่างมากที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง แต่ไม่อยากให้สังคมมองว่าเป็นเพราะสื่อมวลชนอย่างเดียว อยากให้สังคมมองว่า ปัญหาความรุนแรงเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน แล้วสื่อเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยเสริม หรือตอกย้ำความรุนแรงที่มีอยู่ในสังคม หรือไปตอกย้ำความเชื่อของการเอาความรุนแรงออกมาใช้โต้ตอบ

 

เช่น เวลามีคนถามเรื่องเด็กกับสื่อ ดิฉันก็จะถามกลับว่า แทนที่เราจะมาโทษสื่ออย่างเดียว ทำไมเราไม่ตั้งคำถามกลับว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทยของเรา ที่ทำให้เด็กไทยสมัยนี้อ่อนแอต่อการปกป้องตัวเองจากความรุนแรง ทำไมเด็กสมัยนี้มีความยับยั้งชั่งใจน้อย ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ถึงขนาดต้องตัดสินใจใช้อาวุธทำร้ายเพื่อนด้วยกัน ถามว่าเป็นเพราะสื่ออย่างเดียวหรือเปล่า คำตอบคือ “ไม่ใช่แน่นอน” มันต้องย้อนกลับไปถามว่า การที่เด็กปัจจุบันนี้อ่อนแอมาก เป็นเพราะอะไร ซึ่งแน่นอนว่ามีเรื่องของสถาบันครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเด็กคนนั้นเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเคยชินกับการเห็นความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะโดยการกระทำทางกาย ทางวาจา ฯลฯ มันก็ทำให้เขาตัดสินใจที่จะใช้ความรุนแรงได้ง่าย เพราะเขาชินกับการเห็นความรุนแรง

 

นอกจากนั้น ยังมีความรุนแรงอีกประเภทหนึ่งที่เราไม่ค่อยพูดกัน นั่นคือ ความรุนแรงในแง่เพิกเฉย เป็นความรุนแรงที่เกิดจากความไม่ใส่ใจซึ่งกันและกัน เราจะเห็นว่าครอบครัวเดี๋ยวนี้เป็นแบบนี้มาก เด็กไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับพ่อแม่ บางทีเด็กมีปัญหาอยากปรึกษาพ่อแม่ พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาที่จะคุยด้วย ทั้ง ๆ ที่บ้านนั้นเขาไม่ได้ใช้กำลังกันเลย แต่ความเพิกเฉยที่พ่อแม่มีต่อลูกก็ถือว่าเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่ง เป็นการละเลย ลักษณะแบบนี้ทำให้เด็กรู้จักที่จะรับอย่างเดียว มากกว่าที่จะรู้จักให้

 

เรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่เด็กมองว่า เขารู้สึกว่าสิ่งสิ่งนั้นเป็นของเขา เขาจะสูญเสียมันไปไม่ได้ อย่างกรณีเด็กที่แฟนบอกเลิก ก็เอาปืนไปทำร้ายคนในบ้าน หรือกรณีที่หยิบปืนไปยิงกันเพราะว่าแย่งผู้หญิงคนเดียวกัน ก็สะท้อนมาจากการที่เขาคิดตลอดเวลาว่า ของสิ่งนั้นเป็นของเขา

 

เคยตั้งคำถามกับจิตแพทย์ว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเด็กรู้สึกเป็นเจ้าของมากเหลือเกิน ทำไมเด็กไม่รู้จักปล่อยวางกับสิ่งเหล่านี้ เขาบอกว่า เป็นเพราะเด็กในปัจจุบันรู้จักแต่การรับเพียงอย่างเดียว ไม่เคยเรียนรู้ที่จะให้ เมื่อไม่เคยเรียนรู้ที่จะให้ จึงไม่เคยเรียนรู้ที่จะสูญเสียและผิดหวัง เมื่อเกิดความผิดหวังขึ้นมาเขาจึงรู้สึกกับมันอย่างรุนแรง ทนต่อไปไม่ได้แล้ว มันจึงเกิดปัญหาแบบทุกวันนี้ ดังนั้น จึงควรต้องย้อนกลับไปดูที่สถาบันครอบครัวกันใหม่ ว่าทำอะไรที่ทำให้เด็กรู้จักรับเพียงอย่างเดียว

 

นอกจากสถาบันครอบครัวแล้ว สถาบันการศึกษาหรือระบบการศึกษาที่มุ่งแต่จะจับคนไว้อยู่ในระบบอย่างเดียว ต้องคิดตามที่ระบบการศึกษาบอกให้คิด เด็กไม่มีโอกาสได้คิดอะไรที่หลากหลายตามความสนใจของเขา เมื่อเป็นเช่นนั้น ระบบการศึกษาที่จัดคนไว้อยู่ในระบบและเชื่อว่าเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาน่าจะเป็นเส้นทางเดียวกับที่ตะวันตกกำหนดเอาไว้ ก็เป็นผลทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องความรุนแรงด้วย

 

ส่วนสถาบันสื่อมวลชนนั้นมีผลในแง่ที่ว่า พอเด็กขาดช่องทางที่จะพูดคุยกับพ่อแม่หรือครู เด็กก็หันเข้าหาสื่อ เพราะฉะนั้นสื่อก็เป็นช่องทางที่เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วยตลอดเวลา เมื่อสื่อมีเนื้อหารุนแรง เช่น นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ฯลฯ เยอะมาก เด็กก็จะคิดว่านี่เป็นทางเลือกทางเดียวสำหรับชีวิต ทั้งที่ในความเป็นจริงคนเรามีทางเลือกมากมาย แต่เขามองไม่เห็น

 

ยังมีอีกสถาบันหนึ่งที่เกี่ยวข้องและต้องพูดถึง นั่นคือ สถาบันศาสนา ซึ่งสำคัญมาก มีประเด็นที่พูดถึงว่าปัจจุบันภูมิธรรมของเด็กน้อยลง ถ้ารากฐานทางศีลธรรมของเด็กแข็งแรง เขาจะมีเกราะป้องกันตัวเยอะ แต่เด็กสมัยนี้ก็ไม่วิ่งเข้าหาเรื่องของศีลธรรม เรื่องของศาสนาเหมือนกัน เด็กจะมองว่านี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับวิถีชีวิตประจำวันของเขา ศาสนาก็ศาสนา ไปวัดก็แค่ทำบุญ แต่เขาไม่เห็นว่า ศีลธรรมอยู่ในชีวิตจิตใจของเขา นี่เป็นปัญหาที่เราพูดกันเยอะมาก ดังนั้นปัญหาความรุนแรงไม่ใช่แค่เรื่องสื่ออย่างเดียว แต่เป็นทุกสถาบัน ซ้อนทับกันหมด เพราะฉะนั้นตอนนี้การป้องกันความรุนแรงจึงมีอยู่ทางเดียว นั่นคือ ดึงทุกสถาบันมาทำงานร่วมกัน น่าจะเกิดการทำงานแบบเครือข่าย

 

ภาระหน้าที่ของสื่อมวลชน

 

1. ให้ข้อมูลข่าวสาร เป็นหน้าที่หลักที่เราพบเห็นในสื่อมวลชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งการให้ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันนี้ สื่อไม่ได้เพียงแค่บอกว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น แต่สื่อตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยทุกครั้ง การตีความนี้ เช่น ถ้าเป็นข่าว วันนี้เลือกนำเสนอเฉพาะฝ่ายนี้ฝ่ายเดียวก่อน ก็เป็นการบ่งบอกเชิงนัยแล้วว่าสื่อเข้าข้างฝ่ายไหน เลือกนำเสนอฝ่ายไหนมากกว่า ฝ่ายไหนน้อยกว่า มันเป็นการบ่งบอกอยู่ในตัว ถึงแม้เขาจะนำเสนอในรูปแบบของข่าวก็ตาม ดังนั้นจึงไม่มีข่าวสารไหนที่ถูกนำเสนอแบบไม่ถูกแต่งเติม นอกเหนือจากนี้ก็จะมีในเรื่องของการส่งเสริมความคิดต่าง ๆ หรือการชี้นำความคิดในตัวด้วย

 

