recommendare
สรุป
จากหนังสือเรื่อง “สื่อ และ สังคม Media and Society”
เขียน โดย
Michael O’Shaughnessy
Jane Stadler
Oxford University Press
Second edition, 2002
เรื่อง”การศึกษาเกี่ยวกับสื่อ”(media studies) เป็นเรื่องที่ไปเกี่ยวพันกับคำถามต่างๆทางสังคมในเรื่องบทบาทหน้าที่ของสื่อ ในบทนี้เราจะมาดูกันถึงเรื่องของสื่อกับสังคม และสำรวจถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองส่วนนี้
สื่อทำงานอย่างไร (How the media work)
เรื่องที่ว่า “สื่อทำงานอย่างไร” ในที่นี้จะเริ่มต้นด้วยฐานที่มั่น 5 ประการ
1. สื่อได้แสดงให้เราเห็นว่า โลกนี้เป็นเหมือนกับอะไร; พวกมันสร้างความเข้าใจที่มีเหตุผลเกี่ยวกับโลกให้กับเรา
กระบวนการเกี่ยวกับการเป็นตัวแทน การตีความ, และการประเมินคุณค่าคือใจกลางที่แท้จริงต่อการศึกษาเรื่องสื่อ(media studies)
การเป็นตัวแทน (Representation) สื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และอื่นๆ ได้กลายเป็นสถานที่ซึ่งเราทั้งหลายได้รับข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่(และความบันเทิง)เกี่ยวกับโลก ด้วยเหตุนี้ สื่อต่างๆข้างต้นจึงเป็นต้นตอแรกสุดสำหรับการมองโลกของเราว่าเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น พวกเราส่วนใหญ่มีความคิดบางอย่างเกี่ยวกับเทือกหิมาลัยว่าเป็นอย่างไร และมันดูเหมือนกับอะไร แต่ความรู้อันนี้ เป็นไปได้มากที่ว่าถูกรับรู้มาไม่ใช่โดยผ่านจากประสบการณ์จริงของพวกเราในการไปยัง ณ ที่นั้น แต่โดยผ่านการอ่าน, การฟัง, และการดูเรื่องราวจากสื่อ ที่บอกให้เราทั้งหลายทราบและมองดูภาพเกี่ยวกับเทือกเขาแห่งนี้
การตีความ (Interpretation) ในการเป็นตัวแทนของสื่อ สื่อได้ให้คำอธิบายต่างๆแก่เรา และได้ให้วิธีการต่างๆเกี่ยวกับความเข้าใจโลกที่เราทั้งหลายอาศัยอยู่ พวกมันมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการตีความโดยการให้สิทธิพิเศษแก่บางประเด็นและเอกลักษณ์บางอย่างอย่างเหนียวแน่น ในขณะที่ได้ลดคุณค่าต่อประเด็นอื่นๆลง
การประเมินคุณค่า (Evaluation) ในการกระทำเช่นนั้นเป็นประจำ สื่อได้สอนเราว่าจะเข้าใจโลกนี้อย่างไร คนอื่นๆและตัวของพวกเราเองจะเข้าใจเกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับโลกที่เรารับรู้อย่างไรบ้าง
เราสามารถเข้าใจกระบวนการทั้งสามเหล่านี้(หมายถึงการเป็นตัวแทน การตีความ และการประเมินคุณค่า)ในความสัมพันธ์กับเรื่องเพศ(gender) และเรื่องชาติพันธุ์ / เชื้อชาติ (ethnicity / race). สื่อได้เสี้ยมสอนเราเกี่ยวกับความเป็นผู้ชายและความเป็นผู้หญิง ซึ่งหมายความถึงการเป็นผู้ชายและผู้หญิงตามปกติ; พวกมันเสี้ยมสอนเราเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางด้านเชื้อชาติ, เกี่ยวกับคนที่ไม่ใช่ชาวยุโรปและวัฒนธรรมของชาวยุโรป, เกี่ยวกับอัตลักษณ์ต่างๆที่เป็นแบบอย่างที่สมมุติขึ้นมาเกี่ยวกับคนกลุ่มต่างๆเหล่านี้
ในบทบาททางสังคมนั้น สื่อก็ได้มากำหนดความเป็นผู้ชายและผู้หญิง, คนขาวและคนที่ไม่ใช่คนขาว; ในส่วนของทัศนคติที่ตายตัว(stereotypes)เกี่ยวกับสิ่งที่น่าปรารถนาและสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ซึ่งสื่อยังคงนำเสนออย่างต่อเนื่อง พวกมันได้ให้โครงสร้าง เค้าโครง และแบบแผนแก่เราสำหรับการทำความเข้าใจในเรื่องชาติพันธุ์และประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศ
อันนี้ไม่ได้กล่าวว่า สื่อได้ตระเตรียมหรือวางแนวทางการศึกษา-การสอน-และประเด็นขึ้นมาในความคิด หรือที่ว่าพวกมันมีสำนึกอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่พวกมันกำลังทำ แต่เป็นการพูดถึงอิทธิพลอันนั้นที่สื่อต่างๆมีต่อพวกเราขณะที่เราเติบโตขึ้นมา การอ่านและการบริโภคสื่อ ที่ได้ให้แบบแผนอันนี้แก่เรา ซึ่งอธิบายว่า เราจะมองตัวของพวกเราเองและคนอื่นๆอย่างไร เราจะเข้าใจเรื่องเพศ เชื้อชาติ และเอกลักษณ์ของตัวเราเองในฐานะที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง, เป็นคนขาวหรือไม่ใช่คนขาวอย่างไร
อันนี้เป็นเรื่องการเมืองเกี่ยวกับความเป็นตัวแทน. ดังที่ Richard Dyer กล่าวว่า, “เราถูกมองอย่างไร ขึ้นอยู่กับส่วนที่ว่า เราถูกปฏิบัติอย่างไร, เราปฏิบัติกับคนอื่นโดยวางอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเรามองพวกเขาอย่างไร; การมองอันนั้นมาจากการเป็นตัวแทน (Dyer 1993, p.1)
แน่นอน เป็นไปได้สำหรับสื่อที่จะให้คำอรรถาธิบายที่แตกต่างกันมากมายเกี่ยวกับโลกใบนี้ มันมีวิธีการทำความเข้าใจอย่างมีเหตุผลในเชิงตรงข้ามจำนวนมากเกี่ยวกับความเป็นเพศชายและความเป็นเพศหญิง และแง่มุมอื่นๆเกี่ยวกับเอกลักษณ์ แต่หนังสือเล่มนี้จะให้เหตุผลว่า ทางออกหรือทางระบายของสื่อหลักๆที่ไขว้กันไปมา มันมีแนวโน้มอันหนึ่งซึ่งจะให้ทัศนะบางอย่างเกี่ยวกับโลกของเราอย่างกว้างๆในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เราจะพูดถึงภายหลังในหนังสือเล่มนี้คือ วาทกรรมที่ครอบงำซึ่งมีต่อความเป็นชายและความเป็นหญิงที่มีน้ำหนักมากกว่าทัศนคติหรือข้อคิดเห็นอื่นๆ
2. ผลผลิตของสื่อไม่ได้แสดงหรือนำเสนอโลกที่แท้จริง; พวกมันได้สร้างและเป็นตัวแทนความจริงเท่านั้น
ผลผลิตสื่อเป็นจำนวนมากนำเสนอโลกความจริงใหม่อีกครั้ง(re-present) แต่ผลผลิตสื่อเหล่านี้ไม่ใช่โลกของความจริงในตัวของมันเอง; พวกมันคือ การเป็นตัวแทนใหม่อีกครั้ง หรือการสร้างโลกนี้ขึ้นมา. อันนี้คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและจะถูกสำรวจในเชิงลึกต่อไป. การศึกษาเรื่องสื่อ จะตรวจตราดูว่า สื่อได้สร้างความจริงขึ้นมาอย่างไร และถัดจากนั้นจะสำรวจถึงเรื่องคุณค่า ค่านิยมต่างๆ ความเชื่อ และความรู้สึกที่ได้รับการสร้างขึ้นมาเหล่านี้
3. สื่อเป็นเพียงหนึ่งในหนทางต่างๆที่ทำให้เราและสังคมเข้าใจโลกหรือสร้างโลกขึ้นมา
สื่อไม่ใช่พลังอำนาจทางสังคมเพียงอย่างเดียวที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโลกของเรา และมันไม่ได้มาควบคุมเราทั้งหมด เกี่ยวกับการมองโลกและการที่เรามีความคิดเกี่ยวกับโลกว่าเป็นอย่างไร. มันมีพลังอำนาจอื่นๆเกี่ยวกับการทำให้เป็นสังคมที่สื่อได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย. สิ่งที่มีนัยสำคัญที่สุดของบรรดาเด็กๆทั้งหลาย ซึ่งจะมาทำให้เป็นสังคมเป็นรูปเป็นร่างดังที่พวกเขารับรู้ ได้ถูกกระทำโดยผ่านสถาบันครอบครัวและระบบการศึกษา ซึ่งสอนพวกเขาว่า จะเข้าใจและกระทำกับโลกนี้อย่างไร
เช่นดังที่เราเติบโตขึ้นมา ทัศนะอื่นๆเกี่ยวกับว่าเราควรจะประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร เกี่ยวกับศีลธรรมทางสังคม ได้รับการเผยแพร่ผ่านพลังอำนาจทางกฎหมาย วัฒนธรรม และการเมืองทั้งหมดชุดหนึ่ง. สื่อได้ทำหน้าที่จัดหาหรือตระเตรียมสังเวียนหรือเวทีอันหนึ่งขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งทัศนะต่างๆเหล่านี้ได้ถูกนำเสนอและทำให้มันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป. ปกติแล้ว สื่อทำหน้าที่เพิ่มเติมเสริมส่งคุณค่าต่างๆ ซึ่งคือส่วนหนึ่งของสังคมทั้งหมด
4. สื่อถูกเป็นเจ้าของ ถูกควบคุม และถูกสร้างขึ้นมาโดยคนบางกลุ่มซึ่งมีความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมในนามของคนอื่น
ผู้คนเหล่านั้นซึ่งเป็นเจ้าของ ควบคุม และสร้างสื่อขึ้นมา คือผู้ผลิตสื่อ. พวกเขาไม่ใช่กลุ่มสังคมที่แยกตัวออกไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พวกเขายังคงเป็นส่วนหนึ่งของผู้รับสื่อและสังคมในภาพรวมทั้งหมด แต่พวกเขาเป็นคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มพวกหัวกระทิ. พวกเขาคือกลุ่มที่สลับซับซ้อนที่ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้:
– บรรดาผู้เป็นเจ้าของและผู้จัดการทางธุรกิจ ผู้ซึ่งได้ถูกนำไปเกี่ยวพันเป็นอันดับแรกกับความต้องการที่จะทำให้สื่อมีกำไร
– บุคลากรในฝ่ายสร้างสรรค์(creative personnel): ประกอบด้วยบรรดานักเขียนต่างๆ ผู้กำกับ ตากล้อง ผู้เชี่ยวชาญเว็ป หรือ webmaster และอื่นๆ
– บรรดาผู้ทำงานฝ่ายเทคนิค(technicians) ซึ่งทำงานกับเครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ การแบ่งหมวดหมู่เหล่านี้ข้างต้นนี้มีการทับซ้อนกันในหลายๆทาง: ยกตัวอย่างเช่น งานทางเทคนิคเป็นจำนวนมากเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ด้วย, บรรดาผู้จัดการบางคนมีความสนใจในเรื่องการสร้างสรรค์ และบรรดานักสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ต่างตระหนักถึงความต้องการและการบีบบังคับทางการเงิน ดังหมายเหตุต่อไปนี้:
– โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ผลิตสื่อเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ และมีจำนวนค่อนข้างจำกัด พวกเขาพูดกับ, และพูดในนามของสังคมทั้งหมด (เป็นการพูดข้ามหรือตัดผ่านสาธารชนอย่างกว้างขวาง)
– ผู้คนเหล่านั้นกับพลังอำนาจสื่อส่วนใหญ่ – โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจทางการเงินและพลังของการสร้างสรรค์ – เป็นกลุ่มที่เล็กลงไปกว่ากลุ่มที่หนึ่ง
– มันถูกจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรสำหรับคนที่ต้องการผลิตสื่อ
– กลุ่มคนเหล่านั้นซึ่งเข้าใจเกี่ยวกับสังคมในนามของคนอื่นหรือ ในฐานะตัวแทนของคนอื่น คือพวกคนขาวที่เข้ามามีอิทธิพล, เป็นพวกชนชั้นกลาง, และเป็นผู้ชาย. โดยไม่ต้องเสนอแนะถึงการสมรู้ร่วมคิดใดๆในที่นี้ มันดูเหมือนจะเป็นที่ชัดแจ้งว่า บุริมสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษของการเป็นคนขาว, ชนชั้นกลาง, คุณค่าต่างๆของความเป็นผู้ชายกลายเป็นบรรทัดฐานขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ คุณค่าหรือค่านิยมต่างๆเหล่านี้จึงเป็นธรรมชาติของคนกลุ่มดังกล่าว. ผลลัพธ์ที่ตามมา สื่อจึงมีแนวโน้มอันหนึ่งที่จะเข้าใจโลก หรืออ่านโลกจากมุมมองและข้อคิดเห็นที่มีลักษณะเฉพาะข้างต้น
5. ความต้องการสำหรับความนิยม
ยาแก้พิษอันหนึ่ง ต่อความคิดเกี่ยวกับพวกหัวกระทิอันทรงพลังซึ่งได้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสื่อ หมายเหตุเอาไว้ว่า สื่อได้ขายตัวเองจนประสบความสำเร็จต่อประชากรจำนวนมาก: พวกเขาเอาชนะใจของผู้รับสื่อขนาดใหญ่ เพื่อที่จะอยู่รอดและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป. ความต้องการนี้เป็นไปเพื่อบรรลุถึงความนิยมที่ค่อนข้างซับซ้อน และเพิ่มการคลุกเคล้าเข้ากับพลังอำนาจของคนขาว ชนชั้นกลาง และความเป็นชาย
ถ้าหากว่าผู้คนทั้งหลายไม่ชอบผลผลิตอันหนึ่ง พวกเขาก็จะมองไปยังที่อื่นๆซึ่งอาจเป็นที่ใดที่หนึ่ง ด้วยเหตุนี้ สื่อจะต้องทำให้ผู้รับสื่อเกิดความรู้สึกพึงพอใจ ซึ่งก็คือคนในวัยทำงานซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และในหมู่คนทำงานเหล่านี้มีผู้หญิงอยู่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
เมื่อแรกที่โทรทัศน์ในเชิงพาณิชย์ได้ถูกนำเสนอเข้าสู่สังคมตะวันตกต่างๆ บรรดาผู้รับสื่อทั้งหลายได้หมุนลูกบิดไปยังโทรทัศน์ช่องเหล่านั้นนั้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้ให้ความบันเทิงอันที่นิยมชมชอบส่วนใหญ่แก่พวกเขา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการเกมส์โชว์ และละครโทรทัศน์). มันเป็นการตีจากที่สำคัญไปจากสถานีโทรทัศน์สาธารณะ – อย่างเช่นสถานีโทรทัศน์ ABC ของออสเตรเลีย และ BBC ของอังกฤษ เป็นต้น – ซึ่งได้นำเสนอรายการโทรทัศน์กับบรรดาชนชั้นกลาง และค่านิยมต่างๆของคนที่มีการศึกษาและพวกรสนิยมสูง(highbrow values)
