Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Archive for มีนาคม 6th, 2009

*บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ไม่ใช่fact ดังนั้น แย้งได้ เถียงได้ ยินดีครับ ตราบใดที่ยังยืนอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล อันที่จริง ผมก็ต้องการให้เกิดการพูดคุยแหละครับ สนุกดี

————————————————

ชั่ว ไม่ ช่าง ชี – ดี ไม่ ช่าง สงฆ์

เพราะ พุทธศาสนา นั้น เป็น สากล

เรา คง ต้อง รับ – ใช้ ร่วม กัน

————————————————

เฮ้อ! ท่านผู้อ่านครับ ชีวิตคนเรานี่มันไม่แน่นอนจริงๆ วันก่อน ผมก็เพิ่งได้รับข่าวร้ายว่า เพื่อนสมัยที่เรียนมัธยมด้วยกัน เสียชีวิตไปแล้วอีกรายด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีไปแล้วคนนึงที่ไหลแล้วก็หลับไม่ตื่นไปเฉยๆ ชีวิตเรานี่ช่างเปราะบางนะครับ….. อันที่จริงมันก็พอจะเข้าใจได้นะครับ ว่าคนเราก็ต้องมีตายทุกช่วงอายุเป็นธรรมดา มากบ้างน้อยบ้าง แต่ ก็รู้สึกว่า มันก็ออกจะเร็วเกินไปนิดหนึ่งเหมือนกันกับคนอายุอานาแค่20ต้นๆ ที่น่าจะต้องสังเกตก็คือ มันก็ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกทีๆซะด้วย

เอาล่ะอย่างไรก็ตามแต่ ผมไม่ได้มาคุยวันนี้ด้วยเรื่องธรรมะอันลึกซึ้งหรอกครับ แต่พอดีก็นึกถึงงานศพที่ตัวเองจะต้องไปในไม่กี่วันนี้ ก็เลยฉุกคิดขึ้นมาพอเป็นไอเดียซึ่งก็เก็บในใจไว้มานาน มาเขียนเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ได้สักเรื่องหนึ่งครับ….เอาว่ามันเป็นความคิดเห็นที่มาจากความฉงนสงสัยของผมต่องานศพในแบบชาวพุทธ(ประเทศไทย) ละกันนะครับ

พราห์มในพุทธ

ตอนเด็กๆ อาจารย์เคยบอกว่า พุทธศาสนา ในบ้านเรานี่ มีการผสมปนเปของ พิธีกรรมแบบพราห์มเข้ามามากมาย ตัวอย่างเช่นการพรมน้ำมนต์ การผูกสายศีล (แม้แต่การไล่วิญญาณร้าย)  รวมถึงการสวดมนต์ด้วย ซึ่ง มานึกๆดูแล้ว อันที่น่าจะเป็นอย่างหลักของพุทธศาสนาในบ้านเรานี่ก็น่าจะเป็นการสวดมนต์นี่แหละ เพราะทุกๆกิจกรรมที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องหนองยุ่งกับศาสนาพุทธนั้น จะมีบทสวดตามมาทุกที่ และหลายๆครั้งก็เป็นพิธีการหลัก ในงานต่างๆ เช่นการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ก็จะมีการสวดมนต์เพื่อเป็นศิริมงคลแก่บ้าน ที่ผู้อยู่อาศัย  เป็นต้น

ตามความเข้าใจของผม พุทธศาสนาคือหลักธรรม หลักปฏิบัติ เป็นธรรมะในการดำรงชีวิตหรือเป็นไปเพื่อหลุดพ้น เป็นคำสอนที่เป็นตรรกะ และเป็นเหตุเป็นผล เหล่านี้คือตัวตนที่แท้ของพุทธศาสนา หาก บทสวดมนต์จะเข้ามาเป็นองค์ประกอบได้ บทสวดก็คงต้องให้ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้างต้นนั้น

