Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Posts Tagged ‘ยั่งยืน’

recommendare

บทความเรื่อง  ”ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน”

โดย

อานันท์ ปันยารชุน

ความมีดังนี้

หนึ่งนิยาม คือหนึ่งความหมาย แต่ประชาธิปไตยไม่ได้ถูกให้นิยามไว้แค่นิยามเดียว ประชาธิปไตยจึงมีมากกว่าหนึ่งความหมาย  นับจากโสเครติสถึงเด็กติสต์แถวๆ บ้าน จากอเมริกาถึงไทย ความหมายของประชาธิปไตยได้ปรับแปรเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องขาดช่วงไปมา  ทั้งเหตุที่เกิดในแต่ละบริบทสังคมการเมืองนั้นให้ประจักษ์แล้วว่า แต่ละหนแห่งไม่ได้ให้ความหมายประชาธิปไตยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม หลายๆ สังคมก็ยังมีผู้คนที่ถวิลสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม อยู่เสมอ

เช่นเดียวกัน สังคมไทยมีบุคคลซึ่งอุทิศตนให้กับประชาธิปไตยนานานับ ถ้าสังคมไทยความจำไม่สั้นมากเกินไป คงจำผู้คนเหล่านั้นได้ และอาจยังจำอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในห้วงสมัยรัฐประหารพฤษภาทมิฬกันได้

ครั้งนี้โอเพ่นออนไลน์เปิดคอลัมน์ให้ผู้อ่านพินิจใคร่ครวญความหมายประชาธิปไตยแบบคุณอานันท์ ที่ได้ให้ไว้ในงานอมาตยา เซน เล็คเชอร์ ซีรีส์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในเดือนมิถุนายน 2551 และเคยตีพิมพ์ก่อนแล้วในหนังสือชื่อเรื่อง ประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน

ประชาธิปไตยแบบคุณอานันท์จะเป็นทางออกให้สังคมที่ขมุกขมัวหรือไม่ อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ประชาธิปไตยแบบคุณอานันท์เป็นเช่นไร ช่างน่าสนใจยิ่งกว่า


ท่านศาสตราจารย์อมาตยา เซน คุณมาร์ก ไบเฮน แห่ง ING Bank คุณวิลเลม ฟาน เดอร์ กีสท์  แขกผู้มีเกียรติ และท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทุกท่าน

ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนข้อสังเกตเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในเวทีปราศรัยซึ่งตั้งชื่อตามนักปราชญ์ นักคิด และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ นอกจากนั้นท่านยังได้รับการยกย่องจากผลงานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในฐานะเป็นประธานร่วม United Nations Panel on Human Security

ศาสตราจารย์เซนได้สร้างแรงบันดาลให้พวกเราทุกคนด้วยการนําเสนอข้อคิดสําคัญๆ ซึ่งให้ความหมายใหม่ต่อมิติเชิงจริยธรรมของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เร่งด่วนแห่งยุค

หนึ่งในข้อคิดที่สําคัญยิ่งของศาสตราจารย์เซนคือเรื่องสมรรถนะ ซึ่งจัดให้เสรีภาพของมนุษย์เป็นหัวใจในการวิพากษ์การพัฒนาประชาธิปไตย ศาสตราจารย์เซนเคยตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่เคยมีทุพภิกขภัยร้ายแรงเกิดขึ้นในประเทศใดที่เป็นเอกราช มีประชาธิปไตย และมีสื่อที่ค่อนข้างเสรี”

ในยุคปัจจุบันอันเป็นยุคที่การมุ่งหากําไรมักอยู่เหนือข้อพิจารณาเรื่องความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพ แนวคิดของศาสตราจารย์เซนว่าด้วยการพัฒนาซึ่งเกี่ยวโยงกับเสรีภาพของมนุษย์ ความเป็นประชาธิปไตย และสื่อที่เสรี นั้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด ฟรานซิส ฟูกูยามา ได้เสนอว่าจุดจบของประวัติศาสตร์ใกล้มาถึงแล้ว แต่นี่เวลาได้ล่วงเลยมากว่า 15 ปีแล้ว ชัยชนะของประชาธิปไตยก็ยังไม่สมบูรณ์

บางประเทศได้ผันแปรตัวเองจากแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยมไปสู่แนวทางที่เป็นอํานาจนิยมมากขึ้น บางรัฐบาลก็ยังประสบความสําเร็จพอสมควรในการรักษาระบอบการเมืองที่ปราศจากประชาธิปไตย แต่สามารถตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจของประชาชนได้  ในขณะเดียวกัน หลายประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยก็ยังมีปัญหาด้านความรับผิดชอบต่อประชาชนและธรรมาภิบาล

เรื่องนี้ถ้ามองอย่างผิวเผิน ออกจะน่าแปลกใจ ประชาธิปไตยมีข้อดีที่เห็นชัดขนาดนี้ ไม่น่าจะมีปัญหาในการหยั่งรากลงทั่วโลก แต่สําหรับหลายประเทศ “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”ยังคงเป็นอุดมการณ์ที่ดูเหมือนอยู่แค่เอื้อม แต่ไปไม่ถึง

ต้นเหตุหลักอยู่ที่การต่อสู้ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง อริสโตเติลเคยประกาศว่า “หากเสรีภาพและความเท่าเทียมดังที่บางคนคิดมีอยู่ในประชาธิปไตยเป็นหลัก มันจะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาลมากที่สุด”

ในยุคปัจจุบัน เราเผชิญกับคําถามที่สําคัญยิ่งว่า

เหตุใดประชาธิปไตยจึงดูเปราะบางนัก

มีองค์ประกอบและปัจจัยใดที่จําเป็นสําหรับประเทศหนึ่งๆ ในการไปให้ถึงจุดที่สามารถธํารงไว้ซึ่งประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน

ผมขอให้แง่คิดจากประสบการณ์ของผมในการเป็นนายกรัฐมนตรีที่มุ่งมั่นจะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน

ผมขอเริ่มด้วยคําพูดของมหาตมะ คานธีเกี่ยวกับธาตุแท้ของความเป็นประชาธิปไตยว่า “วิญญาณของประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยัดเยียดจากภายนอกได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องมาจากข้างใน” กล่าวคือ ประชาชนต้องเป็นผู้ต้องการประชาธิปไตยเอง

ในยุโรปส่วนใหญ่ วิวัฒนาการของประชาธิปไตยเป็นไปอย่างเชื่องช้าและเลี้ยวลดคดเคี้ยว ประวัติศาสตร์ของยุโรปนั้นเกลื่อนกล่นไปด้วยสงครามกลางเมือง การปฏิวัติ และระบอบเผด็จการ  แต่ประชาธิปไตยก็ยังสามารถหยั่งราก และในปัจจุบันก็ไม่มีระบอบการปกครองอื่นใดมาแข่งขันท้าทายกับประชาธิปไตยในยุโรป

หากเราถือว่าการให้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแก่ทุกคนเป็นจุดสําคัญของการพัฒนาประชาธิปไตยในโลกตะวันตก เราก็จะพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งหมดที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเพิ่งเริ่มได้ร้อยกว่าปีเท่านั้น

ในกระบวนการวิวัฒนาการทางการเมือง คนเราต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ และปัญหาต่างๆ นานา เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถปรับตัวในกระบวนการวิวัฒนาการได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อมีเสาหลักที่แข็งแรงพอ

ในยุคปัจจุบันเราอาจเปรียบเทียบประชาธิปไตยได้กับสูตรคํานวณซอฟท์แวร์ที่สามารถผลิตผลลัพธ์ทางการเมืองที่ดีที่สุดสําหรับสังคมใดก็ได้ โค้ดสําหรับซอฟท์แวร์ทางการเมืองนี้เก่าแก่หลายศตวรรษ แต่เพื่อความสะดวก เราอาจถือเอกสารแม็กนาคาร์ตาของอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1215 เป็นจุดเริ่มต้น

เป็นที่เชื่อกันว่าประชาธิปไตยนั้นดีกว่า มั่นคงกว่า มีเหตุมีผลกว่า มีประโยชน์และมีความชอบธรรมมากกว่าระบบการปกครองอื่นใด

วินสตัน เชอร์ชิลล์ ได้กล่าวอย่างเหมาะสมว่า “ไม่มีใครเสแสร้งว่าประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์หรือดีเลิศประเสริฐศรีไปหมดหรอก จริงๆ แล้วเคยมีผู้กล่าวว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เลวที่สุด ถ้าไม่นับระบอบการปกครองอื่นๆ ที่ถูกนํามาทดลองใช้บ้างเป็นครั้งคราว”

กระบวนการทางการเมืองต้องพิจารณาควบคู่ไปกับระดับการพัฒนาของประเทศ หากการพัฒนาไม่ราบรื่น สภาพของประชาธิปไตยก็จะเป็นเช่นเดียวกัน การพัฒนาและประชาธิปไตยเปรียบเสมือนด้านหัวและก้อยของเหรียญเดียวกัน

จากประสบการณ์ของผม จําเป็นต้องมีเสาหลักอย่างน้อยจํานวนหนึ่งสําหรับรองรับโครงสร้างพื้นฐานของประชาธิปไตย ถ้าเราคิดจะสร้างสะพานก็ต้องยึดตามหลักวิชาวิศวกรรม แต่การสร้างประชาธิปไตยไม่เหมือนกับการสร้างสะพาน เพราะไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นศิลปะของการทําเท่าที่จะทําได้

การศึกษาและการแพร่ความรู้

ประชาธิปไตยเริ่มต้นด้วยปัญญาของผู้ลงคะแนนเสียง ไม่ว่าปัญญานั้นจะได้มาอย่างไรก็ตาม ที่ผมพูดอย่างนั้นหมายความว่าผู้ลงคะแนนเสียงต้องเข้าใจประเด็นปัญหาที่ตนเผชิญอยู่และทางเลือกที่ตนมี ผู้ลงคะแนนเสียงจะต้องเข้าใจด้วยว่าตนมีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไรบ้างภายใต้ระบบประชาธิปไตย และมีหนทางที่จะแสดงออกว่าตนต้องการอะไรในกระบวนการประชาธิปไตย

หัวใจของประชาธิปไตยจะเต้นได้ก็ด้วยการมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิของพลเมืองทุกคน อย่างแรก คือสิทธิในการหยิบยกประเด็นต่างๆ ที่ตนห่วงกังวลให้บรรจุอยู่ในวาระทางการเมือง และอย่างที่สองคือ การเลือกคนที่ตนรู้สึกว่าจะตอบสนองข้อห่วงกังวลของตนได้ดีที่สุดในกระบวนการการเมือง

นอกเหนือจากการทําหน้าที่พลเมืองอย่างรับผิดชอบโดยการลงคะแนนเสียงแล้ว ประชาธิปไตยต้องมีพลเมืองที่มีความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ชุมชนและสังคมกําลังเผชิญในยุคแห่งโลกาภิวัตน์และอิทัปปัจจยตา

ปัญหาท้าทายอย่างหนึ่งในประเทศกําลังพัฒนาหลายประเทศคือ การจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้การศึกษาตอบสนองต่อชีวิตความเป็นอยู่ประจําวันมากขึ้น ให้เปลี่ยนจากการท่องจําแบบนกแก้วนกขุนทองไปสู่การรู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง และขยายขอบข่ายโครงการการศึกษาให้ไปถึงเด็ก ผู้หญิง และสตรีที่ยากจน

ผมยินดีที่เห็นความก้าวหน้าด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศในการส่งเสริมการศึกษาสําหรับทุกคน ความก้าวหน้าเช่นนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างผู้ลงคะแนนเสียงที่มีความรู้จํานวนมากพอที่จะเป็นเชื้อเพลิงให้กระบวนการประชาธิปไตยก้าวหน้าต่อไป

จุดเด่นอย่างหนึ่งของเอเชียคือเป็นภูมิภาคที่ผลิตสตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลและประมุขของรัฐจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเป็นจํานวนไม่น้อย พัฒนาการที่น่ายินดีเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ ความพยายามของเอเชียใต้ที่จะให้มีความเสมอภาคทางเพศในกระบวนการประชาธิปไตย โดยกําหนดให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมาจากการเลือกตั้งมีสัดส่วนส่วนหนึ่งเป็นสตรี  จึงถึงเวลาแล้วที่ทั้งภูมิภาคจะต้องเร่งรัดส่งเสริมความก้าวหน้าของเด็ก ผู้หญิง และสตรี เพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมในระดับรากหญ้ากว้างขวางมากขึ้น

การศึกษาและการเผยแพร่ความรู้ในฐานะทรัพย์สินสาธารณะเป็นวิธีสําคัญที่ทําให้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นพลังเข้มแข็ง ต้านทานไม่ให้ผู้ปกครองประเทศใช้อํานาจในทางที่ผิด

ในเอเชียเช่นเดียวกับในตะวันตก ประชาธิปไตยไม่ได้มาจากการลงคะแนนผ่านหีบเลือกตั้งเท่านั้น แต่มาจากการต่อสู้ที่แท้จริง ซึ่งเกิดขึ้นบนท้องถนนโดยนักศึกษา ชาวนา แรงงาน และประชาชนทั่วไปที่ออกมาเดินขบวนเพื่อแสดงความไม่พอใจ

ในเอเชีย มหาตมะ คานธี ได้พัฒนาแนวคิดการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพื่อเป็นขบวนการเปลี่ยนแปลงการเมือง ในช่วงห้าทศวรรษหลังจากนั้น ก็ได้มีการเดินขบวนประท้วงเกิดขึ้นในสาธารณรัฐเกาหลี มีพลังประชาชนแผ่กระจายไปทั่วอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และประเทศอื่นๆ เปลวไฟของประชาธิปไตยยังคงส่องสว่างอยู่ในเอเชียใต้ซึ่งมีจํานวนผู้ลงคะแนนเสียงมากที่สุดและกระตือรือร้นที่สุดในโลก

เพื่อให้ประชาธิปไตยมีชีวิต ประชาชนต้องอย่าปล่อยตัวเองให้ตั้งอยู่ในความประมาท แต่ละชุมชน แต่ละที่ทํางาน แต่ละโรงเรียน ต้องมีโครงการส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า

ผู้มีสิทธิมีเสียงที่ไม่สนใจและนิ่งเฉย ย่อมตกเป็นเหยื่ออย่างง่ายดายให้กับกลุ่มจัดตั้งใดๆ ก็ตามที่หวังยึดอํานาจด้วยกําลังหรือการหลอกลวงตบตา ซึ่งในที่สุดจะนําไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จ

ในเอเชียส่วนใหญ่ ซึ่งเน้นเรื่องความสามัคคีและการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง นั้นเป็นค่านิยมสําคัญ สิ่งที่ท้าทายเราคือว่าทําอย่างไรจึงจะยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ การชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย และความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน โดยถือว่าทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเติบใหญ่ของกระบวนการประชาธิปไตยในบริบทของเอเชีย