ช่องสัญญานโทรทัศน์เหล่านี้ยังคงต่อสู้ดิ้นรนกับความต้องการที่จะรักษาจำนวนผู้ดูหรือเรตติ้งต่อไปอย่างต่อเนื่อง และความต้องการที่จะสนองตอบรายการที่สร้างความพึงพอใจให้กับบรรดาผู้รับจำนวนมหาศาลของมัน สถานีโทรทัศน์ ABC ยังคงได้รับความเอาใจใส่และนับถือโดยพวกหัวกระทิจำนวนมาก เพราะมันให้สิทธิพิเศษแก่เนื้อหาวัฒนธรรมชั้นสูง อย่างไรก็ตาม มันสามารถได้รับการมองว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญต่อรายการกระแสหลัก และเนื้อหาอเมริกันที่มีอิทธิพลขึ้นหน้าขึ้นตา ซึ่งมีอยู่ตามสถานีโทรทัศน์ในเชิงพาณิชย์ทั่วไป
ผลที่ตามมาคือ นี่อาจเป็นความขัดแย้งที่น่าสนใจอันหนึ่งระหว่างค่านิยมหรือคุณค่าต่างๆของผู้ผลิตสื่อกับความปรารถนาของผู้รับสื่อทั้งหลาย ความขัดแย้งในเชิงตรงข้ามกันอันหนึ่งที่ได้รับการเปิดเผยออกมาในแนวทางเกี่ยวกับความพึงพอใจ สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในเรื่องความนิยม; มันเป็นการยอมรับเกี่ยวกับพลังอำนาจต่างๆของผู้รับสื่อหรือผู้บริโภค ที่มาตัดสินให้ผลผลิตสื่อทั้งหลายประสบความสำเร็จ. เราอาจให้เหตุผลว่า ผู้รับสื่อทั้งหลายมีอิทธิพล ถ้าหากว่ามีการควบคุมผลผลิตที่ออกมาของสื่อโดยผ่านทางเลือกต่างๆของพวกเขา เกี่ยวกับสิ่งที่สื่อต่างๆผลิตออกมาเพื่อการบริโภค
การวิเคราะห์ถึงบทบาทหน้าที่และฐานะตำแหน่งของวัฒนธรรมป๊อปปิวล่าร์ ในหนทางที่พิจารณากัน ทั้งในด้านของการผลิตสื่อ และผู้รับสื่อ/ผู้บริโภค เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน สื่อถูกอธิบายโดยบรรดานักคิดแฟรงค์เฟริทสคูล ในฐานะที่เป็น”อุตสาหกรรมความสำนึก” หรือconsciouness industry มันเป็นปฏิบัติการเกี่ยวกับการควบคุมทางสังคมรูปแบบหนึ่ง โดยการทำให้มวลชนอยู่ในคำบัญชาหรืออยู่ในระเบียบ แต่นักวิจารณ์ในแนวการศึกษาทางด้านวัฒนธรรม(cultural studies)บางคน มองพวกมันในฐานะที่เป็นแหล่งต้นตออันหนึ่งของประชาธิปไตยที่มีศักยภาพ และเป็นการให้อำนาจแก่ประชาชน
ความขัดแย้งในเชิงตรงข้ามนี้ ได้ถูกให้ความกระจ่างโดยวิธีการให้นิยามความหมายเกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อปปิวล่าร์ที่แตกต่างกัน 2 วิธี
วิธีการแรก ได้ให้นิยามความหมาย”วัฒนธรรมป๊อปปิวล่าร์”ในฐานะที่เป็นการดำเนินรอยตามวัฒนธรรมเหล่านั้น ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้คนทั้งหลาย หรือมาจากผู้คนทั้งหลายนั่นเอง; นั่นคือ พวกมันถูกสร้างขึ้นมาในฐานะองค์ประกอบหนึ่ง โดยผู้คนทั้งหลายโดยตัวของพวกเขาเอง (การให้นิยามทำนองนี้ บ่อยครั้งมาก ได้ถูกนำมาใช้เวลาที่อธิบายถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมพื้นบ้านในช่วงต้นๆ(earlier folk-culture activities) อย่างเช่น เพลงพื้นบ้านและการเต้นรำแบบชาวบ้าน)
ในบริบทสมัยใหม่ ความคิดที่ว่าวัฒนธรรมป๊อปิวล่าร์คือวัฒนธรรมของผู้คน วางอยู่บนความคิดที่ว่า จำนวนคนดูหรือเรตติ้ง และกลไกการย้อนกลับอื่นๆซึ่งทำหน้าที่รับรองว่า เนื้อหาของรายการทีวีและรูปแบบสื่ออื่นๆ อย่างน้อยที่สุด บางส่วนได้ถูกกำหนดตัดสินโดยสิ่งที่ประชาชน(ผู้บริโภค)ต้องการ
วิธีการที่สอง ได้ให้นิยาม”วัฒนธรรมป๊อปิวล่าร์”ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมเพื่อประชาชน; อันนี้เป็นการเสนอว่า บางสิ่งบางอย่างได้ถูกถ่ายทอดลงมาสู่พวกเขาซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขายอมรับ.
อันนี้เป็นความแตกต่างที่ใหญ่มากอันหนึ่งระหว่างวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับผู้คน และมาจากผู้คน กับวัฒนธรรมที่ทำขึ้นเพื่อประชาชน; ความแตกต่างอันนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการคิดถึงพลังอำนาจของสื่อ หรือส่วนใหญ่แล้ว มันวางอยู่กับบรรดาผู้ผลิตทั้งหลาย หรือผู้ใช้/ผู้รับสื่อ/ผู้บริโภคทั้งหลายกันแน่; หรือเนื้อหาของสื่อได้มาจากวัฒนธรรมของชนหัวกระทิของสังคม หรือจากวัฒนธรรมของกลุ่มคนส่วนใหญ่ของสังคมกันแน่. ปกติแล้ว มันไม่มีคำตอบง่ายๆในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับสื่อ; เราอาจพบพื้นฐานปัจจัยสำคัญของทั้งคู่ที่ผูกมัดเข้าด้วยกัน
คำย่อของพยัญชนะตัวแรก “CRASH” (The Acronym “CRASH”)
การมองไปที่บทบาทหน้าที่ต่อสังคมของสื่อ หมายถึง ความสนใจในคุณค่าทางสังคมและความเชื่อต่างๆเกี่ยวกับเนื้อหาสื่อ ซึ่งรวมไปถึงอุดมคติของสื่อด้วย. คำย่อของพยัญชนะตัวแรก “CRASH” เป็นเรื่องของประเด็นทางสังคมและความแตกต่างกันทางสังคม. แต่ละตัวอักษรมีความหมาย หรือใช้แทนวิธีการหนึ่งเกี่ยวกับผู้คนที่มีการจัดหมวดหมู่กันทางสังคม และหมวดหมู่แต่ละหมวดหมู่ ปกติแล้วจะรวมทั้งเรื่องของการได้ประโยชน์และการเสียประโยชน์ทางสังคมด้วย
“C” ใช้แทนคำว่า class (ชนชั้น). สังคมสมัยใหม่ได้ถูกอธิบายในฐานะที่ประกอบตัวขึ้นมาโดยผู้คนต่างๆ 3 ชนชั้น คือ ชนชั้นสูง/ชนชั้นปกครอง, ชนชั้นกลาง, และชนชั้นล่าง/ชนชั้นคนงาน. ชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยที่สุดซึ่งได้ประโยชน์สูงสุดในทางสังคมหรือได้รับสิทธิพิเศษที่เหนือกว่าชนชั้นอื่นๆ ขณะที่ชนชั้นล่างหรือชนชั้นคนงานทั้งหลายคือกลุ่มคนที่มีขนาดใหญ่สุดและเป็นผู้เสียประโยชน์ทางสังคมมากที่สุด
การนิยามความหมายเกี่ยวกับชนชั้นนี้ ปกติแล้วได้ถูกวางกรอบในเทอมต่างๆของเรื่องอำนาจ(และความมั่งคั่ง) หรือค่านิยมทางวัฒนธรรมต่างๆของบุคคล. นิยามความหมายเหล่านี้ค่อนข้างสลับซับซ้อน และเป็นเรื่องยุ่งยากมากที่นำมาใช้ในทุกวันนี้ยิ่งกว่าในอดีต เพราะสังคมต่างๆค่อนข้างที่จะลื่นไหลไปมามากในเทอมต่างๆของชนชั้นทางสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันไม่ง่ายนักที่จะแบ่งหมวดหมู่ผู้คนทั้งหลายไปตามเรื่องของชนชั้น
อย่างไรก็ตาม มันไม่มีค่าอะไรหรือมีประโยชน์ที่ว่า สังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั้งหลาย ในการตื่นขึ้นมาของการเพิ่มระดับของการจ้างงานมากขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการใช้คำว่า underclass หรือ”ชนชั้นล่าง” เพื่ออรรถาธิบายถึงชะตากรรมหรือส่วนที่มีนัยสำคัญของประชากร และมันเป็นที่ชัดเจนว่า สังคมยังคงมีการแบ่งแยกกว้างๆทั้งในเทอมของความร่ำรวย เงินทอง ค่าจ้าง/ค่าแรงอยู่ และในเทอมต่างๆของสิ่งที่ได้รับการเอาใจใส่ในฐานะที่เป็นคุณค่าต่างๆทางวัฒนธรรมที่ยอมรับได้. ด้วยเหตุนี้ มันจึงยังคงมีประโยชน์ที่จะใช้วิธีการแบ่งหมวดหมู่อันนี้ในการทำความเข้าใจสังคม
“R” ใช้แทนคำว่า race (เชื้อชาติ). คำนี้ได้รับการสร้างขึ้นมาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน และสังคมสมัยใหม่ส่วนใหญ่มีลักษณะวัฒนธรรมที่หลากหลาย และหลากหลายในเรื่องชาติพันธุ์. อย่างไรก็ตาม ในเชิงประวัติศาสตร์ บางเชื้อสายหรือบางกลุ่มชาติพันธุ์มีอิทธิพลครอบงำ และตักตวงผลประโยชน์จากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านลัทธิอาณานิคมและลัทธิจักรวรรดิ์นิยม. ความไม่เสมอภาคกันทางเชื้อชาติและความขัดแย้งที่ยังฝังแน่นอยู่นี้ เราสามารถที่จะเห็นได้ว่า มันยังคงดำรงอยู่เกี่ยวกับการครอบงำและความมีอิทธิพลเหนือกลุ่มคนที่มีเชื้อสายที่เป็นรอง เช่นเดียวกับทัศนคติในเชิงลบและทัศนคติที่ตายตัว(stereotype) ซึ่งมากำกับหรือควบคุมต่อกลุ่มคนบางสายพันธุ์อยู่
“A” ใช้แทน age (อายุ). สังคมได้รับการสร้างขึ้นโดยผู้คนที่มีอายุแตกต่างกันหลายหลากแต่สังคมเป็นจำนวนมากมีแง่มุมเกี่ยวกับอคติหรือการแบ่งแยกเรื่องอายุอยู่(ageist) ซึ่งในสังคมพวกนั้น คนแก่และเด็กๆจะได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เป็นพลเมืองชั้นสอง(second-class citizen)
“S” ใช้แทนคำว่า sex (เพศ) และ sexual orientation (การกำหนดทางเพศ). ในการเปรียบเทียบกับผู้หญิง ผู้ชายเป็นฝ่ายได้เปรียบหรือได้ประโยชน์ในทางสังคมในสังคมสมัยใหม่ต่างๆ ผู้ชายทั้งหลายมีพลังอำนาจทางสังคมมากกว่า และมีพลังควบคุมมากกว่าผู้หญิง และมันเป็นเรื่องของการแบ่งแยก(discrimination)หรือการเลือกที่รักมักที่ชังที่มีต่อผู้หญิง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการแบ่งแยกบนพื้นฐานเกี่ยวกับความชื่นชอบทางเพศของผู้คนด้วย หรือการกำหนดทิศทางเกี่ยวกับเพศ – นั่นคือ ใครคือผู้ที่พวกเขาถูกกระตุ้นความสนใจทางเพศ. ความดึงดูดใจในเพศตรงข้ามหรือความรักที่มีต่อเพศตรงข้าม(heterosexuality)ได้รับการมองว่าเป็นบรรทัดฐาน ขณะที่ความดึงดูดใจต่อเพศเดียวกัน หรือความรักในเพศเดียวกัน(homosexuality), หญิงรักร่วมเพศ(lesbianism), และความเป็นคนสองเพศ(bisexuality) ถูกมองโดยวัฒนธรรมกระแสหลักในฐานะที่เป็นคนซึ่งผิดปกติ โดยเหตุนี้ จึงทำให้คนเหล่านั้นที่ไม่ใช่คนที่รักเพศตรงข้ามกลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เสียเปรียบและประโยชน์ทางสังคมไป
“H” ใช้แทนคำว่า handicap (คนที่เสียเปรียบ ผู้ด้อยกว่า). บุคคลที่ไร้ความสามารถ หรือด้อยกว่า (คำนี้ยังถูกรู้จักในฐานะคนที่มีความสามารถในเชิงที่แตกต่าง – differently abled people – หมายเหตุ, คำหรือป้ายฉลากที่แตกต่าง เช่น คำอธิบายที่แตกต่าง[different discourse], นำพาความสัมพันธ์ที่ต่างไปด้วย) คือคนอีกกลุ่มหนึ่งของสังคม ผู้ซึ่งเสียเปรียบหรือถูกแบ่งแยกออกไปในหลายๆทาง
เราสามารถที่จะใช้วิธีการอื่นๆในการจัดหมวดหมู่อีกได้ (เช่น ความสูง น้ำหนัก สีผม เป็นตัวอย่าง) ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายเกี่ยวกับบรรทัดฐาน หรือสิ่งที่ต่างออกไป แต่การจัดแบ่งหมวดหมู่ทั้ง 5 ข้างต้น(ชนชั้น เชื้อชาติ อายุ เพศ และความด้อยกว่า)เป็นสิ่งที่มีประโยชน์โดยเฉพาะสำหรับการดึงความสนใจไปสู่การแบ่งแยกกันทางสังคม. มีใครบางคนอาจต้องการพิจารณาหรือดึงเอาเรื่องของศาสนาเข้ามาด้วย ในฐานะที่เป็นการจัดหมวดหมู่เพื่อทำความเข้าใจการจัดกลุ่มต่างๆทางสังคม
แต่ในที่นี้ เราต้องการที่จะเพิ่มเติมปัจจัยพื้นฐานอีกอันหนึ่งที่จะมาช่วยตระเตรียมบริบทกว้างๆอีกอันหนึ่ง ซึ่งปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญนี้ในคำย่อพยัญชนะของคำว่า CRASH จะถูกทำให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น นั่นคือคำว่า environment (สิ่งแวดล้อม)
สังคมของเราในปัจจุบัน ได้เผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งนอกเหนือไปจากประเด็นปัญหาทางสังคมของมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว. มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะมองว่า สื่อได้พรรณาถึงสิ่งแวดล้อมในทุกวันนี้อย่างไรบ้าง พวกเขากระตุ้นหรือสนับสนุนเราที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกทั้งใบนี้อย่างไร
น่าสนใจที่ว่า สื่อดูเหมือนจะยกย่องสรรเสริญโลกธรรมชาติและโลกที่ไม่มีมนุษย์ในหลายๆทาง – ข้อสังเกตในที่นี้คือ บ่อยครั้ง สัตว์ต่างๆถูกนำมาใช้ในเชิงบวกเกี่ยวกับการโฆษณาและประชาสัมพันธ์. อย่างไรก็ตาม ความเจริญงอกงามของมนุษย์ยังคงคุกคามดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง. ปัจจุบัน คุณสามารถที่จะทำให้คำย่อพยัญชนะ CRASH เข้าไปอยู่ในบริบทของข้อพิจารณาต่างๆทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ และใช้มันเพื่อวิเคราะห์เนื้อหาสื่อ และเพื่อทำความเข้าใจว่า คุณและคนอื่นๆถูกทำให้เป็นตัวแทน ถูกจัดหมวดหมู่ และถูกวางตำแหน่งเอาไว้อย่างไรในทางสังคม
1. คุณถูกวางในความสัมพันธ์กับการจัดหมวดหมู่ทั้ง 6 หมวดหมู่เหล่านี้อย่างไร? และรู้สึกอย่างไรกับการถูกวางอยู่ในตำแหน่งเหล่านี้? นอกจากนี้ มันดีอย่างไรในการที่คุณถูกทำให้เป็นตัวแทนในสื่ออย่างนั้น?