กลับมาที่งานศพ

ในทางเดียวกัน เวลาเราไปงานศพ กิจกรรมหลักของเราคืออะไรครับ? (ใครตอบไปกินข้าวเย็นนี่ น่าตีตายนะครับ) ก็คือไป1. เคารพศพแสดงออกถึงความรักที่เรามีให้ผู้ตาย 2. ความห่วงใยที่มีให้ผู้อยู่ แล้วก็ 3.ไปฟังสวดศพใช่มั้ยครับ (ถ้าคุณมีจุดประสงค์ด้านการเมือง ก็คือไปให้เจ้าภาพเห็นหน้า อีกอย่างหนึ่ง) คำถามของผมก็คือ ตอนเราฟังสวดศพ เราทำอะไรกัน 1.หลับ 2.คุย 3.ได้ยินเฉยๆ นิ่งๆ ไม่เข้าใจ หรอกว่าสวดว่าอะไร –  ถ้าคำตอบของคุณไม่ได้แตกต่างไปจากนี้ บางที คุณก็อาจจะควรสงสัยตัวเองเหมือนกันนะครับว่า เราไปทำอะไรที่นั่น!

ด้านผู้สนับสนุนการสวดศพอาจจะพูดถึง เรื่องของ การแสดงออกซึ่งความเคารพ รักเป็นครั้งสุดท้าย การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีกรรม หรือ การร่วมกันส่งวิญญาณผู้ตาย ใช่ให้ท่านได้ไปที่ดีๆ อืม ถึงแม้ว่าอย่างหลังจะไม่ได้ตรงตามหลักของพุทธศาสนามากนัก แต่ถ้าเพื่อสำหรับผู้ที่ล่วงลับไป เราก็จะเต็มใจมากในข้อนี้ครับ ดังนั้นนี่อาจจะเป็นประเด็นเหตุผลที่เราไม่ค่อยถามกัน เพราะเมื่อความสงสัยทั้งหลายถูกตอบไปว่า เพื่อผู้ตายน่ะ ผู้อยู่ทั้งหลายเลยไม่ต้องการคำตอบอะไรต่ออีก      แล้วสำหรับผู้ที่ไปร่วมละครับ อืมมม… การสวดศพก็อาจจะช่วยในด้านความรู้สึกของญาติสนิทมิตรสหายว่าผู้ตายจะได้ไปดี ไปที่ชอบๆ อย่างนั้นครับ

แล้วอีกด้านหนึ่งล่ะ? ผมอยากจะนำเสนออย่างนี้ครับ

ท่านลองนึกบทสวดในงานศพมาสักท่อนหนึ่ง ไม่เอากล่าวอาราธนาศีล5นะครับ แล้วลองถามตัวเองว่า มันหมายความว่าอะไรถ้าคุณไม่ได้ศึกษาภาษาบาลีมาเหมือนคนส่วนใหญ่ และ เหมือนผม คำตอบก็น่าจะเป็น ไม่รู้ แหละครับ เอาแบบตรงๆ สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าสิ่งนี้มันน่าแปลกนะครับ ที่เราจะไปนั่งฟังสิ่งที่ไม่มีทางเข้าใจได้เป็นชั่วโมงๆ แปลกยังไงน่ะหรือ? ก็ทีเวลาอาจารย์สอน บางทีเราก็ยังไม่ค่อยจะฟังเลยใช่มั้ยครับ แล้วถ้ามันไม่ออกสอบ บางคนก็ไม่เข้าเรียนด้วยซ้ำ, เวลาที่คนพูดอะไรไม่เข้าหูเราก็ไม่อยากฟัง-เดินหนี, เวลาเพลงไม่เพราะเสนาะโสตเราก็เปลี่ยนคลื่น และอีกหลายๆอย่างที่เราสามารถปฎิเสธในสิ่งที่เราไม่ชอบหรือไม่คิดว่าจะให้คุณค่ากับตัวเราได้ตลอดเวลา ทีนี้มันจะเริ่มแปลกขึ้นมาได้รึยัง?