2. การประสานส่วนต่างๆ ของสังคมเข้าด้วยกัน ในสังคมปัจจุบันที่มีความเป็นพหุนิยมสูงมาก เรียกว่า “สังคมมวลชน” เรารู้จักเขาผ่านหน้าจอทีวี เราดูข่าวของเขา เราดูสารคดีเกี่ยวกับคนอาฟริกันซึ่งทำให้เรารู้จักเขา คำถามอยู่ที่ว่า การทำหน้าที่เชื่อมโยงเราไปยังวัฒนธรรมอื่น ๆ นั้น สื่อทำหน้าที่อย่างไร สื่อไปถ่ายทำชีวิตคนอาฟริกันมาเฉย ๆ แล้วให้เราดูหรือเปล่า เวลาเรานั่งดูสารคดี เช่น สารคดีชีวิตคนต่าง ๆ ที่เราไม่เคยได้ไปสัมผัสชีวิตจริงของเขา เรารู้จักเขาจากสื่อจริง ๆ เลย เรารู้จักเขาแบบไหน มันเป็นเรื่องที่เราถกกันได้อีกเยอะเลย หรือเวลาที่เราดูสารคดีคนชนเผ่า เรารู้สึกอย่างไร มันก็ขึ้นอยู่กับว่าสื่อต้องการนำเสนออะไรในชนเผ่ากลุ่มนั้น ถ้าสื่อคิดว่าชนเผ่ากลุ่มนี้ขายได้เชิงการท่องเที่ยว สารคดีจะออกมาในแง่สวยงาม โรแมนติก เห็นแต่ในเชิงของการแต่งตัว การแสดง หรือจุดขายของคนกลุ่มนี้ แต่เราไม่เห็นชีวิตจริง ๆ ของเขา มันก็เป็นปัญหามาตลอดว่า เวลาคนกรุงไปที่ไหนก็จะมีภาพฝังใจว่าอยากไปเห็นเขาในแบบนั้น แต่พอไปจริง ๆ เราไม่เห็นแบบนั้น ก็จะรู้สึกว่าทำไมชุมชนนี้เป็นแบบนี้

 

เพราะฉะนั้น การทำหน้าที่ประสานส่วนต่างๆ ของสังคมมีทั้งแง่ดีและไม่ดี แง่ดีคือ ทำให้เรารู้จักคนทั่วทั้งโลกโดยที่เราไม่ต้องไปรู้จักในเชิงส่วนบุคคล แต่แง่ไม่ดีคือ เราต้องตระหนักว่า การที่เรารู้จักเขา มันเป็นการรู้จักผ่านการทำงานของสื่อมวลชนไปแล้ว

 

นอกเหนือจากในแง่ของการทำให้เราได้รู้จักกลุ่มต่าง ๆ แล้ว การประสานส่วนต่าง ๆ ยังมีความหมายในแง่ของการไปสนับสนุนสถาบันหลัก ๆ ของสังคมด้วย เราจะเห็นว่า ในการนำเสนอเรื่องของกลุ่มต่าง ๆ สื่อจะมีการหยิบยกบางสถาบันขึ้นมาตลอดเวลาว่านี่เป็นสถาบันความคิดหลัก เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะมีมุมมองในเรื่องนี้ เราก็ต้องคิดตามสถาบันหลักเหล่านี้ ไม่ว่าจะเรื่องของการศึกษาก็ดี ก็จะเสนออยู่ภายใต้กรอบของสถาบันหลักทางการศึกษา หรือเรื่องของการปกครองท้องถิ่น ยิ่งตอนนี้มีนโยบายเรื่องของท้องถิ่นชุมชนเยอะ ก็จะเป็นนโยบายท้องถิ่นหรือชุมชนที่ผ่านนโยบายของฝ่ายปกครอง มากกว่าที่จะเป็นเสียงที่มาจากชุมชนจริง ๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราได้รับรู้ ความคิดที่เราสั่งสมขึ้นมา ก็เป็นความคิดที่มันไปสอดคล้องกับบรรทัดฐานของสถาบันหลักเหล่านั้น

 

3. การสร้างความต่อเนื่องทางสังคม เป็นบทบาทหน้าที่เชิงวัฒนธรรม การที่เรายังเชื่อมต่อความคิดระหว่างคนจากรุ่นสู่รุ่นได้ เพราะสื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้เราได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมแต่ไหนมา เราก็รับรู้ผ่านสื่อมวลชนเป็นส่วนใหญ่ในขณะนี้ สถาบันครอบครัวก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ สถาบันการศึกษาก็ไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ รวมถึงสถาบันศาสนาด้วยหรือเปล่า ก็กลายเป็นสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของคนแต่ละรุ่นต่อ ๆ กันมา คำว่า “แต่ละรุ่น” อาจจะไม่ต้องไปไกลก็ได้ แม้แต่เรื่องของเมื่อวานนี้ก็ได้เหมือนกัน

 

เพราะฉะนั้นการสร้างความต่อเนื่องทางสังคม ในแง่ดีมันอาจจะไปเสริมรากฐาน รากเหง้าของสังคมนั้นให้มีความเข้าใจ ให้มีความเข้มแข็งกับรากฐานของสังคมเรา แต่ในแง่ไม่ดีก็มีเยอะ เพราะบางทีการถ่ายทอดวัฒนธรรมก็ถูกเลือกปฏิบัติ วัฒนธรรมบางอย่างเท่านั้นที่ถูกเลือกถ่ายทอด วัฒนธรรมบางอย่างก็หายไปเลยไม่ถูกหยิบมาพูดถึง วัฒนธรรมกลุ่มย่อยอีกมากมายที่ไม่ได้ถูกพูดถึงขึ้นมาผ่านสื่อมวลชนเลย การทำหน้าที่ตรงนี้จึงมีทั้งดีและไม่ดี

 

4. การให้ความเพลิดเพลิน อันนี้เข้าใจง่ายมาก สื่อก็นำเสนอเรื่องของความบันเทิงใจให้กับคน โดยเฉพาะชีวิตของคนเมืองที่มีความเคร่งเครียด จากงานวิจัยในเรื่องการวิเคราะห์การรับสารของคนในเมืองที่ทำมาไม่ว่ากี่งานก็ตาม ผลที่ออกมาคือ กว่า 60% ของการเลือกรับสื่อเป็นไปเพื่อการผ่อนคลายและความบันเทิง ซึ่งก็ไม่แปลกกับคำถามที่ว่าทำไมสัดส่วนของสื่อถึง 60% จึงเป็นเนื้อหาเพื่อความบันเทิง ซึ่งก็เป็นบันเทิงจริง ๆ เห็นชัดมากเมื่อเราเปิดทีวี 6 ช่อง ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของทีวี (prime time) คือช่วง 1 ทุ่ม – 4 ทุ่ม เป็นช่วงที่คนดูทีวีมากที่สุด มีทั้งข่าว ละคร เกมโชว์ จะเห็นว่าละครครองพื้นที่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของทีวี ที่เหลือช่วงเวลาไม่ดี คือช่วง 6 โมงเช้าไปจนถึง 5-6 โมงเย็น ช่วงนั้นจะมีข่าว สารคดี การเกษตร เรื่องเกี่ยวกับชุมชน ฯลฯ สาระความรู้ต่าง ๆ จะไปอยู่ช่วงนั้น ถ้าเป็นช่วงเช้าจะเป็นรายการเด็ก ๆ ผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มคนดูที่จำกัด และตอนกลางวัน ช่วงบ่ายจะมีแต่เกมโชว์ทั้งนั้น และเป็นเกมโชว์ที่ไร้สาระโดยสิ้นเชิง ที่เกมโชว์ช่วงบ่ายของทีวีเป็นแบบนี้ก็เพราะเขารู้อยู่ว่าคนดูน้อย เพราะฉะนั้นถ้าลงทุนมากก็ไม่มีประโยชน์ ยิ่งลงทุนมากยิ่งขาดทุน ดังนั้นจึงต้องทำรายการง่าย ๆ ถูก ๆ ไร้สาระ แต่เมื่อเป็นรายการง่าย ๆ ถามว่าคนดูเป็นใคร ช่วงกลางวันคนดูคือแม่บ้านเป็นส่วนใหญ่ และก็มีร้านค้าด้วย ถามว่ายุติธรรมไหมกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งโอกาสที่เขาจะได้เปิดปัญญาของตัวเองไปสู่เรื่องอื่น ๆ มันก็น้อย ยิ่งคนเป็นแม่บ้าน พอตกเย็นสามีและลูก ๆ กลับมา เวลาก็หมดแล้ว ตอนเช้าก็ยุ่งอีก เวลาช่วงบ่ายที่เขาจะได้พักผ่อน รายการทีวีที่มีให้เขาก็คือเกมโชว์

 