2. สื่อเป็นตัวแทนโลกในความสัมพันธ์ทั้ง 6 หมวดหมู่นี้อย่างไร? ให้ตั้งคำถามที่ตามมาเกี่ยวกับเนื้อหา/ภาพของสื่อโดยเฉพาะ และให้ใช้คำย่อพยัญชนะ CRASH ในฐานะที่เป็นวิธีการศึกษา:
ก. เนื้อหาสื่อแต่ละอย่างรวมถึงภาพที่สื่ออกมาได้เป็นตัวแทนสภาพแวดล้อม, ชนชั้น เชื้อชาติ อายุ เพศ และความด้อยกว่า หรือไร้สมรรถภาพอย่างไรบ้าง?
ข. เนื้อหาสื่อแต่ละชนิดรวมทั้งภาพสื่อซึ่งดูเหมือนกับ ชนชั้นคนงาน, คนที่ไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรป, คนชราคนหนึ่ง, ผู้หญิง, บุคคลที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ, คนที่ด้อยโอกาส(handicapped person), คนที่ห่วงใยในสายพันธุ์สัตว์ที่กำลังตกอยู่ในอันตรายใกล้สูญพันธุ์ กำลังจะสื่ออะไรออกมา?
ค. สื่อได้ให้บุริมสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษแก่ทัศนะบางอย่างของคนบางกลุ่มเหนือกว่าคนกลุ่มอื่นๆหรือเปล่า มันกำลังแสดงให้เห็นว่าคนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และคนบางกลุ่มเสียประโยชน์หรือไม่?
สื่อและสังคม (Media and Society)
คำถามใหญ่ซึ่งเรากำลังหวนกลับมาพิจารณากันก็คือ สื่อมีผลกระทบและมีอิทธิพลต่อเราอย่างไร? การมองไปที่อิทธิพลของสื่อที่มีต่อตัวเรา เกี่ยวข้องกับคำถามเชิงปรัชญาอย่างค่อนข้างกว้างขวาง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำๆในหลายๆรูปแบบและสถานการณ์: พวกเราได้รับผลกระทบและถูกควบคุมอย่างไร้สำนึกโดยอำนาจที่อยู่นอกเหนือตัวของพวกเราเองใช่ไหม? (ทัศนะเกี่ยวกับมนุษย์ในฐานะที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งของเครื่องจักรขนาดใหญ่) หรือพวกเรามีอิสรภาพและสามารถดูแลตัวเองได้ (เรามีสิทธิในการปกครองตนเองหรือกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง) โดยการกำหนดตัดสินใจด้วยตัวของเราเองใช่ไหม? (ทัศนะเกี่ยวกับมนุษย์ในฐานะที่มีเจตจำนงเสรี หรือ free-will)
ในความสัมพันธ์กับสื่อ เราถูกควบคุมโดยสื่อใช่ไหม หรือเรามีอิสรภาพและทางเลือกในการที่จะใช้มันอย่างไรใช่หรือไม่? สำหรับคำตอบเหล่านี้ ในบทที่ 13 เราจะสำรวจถึงทฤษฎีต่างๆอย่างหลากหลายเกี่ยวกับการสร้างทางสังคม (social construction) ซึ่งเสนอว่า เราถูกวางตำแหน่งอย่างไร้สำนึกและถูกกำหนดโดยไม่รู้ตัว โดยอำนาจที่อยู่นอกเหนือไปจากตัวของพวกเรา. สำหรับในที่นี้ เราให้เหตุผลว่า เราได้ถูกโปรแกรมหรือควบคุมโดยอำนาจภายนอกที่มาควบคุมตัวเรา(อันนี้รวมถึงสื่อด้วย) ทว่าผ่านความมีเหตุมีผลของตัวเราเอง, ความรู้สึกต่างๆของเรา, และความสำนึกซึ่งเรามีความสามารถที่จะตั้งคำถามและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ: เราสามารถสร้างทางเลือกขึ้นมาได้
กุญแจสำคัญสำหรับความเป็นอิสระ ปกครองตนเองได้ คือการรับรู้และความเข้าใจของเรา, ความสำนึกของเรา, เกี่ยวกับว่าโลกใบนี้มันทำงานอย่างไร. บางครั้งการรับรู้ของเราเกี่ยวกับโลกอาจเป็นสิ่งที่แฝงอยู่อย่างสงบ ไม่เปิดเผย: “ถ้ามันยังไม่แตก อย่าได้ไปซ่อมมัน”(if it ain’t broke, don’t fix it) ประโยคที่ยกมานี้เป็นสุภาษิตที่รู้จักกันเป็นอย่างดี, ดังนั้น ถ้าหากว่าสิ่งต่างๆดูเหมือนมันกำลังทำงานไปหรือดำเนินการไปด้วยดี ถ้าเผื่อว่าผู้คนมีความสุขกับชีวิต หากเป็นเช่นนั้น สังคมก็สามารถที่จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องดังที่มันเป็น, เราไม่ต้องไปคิดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น การรับรู้รับทราบของเราสามารถถูกทำให้เชื่องลงหรือนอนเนื่องอย่างสงบเสงี่ยม
แต่เมื่อไรก็ตามที่สิ่งต่างๆดำเนินไปในหนทางที่ผิด, ล้มเหลว, แตกร้าว, เมื่อนั้นเราต้องค้นหาหนทางใหม่ๆเกี่ยวกับความเป็นอยู่. เราต้องสร้างความพยายามอันหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และค้นหาทางออกและระบบใหม่ๆ. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะบังเกิดขึ้น ณ ช่วงขณะเหล่านี้ของการแตกหักและวิกฤต
การฆาตกรรมหมู่ที่ Port Arthur ในทัสมาเนีย(อยู่ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย) (ชายคนหนึ่งได้กราดยิงและฆ่าคนไปราว 35 คน) หรือกรณีเหตุของการบุกเข้าไปยิงที่ Columbine School ในอเมริกา (คน 13 คนถูกฆ่าโดยนักเรียนมัธยมปลาย) สามารถได้รับการมองว่าเป็นกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับช่วงขณะของการแตกหักทางสังคม(social fracture) ในกรณีต่างๆเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่น่าขนพองสยองเกล้า และเป็นการฆาตกรรมหมู่ซึ่งไม่อาจอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้ง มันบีบบังคับให้ผู้คนทั้งหลายตั้งคำถามถึงกฎเกณฑ์ของสังคมและบรรทัดฐานที่ถูกยอมรับมาก่อนหน้านั้น ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เป็นธรรมชาติ
ในกรณีของการฆาตกรรมหมู่ที่ Port Arthur พยายามที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับว่า ทำไมคนๆหนึ่งถึงได้ยิงแบบเดาสุ่มอย่างสนุกสนาน ซึ่งอันนี้ได้ทำให้เกิดทฤษฎีต่างๆขึ้นมาอธิบายอย่างมากมาย. แนวทางปฏิบัติอันหนึ่งก็คือ เพื่อท้าทายและเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธปืนที่ได้รับการยอมรับมาก่อนหน้านั้นของออสเตรเลีย
เหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างคลื่นของความตื่นตระหนกในสังคมออสเตรเลียและสังคมอเมริกัน มันบีบคั้นให้ผู้คนทั้งหลายตั้งคำถามว่า ทำไมและอย่างไร เหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดขึ้นมาได้. การโจมตีตึก Pentagon (กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ) และ World Trade Center ในวันที่ 11 กันยายน 2001 ได้น้อมนำไปสู่อาการช็อค และความรู้สึกตื่นตระหนกอย่างกว้างขวางมาก เหตุการณ์เหล่านี้ได้นำผู้คนไปสู่การพิจารณาถึงเงื่อนไขเหตุปัจจัยต่างๆที่อาจเป็นแรงกระตุ้นของบรรดาผู้ก่อการร้าย. สื่อได้แสดงบทบาทที่เป็นแกนกลางในความพยายามต่างๆของผู้คนที่จะค้นหาคำอธิบายซึ่งนำไปสู่ปฏิกริยาโต้ตอบที่แตกต่างกันหลายๆอย่าง
เพื่อเปิดให้ประเด็นปัญหาข้างต้นนี้ได้รับการคิดใคร่ครวญอย่างเสรี ให้ถามตัวคุณเองด้วยคำถาม 2 คำถามต่อไปนี้… โดยทั่วไป คุณมองคนอื่นๆและตัวคุณเองจากมุมมองที่คิดว่ามนุษย์ได้ถูกกำหนดจากเหตุปัจจัยภายนอก(deterministic perspective)ในฐานะที่เป็นฟันเฟืองของเครื่องจักรขนาดใหญ่ หรือในฐานะที่คุณสามารถกำหนดตัดสินชะตากรรมของตัวเองได้ในฐานะปัจเจกชนด้วยเจตจำนงเสรี – คุณคิดว่าเป็นอย่างไหนกันแน่? ในความสัมพันธ์กับสื่อ คุณคิดว่าสื่อมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์, หรือตัวคุณเอง มากน้อยเพียงใด; คุณคิดว่าคุณมีอิสระจากอิทธิพลครอบงำของมันมากน้อยเพียงใด?
ให้บันทึกความคิดของคุณเพื่อตอบคำถาม 2 ข้อข้างต้น บรรยายถึงความเข้าของคุณเกี่ยวกับผู้คนและสื่อ และยกตัวอย่างจากประสบการณ์ต่างๆของตัวคุณเอง. ให้ลองถามคำถามเดียวกันนี้กับคนอื่นๆและบันทึกทัศนะหรือคำตอบของพวกเขาเอาไว้. พยายามรวบรวมความคิดเห็นทั่วไปและกรณีตัวอย่างที่ชี้เฉพาะเหล่านี้ เพื่อแสดงให้เห็นภาพเกี่ยวกับทัศนะต่างๆโดยทั่วไปข้างต้นน้า 2 จาก 2
สื่อสามารถสะท้อนหรือส่งผลกระทบต่อโลกได้ใช่ไหม? (Do the media reflect or affect the world?)