เสาหลักของประชาธิปไตย

ในทัศนะของผม โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของประชาธิปไตยมีเสาหลักอยู่ 7 เสา อันได้แก่ การเลือกตั้ง ขันติธรรมทางการเมือง การปกครองด้วยกฎหมาย เสรีภาพในการแสดงออก ความรับผิดชอบต่อประชาชนและความโปร่งใส การกระจายอํานาจ และประชาสังคม

การเลือกตั้ง

การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมสร้างความชอบธรรมให้กับประชาธิปไตย โดยป้องกันบุคคลหรือกลุ่มคนเล็กๆ ในสังคมไม่ให้ยัดเยียดผลประโยชน์เฉพาะตัวให้ประชาชนแบกรับ ไม่ควรมีบุคคลใดหรือคนกลุ่มใดมีสิทธิผูกขาดอํานาจเหนือกระบวนการเลือกตั้ง

พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือสําคัญของระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแบบแผนพื้นฐานที่เป็นกรอบให้กับชุมชนทางการเมืองและกําหนดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ประชาชน และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างศูนย์อํานาจต่างๆ

ในสังคมประชาธิปไตย พรรคการเมืองสามารถจัดตั้งขึ้นมาและหาเสียงได้โดยปราศจากการข่มขู่คุกคาม บางประเทศกําหนดให้ก่อนการเลือกตั้งพรรคการเมืองต้องมีเสียงสนับสนุนในระดับหนึ่งเป็นอย่างน้อย ทุกพรรคการเมืองจะต้องได้รับโอกาสใช้สื่อเสรีและวิธีอื่นๆ เพื่อเผยแพร่แนวทางของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง กระบวนการเลือกตั้งจะต้องได้รับการกํากับดูแล สังเกตการณ์และดําเนินการโดยองค์กรอิสระซึ่งมักจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งสามารถโกงกันได้ ซื้อเสียงกันได้ และเป็นที่น่าเสียดายที่นักการเมืองซึ่งลงพื้นที่เฉพาะในช่วงการเลือกตั้งเพื่อสร้างฐานอํานาจและถ่ายภาพกับประชาชน กลายเป็นภาพที่คุ้นเคยกันในหลายประเทศ

รัฐบาลจะสิ้นสุดความชอบธรรมก็ต่อเมื่อไม่สามารถสะท้อนความต้องการของพลเมืองได้ และหากเกิดขึ้น รัฐบาลก็สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่บางครั้งก็อาจมีการใช้กําลังและข่มขู่คุกคามเพื่อหวังยึดครองอํานาจต่อไป การเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไปหรือบ่อนทําลาย

ถึงแม้การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่จําเป็นและเป็นมิติที่เห็นชัดที่สุดของระบบประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีตัวอย่างของการทุจริตเลือกตั้งเพื่อส่งเสริมผลักดันการปกครองแบบอัตตาธิปไตยและทรราช ดังนั้นการเลือกตั้งจึงไม่ได้เป็นหลักประกันว่ามีประชาธิปไตย

ขันติธรรมทางการเมือง

เสาหลักที่สองคือ ขันติธรรมทางการเมือง  การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมไม่ได้เป็นการมอบสิทธิให้กดขี่หรือกีดกันกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้ฝ่ายรัฐบาล และก็ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างมากจะมีสิทธิปล้นสิทธิเสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือชีวิตของเสียงข้างน้อย

ถ้าจะให้ประชาธิปไตยคงอยู่ได้ในระยะยาวก็ต้องมีขันติธรรม ถ้ากลุ่มเสียงข้างน้อยไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเที่ยงธรรมจากกระบวนการการเลือกตั้ง ก็จะไม่สามารถมีความสงบสุขได้ การขาดความสงบสุขจะทําให้ความพยายามทั้งปวงที่จะเป็นประชาธิปไตยไร้ผล

ในหลายประเทศ มีตัวอย่างของการให้สินรางวัลกับผู้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนพรรครัฐบาล และทอดทิ้งหรือลงโทษผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคฝ่ายตรงข้าม  การแจกจ่ายอาหาร น้ำ และทรัพยากรต่างๆ เพื่อการพัฒนา ล้วนเคยถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมให้ชนะการเลือกตั้งมาแล้วทั้งสิ้น

การเมืองภายหลังการเลือกตั้งอาจเป็นโทษต่อผู้แพ้ โดยอาจเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งมองว่าการมีส่วนร่วมของเสียงข้างน้อยเป็นอุปสรรค แทนที่จะหาทางโน้มนําฝ่ายค้านเข้ามาถกหารือกันอย่างมีเหตุผล หรืออาจนําท่าทีของฝ่ายค้านเข้าไปบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลหากสมควร

ขันติธรรมเป็นเรื่องของการยอมรับความหลากหลายในสังคม โดยเริ่มจากการปลูกฝังเลี้ยงดูในวัยเยาว์ ถ้าเราสอนให้ผู้เยาว์เชื่อในหลักการผู้ชนะกินรวบ ก็เท่ากับว่าเรากีดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เยาวชนควรต้องเรียนรู้ว่า สิ่งที่ฝ่ายชนะได้รับในการเลือกตั้ง คือหน้าที่ที่จะรักษาส่งเสริมฉันทามติที่สมดุลในสังคม การสร้างความสมดุลดังกล่าวนี้ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง

หลักนิติธรรม

เสาหลักที่สามของประชาธิปไตยคือหลักนิติธรรม มีการถกเถียงกันมากมายถึงความหมายของคำคํานี้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างหลักนิติธรรมและประชาธิปไตย

เมื่อกระบวนการทางการเมืองกํากับด้วยกฎหมายและกรอบระเบียบกฎเกณฑ์ ราษฎรก็จะสามารถพิจารณาได้ว่ารัฐบาลนั้นปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และสามารถหาคําตอบต่อคําถามหลักๆ เช่น

– รัฐบาลปกครองตามหลักกฎหมายหรือไม่ หรือถือหลักว่าตนได้รับการยกเว้นจากกฎเกณฑ์ที่ไม่สะดวกบางข้อ

– ลําดับขั้นตอนการดําเนินงานของรัฐบาลคงเส้นคงวาและอยู่ภายใต้กฎหมายหรือไม่ หรือว่ารัฐบาลดําเนินการตามอําเภอใจ จับกุมผู้คนที่คัดค้านนโยบายของตนและลิดรอนเสรีภาพของบุคคลเหล่านั้นโดยไม่เคารพสิทธิที่พวกเขาพึงมีตามกฎหมาย

ในช่วงต้นๆ ผมได้กล่าวถึงความสําคัญของแม็กนาคาร์ตา เอกสารประวัติศาสตร์ฉบับนั้นได้จารึกหลักที่ว่ารัฐจะต้องเคารพสิทธิตามกฎหมายทั้งหมดที่บุคคลพึงมี  habeas corpus เป็นหลักการสําคัญที่สุดอย่างหนึ่งในแม็กนาคาร์ตา  habeas corpus ป้องกันการจับกุม กักขัง และประหารชีวิตตามอําเภอใจของรัฐ โดยกําหนดว่าการกระทําดังกล่าวโดยรัฐต้องมีเหตุผลทางกฎหมายและเคารพสิทธิตามกฎหมายของบุคคลที่ถูกกักกัน

ชนชั้นทางการเมืองที่ยอมรับว่า การกระทําใดๆ โดยรัฐต้องเป็นไปตามครรลองของกฎหมาย จะยอมรับประชาธิปไตยมากกว่า การบังคับใช้หลักนิติธรรมอย่างถูกต้องเป็นการป้องกันความพยายามใดๆ ที่จะทําลายเสรีภาพ ยึดทรัพย์สิน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังหมายความว่ากฎเหล่านั้นมีผลต่อราษฎรทุกคนอย่างเท่าเทียม

เมื่อการบังคับใช้หลักนิติธรรมอ่อนแอ การฉ้อราษฎร์บังหลวงก็เฟื่องฟู การติดสินบน การจ่ายเงินใต้โต๊ะ การฮั้วประมูล การออกนโยบายที่เอื้อต่อครอบครัวหรือพวกพ้อง ล้วนเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ ในสถานการณ์เหล่านี้ผู้ที่มุ่งบังคับกฎหมายอาจเผชิญกับการข่มขู่คุกคามหรือตอบโต้แก้แค้น

ประชาธิปไตยจะผิดเพี้ยนไม่ทํางานเมื่อข้าราชการ ตุลาการ นิติบัญญัติ ภาคเอกชน ตํารวจ และทหาร ล้วนใช้อํานาจที่ตนมีอยู่เพื่อสร้างความร่ำรวยและเอื้อประโยชน์ส่วนตนบนความทุกข์ยากของประชาสังคม  ถึงแม้จะมีกฎหมาย การฉ้อราษฎร์บังหลวงก็เป็นตัวบั่นทอนหลักนิติธรรม

ความเป็นกลางของภาคตุลาการเป็นฐานหลักอย่างหนึ่งของหลักนิติธรรม หากผู้พิพากษาใช้กฎเกณฑ์ชุดหนึ่งสําหรับผู้ที่มีอํานาจวาสนา และใช้อีกชุดหนึ่งสําหรับผู้ที่ไม่มีสิ่งเหล่านั้น ระบบการเมืองและระบบยุติธรรมทั้งหมดก็จะตกต่ำเสื่อมเสีย เซาะกร่อนความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อการให้ความยุติธรรมของรัฐบาล

หลักนิติธรรมย่อมมีรากฐานอยู่ในระบบค่านิยมทางศีลธรรมจรรยา ในแอฟริกาใต้ เป็นเวลาหลายสิบปีที่ได้มีหลักนิติธรรมภายใต้กรอบระบบกฎหมายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสีผิว (apartheid) ภายใต้ระบบการเมืองและกฎหมายที่ปกป้องสิทธิของประชาชน คนที่มีสีผิวสีใดสีหนึ่งไม่สามารถใช้มันกีดขวางความยุติธรรมได้ ความยุติธรรม
และความเสมอภาคเกี่ยวโยงโดยตรงกับความยั่งยืนของประชาธิปไตย โดยทั่วไปแล้ว หากหลักนิติธรรมถูกครอบงํา ชื่อเสียงในความเป็นประชาธิปไตยพร้อมกับความชอบธรรมของรัฐบาลก็จะพลอยเสียหายไปด้วย ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะใช้ข้ออ้างอย่างไรก็ตาม

หลักนิติธรรมยังมีหน้าที่สุดท้ายอีกหนึ่งอย่างในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่นของไทย รัฐธรรมนูญเป็นตัวกําหนดกรอบและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันปกครองต่างๆ ในระบบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะทํางานได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อสถาบันและเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ระบบที่มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุล

หลักนิติธรรมเป็นตัวกําหนดขอบเขตของการแทรกแซงกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง  เมื่อมีนิติธรรม ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของระบบและขึ้นอยู่กับกฎหมายเดียวกัน  ในขณะที่ผู้ปกครองนั้นไม่ได้เป็น “เจ้าของ”ของระบบ

เพื่อให้หลักนิติธรรมทํางานเป็นผล มีความจําเป็นอย่างยิ่งที่เกียรติภูมิและอิสรภาพของฝ่ายตุลาการและระบบยุติธรรมทั้งหมดจะต้องปลอดจากการกดดันโดยอิทธิพลหรือการแทรกแซงที่ผิดกฎหมาย

เสรีภาพในการแสดงออก

เสาหลักที่สี่ซึ่งทําให้ประชาธิปไตยยั่งยืนคือเสรีภาพในการแสดงออก สิ่งที่บุคคลสามารถกล่าว ตีพิมพ์ แจกจ่าย และพูดคุย เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด สื่อมวลชนที่อิสรเสรีเป็นตัวชี้วัดเสรีภาพในการแสดงออก ระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่ถูกเหยียบย่ำโดยการควบคุมของรัฐก็เป็นตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งเช่นกัน

รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นแบบอื่น น้อยรายนักที่มีความสัมพันธ์ที่สบายใจอย่างแท้จริงกับสื่อมวลชนเสรี แต่ไม่ว่าจะมีข้อเสียเพียงใด สื่อมวลชนเสรีซึ่งสนับสนุนโดยอินเทอร์เน็ตที่ไม่ถูกปิดกั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการให้ข้อมูลข่าวสารกับสาธารณะ โดยเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่ทํางาน  แม้ในสังคมที่มีประชาธิปไตยมานาน รัฐบาลก็ยังพยายามจัดการใช้สื่อเพื่อประโยชน์ของตน รัฐบาลมักพยายามชี้นําการตีความข่าวเพื่อผลักดันวาระของตนและเจือจางอํานาจของสื่ออิสระ

เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เปิดทางให้การแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารพร้อมกับพื้นที่สําหรับวาทกรรมสาธารณะได้ขยายตัวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อินเทอร์เน็ตได้ปฏิวัติการมีส่วนร่วมในการอภิปรายและการดําเนินการทางการเมือง และได้เกื้อกูลให้เกิดชุมชนออนไลน์ขึ้นมามากมาย ในขณะเดียวกันโทรศัพท์มือถือก็ทําให้การติดต่อส่งข้อมูลข่าวสารกระทําได้อย่างทันท่วงที

ในประเทศที่ยึดแนวทางอํานาจนิยม เสรีภาพของข้อมูลข่าวสารเป็นภัยใหญ่หลวงสําหรับรัฐบาล เสรีภาพที่มากับสื่อสมัยใหม่นี้สามารถเข้าถึงได้โดยเพียงคลิกไปยังเว็บไซต์ เช่น ยูทูบและบล็อกต่างๆ  ปรากฏการณ์ใหม่ๆ เหล่านี้ทําให้รัฐบาลควบคุมข้อมูลข่าวสารได้ยากขึ้น

ข้อเท็จจริงก็คือว่า แม้กระทั่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็มักพยายามที่จะปั้นแต่งมติมหาชนให้ไปในทิศทางที่ต้องการ ไม่ว่าผ่านสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ หรืออินเทอร์เน็ต การที่รัฐควบคุมหรือมีอิทธิพลเหนือข้อมูลข่าวสารนั้น พวกเราควรจะหยุดและคิดเรื่องนี้ให้ดีๆ แม้หน้าตาของประชาธิปไตยอาจดูสดใส แต่หากเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารและของสื่อถูกคว้านจนกลวง ก็เท่ากับว่าประชาธิปไตยถูกบั่นทอน ประชาชนจึงต้องคอยเฝ้าระวังตลอดเวลาเพื่อให้มีการ
ตรวจสอบและถ่วงดุล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากกฎหมายในหลายประเทศที่ประชาธิปไตยกําลังพัฒนาไม่ได้ส่งเสริมเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร และไม่ให้ความสําคัญต่อสื่อมวลชน