ดิฉันเคยไปทำวิจัยกับผู้หญิงในสลัมคลองเตย 4 เดือน ไปกินไปนอนกับเขา และนั่งดูทีวีกับผู้หญิงที่นั่น ปรากฏว่าทุกคนจะคิดเหมือนกันหมด คือ ทำยังไงชาตินี้จะรวย ทำยังไงจะเป็นมหาเศรษฐี ซึ่งไม่แปลกเพราะเกมโชว์บอกเขาอย่างนั้น และเกมโชว์เป็นสิ่งที่เขาติดมาก ใกล้บ่ายเขาจะลุ้นอยู่หน้าจอทีวี ดิฉันก็ถามเขาว่าลุ้นแล้วได้อะไร เขาบอกว่าอย่างน้อยทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตนี้ก็มีความหวัง แต่มันไม่ใช่หวังของเขา มันเป็นความหวังของคนอื่น เพราะเขาไม่ได้ไปเล่น เกมโชว์คนที่เล่นก็คือดารา เขาไม่เอาชาวบ้านไปเล่น แต่ผู้หญิงพวกนี้พูดเลยว่า อย่างน้อยความเป็นคนจนไม่ใช่ว่าเกิดเป็นคนจนแล้วจะจนตลอด โอกาสที่จะรวยก็มีถ้าไปลุ้นแบบนี้ ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่มี ฉะนั้นเกมโชว์นอกจากมันไม่ประเทืองปัญญาแล้ว ก็ยังหลอกเขาอยู่ตรงนั้น เราจะเห็นว่าการให้ความเพลิดเพลินที่เป็นบทบาทหนึ่งของสื่อ มันกลายเป็นบทบาทหลักที่กำลังทำร้ายผู้คนมากมายอยู่ในเวลานี้

 

นอกจากในแง่ของความเพลิดเพลินผ่านละคร ผ่านเกม ผ่านเพลง ฯลฯ ความเพลิดเพลินยังผ่านสาระหลัก ซึ่งเราไม่คิดว่ามันน่าจะทำให้เพลิดเพลินได้ คือ ข่าว ปัจจุบันนี้กระบวนการผลิตสื่อเอาเทคนิคของความเพลิดเพลินใจเข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกรูปแบบของการผลิตแล้ว เดี๋ยวนี้เวลาทำข่าวก็ต้องดูแล้วเพลิดเพลินใจ ข่าวไหนดูแล้วเครียดคนก็ไม่ดู จะมีรูปแบบที่ทำให้ดูแล้วเพลิดเพลินมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกมาเล่าข่าวให้สนุก เช่น ระเบียงข่าว ช่อง 3 ที่มีพิธีกรชายหญิงออกมายืนเล่าข่าวกัน พูดคุยแบบล้อเล่น สนุก ทำให้ความเครียดของข่าวลดลง แต่บางครั้งมันก็มีอคติของพิธีกรหลุดออกมาเยอะมาก นี่ก็เป็นรูปแบบที่ว่าความเพลิดเพลินเข้าไปแทรกซึมอยู่ในเรื่องของการนำเสนอสาระด้วย

 

หรือที่เห็นชัด ๆ คือ การเขียนข่าวหนังสือพิมพ์บางฉบับ ที่อ่านพาดหัวข่าวแล้วอาจจะเพลิดเพลินใจ ไม่ใช่ความหมายแบบมีความสุข แต่เพลิดเพลินใจในแง่นี้คือ อ่านแล้วได้อารมณ์ เพราะภาษาที่ใช้ คำบางคำที่ใช้พาดหัวก็ใส่อคติไปเรียบร้อย เช่น พาดหัวเรื่อง “นักเรียนดิบเถื่อน เอาอีกแล้ว แย่งผู้หญิงคนเดียวกัน ไร้ความคิด” คำว่าดิบเถื่อนเป็นคำที่แรง ทำให้คนอ่านแล้วรู้สึกว่านักเรียนสมัยนี้มันแย่มาก ๆ มันไม่ใช่แค่สะท้อนความไม่ดีของคนกลุ่มนั้น เป็นคำที่เมื่อก่อนตะวันตกใช้ว่าคนไทยว่าไร้อารยธรรม ป่าเถื่อน แต่คิดไม่ถึงว่าตอนนี้คนไทยก็หยิบเอาคำนี้มาใช้กับนักเรียน ซึ่งถ้าเราตีความต่อ มันมีความหมายลึกมาก ถ้าเราปล่อยให้สื่อใช้ภาษาง่าย ๆ แบบนี้เพียงเพื่อหวังว่าใช้แล้วมันสนุกสนาน เกิดอารมณ์ มันอันตราย เพราะต่อไปสังคมจะมองว่าพวกนักเรียนเป็นพวกไร้อารยธรรม ส่วนพวกฉันเป็นพวกมีอารยธรรม มันจะเกิดการแบ่งแยกสังคมมากขึ้นทุกที นี่ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่มองเห็นว่าความเพลิดเพลินเข้ามาก่อปัญหาอย่างไรบ้าง

 

5. หน้าที่ในการรณรงค์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความคิดทางประชาธิปไตยต่าง ๆ คงไม่ต้องพูดถึงว่ามีผลอย่างไร แต่ในแง่ลบ การรณรงค์นี้ก็นำไปสู่การชักนำให้สังคมเกิดความคิดไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ต้องเป็นเศรษฐกิจระดับมหภาคถึงจะเรียกว่าดี หรือเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับตัวเงิน การลงทุนข้ามชาติ ฯลฯ มีผลทำให้ภาพของความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจเป็นทิศทางเดียว ขณะที่เศรษฐกิจระดับชุมชน ระดับชาวบ้านที่พึ่งตัวเอง ไม่ถูกนำเสนอเท่าไร เราจะเห็นว่าบทบาทการรณรงค์ของสื่อเองก็เป็นการรณรงค์ที่เป็นไปตามกระแสหลักของสังคมด้วย

 

กระบวนการทำงานของสื่อมวลชน

 

1. ในฐานะผู้รักษาช่องทางการสื่อสาร (gatekeeper) สมมติว่าเรามีที่มาของข่าวสาร การทำหน้าที่ของสื่อคือ เริ่มคัดเฉพาะบางประเด็นเท่านั้น เวลาที่ข้อมูลเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นทั้งหมด แต่ข้อมูลที่ถูกคัดกรองมีน้อยมาก จะมีประเด็นที่ถูกคัดทิ้งออกไปเยอะ จะมีเหลือไม่กี่ประเด็นของข่าวสารที่เข้าไป ฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏออกมาในเนื้อหาสื่อแล้วเราได้อ่าน มันจึงถูกคัดมาแล้ว

 

ประเด็นไม่ได้อยู่แค่ว่า คนที่เป็นสื่อคัดอะไรเข้าไป ยังคิดต่อได้อีกว่า ความเป็นสื่อตรงนี้ องค์ประกอบของคนเป็นสื่อมวลชนประกอบด้วยอะไรบ้าง ในความเป็นคน กว่าที่เขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนทำสื่อ เขาผ่านอะไรมาบ้าง ชีวิตคนมีอะไรซับซ้อนมาก มีค่านิยม อุดมการณ์ ประสบการณ์ ความรู้ชุดไหนบ้าง มีอะไรต่อมิอะไรหลาย ๆ อย่างที่ประกอบกันเป็นตัวเขา สิ่งเหล่านี้จึงมีส่วนทำให้สื่อมวลชนบางคนเลือกที่จะคัดเหตุการณ์บางอย่างให้มาเป็นข้อมูล เพราะฉะนั้นถ้าเราดูแค่เรื่องค่านิยมตัวเดียวซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ก็ทำให้เข้าใจได้เลยว่า ทำไมเรื่องบางเรื่องถูกนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะมันไปสอดรับกับกรอบคิดค่านิยมของคนที่เป็นสื่อมวลชน เช่น ถ้าเราพูดเรื่องเศรษฐกิจ ก็จะชัดว่าคนเป็นสื่อส่วนใหญ่จะมองเรื่องของเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจระดับชาติ ฉะนั้นเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการตลาด บริโภคนิยม จะถูกนำเสนอมาก เพราะมันตอบรับกับค่านิยมชุดนี้ของเขา

 

2. ในฐานะผู้กำหนดวาระหรือประเด็นทางสังคม (agenda setter) เช่น เหตุการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งจะถูกทำให้เป็นประเด็นใหญ่มาก จะให้พื้นที่มาก การรับรู้ของคนในสังคมก็จะใหญ่ตามไปด้วย เพราะสื่อเลือกที่จะนำเสนอเรื่องการเลือกตั้งที่เข้มข้นมาก ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง สื่อก็จะนำเสนอแต่เรื่องนี้ คำว่า “กำหนดวาระของสังคม” ก็คือ การทำให้วาระมันใหญ่ ถูกทำให้เป็นวาระหลัก คนก็จะพูดถึงเรื่องนี้กันมาก แต่ในเวลาเดียวกันมีเรื่องวิทยุชุมชน ปรากฏว่าสื่อให้ความสำคัญน้อยมากเมื่อเทียบกับเรื่องการเลือกตั้ง การรับรู้ของคนก็จะน้อยตามไปด้วย

 