โดยจารีตแล้ว มีแบบจำลอง 2 แบบที่ได้รับการนำเสนอในฐานะที่เป็นวิธีการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสื่อและสังคม
ข้อเสนอแรกก็คือ สื่อได้สะท้อน(reflect)ความจริง คุณค่า และบรรทัดฐานต่างๆของสังคม. ด้วยเหตุดังนั้น ถ้าเผื่อว่าเราต้องการศึกษาสังคมใดสังคมหนึ่ง เราสามารถที่จะมองมาที่สื่อของสังคมนั้นได้ เช่น ภาพยนตร์, นวนิยาย, รายการโทรทัศน์, และเรื่องราวซึ่งเป็นที่นิยมในสังคมดังกล่าว
พวกมันสามารถที่จะสะท้อนให้เราทราบว่า ผู้คนในสังคมนั้นรู้สึกและคิดอะไร, พวกเขาประพฤติปฏิบัติกันอย่างไร, และอื่นๆ. สื่อทำหน้าที่ในฐานะกระจกเงาของสังคม หรือหน้าต่างบานหนึ่งบนโลกใบนี้ ซึ่งสามารถถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นหนทางหรือวิธีการเข้าใจสังคม
แบบจำลองที่สองเสนอว่า สื่อได้ส่งผลกระทบ(affect)ถึงความคิด ความเชื่อ และความประพฤติของผู้คนให้เป็นไป. สื่อสร้างค่านิยมและคุณค่าต่างๆขึ้นมาให้กับเรา และมีอิทธิพลโดยตรงต่อการกระทำของพวกเรา. เราควรสำรวจตรวจตราแบบจำลองทั้งคู่นี้
สื่อในฐานะที่เป็นการสะท้อนอันหนึ่งเกี่ยวกับสังคม (The media as a reflection of society)
ข้อถกเถียงต่างๆที่สำคัญซึ่งมีต่อความนึกคิดที่ว่า สื่อเป็นเครื่องสะท้อนบรรทัดฐาน คุณค่า และความจริงต่างๆของสังคมคือ สื่อได้”สร้างและเปลี่ยนแปลง”เหตุการณ์ต่างๆมากยิ่งกว่าจะ”สะท้อน”ถ่ายเหตุการณ์ทั้งหลายออกมาเท่านั้น. ยกตัวอย่างเช่น ให้คิดถึงเหตุการณ์ต่างๆซึ่งเกิดขึ้นบนโลกที่เป็นจริง ซึ่งได้ถูกนำเสนออย่างกว้างขวางครอบคลุมอยู่ในสื่อ – เหตุการณ์ต่างๆอย่างเช่น งานพระราชพิธีศพของเจ้าหญิง Diana, พิธีการมอบรางวัล the Academy Award, หรือการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค. เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างอิสระในสื่อ แต่สื่อได้สร้างให้เหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมาเป็นบางสิ่งบางอย่างที่มากกว่า, เป็นเหตุการณ์ต่างๆของสื่อ(media events) มันเป็นการสร้างมากกว่าที่จะสะท้อนเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ออกมา (Wark 1994)
ในออสเตรเลีย การแข่งม้าเพื่อชิงถ้วย Melbourne Cup ได้รับการจัดขึ้นเป็นงานพิธีระดับชาติ(และเมื่อเร็วๆนี้ มีแนวโน้มที่จะเป็นงานระดับนานาชาติ อันนี้ต้องขอบคุณต่อการรายงานข่าวออกไปในโลกกว้างโดยสื่อต่างๆ) ในฐานะที่เป็น”การแข่งขันที่สะกดให้ประเทศทั้งประเทศถึงกับหยุดนิ่ง”(the race that stops a nation). อันนี้ถูกนำเสนอในประโยคปัจจุบัน(present tense), ดูประหนึ่งว่ามันเป็นความจริงเสมอและจะเป็นความจริงเช่นนั้นเสมอไป
ในเชิงประวัติศาสตร์ การแข่งม้าดังกล่าวย้อนวันเวลากลับไปได้เพียงคริสตศตวรรษที่ 19 เท่านั้น; แต่เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ถึงกับ”สะกดให้ประเทศทั้งเทศหยุดลง”จนกลายเป็นความเป็นไปได้ที่เป็นจริงอันหนึ่ง เมื่อการสื่อสารของสื่อสามารถที่จะถ่ายทอดเหตุการณ์นี้อย่างสดๆไปได้ทั่วทั้งประเทศ โดยผ่านโทรเลข, ถัดมาก็วิทยุ, และต่อมาก็โทรทัศน์. ณ จุดนี้นี่เอง สื่อทำให้เกิดความเป็นไปได้เกี่ยวกับการแบ่งปันข่าวสารข้อมูลในเวลาเดียวกันได้ กลายเป็นเหตุการณ์ระดับชาติ (นัยสำคัญของการแข่งม้าเพื่อชิงถ้วย Melbourne Cup สัมพันธ์กับการแสวงหาเอกลักษณ์ของชาติของประเทศออสเตรเลีย). เหตุการณ์ต่างๆที่นำพาให้ประเทศทั้งประเทศดังที่ Benedict Anderson (1983)เรียกว่า “ชุมชนจินตนาการ”(imagined community)ช่วยให้ออสเตรเลียนิยามตัวเองและวัฒนธรรมของพวกเขาขึ้นมาได้. แง่มุมอัตลักษณ์ของประชาชาติหนึ่งยกย่องการแข่งม้าเพื่อชิงถ้วย Melbourne Cup คือชัยชนะเกี่ยวกับเวลาว่างที่มีเหนือการทำงาน
สื่อได้กระตุ้นส่งเสริมเหตุการณ์บางเหตุการณ์ให้เกิดมีนัยสำคัญขึ้นมา หนังสือพิมพ์ วิทยุ และเครือข่ายโทรทัศน์เริ่มต้นการรายงาน และการคาดการณ์เกี่ยวกับการแข่งขันดังกล่าวอยู่หลายสัปดาห์ล่วงหน้า. (มันเข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะกับปฏิทินกีฬาประจำปี โดยการมาถึงในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน หลังจากฟุตบอลออสเตรเลีย และฤดูกาลการแข่งขันรักบี้ได้สิ้นสุดลง และก่อนกีฬาคริกเก็ตและกีฬาในช่วงฤดูร้อนอื่นๆกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงมีพื้นที่ว่างบนสื่อต่างๆเป็นจำนวนมากที่นำมาใช้ได้สำหรับการณ์นี้)
มันกลายเป็นสารคดีพิเศษอันหนึ่งของสื่อในรายการต่างๆที่ไม่ใช่กีฬา กลายเป็นเหตุการณ์ที่เป็นข่าวสำคัญอันหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น รายการข่าววิทยุแห่งชาติต่างๆ ได้มีการกระจายเสียงมาจากสถานที่แข่งขันจริงๆ. การคาดการณ์เกี่ยวกับว่าใครจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการพนันขันต่อและวงการธุรกิจ: การมีส่วนร่วมในเหตุการณ์อันนี้หมายถึงถูกนำเข้าไปพัวพันกับการพนันในบางรูปแบบ
สองประเด็นได้เกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ที่สื่อทำขึ้น(media event)คือ
– “สะกดให้ประเทศทั้งประเทศหยุดชะงัก”(stopping the nation) เป็นเพียงสิ่งที่เป็นไปได้โดยสื่อ ด้วยเหตุนี้เราสามารถกล่าวได้ว่า สื่อได้สร้างเหตุการณ์นี้ขึ้นมามากกว่าที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดหรือสะท้อนมันเท่านั้น
– ถ้าหากว่าคุณเป็นนักบริโภคสื่ออยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยธรรมชาติแล้ว คุณควรจะสนใจในเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเผื่อว่าคุณถือว่าตัวคุณเองเป็นออสเตรเลียน. อันที่จริงสื่อเสนอว่า ไม่ต้องไปให้ความสนใจ ซึ่งหมายถึงถ้าคุณไม่ได้เป็นออสเตรเลียน
ประเด็นข้อที่สองนี้ เกี่ยวข้องกับการที่สื่อได้สร้างและก่อรูปร่างการกระทำของเราขึ้นมาให้เป็นไปอย่างไร มันทำให้เรารู้สึกว่าเราคือใคร รวมไปถึงกำหนดวิถีชีวิตประจำวันและงานประจำปีของเราขึ้นมาด้วย. อันนี้คือตัวอย่างหนึ่งของวิธีการที่เราดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งที่เราเรียกว่า”โลกของสื่อ”(the media world)
สื่อสนับสนุนการสร้างปฏิทินเหตุการณ์ต่างๆประจำปีขึ้น การสร้างนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่: ตลอดประวัติศาสตร์ บรรดาสังคมต่างๆได้รวมตัวของพวกมันเองขึ้นมาอย่างเป็นระบบรายรอบเหตุการณ์ที่หมุนวนอยู่ ส่วนใหญ่เป็นวันหยุดทางศาสนาและพิธีเฉลิมฉลองต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงในบางหนทางกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และการปฏิบัติ รวมไปถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับการรวบรวมพืชพันธุ์ธัญญาหาร พิธีกรรมหรือกิจวัตรเหล่านี้ ได้เปลี่ยนแปลงไปกับกระบวนการเกี่ยวกับการทำให้เป็นอุตสาหกรรม เพื่อว่า วันหยุดต่างๆและพิธีกรรมทั้งหลายจะได้รับการรวบรวมขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เพื่อเหมาะกับสภาพการณ์และความต้องการของสังคมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
เหตุการณ์ที่สื่อทำขึ้นที่ยิ่งใหญ่สุดประจำปีได้แก่วันคริสต์มาส แต่ยังมีวันอื่นๆซึ่งยังคงเป็นเหตุการณ์ที่สื่อทำขึ้นด้วย เช่น วันวาเลนไทน์ วันพ่อ วันแม่ ต่างก็กำลังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของปฏิทินสังคมและปฏิทินสื่อทั้งหมด. ทั้งสามวันนี้คือ วันวาเลนไทน์ วันพ่อ วันแม่ ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องการค้าหรือธุรกิจไป โดยผ่านการซื้อและส่งบัตรอวยพรและบัตรแสดงความรักรวมไปถึงของขวัญต่างๆ : การส่งเสริมของสื่อเป็นสิ่งที่สำคัญต่อธุรกิจและการค้าต่างๆ. อย่างค่อยเป็นค่อยไป เกือบทุกสัปดาห์และเกือบจะทุกๆวันของแต่ละปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ หรือเชื่องโยงกับจุดประสงค์ที่จำเพาะอันใดอันหนึ่ง และสื่อต่างๆเป็นตัวกลางที่จะเป็นผู้ส่งต่อหรือผู้เผยแพร่สู่สาธารณะเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้
วันคริสต์มาสจะมาถึงก่อนวันอื่นๆในแต่ละปี; อย่างเช่นงานวันให้รางวัล the Academy Awards – ซึ่งเป็นรางวัลยอดเยี่ยมเกี่ยวกับการส่งเสริมตัวสื่อเองและส่งเสริมจักรวรรดิ์นิยมอเมริกัน – ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ต่างๆที่สื่อทำขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ. ให้หมายเหตุว่า พวกมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง – เช่น คุณได้เห็นการมอบรางวัลออสก้าร์ไหม? มีคนถามผมอย่างนั้น. รู้ไหมว่าใครคือผู้ได้รับรางวัลและใครที่พลาดโอกาสรางวัลนี้ไป พวกเขาสวมใส่ชุดอะไร และใครที่พวกเขามาด้วยปีนี้ คำถามเหล่านี้กลายเป็นความรู้ทางสังคมที่สำคัญชิ้นหนึ่ง พื้นฐานสำคัญทางวัฒนธรรมชนิดหนึ่ง สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทางสังคม. การไม่รู้เรื่องเหล่านี้อาจคุกคามทำให้เราถูกกันออกไปจากสังคม
การรายงานข่าวเพิ่มขึ้นได้รับความสะดวกมากขึ้นโดยเทคโนโลยี ที่ได้รับการปรับปรุงอยู่เสมอ (การเชื่อมต่อกันของสัญญานดาวเทียม) ซึ่งทำให้เกิดการถ่ายทอดข่าวสารกันอย่างทันควันและราคาถูกลง ด้วยภาพและเสียงที่คมชัดสมบูรณ์จากทวีปหนึ่งไปยังอีกทวีปหนึ่ง ในหนทางที่ไม่อาจทำเช่นนั้นได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้
ให้ลองบันทึกลงไปสำหรับตัวคุณเองว่า เหตุการณ์ต่างๆซึ่งเป็นเหตุการณ์เฉพาะได้กลายเป็นเหตุการณ์สื่อ(media events)ไปอย่างไรบ้าง และมันกำลังพัฒนาไปอย่างไรในแต่ละปี
