triamboy
THE MOST IMPORTANCE THING IN COMMUNICATION IS TO HERE WHAT ISN’T BEING SAID.
Peter Drucker.
หลายวันมานี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และรัฐบาลผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง และหลายคนใจจดจ่อต่อการรับรู้ข่าวสารเรื่องนี้ตลอดเวลาด้วยสาเหตุอย่างหนึ่ง การสื่อสารในปัจจุบันนี้มีวิวัฒนาการจากเดิมมาก ทำให้ผู้บริโภคข่าวสารได้รับข่าวสารต่างๆมากมายจากอุปกรณ์ต่างๆรอบตัวอย่างไม่มีโอกาสปฏิเสท อาทิ ข่าวด่วนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เป็นต้น หลายครั้งหลายคราพบว่าทำให้ผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารคาดการณ์เหตุการณ์ต่างๆเกินกว่าความเป็นจริง ส่งผลต่อทัศนคติ ความคิด ความเชื่อของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามแล้วไม่ว่าการนำเสนอ หรือได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทาง หรือเครื่องมือไหนมีจุดร่วมที่เหมือนกัน คือ เป็นข้อมูลที่ถูกเลือกมาจากส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเหตุการณ์นั้น โดยไม่คำนึงว่าการนำเสนอมีความพอเพียง (เท่าเทียม และทั่วถึง) ในการนำเสนอข้อเท็จจริง ความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แต่นำเสนอบางส่วนจากบุคคลที่เรียกร้อง พูดโฉ่งฉ่าง โวยวาย เป็นต้น (เพื่อความน่าสนใจของข่าวสาร ทำให้คนจำนวนมากสนใจ นำมาซึ่งผลประโยชน์ของผู้นำเสนอ) ด้วยสาเหตุนี้ทำให้พฤติกรรมของคนในสังคมทุกวันยิ่งบิดเบือนไปในทางที่ไม่พึงประสงค์
ในเหตุการณ์หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับคนจำนวนมาก เหตุการณ์ของสังคม นั้นมีสมาชิกที่มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่าทางออกของปัญหา หรือทางเลือกในการสร้างสรรค์ ดำเนินกิจกรรมมีความหลากหลาย โดยไม่จำเป็นต้องมี 2 ทางเลือกเพื่อเปรียบเทียบ หรือให้เลือกข้าง เพื่อแสดงออกซึ่งพฤติกรรมของบุคคล อันเนื่องมาจากระดับต้นทุนการบริโภคสะสมที่แตกต่างกัน อาทิ การศึกษา ประสบการณ์ วัฒนธรรม ความรู้ ข้อเท็จจริง เป็นต้น เป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ ภายใต้ขอบเขต กฎระเบียบของสังคม เพื่อความชัดเจนขอยกตัวอย่างต่อเนื่องจากข้างต้น คือ
การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกจากหน้าที่ โดยการเข้ายึดธรรมเนียบรัฐบาล และสถานที่ราชการต่างๆ จากกรณีนี้เห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้มีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เพียงแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และรัฐบาล โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังนี้
1. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
2. รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ บุคคลากรของรัฐ
3. ประชาชนทั่วไป
เห็นได้ว่าเหตุการณ์นี้ประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 ส่วนหลัก โดยมีปัจจัยกำหนด หรือสาเหตุ คือ ทางเลือกในการแก้ไขสถานการณ์ โดยสองส่วนแรกนั้นพบว่ามีความชัดเจนในทางเลือกที่มีทิศทางในตรงกันข้าม คือ
1. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เลือกที่จะดำเนินกิจกรรมเพื่อให้รัฐบาลลาออก โดยอารยะขัดขืน
2. รัฐบาลเลือกที่จะอยู่ต่อ และอดทน ดำเนินการตอบโต้ภายใต้กระบวนการยุติธรรมต่อการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
3. ประชาชนทั่วไปมีทางเลือกที่ชัดเจนอาจอยู่ระหว่างสองข้างเลือกข้างต้นหรือไม่ก็ได้ มีความหลากหลายในรายละเอียดรูปแบบปฏิบัติขึ้นกับแต่ละปัจเจกชน อาจมีจุดร่วมในภาพรวม อาทิ ประชาชนบางส่วนเลือกที่จะให้มีการประนีประนอม มีการถอยกันคนละก้าว และดำเนินกิจกรรมภายใต้กฎกติกาของประเทศเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อบ้านเมือง และประชาชนทั่วไปมากไปกว่านี้ บางส่วนเลือกไม่เห็นด้วยกับทั้งสองทางเลือก บางส่วนเลือกที่จะนิ่งเฉย บางส่วนเลือกที่จะให้เกิดการปะทะ ใช้ความรุนแรง เพื่อเหลือเพียงข้างใดข้างหนึ่ง เป็นต้น