การเลือกอะไรขึ้นมาเป็นวาระสาธารณะก็ขึ้นอยู่กับสื่อ ฉะนั้น การที่เราบอกว่าตอนนี้สังคมกำลังสนใจเรื่องความรุนแรง ถามว่าสังคมสนใจเอง หรือสื่อกระตุ้น มันชัดมาก เช่น ประเด็นเรื่องนามสกุล จริง ๆ แล้วไม่น่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มากถึงขนาดที่คนพูดกันทั้งบ้านทั้งเมือง แต่สื่อสัมภาษณ์คนต่าง ๆ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มันจึงเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา ถึงขนาดว่าใครไม่พูดก็จะตกประเด็นหรือตกสังคม

 

3. ในฐานะผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐของสาธารณชน (public watchdog) แปลตามภาษาอังกฤษก็คือ “หมาเฝ้าบ้าน” สื่อจะเข้าไปตรวจสอบผู้มีอำนาจต่าง ๆ ของรัฐ ตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองหรือรัฐ ซึ่งสื่อก็ทำอยู่ตลอดเวลา แต่การตรวจสอบนั้นก็มีทั้งทำได้และทำไม่ได้ และอาจจะมีอคติ

 

4. ในฐานะผู้รักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนและรัฐ (guard dog and servant of the state) แปลตามภาษาอังกฤษคือ “หมาที่ปกป้องเจ้านาย” หน้าที่นี้เห็นชัดว่า เป็นเพราะสื่อมักจะเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอำนาจหลักในสังคมทุกครั้งไป มีน้อยมากที่สื่อจะมารักษาผลประโยชน์ของประชาชนหรือคนเสียงน้อย สื่อจะบอกว่า เขาเป็นธุรกิจ เขาต้องอยู่รอด ซึ่งความอยู่รอดของเขาก็คือ ความอยู่รอดภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน กลุ่มอำนาจทางการเมืองต่าง ๆ

 

ลักษณะของสื่อมวลชนในสังคมมวลชน

 

สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมมวลชน (Mass) สื่อที่มีอยู่ก็คือ สื่อมวลชน (Mass Media) คือการผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ๆ ลักษณะของสื่อมวลชนในสังคมมวลชน สามารถพิจารณาแบ่งออกเป็นแต่ละประเด็นดังนี้

 

1.แหล่งที่มาของอำนาจของสื่อ ว่ามาจากไหนบ้าง ก็คือ
1. ชนชั้นปกครองที่มีอำนาจทางการเมือง
2. ชนชั้นนายทุน

 

ตอบแค่นี้เราจะเห็นเลยว่า แล้วประชาชนหายไปไหน ประชาชนมีสิทธิ์ในการเข้าไปควบคุมและให้อำนาจแก่สื่อได้ไหม น้อยมาก แต่พอเราไปวิพากษ์วิจารณ์เขา อย่างเช่นไทยรัฐ คำตอบเดียวที่ไทยรัฐมีให้และตอบมาสิบกว่าปีแล้ว คือตอบว่า “เราอยู่ได้เพราะคนอ่าน ถ้าอาจารย์มาว่าก็ไปว่าคนอ่านสิ ถ้าคนอ่านไม่สนับสนุนเรา เราก็อยู่ไม่ได้” แต่ถามว่าคนอ่านมีอำนาจกับไทยรัฐจริงหรือเปล่า จริง ๆ แล้วไม่มี อาจจะมีในแง่ของการเป็นเป้าหมายทางการตลาด ตลาดในที่นี้ก็ไม่ใช่ตลาดใหญ่ ไทยรัฐอยู่ได้ไม่ใช่เพราะขาย เขาไม่สนใจเรื่องการขาย การขายเป็นผลพลอยได้ เพราะทุกฉบับที่พิมพ์ออกมาได้กำไรไปแล้วเรียบร้อยจากการโฆษณา หนังสือพิมพ์อยู่ได้ด้วยโฆษณา ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยการขาย การขายเป็นรายได้พิเศษ โฆษณาเป็นรายได้ 2 ใน 3 ของหนังสือพิมพ์ ที่เหลือไม่ถึง 1 ใน 3 เป็นรายได้จากการขาย

 

เมื่อเปรียบเทียบหนังสือพิมพ์ใหญ่กับหนังสือพิมพ์เล็ก ๆ เช่น ไทยรัฐ กับ ไทยโพสต์ ความหนาต่างกันมาก ก็เป็นเพราะหน้าโฆษณา ไทยโพสต์มีโฆษณาน้อยมาก ต้องกัดฟันมาตลอด ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ทุนคืน ในขณะที่ไทยรัฐมีความหนามากและเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่ไม่ง้อโฆษณา เขาบอกว่า คนเข้าคิวรอลงโฆษณาจนถึงสิ้นปีแล้ว บริษัทเอเจนซี่โฆษณาเวลาจะลงไทยรัฐต้องมาจองตั้งแต่ต้นปี ได้ลงปลายปี พื้นที่ก็แพงมาก แต่ที่เจ้าของโฆษณายอมลงทุนลงโฆษณากับไทยรัฐเพราะว่ามีคนอ่านมาก

 

ตามทฤษฎีพูดไว้ว่า หนังสือพิมพ์ไม่ได้สนใจว่าใครเป็นผู้อ่าน เขาสนใจว่าตลาดผู้อ่านเขาคือใคร เพราะเขาเอาตลาดผู้อ่านไปขายให้กับบริษัทโฆษณา การที่จะดึงให้บริษัทไหนมาสนใจลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ของเขาได้ นั่นคือเขาสามารถบอกได้ว่าผู้อ่านซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของเขาคือใคร มีจำนวนกี่คน เพราะฉะนั้นคำว่า “ผู้อ่าน” ของสื่อใดก็ตาม คุณค่าที่มีต่อสื่อคือ เอาไปขายต่อให้บริษัทโฆษณาอีกที

 

ในแง่ของแหล่งที่มาของอำนาจ จริง ๆ แล้วคือชนชั้นปกครองกับชนชั้นนายทุน ถ้าเราดูตัวองค์กรสื่อมวลชนเองในปัจจุบัน เราจะเห็นว่ามันกระจุกตัวอยู่ในมือของกลุ่มที่มีอำนาจ ถ้าเป็นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ก็ยังถูกกำหนดให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐอยู่ มีคนถามมาว่าวิทยุชุมชน[1] จะไปถึงไหน ก็บอกว่ายังไปยากมาก วิทยุชุมชนตอนนี้ก็เป็นการทดลองทำเท่านั้นเอง และขณะที่กำลังทดลองทำก็ถูกกรมประชาสัมพันธ์ส่งจดหมายไปเตือนอยู่บ่อย ๆ ว่าให้รู้ตัวไว้ว่ากำลังทำวิทยุเถื่อน ซึ่งชาวบ้านโกรธมากว่า พวกเขากำลังทำรายการเพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ แล้วคลื่นสาธารณะควรเป็นสมบัติของประชาชน ชาวบ้านเสียใจมากกับคำว่า “เถื่อน” นี่เป็นประเด็นที่เราต่อสู้อยู่มากเรื่องวิทยุชุมชน ว่ายังไปไม่ถึงไหนเลย

 

แต่ระหว่างที่ กสช.[2] ก็ยังไม่เกิด ก็ต้องขอชื่นชมภาคประชาสังคมมาก ที่เขาก็ไม่หยุดรอที่จะมี กสช.ก่อนถึงจะค่อยทำ เขาก็ไปจัดทำกลุ่มวิทยุชุมชน ไปร่วมมือกับวัดหลายแห่ง มีการตั้งเสาวิทยุ มีการทำรายการกันเอง เพราะเขาบอกว่า ระหว่างที่นั่งรอว่ารัฐตกลงจะเอายังไง การที่เขาใช้เวลาตรงนี้ไปเตรียมตัวทำรายการให้เป็น มันจะทำให้เขาเกิดความพร้อม พอถึงเวลาที่มี กสช.ขึ้นมาจริง ๆ เขาก็ได้จัดรายการเป็น และมันก็เป็นกระบวนการต่อรองอย่างหนึ่งกับรัฐ เพราะรัฐชอบอ้างว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ไม่ต้องทำ วิทยุนี่เป็นเรื่องของคนที่เรียนจบมา ชาวบ้านบอกว่าเมื่อถึงเวลานั้นที่ กสช.ไฟเขียวให้เขา เขาจะได้เอาตรงนี้มาอ้างว่าเขามีประสบการณ์แล้ว ถ้า กสช.จัดตั้งเรียบร้อยจริง คลื่นวิทยุ 20% ต้องเอามาให้ชุมชนจริง ๆ นี่เป็นประเด็นความเคลื่อนไหวเรื่องวิทยุชุมชน

 