มันเป็นกระบวนการคัดสรรอันหนึ่งที่ทำงานอยู่; เหตุการณ์บางเหตุการณ์ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุน – ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1988 การแข่งขันฟุตบอลเพื่อชิงถ้วย African Football Cup ของชาติต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ถกเถียงกันได้ ถือเป็นการแข่งขันฟุตบอลที่สำคัญเป็นอันดับสามในโลก รองลงมาจากการแข่งขันฟุตบอล World Cup และ European Cup, อันนี้ไม่ได้รับการรายงานข่าวเกือบทั้งหมด หรือเผยแพร่ในออสเตรเลียเลยนอกจาก SBS, ซึ่งเป็นช่องสัญญานโทรทัศน์เกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม(the multicultural television channel)
ในทางตรงข้าม อเมริกันฟุตบอลและการแข่งขันรถยนต์เวริล์ดกรังด์ปรีส์(world grand-prix motor racing)กลับได้รับรู้กันอย่างแพร่หลาย และมีการรายงานข่าวเพิ่มเติมทางโทรทัศน์ไปทั่วโลก. การคัดเลือกเหล่านี้ ทำขึ้นมาบนพื้นฐานเกี่ยวกับความปรารถนาและทางเลือกของผู้รับสื่อ หรือบนรากฐานในเชิงธุรกิจที่เป็นตัวขับเคลื่อนผลประโยชน์ต่างๆใช่หรือไม่? การแข่งขันรถยนต์ หนึ่งในเวทีมีที่อยู่ไม่มากนักซึ่งยังคงมีสำหรับการโฆษณาบุหรี่และให้การสนับสนุน เป็นเรื่องที่น่าสนใจโดยเฉพาะในประเด็นนี้. มันคือกลุมผลประโยชน์ขนาดใหญ่ที่ให้การสนับสนุนและการล็อบบี้เพื่อให้มีการรายงานข่าวทางสื่อเกี่ยวกับมัน
ดังนั้น ขณะที่สื่อได้สร้างและส่งเสริมเหตุการณ์ต่างๆขึ้นมา อย่างเช่น Melbourne Cup, พวกเขาก็เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ทั้งหลายนี้ไปด้วย. การบันทึกเหตุการณ์ใดเหตุการร์หนึ่งธรรมดาง่ายๆจะเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์นั้นไป อันนี้เห็นได้ชัดกับกล้องถ่ายรูป การมีขึ้นมาของกล้องถ่ายรูปได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน อันนี้อาจเกิดขึ้นกับเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม มันเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สังเกตเห็นได้
เป็นความน่าสนใจและน่าใส่ใจที่สำคัญอันหนึ่งสำหรับผู้สร้างงานสารคดีทั้งหลาย ซึ่งพยายามที่จะบันทึกเหตุการณ์จริงๆเอาไว้อย่างเป็นภววิสัย; ปัจจุบันมีผู้สร้างงานสารคดีจำนวนมากยอมรับการมีอยู่ของพวกเขาที่เปลี่ยนแปลงเรื่องราวต่างๆไป
ให้ดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นเมื่อคุณหันกล้องไปยังเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายรูปหรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ ไปยังคนบางคน หรือเขากำลังหันกล้องมายังคุณ. เป็นไปได้ที่คนที่กำลังจะถูกถ่ายรูปหรือถ่ายภาพยนตร์จะกระทำบางสิ่งบางอย่างในการโต้ตอบกับกล้อง แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปเลยภายนอก แต่คุณและพวกเขาจะกำลังรู้สึกบางสิ่งบางอย่างที่ต่างไปภายใน เช่น อารมณ์ เป็นต้น. โดยเหตุนี้ เหตุการณ์อันนั้นจึงถูกเปลี่ยนไป
การบันทึกของสื่อยังเป็นตัวเริ่มต้นที่ไปกำหนดว่า เหตุการณ์ต่างๆที่เป็นจริงจะเกิดขึ้นเมื่อไรและอย่างไรด้วย. ความเชื่อมโยงกันระหว่างกีฬาและสื่อเป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญ; แต่ละอย่างดำรงอยู่ด้วยการพึ่งพาอาศัยกันและกันและส่งเสริมกัน. ความสัมพันธ์กันอันนี้หมายความถึง ตัวอย่างเช่น การยุติการแข่งขันชั่วคราวและการเริ่มเล่นต่อของรายการกีฬาต่างๆ ตัวของมันเองทำได้เหมาะเจาะสอดคล้องกับผลประโยชน์จากการรายงานข่าวผ่านสื่อหรือไม่. ดังกรณีตัวอย่าง เมื่อประตูฟุตบอลถูกยิงเข้า ตามกฎฟุตบอลออสเตรเลียนในเกมการแข่งขันที่ถูกถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ผู้ตัดสินจะต้องรอจนเห็นแสงไฟจากช่องสัญญานโทรทัศน์บ่งชี้ว่า การโฆษณาทางโทรทัศน์ได้ยุติลงแล้วก่อน จึงจะเริ่มต้นการแข่งขันกันต่อไป
รายการแข่งขันกีฬาต่างๆยังถูกวางตารางในช่วงของวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับเวลาการดูทีวีที่มีมากที่สุดนั่นเอง. การรายงานข่าวเกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิคได้ถูกจัดการขึ้นอย่างเป็นระบบ รายรอบการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ได้ดีที่สุด และสามารถที่จะนำเสนอข่าวกีฬาอันนี้ไปทั่วโลกเหมาะกับเวลาที่มีผู้ชมสูงสุด; เนื่องจากความจำเป็นที่ไม่หลีกเลี่ยงได้อันนี้ การแข่งขันการวิ่งมาราธอนจึงออกวิ่ง ณ เวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับผู้ชมโทรทัศน์ทั่วโลก มากกว่าความเหมาะสมกับตัวนักกีฬาเอง
สื่อสามารถกลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญอันหนึ่งในเหตุการณ์ต่างๆที่มีนัยสำคัญมากๆ. หนึ่งในตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคือ การรายงานข่าวผ่านสื่อเกี่ยวกับเรื่องของสงครามเวียดนาม. ภาพถ่ายทางโทรทัศน์เกี่ยวกับความโหดร้ายของทหารอเมริกันและความเสียหาย กลายเป็นปัจจัยหลักอันหนึ่ง ในการพัฒนาเกี่ยวกับขบวนการต่อต้านสงครามขึ้นมาในสหรัฐฯและออสเตรเลีย ผลลัพธ์ในการประท้วงของประชาชนได้ช่วยให้เกิดการยุติสงครามในเวลาต่อมา
จนกระทั่งปัจจุบัน ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสะท้อน(reflection)ที่ครุ่นคิดกันว่า สื่อมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ในชีวิตจริงอย่างไร; ปรากฏว่า พวกมันไม่สามารถเป็นกระจกเงาที่ส่องสะท้อนอันบริสุทธิ์ไร้เดียงสาได้ นับตั้งแต่ที่พวกมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์และเปลี่ยนแปลงมันไป
อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณากันถึงเรื่องราวที่แต่งขึ้นทั้งหลาย(fictions) มันคือแบบจำลองของการสะท้อนที่มีประโยชน์ขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่? เรื่องราวที่แต่งขึ้นแสดงให้คนภายนอกทั้งหลายเห็นว่าชีวิตเป็นอย่างไร มันคล้ายกับกับในสังคมบางสังคมโดยเฉพาะใช่ไหม? เราสามารถที่จะบรรลุถึงความเข้าใจเกี่ยวกับอเมริกา, แอฟริกา, หรือออสเตรเลียโดยการดูละครทางโทรทัศน์ของประเทศเหล่านี้ได้ไหม?
แบบจำลองการสะท้อน(reflection model)เป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจในที่นี้ ถ้าหากว่าจะมาทึกทักเอาว่า ผลผลิตต่างๆของสื่อเปิดเผยอย่างโปร่งใสถึงความจริงเกี่ยวกับสังคมบางอย่าง. การใช้วิธีการเข้าถึงอันนี้ คุณจะทึกทักว่าละครทีวีประเภท television soap เรื่อง Neighbours ได้ให้ภาพสะท้อนที่ชัดเจนถูกต้องเกี่ยวกับชีวิตชานเมืองที่เป็นเช่นนั้นของออสเตรเลีย! แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่กระจ่างชัดว่า ขณะที่มันอาจจะสะท้อนถึงท่าทีหรือทัศนคติทางสังคมที่เป็นอยู่ เราต้องการที่จะเข้าใจเรื่อง Neighbours มากกว่านี้มาก โดยการวางมันลงในบริบทของสังคมทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยการมองไปที่ใครเป็นผู้ผลิตมันขึ้นมา และภายใต้ข้อจำกัดอะไรบ้าง. ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงทางสังคมเกี่ยวกับออสเตรเลีย(หรือสหราชอาณาจักร) ณ เวลาของการสร้างและการบริโภคเกี่ยวกับรายการเหล่านี้ เพื่อเข้าใจถึงว่า รายการพวกนี้มันเหมาะกับจินตนาการซึ่งนิยมกันอย่างไรของผู้รับสื่อทั้งหลาย
อันนั้น เราต้องพยายามและเข้าใจว่า ทำไมชาวออสเตรเลียนและชาวอังกฤษ(Briton)จึงดูเรื่อง Neighbours กัน: การวาดภาพที่มีลักษณะเฉพาะอันนั้นเกี่ยวกับความเป็นจริง ทำให้ผู้รับสื่อรู้สึกถูกอกถูกใจบางอย่าง และความสุขเหล่านี้สัมพันธ์กับความเป็นจริงที่แท้อย่างไรบ้างของผู้ดู. อันนี้คือสิ่งทีสำคัญโดยเฉพาะเมื่อพยายามที่จะเข้าใจว่า ทำไมเรื่อง Neighbours จึงเป็นที่นิยมชมชอบกันมากสำหรับผู้ดูที่เป็นคนอังกฤษ
มันคือลักษณะของยูโธเปียของมันใช่ไหม แดดกล้า การดำเนินชีวิตที่สะอาดหมดจดไร้มลทิน ที่ได้ให้ความพึงพอใจจากการพยายามหนีรอดไปจากชีวิตจริงของผู้ชมทั้งหลาย ซึ่งต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดและกดดันมากของความเปล่าเปลี่ยว, ชีวิตในเมือง, และทิวทัศน์ในประเทศอังกฤษที่น่าเบื่อใช่หรือไม่?
แม้แต่การไม่มีอยู่หรือการละเลยต่างๆในเนื้อหาของสื่อ ก็เปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้อย่างน่าสนใจเช่นกันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางสังคม ซึ่งมันแพร่หลายอยู่ ณ เวลานั้น และในสถานที่ซึ่งเนื้อหาของมันได้รับการสร้างขึ้นมา ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะตระหนักหรือรู้ถึงสิ่งที่ได้ถูกกีดกันออกไป. ยกตัวอย่างเช่น แม่ที่เก่งกล้าซึ่งอยู่คนเดียว และผู้คนในความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศที่น่าเป็นห่วง แทบจะไม่ถูกนำเสนอมาก่อนช่วงกลางทศวรรษที่ 1980s เลย เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าเราพยายามที่จะทำความเข้าใจสังคมอังกฤษและออสเตรเลียในช่วงทศวรรษที่ 1980s และ 1990s, เรื่อง Neighbours ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสุดๆ จะเป็นแหล่งต้นตอที่มีประโยชน์อันหนึ่ง ท่ามกลางเรื่องอื่นๆอีกมากมาย, พยายามและบรรลุถึงภาพๆหนึ่งเกี่ยวกับสังคมเหล่านั้นว่ามันทำงานอย่างไร ความเชื่อและค่านิยมต่างๆของพวกเขาคืออะไร. กล่าวอีกนัยหนึ่ง บางส่วน มันสามารถที่จะถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นการสะท้อนถ่ายอันหนึ่งเกี่ยวกับช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์อันนี้
แบบจำลองเรื่องผล: อิทธิพลชนิดใดที่ทำให้สื่อมีผลต่อคนดู?
(The effects model: what sort of influence do the media have on audiences?)