เสรีภาพในการแสดงออกถือว่าสําคัญพอที่จะบรรจุในปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชน ดังหัวข้อ 19 ซึ่งระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิอย่างเสรีในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก สิทธิดังกล่าวนั้นรวมถึงเสรีภาพที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และเสรีภาพที่จะแสวงหา ได้รับ และถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารและความคิดผ่านสื่อใดๆ ก็ได้โดยไม่จํากัดพรมแดน”

หากพลเมืองไม่มีสิทธิในการแสดงออกในกระบวนการทางการเมือง ก็จะไม่มีรัฐบาลใดที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทําของตน อย่างไรก็ดี ไม่มีสังคมประชาธิปไตยใดที่มีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสมบูรณ์

กุญแจสําคัญคือการชั่งให้เกิดความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของชาติและสังคม เพื่อสร้างและรักษาระดับการถกเถียงแลกเปลี่ยนในสังคม ซึ่งจะทําให้การมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยมีความหมาย และในขณะเดียวกันก็ต้องขีดเส้นซึ่งนําบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเข้าไปพิจารณา แต่ละประเทศกําหนดขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงออกไว้แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สําคัญคือขอบเขตดังกล่าวต้องไม่ถูกอิทธิพลทางการเมืองนําไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อจํากัดไม่ให้สาธารณะตรวจสอบนโยบายและการกระทําที่มีผลกระทบต่อบูรณภาพของผลประโยชน์สาธารณะ เช่น หากกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาททําให้คนไม่กล้าเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็เป็นการทําให้ประชาธิปไตยเสื่อม

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการให้ทุกเสียงมีสิทธิได้แสดงออก เสียงเหล่านั้นอาจขัดกันเอง บางเสียงอาจมีความรู้มากกว่าเสียงอื่น บางเสียงอาจเป็นความเห็นส่วนตัว ซุบซิบนินทา หรือคาดเดา ทั้งหมดนี้คือตลาดแห่งความคิด ซึ่งก็เหมือนตลาดทั่วไปตรงที่สินค้าแต่ละอย่างมีคุณค่าไม่เท่ากัน ตราบใดที่สถาบันต่างๆ ของเราทําให้คนสามารถรู้จักวิธีประเมินคุณค่าของความคิดในตลาดนี้ รู้จักคัดเอาความคิดที่ไตร่ตรองเข้มงวดมาใช้ รู้จักปฏิเสธความคิดที่สุกเอาเผากิน ไม่เพียงแต่ประชาธิปไตยจะยั่งยืนเท่านั้น แต่จะเจริญงอกเงยขึ้นอีกด้วย

โดยที่มีทั้งอินเทอร์เน็ต โลกาภิวัตน์ และการสื่อสารมวลชน ตลาดแห่งนี้ได้ดึงความคิดมาจากแหล่งต่างๆ อย่างหลากหลาย ไม่ใช่เพียงจากประเทศประชาธิปไตยประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น  แม้ว่าตลาดนี้จะไม่สามารถสร้างขึ้นมาและควบคุมโดยรัฐอย่างง่ายดาย แต่ก็คงไม่มีรัฐบาลใดปลอดโปร่งใจทีเดียวกับการใช้วิธีปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือผู้ที่แฉการกระทําของรัฐบาล

ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความโปร่งใส

เสาหลักที่ห้าของประชาธิปไตยคือ ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความโปร่งใส ซึ่งหมายความว่าสถาบันของรัฐและบุคคลในสถาบันเหล่านั้นต้องรับผิดชอบการกระทําของตน รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชนที่เลือกรัฐบาลนั้นเข้ามา นอกจากนี้ ยังต้องรับผิดชอบต่อฝ่ายตุลาการที่อิสระหรือสถาบันที่เป็นกลางอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบการกระทําของรัฐบาล การตัดสินใจใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายด้านการเกษตร การกําหนดราคาน้ำมัน หรือบริการสาธารณสุข จะต้องไม่ทําไปเพื่อผลักดันวาระของกลุ่มผลประโยชน์เหนือกว่าผลประโยชน์สาธารณะ

ในแก่นแท้ของความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความโปร่งใสนั้นมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือเพื่อคุ้มครองพลเมืองจากนโยบายที่หลงทางหรือการตัดสินใจที่ให้ประโยชน์แก่คนไม่กี่คนแต่ทําให้คนจํานวนมากต้องเสียประโยชน์ เมื่อใดที่หลักการทั้งสองนี้สั่นคลอน ก็จะเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าธรรมาภิบาลกําลังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง และกระบวนการประชาธิปไตยได้ชะงักงัน

การกระจายอํานาจ

เสาหลักที่หกตั้งอยู่บนการให้อํานาจทางการเมืองแก่ระดับท้องถิ่นหรือระดับจังหวัด ยิ่งรัฐบาลอยู่ใกล้ประชาชนที่ต้องปกครองมากเพียงใด รัฐบาลก็จะยิ่งตอบสนองต่อประชาชนได้มากเพียงนั้น ขณะเดียวกัน เพื่อให้ประชาธิปไตยที่มีการกระจายอํานาจจากส่วนกลางสามารถทํางานได้ ก็จะต้องมีการกระจายอํานาจในเรื่องของเงินสนับสนุน ทรัพยากรด้านอุปกรณ์สิ่งของและบุคคล ตลอดจนขีดความสามารถของสถาบัน

การกระจายกระบวนการทางการเมืองออกจากส่วนกลางก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะลดการรวมศูนย์อํานาจและอิทธิพลของกลุ่มพลังทางการเมือง  พลเมืองจะมีความตื่นตัว สนใจ และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยมากขึ้น เมื่อพวกเขามองเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเสมือนเพื่อนบ้านและเห็นว่าสิ่งที่เขามีส่วนได้ส่วนเสียเป็นเรื่องใกล้ตัว

เราจะเห็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของความเชื่อมโยงระหว่างประชาธิปไตยกับชีวิตประจําวันของพลเมืองได้ในระดับท้องถิ่น การอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้ชิดในละแวกเดียวกันมีประโยชน์ในทํานองเดียวกับชุมชนออนไลน์ในเศรษฐกิจแห่งความรู้ ประชาชนที่มีผลประโยชน์และค่านิยมร่วมกันจะแสดงและแลกเปลี่ยนความเห็นและความรู้ จะโน้มน้าวกันและกัน สิทธิของพลเมืองในการชุมนุมและการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นจะช่วยบ่มเพาะประชาธิปไตยให้อยู่ยืนยาวในสังคม

การตั้งพรรคการเมืองในระดับท้องถิ่นช่วยให้การสร้างประชาธิปไตยแบบผู้แทนเป็นไปได้ง่ายขึ้น การมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นของผู้ลงคะแนนเสียงและผู้สมัครที่มาจากเขตหรือจังหวัดเดียวกันจะสร้างความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมให้แก่กระบวนการประชาธิปไตย  และการปกครองระดับท้องถิ่นจะเป็นสนามฝึกซ้อมให้แก่ผู้นําของชาติในอนาคต

ประชาสังคม

ประชาสังคมเป็นเสาหลักสําคัญเสาที่เจ็ด ประชาสังคมที่
แข็งขันจะเริ่มบทบาทของการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับรากหญ้า  เวทีชุมชน ชมรม กลุ่มนักรณรงค์เรื่องต่างๆ องค์กรการกุศล สหกรณ์ สหภาพ กลุ่มนักคิด และสมาคม ล้วนจัดอยู่ภายใต้กรอบประชาสังคม กลุ่มเหล่านี้เป็นยานพาหนะในการมีส่วนร่วมที่จะนําไปสู่การมีประชาธิปไตยระดับรากหญ้าอย่างยั่งยืน โดยมีความเข้มข้นในแง่ของความรู้สึกต้องการเป็นอาสาสมัคร ความสนใจร่วมกัน และค่านิยมเหมือนกัน อันเป็นแกนสําหรับการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล สร้างกรอบแนวคิด และผลักดันแนวคิด

ความเข้มแข็งของประชาธิปไตยอาจวัดได้โดยดูว่ามีประชาสังคมที่แท้จริงเพียงใด และพลเมืองมีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบายสาธารณะมากน้อยเพียงใด ประชาสังคมเป็นแหล่งข้อมูลที่สําคัญสําหรับการถกเถียงด้วยสติปัญญาในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะ ประชาสังคมยังเป็นกลไกให้ทัศนะส่วนรวมของพลเมืองสามารถมีส่วนกําหนดและโน้มน้าวนโยบายของรัฐบาลได้  และจากการที่ต้องนําข้อถกเถียงและข้อมูลเข้าสู่เวทีสาธารณะเพื่อใช้เป็นบริบทในการพิเคราะห์นโยบาย รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยก็จําเป็นต้องนําเสนอข้อโต้แย้งหรือปรับเปลี่ยนท่าที การแลกเปลี่ยนในลักษณะนี้เป็นสิ่งดีสําหรับประชาธิปไตย และเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อกระบวนการพิจารณาภายในระบบการเมืองนั้นยอมรับบทบาทของประชาสังคม ก็เท่ากับว่าได้ตกลงให้ประชาชนได้มีบทบาทในการตรวจสอบการตัดสินใจของรัฐบาล ในสังคมประชาธิปไตยนั้นประชาสังคมที่ตื่นตัวจะทําให้มีการตัดสินใจที่รอบคอบมากขึ้น

หลายประเทศมีประวัติศาสตร์ของระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง โดยหัวหน้าของกลุ่มการเมืองจะสร้างกลุ่มผู้ตามของตนที่มีความภักดีต่อตัวบุคคลมากกว่าต่อพรรคการเมืองหรือความเชื่อ เมื่อใดที่เกิดอย่างนี้ขึ้น ประชาธิปไตยก็ไม่สามารถคงอยู่อย่างยั่งยืนได้ง่ายนัก

คุณสมบัติความเป็นผู้นํา

เสาหลักต่างๆ ของประชาธิปไตยที่ผมได้กล่าวถึงมานี้ เป็นสิ่งที่จําเป็นแต่ยังไม่เพียงพอ หากขาดผู้นําที่จะมาสร้างและธํารงรักษาเสาหลักของประชาธิปไตยเหล่านี้

คุณสมบัติของความเป็นผู้นําสําหรับประชาธิปไตยที่ยั่งยืนจะพบได้ในบุคคลที่ดํารงตนด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และรับผิดชอบในสิ่งที่ตนทํา เป็นบุคคลที่สามารถสร้างฉันทามติ มีใจที่เปิดกว้างและเป็นธรรม ยึดมั่นต่อความยุติธรรมและส่งเสริมประโยชน์สาธารณะ มีขันติธรรมรับฟังท่าทีของฝ่ายตรงข้าม แน่นอน มักมีการพูดกันว่าประชาธิปไตยเป็นวิธีปกครองที่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย และวิสัยมนุษย์ก็มีข้อบกพร่องมากมาย คํากล่าวทั้งสองนี้มีความจริงอยู่ แต่ขณะที่เรายอมรับข้อจํากัดของเราเอง เราก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในอดีตและมองไปสู่รุ่นผู้นําในภายภาคหน้าที่จะสามารถสานต่อ โดยเรียนรู้จากบทเรียนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนคนธรรมดา

สรุป

ในการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ประเทศชาติจะต้องมุ่งความพยายามไปที่การสร้างระบบที่ให้อํานาจแก่ประชาชน ไม่ใช่เฉพาะผ่านสิทธิในการลงคะแนนเสียงเท่านั้น แต่โดยปลูกฝังบรรทัดฐาน สถาบันและค่านิยมที่สนับสนุนสิทธิดังกล่าว และทําให้สิทธินั้นมีความหมาย

สิ่งที่จะทําให้ประชาธิปไตยยั่งยืนคือ ความตระหนักร่วมกันว่า แม้ว่าประชาธิปไตยจะห่างไกลความดีเลิศประเสริฐศรี แต่ทางเลือกอื่นยังห่างไกลเสียยิ่งกว่า บางสังคมตระหนักในสัจธรรมนี้เร็วกว่า บางสังคมตระหนักช้ากว่า บางสังคมก็กําลังทดลองดูว่าจะสามารถนําเฉพาะบางส่วนของประชาธิปไตยมาใช้ เช่น ธรรมาภิบาลและความ
รับผิดชอบ โดยไม่ต้องรับภาระของการเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบได้หรือไม่

ผมขอให้สังคมเหล่านั้นโชคดี ตราบใดที่พวกเขาแสดงความยึดมั่นต่อสวัสดิภาพและความกินดีอยู่ดีของประชาชน และจัดหาบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนได้ ประชาชนส่วนใหญ่ก็คงจะพึงพอใจกับสถานะที่เป็นอยู่และไม่ประท้วง

ในบางประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยยังไม่เข้มแข็งแบบนี้ ประเด็นหนึ่งที่พวกเขาได้เปรียบก็คือความรู้สึกผิดหวังกับประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน บุคคลที่ได้รับเลือกตั้งมา แทนที่จะสนองและปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ กลับสนองประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก อ้างสิทธิที่จะบงการในนามของคนส่วนใหญ่ เหยียบย่ำสิทธิของคนกลุ่มน้อย จนตนเองกลายเป็น “สาธารณชน” เสียเอง ไม่ใช่ “ผู้แทน” อีกต่อไป

ในช่วงประมาณสามทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีแนวโน้มไปสู่ประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมโดยตรงมากขึ้น ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยที่อยู่ตัวแล้ว แนวโน้มนี้อาจเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การเดินจากระบอบอัตตาธิปไตยไปสู่ประชาธิปไตยที่มวลชนมีส่วนร่วมนั้น นับว่าเป็นการกระโดดก้าวใหญ่

สิ่งที่สําคัญคือ เมล็ดของประชาธิปไตยจะต้องงอกเงยจากภายในของแต่ละสังคมเอง จึงจะได้รับการยอมรับและดําเนินไปได้ สังคมแต่ละแห่งจะต้องหาทางออกจากความขัดแย้งต่างๆ และจัดลําดับความสําคัญของเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง

ประสบการณ์ในทุกที่เน้นให้เห็นถึงความเปราะบางของประชาธิปไตย แม้ว่าในบางแห่งที่อาจดูเหมือนอยู่ตัวแล้ว ประชาธิปไตยก็อาจถูกแทรกแซงได้โดยเฉพาะในยามที่มีวิกฤต ผมไม่เชื่อว่าจะมีประชาธิปไตยแห่งใดที่เข้มแข็งจนปลอดภัยจากความละโมบและความมักใหญ่ใฝ่สูงของมนุษย์ ในการบ่มเพาะและทําให้ประชาธิปไตยยั่งยืนนั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากประชาธิปไตยจะต้องทําหน้าที่เป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย ประชาชนคนธรรมดาจะต้องระแวดระวังและชาญฉลาด สําหรับมนุษยชาติ ประวัติศาสตร์ยังไม่ได้จบสิ้น การต่อสู้เพื่อผลักดันและต่อต้านประชาธิปไตยจะยังคงดําเนินอยู่ต่อไปอีกนาน