สภาพการผลิตของสื่อมวลชนในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้สื่อมวลชนถือเป็นองค์กรธุรกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องใช้ทุนในการผลิตมาก จึงต้องผลิตให้คุ้มทุน ดังนั้นการผลิตจึงต้องคำนึงถึงการลดความเสี่ยง ยิ่งลดความเสี่ยงได้มากเท่าไร ยิ่งได้กำไรมาก นี่เป็นระบบการผลิตเชิงการตลาดแบบง่าย

 

วิธีการที่สื่อจะลดความเสี่ยงคือ

 

1.ลงทุนให้น้อย แล้วให้มีคนอ่านเยอะ มีคนดูมาก รายการที่ไม่ต้องใช้ทุนมาก เช่น ละคร เกมโชว์ หรือข่าวในหนังสือพิมพ์ จึงถูกนำเสนอเยอะ

 

2.นำเสนอในสิ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย เช่น ถ้าเขียนข่าวก็ต้องเป็นข่าวที่คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจง่าย ต้องใช้ภาษาง่าย เราจะเห็นว่าภาษาข่าวแบบไทยรัฐ เดลินิวส์ เป็นภาษาข่าวที่คนอ่านแล้วไม่ต้องคิดอะไรมาก คนส่วนใหญ่ต้องการบริโภคอะไรที่ง่าย ๆ ก็จะมีสื่อที่ผลิตงานแบบนี้ออกมาเยอะ หรือละครก็จะมีโครงเรื่องอยู่ไม่กี่โครงเรื่อง เพราะสังคมส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเนื้อหาแบบนี้

 

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจเพลง เราจะเห็นว่า ถ้าใครเป็นนักร้องอยากออกอัลบัมของตนเองต้องไปสังกัดค่ายเพลงถึงจะอยู่รอด ซึ่งค่ายยักษ์ใหญ่ก็จะมี แกรมมี่ และอาร์เอส ถ้าคุณไม่สามารถเข้าไปเป็นนักร้องในสังกัด แกรมมี่ได้ ก็ลำบากมาก ยกเว้นจะไปเคาะกะโหลกกะลาข้างถนน คือเป็นศิลปินไร้สังกัด เคยได้ดูข่าวที่ว่ามีกลุ่มศิลปินไทยที่ตระเวนไปร้องเพลงในที่ต่าง ๆ ไปเปิดหมวกร้องเพลงตามสวนสาธารณะ เพียงเพื่ออยากให้คนได้รู้จักเพลงของเขาและไม่ต้องการผ่านกระบวนการค่ายธุรกิจแบบนี้ เขาดูมีความสุขกับการร้องเพลงของเขามาก เขาบอกว่า มีความสุขกับการแต่งตัวตามแบบของเขา ซึ่งถ้าไปสังกัดค่ายก็ต้องถูกบังคับให้ต้องทำตัวแบบนี้ ต้องแต่งตัวแบบนี้ สมมติคุณไม่ใช่คนแบบนี้ ก็ต้องถูกเปลี่ยนทั้งเนื้อทั้งตัวให้เป็นแบบนี้ให้ได้ ซึ่งเขาไม่ต้องการ แต่เราจะเห็นว่าเพลงที่ออกมาขายตามตลาดก็ต้องผ่านค่ายเพลงใหญ่ ๆ มาอีกทีหนึ่ง

 

การลดความเสี่ยงของค่ายเพลงก็คือ ถ้านักร้อง 1 คนจะออกอัลบัมมาอีก 1 อัลบัม ก็ต้องคิดแล้วคิดอีกว่า ออกมาแล้วคุ้มไหม ถ้าจะผลิตอัลบัม 1 ชุดแต่ทำมาแค่ไม่กี่พันแผ่นก็ไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะฉะนั้นต้องผลิตอย่างน้อยเป็นแสน ๆ แผ่น อย่างพี่เบิร์ด ธงชัยจะออกเทปครั้งหนึ่งก็ผลิตหลายแสนแผ่น เพื่อให้คุ้มกับการลงทุน 1 ครั้ง นี่คือวิธีการลดความเสี่ยง แต่การที่จะทำให้พี่เบิร์ดขายเทปได้เป็นแสน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวนักร้องเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยกลยุทธในการส่งเสริมการขายด้วย คือ ก่อนจะออกเทปต้องมีการโหมโฆษณาในรูปแบบต่าง ๆ เยอะมาก ทำนองว่า นาน ๆ ทีจะออก แล้วสังเกตว่าพี่เบิร์ดจะออกเทปใกล้ ๆ สิ้นปี เพราะรู้ว่าเป็นจังหวะที่คนสนใจเริ่มซื้อหาเพลง ซึ่งคนก็คิดแล้วว่า ใกล้สิ้นปีจะมีเทปใหม่ของเบิร์ดออกมา ดังนั้นคนก็จะไปหาซื้อ ถามว่าเพราะไหม? เราก็ตอบไม่ได้ แต่มันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างให้กลายเป็นวัฒนธรรมของเบิร์ด-ธงชัยไปแล้ว

 

นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาในรูปแบบแฝง คือ เอาเบิร์ดไปเล่นละครเป็นพระเอกหนัง ซึ่งมันเป็นโฆษณาที่ควบคู่กับการออกเทปเพลง ตอนนี้เราคงทราบว่าค่ายแกรมมี่ไม่ได้ผลิตแต่เพลงอย่างเดียว แต่เขาผลิตละครโทรทัศน์ทางช่อง 5 ที่เรียกว่า เอ็กซ์แซก (Exact) ด้วย คุณดูละครของเอ็กซ์แซกทางช่อง 5 แล้วคุณจะซึมซับเพลงของนักร้องแกรมมี่ไปโดยไม่รู้ตัว มันมาทุกวัน เพลงไตเติ้ลก็ดี พอถึงตอนบทนางเอกซึ้งเพลงก็จะมา เราก็จะรู้สึกว่าชินกับเพลงนี้ พอเราได้ฟังมันก็เพราะ นี่นางเอกร้อง เราก็ต้องไปหาซื้อ ถ้าอยากโปรโมทนักร้องคนไหนก็เอามาเล่นละครก่อน คนก็จะชินแล้วก็ไปซื้อเพลงฟัง นี่ก็เป็นรูปแบบของธุรกิจที่ลดความเสี่ยง ซึ่งมันก็จะเอื้อไปกับสื่อหลาย ๆ ประเภทด้วย จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันค่ายเพลงไม่ได้ทำแต่ธุรกิจเพลงแล้ว การที่แกรมมี่มีละคร ก็เป็นไปเพื่อเสริมธุรกิจเพลงของเขา เราจะเห็นว่าการผลิตสื่อจะเป็นไปในลักษณะที่เป็น mass มากขึ้น

3. เนื้อหาสาระของสื่อในสังคมมวลชน จะมีลักษณะของการกลั่นกรองไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นทุกที วันก่อนได้คุยกับนักข่าวหลายคน เขาบอกว่ารูปแบบการทำข่าวในปัจจุบันนี้น่ากลัวมาก เขาเรียกว่า การลอกข่าว คือ สมมติว่าคุณเป็นนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล มันไม่จำเป็นอีกแล้วที่ต่างคนต่างทำข่าว เพราะว่าวิ่งเข้าไปเอาไมค์จ่อปากแล้วถามคนเดียวก็พอ คนอื่นก็เอาเทปไปอัด พอได้มาแล้วเดี๋ยวนี้เขามีวิธีการที่เรียกว่า “ครูข่าว” คือการทำข่าวร่วมกัน โดยสัมภาษณ์มา 1 ครั้งแล้วก็จัดเวรกันว่า เวรวันนี้นักข่าวฉบับนี้เป็นคนเขียน พิมพ์ พิมพ์เสร็จแล้วก็แฟกซ์ไปทุกฉบับเลย

ตอนนี้บรรณาธิการเขาเริ่มระวังเหมือนกันว่า ข่าวที่นักข่าวของเขาส่งเข้ามาจากการไปประจำตามกระทรวงต่าง ๆ นั้น มันเหมือนกันหมดใช่ไหม? คือข่าวชิ้นหนึ่งมันถูกส่งไปทุกฉบับ ถูกจับได้หลายครั้ง เพราะบางฉบับก็ลืมลบหัว สมมติว่า แฟกซ์ถึงเดลินิวส์แต่ส่งไปไทยรัฐ ซึ่งเขาก็กำลังตักเตือนนักข่าวของเขากันอยู่เยอะ แต่ถึงไม่ต้องพิมพ์ข่าวแผ่นเดียวกัน ข่าวมันก็เหมือนกันหมด เพราะว่ามันทำด้วยกัน แบ่งข่าวกัน บรรดานักข่าวอาวุโสก็เริ่มกังวลกับนักข่าวรุ่นใหม่ของเขามากในเรื่องการลอกข่าว ว่าจะแก้ไขการทำข่าวร่วมกันได้อย่างไร