แล้วความแปลกนี้มันก็จะแปลกมากขึ้นอีก เมื่อคุณไปงานศพแล้วพบว่าผู้เข้าร่วมฟังการสวดศพนั้นประกอบด้วยคนสองกลุ่มคือ กลุ่มผู้ฟัง กับ กลุ่มผู้ไม่ฟัง (ซึ่งกลุ่มหลังนี้ หลายๆครั้งก็ใหญ่กว่า) กลุ่มผู้ฟังเราก็ได้คำตอบไปแล้วว่าฟัง เพื่อแสดงออกถึงความเคารพ แต่ไม่ได้รู้เรื่อง ส่วนกลุ่มผู้ไม่ฟัง อันได้แก่ผู้คุย ผู้หลับ ผู้ใจลอย ซึ่งถ้าใครไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมเหล่านี้ ก็จะต่อว่าว่า เขาจะมาฟังสวดศพทำไม มือพนม แต่ก็คุยกัน รบกวนชาวบ้าน ทำลายบรยากาศ ฉอดๆๆๆอย่างนั้นครับ        คำแก้ตัวของผู้ถูกกล่าวหา ก็อาจจะเป็นว่า อยากแสดงออกแต่ รู้สึกว่าการนั่งเฉยๆมันน่าเบื่อเกินไป เอาแบบนี้แหละ กลางๆ หรือไม่ก็ จริงๆน่ะอยากกลับ แต่มันน่าเกลียด อะไรอย่างนี้ครับ

ผมกำลังจะพูดอะไร?

ลองนึกๆดู กิจกรรมการไปร่วมงานศพนั้น ก่อให้เกิดการรวมตัวของผู้คนเป็นจำนวนมาก ในทุกๆพื้นที่ แล้วก็เกิดขึ้นทุกวัน วันละ4-5ชั่วโมงเสียด้วย คำถามก็คือว่านอกจากจะหมดไปกับการแสดงออกซึ่งความเสียใจและเคารพ คุณค่าของการไปงานศพนี่มันก่อให้เกิดอะไรครับ ในขณะที่คนหนึ่งคนกลับบ้านช้าลง มีเวลาพักผ่อน หรืออยู่กับครอบครัวน้อยลง อบรมลูกน้อยลง งานค้างเพิ่มขึ้น ต้องเปลืองน้ำมันเพื่อขับรถไปที่ต่างๆ ก่อให้เกิดรถติด กระทบไปยังคนอื่นๆที่ไม่ได้ไปงานศพนั้น  ฯลฯ อีกมากมาย เขาได้อะไรเพิ่มเติมรึเปล่าครับ แล้วสังคมได้อะไรเพิ่มขึ้นรึเปล่าครับ

บางทีนะครับ บางที คนที่คุย หลับ หรือนั่งนึกอย่างอื่นอยู่ น่าจะเป็นคนที่บริหารเวลาได้ดีกว่ากลุ่มที่นั่งฟังอย่างตั้งใจ เป็นไปได้มั้ยครับ? ตามความเห็นของผม ผมว่าเป็นไปได้ (เรากำลังพูดถึงเรื่องการบริหารเวลา ไม่ใช่มารยาทสังคมนะครับ) เพราะขณะที่คนฟังฟังไม่รู้เรื่อง การคุยกัน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล ทรรศนะคติ คนที่คุยด้วยบางทีอาจจะเป็นเพื่อนฝูงที่ไม่ได้เจอกันมานาน แล้วก็ไม่ได้สนิทมากมายขนาดจะนัดพบกันเป็นการส่วนตัว ก็อาศัยเจอกันตามงาน ส่วนคนที่หลับก็ได้พักผ่อนจากความเครียดที่ถาโถมเข้าใส่ชีวิตทำงานของเขาในวันนั้น หลับไปเพื่อจะได้มีแรงขับรถกลับบ้านเป็นต้น

แต่การหลับ ก็ดูจะโฉ่งฉ่างไม่ให้เกียรติ และการคุยก็รบกวนคนอื่น แหม นี่มันงานศพนะเราควรจะรักษามารยาท ทำตัวสงบๆ และให้เกียรติเจ้าภาพหน่อย

ใช่ครับ ผมไม่เถียงในจุดนั้นเลย และ โดยส่วนตัวผมก็ให้น้ำหนักกับการให้เกียรติมากกว่าประโยชน์ส่วนตนอยู่แล้ว(โดยส่วนใหญ่ usually not always) ถ้าอย่างงั้น เราควรจะทำยังไงดีครับ

