recommendare
สรุป จากบทความเรื่อง
“กระบวนการสร้างสื่อ : Process of Media Construction”
เขียน โดย
Michael O’Shaughnessy
Jane Stadler
Oxford University Press
Second edition, 2002
กระบวนการสร้างสื่อ
Process of Media Construction
การเป็นสื่อกลางและการเป็นตัวแทนนำเสนอ
mediation & representation
การเป็นตัวแทนนำเสนอ Representation
อย่างที่ทราบกันเกี่ยวกับคำอ้างในเชิงที่ว่า “ภาษา”ได้สร้างโลกใบนี้และความจริงขึ้นมาโดยการตั้งชื่อ และด้วยเหตุนี้ มันจึงได้ประเมินคุณค่า, จัดแยกประเภท, ให้นิยาม, และทำหน้าที่ตัวแทนนำเสนอออกมา
สื่อต่างๆเป็นองค์ประกอบของระบบภาษาอันหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงภาษา มันจึงประยุกต์ใช้กับสื่อได้ด้วย. ภาษาและสื่อคือระบบของการเป็นตัวแทนนำเสนอ. “การเป็นตัวแทนนำเสนอ”จึงเป็นแนวความคิดหลักอันหนึ่งในการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ ซึ่งมีอยู่ 3 ความหมายคือ
1. ดูเหมือน หรือคล้ายคลึง
2. เป็นตัวแทนสำหรับบางสิ่งบางอย่าง หรือบางคน
3. นำเสนอเป็นครั้งที่สอง – เสนอซ้ำ(re-present)
การเป็นตัวแทนของภาษาและสื่อ กระทำทั้ง 3 ความหมายนี้
เรารู้จักและเข้าใจโลกโดยผ่านภาษา และโดยผ่านตัวแทน. อันนี้มิได้เป็นการปฏิเสธว่า มีโลกของความเป็นจริงดำรงอยู่ – แน่นอน มีโลกของความจริง – แต่ในที่นี้ต้องการจะกล่าวว่า การเรียนรู้ทั้งหมดของเราเกี่ยวกับโลกได้ถูกสื่อโดยภาษา. มันเป็นความสัมพันธที่สลับซับซ้อนอันหนึ่ง ระหว่าง”การเป็นตัวแทนนำเสนอ”กับ”ความเป็นจริง”
ดังที่ Richard Dyer เสนอ:
มันคือดินแดนที่ยุ่งยาก ข้าพเจ้ายอมรับว่า คนเราเข้าใจความจริง เพียงผ่านตัวแทนต่างๆของความเป็นจริง: ผ่านตำราหรือหนังสือ, วาทกรรม, ภาพต่างๆ; ไม่มีสิ่งนั้นที่เข้าหาความจริงโดยไม่ผ่านสื่อ. แต่เพราะว่าเราสามารถมองเห็นความจริงเพียงผ่านตัวแทนเท่านั้น มันไม่ได้หมายความตามมาว่า เราไม่อาจเห็นความจริงได้… ความจริงมักจะกว้างขวางเสมอและสลับซับซ้อนเกินกว่าระบบตัวแทนใดๆที่จะสามารถเข้าใจมันได้ และด้วยเหตุนี้ เรามักจะรู้สึกว่า”การเป็นตัวแทน”จึงไม่เคยบรรลุถึง”ความจริง” ซึ่งอันนี้คือเหตุผลที่ว่า ทำไมประวัติศาสตร์ของมนุษย์จึงสร้างขึ้นมาในหนทางที่แตกต่างกันมาก และมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการต่างๆเกี่ยวกับความพยายามที่จะบรรลุถึงมัน (Dyer 1993, p.3)
สิ่งที่ Dyer นำเสนอในที่นี้คือ เมื่อเรารู้สึกว่า “ภาษา”และ”ตัวแทน”มันไม่ได้กระทำการอย่างเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมาต่อผัสสะของเราเกี่ยวกับความจริง เราจึงต้องค้นหาหนทางใหม่ๆเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนหรือการนำเสนอมัน และอันที่จริง อันนี้คือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งพัฒนาแบบหรือวิธีการใหม่ๆขึ้นมาอยู่อย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการเป็นตัวแทน และได้ค้นพบหนทางใหม่ๆเกี่ยวกับการมองความเป็นจริง
ในที่นี้คือตัวอย่างอีกอันหนึ่งซึ่งบอกกับเราว่า เราไม่ได้ถูกทำให้ติดกับหรือติดตายทั้งหมด เหมือนกับซี่ล้อหรือฟันเฟืองต่างๆในระบบของการเป็นตัวแทน เราสามารถที่จะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้นิยามภาษาขึ้นมาใหม่ เพื่อประดิษฐ์คิดสร้างภาษาใหม่ต่างๆ. แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นแกนกลางของเรื่องนี้ก็ยังคงอยู่ ที่ว่า เรายังคงล่วงรู้ความจริงโดยผ่านตัวแทนหรือการนำเสนอต่างๆอยู่นั่นเอง: มันไม่มีสิ่งนั้น ที่เข้าถึงความจริงได้โดยไม่ผ่านสื่อ (there is no such thing as unmediated access to reality” (Dyer 1993)
เราสามารถที่จะ”ปราศจากอคติ”ได้ไหม เกี่ยวกับการนำเสนอภาพตัวแทนของโลกในลักษณะที่เป็นภววิสัย? คำตอบก็คือ”ไม่ได้”. เพราะว่าการนำเสนอหรือการเป็นตัวแทนนั้นมาจากมนุษย์ มันมาจากฐานะตำแหน่งที่เฉพาะบางอย่าง ดังนั้น มันจึงมีลักษณะสัมพันธ์; มันจะนำพาเอาอคติบางอย่างของคนๆนั้นหรือกลุ่มคนกลุ่มนั้นมาด้วย เช่นเดียวกับบทความชิ้นนี้ที่ได้นำพาเอาอคติและฐานะตำแหน่งบางอย่างมาเช่นเดียวกัน
ถ้าเช่นนั้น ตัวแทนและการนำเสนอ”ความจริง”สามารถเป็นไปได้หรือไม่ และอย่างไร? ในท้ายที่สุด อันนี้คือบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องตัดสินเพื่อตัวเราเอง
เราอาจตัดสินใจว่าการนำเสนอหรือการเป็นตัวแทนชุดหนึ่ง เป็นความจริง หรือนั่นมันเป็นความจริงมากกว่าอันอื่นๆเท่านั้น – กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นั่นมันคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้เพียงเท่านี้. อันนี้คือฐานะตำแหน่งของข้าพเจ้า. ขณะที่เราเติบโตขึ้นมาและเรียนรู้ เราค้นพบแบบจำลองต่างๆที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเราว่า จะมองโลกและเข้าใจโลกนี้อย่างไร?