 

ในแง่นี้ เราจะเห็นได้ว่า เนื้อหาสาระมันเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ข่าวแบบไหนที่กำลังเป็นวาระสาธารณะของสังคมก็จะหยิบมาพูดถึง ไม่พูดไม่ได้ นี่คือทิศทางเดียวกันแล้ว มีสื่อมวลชนน้อยมากที่เลือกจะลงไปอยู่กับชาวบ้านตามหมู่บ้าน ฝังตัวอยู่ในนั้นแล้วเขียนข่าวขึ้นมา ส่วนใหญ่ก็วิ่งตามกระแส

 

4. ผู้รับสาร ความที่มันเป็นสังคมมวลชน ผู้รับสารก็เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่มาก สื่อมวลชนมักจะทำให้ผู้รับสารเป็นเพียงแค่ผู้รับ คือ ตั้งรับฝ่ายเดียว ผู้รับสารที่จะเข้ามาร่วมกระบวนการผลิตในสื่อมวลชนมีน้อยมาก และจะมีลักษณะตั้งรับ หรือ Passive คือ รับสารเฉย ๆ ไม่คิดอะไร ยิ่งรับมากยิ่งเกิดความเคยชิน ไม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์มากนัก เพราะผู้รับสารบ้านเราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

 

5. ผลกระทบทางสังคมของสื่อสารมวลชน จากองค์ประกอบของลักษณะสื่อสารมวลชนเท่าที่พูดมา เราจะเห็นว่าจริง ๆ แล้วสื่อก็ถูกควบคุมด้วยระบบกลไกต่าง ๆ มากมาย เมื่อสื่อถูกควบคุม สังคมที่รับสื่อก็ถูกควบคุมความคิดไปด้วย และสังคมนั้น คือผู้รับสารก็ไม่ได้ลุกขึ้นมาตรวจสอบสื่อ มันก็หมุนกันอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นความคิดที่ผู้รับสารได้รับจึงไม่ได้เป็นความคิดของสื่ออย่างเดียว สื่อก็ถูกควบคุมถ่ายทอดความคิดมาจากกลุ่มอำนาจอีกทีเหมือนกัน มันจะต่อกันไปเรื่อย ๆ นี่คือสภาพของสังคมมวลชนในบ้านเรา

 

ลักษณะของสังคมสารสนเทศ (Information society)

 

เชิงปริมาณ คือ สังคมที่มีขนาดใหญ่ มีคนจำนวนมาก มีการอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย แต่ในการกระจัดกระจายจะมีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มก้อนทั่วๆไป ซึ่งแต่ละกลุ่มจะเป็นกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะส่วน

 

เชิงสังคมและวัฒนธรรม คือ ความที่มีคนอยู่จำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ

 

1. สภาพที่คนไม่รู้จักกัน เรียกว่ารู้หน้าแต่ไม่รู้ใจ เช่น เราขึ้นรถเมล์มีคนอยู่ประมาณ 60-70 คน เราไม่ได้รู้ใจทุกคนที่อยู่บนรถ เราได้แต่เห็นว่าคนนี้หน้าตาแบบนี้ และเราก็จะมีแนวโน้มที่ไม่อยากรู้จักคนมาก เพราะมันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรู้จักคนขนาดนั้น

 

2. มีความแปลกแยก เราเริ่มแปลกแยกตัวเองจากคนทั้งหลายในสังคม เพราะยิ่งเราเจอคนเยอะ มันก็จะเป็นสภาพตอบสนองของร่างกายและจิตใจ ยิ่งเราต้องเผชิญกับคนจำนวนหนึ่งที่เราไม่รู้ใจ เราก็อยากถอยกลับมาอยู่กับตัวเราเองมากกว่า เพราะฉะนั้นจะเกิดความแปลกแยกโดดเดี่ยวมากขึ้น

 

มนุษย์ผู้โดดเดี่ยวแปลกแยกในสังคมบริโภคนิยม

 

ผู้คนในสังคมมวลชนมีลักษณะแปลกแยก คือ อยู่ท่ามกลางฝูงชนจำนวนมาก แต่มีความรู้สึกโดดเดี่ยว บางทีนั่งทำงานอยู่ในห้องที่มีคนแวดล้อมเป็นสิบ ๆ แต่รู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนอยู่คนเดียว ทั้งที่พูดกับใครก็ได้ แต่ความรู้สึกโดดเดี่ยวมันมากขึ้นทุก ๆ ที เมื่อโดดเดี่ยวมากขึ้น แปลกแยกมากขึ้น สิ่งที่คนในสังคมมวลชนเลือก คือเลือกที่จะบริโภค เพราะฉะนั้นมันจะเป็นสังคมบริโภคนิยมมาก ยิ่งโดดเดี่ยวมากก็ยิ่งวิ่งเข้าหาการบริโภคมาก เพราะว่าการบริโภคไม่ว่าจะในแง่ของการบริโภคสินค้าก็ดี เป็นการบริโภคเพื่อความพึงพอใจของตนเองในทุก ๆ ด้าน

 

แม้แต่การบริโภคสื่อ มันเป็นการชดเชยและตอบสนองความโดดเดี่ยวที่เขาสร้างขึ้น ที่เห็นชัดเจนมากในเรื่องของสื่อคือ พอเรากลับถึงบ้านคนส่วนใหญ่ก็ปิดประตูห้องเปิดทีวีดู แล้วบ้านส่วนใหญ่ก็มีทีวีเกือบทุกห้อง คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่กับทีวีมากที่สุดในบรรดาสื่อทั้งหลาย วิทยุก็ส่วนหนึ่ง นี่เรียกว่า “พฤติกรรมโต้กลับความโดดเดี่ยว” ก็คือ พอกลับถึงบ้านยิ่งโดดเดี่ยวหนัก เพราะเราปิดช่องทางการสื่อสารกับคนอื่น คนในสังคมมวลชนส่วนใหญ่จะเลือกสื่อสารกับสื่อ กับวัตถุสิ่งของที่เขาเลือกบริโภค เช่น มีความสุขกับการไปชอปปิ้ง มีความสุขกับการมีรถหรู ๆ นั่งในรถและก็ได้สื่อสารกับรถตัวเอง มีความสุขกับการอยู่บ้านที่อยู่แล้วสบาย โฆษณาบ้านปัจจุบันจะมีการล่อหลอกคนเยอะมาก เขาไม่บอกว่า “ซื้อบ้านนี้เถอะ อยู่ไปเพื่อกันตาย” “เป็นที่ซุกหัวนอนที่ดีที่สุดของคุณ” คงไม่มีใครอยากซื้อ แต่จะบอกโดยใช้ภาษาโฆษณาว่า “อัครฐานแห่งคนมีระดับ” หรือ “ความอบอุ่นที่สุดของชีวิต” “เป็นคำตอบ เป็นสัจธรรมของชีวิต” อะไรทำนองนี้ ภาพก็จะเป็นคุณพ่อขับรถหรูกลับมาถึงบ้าน แม่กับลูก ๆ ก็จะออกมาต้อนรับ

 

ลักษณะแบบนี้คือสังคมมวลชน คนจะเริ่มให้ความหมายของตนเองกับวัตถุที่บริโภคมากขึ้น เพราะเราไม่สามารถทำให้คนที่เราไม่รู้จักบอกเราได้ว่าเราเป็นใคร ฉะนั้นการจะบอกว่าตัวตนของเราเป็นใคร ก็โดยการบอกผ่านสิ่งที่เราบริโภค ผ่านเสื้อผ้าที่เราใส่ ผ่านอาหารที่เรากิน ผ่านวัตถุที่เรามี ถ้าเราต้องการให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนมีระดับ เราก็ต้องใช้รถมีระดับ

 

เพราะฉะนั้น สังคมมวลชนยิ่งผลักให้คนบริโภคมากขึ้น เพียงเพื่อจะบอกว่าเราเป็นใคร แค่คนเขารู้ว่าเราเป็นใครเท่านั้นเราก็พอใจแล้ว เราไม่อยากรู้จักคน ไม่ได้อยากพูดคุยกับใคร มันก็โยงมาถึงทฤษฎีมาร์กซิสม์ที่ได้พูดเอาไว้ว่า สังคมมวลชนมีกลยุทธหรือยุทธศาสตร์ของการทำให้คนตกอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า จิตสำนึกเทียม คือ หลอกคนเอาไว้โดยสร้างจิตสำนึกแบบเทียม ๆ ขึ้นมา ซึ่งจิตสำนึกเทียมจะสร้างให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า นี่คือความจริง นี่คือสัจธรรมสูงสุดที่เราไขว่คว้าหามา แต่ความจริงแล้วมันเทียม เช่น การมีวัตถุสิ่งของทั้งหลายแล้วคิดว่านี่คือความจำเป็นของชีวิต โดยที่เรามองไม่เห็นช่องทางอื่น เป็นต้น จิตสำนึกเทียมมันยังควบคู่กับคำว่า “ความจำเป็นเทียม” สิ่งที่เราบริโภคอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแต่เป็นความจำเป็นเทียมทั้งหมด