ผมกำลังคิดว่าเราน่าจะทำอะไรให้มันดีกว่านี้ได้นะครับ มันน่าจะมีจุดตรงกลางที่ดีกว่าสำหรับทุกคน โดยไม่ต้องทำให้ใครเสียประโยชน์ หรือได้มากกว่าเสียให้มากที่สุด ทำให้ บรรยากาศของงานศพยังคงเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย สง่างาม ญาติสนิทมิตรสหายของผู้ตายก็ยังได้รับกำลังใจจาความเชื่อของเขา พระยังได้ปฏิบัติหน้าที่ทางพุทธศาสนา แถม ผู้เข้าร่วมและทุกคนก็ได้ประโยชน์อย่างเด่นชัด   เวลาที่ผู้เข้าร่วมเสียไปเพื่อแสดงออกซึ่งความเคารพรักแก่ผู้ตายไม่จำเป็นจะต้องหมดไปกับภาษาบาลีอันแสนจะไม่เข้าใจนี่ครับ ทำยังไงให้คนที่ไปงานศพก็จะได้อะไรกลับมาหลังจากนั้น (ที่มากกว่า ยาดม เข็มกลัด) และหากเขาอยากเจอเพื่อนๆ เขาก็ควรจะนัดกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือไปคุยกันหลังงานศพ ไม่ใช่บิดเบือนเจตนารมณ์ของงานศพ ใช่มั้ยครับ เราน่าจะสามารถทำทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมงานศพ สามารถแสดงออกซึ่งความเคารพ รัก และ ได้ประโยชน์กลับมาบ้างในเวลาเดียวกัน

เอาล่ะ ผมจะเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่งครับ สั้นๆ

ประมาณสองปีที่ผ่านมา น้าของผม ท่านเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ แม่และครอบครัวของแม่ผม ทุกคนเสียใจกันมาก ในวันสวดวันแรก แม่ผม ท่านเสียใจอย่างมากกับการจากไปของน้องชายท่าน น้องชายท่านนี้เป็นคนที่สองแล้วในพี่น้องของแม่ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เท่าที่ผมจำได้ ตาของแม่นั้นแดงก่ำอยู่ตลอดเวลา ความเศร้าเสียใจจากการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวดำเนินไปตลอดการสวด จนกระทั่ง เมื่อการสวดศพจบลง ญาติคนหนึ่งของผมได้ติดต่อพระสงฆ์รูปหนึ่ง ซึ่งผมเข้าใจว่าท่านได้รับความเคารพอย่างสูง ในเรื่องการเทศน์ ให้มาเทศน์ในงานศพน้าของผมในวันแรก ก่อนที่ท่านเทศน์ บรรยากาศดูหดหู่มาก ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะผมได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องครั้งนี้

ตอนหนึ่งของบทเทศน์ของพระรูปนี้ มีใจความว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะโศกเศร้าต่อไปกระแสจิตแห่งความทุกข์ที่เกิดจากตัวเรานี้ ไม่ช่วยให้สถานการณ์ของน้าผมดีขึ้น ไม่เป็นประโยชน์ต่อท่านในโลกโน้น สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ ช่วยกันส่งกระแสแห่งความสุขไปให้คุณน้าของผม อวยพรให้เขาเจอแต่สิ่งดีๆในโลกหน้า ว่าแล้วท่านก็บอกให้ทุกคนหลับตา แล้วท่านก็นำทุกคนเข้าสู่สมาธิ ช่วยกันส่งกระแสแห่งความสุขไปให้น้าของผม