มาถึงตอนนี้ขอให้เรามาพิจารณากันถึงเรื่องแบบจำลองเกี่ยวกับผล(the effect model). ส่วนหนึ่งของปัญหาในที่นี้คือ คำอะไรที่นำมาใช้เพื่ออธิบายถึงสิ่งที่สื่อได้กระทำกับพวกเรา. คำนั้นก็คือคำว่า”ผล”(effect) ได้ถูกนำมาใช้อยู่บ่อยๆอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อนำเสนอสิ่งที่เป็นคำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำกับสิ่งที่ถูกกระตุ้นโดยสื่อ: เราดูบางสิ่ง และมันทำให้เรากระทำบางสิ่ง. คำว่า”อิทธิพล”(influence)ค่อนข้างจะเป็นประโยชน์ในที่นี้ เพราะมันยินยอมให้เกิดความยืดหยุ่นได้มากกว่า: เราจ้องดูบางสิ่งบางอย่าง และมันกระตุ้นให้เราทำหรือเชื่อบางสิ่งบางอย่าง
ศัพท์คำว่า”ผล”(effect) ยังเป็นประโยชน์ด้วยในฐานะที่มันสามารถอ้างอิงถึง”การเปลี่ยนแปลง”(change)ในความรู้สึกทั่วๆไปอันหนึ่ง หรือสามารถถูกนำมาใช้เป็นการเฉพาะเพื่อบ่งชี้ถึงมิติต่างๆในเชิงกายภาพเกี่ยวกับการขานรับทางด้านอารมณ์ความรู้สึก (อย่างเช่น ความกลัวที่ทำให้ขนหัวลุก [hair-raising fear] หรืออาการร้อนผ่าวขึ้นมาทันที [hot flush] เกี่ยวกับความรู้สึกขวยเขิน หรือรู้สึกอับอาย)
ข้ออ้างเหตุผลของเราในที่นี้คือ สื่อสามารถกระทำ และมีอิทธิพลต่อเราในหลายๆวิธีการ. เพราะฉะนั้น เราควรจะโอนเอียงกับศัพท์คำนี้. แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราจะใช้ศัพท์คำว่า”ผล”(effect)เพื่อบ่งชี้ถึงผลลัพธ์โดยตรงหรือสามารถวัดได้เกี่ยวกับการบริโภคสื่อ และแน่นอน เราต้องตระหนักเกี่ยวกับศัพท์คำนี้ เพราะว่า มันเป็นแนวคิดสำคัญในการถกเถียงเกี่ยวกับอิทธิพลและพลังอำนาจของสื่อ
ประเด็นที่ก่อให้เกิด”ผล”เกี่ยวกับความนิยม มันถูกนำเสนอขึ้นมาอย่างไร? ในปี ค.ศ.1988 มีเรื่องราวหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ West Australian ซึ่งพาดหัว “Cartoon Triggers Illness”(การ์ตูนกระตุ้นให้เกิดอาการป่วย)รายงานว่า เด็กๆหลายร้อยคนถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น หลังจากรู้สึกไม่สบายขณะที่ดูรายการภาพยนตร์การ์ตูนยอดนิยมทางโทรทัศน์ซึ่งถ่ายทอดผ่านเครือข่ายทั่วประเทศ. การ์ตูน… กระตุ้นให้เกิดอาการชักกระตุก อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในเด็ก… เมื่อแสงแลบสีแดงแปลบปลาบที่สว่างเจิดจ้าปรากฎขึ้นมาบนจอทีวีราว 5 วินาที (West Australian 1988a)
ดูเหมือนไม่ต้องสงสัยเลยว่า ฉากนี้โดยเฉพาะของรายการยอดนิยม(Pokemon)ได้ก่อให้เกิดปฏิกริยาโต้ตอบของผู้ดูเป็นจำนวนมาก แต่ผลอันนั้นของสื่อในตัวอย่างกรณีนี้ไม่ได้สัมพันธ์กับเรื่องราวความรุนแรงแต่อย่างใด (เนื้อหาของรายการโทรทัศน์) แต่มันเนื่องมาจากรูปแบบการนำเสนอของมันมากกว่า (การถ่ายทอดของสัญญานแสงซึ่งเป็นเรื่องของอิเล็คทรอนิค)
ผลในทำนองเดียวกันซึ่งเป็นคำอธิบายในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ได้รายงานว่าฉากของ Pokemon ถูกค้นพบว่า ปรากฎขึ้นในฐานะที่เป็นผลลัพธ์อันหนึ่งของแสงไฟแฟลชที่กระพริบอย่างรวดเร็ว(stroboscopic) ซึ่งสามารถที่จะก่อให้เกิดอาการโรคลมบ้าหมูได้ในผู้ดูบางคน. อันนี้คือตัวอย่างหนึ่งของวิธีการต่างๆที่สื่อทั้งหลาย สามารถส่งผลกระทบต่อสมาชิกที่เป็นคนดูได้ในระดับกายภาพ
ส่วนผลทางด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมโดยตรงของเนื้อหาสื่อ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากกว่ามากที่จะวัดหรือประเมินผล. ในทำนองที่คล้ายกัน มันเป็นไปได้ที่จะตรวจวัดโดยทันทีได้, เช่นปฏิกริยาต่อความรู้สึกอย่างเช่น การหัวเราะ หรือแนวโน้มต่างๆที่เกี่ยวกับอาการเครียด ซึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงระหว่างภาพกำลังตื่นเต้นและตัดไปยังโฆษณาหรือหยุดพัก, แต่นั่นยังไม่สลับซับซ้อนเท่าไรนัก มันเป็นการโต้ตอบทางอารมณ์เกี่ยวกับความต่อเนื่องเท่านั้น
สื่อยังสามารถสร้างผลต่อพฤติกรรมของพวกเราโดยผ่านรูปแบบต่างๆทางด้านเทคโนโลยีของมัน. อุปนิสัยและการดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง โดยผ่านการเพิ่มจำนวนมากขึ้นของระบบการสื่อสาร. พัฒนาการเกี่ยวกับสื่อได้ทำให้ความเป็นอยู่ของพวกเรารวดเร็วขึ้น ยึดติดอยู่กับการนั่งมากขึ้น และอยู่กับบ้านมากตามไปด้วย: การสื่อสารผ่านโทรศัพท์ ผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้เราสามารถติดต่อกับคนอื่นๆได้อย่างทันทีทันควัน
โทรศัพท์มือถือทำให้วัยรุ่นทั้งหลายและบรรดานักธุรกิจ มีอิสรภาพในเชิงภูมิศาสตร์มากกว่าแต่ก่อน ทำให้พวกเขาสามารถติดต่อและถูกติดต่อได้อย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้นโดยเพื่อนๆของพวกเขา, พ่อแม่, หรือการติดต่อทางด้านธุรกิจ เมื่อพวกเขาอยู่นอกบ้านหรือสำนักงาน. เราสามารถเกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ และสื่อสารความรู้สึกต่างๆกันได้ ข้ามระยะทางในชั่วขณะ และผู้คนไม่จำเป็นต้องมีความสามารถในทางคำนวณง่ายๆธรรมดากันอีกต่อไปแล้ว เมื่อพวกเขาได้เรียนรู้ว่าจะใช้เครื่องคิดเลขกันอย่างไรเท่านั้น
การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่าง word processor มีผลอย่างมากต่อการเขียนของพวกเรา มันทำให้ง่ายมากที่จะผลิตเนื้อหาต่างๆขึ้นมา และสามารถที่จะก๊อปปี้ได้สะดวกด้วย อันนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการจัดระบบใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง. ดังนั้น แบบแผนที่แท้จริงเกี่ยวกับการดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเรา ในโลกของสื่อซึ่งเราอาศัยอยู่ร่วม ได้ถูกสร้างขึ้นมาในหนทางที่แตกต่างอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีสื่อต่างๆ
อันนี้คือส่วนหนึ่งซึ่ง Marshall McLuhan กำลังได้รับเมื่อตอนที่เขาพูดประโยคที่ว่า “The Medium is the message” (สื่อก็คือสารนั่นเอง)(McLuhan 1987, p.7). มากยิ่งกว่าการเพ่งความเอาใจใส่ลงไปที่เนื้อหาของสาร เขาต้องการให้ผู้คนคิดถึงรูปแบบต่างๆทางด้านเทคโนโลยีของสื่อ และสิ่งเหล่านี้มันส่งผลกระทบต่อผู้คนทั้งหลายอย่างไร
แต่ในความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคำถามเกี่ยวกับ”ผล”, การส่งผล, และอิทธิพล มันคือพื้นที่เกี่ยวกับเนื้อหาของสื่อ(media content) และวิธีการที่มันถูกนำเสนอที่พวกเราต้องโฟกัสลงในรายละเอียดมากกว่านี้. อันนี้คือพื้นที่ที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาสนทนากันส่วนใหญ่และเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันมาก. รายงานของหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง ด้วยการพาดหัวว่า”Suicide Alert on Film”(ระวังการฆ่าตัวตายในภาพยนตร์) ได้แสดงให้เห็นคำเตือนให้ระวังอันตรายเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายดังกล่าว ซึ่งสามารถถูกนำเสนอออกมาเป็นความนิยมได้
ฉากการฆ่าตัวตายในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดในเรื่อง Romeo and Juliet ได้กระตุ้นความห่วงใยในท่ามกลางนักจิตวิทยาและผู้ให้คำปรึกษาทั้งหลาย เกี่ยวกับภาพยนตร์ที่มีฉากการฆ่าตัวตายแบบโรแมนติคต่างๆ… “อะไรก็ตามที่มีอทธิพลต่อการฆ่าตัวตายให้สูงขึ้น ควรจะได้รับความเอาใจใส่จากสังคมเป็นอย่างสูง”(West Australian 1997)
ความเกี่ยวพันกันในที่นี้ก็คือ ภาพยนตร์สามารถที่จะกระตุ้นการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นได้โดยตรง เมื่อช่วงเริ่มต้นคริสตศตวรรษที่ 21ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีสถิติเด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นผู้ชายซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ในระดับสูง ผลที่ตามมาทำให้สังคมออสเตรเลียนมีความรู้สึกอ่อนไหวต่อประเด็นปัญหานี้
แต่อย่างไรก็ตาม หากเคลื่อนไปสู่การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์นี้ เนื่องมาจากการที่มันให้ภาพเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย จะเป็นเรื่องที่ผิดที่ผิดทางไปอย่างลึกซึ้งในการแก้ปัญหา. การฆ่าตัวตายของเยาวชนเป็นผลผลิตของเงื่อนไขหรือสภาพการณ์ทางสังคมที่กว้างมาก และอันนี้เป็นเรื่องซึ่งต้องการการพิจารณาให้ถี่ถ้วน. ในเวลาเดียวกัน สื่อสามารถที่จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขทางสังคมเหล่านี้
การดูการรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องโรดเอดส์, ผู้ก่อการร้าย ผู้อพยพลี้ภัย โลกที่กำลังร้อนขึ้น และความอดอยากหรือวาตภัย พอจะเป็นไปได้ว่ามันอาจทำให้ใครบางคนซึ่งรู้สึกหดหู่ ไร้พลัง และขาดความเชื่อมั่นอยู่แล้วทำการอัตวินิบาตกรรมตนเองสำหรับเหตุผลเหล่านี้ ซึ่งง่ายที่จะเข้าใจกว่าการได้รับการยั่วยวนโดยการแสดงที่ดึงดูดใจเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของคนหนุ่มสาวในภาพยนตร์เรื่อง Romeo and Juliet
ลองดูตัวอย่างซึ่งเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีกตัวอย่างหนึ่ง หนึ่งในสถิติเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่นผู้ชายในออสเตรเลียคือว่า วัยรุ่นที่เป็นเกย์จำนวนมากพยายามที่จะฆ่าตัวตาย. อันนี้ได้รับการให้เหตุผลว่า เกิดขึ้นเนื่องมาจากความทุกข์ยากลำบากใจของพวกเขา ที่มีต่อวิธีการที่สังคมปฏิบัติกับคนที่รักร่วมเพศ
จากสถิติที่เชื่อถือได้ที่สุดแสดงให้เห็น… 20-35 เปอร์เซนต์ของวัยรุ่นที่เป็นเกย์ พยายามที่จะฆ่าตัวตาย. หนุ่มสาวชาวเกย์ บ่อยครั้ง มีท่าทีที่ฝังลึกภายในเกี่ยวกับภาพลักษณ์และทัศนคติที่ตายตัวเกี่ยวกับตัวของพวกเขาเอง. และเมื่อไรที่คุณถูกบอกว่าคุณเป็นคนป่วย, คนเลว และดำรงอยู่อย่างผิดๆ โดยไม่เข้าใจว่าคุณเป็นใคร คุณก็เริ่มเชื่อคำพูดเหล่านั้น (Herdt 1989, p.31)
Alan McKee (1997) ได้ให้เหตุผลว่า สื่อได้ถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพราะพวกมันนำเสนอภาพลักษณ์ที่เป็นไปในเชิงบวกน้อยมากเกี่ยวกับหนุ่มสาวเกย์. เขาเห็นถึงความต้องการเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนชาวเกย์ที่ป๊อปปิวล่าร์ ในฐานะที่เป็นหนทางหนึ่งซึ่งจะช่วยยกระดับความเข้าใจและความนับถือในตนเอง และต่อสู้กับสถิติการฆ่าตัวตายเหล่านี้. ในความสัมพันธ์กับประเด็นปัญหาข้างต้น และสำหรับคนทั่วไปส่วนใหญ่ ความเชื่อมโยงระหว่างสื่อและสังคมเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน
นอกจากนี้ ประเด็นเกี่ยวกับผล บ่อยครั้งมาก ยังถูกตั้งคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องเพศและความรุนแรงด้วย. สมมุติฐานง่ายๆธรรมดาคือว่า ความรุนแรงของสื่อกระตุ้นพฤติกรรมอันรุนแรงในหมู่ผู้รับ และการเสนอภาพเกี่ยวกับเรื่องเพศโดยสื่อ สามารถที่ทำให้ผู้รับชั่วหรือเลวลงได้. ถึงแม้ว่างานวิจัยเกี่ยวกับผลของสื่อต่างๆจะยังไม่สรุปเช่นนั้น บ่อยทีเดียว มันถูกเสนอว่าการก่ออาชญากรรมได้ถูกกระตุ้นหรือสนับสนุนโดยการดูเรื่องความรุนแรงหรือภาพโป๊ในสื่อ อันนี้คือข้ออ้างเหตุผลอันหนึ่งซึ่งบางครั้งได้ถูกนำมาใช้ในศาลสถิตย์ยุติธรรม
คำตอบในเชิงตรรกสำหรับผู้คนเป็นจำนวนมากคือ ต้องมีการจำกัดสิ่งที่สามารถถูกเฝ้าดูโดยผ่านการเซ็นเซอร์. แต่อย่างไรก็ตาม ดังแนวทางนี้จากภาพยนตร์เรื่อง Scream เสนอแนะอย่างเหมาะสมว่า สื่อไม่อาจที่จะรับผิดชอบสำหรับการทำให้ผู้คนเป็นคนเลว: “ภาพยนตร์ไม่ได้สร้างสรรค์ผู้ป่วยทางจิตขึ้นมา แต่พวกมันทำให้ผู้ป่วยทางจิตสร้างสรรค์มากขึ้น”
ขณะที่ยอมรับว่า สื่อสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อเรา และนั่นทำให้เราต้องการการเซ็นเซอร์ในบางรูปแบบ เราได้สร้างข้อเสนอต่างๆที่ตามมาต่อไปนี้ ซึ่งสวนทางกับการเซ็นเซอร์ที่เพิ่มขึ้น และสวนทางกับการใช้แบบจำลองเกี่ยวกับผล(the effect models) เพื่อให้เหตุผลหรือหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้