แผนที่ต่างๆตามขนบประเพณี มีแนวโน้มที่จะแสดงให้เห็นประเทศต่างๆอย่างไม่ถูกต้อง ในเรื่องของสัดส่วนเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งอันนี้เนื่องมาจากผลประโยชน์เกี่ยวกับพลังอำนาจอาณานิคมของชาวยุโรปนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ทวีปต่างๆซึ่งอยู่ทางตอนใต้จะถูกนำเสนอให้เห็นว่ามีขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง
– ทวีปยุโรปมีเนื้อที่ประมาณ 9.7 ล้านตารางกิโลเมตร แต่ปรากฎว่ามันมีขนาดใหญ่กว่าเนื้อที่ของอเมริกาใต้ทั้งหมดซึ่งมีเนื้อที่อยู่ถึง 17.8 ล้านตารางกิโลเมตร…
– อเมริกาเหนือซึ่งปรากฎในแผนที่ ถูกทำให้ใหญ่กว่าทวีปแอฟริกาอย่างน่าพิศวง ซึ่งมีเนื้อที่อยู่ราว 30 ล้านตารางกิโลเมตร ตามข้อเท็จจริงนั้น อเมริกาเหนือมีขนาดเล็กกว่า(มีเนื้อที่อยู่ราว 19 ล้านตารางกิโลเมตรเท่านั้น)
– สแกนดิเนเวีย มีเนื้อที่ประมาณ 1.1 ล้านตารางกิโลเมตร แต่ดูเหมือนว่ามันจะมีขนาดใหญ่เท่าๆกันกับประเทศอินเดีย ซึ่งมีเนื้อที่อยู่ถึง 3.3 ล้านตารางกิโลเมตร
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแผนที่ใหม่ขึ้น ซึ่งได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและไม่บิดเบือนเหมือนกับแผนที่ที่ใช้กันมาตามขนบจารีต… ไม่น้อยไปกว่าโลกทัศน์ของเราที่อยู่ระหว่างหน้าสิ่วหน้าขวาน… โดยการนำเสนอประเทศต่างๆทั้งหมดในขนาดที่เป็นจริงและตำแหน่งที่ตั้งซึ่งเป็นไปอย่างถูกต้อง แผนที่ใหม่นี้ยอมให้แต่ละประเทศ ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นจริงบนโลก (New Internationalist 1998)
ประเด็นต่างๆข้างต้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง. ถ้าคุณสามารถบรรลุถึงสิ่งเหล่านี้ได้ คุณก็จะคาดคะเนเรื่องบางอย่างได้! ลองนำเรื่องเหล่านี้ไปพูดคุยกับคนอื่นๆ และพยายามสังเกตว่าคนเหล่านั้นจะรู้สึกอย่างไร ต่อประสบการณ์ของคุณเองเกี่ยวกับเรื่องภาษา, สื่อ, และความเป็นจริง. ไอเดียหรือความคิดต่างๆเหล่านี้ นอนเนื่องอยู่เบื้องหลังถ้อยแถลงที่สำคัญที่ว่า:
“สื่อไม่ได้ผลิต, นำเสนอ, หรือแสดงให้เห็นโลกของความเป็นจริง มันได้สร้างความจริงและทำซ้ำความเป็นจริงต่างหาก”
เครื่องมือของสื่อ The Media Apparatus
ตามพยัญชนะแล้ว คำว่า”สื่อ”(media)หมายถึง”กลาง”(middle). “สื่อ”คือ”สิ่งที่อยู่ระหว่างกลาง”ของการสื่อสาร หรือ”เป็นสื่อกลาง”การสื่อสาร. มันคือเครื่องมือหรือวิธีการ ซึ่ง”ผู้ส่งสาร”(message senders)สามารถติดต่อสื่อสารกับ”ผู้รับสาร”ได้(message receivers). ใครก็ตามที่ต้องการสื่อสาร จะเลือกสื่อกลางอันใดอันหนึ่งที่จะกระทำภารกิจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน หรือรูปแบบบางอย่างที่นำเสนอด้วยภาพ(ภาพ, แผนภาพ, ภาพถ่าย, ภาพยนตร์ และอื่นๆ) หรือสื่อกลางอื่นๆ
ภาพข้างล่างต่อไปนี้จะทำให้เราเห็นชัดถึงวิธีการเกี่ยวกับการสื่อสาร ซึ่งได้ดัดแปลงมาจากหลักการของ Lasswell’s formula
ตามหลักการข้างต้น คำตอบของ What (อะไร) และ by What Means (โดยเครื่องมืออะไร), พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ message (สาร) และ the modes (วิธีการต่างๆ), ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสื่อต่างๆในทุกวันนี้. ในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่, สารต่างๆได้ถูกถ่ายทอดโดยผ่านเทคโนโลยีของการพิมพ์, ภาพยนตร์, วิดีโอ, โทรศัพท์, ระบบคอมพิวเตอร์, และอื่นๆ
เราต้องการเน้นกระบวนการเกี่ยวกับการเป็นสื่อกลาง. สื่อต่างๆมันยืนอยู่ระหว่าง”เรา”กับ”โลก”หรือ”ความเป็นจริง”. เราสามารถเข้าใจความสัมพันธ์ของเรากับโลก และสื่อต่างๆ ตามแบบจำลองหรือแผนภาพข้างล่างนี้
ข้อสังเกต ลูกศรสองหัวในแบบจำลองนี้แสดงว่า โลกมีผลกระทบต่อสื่อ และผู้รับสื่อเป็นผู้กระทำในการสร้างความหมาย(audiences are active in making meanings) – พวกเขาไม่เพียงเป็นฝ่ายรับแบบยอมจำนนต่อมัน (they don’t just passive receive them)
ในความสัมพันธ์กับสื่อทางสายตา(visual media) เช่น กับภาพถ่าย, ภาพยนตร์ วิดีโอ, และสื่อบันทึกเสียง มันถูกเสนอว่า พวกมันเป็นกลไกที่เป็นกลาง(neutral mechanisms) ซึ่งเป็นกระจกเงาหรือภาพสะท้อนเกี่ยวกับโลกที่แท้จริง มันเป็นเสมือนช่องหน้าต่างๆบานหนึ่งสำหรับเราหรือเป็นหูเป็นตาบนโลกใบนี้. ดังนั้น:
การศึกษาเกี่ยวกับสื่อ(media studies)ปฏิเสธแบบจำลองอันนี้ โดยหันไปเน้นที่การสร้างสื่อ, การเลือกสรรและการตีความแทน เพื่อพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนและนำเสนอ
(Model of the media-world relationship, stressing media construction, selection, and interpretation)
เราประสงค์ที่จะกล่าวซ้ำถึงประเด็นนี้อย่างแข็งขัน ในความสัมพันธ์กับสื่อทางสายตาที่มีฐานภาพยนตร์และสื่อที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกเสียง เนื่องจากคุณสมบัติที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่มีส่วนร่วมปันโดยภาพถ่าย, ภาพยนตร์, วิดีโอ และการบันทึกเสียง
สื่อและความจริง The Media and Reality