 

เคยมีอาจารย์บางท่านอธิบายว่า เสื้อผ้าส่วนใหญ่มีไว้เพื่อสวมใส่ให้มันดูเหมาะสมกับร่างกายของเรา แต่ถามว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงซื้อเสื้อผ้าบ่อยมาก ทั้งที่เสื้อบางตัวมันยังไม่ขาดเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ทำไมเราจึงหยิบมันทิ้งหรือบริจาคมันไป ก็เพราะว่า คุณค่าในเชิงใช้สอยของเสื้อผ้ายังมีอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คุณค่าในเชิงจิตสำนึกไม่มีแล้ว คือจิตสำนึกที่จะสร้างเรา เราใส่แล้วเราพอใจ ใส่แล้วมีความสุข ที่เขาเรียกว่า “คุณค่าในเชิงสัญลักษณ์” มันหมด ไม่มีอีกต่อไปสำหรับเรา ใส่ไปแล้วรู้สึกไม่ใช่เรา รู้สึกอับอายขายหน้าไม่กล้าออกจากบ้าน มันไม่มีคุณค่ากับเรา เราจึงตัดสินใจโยนทิ้ง

 

การบริโภคในสังคมมวลชน เป็นการบริโภคเพื่อคุณค่าเชิงสัญลักษณ์มากกว่าคุณค่าเชิงประโยชน์ใช้สอย เมื่อเรากินข้าวแกงจานละไม่กี่บาทเราก็อิ่มท้องเหมือนกัน แต่ทำไมเราต้องไปกินแม็คโดนัลด์ ซึ่งชิ้นหนึ่งก็ราคา 50-60 บาท ทำไมเป็นอย่างนั้นถ้าไม่ใช่เพราะว่ามันให้คุณค่าเชิงสัญลักษณ์กับเรา นี่คือลักษณะของสังคมมวลชนซึ่งมันเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจ กลุ่มอำนาจ และสื่อมวลชน เข้าไปใช้ประโยชน์จากลักษณะนี้มากขึ้น

 

ประชา หุตานุวัตร: ขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่อาจารย์พูดถึง “คุณค่าเชิงประโยชน์ใช้สอยกับคุณค่าเชิงสัญลักษณ์” เปรียบเทียบกับภาษาของผมก็คือ คุณค่าแท้กับคุณค่าเทียม คุณค่าเทียมก็คือสัญลักษณ์ที่สร้างว่าเราเป็นใคร โดยการขยายสภาวะของความขาดดุล คือขยายอัตตาของเรา มนุษย์คนหนึ่งมีแนวโน้มที่อยากให้ตัวเองรู้สึกว่า ตัวเองดี พิเศษ น่ารัก ก็ใช้ตัวนี้ (คุณค่าเทียม) เป็นสื่อ ซึ่งก็ทำให้เราตกเป็นเหยื่อของสื่อ โดยการนิยามตัวเรา เช่น จากรถที่เราขับ เสื้อผ้าที่เราใส่ เป็นการใช้ประโยชน์จากสภาวะอุปทานเพื่อให้คุณค่าเทียมเป็นที่นิยมมากขึ้น

 

อ.วิลาสินี: ในจุดนี้ พระนักบวชช่วยได้มากในการพยายามเตือนสติคน ว่าเรากำลังตกอยู่ในจิตสำนึกเทียมอย่างไรบ้าง ถ้าพูดบ่อย ๆ อาจจะกระตุกจิตสำนึกของคนได้เยอะ เรื่องการนิยามเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดมาก ตอนนี้สิ่งที่ทำให้สาวไทยคลั่งมากที่สุดคือ เรื่องความขาวกับความหอม โฆษณาว่าใช้แล้วจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ซึ่งโฆษณาพวกนั้นกำลังสร้างนิยามให้คนจำนวนมาก และคนก็ตกเป็นเหยื่อของสังคมบริโภค คนในสังคมมวลชนมักจะเป็นคนที่อ่อนแอกว่า เช่น ผู้หญิง เด็ก หรือแม้แต่ผู้ชายก็ตกเป็นเหยื่อที่ต้องการให้ผู้หญิงของตนเองเป็นอย่างนั้น มันก็มีผลทำให้ผู้หญิงที่มักคิดว่าตัวเองต้องพึ่งพาผู้ชาย ต้องไปขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้มาใช้

 

มีคำถามถึงเรื่องว่ามีทฤษฎีของสื่อที่ว่าด้วยหน้าที่ของสื่อในการนำเสนอข่าวเพื่อประชาชน ชุมชน คนไร้เสียง หรือไม่ อย่างไร?

 

มันก็น่าแปลกที่มันไม่มีอยู่ในทฤษฎี แต่ก็พูดคุยเรื่องนี้กันอยู่ และตอนนี้กำลังมีแนวคิดใหม่ที่พยายามสร้างขึ้นมาเพื่อสอนหนังสือ แต่ก็ไม่ใช่ว่าอาจารย์ทุกคนที่สอนนิเทศศาสตร์จะใช้แนวคิดนี้ จะมีอาจารย์บางกลุ่มเท่านั้นที่ใช้ เราเรียกว่า “การสื่อสารเพื่อประชาสังคม” ซึ่งมันเป็นแนวโน้มที่กระแสสังคมกำลังไปในแนวประชาสังคมนี้ด้วย เราก็จะพยายามเอาแนวคิดประชาสังคมมาจับกับแนวคิดการสื่อสาร จับกับแนวคิดการทำข่าว แล้วสอนลูกศิษย์ว่า การสื่อข่าวที่ดี คือ การให้พื้นที่กับเสียงของคนเล็ก ๆ

 

มีหลักการอยู่ข้อหนึ่งซึ่งต่อสู้กับมันมานานมาก คือ หลักแห่งความเป็นกลาง (Objectivity) โดยส่วนใหญ่คนทำสื่อจะถูกพร่ำสอนว่า สื่อมวลชนจะต้องมีหลักข้อนี้เป็นหลักใหญ่ที่สุด แต่ความเป็นกลางของสื่อคือ การไม่ใส่อารมณ์และทัศนคติของตนเองเข้าไปในการนำเสนอข่าว แต่ในปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลย สื่อก็มีทัศนคติสอดแทรกเสมอ หลักความเป็นกลางนี้มันยังไปกำหนดว่าคุณต้องให้ความเท่าเทียมกับแหล่งข่าวด้วย

 

สมมติว่าเกิดปัญหาเรื่อง เขื่อนปากมูล สื่อมักจะชอบอ้างความเป็นกลางเสมอในการลงไปทำข่าวพวกนี้ การอ้างความเป็นกลางก็คือ สื่อเสนอข่าวทั้งฝ่ายรัฐบาลและประชาชนเท่า ๆ กัน แล้วก็เป็นอย่างนี้มาตลอด แต่ในความเป็นจริง คำว่า “ฝ่ายประชาชนเท่ากับฝ่ายรัฐบาล” มันก็ไม่เท่ากันจริง เพราะว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่สื่อเอาไปนำเสนอมักจะมาจากฝ่ายรัฐ พอถามกลับเขาก็บอกว่า ชาวบ้านพูดไม่รู้เรื่อง เวลาเขาลงไปก็ไม่รู้จะเขียนข่าวยังไง ในขณะที่ภาครัฐพูดรู้เรื่อง ภาครัฐมาพร้อมด้วยข้อมูลข่าวแจกพร้อมหมด ซึ่งแน่นอนคนเป็นรัฐเขาจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ดีกว่า เขามีตัวเลขที่อ้างอิงเชื่อถือได้ เพราะว่าสื่อมวลชนจะถูกสอนว่า ข่าวต้องเชื่อถือได้ คำว่า “เชื่อถือได้” คือ มีแหล่งข่าวอ้างอิง มีตัวเลข มีงานวิจัย มีอะไรชัดเจน เขาถึงจะกล้านำเสนอ ในขณะที่ป้าคนหนึ่งมาพูด ไม่มีอะไรเลย สำหรับนักข่าวก็คือเชื่อถือไม่ได้ ในที่สุดความเป็นกลางมันไม่ได้เท่ากันระหว่างรัฐกับชาวบ้าน มันหมายถึงว่าถ้าซีกรัฐบาลพูดได้รู้เรื่องมากกว่า เชื่อถือได้มากกว่า ก็เป็นข่าวมากกว่า