Read Full Post »

triamboy

 

การ “พัฒนา”  ส่วนใหญ่ของทุกคนที่ได้ยินคำนี้มักจะถวิลหาโดยที่ไม่ได้ไตรตรองอย่างรอบคอบ  และเชื่อมั่นในการคาดการณ์ของผลลัพทธ์ด้านดีเกือบเสียทั้งหมดที่ถาโถมเข้าใส่ผ่านการให้ข้อมูลในรูปแบบต่างๆ  ทำให้คาดหวังว่าตนเองจะได้รับผลลัพธ์จากการพัฒนาเหล่านั้นในอนาคต  นำไปสู่การเห็นด้วย  ยอมรับ  และเพิกเฉยโดยอัตโนมัติ

 

ในทางกลับกันกลับมีคนส่วนน้อยบางส่วนที่เกี่ยวของโดยตรงกับการพัฒนานั้น  ในพื้นที่ที่เกือบถูกลืมไป  หรือถูกพยายามเพิกเฉย  ที่ได้รับผลลัพธ์ด้านไม่พึงปรารถนาจากการคาดการณ์  และไม่ได้ถูกเปิดเผยอย่างเท่าเทียมกันผ่านรูปแบบต่างๆเช่นเดียวกับผลลัพธ์พึงประสงค์ (อุปสงค์ส่วนใหญ่)  ที่ถูกคาดการณ์ไว้  ทำให้บุคคลเหล่านี้ต้องรักษาพื้นที่  (ทุนที่สะสมมา  รวมถึงทุนที่เกิดจากการพัฒนาในวันหน้า) ของตนเอง  โดยการต่อรองผ่านรูปแบบการเคลื่อนไหวต่างๆ  รวมถึงการร่วมมือ  สร้างเครือยข่ายของการเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ  ภายใต้  และนอกเหนือที่กฎหมายกำหนด

 

ประเทศลาวก็เช่นเดียวกับประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านอื่นๆ  (ตามกระแส  ไม่ใช่กระแสทางเลือก)  ไม่หลุดพ้นจากกระแสหลักของโลกที่กำลังเปลี่ยนจากความหลายหลายของสังคม  เศรษฐกิจ  และการเมืองของตน  เข้าสู่ความพยายามเป็นรูปแบบเดียวของสังคม  เศรษฐกิจ  และการเมือง  ผ่านรูปแบบของการสร้างมาตรฐานเดียวกันของทั้งสามสถาบันหลักนี้  อาทิ  มาตรฐานมนุษยชน  มาตรฐานการเมือง  มาตรฐานองค์กร  มาตรฐานกฎหมาย  เป็นต้น

 

จากการเดินทางเยือนประเทศลาวที่กำลังเปลี่ยนผ่านครั้งนี้  ทำให้ข้าพเจ้าได้รับรู้  และเรียนรู้ความเป็นไปภายในลาวผ่านแง่มุมที่หลากหลาย  ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนผ่าน  อาทิ  ชีวิตผู้คน  ทั้งประชาชนลาว  และประชาชนต่างประเทศ  สถาปัตยกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่าน  ผ่านการหลอมรวม  รักษา  รวมถึงการทำลายทิ้ง  มากกว่านั้นยังมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังถูกเปิดเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนา  เป็นต้น

 

สำหรับการนำเสนอเรื่องราวความเป็นไปของข้าพเจ้าที่ได้สัมผัส  และสิ่งที่เข้ามาสัมผัสข้าพเจ้าภายในประเทศลาว  โดยจะขอนำเสนอทีละประเด็นตามความสนใจ

 

เริ่มต้นเรื่องราวจากด้านที่ไม่ค่อยได้ถูกนำเสนอให้อยู่ในความสนใจ  และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจในการพัฒนา  นั่นคือ  ผลลัพธ์ต่อสิ่งแวดล้อมในมิติของธรรมชาติในทางที่ทำลายโดยที่มนุษย์คิดว่าเป็นความบังเอิญ  หรือไม่คาดคิด  รวมถึงคิดไว้ในใจของหลายหลายคนก็เป็นได้

 

มีดังนี้

 

technology flower

ชื่อภาพ – innovative flower  ดอกไม้แห่งนวัตกรรม

เทคนิค – trash in the river  ขยะในแหล่งน้ำไหล

 

คำอธิบาย – แม่น้ำโขง  มหานทีแห่งชีวิต  เป็นนิยามท่ีหลายคนได้เคยให้ไว้  ด้วยเหตุที่ว่าหลายชีวิตของสิ่งมีชีีวิตที่หลากหลายได้พึ่งพาชีวิตแห่งนั้นไว้กับแม่น้ำโขง  รวมถึงมนุษย์กว่าห้าประเทศที่โขงไหลผ่าน  ได้แก่  จีน  พม่า  ลาว  ไทย  และเวียดนาม

 

แต่ในปัจจุบันในภาพที่เห็นตลอดสองฝั่งโขง  จากการเดินสำรวจ  พบว่า  เราสามารถพบเห็นพืชชนิดใหม่ที่ให้ดอกตลอดทั้งปี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่น้ำลดจะเป็นฤดูดอกไม้ผลิ  สามารถสังเกตเห็นดอกของพืชชนิดนี้ในปริมาณมาก  และชัดเจน  เนื่องจากว่าดอกของมันสามารถสะท้อนกับแสงที่ตกลงมากระทบได้เป็นอย่างดี  สีของดอกไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าต้นไหนสีอะไร  แต่มีสีเกือบครบครบทุกเฉด   และมีความหลากหลายของสีภายในดอกเดียวกัน  ขึ้นอยู่กับว่า  ส่ิงของจากนวัตกรรมมนุษย์นั้นจะตกเกสรลงบนต้นไหน

 

ความน่าสนใจ  หรือคุณลักษณะพิเศษของดอกไม้แห่งนวัตกรรมนี้มีอยู่ว่า  มันสามารถบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางทั้งใกล้  และไกลได้เป็นอย่างดีเสมอเหมือนตัวแม่น้ำโขงที่มันอาศัยอยู่  เราสามารถศึกษาประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติในยุคของทุนนิยมตลอดริมสองฝั่งโขงได้โดยผ่านรายละเอียดของกลีบดอก

 

กลีบดอกของมันบอกเล่าเรื่องราวการบริโภคของมนุษย์ตลอดริมฝั่งโขง ทั้งห้าประเทศ  ผ่านบรรจุภัณฑ์เหล่านี้  โดยสามารถจำแนกความแตกต่างผ่านความแตกต่างของสังคม  เศรษฐกิจ  และการเมืองได้อาทิเช่น  

ภาษา  ผ่านตัวอักษร  ผ่านวลี  ผ่านประโยคบนกลีบดอก

การโฆษณา  ผ่านรูปแบบของการนำเสนอผ่านบรรจุภัณฑ์

การออบแบบ  ผ่านรูปแบบของบรรจุภัณฑ์

การผลิต  ผ่านคุณสมบัติ  คุณภาพของสินค้า

การบริโภค  ผ่านประเภทของสินค้า

เป็นต้น

นี่แหละคือดอกไม้แห่งนวัตกรรม  –  ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านดอกไม้

 

technology waterfall

ชื่อภาพ – innovative waterfall  น้ำตกแห่งนวัตกรรม

เทคนิค – contaminant on the way down  น้ำทิ้งจากที่สูงสู่ที่ต่ำ

 

คำอธิบาย –  ท่อระบายน้ำทิ้ง  การพัฒนาได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกือบทุกอย่างรอบตัวเรา  ไม่เว้นกระทั่งการระบายของเหลวที่ตั้งใจ  และไม่ตั้งใจทิ้ง  เดิมทีนั้นการระบายน้ำทิ้งจากแต่ละครัวเรือนนั้น  เป็นการปล่อยน้ำทิ้งออกมาทางหน้าบ้าน  ให้ไหลต่อสู่คูน้ำขนาดเล็กแบบเปิดโล่งหน้าบ้าน  ซึ่งสิ้นสุดลงที่ทางน้ำไหลขนาดใหญ่อย่างเช่น  คลอง  แม่น้ำ  ริมหมู่บ้าน  แต่ด้วยที่ปริมาณน้ำทิ้งที่ไม่มาก  ทำให้ของทิ้งเหล่านี้สามารถซึมผ่านดินลงสู่ใต้ดินได้ในระยะเวลาไม่นาน  จนบางครั้งไม่ได้ไหลผ่านไปถึงแหล่งน้ำขนาดใหญ่

 

ด้วยการพัฒนา  ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว  การพัฒนาทางอุตสาหกรรม  ทำให้เกิดการกระจุกตัวของประชากรจำนวนมากในพื้นที่อาศัยขนาดเล็กที่เรียกว่าชุมชน  การปล่องน้ำทิ้งก็เช่นกัน  ไม่มีทางที่จะสามารถจัดการในรูปแบบเดิมได้  เนื่องจากปริมาณน้ำทิ้งปริมาณมากขึ้น  และเข้มข้นกว่าเดิม   รวมถึงหลากหลายชนิดของสารที่รวมตัวกันอยู่  การปล่อยน้ำทิ้งในรูปแบบเปิดโล่งแบบเดิมคงไม่เป็นผลดีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างเราเราเป็นแน่

 

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ  ทางระบายน้ำทิ้งจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ  เพื่อรวบรวมน้ำทิ้งทั้งหมดในชุมชนเข้าด้วยกัน  นำไปสู่การบำบัดน้ำทิ้ง  ณ  ที่ใดใดที่หนึ่ง  เพื่อจัดการน้ำทิ้งให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติ  และมนุษย์ที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด

 

แต่ด้วยความโชคไม่ค่อยจะดีของประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่าน  จำเป็นต้องใช้เงิน   ทุนจำนวนมากไปกับการพัฒนาด้านอื่นที่คิดว่าจำเป็น  และเร่งด่วนกว่า  การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย  หรือเครื่องมือในการจัดการน้ำเสีย  จึงไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศเหล่านี้  เนื่องมาจากต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากในการจัดการ  ดังนั้นระบบการจัดการน้ำทิ้งจึงถูกตัดตอน ​ ณ  จุดนี้

 

ทางเลือกเดียวของประเทศที่เปลี่ยนผ่าน  และเห็นความสำคัญของการพัฒนาเพียงผลประโยชน์ระยะสั้น  จึงจัดการน้ำทิ้งได้เพียงการสร้างทางระบายน้ำ  และไม่ได้วางโครงข่ายอย่างเป็นระบบเพื่อรวบรวมไปสู่การบำบัด  ในทางกลับกันกลับต้องวางเครือข่ายของทางระบายน้ำทิ้ง  โดยหาทางระบายสู่แหล่งน้ำไหลตามธรรมชาติที่ใกล้เคียงชุมชนมากที่สุด  เนื่องจากงบประมาณที่ใช้ในการจัดการน้อยที่สุด

 

จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลย  ในการพบเห็น  “น้ำตกแห่งนวัตกรรม”  เหล่านี้ได้ตลอดสองฝั่งของแหล่งน้ำไหลตามธรรมชาติในประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่าน  จากรูปก็เช่นกัน  สองริมฝั่งแม่น้ำคาน  กลางตัวเมืองหลวงพระบาง  เมืองที่กำลังเปลี่ยนผ่าน  และการท่องเที่ยวเติบโตได้อย่างสดใส  จึงเป็น  “ตัวเลือก”  ลำดับแรกของแหล่งน้ำไหลตามธรรมชาติในการระบายน้ำทิ้งเช่นกัน  ระหว่างการเดินทางลัดเลาะไปตามแม่น้ำคานในยามบ่าย  สามารถพบเห็นน้ำตกเหล่านี้ได้มากมาย  และยิ่งแปลกใจอย่างยิ่งคือว่า  น้ำตกแหล่านี้มีลักษณะแบบเดียวกันทั้งหมด  ไม่แน่ใจว่าเป็นผลจากการประหยัดต่อขนาดของการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือไม่

 

colorful plants

ชื่อภาพ – innovative garden  สวนแห่งนวัตกรรม

เทคนิค – trash on ground  ขยะบนพื้น

 

คำอธิบาย –  สวนริม (หมู่) บ้านของหมู่คน   หลังจากการกระจุกตัวของการพัฒนา  ทำให้เกิดหมู่หลายหมู่ขึ้นมาในประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่าน  อาทิเช่น  หมู่คน  หมู่บ้าน  หมู่โจร  หมู่มาร  หมู่งาน  รวมถึงหมู่ขยะ  การเปลี่ยนผ่านประเทศทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการบริโภค  รวมถึงรูปแบบการบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

 

ด้วยบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ ที่เกือบไม่ได้สร้างภาระต้นทุนในการได้มาให้กับผู้บริโภคเลย  จึงไม่แปลกใจที่ทำให้แรงจูงใจในการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพไม่เกิดขึ้น  ทางเลือกการจัดการที่ง่ายที่สุด  คือ  การทิ้ง  นอกเหนือจากทางเลือกอื่นๆ  อาทิเช่น  การใช้ซ้ำ  การแปรรูป  การลดการใช้  เป็นต้น

 

ยิ่งความโน้มเอียงในการบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น  ยิ่งความเร็วในการบริโภคมากขึ้น  ทำให้แนวโน้มการบริโภคบรรจุภัณฑ์สูงมากขึ้น  ทั้งในแง่ปริมาณที่มากขึ้น  และคุณภาพที่สูงขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ  ทำให้แนวโน้มการทิ้งบรรจุภัณฑ์สูงมากขึ้น  ยิ่งในประเทศที่เพิ่งมีการเปิดประเทศ  และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจระบบตลาด

 

นอกเหนือจากการจัดการบรรจุภัณฑ์โดยการ  ทิ้ง  แล้ว  การจัดการทิ้งที่ง่ายที่สุดคือ  ทิ้งในพื้นที่สาธารณะ  เนื่องจากความเป็นเจ้าของโดยสาธารณะซึ่งไม่มีความชัดเจนแน่นอน  หน้าที่  ความรับผิดชอบจึงไม่ชัดเจน  จึงเกิดความชอบธรรมโดยอัตโนมัติของหมู่คน  ในหมู่บ้านนั้น  ทำให้เกิดการรวบรวมขยะ  แล้วนำไปทิ้งในพื้นที่สาธารณะริมหมู่บ้านเกิดเป็นหมู่ขยะขึ้น  

 

ในประเทศเปลี่ยนผ่านอย่างประเทศลาวจึงยากที่จะหลีกเลี่ยงปัญหานี้  จึงไม่น่าสงสัยสำหรับการพบเห็นหมู่ขยะรวมกันกับพรรณไม้ที่มีอยู่เดิมก่อนหน้านี้  ก่อนที่จะเข้าถึงตัวหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน  ว่าไปแล้วหมู่ขยะจึงเปรียบเสมือนสัญญาณบ่งชี้ว่าพื้นที่นั้นมีหมู่คนอาศัยอยู่

 