สื่อเป็นจำนวนมากและภาพการนำเสนอต่างๆทางด้านศิลปะ ได้อ้างอิงถึงสิ่งต่างๆที่มาจากโลกของความจริง. นวนิยาย, บทละคร, บทกวี, งานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพถ่าย, ภาพยนตร์, และวิดีโอ ทั้งหมดต่างมีเป้าประสงค์ที่จะสร้างวัตถุสิ่งของและผู้คนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ซึ่งนั่นคือส่วนหนึ่งของโลกที่เราอาศัยอยู่
แต่ภาพถ่าย, ภาพยนตร์, วิดีโอ, และการบันทึกเสียงมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันอันหนึ่งกับโลกของความจริงยิ่งกว่าเครื่องมืออื่นของการเป็นตัวแทน อย่างเช่น ภาษา, จิตรกรรม, และประติมากรรม. พวกหลังนี้สามารถผลิตซ้ำความจริงในวิธีการล้อเลียนได้ และด้วยเหตุนี้ พวกมันจึงปรากฎออกมาในลักษณะที่แสดงให้เราเห็นว่าเป็น “ความจริงที่ไม่เป็นสื่อกลาง”(unmediated reality)
สื่อพวกแรก(ภาพถ่าย, ภาพยนตร์, วิดีโอ, และการบันทึกเสียง)เหล่านี้อาจใช้ความประทับใจต่างๆที่เกิดขึ้นมาจากโลกของความจริง, เปลี่ยนมันเป็นดิจิตอล, หรือนำเสนอมันในรูปของภาพยนตร์, วิดีโอ, หรือเทปบันทึกเสียง เพื่อสร้างภาพและเสียงต่างๆขึ้น. อันนี้ต่างไปจากการใช้คำหรือภาษา, จิตรกรรม, และประติมากรรม ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยฝีมือและจินตนาการของศิลปิน
ภาพถ่าย, ภาพยนตร์, และวิดีโอ บันทึกความเป็นจริงที่ปรากฎ ซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น. ขณะที่เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำให้ทุกอย่างปรากฎออกมาในลักษณะภววิสัย, เป็นสายตาของมนุษย์, เป็นหูของมนุษย์ที่ได้ยิน, และแน่นอน มือได้สร้างสิ่งที่เป็นอัตวิสัย มันเป็นการถอดความต่างๆเกี่ยวกับโลก. อันนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้คนเชื่อในสัจนิยมเกี่ยวกับภาพต่างๆเหล่านี้(the realism of these images); เราคิดว่าเราเห็นหรือเราได้ยินความจริงนั้นจริงๆ เมื่อเรามองดูภาพถ่าย, ภาพยนตร์, และวิดีโอ หรือเมื่อเราได้ฟังบางสิ่งบางอย่างมาจากเครื่องบันทึกเสียงต่างๆ
เพราะสื่อเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อโยงกันอันหนึ่งระหว่าง”โลกของความจริง”กับ”วิธีการที่มันถูกประทับลงบนเซลลูลอยด์, การจัดแสง, หรือคลื่นเสียงต่างๆ มันเป็นความจริงบางอย่างในความเชื่อนี้ – และเป็นเพียงบางอย่างเท่านั้น(ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด). อันนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สื่อ”ความจริง”เหล่านี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาด้วย
1. สำหรับการเริ่มต้น เราไม่ได้เห็นความจริงที่เป็นสามมิติจริงๆ เราเพียงได้เห็นภาพสองมิติของความจริงเท่านั้น เช่นบนจอภาพยนตร์หรือทีวี เป็นต้น. Jean-Luc Godard กล่าวว่า: “นี่ไม่ใช่ภาพที่ถูกต้อง. ที่ถูกต้องคือมันเป็นภาพๆหนึ่งเท่านั้น”(This is not a just image. This is just an image).
คำพูดของเขานั้นหมายถึง 2 สิ่ง
อันดับแรก เขากำลังสร้างประเด็นทางการเมืองอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งภาพสื่อที่มาครอบงำของฮอลีวูดและสื่อกระแสหลักนั้น มันไม่ได้ให้ทัศนะที่ตรงไปตรงมาหรือถูกต้องเที่ยงธรรมเกี่ยวกับโลกในเทอมต่างๆของการเป็นตัวแทนและการนำเสนอของมัน และเกี่ยวกับความแตกต่างทางชนชั้นและทางสังคม
อันดับที่สอง เขากำลังพูดว่า ภาพต่างๆที่เราเห็น มันเป็นเพียงภาพเท่านั้น – พวกมันไม่สามารถให้ความจริงกับเราได้ หมายถึงสิ่งที่เป็นจริง. เขายังวิจารณ์ด้วยว่า “ภาพถ่ายไม่ได้เป็นการสะท้อนเกี่ยวกับความเป็นจริง แต่มันคือความจริงของการสะท้อนอันนั้น”(A photograph is not the reflection of reality, but the reality of that reflection)(Harvey 1978, p.71).
Rene Magritte ได้ดูดดึงความสนใจไปสู่ธรรมชาติที่เป็นมายาการของภาพต่างๆในงานจิตรกรรมของเขาเป็นจำนวนมาก, รวมถึงภาพที่มีชื่อเสียงของเขาที่ชื่อว่า”This is Not a Pipe”. งานจิตรกรรมชิ้นนี้ได้ดึงความสนใจของเราไปสู่ข้อเท็จจริงที่ว่า ภาพกล้องยาสูบ(pipe)เป็นเพียงเส้นและสีง่ายๆที่ดูเหมือนกับกล้องยาสูบ(pipe), นั่นมันไม่ใช่ของจริงซึ่งมันอ้างถึง
2. ข้อต่อมา ภาพยนตร์ ภาพถ่าย และภาพวิดีโอ มันเพียงให้ภาพสิ่งที่เราเห็นแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น และมีลักษณะเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังดูอยู่. เราเพียงเห็นมันจากมุมๆหนึ่งเท่า ด้วยภาพๆหนึ่งและด้วยแสงที่เฉพาะ. เราไม่สามารถโอบกอดความจริงทั้งหมดได้บนจอภาพ
มันมีกระบวนการมากมายเกี่ยวกับการคัดสรร และการคัดออกไป ในวิธีการที่สิ่งต่างๆถูกแสดงให้เราเห็น และวิธีการการถ่ายทำแต่ละครั้ง(ช็อต)ซึ่งแตกต่างกัน ถูกนำมาเสนอเข้าด้วยกัน. การตัดต่อหรือเรียบเรียง(editing) จะทำการคัดสรรและตัดเอาเนื้อหาหรือภาพบางส่วนออกไป. ทางเลือกต่างๆนั้นได้ถูกสร้างขึ้น ซึ่งมันได้ผลิตข้อคิดหรือแง่มุมที่มีลักษณะเฉพาะอันหนึ่งขึ้นมา และให้ความหมายที่จำเพาะบางอย่างต่อสิ่งที่เราเห็น. ข้อคิดเห็นหรือคำอธิบายภาพที่มาด้วยกันยังบอกถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวิธีการที่มีลักษณะเฉพาะอันหนึ่ง. การบันทึกเสียงก็เป็นสิ่งที่มีเลือกสรรเท่าๆกัน.