1. เรามีความเป็นอิสระบางอย่าง (เช่น การควบคุมตนเอง, และการกำหนดตัดสินได้ด้วยตนเอง)ในสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติ; ขณะที่เราอาจลอกเลียนบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งเราเรียนรู้จากสื่อ – เช่น จะสวมใส่เสื้อผ้าชุดอะไร สไตล์ของการใช้ภาษา และปฏิกริยาต่อกันทางสังคม – เรารู้ถึงสิ่งที่มันมุ่งหมายหรือเจตนาให้เป็นเรื่องรุนแรงกับบางคน และเราระมัดระวังเกี่ยวกับการกระทำต่างๆอันนั้น. เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลซึ่งสามารถที่จะคิดและสะท้อนถ่ายสิ่งที่เราเห็นและกระทำ. เรายังรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง การแสดงหรือเป็นตัวแทนต่างๆของสื่อ สำหรับเรื่องราวทั้งหลายและภาพความรุนแรงที่ปรากฏขึ้น – นั่นคือ พวกมันเป็นเพียงเรื่องราว”สิ่งที่เสกสรรค์”ขึ้นมาหรือ”สิ่งที่เป็นจริง”
เราสามารถตัดสินได้เกี่ยวกับสิ่งที่เราบริโภคจากสื่อ; เราไม่ได้ขานรับมันโดยอัตโนมัติในสิ่งที่เราเห็น. เราเชี่ยวชาญในการจำแนกระหว่าง การเป็นตัวแทนของสื่อ เรื่องราวและเรื่องที่แต่งขึ้น ที่อาจบรรจุภาพของความรุนแรงต่างๆเอาไว้ (เลียนแบบโดยการใช้เลือดหมูและแผลที่ทำปลอมขึ้นมา) และสิ่งที่เป็นจริง. การกล่าวโทษหรือตำหนิสื่อเป็นการแก้ตัวชนิดหนึ่งซึ่งปฏิเสธความรับผิดชอบของตัวเราเอง (และบ่อยครั้งมันถูกใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในฐานะที่เป็นข้ออ้างเหตุผลเพื่อจุดประโยคบางประโยคขึ้นมา อันนำไปสู่การสอบสวนอาชญากรรมความรุนแรงต่างๆเหล่านั้น)
2. มันเป็นสิ่งสำคัญที่ว่า เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความรุนแรงจริงๆและเรื่องทางเพศได้ในโลกนี้ เพราะการจำกัดการเข้าถึงดังกล่าว และการควบคุมข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นการสะกัดกั้นทางสังคมและทางการเมือง. สงครามเวียดนามถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญยิ่ง เกี่ยวกับว่า การรายงานข่าวของสื่อสามารถจัดหาข่าวสารข้อมูลให้กับสังคมได้อย่างไรบ้าง ซึ่งได้ส่งผลทางการเมืองในเวลาต่อมา
การายงานข่าวของสื่อเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการผันเปลี่ยนชาวอเมริกันและชาวออสเตรเลียนให้ต่อต้านสงคราม. ในช่วงระหว่างสงครามอ่าวในปี ค.ศ.1991 สื่อตะวันตกได้ถูกควบคุมอย่างหนักโดยกองทัพ และการรายงานข่าว ถูกเปรียบเทียบคล้ายกับวิดีโอเกม ถูกทำอย่างมีสติมากในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสนับสนุนสงคราม. เราต้องการที่จะเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างเต็มที่ นั่นคือ อิทธิพลต่อสาธารณชนโดยตรงซึ่งมีต่อเรา
นับตั้งแต่ที่ผู้คนทั้งหลายได้ให้ความไว้วางใจในสื่อ เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่มาจากระยะไกลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห่างออกไป การควบคุมการเป็นตัวแทนโดยสื่อสามารถเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่งในการสนับสนุนความเชื่อและทัศนคติโดยเฉพาะทั้งหลาย: สื่อได้ก่อรูปหรือสร้างการรับรู้ของพวกเราขึ้นมาเป็นเนื้อที่ที่แน่นอนอันหนึ่ง
ยังมีคำถามอีกข้อหนึ่งเกี่ยวกับการที่ความรุนแรงจริงๆได้ถูกนำเสนอในโทรทัศน์อย่างไร. ที่เรียกว่า”reality TV”โปรแกรม อย่างเช่นรายการ When Animals Attack (เมื่อสัตว์จู่โจม) และการแสดงให้เห็นภาพที่ถูกถ่ายขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องการการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคนขับรถที่เลวๆ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการที่พวกมันได้ทำให้เกิดความตื่นเต้นจากความรุนแรง
หนึ่งในสิ่งต่างๆที่คุณควรตระหนักหรือรับรู้เกี่ยวกับมันในฐานะที่เป็นการวิจารณ์สื่อก็คือ ภาษาของสื่อมันแสดงออกมาอย่างไร เช่น มุมกล้อง ดนตรีประกอบ การตัดต่อ การถ่ายทำภาพช้า และอื่นๆ สามารถถูกนำมาใช้นำเสนอและกำหนดควบคุมเหตุการณ์ต่างๆในลักษณะที่เป็นการเฉพาะได้ และอันนี้ต้องการการวิเคราะห์ในเชิงวิพากษ์อย่างยิ่ง
3. กรณีรายรอบซึ่งเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์และความรุนแรงที่แต่งขึ้น(fictional) ก่อให้เกิดการตั้งคำถามที่แตกต่างกัน. กฎหมายการเซ็นเซอร์ในออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ประสบกับความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการทำให้เป็นประชาธิปไตย และเสรีนิยมกว้างขวางขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960s. เซ็กส์และความรุนแรงอย่างเปิดเผยกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสื่อโดยเฉพาะเรื่องราวที่แต่งขึ้น อันนี้ได้รับการช่วยเหลือโดยเทคโนโลยีที่ปรับปรุงขึ้นมา และ special effect หรือเทคนิคพิเศษที่ได้มีการทำขึ้นเป็นรูปภาพลายเส้น หรือ graphic เพื่อมาใช้ช่วยอธิบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับเรื่องความรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการใช้ภาพจริงและเสริมรายละเอียดเข้าไปด้วย
ปฏิกิริยายาต่างๆต่อเรื่องนี้ และการรณรงค์ที่ต่อต้านเรื่องเซ็กส์และความรุนแรงผ่านสื่อ ได้เกิดขึ้นทั่วไปนับจากทศวรรษที่ 1970s และยังคงมีการถกเถียงกันอยู่อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับประเด็นปัญหาดังกล่าว. พัฒนาการเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดคำถามที่ตามมาคือ: เราต้องการให้มีการเซ็นเซอร์ใช่หรือไม่? ควรจะมีการจำกัดสิ่งที่ถูกนำออกมาแสดงใช่ไหม? ใครคือคนที่ควรได้รับการยินยอมให้ดูอะไรได้บ้าง? เส้นแบ่งเขตอะไรที่เราต้องการลาก เพื่อที่จะทำให้ผู้ดูทั้งหลายได้มีข้อมูลทางเลือกเกี่ยวกับสิ่งที่เขาปรารถนาจะดู โดยไม่มีการตัดโอกาสทางการเมืองและศิลปะซึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการเลือกทิ้งไป? เราจะนิยามถึงลักษณะเฉพาะหรือทิวทัศน์ต่างๆอย่างไร ที่เราต้องการหรือประสงค์จะให้มีในโลกของสื่อ
ในการถกเถียงกันระหว่างคนที่เชื่อในเรื่องเสรีภาพของตนเอง (การเป็นอิสระปกครองตนเองได้ และเสรีภาพที่จะเลือก) และพวกที่เชื่อในการกำหนด (เป็นเรื่องของเงื่อนไขที่มีมากกว่า, ฟันเฟืองของเครื่องจักรขนาดใหญ่ เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์มาจากเหตุปัจจัยมากกว่าการเลือก) เราได้ถูกโน้มเอียงไปสู่ลัทธิเสรีนิยม. ในโลกอุดมคติพวกเราไม่ต้องการให้มีการเซ็นเซอร์ แต่โลกของเราไม่ได้เป็นดั่งอุดมคติ; เราต้องการที่ปกป้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กๆ ต่อภาพต่างๆซึ่งเป็นอันตรายและล่อลวงต่อพวกเขา หรือกระตุ้นสนับสนุนอันตรายเหล่านั้น – เราต้องการการตรวจสอบหรือการเซ็นเซอร์บางอย่าง และข้อจำกัดบางประการ. แต่อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ได้เสนอข้อถกเถียงในเชิงเหตุผล 2 ประการซึ่งมีต่อเรื่องของการเซ็นเซอร์ดังนี้:
ประการแรก, เกี่ยวข้องกับคุณค่าและความสำคัญของความคิดเพ้อฝัน. เรื่องราวที่แต่งขึ้น(fictional stories) อย่างเช่นความฝัน ยินยอมให้เราสำรวจและหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวที่เพ้อฝันได้ ความฝันเกี่ยวกับการทำร้ายคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับการได้กระทำมันไปลงไปจริงๆ กระนั้นก็ตาม พวกเราเป็นจำนวนมาก ฝันเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ในบางครั้ง. เรื่องราวที่เสกสรรค์ขึ้นมาทั้งหลายยอมให้เราสำรวจและทำความเข้าใจความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องเพศและความรุนแรงของเรา
Bruno Bettelheim ได้ให้เหตุผลสนับสนุนคุณค่าเกี่ยวกับเทพนิยายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงสำหรับพวกเด็กๆ. แม้ว่า”เทพนิยายต่างๆ”จะประสบกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อมีการค้นพบใหม่ๆทางด้านจิตวิเคราะห์และและจิตวิทยาเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งได้เผยให้เห็นว่า เรื่องความรุนแรง ความกระวนกระวายใจ การทำลายล้าง และแม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับการกระทำทารุณกับผู้หญิงในช่วงที่เกิดตัณหา(sadistic)ในจินตนาการของพวกเด็กๆเป็นอย่างไร
Bettelheim ให้เหตุผลว่า เทพนิยายต่างๆ ยอมให้เนื้อที่อันหนึ่งสำหรับจินตนาการอันนี้ และการไปห้ามปรามหรือประณามเทพนิยาย เพราะว่าพวกมันเป็นสิ่งซึ่งน่าเกลียดน่ากลัวและทำให้ตกอกตกใจ จะเก็บงำอสุรกายที่น่ากลัวอันนี้เอาไว้ภายในตัวเด็กและเป็นสิ่งที่ไม่ได้พูดถึงมัน, มันจะหลบซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึก… การปราศจากเรื่องราวที่เพ้อฝันเหล่านั้น เด็กๆจะขาดเสียซึ่งการได้รู้ถึงสัตว์ประหลาดหรืออสุรกาย[ที่มาโจมตี]เขาได้ดีขึ้น และมันก็จะไม่ช่วยแนะนำเขาเกี่ยวกับว่า เขาอาจจะควบคุมหรือเป็นนายเหนือมันได้อย่างไร (Bettelheim 1978, p.120)
ประการที่สอง, มีผู้กล่าวว่าการเซ็นเซอร์เกี่ยวกับเรื่องเพศและความรุนแรงนั้นมันไม่ทำงาน. การตรวจสอบหรือการเซ็นเซอร์สะท้อนความเชื่ออันหนึ่งที่ว่า ถ้าเผื่อเราควบคุมภาพที่ปรากฏบนสื่อได้ เราก็จะสามารถควบคุมพฤติกรรมของคนได้: ถ้าหากว่าเราหยุดยั้งการแสดงภาพของความรุนแรง ผู้คนก็จะยุติการกระทำอันรุนแรงลง. แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนกระทำและรู้สึกรุนแรงกับคนอีกคนหนึ่งด้วยเหตุผลที่หลายหลาก ถ้าเผื่อว่าคนทั้งหลายต้องการดูภาพของความรุนแรงหรืออาการโกรธเกรี้ยวในสื่อ มันอาจเป็นเพราะว่า มันมีความรุนแรงและความรู้สึกเกรี้ยวโกรธมากมายในโลกของความเป็นจริง (ด้วยเหตุนี้ สื่อจึงทำหน้าที่สะท้อนความรู้สึกเหล่านี้ออกมา). ความโกรธถูกทำให้เกิดขึ้นมาโดยการกดขี่บีบคั้นทางสังคม ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่สำคัญอันหนึ่ง
วิธีการเกี่ยวกับข้องกับความรุนแรงอันนั้นมิใช่โดยการไปเซ็นเซอร์สื่อ แต่ควรจะสำรวจตรวจตราสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นในสังคมจริงๆ และพยายามเกี่ยวข้องกับมูลเหตุที่ลึกซึ้งของความเกรี้ยวโกรธและความรุนแรง. การโฟกัสความสนใจลงไปที่ความรุนแรงในสื่อและทำการเซ็นเซอร์ จะเป็นการทำให้เราไขว้เขวจากการมองดูปัญหาต่างๆของสังคมที่กำหนดความรุนแรงขึ้นมา. ถ้าหากว่าความรู้สึกรุนแรงมีอยู่ที่นั่นจริง การเซ็นเซอร์ก็จะไม่ทำให้มันหายห่างจากไปได้
ข้ออ้างในเชิงเหตุผลอย่างเดียวกันนี้ ประยุกต์ใช้กับภาพเกี่ยวกับเรื่องทางเพศด้วย
ในโลกอุดมคติ เราจะต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้คนกำลังรู้สึกในเรื่องทางเพศและเรื่องทางอารมณ์ มากกว่าที่จะพึ่งพาวิธีการเซ็นเซอร์สื่อ. มันกำลังเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากขึ้นว่า ผู้คนทั้งหลายต้องการล่อลวงทางเพศกับพวกเด็กๆ หรือต้องการดูการแสดงต่างๆเหล่านั้น แต่ข้อเท็จจริงคือ พวกเขากลับชี้ไปที่ปัญหาต่างๆทางเพศในสังคมตะวันตก. บางครั้งสื่อยกย่องความรู้สึกทางเพศ แต่บ่อยครั้ง พวกเขาก็ชี้ไปยังปัญหาทางเพศและการปราบปรามด้วย ซึ่งถูกรู้สึกโดยคนจำนวนมาก. การเซ็นเซอร์หรือความเกรงกลัวภาพที่ปรากฏบนสื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศ ได้ดึงความสนใจไปสู่ความต้องการที่จะมองเข้าไปใกล้มากขึ้นในความรู้สึกต่างๆทางเพศของพวกเรา เพื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้อย่างเปิดเผยในโลกของความเป็นจริง. เราอาจถกว่า จริงๆแล้ว มันมีเรื่องเพศน้อยเกินไปในสื่อต่างๆ มีรายการหรือโปรแกรมเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก (อย่างเช่น Sex/Life) ซึ่งพยายามที่จะนำเอาแง่มุมเกี่ยวกับเรื่องเพศมาสู่การสนทนาหรือถกเถียงกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น