หมู่ขยะเหล่านี้มีความน่าสนใจอยู่ที่ว่าสามารถพบเห็นได้ทุกหมู่บ้าน  มีสีสันที่หลายหลาย  สวยงามรวมตัวกลมกลืนกับธรรมชาติด้วยความตั้งใจทิ้ง  แต่ไม่ตั้งใจจัดวางตำแหน่งของหมู่คน  และมากกว่านั้นคือ  เราสามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปี  สีสันคงเดิมทนแดด  ลม  ฝน  และมีแนวโน้มที่จะเติบโต  ขยายพันธ์มากขึ้นตามการพัฒนา  เปรียบเสมือน  สวนดอกไม้ที่บานสะพรั่งต้อนรับคนที่มาเยี่ยมชม

Read Full Post »

สังคมเสถียรภาพ กับ กลไกประชารัฐที่ดี

recommendare

 

บันทึก

จากบทความหัวข้อ  “สังคมเสถียรภาพ กับ กลไกประชารัฐที่ดี”

 

เขียนโดย

ดร.อรพินท์ สพโชคชัย

ผู้อำนวยการวิจัยกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนา                                    

ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

ความมีดังนี้

 

ภูมิหลัง

 

ในช่วงที่ผ่านมา คำว่า Good Governance มีการกล่าวถึงบ่อยขึ้นทั้งในวงการวิชาการและสื่อมวลชน โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยได้ตัดสินใจขอกู้เงิน และตกลงรับเงื่อนไขจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund, IMF) ปัจจุบันความหมายของคำว่า Good Governance ยังมีความเข้าใจที่แตกต่างกันและมีผู้ใช้คำศัพท์ต่างๆ ที่พยายามสื่อความหมายของคำนี้ เช่น การใช้คำว่า “ประชารัฐ” หรือ “กลไกภาคราชการที่มีคุณภาพ” หรือ “ประชาคมราชการที่ดี” หรือ “กลไกราชการที่ดี” หรือ “ธรรมรัฐ”1 ซึ่งคำต่างๆ ก็ยังสื่อความหมายที่ไม่ชัดเจนนัก มีความหมายที่อาจคลาดเคลื่อน และสร้างความสับสนในการสื่อสาร เพราะยังไม่มีการบัญญัติศัพท์เฉพาะที่เป็นสากลสำหรับภาษาไทยเพื่อที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจตรงกันได้ ดังนั้น ในขณะที่ยังไม่มีข้อยุติที่เป็นสากลในภาษาไทยว่าจะใช้คำใด รายงานฉบับนี้จึงขอใช้คำว่า “กลไกประชารัฐ” แทนคำว่า “Governance” และ “กลไกประชารัฐที่ดี” แทนคำว่า “Good Governance” ไปก่อนเพื่อวัตถุประสงค์ในการสื่อความหมายให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

 

เนื่องจากหัวข้อเรื่อง Good Governance กำลังเป็นที่สนใจและได้รับการยอมรับว่าเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมที่มีความมั่นคง เป็นธรรม และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับประเทศไทย ประเด็นนี้จะทวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่รัฐบาลไทยได้ยอมรับข้อตกลง ในการฟื้นฟู เศรษฐกิจไทยภายใต้เงื่อนไข IMF ทำไม IMF และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศหลายองค์กรจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกประชารัฐที่ดี กลไกประชารัฐที่ดี มีความหมายอย่างไร และจะมีความสำคัญต่อสังคมไทยอย่างไร เอกสารฉบับนี้ได้ค้นคว้าและศึกษาแนวคิดจากมุมมองต่างๆ เพื่อแสวงหาความชัดเจน และรวบรวม ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของหัวข้อนี้ทั้งในเรื่องของการนิยามและการให้ความหมาย แนวคิด และประสบการณ์ขององค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนผลที่จะ มากระทบต่อประเทศไทยในอนาคต เพื่อใช้เป็นเอกสารในการเผยแพร่ความรู้สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจทั่วไป

 

ความหมายและการใช้คำกลไกประชารัฐที่ดี

 

คำว่า Good Governance เพิ่งปรากฏและมีการใช้ในวงการของนักวิชาการที่สนใจการพัฒนากลไกการบริหารและการปกครองของสังคม เมื่อไม่นานมานี้ ส่วนคำว่า Governance นั้นปรากฏอยู่ในพจนานุกรมและมีผู้ใช้กันมานานแล้ว โดยพจนานุกรมให้ความหมายของคำว่า Governance ดังนี้ “Governance means (1) the act, process, or power of governing; government, (2) the state of being governed.”2 ซึ่งหากจะแปลกันตรงๆ ก็หมายถึง การกระทำ กระบวนการ หรืออำนาจในการบริหารการปกครอง ซึ่งเมื่อใช้กับรัฐก็น่าจะมีความหมายใกล้เคียงเกี่ยวข้องกับคำว่าภาครัฐ (State) ซึ่งอาจจะหมายถึงทั้งรัฐบาล (Government) และระบบราชการ (Civil Service)

 

นอกจากนี้ คำว่า Governance ยังอาจจะใช้ได้สำหรับองค์กรของภาคเอกชนในความหมายที่เฉพาะเจาะจง ในความหมายสำหรับการบริหารการปกครองหน่วยงาน เช่น การใช้ร่วมกับคำว่า Corporate Governance ก็จะหมายถึงกลไกขอบเขตการดำเนินงาน กติกา กฎระเบียบและวิถีทางที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง จะใช้ในการบริหาร จัดการภายในของหน่วยงาน

 

ตามหลักฐานปรากฏว่าองค์กรพัฒนาต่างๆ เพิ่งมาใช้ คำว่า Good Governance ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นี้เอง ในอดีต วงการวิชาการ และองค์กรการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งธนาคารโลก (World Bank) และ IMF ซึ่งเป็นองค์กรการเงินระดับโลก ที่ให้การช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่มีปัญหาทางการเงิน เคยใช้และคุ้นเคย กับคำว่าการจัดการภาครัฐ หรือ Public Sector Management (PSM) และการบริหารรัฐกิจ หรือ Public Administration ภายหลังธนาคารโลกเองหันมาใช้ Governance มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของการศึกษาโดยนักวิชาการของธนาคารโลกในยุคต่อๆ มาซึ่งได้ให้ความหมายของคำนี้กว้างกว่าความหมายของ PSM

 

ธนาคารโลกอ้างว่า คำว่า Good Governance พบว่ามีการใช้ครั้งแรกในรายงานของธนาคารโลกเมื่อปี 1989 ในรายงานเรื่อง Sub-Sahara Africa: From Crisis to Sustainable Growth ซึ่งเป็นรายงานของธนาคารในยุคแรกที่ได้กล่าวถึงความสำคัญของการมี Good Governance และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และต่อมา ผลการศึกษาที่วิเคราะห์ประสบการณ์ของ IMF ในการให้ประเทศต่างๆ กู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีข้อสรุปว่า กุญแจสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จ ในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศที่รับความช่วยเหลือทางการเงิน คือ การที่ประเทศนั้นๆ มี Good Governance และมีการดำเนินการตามนโยบายสาธารณะที่ได้ตกลงไว้อย่างเคร่งครัด ปัจจัยทั้งสองนี้จะทำให้ประเทศเหล่านั้นสามารถพัฒนากลับสู่ เสถียรภาพได้อย่างรวดเร็วและจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ต่อมาแนวความคิดนี้ได้มีการศึกษากว้างขวางขึ้น และคำนี้ก็ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการและองค์กรเครือข่ายของธนาคารโลก โดยในระยะแรกๆ ธนาคารโลกกำหนดความหมายตามกรอบความคิดของการดำเนินงานที่เกี่ยวกับขอบเขตของธนาคารโลกว่าด้วย Governance and Development ดังนั้น คำว่า Governance จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า หมายถึง “การกำหนดกลไกอำนาจของภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากร ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนา” ในระยะเริ่มแรกธนาคารโลกได้พยายามอธิบายความหมายของคำว่า Governance ว่าจะครอบคลุมถึงความหมาย 3 ลักษณะ คือ

 

โครงสร้างและรูปแบบของระบอบทางการเมือง (Political Regime)

กระบวนการและขั้นตอนที่ผู้มีอำนาจในการเมืองใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพัฒนาประเทศความสามารถของผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศในการวางแผนกำหนดนโยบาย และการแปลงแผนและนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนการปรับเปลี่ยน แนวทางการบริหารประเทศซึ่งตามความเข้าใจและความคิดเห็นข้างต้น ธนาคารโลกได้กำหนดแนวคิดว่า ธนาคารโลกและหน่วยงานในเครือข่ายในฐานะองค์กรการเงินและองค์กรพัฒนาระดับโลก สามารถมีส่วนช่วยผลักดันการพัฒนากลไกของสังคมในประเทศที่ขอรับการช่วยเหลือทั้งหลายให้เป็น Good Governance ได้ โดยจะสามารถให้การสนับสนุน ในการพัฒนาส่วนที่เกี่ยวกับข้อสองและข้อสาม

 

แม้ว่าจะเริ่มมีการใช้คำนี้บ้าง แต่ในระยะแรกพบว่า หน่วยงานต่างๆ ยังคงใช้คำที่ต่างกันไป เช่น คณะกรรมาธิการเพื่อช่วยเหลือด้านการพัฒนาขององค์กร Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) และ Overseas Development Administration (ODA) ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร อังกฤษนิยมใช้คำเดียวกับธนาคารโลก ในขณะที่ Inter-American Development Bank (IDB) ยังคุ้นเคยกับการใช้คำว่าการพัฒนาปรับปรุงการบริหาร รัฐกิจให้ทันสมัย (Modernization of Public Administration) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานการพัฒนาอื่นๆ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank, ADB) องค์การความร่วมมือระหว่างชาติญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency, JICA) องค์การสหประชาชาติ (United Nations, UN) และสถาบันทางวิชาการอื่นๆ ก็หันมาใช้คำนี้ในความหมายเดียวกับคำนิยามของธนาคารโลก

 

ต่อมามีการนำคำและความหมายของ Good Governance นี้ไปใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น องค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme, UNDP) เป็นแกนนำในการผลักดันแนวคิดและสร้างการยอมรับร่วมกันในระดับโลกว่า “กลไกประชารัฐที่ดีและการพัฒนา คนที่ยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ กลไกประชารัฐเป็นรากฐานที่ทำให้คนในสังคมโดยรวมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” ดังนั้น เรื่องที่ท้าทาย มวลมนุษย์ทุกสังคมไม่ว่าจะเป็นสังคมที่พัฒนาแล้วหรือสังคมที่ยังด้อยพัฒนา สังคมประชาธิปไตยหรือสังคมเผด็จการ คือ การสร้างกลไกประชารัฐที่ดี ที่สามารถส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาคนในสังคมที่ยั่งยืน ประเด็นนี้ UNDP ได้ศึกษาและอธิบายรายละเอียดไว้ในเอกสารนโยบายเรื่อง Governance for Sustainable Human Development ซึ่งได้ให้คำนิยามของคำนี้ที่ชัดเจนขึ้นว่า โดยทั่วไป กลไกประชารัฐเป็นส่วนที่เชื่อมโยงองค์ประกอบของสังคมทั้ง 3 ส่วนเข้าด้วยกัน คือ ประชาสังคม (Civil Society) ภาคธุรกิจเอกชน (Private Sector) และ ภาครัฐ (State หรือ Public Sector) ดังที่แสดงในภาพที่ 1

 

Pic

 

ดังนั้นการที่สังคมมีกลไกประชารัฐที่ดีก็จะเป็นกลไกแกนในการสร้างความสมดุลระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของสังคมให้ดำรงคงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และสังคมมีเสถียรภาพ

 

กลไกประชารัฐมีบทบาทอำนาจหน้าที่ในการดูแลบริหารจัดการใน 3 ด้านคือ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการบริหารประเทศ ซึ่งจะมีองค์ประกอบของ โครงสร้างอำนาจหน้าที่ 3 ด้านคือ กลไกประชารัฐด้านเศรษฐกิจ (Economic Governance) หมายถึง กระบวนการการตัดสินใจและการกำหนด นโยบายที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภายในของประเทศ และกระทบถึงความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจอื่นๆ กลไกประชารัฐด้านการเมือง (Political Governance) หมายถึง กระบวนการการกำหนดนโยบายที่มีผลต่อปวงชนในประเทศ ได้แก่ รัฐสภา หรือฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นผู้แทนจากการเลือกตั้ง แต่งตั้ง หรือเผด็จการ และ กลไกบริหารรัฐกิจหรือภาคราชการ (Administrative Governance) หมายถึง กลไกและกระบวนการในการแปลงนโยบาย และทรัพยากรไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและอย่างเที่ยงธรรม ซึ่งจะผ่านทางกลไกการกำหนดนโยบายและหน่วยงานปฏิบัติ ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ความหมายของคำว่า Governance ตามนิยามข้างต้นนี้ ก็ควรมีความหมายรวมถึง ระบบ โครงสร้าง และกระบวนการต่างๆ ที่วางกฎเกณฑ์ ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของประเทศ3 เพื่อที่ภาคต่างๆ ของสังคมจะพัฒนาและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข

 

ลักษณะและองค์ประกอบของกลไกประชารัฐที่ดี

 

ในขณะที่สังคมโลกรู้จักคุ้นเคยกับกลไกภาครัฐและการบริหารรัฐกิจว่าเป็นกลไกและกระบวนการสำคัญ ในการวางกฎเกณฑ์การบริหารประเทศ แต่การแสวงหาความหมาย ของการที่สังคมทุกสังคมจะมี “กลไกประชารัฐที่ดี” เป็นสิ่งที่เพิ่งเริ่มต้นตื่นตัว ปัจจุบัน การค้นหาความหมายและคุณค่าของคำว่า “กลไกประชารัฐที่ดี” มีการศึกษาในวงกว้างและมีเอกสารอยู่มากมาย โดยพบว่าการศึกษาประเด็นนี้ ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนรากฐานของแนวคิดในการพัฒนาภาครัฐในอดีต เช่น แนวคิดเรื่อง Public Sector Reform, Civil Service Reform หรือ Bureaucratic Reform และ Financial Management and Budgeting Reform เป็นต้น ซึ่งในอดีตได้มีการศึกษากันแล้วอย่างมากมายเช่นกัน

 