3. ท้ายสุด ภาพต่างๆได้ถูกนำไปเชื่อมโยงเข้าด้วยกันกับระบบที่ใหญ่กว่าของการเล่าเรื่องและแบบฉบับ ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อการที่เราเห็นมันอย่างไรด้วย. ในระบบต่างๆเหล่านี้ สื่อมีแนวโน้มที่จะซ่อนเร้นกระบวนการเกี่ยวกับการสร้างในตัวของมันเอง(hide their own process of construction). โดยนัยนี้เราหมายความว่า เมื่อพวกเขาแสดงภาพเหตุการณ์ต่างๆที่สื่อออกมาให้เห็น พวกเขามีจุดประสงค์ที่จะทำให้มันไหลไปอย่างราบรื่น โดยไม่แสดงให้เราเห็นถึงกระบวนการสร้างที่มีความเป็นมาและเป็นไปอย่างไร
เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทั้งหมดของการนำเสนอ – เช่น ตัวหนังสือวิ่ง(autocue)ที่ผู้ประกาศข่าวใช้(อยู่หลังกล้อง), การจัดแสง, เครื่องเสียง, อุปกรณ์กล้อง, และอื่นๆ – จะถูกซ่อนจากสายตาของผู้ชม. เหตุการณ์ต่างๆดูเหมือนจะเผยออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับว่ามันกำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา
ในข้อที่สามนั้น ไม่ค่อยจะจริงแล้วนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990s เป็นต้นมา. บางครั้ง สื่อได้เปิดเผยให้เห็นกระบวนการต่างๆเกี่ยวกับการสร้างตัวมันออกมาให้เห็นอย่างรอบคอบสุขุม: รายการยอดนิยมทางโทรทัศน์ที่จัดในสตูดิโอหลายรายการ แสดงให้เห็นกล้องถ่ายและกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังฉาก, ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นการเผยให้เห็นและอ้างอิงถึงกระบวนการต่างๆเกี่ยวกับการบันทึกภาพและการสร้าง
บรรดาผู้ชมทั้งหลายค่อนข้างจะรู้; พวกเขารู้สึกเพลิดเพลินไปกับการมองเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังฉาก และพวกเขาก็เข้าใจว่า มันมีการจัดการเกี่ยวกับสื่อและการสร้างมากมาย. ความเจริญงอกงามของการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ ในตัวมันเองได้สนับสนุนในเรื่องนี้
โทรทัศน์ ABC ในรายการ Frontline (ซึ่งเป็นรายการที่สร้างขึ้นมาของออสเตรเลียเกี่ยวกับการผลิตรายการเหตุการณ์ปัจจุบันทางทีวี) ถือเป็นตัวอย่างที่ดีมากตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีการที่สื่อ มาถึงตอนนี้ มันกำลังแสดงให้เห็นถึงกระบวนการต่างๆเกี่ยวกับการสร้าง และเผยให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังฉากต่างๆ. ความเป็นที่นิยมของมันยืนยันและเป็นพยานถึงความสนุกสนานของผู้ชมทั้งหลาย ในการที่ได้เห็นถึงกระบวนการสื่อที่ได้ถูกรื้อหรือแกะออกมาให้ดู(deconstructed), ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากและเป็นไปอย่างน่าขบขัน:
– รายการนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ข่าวไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างง่ายๆ: นั่นคือ มันถูกรวบรวมขึ้นและถูกคัดเลือก. ในหนทางนี้ เราสามารถเห็นถึงสิ่งที่ปรากฎขึ้นในฐานะความจริงว่าเป็นมาอย่างไร ซึ่งอันที่จริงแล้ว เป็นการประกอบขึ้นหรือเป็นการเรียบเรียงขึ้นมานั่นเอง(ถูกสร้าง-constructed) และมีการวางกรอบในหลายๆทาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้บางส่วนได้ถูกกำหนดโดยข้อจำกัด หรือการบีบบังคับบางอย่างของของเวลาและการจัดการอย่างเป็นระบบ
– มันแสดงให้เห็นว่า แต่ละเรื่องหรือประเด็นนั้น ได้ถูกทำให้บิดเบือนไปเป็นการเฉพาะโดยวิธีการที่มันถูกถ่าย การตัดต่อ และการถูกวิจารณ์และเสนอความคิดเห็น(กระบวนการสร้างสื่อ). มันแสดงให้เห็นลำดับการที่ต่อเนื่องกันในการตัดต่อเรียบเรียงเป็นชุด โดยการละเว้นหรือข้ามคำอธิบายที่สำคัญๆไปในบางครั้ง หรือเพิ่มเติมบางอย่างเพื่อทำให้มันดูนานขึ้น หรือกระทั่งโดยการย้อนเหตุการณ์กลับไป ทำให้เหตุการณ์ต่างๆปรากฎออกมาในหนทางที่เฉพาะเจาะจงอันหนึ่ง
– มันแสดงให้เราเห็นว่า เรื่องราวหรือเหตุการณ์ปัจจุบัน อันที่จริง ได้ถูกกำหนดขึ้นมาโดยจำนวนคนดูข่าว(news rating – เรตติ้งข่าว) และผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของโทรทัศน์ มากกว่าโดยความผูกพันกับความจริงเพื่อประโยชน์สาธารณะ(public good). เราเห็นอันนี้ ในวิธีการที่แรงกระตุ้นสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งทีมงานผู้ผลิตเหตุการณ์ปัจจุบันได้แสดงออกมาในรายการ Frontline. มันกระทำทุกอย่าง เป็นไปเพื่อเรตติ้งที่ดีหรือจำนวนคนดูที่มากนั่นเอง
– แน่นอนรายการ Frontline ในตัวมันเองก็คือ “งานสร้างชิ้นหนึ่ง”. มันไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงแต่อย่างใด. Frontline มีมุมมองของตัวมันเองในเรื่องสื่อ แต่มันได้แสดงให้เราเห็นถึงกระบวนการสร้าง(processes of construction)
1. ให้เราลองสังเกตดูแต่ละตอนของรายการในแบบ Frontline (ในประเทศของเรา) และบันทึกถึงตัวอย่างต่างๆเกี่ยวกับการสร้างสื่อขึ้นมาที่มันได้แสดงออกมาให้เห็น
2. พิจารณาถึงโอกาสซึ่งคุณหรือเพื่อนๆ / ญาติพี่น้องได้ถูกนำเสนอโดยสื่อ มองเข้าไปใกล้ๆที่การนำเสนอต่างๆเหล่านี้ และพิจารณาดูถึงการที่คุณถูกสร้างในกระบวนการนี้. การนำเสนอต่างๆเหล่านี้อาจรวมถึงภาพที่ปรากฎทางสายตาและข้อความในสื่อ เช่น ถูกพูดถึงในลักษณะข้อคิดเห็น หรือข้อความตัวหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง
หากเราเป็นสมาชิกประจำที่ชอบดูโทรทัศน์ โดยเฉพาะข่าวต่างประเทศ เราคงจะเคยเห็นภาพงาน Mardi Gras (วันมาดิ กรา คือวันรื่นเริงทางคริสตศาสนา ตรงกับ Shrove Tuesday ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อน Lent หมายถึงฤดูถือบวชในศาสนาคริสต์เพื่อเป็นการระลึกถึงพระเยซูในช่วงเดินป่า 40 วัน และจะมีการรับประทานผักในช่วงเวลาถือบวช). ในหนังสือ Sunday Times ปี 1996 ได้มีการบันทึกภาพชาวเกย์ ที่แต่งชุดทหารเรือตามสไตล์ของชาวเกย์และแสดงท่าวันทยาหัตถ์ สำหรับภาพนี้มีข้อความบรรยายว่า
“Well, hello sailors (หัวเรื่อง – ภาพชาวเกย์แต่งชุดเลียนแบบทหารเรือ ในชุดนุ่งน้อยห่มน้อย) การบันทึกภาพฝูงชนประมาณ 6 แสนคนที่เฝ้าดูขบวนพาเหรดในงาน”มาดี กรา”ของชาวเกย์และเลสเบี้ยน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่แปด ที่ได้ออกมาเดินพาเหรดเมื่อคืนที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า ฝูงชนจำนวนมาก โดยทั่วไป ประพฤติตัวเรียบร้อย. มีเพียงสองรายเท่านั้นที่ถูกจับกุม. รายหนึ่งที่ถูกจับนั้น เป็นผู้ชายซึ่งกระทำความผิดด้วยการแสดงความก้าวร้าว ส่วนอีกรายหนึ่งกระทำความผิด 4 กระทง เนื่องมาจากการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีคน 15 คนถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล และในจำนวนนี้ 13 คนป่วยในช่วงที่เดินพาเหรด รู้สึกแน่นหน้าอก และเนื่องมาจากอาการมึนเมา
เศษกระดาษ กระป๋อง และขวดต่างๆเป็นจำนวนหลายตัน รอให้เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดมาเก็บกวาดในวัน Australia Day.”