เรื่องที่ท่านเทศน์และบทพูดอย่างละเอียดที่ท่านชักจูงให้เราหลุดออกมาจากความเศร้าโศกนั้น ผมจำได้ไม่เด่นชัดนัก แต่ก็จำได้ว่าเป็นการเทศน์ที่กินใจแล้วก็ส่งผลในทางบวกต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้สูญเสียอย่างยิ่ง ณ จุดนี้ ผมรู้สึกทึ่งมากกับวิธีการของท่าน ผมไม่รู้ว่าน้าผมจะได้รับสิ่งเหล่านี้รึเปล่า (ไอ้กระแสแห่งความสุขน่ะ)แต่ที่แน่ๆ แม่ของผม อาม่า น้องๆของแม่ ดูมีสติมากขึ้น ตาแม่หายแดง แล้วก็ดูสดใสขึ้น เมื่อไหร่ที่มีใครรู้สึกคิดถึงเศร้าใจขึ้นมาอีก คำพูดอันสร้างสรรค์ของพระรูปนี้จะคอยปลอบประโลมเขา ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตอย่างที่เคยเป็นมาได้โดยไม่เจ็บปวดมาก ซึ่งสิ่งนี้แหละ ที่ผมว่า น่าจะทำจริงๆในทุกๆวัดเมืองไทยของเรา

ข้อเสนอของผม

เป็นการเสนอด้วยไอเดีย ให้คุณได้จุดประเด็นคิดกันคิดเฉยๆ มันไม่มีคำตอบสำหรับเรื่องนี้หรอก และผมก็คิดว่าข้อเสนอเป็นได้หลากหลายมาก เอาเป็นว่านี่เป็นความคิดสำหรับผมละกัน

1. ผมเสนอให้ ลดบทสวดให้สั้นลง และเพิ่มการเทศน์เข้าไปแทน การเทศน์ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่ผมเล่ามาก็ได้ การเทศน์แบบนั้นเหมาะกับวันแรกๆที่ญาติๆยังทำใจไม่ได้ อาจจะเป็นไปในลักษณะของเพื่อผู้ที่ยังอยู่มากขึ้น ไม่เน้นเรื่องปาฏิหารย์ สิ่งลี้ลับเพราะนั่นไม่ใช่หลักของศาสนาพุทธ ส่วนของการเทศน์นี้ อาจจะสอดแทรกเข้าไปในช่วงระหว่างช่วงการสวดรอบที่1-3 ก็ได้เพื่อที่ทุกคนจะได้ไม่กลับบ้านไปก่อน โอเค กรวดน้ำมีได้ แต่ไม่ต้องนานจนเกินไป ทุกคนควรจะได้เข้าใจว่า พรอันประเสริฐคือ ตัวเราเอง ไม่ใช่บทสวดมนต์จากพระสงฆ์

(สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งก็คือ เราต้องยอมรับการ ได้อย่าง-เสียอย่าง (trade-off) เพราะเวลาของวัดและผู้เข้าร่วมมีจำกัด ถ้าเราอยากได้การเทศน์ เราก็ต้องตัดอะไรที่สำคัญน้อยกว่าออกไปบ้าง)

2. ถ้าทำได้ แปลบทสวดไปเลย เป็นภาษาไทยซะ ทีนี้ทุกคนก็จะได้ประโยชน์ (ผมเคยเห็นบางวัดทำตรงนี้ แต่มันฟังยากเหลือเกิน สุดท้ายก็ไม่ฟังอยู่ดี) และ เราต้องไม่คงทำนองบาลีไว้มากก็ได้ แต่อย่างไรเสีย เราก็คงต้องมีมาตรฐานกับตรงนี้เสียหน่อย

ใครได้ประโยชน์จากข้อเสนอนี้?

1. ผู้เข้าร่วมได้ประโยชน์ เพราะ เมื่อปฏิบิตตามข้อเสนอนี้ การไปร่วมงานศพจะมีความหมายต่อตัวเขามากกว่าเดิม ช่วงเวลาของการสวดมนต์ที่ไม่รู้เรื่องลดลง แต่เขาจะได้ให้ความรักแก่ผู้ตาย และ ปรับปรุงจิตวิญญาณของตัวเขาเองด้วยในขณะเดียวกัน (ภายใต้สมมุติฐานว่าเขาฟัง)