การที่จะเข้าใจว่ากลไกประชารัฐที่ดีเป็นอย่างไรนั้น คงจะต้องดูว่าแล้ว “กลไกประชารัฐที่ไม่ดี” (Bad Governance) มีลักษณะอย่างไร และหากสังคมใดมีแล้ว จะแสดงอาการอย่างไร รายงานการศึกษาของ UNDP ได้สรุปว่าหากสังคมใดที่มี “กลไกประชารัฐที่ไม่ดี” จะสามารถดูลักษณะและอาการได้จากตัวชี้วัดหลายประการ เช่น ประชาชนในสังคมได้รับบริการสาธารณะที่ไม่มีคุณภาพ จากหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ประเทศขาดศักยภาพในการกำหนดหรือดำเนินนโยบาย หรือแม้แต่การตัดสินใจด้านนโยบายในแต่ละวันก็มักผิดพลาดและสับสน ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการและเหตุผล การบริหารการคลังของประเทศ ล้มเหลวซึ่งรวมถึงปัญหาการเงินการคลังของประเทศ และการกำหนดงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่สร้างสรรค์ในการพัฒนาประเทศ และการควบคุมการใช้จ่ายที่ไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล การกำหนดกฎหมายและระเบียบที่ไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างจริงจัง การกำหนดกติกาและระเบียบต่างๆ ที่นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ความไม่โปร่งใสของกระบวนการตัดสินใจ มีการทุจริตและการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินสาธารณะ และพบการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการ เป็นต้น

 

เมื่อปรากฏว่าสังคมใดที่ต้องเผชิญปัญหาหรือมีอาการดังกล่าว ก็หมายความว่าสังคมในขณะนั้นไม่มี “กลไกประชารัฐที่ดี” คือ ไม่มีกลไกกติกาของสังคมที่สามารถ ควบคุมการบริหารจัดการภายในและภายนอกประเทศได้ดีพอ หากสังคมที่ประสบภาวะกลไกประชารัฐไม่ดี ก็เปรียบเสมือนร่างกายของคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นสังคมที่ขาดภูมิคุ้มกันอันตรายจากภาวะวิกฤติ เมื่อสังคมตกอยู่ภายใต้ภาวะขาดกลไกประชารัฐที่ดีในช่วงขณะที่เศรษฐกิจถดถอย หรือในช่วงที่เกิดวิกฤติ ทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ภาวะการมีกลไกประชารัฐที่ไม่ดีนี้ก็จะเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมให้วิกฤติทางเศรษฐกิจทวีความรุนแรง และเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะสาธารณชนรวมทั้งนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาในกลไกประชารัฐ สังคมขาดความสงบสุข ประชาชนเดือดร้อน ขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน หากสังคมยังไม่สามารถปรับปรุงกลไกประชารัฐได้ ก็จะทำให้การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้กลับมีเสถียรภาพและเจริญเติบโต กลายเป็นงานที่ยากและใช้เวลานานกว่าในสังคมที่มี Good Governance หรืออาจจะนำประเทศเข้าสู่ภาวะการล้มละลายได้

 

ในทางตรงข้าม การที่สังคมใดมีกลไกประชารัฐที่ดี หรือมี Good Governance นั้นเสมือนมีกลไกที่เป็นพลังขับเคลื่อนที่ดี ที่เป็นเครื่องยืนยันว่าการบริหาร การจัดการทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองนั้นจะตั้งอยู่บนรากฐานที่มั่นคง เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งรวมถึงเสียงของประชาชนในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มผู้ยากจน มีกระบวนการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่เป็นธรรมต่อคนในสังคม มีการจัดการระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้น การดำเนินการของสังคมเพื่อรักษาความสมดุลภายในของระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จะมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และประชาชนมีความสงบสุข

 

กลไกประชารัฐที่ดีจะเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นหรือไม่ที่สังคมใดสังคมหนึ่งต้องเป็นสังคมในโลกเสรีเสมอไป เป็นที่น่าสังเกตว่าจากการศึกษาที่ผ่านมายังไม่มีข้อมูล ยืนยันว่าการที่สังคมใดจะมีกลไกประชารัฐที่ดีนั้น จำเป็นต้องเป็นสังคมที่มีการพัฒนาแล้ว หรือเป็นสังคมที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยเสมอไป ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางวัฒนธรรม พื้นฐานทางการเมืองและค่านิยมในสังคม แต่สิ่งสำคัญที่พบจากการศึกษา และเป็นพื้นฐานในการสร้างกลไกประชารัฐที่ดีนั้น คือการที่สังคมใดสังคมหนึ่งได้มีกระบวนการในการ “พัฒนาคน” (Human Development) ที่มีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และมีการจัดองค์กร กติกาของสังคมที่ดี เป็นทุนประเดิมของสังคมในการสร้างกลไกประชารัฐที่ดี คำกล่าวนี้มีการยืนยันจากความเห็นของนักวิชาการที่ศึกษาประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ซึ่งพบว่า การที่สังคมใดที่มีระดับการ “พัฒนาคน” ในระดับที่ต่ำ และมีโครงสร้างองค์กรที่อ่อนแอก็มักจะเป็นสังคมที่มีกลไกประชารัฐที่ไม่ดีด้วย

 

เมื่อมีข้อสรุปดังนี้ แนวคิดในการพัฒนากลไกประชารัฐให้เป็นกลไกที่ดีจึงได้รับความสนใจและมีการศึกษาอย่างกว้างขวาง โดยองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ได้ให้การสนันสนุนและนำไปปฏิบัติ ซึ่งรวมทั้ง IMF ที่ได้กำหนดเป็นแนวนโยบายขององค์กรว่า จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขการพัฒนากลไกประชารัฐไว้เป็น เงื่อนไขหนึ่งที่ยื่นต่อรัฐบาลต่างๆ ที่ IMF ได้ให้ความช่วยเหลือ

 

จนถึงปัจจุบัน การนิยามว่ากลไกประชารัฐที่ดีควรมีลักษณะอย่างไรนั้น ก็ยังมีการอธิบายที่หลากหลายและยังสามารถถกเถียงกันได้ ซึ่งหวังว่าในอนาคตคงมีวิวัฒนาการ และมีการศึกษาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น โดยภาพรวมทั่วไป ก็จะมีหลักการใหญ่ที่คล้ายคลึงกันสรุปได้ว่า กลไกประชารัฐที่ดีนั้นจะมีลักษณะ และความหมายคุณค่าที่ล้ำลึก กว่าการกล่าวถึงกลไกการบริหารรัฐกิจหรือการบริหารงานของภาคราชการดังที่เคยศึกษากันมาในอดีต

 

คุณลักษณะของกลไกประชารัฐที่ดี จะต้องมีลักษณะและเงื่อนไขดังนี้

 

1. การมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Public Participation)

 

คือเป็นกลไกกระบวนการที่ประชาชน (ชายและหญิง) มีโอกาสและมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจอย่างเท่าเทียมกัน (Equity) ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเข้าร่วม ในทางตรงหรือทางอ้อมโดยผ่านกลุ่มผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยชอบธรรม การเปิดโอกาสให้สาธารณชนมีส่วนร่วมอย่างเสรีนี้ รวมถึงการให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชนและให้เสรีภาพแก่สาธารณชน ในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ คุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งที่สาธารณชนจะมีส่วนร่วมคือ การมีรูปแบบการปกครองและบริหารงานที่กระจายอำนาจ (Decentralization)

 

2. ความสุจริตและโปร่งใส (Honesty and Transparency)

 

คือเป็นกลไกที่มีความสุจริตและโปร่งใสซึ่งรวมถึงการมีระบบกติกาและการดำเนินงานที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี เป็นธรรม ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลและประชาชนสามารถตรวจสอบและติดตามผลได้

 

3. พันธะความรับผิดชอบต่อสังคม (Accountability)

 

คือการเป็นกลไกที่มีความรับผิดชอบในบทบาทภาระหน้าที่ที่มีต่อสาธารณชน โดยมีการจัดองค์กร หรือการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เน้นการดำเนินงานเพื่อสนองตอบ ความต้องการของกลุ่มต่างๆ ในสังคมอย่างเป็นธรรม ในความหมายนี้รวมถึงการที่มี Bureaucracy Accountability และ Political Accountability ซึ่งจะมีความหมายที่มากกว่าการมีความรับผิดชอบเฉพาะต่อผู้บังคับบัญชาหรือกลุ่มผู้เป็นฐานเสียงที่ให้การสนับสนุนทางการเมือง แต่จะครอบคลุมถึงพันธะ ความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมโดยรวม ตามปกติ การที่จะมีพันธะความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นนี้ องค์กร หน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพร้อมและสามารถ ที่จะถูกตรวจสอบและวัดผลการดำเนินงาน ทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ ประสิทธิภาพ และการใช้ทรัพยากรสาธารณะ ดังนั้นคุณลักษณะของความโปร่งใส ของระบบในลำดับที่สองจึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้าง Accountability

 

4. กลไกการเมืองที่ชอบธรรม (Political Legitimacy)

 

คือเป็นกลไกที่มีองค์ประกอบของผู้ที่เป็นรัฐบาลหรือผู้ที่เข้าร่วมบริหารประเทศที่มีความชอบธรรม เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะโดยการแต่งตั้ง หรือเลือกตั้ง แต่จะต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนว่ามีความสุจริต มีความเที่ยงธรรม และมีความสามารถที่จะบริหารประเทศได้

 

5. กฎเกณฑ์ที่ยุติธรรมและชัดเจน (Fair Legal Framework and Predictability)

 

คือมีกรอบของกฎหมายที่ยุติธรรมและเป็นธรรมสำหรับกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม ซึ่งกฎเกณฑ์มีการบังคับใช้และสามารถใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนซึ่งคนในสังคมทุกส่วนเข้าใจ สามารถคาดหวังและรู้ว่าจะเกิดผลอย่างไรหรือไม่เมื่อดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นการประกัน ความมั่นคง ศรัทธา และความเชื่อมั่นของประชาชน

 

6. ประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness)

 

คือเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดกระบวนการทำงาน การจัดองค์กร การจัดสรรบุคลากร และมีการใช้ทรัพยากรสาธารณะต่างๆ อย่างคุ้มค่าและเหมาะสม มีการดำเนินการและการให้บริการสาธารณะ ที่ให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจและกระตุ้นการพัฒนาของสังคมทุกด้าน (การเมือง สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ)

 

กลไกประชารัฐที่ดีและวิกฤติของสังคมไทย

 

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เคยได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและด้านวิชาการจากองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้รับอิทธิพลในเรื่องแนวคิด และได้มีการดำเนินงานในการพัฒนาปรับปรุงกลไกการบริหารการปกครอง (Administrative Development) มาโดยตลอดนับตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยมีการเร่งรัดพัฒนาประเทศ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบการบริหารของภาครัฐให้ทันสมัยด้วย เช่น ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้เริ่มสร้างและวางกลไกการวางแผนระดับชาติเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศ โดยมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการปรับปรุงกลไกการบริหารและการควบคุมงบประมาณ โดยมีการแยกสำนักงบประมาณออกจากกระทรวงการคลังและขยายงานและบทบาทของสำนักงบประมาณ ซึ่งข้อเสนอแนะนี้ผ่านความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ ในด้านการพัฒนาระบบการบริหารงานด้านการให้บริการสาธารณสุข ได้มีการพัฒนาเป็นระบบการบริหารงานแบบแผนงาน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่างประเทศ เป็นต้น

 

การพัฒนาทางการเมือง ได้มีความพยายามในการพัฒนาการเมือง เพื่อให้ได้ระบบการเมือง พรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีคุณภาพ จากวิวัฒนาการและการพัฒนา ทางการเมืองในอดีตได้ชี้ให้เห็นความพยายามของประเทศไทยในการวางรากฐานทางการเมือง ที่มีความเป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสรรหา และการเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชน ที่มีความชอบธรรมได้ก้าวเข้ามาบริหารประเทศ และในปัจจุบันสิ่งที่น่ายินดีคือ เริ่มจะมีกระบวนการที่อาจนำไปสู่การปฏิรูป ทางการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540

 

ในด้านความพยายามในการพัฒนาระบบราชการ ได้จัดตั้งกองพัฒนาระบบการบริหารและองค์กร (Organization and Management) เพื่อพัฒนากลไกของ หน่วยราชการให้มีประสิทธิภาพ และการตั้งกองประเมินผล (Evaluation Division) เพื่อวัดผลการดำเนินงานของหน่วยงานราชการขึ้นในสำนักงบประมาณ

 

ในด้านความพยายามในการสร้างกลไกการตรวจสอบการทำงานของหน่วยราชการในยุคต่อๆ มา เช่น การตั้งคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) การตั้งหน่วยงานที่ดำเนินการตรวจสอบด้านการเงินการคลัง เช่น กรมบัญชีกลางและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นกลไกในการตรวจสอบและสร้างความชอบธรรม ของระบบราชการ เป็นต้น

 

ในยุคต่อมา งานด้านการปฏิรูประบบราชการที่เน้นการปรับเปลี่ยนทั้งระบบได้รับความสนใจและมีการดำเนินงานมาโดยตลอด แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะไม่ใคร่มีความต่อเนื่อง โดยรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการหลายยุคหลายสมัย มีการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ และจากองค์การสหประชาชาติ ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงดำเนินการด้านการปฏิรูประบบราชการในรูปของคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อกำหนดทิศทางการปฏิรูประบบราชการ

 

แม้ว่าประเทศไทยได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการสร้างการพัฒนากลไกของภาครัฐให้เป็นกลไกที่ดีดังที่ได้กล่าวเป็นตัวอย่างข้างต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาในอดีต มักจะเน้นการสร้างประสิทธิภาพของระบบราชการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็นับว่ายังไม่สามารถสร้างกฎเกณฑ์และกลไกที่นำไปสู่ การมีกลไกประชารัฐที่ดี ตามความหมายของสากลที่ได้กล่าวมาข้างต้น

 

ผลจากความอ่อนแอของกลไกประชารัฐในสังคมไทยส่วนหนึ่งคงมาจากการละเลยงานด้านการพัฒนาคนอย่างจริงจังในอดีต ซึ่งนโยบายการพัฒนาคนนี้ เพิ่งมีการตื่นตัวและบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ปัญหาที่สะสมนี้เมื่อประกอบกับความอ่อนแอขององค์กรต่างๆ ปัญหาทางการเมือง ความเสื่อมโทรมของ Technocrats และองค์กรราชการ ก็จะเห็นได้ว่าวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ประเทศไทยกำลังประสบในปัจจุบัน เป็นภาวะที่ประเทศกำลังขาดกลไกประชารัฐที่ดี เพราะหากวิเคราะห์จากสถานการณ์ภายในก็จะเห็นว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยมีลักษณะและอาการหลายส่วนที่แสดงถึงการมี Bad Governance อย่างชัดเจน ซึ่งคงกล่าวได้ว่าภาวะการขาดกลไกประชารัฐที่ดีที่สะสมมานาน ภาวะนี้คงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจถดถอย และสังคมไทยเข้าสู่ วิกฤติอย่างรวดเร็วในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดังผลการศึกษาต่างๆ ที่ได้วิเคราะห์แล้วข้างต้น

 