เราสามารถแบ่งเรื่องนี้ออกเป็น 3 ส่วน: นั่นคือ ภาพถ่าย, คำอธิบายภาพ, และรายงานข่าว. โดยสรุปสั้นๆ ภาพถ่ายเป็นภาพเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองในลักษณะของความขบขันและความสุข. โดยตลอด ความตลกขบขันเหล่านี้สัมพันธ์กับการแต่งกายของผู้คนและการเต้นรำ ภาพสื่อที่สื่อออกมานั้น สำหรับบางคน อาจทำให้ถึงกับช็อคเกี่ยวกับโฮโมเซ็กส์ชวลหรือการรักร่วมเพศ และกามกิจของผู้ชาย
สื่อได้รายงานเกี่ยวกับงาน”มาดิ กรา”อย่างต่อเนื่อง ด้วยการประนีประนอมต่อความเสี่ยงเกี่ยวกับความขุ่นเคืองของผู้ดู ด้วยการใช้เรื่องความตลกขบขันเข้ามาแทรก เพื่อชดเชยในเรื่องอันตรายหรือความเสี่ยงนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่ส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญอันหนึ่งเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของงานวัน”มาดิ กรา”ก็คือ ต้องการที่จะกระตุ้นให้เกิดความสนุกสนานในทำนองเยาะเย้ย(poke fun)ในพลังอำนาจของผู้ชาย แต่ข้อความบรรยายข้างต้นนั้น ดูเหมือนจะเผยให้เห็นเรื่องราวที่ต่างออกไปเลยทีเดียว
หลังจากหัวเรื่องที่น่าขบขันและคำบรรยายที่เปิดประเด็นในเชิงบวกของย่อหน้าแรก การเลือกสรรเกี่ยวกับ”ข้อเท็จจริง”ก็ได้ถูกรายงานและพรรณาออกมาถึงเหตุการณ์นั้นในกรณีต่างๆเกี่ยวกับอาชญากรรม, อันตรายที่เกิดขึ้น, พฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบ(การทำร้ายร่างกาย ความเรี่ยราด และความมึนเมา) และมีนัยะถึงความเสียหายทางสังคมและสาธารณะ(ไม่มีการพูดถึงการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจแก่เมืองซิดนีย์เป็นอันมากสำหรับงานนี้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้นำมาโดยผ่านการท่องเที่ยว)
การกล่าวถึงการทำความสะอาดวันออสเตรเลียในย่อหน้าสุดท้าย สามารถถูกอ่านออกมาได้ในฐานะที่เป็นประเด็นทางศีลธรรมที่ซ่อนเร้น(veiled moral point)ที่เสนอว่า ออสเตรเลียต้องถูกทำความสะอาดสำหรับเหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้น. รายงานข่าวชิ้นนี้กลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นไปในเชิงลบ และวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว อันนี้ได้เผยให้เห็นถึงตัวตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกสรรและการสร้าง
ถ้าหากว่าคุณมีปัญหาในการคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับตัวอย่างอันหนึ่งซึ่ง คุณ, ญาติพี่น้องของคุณ, หรือเพื่อนของคุณที่ถูกนำเสนอโดยสื่อต่างๆ ให้ลองคิดถึงภาพถ่ายคนในครอบครัวของคุณดู. ภาพถ่ายเหล่านี้คือการนำเสนอผ่านสื่อ / เป็นการสร้างเช่นเดียวกัน และมันเป็นต้นตออันหนึ่งที่ชวนหลงใหลให้ตรวจสอบ
เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะหมายเหตุลงไปถึง การใช้กล้องถ่ายรูปและกล้องถ่ายวิดีโอเพิ่มขึ้นเพื่อเก็บหลักฐานเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว – ผู้คนเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ได้ถูกถ่ายวิดีโอนับจากช่วงขณะของการเกิดเลยทีเดียว – และให้ลองคาดเดาว่า อันนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างไรบ้าง
ลองดูไปที่ภาพถ่ายของครอบครัวคุณ คิดถึงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาและการสื่อสารโดยผ่านภาพต่างๆเหล่านี้ และพิจารณาดูว่าพวกมันเหมาะสมกับความเป็นจริงที่คุณมีประสบการณ์อย่างไร
มีภาพถ่ายครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพคนในครอบครัวทั้งหมดกำลังตัดหญ้าด้วยเครื่องตัดหญ้าและมาเข้าแถวหน้ากระดานกัน ภาพนี้ได้แสดงให้เห็นภาพของพ่อ แม่ และลูกชายสามคน ยืนเรียงหน้ากระดานอยู่ในสนามหญ้าที่กว้างขวางและกำลังบังคับเครื่องตัดหญ้าคนละตัว ด้านหลังสนามหญ้ามีต้นไม้ขนาดใหญ่ปลูกเป็นทิวแถว (คำบรรยายภาพ: ครอบครัวที่มีความสุข ภาพถ่ายครอบครัวแบบ snapshot – ภาพถ่ายที่ไม่เป็นทางการที่ถ่ายอย่างรวดเร็ว). ภาพถ่ายนี้ถ่ายเมื่อปี 1960 และเราสามารถมองดูมันได้สองวิธีเกี่ยวกับการนำเสนอที่ถูกสร้างขึ้นมานี้
1. ภาพดังกล่าวได้บอกถึงเรื่องราวที่เป็นอุดมคติของครอบครัวนี้. มันเน้นถึงความเป็นหนึ่งเดียวของครอบครัวในกรอบของปิตาธิปไตยหรือพ่อเป็นใหญ่; คนทั้ง 5 คนกำลังทำงานด้วยกัน แต่มันได้ถูกกำหนดไปตามลำดับชั้นสูงต่ำ(hierarchically)ทั้งในเชิงของส่วนสูงและอายุในเวลาเดียวกัน ภาพของพ่ออยู่ขวาสุด ต่อมาเป็นภาพแม่ ลูกชายคนโต คนกลาง และคนเล็ก – ภาพของผู้ชายผู้เป็นพ่อกำลังควบคุมเครื่องตัดหญ้าขนาดใหญ่ที่สุด ในฐานะที่เป็นผู้นำ ขณะที่คนที่เหลือของครอบครัวกำลังควบคุมเครื่องตัดหญ้าที่เล็กลงมตามสัดส่วน. ภาพๆนี้ไม่เพียงยกย่องเรื่องครอบครัวเท่านั้น แต่ยังยังสะท้อนถึงค่านิยมของชนชั้นกลางด้วย เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของทรัพย์สินและการทำงาน: เบื้องหลังภาพนี้แสดงให้เห็นถึงสวนที่มีขนาดใหญ่และกระบวนการที่มันได้รับการเพาะปลูกและถูกควบคุม. ผู้ที่กำลังดูภาพนี้ได้รับการเชิญชวนให้รู้สึกยกย่องกระบวนการเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของทรัพย์สินนี้ เพื่อเป็นพยานและแสดงความยินดีต่อความสำเร็จและความสุขของครอบครัว