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามสอนลูกศิษย์ตลอดเวลาคือ ต่อไปนี้เลิกไปได้แล้วหลักการความเป็นกลาง มันไม่มีมานานแล้ว และไม่ควรมีอีกต่อไป ทำไมเราไม่คิดกันใหม่ว่า ข่าวมันไม่จำเป็นต้องมีความเป็นกลาง แต่มันต้องเป็นธรรม คือที่ผ่านมาเราเห็นว่า โอกาสที่เสียงของชาวบ้านจะได้เข้ามาเป็นสื่อน้อยมาก ทำไมเราไม่ให้เสียงเขามากกว่า ต่อให้ชาวบ้านนั้นจะเป็นเพียงแค่กลุ่มน้อยก็ตาม แต่ถ้าเทียบกับฝ่ายรัฐในเชิงปริมาณ รัฐบาลจะมีปริมาณที่มากกว่า ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะน้อยกว่า แต่เขาก็แทบจะไม่มีเสียง ถ้าเขาไม่เคยมีเสียงก็ควรให้เสียงเขามากกว่า

 

นี่ก็เป็นแนวคิดการสื่อสารประชาสังคมที่พยายามจะสอนนักศึกษา รวมถึงพยายามจะสอนหลักการทำข่าวด้วยว่า การทำข่าวที่ดีก็คือ คุณไม่ต้องนั่งประจำกระทรวงหรือหน่วยงานของรัฐ แต่คุณเอาตัวคุณออกไปอยู่กับชาวบ้าน ที่ผ่านมาชาวบ้านจะเป็นข่าวก็ตอนที่ยกขบวนมาประท้วงที่หน้าทำเนียบ ก็บอกเขาว่า ไม่จำเป็นเลยทำไมคุณไม่ลงไปอยู่กับเขาเสียก่อนที่เขาจะเดือดร้อนแล้วออกมา แล้วข่าวประชาสังคมก็คือข่าววิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ซึ่งถ้าคุณไปอยู่ร่วมกับชาวบ้านในนั้น คุณก็จะมองเห็นว่ามันมีเรื่องราวที่น่าทำเยอะแยะ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับรู้ เราก็พยายามจะใช้แนวคิดนี้เข้าไปสอนตลอด แต่ว่ามันก็ยังเป็นกลุ่มเล็ก ๆ

 

“องค์ความรู้” ของสื่อกระเเสหลัก กับ “ความจริง” ของชาวบ้าน

 

จากที่มีคำถามว่า สื่อนอกจากไม่มีความเป็นกลางแล้ว ยังมีการบิดเบือนอีกด้วย สมมติว่าในกรณีที่ชาวบ้านเข้ามาประท้วง สิ่งที่จะเห็นเป็นข่าวขึ้นมาคือ ชาวบ้านประท้วง แล้วเกิดความรุนแรง เกิดการปะทะกัน นักข่าวก็จะไปสัมภาษณ์รัฐบาล รัฐบาลจะพูดอะไรก็แล้วแต่ในเรื่องที่มีการปะทะกัน แต่ไม่มีการกำกับว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นเราไม่มีทางที่จะรับรู้ว่าปัญหาตรงนั้นคืออะไร?

 

อย่างที่พูดไปแล้วว่า สื่อไม่ได้ลงทุนที่จะเข้าไปอยู่กับชาวบ้านหรือไปรู้จักชาวบ้านกลุ่มนั้นเสียก่อน เขาไม่ลงทุนแน่นอนอยู่แล้ว เพราะว่าโดยโครงสร้างที่มันถูกกำหนดด้วยความเป็นอำนาจทุน อำนาจธุรกิจต่าง ๆ เขาไม่เสียเวลาที่จะให้นักข่าวหนึ่งคนไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ลำบากมาก ๆ ว่าทำอย่างไรจึงจะมีสื่อที่ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าสื่อจะเลวหมด สื่อที่ลงทุนอย่างนั้นก็มี แต่น้อยมาก หรือไม่ก็เป็นสื่อทางเลือก อย่างที่มีคนถามว่า สื่อทางเลือกมีได้ไหม มีก็ได้ แบบนี้แหละ คุณก็ขายแบบทางเลือก ความที่เป็นสื่อทางเลือกมันก็จะไม่ออกมาขายตามแผงหนังสือตามท้องตลาด ก็คือ ทำแล้วขายเอง ผลิตเอง เขียนด้วยมือก็มีที่เรียกว่าหนังสือทำมือ ไปวางขายตามซุ้มโค้กบ้าง มันก็ขายได้จำกัด แต่เพราะความที่มันเป็นสื่อทางเลือกที่ไม่ต้องใช้ทุนมาก มันก็ส่งผลให้สามารถที่จะทำเนื้อหาจากสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ว่ามันก็ยังเป็นสื่อทางเลือกอยู่ดี ไม่มีวันจะเป็นสื่อกระแสหลักได้ แต่บางครั้งเราอาจพอใจที่มีสื่อทางเลือกเยอะ ๆ เพื่อเอามาคัดง้างกับสื่อกระแสหลักเหล่านี้

 

ในสังคมไทยจำเป็นจะต้องมีสื่อทางเลือก จำเป็นต้องมีคนทำสื่ออย่างนี้เยอะ ๆ เพียงแต่เราต้องถามตัวเองว่า ถ้าเรารับไม่ได้กับกระแสข่าวแบบนี้ เราก็น่าจะไปสนับสนุนให้สื่อทางเลือกมีมากขึ้นเรื่อย ๆ คือตัวเราเองก็ต้องทำตัวเป็นทางเลือกเหมือนกัน
ในแง่ที่บอกว่าเวลามีข่าว สื่อจะบิดเบือน ซึ่งก็ใช่ แต่ใช่ว่าสื่อตั้งใจจะบิดเบือนอย่างเดียว เพราะบางครั้งอาจทำไปโดยความไม่รู้ก็ได้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เวลาคุยกับสื่อแล้วรู้เลยว่าสื่อไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเขาจะตั้งใจบิดเบือน เขามีความรู้จำกัดในหลาย ๆ เรื่อง ยิ่งความรู้ที่เกี่ยวกับชุมชน ชาวบ้าน หรือเรื่องอะไรต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่เขาเคยได้รับรู้มา เมื่อเขาไม่รู้ เขาก็เอาสิ่งที่เรียกว่า “องค์ความรู้แบบเขา” มาใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์นั้น ๆ เช่น ความรู้ในเรื่องของชาวบ้านมีจำกัด สิ่งที่เขารู้ก็คือ ชาวบ้านต้องก่อความรุนแรงตลอด ชาวบ้านเคลื่อนขบวนมาทีไรมีแต่ความเสียหาย นั่นคือประสบการณ์ชุดเดียวที่เขามีอยู่ พอเห็นชาวบ้านมาประท้วง เขาก็เอาความรู้ชุดเดียวนี้ไปใช้ในการเสนอข่าว ใช้ในการตีความเหตุการณ์อย่างนั้น เราผู้อ่านก็จะได้อ่านได้รับรู้แต่เนื้อหาอย่างนี้ตลอด ถ้าจะว่าไปแล้วสื่อมวลชนก็น่าสงสาร เพราะการที่เขาไม่รู้ก็จะถูกปิดกั้นโอกาสที่จะรู้ด้วย บวกกับการที่เจ้าของก็ไม่ลงทุนกับเขาที่จะให้เขาไปอยู่ในหมู่บ้าน ไม่ลงทุนที่จะให้เขามีการพัฒนา
[1] การที่คนในชุมชนรวมตัวกันเพื่อทำสื่อวิทยุ การดำเนินการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตกลงว่าจะมีวิทยุ การจัดระบบบริหาร การระดมทุน การร่วมวางผังรายการ จัดรายการ และร่วมรับฟังประเมินผล
วิทยุชุมชนเป็นสถานีวิทยุขนาดเล็ก กระจายเสียงในรัศมี 10-20 กิโลเมตร หรือภายใน 1 หรือ 2 ตำบล ชุมชนสามารถดูแลได้เอง ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 ที่กำหนดให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ความเคลื่อนไหวของวิทยุชุมชนขณะนี้เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระที่จะเข้ามาทำหน้าที่จัดสรรและดูแลคลื่นความถี่ ซึ่งถ้าเป็นไปได้จริง องค์กรอิสระต้องจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุให้กับวิทยุชุมชน 20% ซึ่งขณะนี้มีชุมชนที่จัดทำวิทยุชุมชนแล้วประมาณร้อยกว่าแห่งทั่วประเทศ

 

[2] กสช. – คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามบทบัญญัติมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

Read Full Post »