เมื่อหันมาดูปัญหาที่สังคมไทยประสบในปัจจุบัน พบว่าภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจของไทยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2540 มิได้เกิดหรือเป็นผลจากการวิกฤติหรือการชะลอตัว ของเศรษฐกิจโลกดังเช่นที่เคยเกิดมาในอดีต เพราะจากรายงานเศรษฐกิจโลกปรากฏว่าโดยภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปีนี้คาดว่าจะดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมัน เป็นต้น นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าปัญหาของไทยเป็นปัญหาที่มาจากกลไก และการบริหารจัดการเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัจจัยภายในประเทศเอง โดยวิเคราะห์ว่าปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ของไทยนั้น เกิดจากการดำเนินนโยบายและการประกอบกิจกรรมทางการเงิน ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ผิดพลาดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นความผิดพลาดที่ทุกฝ่ายในสังคมได้มีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย เช่น

 

ภาคธุรกิจ

มีการกู้เงินจากต่างประเทศอย่างไร้วินัย ทำให้ปริมาณเงินกู้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมหาศาล โดยนำเงินกู้ระยะสั้นมาลงทุนในกิจกรรม ที่ได้ผลตอบแทนระยะยาว  มีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากเกินความต้องการของตลาด โดยปราศจากมาตรการในการดูแลควบคุม  การปล่อยกู้ในธุรกิจเช่าซื้อเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซากลุ่มบริษัทเงินทุนต่างๆ ก็พลอยเดือดร้อน ซึ่งในส่วนย่อยก็จะเห็นได้ว่า Corporate Governance ภายในองค์กรเอกชนเองก็ยังล้มเหลว ทำให้บรรดาผู้ให้กู้ทั้งภายในและภายนอกประเทศขาดความเชื่อมั่น

 

ภาคราชการ

 

ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานมีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย มีการขยายขอบเขตการดำเนินงาน รวมทั้งการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) อย่างไร้ทิศทางและขาดวินัย ไม่มีความโปร่งใส และอาจไม่สุจริต สถาบันที่กำกับดูแลด้านการเงิน ดำเนินนโยบายทางการเงินการคลังผิดพลาด ล่าช้า เช่น การตรึงอัตราการแลกเปลี่ยนระบบตะกร้าเงินนานเกินไป การดำเนินนโยบายโอบอุ้มสถาบันการเงินต่างๆ และการทุ่มเงินเข้าต่อสู้ปกป้องค่าเงินบาทจากนักเก็งกำไรจนทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยลดลง จนถึงระดับที่เป็นอันตราย5 ข้าราชการและระบบราชการขาดการพัฒนาและปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอก และที่สำคัญทั้งข้าราชการและนักการเมือง ขาดความตระหนักในพันธะความรับผิดชอบต่อสาธารณะอย่างจริงจัง
Technocrats ในภาคราชการซึ่งเคยเป็นแกนนำในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคอ่อนแอลง ขาดเอกภาพ หรือไร้ศักยภาพ ในการเข้าควบคุม แก้ไขและป้องกันวิกฤติต่างๆ ในบางกรณียังร่วมมือกับนักการเมืองในการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน

 

ภาคประชาชน

 

ขาดวินัยและความรู้ในการอดออมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีการลงทุนเก็งกำไรในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และโดยภาพรวมไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เช่น การลงทุนเก็งกำไรในตลาดหุ้น และการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น มีการใช้จ่ายเกินตัวฟุ่มเฟือย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศชาติโดยรวม ซึ่งถูกปลูกฝังเป็นค่านิยมในการชื่นชมการใช้ชีวิตอย่างหรูหราเกินฐานะ ยอมเป็นหนี้เป็นสิน ตลอดจนมีค่านิยมและมีการแข่งขันการใช้สินค้าราคาแพงขาดสติในภาวะคับขัน ซึ่งรวมถึงภาพการเทขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น ภาวะการถอนเงินจากสถาบันการเงิน และการแห่ซื้อสินค้าเพื่อการกักตุน  วิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งนี้ใหญ่โตและยุ่งยากกว่าวิกฤติที่ประเทศไทยเคยผ่านมา เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศมีขนาดใหญ่ กว่าในสมัยก่อนๆ ที่ประเทศไทยเคยประสบ และสามารถฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจได้หลายครั้ง เช่น วิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2527 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product, GDP) ของประเทศมีมูลค่าเพียง 1.13 ล้านล้านบาท ในขณะที่ปี 2539 มีมูลค่า 4.66 ล้านล้านบาท งบประมาณแผ่นดินปี 2527 เป็นจำนวน 192,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 843,200 ล้านบาท และมีประชากรเพิ่มขึ้นเกือบ 10 ล้านคน คือ มีประชากรเพียง 50.5 ล้านคน ในปี 2527 เพิ่มเป็น 60.1 ล้านคน ในปี 25396 ดังนั้น ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จึงเป็นปัญหาที่ซับซ้อนกว่าในอดีตหลายเท่า เนื่องมาจากมีปัจจัยและเงื่อนไขภายนอกและภายในหลายประการที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่น ของนักลงทุนในประเทศ ภาวะอุตสาหกรรมชะลอตัว ความมั่นใจของผู้ให้กู้ต่างชาติ การเก็งกำไรของนักค้าเงินตราข้ามชาติ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทผันผวน เป็นต้น สิ่งที่สำคัญ คือ เรายังขาดกลไกและเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีประสิทธิผล และยังขาดบุคลากรที่จะเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่มีปัญหาการเมืองแอบแฝงอยู่ มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ดูแลผลประโยชน์พวกพ้อง และที่สำคัญขาดความเป็นเอกภาพ ในการตัดสินใจ เพราะปัจจุบันโครงสร้างทางการเมืองยังไม่เอื้ออำนวยให้การบริหารงาน โดยเฉพาะการบริหารเศรษฐกิจมหภาคและการจัดการด้านการเงินการคลังเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ มีความแข็งแกร่ง และเป็นเอกภาพ ระบบปัจจุบันยังเปิดโอกาสให้การเมืองเข้าแทรกแซงการบริหารประเทศได้ในทุกระดับทุกองค์กร และระบบ การบริหารงานของนักการเมืองและข้าราชการขาดความโปร่งใสที่แท้จริงซึ่งสาธารณชนไม่สามารถตรวจสอบได้

 

ในอดีต องค์ประกอบส่วนหนึ่งของกลไกประชารัฐโดยเฉพาะข้าราชการในกลุ่ม Technocrats เคยเป็นแกนนำที่ดีของสังคม เพราะภาคธุรกิจเอกชนในยุคต้นๆ ไม่มีความสำคัญ เป็นธุรกิจครอบครัวหรือต่างชาติ และสังคมไทยมีกลุ่มผู้มีการศึกษาและขุนนางได้ผันตัวเองจากผู้ปกครองและกลุ่มผู้นำของสังคม (Elite) มาเข้ารับราชการ เราจึงมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถช่วยบริหารประเทศให้รอดพ้นมาได้ยุคหนึ่ง แต่ปัจจุบันในขณะที่เศรษฐกิจสังคมและการเมืองภายนอกมีการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็วกลายเป็นสังคมข่าวสารที่ไร้พรมแดน ภาคธุรกิจเอกชนขยายตัว มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีทั้งการดำเนินงานและการบริหารงานที่ทันสมัย แต่กลไกของภาคราชการปรับตัวได้ช้ากว่า และในบางเรื่องบางส่วนยังไม่มีการปรับตัว ระบบโครงสร้างราชการของไทยจึงเป็นระบบเก่าแก่ เริ่มมีความเสื่อมโทรม และมีปัญหาสะสมตามลักษณะปกติขององค์กรเก่าแก่โดยทั่วไป เช่น ระบบการให้ผลตอบแทนและระบบการจูงใจบุคลากรล้าหลังและค่าตอบแทนต่ำกว่าภาคเอกชน ทำให้ภาครัฐขาดบุคลากรที่มีความสามารถ มีสมรรถภาพและมีคุณภาพ ข้าราชการและระบบราชการทำงานภายใต้กรอบกฎระเบียบที่รัดรึง ข้าราชการเป็นจำนวนมาก ยังขาดจิตสำนึกในการให้บริการสาธารณะ และขาดจริยธรรม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการอย่างกว้างขวาง เมื่อแกนนำของภาครัฐ ทั้งในส่วนของระบบราชการ (Technocrats) และรัฐบาลอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพและขาดความโปร่งใส การจัดการเพื่อแก้ไขวิกฤติจึงสับสน ขาดทิศทางที่ชัดเจน และไม่มีเอกภาพทั้งการดำเนินงานและการตัดสินใจ ซึ่งยิ่งทำให้นักลงทุนและสาธารณชนขาดความเชื่อมั่นและศรัทธา

 

ตั้งแต่เกิดปัญหาวิกฤติ ทุกฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้เร่งหามาตรการแก้ไขวิกฤติเฉพาะหน้า แต่ที่ผ่านมาการดำเนินงานไม่ค่อยได้ผลนัก ในทางตรงข้าม สถานการณ์กลับเลวร้ายลงทุกขณะ ผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำมีให้เห็นชัดเจนและประชาชนทุกภาคส่วนได้รับความเดือดร้อน อันเกิดจากภาวะสินค้าราคาแพง และค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขึ้นราคาน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ชะลอตัวหรือปิดกิจการ เกิดภาวะการว่างงาน ครอบครัวขาดรายได้ และแรงงานย้ายถิ่นกลับเข้าสู่ภาคชนบท และข้อมูลที่น่าวิตก คือ นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์เห็นตรงกันว่าการกู้สถานภาพทางเศรษฐกิจไทยให้กลับดีเหมือนในอดีต คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งและอาจจะใช้เวลามากกว่าที่คาดไว้ สิ่งที่สังคมไทยคงหนีไม่พ้น คือผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่จะทวีรุนแรงมากขึ้นในช่วงปี 2541 และปัญหาทางเศรษฐกิจจะกระตุ้นให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาครอบครัว ปัญหาความยากจน ปัญหาการศึกษา และปัญหาอื่นๆ

 

ในช่วงปี 2540 เกือบทั้งปี ประเทศไทยวนเวียนท่ามกลางกระแสวิกฤติที่มีสภาพเลวร้ายลงทุกวัน จนในที่สุดทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่รัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้ตัดสินใจคือ การเจรจาขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ซึ่งต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ได้ลงนามกู้เงินจำนวน 17.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก IMF เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 25408 เพื่อนำเงินมากู้วิกฤติทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ และก็เป็นไปตามที่คาดไว้คือ IMF ได้ตกลงให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยได้มีการกำหนดเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามหลายประการ และเป็นไปตามที่คาดคือได้รวมถึงการตั้งเงื่อนไข ในการปฏิรูประบบราชการซึ่งเป็นกลไกส่วนหนึ่งของกลไกประชารัฐ อันเป็นแนวทางที่ IMF เชื่อว่าจะเป็นวิถีทางหนึ่งในการวางรากฐานในการสร้าง Good Governance โดยมาจากประสบการณ์ที่ IMF ได้ทำงานร่วมกับประเทศผู้กู้อื่นๆ ในประเด็นการจัดบทบาทของภาครัฐให้เหมาะสมในสังคม ซึ่งรวมถึงการกระจายอำนาจหน้าที่ ให้แก่องค์กรระดับท้องถิ่น การสร้างระบบการตรวจสอบที่เน้นความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของสาธารณชน เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่นในวงราชการและการเมือง และการพัฒนาประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการลดขนาดของหน่วยงานราชการและการปรับปรุงบริการสาธารณะในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การถ่ายโอนกิจการให้เอกชน เพื่อลดภาระการขาดทุนและเพิ่มการแข่งขัน เป็นต้น

 

การที่เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขหนึ่งของ IMF ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้สัญญาแล้วว่าจะดูแลปรับปรุง ก็คงเป็นที่ชัดเจนว่าส่วนหนึ่งของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้มาจากการที่เรามี Bad Governance หรือ กลไกประชารัฐของไทยนั้นยังมีปัญหา สำหรับประเทศไทย การพัฒนากลไกประชารัฐที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องให้ความสนใจ ซึ่งคงไม่ใช่ประเด็นที่จะตอบสนองความต้องการของ IMF เท่านั้น แต่เป็นการดำเนินการเพื่อกอบกู้ชาติ เพราะกลไกประชารัฐที่ดีเป็นเรื่องของคนไทย ในชาติจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้นมา จากรากฐานการยอมรับและการมีส่วนร่วมของทุกส่วนในสังคมอย่างจริงจัง เมื่อเรามีกลไกประชารัฐที่ดี ก็คงจะช่วยย่นระยะเวลาการกอบกู้วิกฤติครั้งนี้ให้สั้นลง และประเทศไทยก็จะสามารถหลุดพ้นจากพันธะของ IMF ได้ในเวลารวดเร็ว สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจาก การกู้วิกฤติคือจะเป็นการวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับสังคมไทยให้เป็นสังคมเสถียรภาพ

 

ในภาวะที่ประเทศยังขาดกลไกประชารัฐที่ดี หนทางในการกู้สถานการณ์ครั้งนี้ให้กลับพลิกฟื้นสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เสถียรภาพดังเดิม คงต้องมีการรวมพลังจาก คนในชาติอย่างมหาศาลเพื่อร่วมผลักดันและพัฒนากลไกประชารัฐที่ดีสำหรับสังคมไทย พลังการพัฒนาจะเกิดได้เมื่อคนในชาติเข้าใจความหมาย หลักการและ ความสำคัญของการมีกลไกประชารัฐที่ดี และมีการร่วมแรงร่วมใจกันในการผลักดันและร่วมสร้างกลไกประชารัฐที่ดี

 

ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชนในชาติคงต้องหันมาให้ความสำคัญในการศึกษาประเด็นนี้ให้เข้าใจชัดเจน เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานอย่างถูกต้อง เพราะการที่จะสร้างกลไกประชารัฐที่ดีนั้นมีความหมายที่ล้ำลึก และมีปัจจัยที่มากกว่าการปรับปรุงหรือปฏิรูประบบราชการให้สามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล อย่างที่เราเคยถือปฏิบัติเท่านั้น


นอกจากนี้จะต้องมีการดำเนินงานด้านนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบว่า สำหรับสังคมไทย การพัฒนาในส่วนที่เรียกว่า “กลไกประชารัฐที่ดี” ตามความหมายสากลที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางนี้ จะเหมาะสมกับสังคมไทยมากน้อยเพียงใด ในปัจจุบันประเทศได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง มีส่วนใดบ้าง ที่ยังไม่สมบูรณ์ มีส่วนใดบ้างที่ต้องแก้ไข ใครบ้างที่ควรร่วมรับผิดชอบ และควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดการยอมรับ เข้าใจ และถือปฏิบัติกันในสังคม

 

Read Full Post »

recommendare

บันทึก

จากการสัมมนาหัวข้อ  “ทุนมนุษย์กับผลตอบแทนทางการศึกษา”

 