มันเป็นภาพตรงข้ามที่น่าสนใจกับการวิเคราะห์ของ John Berger ในหนังสือของเขา “Ways of Seeing”)เกี่ยวกับงานภาพเขียนสีน้ำมันของ Gainsborough ในชื่อภาพ Mr and Mrs Andrew ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการศึกษาในยุคบุกเบิกเกี่ยวกับเรื่องสื่อและการนำเสนอ (ดูภาพประกอบที่ 1)
Berger ได้ให้เหตุผลว่า ในคริสตศตวรรษที่ 18 งานจิตรกรรมสีน้ำมัน ถือเป็นสื่อที่สำคัญอันหนึ่งของช่วงวันเวลานั้น และเป็นวิธีการหนึ่งสำหรับชนชั้นที่เจ้าของทรัพย์สินใช้ในการนำเสนอและยกย่องพลังอำนาจและความเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติของพวกเขา. ภาพของ Mr. และ Mrs. Andrews มีนัยะบ่งถึงความรู้สึกอันหนึ่งเกี่ยวกับอำนาจที่มีเหนือผืนดินที่พวกเขาเป็นเจ้าของ. มันเป็นผืนดินสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ – Mr Andrews ออกไปล่าสัตว์(และปืนล่าสัตว์ที่อยู่ในมือของเขา เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจแบบองคชาติ[his gun gives him symbolic phallic power]) – และการเพาะปลูก(เรามองเห็นทุ่งข้าวและฝูงแกะ). แต่ภาพที่เราเห็น อย่างชัดเจน สามีภรรยา Andrewses ไม่ได้มีส่วนร่วมในแรงงานด้านการเกษตรนี้ – พวกเขาเป็นเจ้าของและได้รับผลประโยชน์จากมัน
ในเทอมต่างๆของเพศสภาพ(gender) อีกครั้ง เราได้เห็นถึงภาพของผู้หญิงซึ่งเป็นรองในเทอมของความสูงต่ำ และเธอได้รับการสร้างหรือกำหนดโดยผ่านเครื่องแต่งกายในฐานะที่เป็นแหล่งต้นตอของความพึงพอใจ และการประดับตกแต่ง
งานจิตรกรรมสีน้ำมัน ถือเป็นสื่อกลางอันหนึ่งที่นำมาใช้สำหรับชนชั้นสูงเพียงกลุ่มเล็กๆเท่านั้น ซึ่งสามารถจัดหาให้มีได้. อย่างไรก็ตาม ในทางตรงข้าม ภาพถ่ายซึ่งมีขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 20 นั้น ถือเป็นสื่อกลางที่มีความเสมอภาคอันหนึ่ง ทั้งในเทอมต่างๆของการจัดหาให้มีมันได้กับทุกๆคน และในเทอมของทักษะความชำนาญเกี่ยวกับมัน นั่นคือทุกๆคนสามารถถ่ายรูปได้:
“คุณเพียงกดปุ่ม แล้วเราจะทำในส่วนที่เหลือทั้งหมด”, อันนี้เป็นคำโฆษณาของ Kodak ในช่วงแรกๆ
แต่ที่เหมือนกันคือ ภาพสื่อพวกนี้ยังคงถูกนำมาใช้เพื่อยกย่องครอบครัวและค่านิยมเกี่ยวกับด้านทรัพย์สินอย่างเป็นทางการ และอันนี้คือหนึ่งในกลไกที่สำคัญสำหรับการบันทึกหลักฐานที่เป็นเรื่องราวของครอบครัวในเชิงบวก โดยผ่านกาถ่ายภาพแบบ snapshot เกี่ยวกับการแต่งงาน, การทำพิธีชำระล้างบาป, เกี่ยวกับวันหยุดต่างๆ, ซึ่งภาพถ่ายเหล่านี้ได้ถูกเก็บรักษาเอาไว้เหนือหิ้งบนเตาผิง และในอัลบัมของครอบครัว
2. ย้อมกลับไปที่ภาพถ่ายครอบครัวในสนามหญ้า มันเป็นการเลือกมุม หรือมุมมองที่ต้องการให้รับรู้หรืออ่านอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับภาพถ่ายของครอบครัวนี้ และเป็นองค์ประกอบต่างๆที่ผู้ถ่ายภาพเลือกที่จะละเลย. ฉันอยู่ในภาพนั้น และฉันรู้เรื่องเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาที่อยู่เบื้องหลังภาพดังกล่าว, ความเป็นจริงทั้งหลายถูกซ่อนเอาไว้อยู่เบื้องหลัง พ่อกำลังมีความรักแบบที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม; ปีหนึ่งมาแล้วที่พ่อแม่รู้สึกแยกห่างจากกัน; เด็กสองคนในภาพไม่มีความสุขเลย; และมันมักเป็นเรื่องที่ต้องเถียงกันเสมอของพวกเด็กๆที่ถูกมอบหมายหน้าที่ให้ไปทำสวน!
สิ่งที่ภาพถ่ายภาพนี้ได้เผยออกมาคือ”กระบวนการสร้าง(ภาพ)” ซึ่งรวมถึงสิ่งที่เราอาจพิจารณาว่าเป็นภาพถ่ายที่ไร้เดียงสามากที่สุด – อย่างเช่น ภาพถ่ายแบบ snapshot ของครอบครัว
ประการแรก ในหนทางทั่วๆไป ภาพถ่ายแบบฉับพลันทันที(snapshot)เกี่ยวกับภาพครอบครัวได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อยกย่องสรรเสริญคุณค่าต่างๆของครอบครัว เป็นการเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับครอบครัวนี้;
ประการที่สอง ในรายละเอียดเกี่ยวกับภาพที่เฉพาะเจาะจงใดๆ คุณควรจะสามารถมองเห็นอะไรบางอย่างได้อย่างชัดเจนมาก เมื่อพิจารณาถึงว่า คุณได้ถูกนำเสนอและจัดการอย่างไรในการสร้างสื่อ(media construction). คุณรู้อยู่ว่า ความจริงคืออะไรและประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างต่างๆอันนั้น และทราบเกี่ยวกับปัจจัยหรือองค์ประกอบต่างๆที่กล้อง หรือข้อความสื่อเลือกที่จะใช้และเมินเฉย
เรื่องที่เสกสรรค์หรือแต่งขึ้นต่างๆของสื่อ media fictions
จวบจนถึงบัดนี้ การสนทนากันส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องที่พูดถึงการเก็บหลักฐานด้วยสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์จริงต่างๆ. แล้วส่วนไหนล่ะ ที่เนื้อหาสื่อที่แต่งขึ้นมา(fictional media text) ซึ่งมันมาเข้ากันกับเรื่องนี้?