2. พุทธศาสนาได้ประโยชน์ เพราะ เมื่อเราสอดแทรกการเทศน์เข้าไป การเทศน์ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่วัดจะต้องคำนึงถึง ในการแข่งขันกับวัดอื่น คนที่จัดงานก็จะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เข้าร่วม ก็จะพยายามเลือกวัดที่เทศน์ดีๆ ให้ข้อคิด และมีศิลปะในการพูด ดังนั้น วัดต่างๆก็จะพัฒนาการเทศน์ขึ้นมามากขึ้น เน้นกันที่บทเทศน์ มากกว่าทำนองสวด ทีนี้วัดพุทธๆพราห์มๆ ก็จะเป็นวัดพุทธมากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เป็นกุศโลบาย และ เปลี่ยนทัศนคติของคนที่ไม่เคยเข้าวัด-ฟังเทศน์ฟังธรรม อาจจะด้วยเพราะความเป็นสังคมเมืองที่ทำงานหนัก ผู้คนจึงต้องการเวลาพักผ่อน และทำเรื่องไม่เป็นเรื่องบ้าง การเทศน์นี้ก็จะทำให้เขาเหล่านั้น เข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางความรู้มากขึ้นโดยไม่ได้รบกวนเวลาพักผ่อน

3. สังคมได้ประโยชน์ เพราะ หากการเทศน์นั้นได้ผลขึ้นมาจริงๆ มีวัดจำนวนหนึ่งสามารถฝึกฝนพระลูกวัดขึ้นมาจนมีความสามารถดีในการเทศน์แล้ว ผู้เข้าร่วมงานศพนั้นก็จะซึมซับหลักธรรมต่างๆเข้ามาในจิตใจของเขา จิตใจของประชาชนก็จะยกระดับขึ้นโดยเฉลี่ย คนจะมองพุทธศาสนาในทางที่เข้าใจมากกว่าเดิม การเบียดเบียนกันลดลง และ การให้อภัยกันก็จะมากขึ้น (อย่างแย่ที่สุด ก็น่าจะมีเสียงแตรบนท้องถนนน้อยลงบ้างน่ะ)

แล้วใครที่ต้องทำงานหนักขึ้น?

แน่นอน คงหนีไม่พ้น วัด พระภิกษุสงฆ์และกรมการศาสนา ที่จะต้องทำงานหนักขึ้นในเรื่องนี้ ทั้งเรียบเรียงเรื่องที่จะเทศน์ และการตัดลดทอนแปลบทสวดมนต์ให้เป็นภาษาไทย และกว่าใครสักคนจะสามารถต่อสู้ไปถึงจุดนั้น คงจะเหนื่อยเต็มทน

นอกจากนี้เมื่อมีการเทศน์เกิดขึ้น นั่นหมายความว่ามีการสื่อสารจากพระสงฆ์ไปสู่ฆราวาสมากขึ้น โอกาสที่จะมีปัญหาจากการบิดเบือนเจตนารมณ์ของการเทศน์นี้ก็น่าจะมีมากขึ้น ความเสี่ยงจากการพูด ปาฏกฐาอันไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ก็อาจจะมีมากขึ้นได้ เช่น พระสงฆ์ที่ไม่ดี เล่าเรื่องอิทธิปาฏิหารย์ของของขลังศักดิ์สิทธิแก่ฆราวาส โดยมีจุดมุ่งหมายแอบแฝงเพื่อการค้า เป็นต้น ดังนั้น จึงจำจะต้องมีการสอดส่องดูแลที่มากขึ้นด้วยในเรื่องนี้

สุดท้านนี้ก็ต้องย้ำอีกทีว่าบทความนี้ของผม เป็นแค่การคิดเล่นๆเท่านั้น เป็นความเห็นส่วนตัว อันเกิดจากความสงสัยอันเป็นส่วนตัว และ ประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวเหมือนกัน  มีความมืดบอด และไม่รู้ในหลายๆมุม ที่ตัวเองไม่เคยสัมผัส และไม่เคยมีจุดประสงฆ์ที่จะทำให้ใครเดือดร้อน หรือ ต่อว่าใคร หากเกิดกระทำการลงไปโดยไม่ตั้งใจ ก็ต้องขออภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้ครับ

ขอบคุณที่ติดตามครับ

Vice Versa

Read Full Post »