หากพิจารณาถึงสัดส่วนของแต่ละองค์ประกอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พบว่า ส่วนที่ 3 ประชาชนทั่วไปที่มีทางเลือกโดยไม่ได้เรียกร้อง หรือถูกนำเสนอมีสัดส่วนมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับอีกสองส่วนที่เหลือ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า สองส่วนที่เหลือดูเหมือนจะมีบทบาท ความสำคัญมากกว่าส่วนของประชาชนทั่วไป โดยสาเหตุหลักของพฤติกรรมที่บิดเบือนนี้มาจาก สื่อมวลชน ทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง แต่เป็นข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน เป็นของสองส่วนนี้เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับเวลาที่นำเสนอ ระดับความสำคัญเนื้อหาของข้อเท็จจริง เป็นต้น ทำให้เกิดสภาพแวดล้อม บริบทของความไม่สมมาตรของข้อมูล หรือกล่าวได้ว่าต้นทุนในการเข้าถึงอยู่ในระดับสูง ดังนี้
1. การนำเสนอข้อมูลเพียงบางส่วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ของสื่อมวลชน เป็นอุปสรรคต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนอื่นที่ไม่ได้รับการนำเสนอ เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความคิด ความคาดหวััง และการกระทำไปยังผู้รับสาร ทำให้เกิด
2. ความไม่สมมาตรของข้อมูล ข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมด ในบริบทของสังคมใดสังคมหนึ่ง
จากปัจจัยทั้งสองที่กำหนดให้ต้นทุนในการเข้าถึงอยู่ในระดับสูง ทำให้พฤติกรรมของผู้รับสาร หรือประชาชนทั่วไปมีความบิดเบือน คือ ประชาชนทั่วไปที่มีทางเลือกของแต่ละบุคคล บนความรู้ เหตุผลของตน เมื่อได้รับการนำเสนอข้อมูลอีกด้าน มีแรงจูงใจต่อข้อมูล มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำให้ได้รับการแทรกแซงต่อการตัดสินใจเพื่อแสดงพฤติกรรมจากข้อมูลที่ได้รับ เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากสถานะเดิม โดยเลือกที่จะเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากขึ้น หลังจากนั้นเมื่อมีการสะสมการบริโภคข้อมูล หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เมื่อต้นทุนการบริโภคสะสมในระดับสูงสุดท้ายทำให้แสดงพฤติกรรมออกมาชัดเจนโดยเลือกทางเลือกที่ถูกกำหนดมาไม่ว่าทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน หรือสามารถกล่าวอย่างง่ายได้ว่า การนำเสนอของสื่อมวลชนด้วยข้อมูลด้านหนึ่ง เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ จูงใจให้ผู้รับสารเลือกทางเลือกที่กำหนดมาให้ จนท้ายที่สุดแล้วจะมีทางเลือกน้อยเพียงหนึ่ง หรือสองทางเลือกที่ปรากฎ เกิดปรากฎการณ์ “ถูกบังคับให้เลือกข้างอย่างชัดเจน” นั่นหมายรวมถึงข้างเดียวในที่สุด
ในทางกลับกันหากสื่อมวลชนมีการนำเสนอข้อมูลครบทุกด้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความสมมาตรของข้อมูล ทำให้ผู้รับสารมีการถูกแทรกแซง จูงใจต่อการตัดสินใจเพื่อแสดงพฤติกรรมน้อย ยังคงสถานะการแสดงพฤติกรรมใกล้เคียงเดิม เนื่องมาการได้รับสารที่มีความหลากหลาย มีสภาพแวดล้อม บริทบที่มีความหลากหลาย มีทางเลือกที่หลากหลาย และความหลากหลายนี้บางส่วนมีจุดร่วมกัน ผู้บริโภคจึงมีความมั่นใจมากขึ้นในการแสดงออกพฤติกรรมเดิมของตนเอง และถ้าหากทางเลือกของตนได้รับการนำเสนอยิ่งมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อการแสดงพฤติกรรม ดังนั้น สื่อมวลชน ที่ทำหน้าที่เสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงควรที่จะนำเสนอข้อมูลครบทุกด้าน จากทุกส่วนที่ได้เสีย อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อที่จะให้ทุกคนสามารถเลือกทางเลือกของตนเองได้ โดยที่ไม่มีการแทรกแซง บิดเบือนให้กระทำในสิ่งที่ไม่คาดคิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์ในอนาคตก็เป็นได้