เรื่องที่แต่งหรือเสกสรรค์ขึ้นมาส่วนใหญ่ อ้างถึงโลกของความเป็นจริงที่เราดำรงชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ลอนดอน, ซิดนีย์, ลอสแองเจลิส และอื่นๆ – ซึ่งพวกเราสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงได้ระหว่าง”เนื้อหา”กับ”โลก”(the text and the world) เทคนิคต่างๆในการบันทึกภาพยนตร์และวิดีโอนั้น ยังคงเป็นการซ่อนเร้นกระบวนการเกี่ยวกับการสร้าง และพยายามที่จะสร้างเหตุการณ์ต่างๆขึ้นมา โดยการเปิดเผยหรือคลี่คลายออกมาอย่างราบรื่น และดูเป็นธรรมชาติต่อหน้าเรา ด้วยเหตุนี้ เราจึงหลงลืมเกี่ยวกับกระบวนการการสร้างและรู้สึกราวกับว่าเรากำลังเห็นความจริงที่เกิดขึ้นมาอย่างนั้นจริงๆ
สัจนิยมหรือความจริงโดยเนื้อในของภาพถ่าย, ภาพยนตร์, และวิดีโอ(ดังที่เราพูดคุยไปก่อนหน้านี้) ทำให้เหตุการณ์ทั้งหลายดูเหมือนจริง(lifelike) และตัวสื่อเอง, ในฐานะที่เป็นตัวกลางในการลำเลียงสาร(carrier of message), กลายเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฎกับสายตาหรือยังคงไม่เป็นที่สังเกต
อันนี้มันยอมให้ไอเดียบางอย่าง ค่านิยม และทัศนคติหรือข้อคิดเห็น(สิ่งที่เราจะอ้างถึงต่อไปภายหลัง ในฐานะที่เป็นอุดมคติหรือวาทกรรมต่าง) ปรากฎออกมาอย่างเป็นธรรมชาติจากเรื่องที่เสกสรรค์ขึ้นมา ในหนทางที่เป็นการกำบังหรืออำพรางการสร้าง(masks construction)
ด้วยเหตุดังนั้น ถ้าเผื่อว่าเราปรารถนาที่จะเข้าใจว่า เรากำลังถูกจัดการอย่างไร และคุณค่าชนิดใดกำลังถูกนำเสนอกับเรา มันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องมาแกะหรือรื้อถอนสื่อที่ถูกเสกสรรค์ขึ้นมา เช่นเดียวกับสื่อตามข้อเท็จจริง(deconstruct fictional media as well as factual media)
มันยังมีความเชื่อมโยงกันระหว่างโปรแกรมรายการที่สร้างขึ้นมา(fiction) กับโปรแกรมรายการที่เป็นข้อเท็จจริงต่างๆ(factual programs) และความเชื่อมโยงเหล่านี้มันเบลอๆ อันนี้หมายถึงความแตกต่างกันอย่างเด่นชัดระหว่าง”ข้อเท็จจริง”และ”เรื่องที่สร้างขึ้น”. “เรื่องที่สร้าง”และเทคนิคต่างๆในการบันทึกหรือการเก็บหลักฐาน มันได้รับการผสมผสานเข้าด้วยกันมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวที่เป็น”ข้อเท็จจริง”ซึ่งนำเสนอผ่านโทรทัศน์ จะมีการบันทึกหรือเก็บหลักฐานต่างๆ เพื่อทำให้การเล่าเรื่องเป็นที่รู้สึกชวนติดตามและตื่นเต้นมากขึ้น มีตัวละครหลักต่างๆ และนำเสนอเหตุการณ์ทั้งหลายด้วยสายตาอันหนึ่งที่เป็นค่านิยมของความบันเทิง โดยการใช้ภาพต่างๆที่ตื่นเต้นเร้าใจ และเสียงประกอบที่ดึงดูดจิตใจ(catchy soundtracks)
ในทางกลับกัน ภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ที่เป็น”เรื่องซึ่งเสกสรรค์”ขึ้นมา ก็จะใช้เทคนิคการเก็บข้อมูลหลักฐานต่างๆในความสัมพันธ์กับเนื้อหาสาระนั้นๆ ในฐานะที่เป็นการทำงานของกล้องและสไตล์ทางสายตา(visual style). คุณอาจสังเกตว่า ภาพยนตร์ร่วมสมัยต่างๆ บ่อยครั้ง ได้หันไปใช้ฟิล์มภาพขาวดำ หรือใช้กล้องมือถือที่ไม่มั่นคงในการถ่ายทำและลำดับเหตุการณ์ ซึ่งนั่นมีจุดประสงค์ที่จะถ่ายทอดความรู้สึกอันหนึ่งเกี่ยวกับความแท้จริงและเป็นไปอย่างฉับพลันนั่นเอง
เทคนิคการทำภาพยนตร์ที่เป็นการบันทึกหรือเก็บหลักฐานเหล่านี้(documentary film-making), สัมพันธ์กับการเป็นตัวแทนการนำเสนอข้อเท็จจริง(factual representation)มากกว่าที่จะให้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้น(fiction) ซึ่งใช้งบประมาณที่ต่ำมากสำหรับส่วนขยายนี้ ซึ่งอาจเรียกว่า mockumentary (คำนี้นำมาใช้ล้อคำว่า documentary หมายถึง การบันทึกหรือเก็บหลักฐานจำลอง(เลียนแบบ). คำว่า mock ยังแปลว่าหลอกลวง หรือเยาะเย้ยด้วย)
The Blair Witch Project เว็ปไซค์ The Blair Witch ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและไม่แพง สำหรับการนำภาพยนตร์ออกขายในตลาด โดยความฉลาดแกมโกงในการทำให้เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริงกับเรื่องที่แต่งขึ้นมันเบลอๆ และยิ่งไปกว่านั้น ในบางขอบเขต ภาพยนตร์ดังกล่าว ต่อมา ได้ประสบกับปฏิกริยาย้อนกลับจากบรรดาผู้ดูทั้งหลาย ซึ่งรู้สึกว่า พวกเขาได้ถูกล่อลวงโดยการใช้เล่ห์เหลี่ยมที่ทำให้เชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง
สไตล์การบันทึกและการเก็บหลักฐานในเชิงสารคดี(documentary style)นี้ ยังเห็นกันอย่างโจ่งแจ้งด้วยในงานโฆษณาที่ช่ำชองจำนวนมาก และรายการโทรทัศน์อย่างเช่น NYPD Blue (เป็นเรื่องของตำรวจนิวยอร์ค), Wildside และ This Life. บรรดาผู้ผลิตรายการ Frontline ได้ใช้สไตล์การบันทึกภาพแบบสารคดี(documentary styles) และเทคโนโลยีต่างๆในการสร้างผลที่ให้ความรู้สึกสมจริง
ผู้ผลิตเหล่านี้รู้สึกว่าการบึกเหตุการณ์หรือการกระทำในลักษณะต่อเนื่อง ราวกับว่าเป็นสถานการณ์ในชีวิตจริงที่ถูกบันทึกเป็นหลักฐาน และการใช้กล้องวิดีโอ Hi-8 camera ซึ่งใช้กันเป็นธรรมเนียมในการสร้างภาพยนตร์สารคดี จะทำให้รายการมีพลังและดูสมจริง
ความเบลอหรือความไม่ชัดเจนอันนี้เกี่ยวกับเทคนิคและสไตล์ หมายมุ่งที่จะทำให้ ข้อเท็จจริงผ่านสื่อและสิ่งที่เสกสรรค์ขึ้นมาผ่านสื่อไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน; เรื่องราวผ่านสื่อทั้งคู่นี้ต้องการการรื้อถอนหรือแกะออกมาดูอย่างวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน
ความจริงเทียม Simulations
การสร้างและการยักย้ายเปลี่ยนแปลงของสื่อ อยู่กับเรามาตั้งแต่ภาพถ่ายและภาพยนตร์เริ่มเกิดขึ้น. ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ข่าวในช่วงแรกๆที่นำเสนอ, ในฐานะความจริง, ซึ่งแสดงภาพเหตุการณ์ของสงคราม, เหตุการณ์ที่เป็นเรื่องของอาชญากรรม, และหายนภัยทางธรรมชาติ ซึ่งบรรดาผู้ชมทั้งหลายต่างยอมรับมันในฐานะที่เป็นความจริง
ในที่นี้ อย่างน้อยมีอยู่ 3 สิ่งที่เกิดขึ้น นับจากทศวรรษที่ 1980s เป็นต้นมา ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ดังกล่าว:
1. อันแรก, ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น บรรดาผู้ดูทั้งหลายกลายเป็นคนที่อ่านสื่อและรู้เกี่ยวกับสื่อได้ดีขึ้น เป็นเพราะพวกเขาเข้าใจกระบวนการการผลิตสื่อมากขึ้น มันอาจจะไม่ง่ายนักที่จะทำให้พวกเขาเกิดความเข้าใจผิด. มันเป็นท่าทียอดนิยมแบบ cynicism (หรือทัศนคติที่มักจะคิดถึงความเลวร้ายของผู้คนและสิ่งต่างๆ) และรู้สึกคลางแคลงใจเกี่ยวกับความซื่อตรง ความถูกต้องของสื่อ มันเป็นความรู้เท่าทันเกี่ยวกับวิธีการสร้างสื่อหรือความจริงในมุมมองที่สื่อนำเสนอ
2. อันที่สอง, เทคโนโลยีเกี่ยวกับการสร้างความจริงยังคงปรับปรุงอยู่เสมอ. ขณะนี้เป็นไปได้โดยผ่านเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ ที่จะประพันธ์ภาพถ่ายต่างๆให้ปรากฎออกมาเป็นจริง แต่อันที่จริงมันไม่ใช่ความจริง
Brain Winston ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า “เทคโนโลยีสำหรับการจัดการภาพแบบดิจิตอลกำลังกลายเป็นความยึดติดในสำนักงาน ของบรรดาหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆทั้งหมดอย่างรวดเร็ว”. ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ “ในช่วงฤดูร้อนของปี 1993 สถานะของภาพถ่ายในฐานะหลักฐานได้กลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นเพียงเศษกระดาษ(Winston 1995, p.5)
เทคนิคอันนี้(รู้จักกันในฐานะ scitexeing หมายถึงการเสริมแต่ง(retouch – ตกแต่ง) ด้วยดิจิตอล) ได้สร้างความโกลาหลอันหนึ่ง เมื่อบริษัทฟอร์ดในสหราชอาณาจักรโฆษณาในยุโรปตะวันออก. ภาพโฆษณาเดิมในอังกฤษสำหรับบริษัทนี้ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการทางคอมพิวเตอร์(morph)ด้วยการเปลี่ยนหน้าของคนดำ ให้กลายเป็นคนขาว
มีการโวยวายและประท้วงเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆเกี่ยวกับการนำเสนอที่ผิดพลาด ซึ่งคัดค้านการชำระภาพดังกล่าวให้กลายเป็นสีขาว (ไม่น่าประหลาดใจเลยว่า บริษัทฟอร์ดไม่เต็มใจที่จะอนุญาตให้โปสเตอร์ดั้งเดิมได้รับการนำเสนอในหนังสือเล่มที่แปลนี้). ผลที่ตามมาเกี่ยวกับความสามารถอันนี้ในการยักย้ายเปลี่ยนแปลง(manipulate)ภาพถ่ายต่างๆก็คือ ความจริงผ่านสื่อได้กลายเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาและน่าสงสัยมากยิ่งขึ้น
3. มีศัพท์ใหม่คำหนึ่งได้เข้ามาสู่การถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างสื่อ: นั่นคือคำว่า “ความจริงเทียม”(simulation). ตอนนี้ เราต่างรู้กันว่าสื่อสามารถผลิตความจริงเทียมต่างๆขึ้นมาได้ – สิ่งต่างๆที่ดูเหมือนกับเหตุการณ์ที่เป็นจริง แต่เราต่างรู้ว่ามันไม่ใช่ความจริง – ด้วยความจริงเสมือน(virtual reality)และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์.
พวกเราเข้าใจในความจริงเทียมต่างๆ(simulations)เหล่านี้ ในฐานะที่เป็นรูปแบบต่างๆของความจริงที่เหนือธรรมดาหรือ hyper-reality. ความจริงเทียมทั้งหลายนั้นมันแตกต่างไปจากภาพตัวแทนต่างๆ(representations)
Jean Baudrillard ได้สร้างความแตกต่างอันหนึ่งระหว่าง”สิ่งที่ปรากฎ”(appearance)กับ”การเป็นตัวแทน”(representation). การเป็นตัวแทนหรือภาพตัวแทนต่างๆ(representations)อ้างอิงถึงความจริง; มันยังคงสืบทอดมาจากเหตุการณ์จริงๆที่อยู่พ้นไปจากกล้องถ่ายรูป หรือกล้องถ่ายวิดีโอ; พวกมันอ้างถึงความเชื่อมโยงอันหนึ่งกับโลกของความจริง และพวกเราเชื่อว่ามันเป็นโลกของความจริงบางส่วนซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น
ในเชิงเปรียบเทียบ สิ่งที่ปรากฎหรือภาพปรากฎ(appearance)ไม่ได้อ้างว่ามันสืบทอดมาจากบางสิ่งบางอย่างที่พ้นไปจากตัวของพวกมันเอง; พวกมันเพียงอ้างอิงกับภาพที่ปรากฎอื่นๆ(other appearances)เท่านั้น – มันไม่มีความเชื่อมโยงกันโดยตรงกับโลกของความเป็นจริง(ซึ่งเราไม่เคยสามารถรู้ได้)(Baudrillard 1988, p.170). อันนี้คือส่วนหนึ่งของปรัชญาหลังสมัยใหม่. ด้วยเหตุนี้ ความจริงเทียมต่างๆ(simulations), ภาพที่ปรากฎ(appearances) และโลกเสมือนจริง(virtual world)ได้ถูกแยกออกจากความเป็นจริง. ศัพท์ต่างๆเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทางด้านวัฒนธรรม(cultural studies) ซึ่งถกเถียงกันเกี่ยวกับสิ่งที่สื่อทำขึ้นมา
สรุป Conclusion
ในฐานะนักวิเคราะห์สื่อ มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องรู้เท่าทันกระบวนการเกี่ยวกับการสร้างสื่อ เพื่อถามไถ่ว่า ภาพต่างๆมันได้รับการสร้างขึ้นมาอย่างไร และมุมมองเกี่ยวกับโลกแบบใด ที่เรากำลังถูกเชื้อเชิญให้มองและเผชิญความเป็นจริงของการผลิตต่างๆเหล่านี้. ดังนั้น เราจึงถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการรื้อถอน(deconstruction)ภาพต่างๆที่เราจ้องมอง
ขออนุญาตกล่าวซ้ำอีกครั้งว่า ทำไมอันนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ:
– ในฐานะผู้ผลิตสื่อที่มีศักยภาพ – ไม่ว่าจะเป็น นักเขียนในอนาคต, บรรณาธิการ, ช่างภาพหรือตากล้อง, เว็ปมาสเตอร์ และอื่นๆ – คุณต้องรู้ถึงกลเม็ดหรือเครื่องมือต่างๆทางการค้า: คุณสามารถผลิตภาพต่างๆอย่างไร ที่จะทำให้ผู้ดูน้ำตาไหล โกรธ หรือสนุกสนาน: คุณรื้อถอนสื่อเพื่อที่จะรู้ว่า มีการใช้กล้องอย่างไร, การจัดแสงเป็นอย่างไร, การตัดต่อภาพ, และอื่นๆ เพื่อสร้างผลและความหมายเฉพาะต่างๆออกมา. คุณกำลังเรียนรู้สุนทรียศาสตร์และวิธีการทางเทคนิคเกี่ยวกับสื่อ “ภาษาของสื่อต่างๆ”
– ในฐานะนักวิจารณ์ คุณได้ยกระดับความซาบซึ้งของตัวคุณเกี่ยวกับผลิตผลต่างๆของสื่อ โดยผ่านความเข้าใจและวิถีทางที่มันทำงาน; ถัดจากนั้น คุณจึงจะสามารถสื่อสารเรื่องนี้กับคนอื่นๆได้
– โดยผ่านการรื้อถอน(deconstruction) คุณจะสามารถมองเห็นทัศนะทางการเมืองและสังคม ซึ่งบ่อยครั้งมักจะแสดงนัยะแฝง แต่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆในการผลิตสื่อต่างๆ. ด้วยเหตุนี้ คุณจึงได้เผยถึงสารที่เป็นอุดมคติและความหมายต่างๆที่บรรจุอยู่ในสื่อ วิธีการที่พวกมันเข้าใจหรือให้ความหมายเกี่ยวกับโลกแก่พวกเรา โดยผ่านการแสดงให้เห็นถึงกระบวนการสร้างต่างๆ ความเกี่ยวพันกับสังคม การเมือง และอุดมคติซึ่งเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้ ความเข้าใจทัศนะต่างๆของสื่อที่มีต่อโลก ที่เป็นการสร้างขึ้นมาต่างๆนั้น คือกุญแจดอกสำคัญในการวิเคราะห์เรื่องราวเกี่ยวกับสื่อในเชิงอุดมคติ