การถกเถียงกันเกี่ยวกับผลของสื่อ(media effect)เป็นเรื่องซึ่งชอบทะเลาะกันเรื่องหนึ่ง เพราะมันกลายเป็นเรื่องเชื่อมโยงกันกับประเด็นทางการเมือง. คนจำนวนมากเหล่านั้นถกกันว่า ความรุนแรงบนจอโทรทัศน์มีผลอันตรายต่อบรรดาผู้ดูทั้งหลาย และกำลังแสวงหาหนทางที่จะเสนอให้มีการการเซ็นเซอร์ในเชิงอนุรักษ์และข้อจำกัดในทางกฎหมายขึ้นมาพิจารณากัน
แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้สนับสนุนเสรีภาพของพลเมืองรู้สึกห่วงใยกับการกัดเซาะที่เป็นไปได้เกี่ยวกับอิสรภาพประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงปรารถนาที่จะเสนอประเด็นแย้งที่ว่า มันยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนใดๆเกี่ยวกับผลโดยตรงที่สามารถถูกนำมาวัดได้, ดังนั้น สื่อจึงไม่มีผลหรืออิทธิพลโดยตรงแต่อย่างใด
อันตรายที่ตามมาเกี่ยวกับฐานคิดที่สองนี้คือว่า เราได้ละเลยในการมองไปยังข้อเท็จจริงบางอย่างที่ว่า สื่อต่างๆมีผลหรืออิทธิพลต่อผู้รับอย่างไร แม้ว่ามันอาจยากที่จะวัดและประเมินก็ตามในความสัมพันธ์กับผู้ดูแต่ละคน
การบำบัดรักษาโดยการใช้ดนตรี หรือที่เรียกว่า music therapy ถือเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างแจ่มชัด. มันวางอยู่บนที่มั่นของข้อสมมุติฐานที่ว่า ดนตรี(รูปแบบหนึ่งของสื่อ)สามารถที่จะมีผลต่อผู้ฟัง. ในหนังสือของเขาเรื่อง The Mozart Effect ซึ่ง Don Campbell ได้สำรวจถึงตัวอย่างเป็นจำนวนมาก ที่ซึ่งดนตรีประสบความสำเร็จในการนำมาใช้สร้างความรู้สึกที่แตกต่างและภาวะทางอารมณ์ที่ต่างไป(Campbell 1997). ถ้าเผื่อว่าดนตรีสามารถเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสรรค์ห้วงอารมณ์และความรู้สึกของคนให้แตกต่างได้สำหรับบรรดาผู้ฟังมันทั้งหลาย ก็ดูเหมือนจะฟั่นเฟือนหรือเหลวไหลมากหากจะปฏิเสธว่า ผู้รับสื่อจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากสื่อในบางหนทาง
ท้ายที่สุดคือ ทำไมบรรดาบริษัทต่างๆจึงลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลในการโฆษณาหรือทำประชาสัมพันธ์กัน? บางที เราต้องพัฒนาวิธีการที่ละเอียดอ่อนและช่ำชองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เกี่ยวกับการศึกษาและทำความเข้าใจผลกระทบของสื่อและอิทธิพลต่างๆของมัน
นักวิเคราะห์คนหนึ่งได้ใช้แนวคิดเกี่ยวกับ”concept of compassion fatigue”(ความเมตตาสงสารที่ยากลำบากเกินไป)เพื่อนำเสนอว่า มันมีผลอันหนึ่งซึ่งทับทวีขึ้นเกี่ยวกับการดูรายงานข่าวมากจนเกินไปในเรื่องเกี่ยวกับหายนภัยของโลก, ภาวะข้าวยากหมากแพงหรือทุพภิกขภัย, และความทุกข์ยากของมวลมนุษย์. เราเรียนรู้ที่จะปิดการโต้ตอบหรือขานรับทางอารมณ์ของเราบางอย่าง – ความรู้สึกเมตตาสงสารสำหรับผู้คนเหล่านี้และเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น – อย่างง่ายๆ เพราะพวกเขาหรือเหตุการณ์เหล่านั้น มันมากเกินไปสำหรับเราที่จะจัดการอะไรมันได้
มีคนบางคนหลีกเลี่ยงที่จะดูข่าวร้ายๆ เพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบในเชิงลบโดยการวนเวียนสนอข่าวนั้นอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มารบกวนใจ. ดังนั้นจึงไม่น่าปฏิเสธว่า สื่อได้ส่งผลกระทบกับเราในบางวิธีการ
ในเรื่อง Politics of Pictures (การเมืองเกี่ยวกับภาพ), Hartley บันทึกว่า “เวลาที่เรากำลังจะตัดสินข้อดีต่างๆของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่การดำรงตำแหน่งสาธารณะ สาธารณชนจะต้องใช้ภาพถ่ายและภาพยนตร์ที่บันทึกเสียง(talking picture)ที่ทำขึ้นมา เพื่อตัดสินใจดังกล่าว; การกระทำในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่ง หมายถึง การมีภาระผูกพันอยู่ในการเมืองเกี่ยวกับภาพ(Politics of Pictures)”(Hartley 1992b, p.35)
ข้อความที่ยกมานี้ได้สาธิตให้เห็นว่า สื่อมีความสำคัญอย่างไรในชีวิตสาธารณชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการให้ข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับทางเลือกที่แตกต่างซึ่งพวกเขาเผชิญอยู่ในฐานะผู้ออกเสียงเลือกตั้ง. โดยเหตุนี้ การสื่อสารทางการเมืองจึงเป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญที่สื่อแสดงอยู่ในสังคม
ในยุคที่บุคลิกภาพและสไตล์ได้รับการเชื่อว่าเกือบจะเป็นนโยบายและแก่นแกนที่มีนัยสำคัญอันหนึ่ง วิธีการปรากฏตัวของนักการเมืองคนหนึ่งที่ถูกรายงาน หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนบนหน้าหนังสือพิมพ์ สามารถที่จะสร้างผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความเชื่อถือของบุคคลและจุดยืนทางการเมือง – และต่อความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสื่อ
เป็นที่น่าเศร้า หนังสือพิมพ์ทำให้แนวโน้มในการตัดสินของผู้คนเป็นสิ่งที่ถาวรขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานักการเมืองหญิง โดยการปรากฏตัวที่เป็นส่วนตัวของพวกเธอ. ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำพรรค One Nation, Pauline Hanson ซึ่งเป็นที่ดึงดูดความสนใจของสื่ออย่างยิ่งเหนือเส้นทางอาชีพทางการเมือง. ในการพยายามอันหนึ่งที่จะแกว่งไกวและหันเหความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งต่อต้านพวกเหยียดชนชาติ(racist), นโยบายต่างๆของพวกปีกขวาที่เธอให้การสนับสนุน หนังสือพิมพ์ออสเตรเลียเฝ้าคอยที่จะหัวเราะเยาะการพูดออกเสียงของเธอ การศึกษาของเธอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรากฏต่อหน้าของเธอ
หนังสือพิมพ์ระดับชาติฉบับหนึ่ง ได้นำเสนอเรื่องราวซึ่งเกี่ยวกับแฟชั่นของ Hanson ทั้งหมด (ภาพลักษณ์ของเธอ – วิธีการในการจัดการตัวเธอเอง) ซึ่งบรรดานักออกแบบแฟชั่นชั้นนำของออสเตรเลียหลายคน ได้รับการเชื้อเชิญให้มาวิพากษ์วิจารณ์สไตล์ส่วนตัวของนักการเมืองคนนี้. การแสดงความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์ที่เป็นส่วนตัวมากๆอันนี้ ได้รับการตีพิมพ์ซึ่งทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ดูเหมือนได้ขาดความรับผิดชอบและขาดเสียซึ่งความน่าเชื่อถือไป
การโต้เถียงเกี่ยวกับผลที่ตามมาได้ก่อให้เกิดรูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นสาธารณะของนักการเมือง. ไกลห่างไปจากการหันเหผู้คนจากนโยบายเหยียดชาติของพรรค One Nation, การรายงานข่าวที่ไม่รับผิดชอบนี้ได้ดึงความสนใจไปจากสารทางการเมืองต่างๆของ Ms. Hanson และได้สร้างคลื่นหรือกระแสเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจจากบรรดาผู้อ่านทั้งหลายขึ้นมา ซึ่งเชื่อมั่นจริงๆว่า การโจมตีในเรื่องสไตล์ส่วนตัวเป็นเรื่องการแบ่งแยกและมีอคติทางเพศ(sexist)และไม่เป็นมืออาชีพ
ลองเขียนลายชื่อนักการเมืองที่เป็นผู้หญิงสักสามคนที่คุณรู้เกี่ยวกับพวกเธอและพิจารณาดูว่า สื่อเป็นตัวแทนของพวกเธออย่างไร. พวกเธอได้รับการรายงานข่าวแบบเดียวกันกับนักการเมืองผู้ชายหรือเปล่า?
การสื่อสารทางการเมือง พาดพิงถึงสิ่งต่างๆมากมาย อย่างเช่น การถ่ายทอดโทรทัศน์ หรือรายงานข่าวเกี่ยวกับการรณรงค์การเลือกตั้ง และการสัมภาษณ์บรรดานักการเมืองเกี่ยวกับนโยบายต่างๆของพวกเขา. นอกจากที่กล่าวมาแล้ว มันยังรวมถึงการรณรงค์ทางด้านการให้ข้อมูลสาธารณะ, การจัดการสื่อ, และการจัดการภาพลักษณ์ในนามของตัวของพวกนักการเมืองเอง
การจัดการสื่อ(media management) ดังที่อรรถาธิบายโดย McNair (1995, p.114) รวมถึงยุทธวิธีทั้งหมดที่บรรดานักการเมืองทั้งหลาย (และประชาสัมพันธ์ส่วนตัวของพวกเขา) ใช้เพื่อควบคุม, จัดการอย่างชำนิชำนาญ, หรือมีอิทธิพลต่อการควบคุมสื่อในหนทางต่างๆที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ต่างๆทางการเมืองของพวกเขา. ยุทธวิธีเหล่านี้รวมทั้งการกำหนดวาระ(agenda setting) และการจัดการควบคุมเหตุการณ์สื่อ(media event) อย่างเช่น การเรียกประชุมนักข่าว(press conference) และการเปิดอาคารสาธารณะอย่างเป็นทางการ ทำให้สมบูรณ์ด้วยการถ่ายภาพเหตุการณ์นั้นๆและกล่าวสุนทรพจน์ โรยพริกไทยด้วยข้อความง่ายๆสั้นๆที่เผ็ดร้อนตามสมควรสำหรับการเผยแพร่ผ่านสื่อ
นับจากที่การเมืองได้เป็นศูนย์กลางที่นำไปสู่ช่องทางการมีบทบาทหน้าที่ระดับชาติ เนื้อหาอันนั้นคือสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับข่าวหนังสือพิมพ์, เพราะฉะนั้น สื่อและนักการเมืองทั้งหลายจึงมีสัมพันธ์ภาพหรือพันธะที่ขึ้นต่อกันและกัน. บทบาทของสื่อในการสื่อสารทางการเมืองหมายความว่า สื่อมีความรับผิดชอบที่จริงจังอันหนึ่งต่อสาธารณชน
แบบจำลองการไหลเวียนเป็นวงจร (A circular model)
ที่ผ่านมาหวังว่าคุณเริ่มที่จะมองเห็นความสลับซับซ้อนบางอย่างเกี่ยวกับสื่อ-ในความสัมพันธ์กับโลก. เราได้นำเสนอแบบจำลองต่อไปนี้ ในฐานะที่เป็นวิธีการอันหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าสื่อได้สะท้อนและมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างไร
ในแบบจำลองนี้ บรรดาผู้ทำสื่อทั้งหลาย, เนื้อหาของสื่อ, และผู้รับสื่อได้ถูกแยกจากสามัญสำนึกโดยทั่วไป. พวกผู้ผลิตสื่อ ในการสร้างภาพต่างๆของพวกเขาและเรื่องราวทั้งหลาย ซึ่งกำลังสะท้อนถ่ายไอเดียและความเชื่อต่างๆของสังคม ที่ได้รับการยึดถือโดยกลุ่มคนซึ่งมีความแตกต่างกันในทางสังคม. บรรดาผู้รับที่บริโภคเนื้อหาเหล่านี้ได้รับอิทธิพลและผลกระทบบางส่วนโดยสิ่งที่พวกเขาดู. ครั้นแล้ว อิทธิพลเหล่านี้ก็ได้ไปช่วยสนับสนุนต่อการถักทอความคิดที่เป็นสามัญสำนึกทั่วไปของสังคมทั้งหมดขึ้นมา
ผู้ทำสื่อทั้งหลาย เนื้อหาสื่อ และผู้รับ เหล่านี้คือส่วนทั้งหมดของสังคมทั้งมวล; พวกมันไม่ได้แยกขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง. สื่อคือหนึ่งในพลังอำนาจของสังคมที่ผลิตสามัญสำนึกของคนทั่วไปขึ้นมา ความเชื่อและความรู้สึกต่างๆของสังคมโดยทั่วไปของสังคมหนึ่ง
ในลำดับต่อมา ความเชื่อและค่านิยมของสังคมเหล่านี้ก็มีอิทธิพลต่อสื่อด้วย ซึ่งสะท้อนถ่ายความเชื่อและค่านิยมเหล่านี้ของพวกเขา. คล้ายกับไก่กับไข่ มันไม่มีคำตอบง่ายๆว่าอะไรเกิดก่อนกัน การเป็นตัวแทนของสื่อ หรือสามัญสำนึกทั่วๆไป; ทั้งสองถูกฟั่นเกลียวหรือคลุกเคล้าเข้าด้วยกันอย่างถาวร
มากยิ่งไปกว่านั้น ในโลกของสื่อทุกวันนี้ ภาพของสื่อและความจริง บ่อยครั้ง มันเบลอๆเข้าหากัน: เราเริ่มจะเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในความสัมพันธ์กับภาพสื่ออันคุ้นเคย. ยกตัวอย่างเช่น สงครามอ่าวอาจดูเหมือนวิดีโอเกม และผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งเกี่ยวกับการจู่โจมของตำรวจสามารถแสดงความคิดเห็นออกมาว่า “มันค่อนข้างคล้ายๆกับเรื่อง NYPD Blue ในจอทีวีเลยเพื่อน”(West Australian 1998b)
สรุป (Conclusion)
ในบทนี้ได้นำเสนอสมมุติฐานจำนวนหนึ่งและข้อถกเถียงบางประการเกี่ยวกับสื่อและสังคม และเกี่ยวกับความสัมพันธ์กันระหว่างทั้งสองส่วนนี้. สิ่งเหล่านี้ควรจะก่อรูปก่อร่างบางอย่างอันเป็นประโยชน์สำหรับการเริ่มต้นการวิเคราะห์และความเข้าใจของคุณเกี่ยวกับสื่อ. มันอาจจะเป็นประโยชน์ที่จะหวนกลับไปสู่ข้อถกเถียงกันอันนี้เป็นครั้งคราว เพื่อเตือนตัวคุณเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ และดูว่า ความเข้าใจของคุณเกี่ยวกับมันกำลังพัฒนาไปอย่างไร