การสัมมนาวิชาการประจำปี 2551

วันที่  29  –  30  พฤศจิกายน 2551

โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี

บรรยาย  โดย

ดร. ชัยยุทธ  ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

จัดโดย

มูลนิธิชัยพัฒนา 

สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

บทสรุปมีดังนี้

 

อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการลงทุนทางการศึกษา ใช้แสดงสถานะการลงทุนของการศึกษาในระดับต่างๆ  บ่งบอกผลประโยชน์ที่ผู้เรียนและสังคมได้รับ สะท้อนแรงจูงใจของผู้เรียน และสามารถใช้ชี้แนะแนวทางการลงทุนด้านการศึกษาของสังคม ว่าควรลงทุนในระดับใดจึงเกิดประสิทธิภาพสูงสุด   

 

เมื่อพิจารณาผลประโยชน์ที่ตกกับผู้เรียน พบว่า การศึกษาเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่า ผู้ที่มีการศึกษาสูง มีรายได้ที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ํากว่าอย่างชัดเจนในทุกระดับ  ผลตอบแทนส่วนบุคคลต่อการศึกษาเฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ 11–12.4 ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา  และมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก   โดยเฉลี่ย อัตราผลตอบแทนส่วนบุคคล สําหรับแรงงานหญิงสูงกว่าแรงงานชาย  

 

ในระดับมัธยมศึกษา อัตราผลตอบแทนส่วนบุคคล สําหรับแรงงานชายที่จบสายสามัญ มีแนวโน้มลดลงมาตลอด ในทางตรงข้าม อัตราผลตอบแทนส่วนบุคคลสําหรับแรงงานหญิง ที่จบสายสามัญ เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนส่วนบุคคลสําหรับผู้จบ ปวช. สูงกว่าสายสามัญ ทั้งเพศหญิงและชาย 

 

ในระดับอุดมศึกษา   ผู้ที่จบอุดมศึกษา ทั้งหญิงและชาย ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่าผู้จบมัยธมปลายมาก  ส่วนแรงงานที่จบเพียงอนุปริญญาหรือปวส. มีรายได้มากกว่าผู้จบมัธยมปลาย แต่ไม่สูงมากนัก  อัตราผลตอบแทนสําหรับผู้จบอุดมศึกษา ในปี 2549 มีค่าระหว่างร้อยละ 8 ถึง 12.8 ต่อปี สําหรับเพศชาย  ส่วนเพศหญิง ได้ผลตอบแทนระหว่างร้อยละ 4.5 ถึง 7.9 ต่อปี   อัตราที่ได้นี้มีค่าใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ  นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนสําหรับผู้มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น 

 

เมื่อพิจารณาผลประโยชน์ที่สังคมได้รับหรืออัตราผลตอบแทนต่อสังคม พบว่า ยังไม่มีคําตอบที่ชัดเจนสําหรับประเทศไทย หรือแม้แต่งานวิจัยของต่างประเทศ  อัตราผลตอบแทนต่อสังคม ที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนของบุคคล (เนื่องจากเกิดผลกระทบภายนอก) เป็นเหตุผลที่รัฐควรเข้ามาอุดหนุนมากขึ้น  ข้อค้นพบเบื้องต้นที่น่าสนใจคือ ขนาดของผลกระทบภายนอกมีค่าน้อยมากทําให้อัตราผลตอบแทนของสังคม และต่อบุคคลมีค่าใกล้เคียงกัน  อัตราผลตอบแทนส่วนบุคคลเฉลี่ยของหลายประเทศในโลกมีค่าระหว่าง ร้อยละ 7  ถึง 12  เฉลี่ยรวมที่ร้อยละ 9.7   ถึงกระนั้นก็ตาม มีความเชื่อกันว่า การศึกษาระดับมัธยมปลายและ อุดมศึกษามีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว 

 

ผลการทบทวนได้ชี้ประเด็นสําคัญต่อการกําหนดแนวทางการลงทุนด้านการศึกษา ที่สมควรนํามา 

อภิปราย ดังนี้  

 

1. สําหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ทรัพยากรทั้งหมดที่สังคมไทยใช้ไปในด้านการศึกษา จัดอยู่ในระดับที่สูง มิได้น้อยแต่อย่างใด แต่การบริหารการจัดการศึกษาของภาครัฐยังขาดประสิทธิภาพ ทําให้มีคุณภาพต่ํา สัดส่วนกาใช้จ่ายค่อนข้างสูงในระดับก่อนประถม และค่อนข้างต่ําในระดับมัธยม  และการระดมทรัพยากรมาใช้เพื่อการศึกษาทําได้ไม่เต็มที่ ประเด็นที่ควรเร่งรัดคือปรับปรุงการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ  ส่วนจะทําได้อย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันแบบจริงจัง  อีกประการคือ คุณภาพของผู้จบยังมีปัญหา ไม่ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งมีผลกระทบต่อการเรียนในระดับสูง ลดผลประโยชน์และโอกาสในอนาคตจากการศึกษา 

 

2.  สําหรับการจัดอาชีวศึกษา ปัญหาสําคัญที่แก่ลําบากคือ มีคนสนใจเรียนต่อกันน้อย ทําให้ขาดแคลนแรงงานฝีมือระดับกลาง เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้จากการมีปริญญาสูงกว่าจบ ปวช. มาก อีกทั้งโอกาสเข้าเรียนในระดับสูงที่เปิดกว้างมากขึ้น และการอุดหนุนของรัฐที่คงอยู่ในระดับที่สูง ทําให้การเลือกเรียนสายสามัญและเรียนต่อจนจบปริญญา เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า คนจึงมีแรงจูงใจเรียนต่อสายสามัญมากกว่าอาชีพ  

 

3. สําหรับอุดมศึกษา พบว่า การศึกษาในระดับนี้ให้อัตราผลตอบแทนแก่ผู้เรียนสูงมาก และหากเชื่อว่าให้ประโยชน์ต่อสังคมด้วย รัฐควรสร้างแรงจูงใจและอุดหนุนอย่างเหมาะสมให้มีการเรียนต่อในระดับสูงมากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลดีต่อการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ค่าจ้างและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากที่เป็นอยู่รัฐอุดหนุนในระดับที่สูง จึงมีเหตุผลสมควรให้รัฐลดการอุดหนุน และให้ผู้เรียนแบกรับภาระมากขึ้น  นอกจากนี้การที่อัตราผลตอบแทนสูงอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าตลาดยังมีความต้องการแรงงานในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่มีการผลิตบัณฑิตออกมามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะที่ตลาดต้องการ และสาขาที่เรียนจบ  จึงต้องมีมาตรการเรื่องเพิ่มบัณฑิตในสาขาที่ขาดแคลน รวมทั้งลดการผลิตในสาขาที่เกินความต้องการไปพร้อมกัน   ประเด็นสุดท้ายคือ การขยายการศึกษาระดับสูงมีผลให้ช่องว่างระหว่างรายได้เพิ่มมากขึ้น และผู้ที่เข้าถึงส่วนใหญ่มักจะมากลุ่มที่ได้เปรียบในสังคม 

 

4.  นอกเหนือไปจากการพูดถึงว่า เราจะใช้เงินทุนกันอย่างไร ที่สําคัญพอๆกันคือเราจะหาเงินทุนเหล่านี้มาจากไหน แนวทางการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนของสังคม ที่เสนอไว้ในพรบ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 (แก้ไข 2545) ยังไม่ถูกนํามาใช้อย่างจริงจัง  ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากผลประโยชน์ที่ตกกับสังคม มีมากกว่าที่บุคคลได้รับ จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่สังคมควรมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาผ่านมาตรการทางภาษีอากร ส่วนการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจําเป็นต้องให้ผู้เรียนแบกรับภาระบางส่วนเพราะผลประโยชน์ส่วนบุคคลมีมาก แต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการเรียนสูง และสังคมได้รับประโยชน์ด้วย สังคมควรมีส่วนร่วมในการรับภาระค่าใช้จ่ายด้วยการใช้เงินภาษีอากรในระดับที่เหมาะสม แนวทางนี้สอดคล้องกับการปฏิรูปการเงินเพื่ออุดมศึกษาแนวใหม่  ที่เน้นการอุดหนุนผ่านผู้เรียน กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพ และสามารถให้ผู้เรียนและภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้น  รวมไปถึงให้โอกาสกับผู้เรียนทุกคน โดยรวมเป็นแนวทางที่น่าสนใจต่อการจัดการกับทรัพยากรที่มีค่อนข้างจํากัดในปัจจุบัน  เห็นควรต้องช่วยกันพิจารณา

 

รายงานฉบับเต็ม

Read Full Post »

triamboy

หลังจากที่ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องหนักมาหลายเรื่อง  บ้างก็บอกว่าอ่านแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง  บ้างก็บอกว่าอ่านแล้วเข้าใจยาก  เพราะเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์เยอะเกินไป  วันนี้เลยขอเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นเรื่องราวรอบตัว  ง่ายง่าย  สั้นสั้นบ้าง

 จากเรื่องศาสตร์ว่าด้วยตุ๊กตาที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้นานแล้ว  ได้มีผู้่อ่านสองสามคนแวะเวียนเข้ามาอ่าน  และได้มีส่วนร่วมในการอภิปราย  ทำให้ข้าพเจ้าได้นึกถึงสัจธรรมอย่างหนึ่งของ “มิตรภาพ”  ยังไงเสียแล้วต้องขอบคุณผู้อ่านที่ได้ช่วยข้าพเจ้าหวนกลับมามอง  “มิตรภาพ”  อีกครั้ง

 

จากประสบการณ์ของข้าพเจ้าตลอดระยะเวลา  20  กว่าปีที่ผ่านมานั้น   มีโอกาสเรียนรู้ผู้คนมากมายหลายชนชั้น  ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่ามิตรภาพนั้นสามารถจำแนกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ  ดังนี้

1.     มิตรภาพที่เป็นผลจากการกระทำกิจกรรมร่วมกัน  หรือมิตรภาพตามวงจร  (Pro-cyclical friendship)  หมายถึง  มิตรภาพที่เกิดจากการร่วมมือ  ร่วมใจปฏิบัติกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง  โดยต้องแก้ปัญหา  ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆร่วมกัน  อย่างลำบากยากเข็ญ  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกิจกรรมนั้น  (เป้าหมายของกิจกรรมมิได้หมายถึง  มิตรภาพ)  หรือกล่าวได้ว่ามิตรภาพนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมา  จากการฝันฝ่าอุปสรรคร่วมกัน   เพื่อบรรลุเป้าหมายกิจกรรม   มิตรภาพไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ  ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่กิจกรรมเริ่ม  ยกตัวอย่างเช่น  การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย   ที่แต่ละกิจกรรมมีเป้าหมายของมันเองตามที่เรากำหนดขึ้น  และเราที่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรมนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้  หลังจากที่กิิจกรรมเสร็จสิ้น  มิตรภาพระหว่างผู้ปฏิบัติงานร่วมกันกำลังเกิดขึ้น  เป็นต้น

 

2.     มิตรภาพที่เป็นผลจากความตั้งใจสร้างมิตรภาพ  หรือมิตรภาพทวนวงจร  (Couter-cyclical friendship)  หมายถึง  มิตรภาพที่เกิดจากความตั้งใจของผู้ปฏิบัติงานได้กำหนดเป็นเป้าหมายของกิจกรรมนั้น  รูปแบบการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ  มีลักษณะของการมุ่งสร้างมิตรภาพโดยตรง  ไม่ผ่านกระบวนการฝันฝ่าอุปสรรค  เรียนรู้ซึ่งกันอย่างชัดเจน  เนื่องมาจากไม่ได้ให้ความสำคัญของกระบวนการปฏิบัตกิจกรรม  หรือกล่าวได้ว่ามิตรภาพเป็นผลจากการตั้งใจปฏิบัติของผู้ปฏิบัติกิจกรรม  มิตรภาพจึงเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มกิจกรรม ยกตัวอย่างเช่น  การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย  ที่แต่ละกิจกรรมมีเป้าหมายของมันเองตามที่กำหนดขึ้น  แต่ผู้ปฏิบัติกิจกรรมกลับลดความสำคัญ  หรือไม่ได้ให้ความสำคัญในบางครั้งของเป้าหมายกิจกรรมที่กำหนดขึ้น  (ละเลยกระบวนการปฏิบัติงานตามที่วางไว้)  แต่กลับปฏิบัติโดยมุ่งเป้าหมายของมิตรภาพ  เป็นต้น

 

สำหรับข้าพเจ้าเองแล้วมีความเชื่อในมิตรภาพที่เป็นผลจากการกระทำกิจกรรมร่วมกัน  ด้วยเพราะเห็นว่าเป็นมิตรภาพที่ยั่งยืน  ที่เกิดจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  แลกเปลี่ยน  ช่วยเหลือกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานร่วมกัน  เพื่อบรรลุเป้าหมายของกิจกรรม  ทำให้ได้มีโอกาสสัมผัสถึงบุคลิกภาพ  นิสัยใจคอค่อนข้างแท้จริงของผู้ร่วมกิจกรรม  มากกว่านั้นยังรวมถึงการแลกเปลี่ยนความเข้าใจต่างๆ  นำมาซึ่งความพึงพอใจ  ถูกอกถูกใจถูกคอ  หรือ  “มิตรภาพ”  นั่นเอง  ส่วนมิตรภาพที่เป็นผลจากความตั้งใจสร้างมิตรภาพนั้น  ข้าพเจ้าเชื่อว่า  เป็นมิตรภาพที่ไม่ยั้งยืน  หากเปรียบแล้วเหมือน  มิตรภาพระดับทุติยภูมิ  หรือตติยภูมิ  หรือมิตรภาพห่างไกล  ชั่วคราว  ด้วยความตั้งใจ  พยายามสร้างมิตรภาพทำให้ในหลายครั้ง  หรือส่วนใหญ่แล้วพบว่า  การสัมผัสถึงบุคคลิกภาพ  นิสัยใจคอของผู้ร่วมกิจกรรมนั้น  ไม่ได้เป็นไปอย่างธรรมชาติ  หรือโดยแท้จริงของผู้ร่วมกิจกรรม  ในบางครั้งอาจสร้างบุคลิกภาพ  นิสัยใจคอขึ้นมาในกิจกรรมหนึ่ง  เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมเข้าใจ  คาดการณ์ตามที่ต้องการ  นำมาซึ่งความพึงพอใจเบื้องแรก  ทำให้ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของตัวตน  แล้วนำมาซึ่งความไม่เชื่อถือ  ไม่พึงพอใจของผู้ร่วมปฏิบัติกิจกรรม  หากค้นพบว่านั่นคือสิ่งที่สร้างขึ้นมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง   หมดซึ่งมิตรภาพนั่นเอง  (มากกว่านั้นนอกจากไม่สร้างมิตรภาพที่ยั่งยืนแล้ว  ยังทำให้กิจกรรมที่ไม่บรรลุเป้าหมาย  หรือไม่ตอบสนองเจตนารมย์ที่วางไว้  อันเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ต่อไป) 

Read Full Post »